foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

isan vocation

คนในยุคสมัยก่อนนั้นจะใช้เครื่องมือในการทำมาหากินจากวัสดุใกล้ตัว เช่น เรื่องจักสานจากไม้ไผ่ หวาย ที่สามารถสาน ถัก ทอ เป็นรูปร่างต่างๆ ได้ง่าย มีน้ำหนักเบา ถ้าต้องการให้กันน้ำหรืออุ้มน้ำได้ก็ทาด้วยขี้ซี (ชันโรง น้ำมันยาง) อุปกรณ์บางชิ้นที่ต้องการความคงทนถาวรก็ทำจากไม้เนื้อแข็ง ด้วยการถาก ขุดเป็นหลุม เป็นท่อน เช่น ครก สาก คราด ไถ ด้ามมีด/พร้า ขวาน เป็นต้น ต่อมาเมื่อความเจริญทางเทคโนโลยีมีมากขึ้น สิ่งของที่ทำจากแผ่นโลหะสังกะสี เหล็ก พลาสติก ก็เข้ามาแทนที่จนเครื่องใช้ที่ทำด้วยภูมิปัญญาจากไม้เริ่มหายไป เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง เลยขอนำเรื่องราวของเครื่องใช้ในอดีตมาบันทึกไว้ให้ลูกหลานได้ย้อนระลึกถึงวันวานดังนี้

เครื่องมือในการทำนา

คนอีสานในยุคโบราณเก่าก่อนมีความรู้ความสามารถในด้านการเกษตร โดยเฉพาะการทำนา ซึ่งมีการปลูกทั้งข้าวเจ้า ข้าวเหนียวขาว ข้าวเหนียวดำ มีการผลิตเครื่องมือเพื่อการเพาะปลูกโดยใช้แรงงานคน และแรงงานสัตว์เพื่อทุ่นแรง และประหยัดเวลา จากวัสดุที่เป็นไม้เนื้อแข็ง ไม่ไผ่ ต่อมามีการนำเอาโลหะมาเป็นส่วนประกอบเพื่อเพิ่มความทนทาน และแข็งแรงยิ่งขึ้น พอยุคอุตสาหกรรมรุ่งเรืองและการส่งเสริมของภาครัฐให้ทำการผลิตเพื่อขายให้มากขึ้น เครื่องมือโบราณเหล่านั้นก็ค่อยๆ เลือนหายไป จากคราด ไถ ที่เป็นไม้ใช้แรงงานสัตว์อย่างวัว ควาย ก็มาเป็นควายเหล็กตดเป็นควันแทนที่ จากเคยก้มหน้าเกี่ยวข้าวก็กลายมาเป็นรถเกี่ยวที่สีออกมาเป็นข้าวเปลือกได้ทันที นี่คือต้นทุน และหนี้สินที่คาดไม่ถึงจริงๆ

kan tai 5

ชาวบ้านในสมัยโบราณ ได้คิดทำเครื่องมือเครื่องใช้เพื่อการประกอบอาชีพ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอาชีพในกลุ่มของเกษตรกรรม การทำนาปลูกข้าว เป็นหนึ่งในอาชีพของชาวบ้านในชนบททั่วไป เกือบทุกครอบครัวจะมีการทำนาเพื่อให้ได้ข้าวไว้กินตลอดปี ที่เหลือจากการสำรองไว้เพื่อครอบครัวแล้วก็นำออกจำหน่าย เพื่อแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องอุปโภคบริโภคอย่างอื่นบ้าง การทำนาในสมัยก่อนเป็น การทำเกษตรแบบพอมีพอกิน ยั่งยืน (ตรงตามพระราชดำริของในหลวง ล้นเกล้า รัชกาลที่ ๙)

ดังนั้นเครื่องมือในการทำนาก็ได้ปะดิษฐ์คิดทำขึ้นใช้กันเอง ในบรรดาเครื่องมือในการประกอบอาชีพทั้งหลาย เครื่องมือที่ใช้ในการไถนา หรือคันไถ ก็เป็นเครื่องมือที่สำคัญอย่างหนึ่ง ใครเป็นคนคิดทำเป็นคนแรกไม่มีใครรู้ แต่ได้รับการถ่ายทอดสืบต่อกันมา การสร้างเครื่องมือเหล่านี้ต้องใช้เวลานานพอสมควร เพราะต้องหาไม้เนื้อแข็งที่เหนียว และมีลักษณะใกล้เคียงกับชิ้นส่วนที่ต้องการทำ ซึ่งแต่ละชิ้นส่วนจะมีลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกันไป นำมาถาก ขัด ตกแต่งให้ได้รูปแบบตรงตามที่ต้องการ ทั้งความคดงอสำหรับผลในการใช้งาน การบิดตัวของดินเมื่อผ่านผานไถ หรือคราด การช่วยเพิ่มแรงฉุดลากดึงจากสัตว์ที่ใช้แรงงาน ความเหมาะมือสำหรับการจับถือของคนผู้วบคุม แต่เมื่อรวมกันเป็นชุด จะประกอบด้วย หัวหมู หางยาม คันไถ แอก คราด

kan tai 3

คันไถ

การทำนาข้าวนั้น ต้องมีการใช้แรงงานมาก จากการที่ต้องไถพลิกดินจากข้างล่างขึ้นข้างบน เพื่อให้ดินร่วน กำจัดวัชชพืช (ไถพลิกกลบให้หญ้าเน่าตายกลายเป็นปุ๋ย) การใช้จอบขุดดินเอาก็ทำได้ แต่คงไม่ไหวเพราะผืนนาค่อนข้างกว้างใหญ่ จึงจำเป็นต้องหาเครื่องทุ่นแรงมาช่วย แล้วนำแรงงานสัตว์มาเสริม ก็คงไม่พ้น วัว ควาย นั่นเอง ชาวนาอีสานนิยมใช้ควายมากกว่าวัว เพราะควายชอบน้ำและโคลนตม รวมทั้งมีความบึกบึนแข็งแรงกว่า ส่วนวัวนั้นไม่ชอบน้ำแต่กลับทนแดดได้ดีกว่า เลยนิยมนำไปใช้เทียมเกวียนเดินทาง แต่ในบางประเทศ เช่น พม่า เขมร นิยมใช้วัวเทียมไถนา บางแห่งใช้ช้างก็มี เช่น ชนเผ่าปะกากะญอ หรือกะเหรี่ยง ในจังหวัดตาก

kan tai 6

จากนั้น จึงมีการคิดประดิษฐ์เครื่องมือขึ้นมาเรียก "ไถ" ด้วยการไปเลือกหากิ่งไม้เนื้อแข็งทีมีลักษณะความโค้งงอตามที่ออกแบบไว้ เช่น พวกไม้ประดู่ ชิงชัน พยุง เป็นต้น นำมาถากเหลาเป็นคันไถตามที่ต้องการ เหมาะสมกับขนาดของสัตว์ที่ใช้เทียมลาก ลักษณะดังภาพประกอบ

kan tai 1
คันไถแบบเทียมควายตัวเดียว

ตัวไถ จะเป็นไม้สามชิ้น ได้แก่ คันไถ หางไถ และ หัวหมู ประกอบกันด้วยการเข้าลิ่ม และส่วนที่ผูกติดกับควายอีกสามชิ้นส่วนประกอบของไถมีดังนี้

  • หางไถ คือ ส่วนที่ชาวนาใช้จับเวลาไถ เป็นไม้ชิ้นเดียวทำให้เป็นลักษณะเอียงจากหัวหมูประมาณ 15 องศา มาจนถึงส่วนที่จะต่อเข้ากับคันไถจะเจารูสี่เลี่ยมผืนผ้าทะลุชิ้นไม้เพื่อใส่ลิ่มต่อกับคันไถ เหนือส่วนนี้ขึ้นไปจะทำเป็นรูปโค้งเพื่อสะดวกต่อการจับ เวลาประกอบเข้าเป็นตัวไถแล้วส่วนนี้จะตั้งขึ้นและส่วนโค้งจะยื่นไปด้านหลังระดับประมาณเอว
  • คันไถ คือส่วนที่ยื่นออกไปด้านหน้า เพื่อเชื่อมต่อกับส่วนที่ผูกควาย เป็นไม้อีกท่อนที่เป็นส่วนประกอบของตัวไถ ส่วนที่ต่อกับหางไถจะทำเป็นเดือยตัวผู้เพื่อใช้ต่อกับรูเดือยตัวเมียที่หางไถ ทำให้แน่นโดยใช้ลิ่มตีเข้าด้านบน เพื่อให้ไม้สองชิ้นประกอบกันแน่น ส่วนปลายยื่นออกไปข้างหน้า โค้งทำมุมต่ำลง มีปลายช้อนขึ้น เพื่อใส่ตะขอสำหรับต่อกับผองไถ
  • หัวหมู คือ ส่วนที่ใช้ไถดิน จะประกอบด้วยไม้หนึ่งชิ้นบากปลายให้แหลมและบาน เจาะรูเดือยตัวเมียสี่เหลี่ยมสำหรับต่อเข้ากับหางไถ ส่วนท้ายจะทำเป็นรูปท่อนกลมยาว เพื่อรักษาระดับไถเวลาไถนา ส่วนประกอบที่เป็นเหล็กตัวส่วนหัว จะเป็นรูปทรงแหลมกลวงเรียกว่า ผานไถ ใช้สวมเข้ากับตัวไม้หัวหมูแล้วยึดติดด้วยตะปู ส่วนที่เป็นเหล็กแผ่นรับขึ้นมาอีกชิ้นเรียกว่า ปะขางไถ (หรือใบไถ) ใช้บังคับดินที่ถูกไถ หรือที่เรียกว่า ขี้ไถ ให้พลิกไปตามแนวที่ต้องการ ทางบ้านผมที่อุบลราชธานีขี้ไถจะพลิกออกไปทางขวามือ
                  kan tai 4

    "ผานไถ" ที่ทำจาก "ขาง" ซึ่งเป็นโลหะเหล็กผสมพลวงที่นำไปหล่อเป็นใบขาง ผานไถ สำหรับสวมเข้ากับหัวหมูไม้ใบไถมีขนาดประมาณ 8 x 6 นิ้ว ปลายแหลม ให้สามารถจิกลงในเนื้อดินเพื่อให้วัวควายลากกดหัวไถให้จมดิน แล้วค่อยขยับให้ดินพลิกหงายขึ้น (ไทอุบลฯ บ้านผมเอิ้นว่า "บักสบไถ") ผานไถหรือสบไถที่ผมเคยเห็นมามีอยู่ 2 แบบ

    • ผานไถแบบชิ้นเดียว (ตั้งแต่ปลายแหลมยาวขึ้นไปจนสุดใบไถ คือรวมเอาปะขางไถเข้าเป็นชิ้นเดียวกัน)
    • ผานไถแบบสองชิ้น (จะแยกส่วนปลายแหลม กับส่วนใบออกจากกัน ส่วนปลายมักจะสึกเร็วกว่า ก็เปลี่ยนเฉพาะส่วนนี้ได้)

    ส่วนขนาดก็จะแปรเปลี่ยนไปตามขนาดของคันไถ ซึ่งจะมีเดือย "หัวหมู" ที่เหลาให้ปลายเรียวแหลมเพื่อสอดเข้าไปในรูของผานไถได้พอดี แล้วจะตอกยึดตัวผานไถเข้าหัวหมูด้วยตะปูเกลียวอีกทีให้แน่นหนา

  • ผองไถ ส่วนนี้จะเป็นไม้ท่อนกลมๆ มีขอเหล็กติดอยู่ตรงกลางเพื่อยึดเข้ากับขอเหล็กของคันไถ ส่วนหัวทั้งสองข้างจะทำเป็นปมหยัก เพื่อใช้ผูกเชือกติดกับปลายที่แอกคอควาย
  • แอก คือไม้ชิ้นที่ทำเพื่อวางบนคอควาย มีลักษณะเหมือนเขาควายกางออก ตรงกลางสูงขึ้นเพื่อให้รับพอดีกับคอควาย ส่วยปลายสองข้างไว้ผูกเชือกต่อกับผองไถ
  • ผองคอควาย คือส่วนที่อยู่ใต้คอควาย เป็นไม้ชิ้นแบนๆ ทำให้เป็นรูประมาณครึ่งวงกลมด้านบนเรียบเพื่อให้รับเข้าได้กับคอควาย ด้านล่างจะทำรูเพื่อร้อยเชือกเพื่อผูกให้ผองคอควายติดกับกับแอก และแนบกับคอควายได้พอดี มีไถเหล็กมาแทนที่ไถไม้บ้างเพราะน้ำหนักเบาและทนทานกว่า แต่ไถไม้ก็ยังมีใช้อยู่

kan tai 2
คันไถแบบเทียมวัวสองตัว

คราด

คราด เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ทำสำหรับทำให้ดินที่ไถแล้วละเดียด ประกอบด้วยตัวคราด ลูกคราด คันคราด และเสาจับคราด และมือจับ

  • ตัวคราด เป็นไม้ท่อนเจาะรูกลมสำหรับใส่ลูกคราด
  • ลูกคราด เป็นท่อนไม้กลมๆ รูปเรียวด้านปลายตีเข้าไปในรูของตัวคราด โผล่ออกมาจากตัวคราดประมาณ 10-15ซม. แต่ละซี่ห่างหันประมาณ 10-15 ซม. เช่นกัน (ขึ้นอยู่กับผู้ทำ ไม่มีสูตรตายตัว)
  • คันคราด เป็นไม้สองชิ้นยาวที่ต่อระหว่างตัวคราด ขนานกลับพื้น ยาวจนถึงแอกควาย เวลาใช้งานควายจะอยู่ระหว่างคันคราด
  • เสาจับคาด เป็นเสาสองเสาที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นตัวยึดมือจับกับตัวคราด
  • มือจับ เป็นไม้ยาวทรงกลมสำหรับจับเวลาคราดนา

ส่วนที่ผูกกับคอควายก็ใช้แอกและผองคอควายมาจากชุดเดียวกันของไถนั่นเอง

kan tai 7

เคียวเกี่ยวข้าว

เคียวเกี่ยวข้าว คือเครื่องมือทางการเกษตรชนิดหนึ่ง ใช้สำหรับเก็บเกี่ยวพืชผลประเภทข้าวและธัญพืช มีลักษณะเป็นมีดทำด้วยเหล็ก โค้งคล้ายตะขอและมีคมอยู่ด้านใน มีด้ามจับสำหรับถือ มีชื่อที่แตกต่างไปในแต่ละภาค เช่น ตรูด กรูด ผู้ใช้งานจะใช้เคียวเกี่ยวไปที่ฐานของต้นพืชและตัดออก เคียวแบบด้ามสั้นอาจทำให้เกิดอาการปวดหลัง เมื่อใช้เป็นระยะเวลานานเนื่องจากต้องยืนก้มอยู่ตลอด (ด้วยเหตุนี้จึงเรียกชาวนาว่าเป็น "กระดูกสันหลังของชาติ") จึงมีเครื่องมืออีกอย่างหนึ่งคือ เคียวด้ามยาว (scythe) ซึ่งมีด้ามจับยาวกว่าและไม่ต้องก้มให้ปวดหลัง

kan tai 8

เคียวเกี่ยวข้าว ที่ใช้ในประเทศไทยมีหลายชนิด ดังนี้

  • เคียวนกกระยาง รูปร่างคล้ายคอนกกระยาง ด้ามยาว คมค่อนข้างใหญ่ นิยมใช้เกี่ยวข้าวนาดำหรือนาหว่านที่กอไม่ใหญ่นัก
  • เคียวนกกระสา โค้งมากและยื่นยาวอย่างคอนกกระสา คมเคียวเล็กกว่าเคียวนกกระยาง เหมาะกับข้าวนาดำ
  • เคียวงู รูปร่างคล้ายหัวงู วงเคียวแคบกว่าเคียวสองแบบข้างต้น เหมาะกับการเกี่ยวข้าวฟ่าง
  • เคียวขอ มีด้ามไม้โค้งกลับกันคล้ายตัว ตัวเคียวเป็นเหล็กบางๆ งอเล็กน้อย คมอยู่ด้านใน เสียบกับด้ามให้โค้งเข้าหาด้ามด้านหนึ่ง นิยมใช้ในพิจิตร พิษณุโลก และบางท้องที่ที่ติดต่อกับกัมพูชา บางครั้งจึงเรียก เคียวเขมร

ไม้คันหลาว

ไม้หาบกล้า (ทางอีสานเรียก ไม้คันหลาว) ไม้ที่ทำเป็นคานหลาวใช้ไม้ไผ่ลำตรงๆ คานหลาวแต่ละอันมีความยาวประมาณ 2 - 2.5 เมตร ชาวบ้านจะนำไม้ไผ่ไปผึ่งแดดให้แห้ง หรืออาจลนไฟก็ได้ เหลาข้อไม้ไผ่ให้เรียบไม่ให้มีเสี้ยน จากนั้นจะใช้มีดเสี้ยมปลายไม้ไผ่ทั้งสองข้าง ตรงส่วนล่างที่ตอกมัดข้าวหรือบางแห่งก็ใช้ต้นข้าว มัดขมวดไว้ไม่ให้หลุด ซึ่งเรียกกันว่า เขน็ดข้าว ปากฉลามทั้ง 2 ข้างจะมีความยาวประมาณ 20 – 30 เซนติเมตร

kan tai 10

ใช้สำหรับหาบต้นกล้าเพื่อนำไปปักดำ ใช้หาบฟ่อนข้าวที่เกี่ยวมัดรวมไว้ในคันนาไปรวมที่กองข้าว ซึ่งรวมกันไว้เป็นกองใหญ่ๆ ที่ใดที่หนึ่ง เพื่อจะใช้เกวียนหรือรถบรรทุกฟ่อนข้าวไปลานนวด นอกจากใช้หาบฟ่อนข้าวแล้วชาวนายังใช้หาบแฝก หาบหญ้าคา และฟ่อนหญ้า ใช้สำหรับเสียบตรงกลางฟ่อนข้าวเพื่อใช้หาบ การที่จะใช้กระบุงแล้วใช้ไม้คานหาบฟ่อนข้าวนั้น หาบได้ครั้งละไม่กี่ฟ่อนก็เต็มกระบุงแล้ว การใช้คานหลาวจึงมีความเหมาะสมกว่า เพราะหาบได้ทีละหลายๆ ฟ่อน

 

ไม้หนีบ หรือ ไม้ค้อนตีข้าว

ไม้หนีบ หรือ เรียกแบบไทอุบลฯ ว่า ไม้ค้อนตีข้าว หรือเรียกภาษาโคราชว่า ไม่ตีหัวข้าว ทำด้วยไม้ขนาดกำถนัด (จะเป็นไม้เนื้อแข็ง ไม้ไผ่ก็ได้) ยาวประมาณศอกครึ่ง 2 อัน ข้างหนึ่งยาวกว่าอีกข้างหนึ่งประมาณหนึ่งคืบ ผูกติดกันด้วยเชือกยาวประมาณหนึ่งคืบ ใช้สำหรับรัดฟ่อนข้าวเวลาตี ดังภาพ

kan tai 9

การตีข้าวแบบโบราณอีสานบ้านเฮา

การนวดข้าว โบราณนั้นมักจะใช้วิธีการลงแขก ช่วยกันด้านแรงงานของชาวบ้าน ทำให้เกิดความรักความสามัคคีของชุมชน หนุ่ม-สาวในหมู่บ้านได้มีโอกาสพบปะกันในการมาช่วยงาน หนุ่มๆ มานวด (ตี) ข้าว สาวๆ มาช่วยกันพัดวีข้าวลีบออกจากลานนวด กวาดเศษฟาง และกวาดกองข้าวรวมกัน มีการเลี้ยงอาหารผู้มาช่วยงาน ในนาของทิดหมูเองจะใส่ เหล้าสาโท ไว้หลายไห เก็บไว้ภายในกลางกองข้าว เมื่อนวดข้าวเสร็จก็จะได้เวลาฉลองกัน ทำให้เพื่อนบ้านขยันทุ่มเทเป็นพิเศษเพื่อให้ได้พบไหเหล้าสาโทในกลางกองข้าวนั่นเอง คนที่พบก่อนจะได้ชิมน้ำหัว (น้ำเหล้าที่อยู่ด้านบนซึ่งมีรสหวานอร่อย หรืออาจจะขม หรือเปรี้ยว ขึ้นอยู่กับฝีมือผู้หมักสาโทนั่นเอง) พ่อทิดหมูเองมีฝีมือขึ้นชื่อเรื่องหมักเหล้าหวาน ได้กิน(ดื่ม)แล้วคลานกลับบ้านทุกคน เพราะเมาไม่รู้ตัวนั่นเอง

การตีข้าวสะนุออกจากฟางที่ผ่านการตีรอบแรก

kan tai 11

ในยุคปัจจุบันนี้หาดูภาพแบบนี้ยากแล้ว เพราะมีเครื่องจักรทุ่นแรงเข้ามาช่วยตั้งแต่การไถ ปักดำ เก็บเกี่ยว และสีข้าว วัว ควาย ก็เลี้ยงเพื่อขายเป็นอาหาร เอาเงินมาซื้อน้ำมันใส่ควายเหล็กที่ตดออกมาเป็นควันเต็มทุ่ง

รายการอยู่ดีมีแฮง : เฮ็ดนา เฮ็ดหยัง

kan tai 12

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)