คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ภาษาพูดของผู้คนในภาคอีสานนั้นมีหลายสำเนียงที่แตกต่างกันไป ไม่มี "ภาษาอีสาน" นะครับ มีแต่เป็นภาษาพูดดั้งเดิมของชนเผ่าต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้ซึ่งมีหลายกลุ่มชาติพันธุ์ [ เรื่องที่เกี่ยวข้อง : ชาติพันธุ์ชนเผ่าไทยในอีสาน ] ดังนั้น เมื่อท่านเดินทางไปท่องเที่ยวอีสาน ท่านจะได้ฟังสำเนียงเสียงพูดที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละจังหวัด คำที่เสนอในที่นี่รวบรวมมาจากที่กระผมอาวทิดหมู มักหม่วน ได้ตอบไว้ใน Facebook Fanpage มาแล้วแต่ค้นหาย้อนหลังยาก ท่านเว็บมาดเซ่อเลยขอร้องแกมบังคับให้นำมารวบรวมไว้ที่นี่อีกครั้งหนึ่ง แฟนนานุแฟนที่ต้องการทราบความหมายของคำ หรือประโยคใดก็สอบถามเพิ่มเติมมาได้นะขอรับ ยินดีนำมาตอบให้ทราบทั้งในเว็บไซต์และเฟซบุ๊คต่อไป
หน้าที่ : 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14
อาดลาด-ยิ่งแข้ว-มาบมาบ-เจ้าหัวและจัวน้อย
ภาษาอีสานวันละคำ มื้อนี้เสนอคำว่า "อาดลาด"
ได้รับปี้น้อยมาจากน้องสาวหล้าทางเมืองเลย ถามมาว่า "อาวทิดหมู แม่ทวดนางเพิ่นถามนางว่า 'ผู้บ่าว' ที่พามาไหว้พ่อ-แม่มื้อนั้นคนทางใด๋ คือ 'สูงใหญ่อาดลาด' เป็นตาออนซอนแท้" น้องนางฟังแล้วกะบ่เข้าใจปานใด๋ อาวทิดหมูขยายความให้น้องฟังแหน่เด้อ
อาดลาด ว. ต้นไม้ที่สูงและตรง เรียก ซื่ออาดหลาด ยาวอาดหลาด ก็ว่า. tall and straight (tree).
อันนี้กะแสดงว่า หนุ่มผู้โชคดีผู้นั้น เพิ่นเป็นคนรูปร่างดี สูงใหญ่กว่าไทบ้านแถวนั้น จนถืกใจยายคักล่ะแหม... ยินดีนำเด้อน้องหล้า
แต่ขอให้รักกันมั่นแก่น เข้าตามตรอกออกตามประตูแบบนี้ ให้ผู้ใหญ่รับรู้ว่าคบหากันดีแล้ว แต่ให้ระมัดระวังอย่าสิให้เขากล้ำกรายก่อนเวลาอันควร ก่อนได้กินดองตามทำนองคลองธรรมเด้อ อาวทิดหมูย้านว่า "เลาสิ 'เปิดอาดลาด' ไปสาก่อน ที่ยายทวดสิได้เห็นค่าดอง สินสอด ซั่นดอกวา" 😢😭😱
ภาษาอีสานวันละคำ มื้อนี้ขอเสนอคำว่า "ยิ่งแข้ว"
มีอีแมว เอ้ย! อีเมล์ส่งมาเมื่อสายๆ วันนี้ว่า "ผมคนชลบุรีครับ มีเพื่อนเป็นคนอีสาน มาทำงานโรงงานด้วยกันที่สมุทรปราการ ในระหว่างพูดคุยกันตอนพักเที่ยงวัน เพื่อนถามว่า "เป็นหยังคือ 'ยิ่งแข่วกีกซีก' ผมไม่เข้าใจก็ได้แต่ยิ้ม ไม่มีคำตอบ" แอดมินขยายความให้ผมได้รู้หน่อยครับ จะได้ไม่อายเพื่อนเพราะกำลังเล็งสาวอีสานคนหนึ่งไว้ในใจอยู่"
ได้เลยครับ อาวทิดหมูไม่ขัดศรัทธาและมีความเห็นใจในคนมีรัก โดยเฉพาะ "มัก ฮัก สาวอีสาน" บ่ผิดหวังแน่นอน อย่าไปหลอกเขานะ คนอีสานฮักจริงหวังแต่ง มีคำเกี่ยวข้อง 2 คำที่อาจจะเจอ
ขิ่ง ก. ยิงฟัน ยิงฟันเรียก ขิ่งแข้ว ยิ่งแข้ว ก็ว่า อย่างว่า โขนยิ่งแข้วตาโหลอกสาว (สังข์). to bare ones teeth.
ยิ่งแข้ว ก. เปิดปากให้เห็นฟัน เรียก ยิ่งแข้ว อย่างว่า โขนยิ่งแข้วตากะโล้หยอกสาว (กาไก). to bare teeth.
ยิ่งแข้วกีกซีก (แข้ว หมายถึง ฟัน ใช้ไม้โทนะครับ) ความหมายของคนอีสานคือ ยิ้มแฉ่ง, ยิงฟันกว้างๆ, ยิ้มจนเห็นฟัน แสดงความจริงใจ
หรืออาจจะเป็นแบบอย่างที่ฝรั่งเว้าลาว นายมาร์ติน วีลเลอร์ ที่มาอยู่ไทยโดยเฉพาะในอีสานจะสามสิบปีแล้ว ได้พูดไว้ว่า "สมัยผมมาอยู่ขอนแก่นใหม่ๆ ได้เมียคนไทย ฟังชาวบ้านคำป่าหลายเขาพูดภาษาอีสานกัน ก็ไม่เข้าใจ ได้แต่ 'ยิ่งแข้วกีกซีก' พยักหน้างึกๆ ทำเป็นรู้เรื่องไป เพื่อให้ทุกคนสบายใจ" ความหมายเป็นอย่างนี้ก็ได้
ภาษาอีสานวันละคำ มื้อนี้ขอเสนอคำว่า "มาบมาบ"
อ้ายอาวทิดหมู เฉลยคำภาษาอีสานให้นางฮู้แหน่ เมือบ้านไปงานกินดองผู้เฒ่าเพิ่นว่า "สินสอดค่าดองกะหลาย สร้อยคอ กำไลแขน แหวนทองกะเลื่อมมาบมาบ เป็นตาสะออนน้อ" อันคำว่า "มาบมาบ" มันแปลว่าอีหยังอ้าย?
มาบมาบ ว. ประกายแสง แสงที่เลื่อมมาบมาบ เช่น แสงจุดบั้งไฟ อย่างว่า นับบ่ได้ตะไลม้ามาบแสง (ผาแดง) มาบมาบเหลื้อมผาแก้วส่องเงา (ขุนทึง). flashing, flash-flash!.
การที่เรามองเห็นแสงสะท้อนจากวัตถุใดๆ เข้าตา คนอีสานจะบอกว่า เลื่อมมาบมาบ เช่น สวมแหวนเพชรเลื่อมมาบมาบ หริอ เบิ่งแมวโตนั้นตามันเลื่อมมาบมาบ หรือ สาวผู้นี้คือตาคมจนเลื่อมมาบมาบแท้ เป็นต้น
ก่อนที่พุทธศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองในแดนอีสาน สมัยเก่าก่อนนั้น "ฅนอีสาน" นับถือผี ซึ่งมีทั้งผีในป่าช้า ป่าเขา ถ้ำ ในที่รกร้าง หัวไร่ ปลายนา ซึงเป็น "ผีฝ่ายอธรรม" ซึ่งต้องเลี้ยงดูตามกาล กับอีกผีหนึ่งคือผีที่มีบุญคุณ คือ "ผีบ้านผีเรือน" ที่จะคอยดูแลปกปักรักษาคนในครอบครัว ต้องมีการเซ่นสรวงบูชา ตอนแรกจะอยู่ตามมุมบ้านเรือน หรือ "แจเฮือน" ต่อมาก็ทำหิ้งบูชายกขึ้นสูงเหนือหัว มีขันดอกไม้ บูชาในวันสำคัญๆ ที่กำหนดในแต่ละถิ่น
ต่อมาเมื่อหันมานับถือพุทธศาสนา จากหิ้งผีก็กลายเป็นหิ้งพระบูชา นำเอาพระพุทธรูปที่แกะจากไม้ หรือที่ปั้นด้วยดินเผา ไปวางบนหิ้งแทนการบูชาผี จึงเรียกว่า หิ้ง "พระเจ้าอยู่หัว" ตอนหลังคำนี้ก็กร่อนสั้นลงเป็น "เจ้าหัว" และนำไปใช้เรียกพระสงฆ์ในวัดว่า "เจ้าหัว" และเรียกสามเณรน้อยว่า "เจ้าหัวน้อย" แล้วกร่อนคำเหลือแค่ "จัวน้อย"
นี่จึงเป็นที่มาของการเรียก พระภิกษุสงฆ์-สามเณร ในอีสานว่า "เจ้าหัว กับ จัวน้อย"
หน้าที่ : 1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)