คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
นิทานพื้นบ้านอีสานเรื่องนี้เป็นตำนานเกี่ยวกับฟ้าฝน และการทำนา ซึ่งชาวอีสานเชื่อถือ จนกระทำพิธีกรรมตามฮีตเดือนหก คือ "บุญบั้งไฟ" ตามความเชื่อแห่งนิทาน "พญาคันคาก" ที่เล่าสืบต่อกันมา คำว่า "คันคาก" ในภาษาอีสานนั้นแปลว่า "คางคก" ส่วนเรื่อง "พญาคันคาก" เป็นพระชาติหนึ่งของพระโพธิสัตว์ที่เสวยชาติมาเป็นคางคก และเป็นต้นกำเนิดของประเพณีบุญบั้งไฟ ซึ่งเป็น "บุญเดือนหก" หนึ่งใน "ฮีตสิบสอง-คองสิบสี่" ของชาวอีสาน
ณ เมืองแห่งหนึ่งชื่อ "เมืองชมพู" มีเจ้าเมืองชื่อ พระเจ้าเอกราช และพระมเหสี คือ พระนางสีดา ครองเมืองด้วยความร่มเย็นเป็นสุข กาลครั้งนั้นพระโพธิสัตว์ได้จุติลงในครรภ์พระนางสีดา ขณะที่พระนางสีดามีประสูติกาลพระโอรสนั้น ดินฟ้าอากาศเกิดอาเพศสะเทือนเลือนลั่น เมฆหมอกมัวหม่นบนท้องฟ้า บดบังทั้งดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ฟ้าฝนหล่นห่าลงมาเป็นที่อัศจรรย์ พญาเอกราชจึงให้โหราจารย์มาทำนายทายทักว่า "เกิดเหตุอาเพศใด"
โหราจารย์ทำนายว่า "พระกุมารที่กำเนิดมาถึงจะมีรูปร่างเป็นคางคกสัตว์เดรัจฉานก็อย่าได้ประมาท หมิ่นนินทาว่ากล่าวตำหนิติเตียน ขอให้บำรุงเลี้ยงดูให้จงดี ต่อไปภายภาคหน้าจะเป็นผู้มีบุญ มีอำนาจวาสนา เป็นที่พึ่งของทวยราษฎร์ทั้งปวง"
ภาพวาดประกอบโดย ทวีศักดิ์ ใยเมือง (2547)
และก็เป็นดั่งคำทำนาย นางสีดาได้ให้กำเนิดโอรสลักษณะแปลกประหลาด คือผิวกายเหลืองอร่ามดั่งทองคำ แต่เป็นตุ่มตอเหมือนผิวคางคก คนทั้งหลายจึงขนานนามพระกุมารว่า ท้าวคันคาก (คันคาก แปลว่า คางคก) พระบิดามารดาแม้จะไม่พอใจ แต่ก็เมตตาสงสารเลี้ยงไว้
จนเมื่อเติบโตเป็นหนุ่มใหญ่ พระกุมารประสงค์จะได้พระชายาที่มีสิริโฉมงดงาม แต่พญาเอกราชได้ห้ามปรามไว้ ด้วยทรงอับอายในรูปกายของท้าวคันคาก แต่ท้าวคันคากก็ไม่ย่อท้อ ได้ตั้งจิตอธิษฐานขอพรจากพระอินทร์ ด้วยบุญบารมีแต่ชาติปางก่อนของท้าวคันคาก พระอินทร์สงสาร จึงได้ช่วยเหลือโดยการเนรมิตปราสาทแก้วไว้ใจกลางเมืองชมพู พร้อมทั้งประทาน "นางอุดรกุรุทวีป" ผู้เป็นเนื้อคู่แต่ชาติปางก่อนมาไว้ในปราสาท แล้วชุบให้ท้าวคันคากกลายเป็นชายหนุ่มรูปงาม ทั้งสองจึงได้อภิเษกสมรสครองคู่กันในราตรีนั้น
ครั้นรุ่งเช้าก็เป็นเรื่องร่ำลือกันอื้ออึงไปทั้งเมืองชมพู ไพร่บ้านพลเมืองพิศวงงงงวยที่จู่ๆ ก็ได้เห็นคุ้มหลวงปราสาทแก้วมาตั้งตระหง่านกลางพระนคร นางสีดากับพญาเอกราชตื่นขึ้นมาเห็นคุ้มหลวงในเวียงวังก็ประหลาดใจ ครั้นเดินไปดูใกล้ๆ ก็พบหนุ่มรูปงามเหมือนสังข์ทองถอดรูปเงาะ มีนางเมืองเคียงข้างเหมาะสมกันยิ่งนัก แต่เมื่อเอ่ยวาจาขึ้นมานางสีดาก็จำเสียงได้ว่าเป็นเสียงลูกชายคางคกของพระองค์ จึงถามลูกชายว่า "เมื่อเจ้ายังเล็กรูปร่างหน้าตาดังคางคก บัดนี้เป็นคนรูปร่างงดงามเช่นนี้แล้ว เจ้าเอารูปร่างเดิมของเจ้าไว้ที่ใด"
ท้าวคันคากจึงได้หันกลับเข้าไปยกเกราะทองคำรูปคางคกให้พระบิดา-มารดาได้เห็น เมื่อประจักษ์แก่สายตาของทุกผู้คนพลเมืองแล้ว ต่างก็สรรเสริญบุญญาธิการของท้าวคันคาก พญาเอกราชนั้นยินดีกับพระโอรสของพระองค์ จึงสละราชบัลลังก์ให้ครองบ้านเมืองสืบต่อไป ทรงพระนามว่า "พญาคันคาก"
พญาคันคากตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม มีเดชานุภาพเป็นที่เลื่องลือ จนเมืองน้อยใหญ่ต่างเข้ามาสวามิภักดิ์ แต่ก็ทำให้มีผู้เดือดร้อน คือ "พญาแถน" ผู้อยู่บนฟากฟ้า เพราะมนุษย์หันไปส่งส่วยให้กับพญาคันคากจนลืมบูชาพญาแถนเสียสิ้น
ด้วยเหตุอันนี้ พญาแถนจึงได้กลั่นแกล้งด้วยการสั่ง "พญานาค" งดมิให้ไปให้น้ำในฤดูทำนา ฝนฟ้าจึงไม่ตกต้องตามฤดูกาล บ้านเมืองมนุษย์จึงเกิดความแห้งแล้ง อดอยาก ข้าวยากหมากแพง ชาวเมืองทั้งหลายจึงไปร้องขอ "พญาคันคาก" ให้ช่วย
พญาคันคาก เห็นความทุกข์ยากของไพร่บ้านพลเมือง ก็มุดลงไปเมืองบาดาลของพญานาค แล้วไต่ถามความนัยว่า "เหตุไฉนถึงเกิดภัยแล้งแห้งน้ำมานานปีเช่นนี้"
พญานาค จอมบาดาล จึงบอกเหตุว่า "เพราะเหล่าผีฟ้า พญาแถนไม่ให้นาคทั้งหลาย ขึ้นไปเล่นน้ำบนสวรรค์เหมือนแต่ก่อน น้ำเลยไม่แตกฉาน ซ่านกระเซ็น กระเด็นกระดอน เป็นฝนฝอยหล่นลงมาเลี้ยงโลกมนุษย์ เมืองชมพู และบริวารเลยยากแค้นแสนกันดาร ด้วยแถนฟ้าเคืองรำคาญผู้คนที่ไม่บัตรพลีดีไหว้ มัวแต่ไปบังคมพญาคันคากผู้เดียวนั้นแล"
พญาคันคาก รู้ความตามจริงก็ยิ่งโกรธพิโรธนัก สั่งให้ "พญานาค" ผู้เป็นเมืองบริวารทำทางถนนจากเมืองชมพู ขึ้นไปเมืองแถนแดนสวรรค์ พญานาคพร้อมนาคบริวาร จึงพากันแผ่พังพานพวนขนด แล้วขดขนขุนภูเขาทุกเขตแคว้นแดนมนุษย์เอามาต่อเข้าด้วยกัน บรรดาปลวกระดมขนดินมาถมพอกภูเขา ให้เป็นทางถนน ด้นดั้นถึงเมืองแถนในทันที ฝูงพญานาค ครุฑยุดพญานาคมาพร้อมกัน พร้อมทั้งเกณฑ์กองทัพสัตว์มีพิษทั้งหลาย อันได้แก่ มด ผึ้ง แตน ตะขาบ แมงป่อง กิ้งกือ กบ เขียด เป็นอาทิ ทำทางและยกทัพขึ้นไปสู้กับพญาแถน
โดยส่งมด ปลวกไปกัดกินศัตราวุธของพญาแถนที่ตระเตรียมไว้ก่อน ทำให้เมื่อถึงเวลารบ "พญาแถน" จึงไม่มีอาวุธมาต่อสู้ แม้จะร่ายมนต์ ก็ถูกเสียงกบ เขียด ไก่ กา ร้องดังกลบเสียงมนต์คาถานั้นหมด พญาแถนจึงเสกให้งูมากัดกินพวกกบ เขียด แต่ก็โดนรุ้ง (เหยี่ยว) ของพญาคันคากจับงูมากิน ทั้งสัตว์มีพิษทั้งหลายก็ยังไปกัดต่อยพญาแถน
พญานาคกับพญาแถนรบรากันสนั่นหวั่นไหวคล้ายเสียงฟ้าร้อง จนกระทั่ง พญาแถนยกมือขึ้นบังคมพนมไหว้ยอมแพ้ ขอเป็นเมืองส่วยสุจริตแต่งน้ำฟ้า ห่าฝนหล่นลงเมืองมนุษย์ทุกปี แล้วร้องเชิญพญาคันคากเข้าเมืองแถน ในคุ้มหลวงเมืองแถน บรรดาบริวารพญาแถนทั้งลูก เมีย และนางท้าว ร้องขอต่อพญาคันคากที่นั่งเมืองแถนว่า "อย่าพิฆาตฟาดฟัน บั่นเกล้าชาวแถนเลย จะยอมเป็นข้าช่วงใช้ไปนิรันดร"
พญาคันคากนั้นมีใจเมตตา แล้วเจรจาว่ากล่าวอบรมบ่มนิสัยพญาแถนให้ประพฤติธรรม ต้องเอาใจใส่ดูแลทั้งชาวแถน และชาวมนุษย์จนสุดดินใจฟ้า ด้วยโลกนี้มีทั้ง ดิน หญ้าและฟ้าแถน ต้องพึ่งพาอาศัยกันมั่นคงถึงจะดำรงอยู่ได้ชั่วฟ้าดิน ถึงฤดูเดือนปีที่นาคต้องขึ้นมาเล่นน้ำบนฟ้าก็อย่าห้ามปราม เพราะนาคจะได้พ่นน้ำกระแทกคลื่น ดื่นดกตกเป็นฝอยฝนหล่นไปชุบเลี้ยงเอี้ยงดูหมู่มนุษย์ ทำไร่ไถนา ได้พืชพันธุ์ว่านยาอาหารอุดมสมบูรณ์
ถ้าไม่มีน้ำฟ้าน้ำฝน คนในเมืองมนุษย์สุดลำบาก จะได้ยากโหยหิวชิวหาดังราไฟ เมื่อไม่มีพืชพันธุ์ว่านยาอาหารเลี้ยงชีวังสังขาร แล้วจะเอาอะไรส่งสักการสังเวยให้แถนกินบนฟ้า แถนฟ้าก็ต้องเงือดงด อดตายไม่เป็นสุข นอกจากคนทั้งหลายแล้ว ในเมืองมนุษย์ยังมีพืชและสัตว์ ต้องอาศัยน้ำฝนน้ำฟ้าจากเมืองแถน ถ้าอนาถขาดแคลนเสียแล้ว ก็ต้องเดือดร้อนสารพัด ทั้งสัตว์และพืชเป็นล้นพ้น
เราเองพญาคันคาก คือ คางคกสัตว์ไม่มีขน ยังต้องดูแลเผื่อแผ่เกื้อหนุนฝูงมนุษย์ พี่น้องเราทั้งหมดก็ล้วนสัตว์บริสุทธิ์ ที่พิทักษ์รักษาผู้คนให้มีความสุขอุดมสมบูรณ์เสมอกัน ท่านซึ่งเป็นพญาแถนควรจดจำเป็นเยี่ยงอย่าง อย่าเบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน แถนฟ้าต้องรักษาหน้าที่ ปล่อยน้ำฟ้าน้ำฝนให้ตกต้องตามฤดู ไม่อย่างนั้นจะขึ้นมาลงโทษอีกให้สาสม
พญาแถนถามว่า "จะรู้ได้อย่างไรว่า เมืองมนุษย์ต้องการน้ำตอนไหน เมื่อไร"
พญาคันคากตอบว่า "จะส่งสัญญาณให้พญานาคขี่บั้งไฟขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เมื่อได้ยินเสียง แล้วมองเห็นบั้งไฟมีหัวพญานาค ก็ให้ไขน้ำทำฝนหล่นลงเมืองมนุษย์ทันที ถ้าได้ยินเสียงกบ เขียดร้อง ให้รับรู้ว่าฝนได้ตกลงมาแล้ว ถ้าได้ยินเสียงสะนูว่าวหรือเสียงโหวด ให้ฝนหยุดตก เพราะจะเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว พร้อมขอบคุณที่ท่านส่งฝนลงมาให้ได้ทำนา" พญาแถนน้อมรับคำสั่งสอนของพญาคันคากทุกอย่าง แล้วสั่งให้ไพร่พลลูกเมียเตรียมสำรับกับข้าว เลี้ยงดูกองทัพทั้งปวง
พญาคันคากนั้นไม่รู้จักข้าว เลยถามว่า "มันคืออะไร"
พญาแถนบอกว่า "เมืองฟ้าเมืองแถนมีข้าวปลูกไว้กินเป็นข้าวหอมอร่อยมาก แล้วอธิบายสรรพคุณยืดยาว..."
ภาพวาดประกอบโดย ทวีศักดิ์ ใยเมือง (2547)
พญาคันคากเลยสั่งให้พญาแถนเอาข้าวลงไปปลูกในเมืองมนุษย์ "โดยให้รวงข้าวให้ยาวแค่วา เมล็ดข้าวเท่ามะพร้าว ต้นข้าวเท่าลำตาลก็พอแล้ว"
พญาแถนรับคำ แล้วบอกเพิ่มเติมว่า "ข้าวพวกนี้เมื่อโตเต็มที่เมล็ดข้าวจะหล่นจากรวงเอง แล้วจะแล่นไปเข้ายุ้งฉางข้าวเอง ขอให้มนุษย์ทำ ยุ้งฉางเยียข้าว คอยไว้เท่านั้น"
เมื่อสำเร็จเสร็จสรรพ อิ่มหนำสำราญแล้ว พญาคันคากก็พาสารพัดสรรพสัตว์ ไพร่พลทั้งหลาย ลงจากเมืองแถนแดนฟ้า กลับสู่แดนดินเมืองชมพูตามเส้นทางเดิมที่ปลวกทำไว้
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ในทุกๆ เดือนหกซึ่งเป็นช่วงเริ่มฤดูทำนา ชาวอีสานจึงมีประเพณีบุญบั้งไฟเพื่อบูชาพญาแถน เพื่อจะได้อำนวยความสะดวกตลอดฤดูเพาะปลูก และเมื่อพญาแถนประทานฝนลงมาถึงพื้นโลกแล้ว บรรดากบ เขียด คางคก ที่เป็นบริวารของพญาคันคาก ก็จะร้องประสานเสียงกันเพื่อแสดงความขอบคุณต่อพญาแถน
ครั้นเมื่อ "พญาคันคาก" ละร่างคางคกรูปคนสิ้นอายุขัยแล้วสวรรคต เมื่อช้านานกาลกำหนดความอุดมสมบูรณ์ก็เริ่มประหลาด ผู้คนในชมพูทวีปต่างประมาทขาดสำรวม จนเรรวนแล้วเกียจคร้าน เหตุเพราะความสะดวกสบายที่พญาแถนบันดาล ผู้คนลืมทำ ยุ้งเลียเล้าข้าวให้พร้อมเสร็จตามเวลากำหนด เมื่อเมล็ดข้าวสุก จึงหล่นเรี่ยราดตามนาไร่ เมื่อไม่มีที่อยู่ก็บินหาที่พำนักในเรือนนอนของผู้คน เขาก็พากันเอาพร้า มีด ขวาน โขกสับเมล็ดข้าวจนปี้ ป่น แตก ตัด กระจัดกระจาย เหลือเมล็ดเท่ากรวดทรายกระจิริดตั้งแต่นั้นมา
ทางถนนที่ปลวกทำไว้ให้พญาคันคากขึ้นไปหาฟ้าแถนแต่ก่อน มีเครือเขากาดเกี่ยวพันแน่นหนาไม่สั่นคลอน ถาวรเป็นนิรันดรให้ผู้คนสัญจรไปมา พญาแถนพิจารณาว่า "มนุษย์ไม่ซื่อตรง ล้วนลุ่มหลงแต่ความสบาย บริโภคซึ่งพิษภัย เบียดเบียนกันเองไม่เกรงใคร เหมือนปลาใหญ่กินปลาเล็กทุกบริเวณ" ผีฟ้าพญาแถนก็ "ก่งคันศรร่อนธนูสู่ทางถนนเครือเขากาด" หนทางปลวกของพญาคันคากก็ขาดสะบั้น ถล่มทลาย กระจาย เป็นภูดอยน้อยใหญ่ในชมพูทวีปแต่นั้นมา
ผีฟ้าพญาแถนแดนสวางสวงสังเวียนบนสวรรค์ ก็ลงโทษทัณฑ์มนุษย์ทั้งหลายที่มักเกียจคร้าน จึงไม่ปลุกพันธุ์ข้าวทิพย์ให้มนุษย์เหมือนแต่ก่อน มนุษย์ต้องหักร้างถางพงในดงดอน แล้วถางไถปลูกข้าวกินเองอย่างทุกข์ทรมานแต่นั้นมา
"พญาคันคาก" จากไป "พญาแถน" ก็ไม่กลับมา ฤดูเดือนเคลื่อนที่ไม่คงทน น้ำฟ้าน้ำฝนขาดตกบกพร่อง แม่น้ำลำคลองเน่าเหม็นเป็นอันตราย สุมทุมพุ่มไม้ป่าดงพงไพรพินาศ ล้วนมีเหตุจากความประมาทของมนุษย์ตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้
แม้นจะจุดบั้งไฟส่งสัญญาณร้องขอไปเพียงใดก็ไม่เป็นผล ฝนก็ไม่ตกต้องตามฤดูกาล ซ้ำยังเลื่อนวันเดือนปีไปไม่เหมือนเคยอีกแล้ว
อ้างอิง :
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)