คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ปี พ.ศ. 2510 ท่านอาจารย์สุเมโธ (ศิษย์ชาวต่างประเทศรูปแรก) ได้ยินกิติศัพท์ความเคร่งครัดในข้อวัตรปฏิบัติของหลวงพ่อ จึงกราบลาพระอุปัชฌาย์ของท่านที่จังหวัดหนองคาย เดินทางมาฝากตัวเป็นศิษย์กับหลวงพ่อ ท่านได้เมตตารับไว้ แต่ตั้งเงื่อนไขว่า...
ท่านจะมาอยู่กับผมก็ได้ แต่มีข้อแม้ว่าผมจะไม่หาอะไรมาบำรุงท่านให้ได้ตามอยาก ท่านต้องทำตามระเบียบข้อวัตรเหมือนที่พระเณรไทยเขาทำ "
ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ป่าพง ท่านอาจารย์สุเมโธได้รับการฝึกฝนเคี่ยวเข็ญด้วยอุบายต่างๆ จากหลวงพ่อ ท่านอาจารย์สุเมโธเล่าให้ฟังว่า
"บางครั้งหลวงพ่อจะดุหรือตักเตือนผมในที่สาธารณะ ทำให้ผมอายมาก บางครั้งท่านเล่าให้โยมทั้งศาลาฟังเรื่องที่ผมทำไม่สวย ไม่งาม เช่น การฉันข้าวด้วยมือเปล่าแต่เปิบไม่เป็น ขยุ้ม อาหารขึ้นมาเต็มกำมือแล้วโปะใส่ปาก ใส่จมูกเลอะเทอะไปทั้งหน้า พระเณรและโยมหัวเราะกัน ลั่นศาลา ผมนั้นทั้งโกรธทั้งอาย แต่ก็ทนได้ และพิจารณาว่า นี่เป็นความกรุณาของหลวงพ่อ ที่ช่วยเปิดเผยความเย่อหยิ่งของผม ซึ่งมันเป็นจุดบอดที่เรามักจะมองไม่เห็น และยังเป็นอุบายที่ท่านจะทดสอบอารมณ์เราว่า มีพื้นฐานที่จะรองรับธรรมะได้มากน้อยแค่ไหน..."
ทุกเช้าเวลาหลวงพ่อกลับจากบิณฑบาต จะมีพระเณรหลายองค์ไปรอล้างเท้าท่าน ระยะแรกๆ ที่ผมไปอยู่วัดป่าพง เห็นกิจวัตรนี้ทีไร ก็นึกค่อนขอดพระเณรเหล่านั้นอยู่ในใจ แต่พออยู่นานเข้าผมก็เป็นไปด้วย
เช้าวันหนึ่งก่อนที่ผมจะรู้ตัวว่าเป็นอะไร ผมก็ปราดเข้าไปอยู่หน้าพระเณรองค์อื่นเสียแล้ว ขณะก้มลงล้างเท่าถวายท่าน ผมได้ยินเสียงนุ่มๆ กลั้วเสียงหัวเราะของหลวงพ่อว่า "สุเมโธ ยอมแล้วเหรอ..." ..."
"เช้าวันหนึ่ง ผมกำลังกวาดใบไม้ที่ลานวัด อารมณ์ไม่ดี รู้สึกหงุดหงิดขัดเคือง และรู้สึกว่า ตั้งแต่มาอยู่ที่วัดป่าพงเจอแต่ทุกข์ พอดีหลวงพ่อเดินตรงมายังผม ท่านยิ้มให้พร้อมกับพูดว่า "วัดป่าพงทุกข์มาก!" แล้วท่านก็เดินกลับไป ผมสงสัยว่าทำไมหลวงพ่อพูดอย่างนี้ กลับไปกุฏิพิจารณาได้สติว่า ทุกข์ไม่ได้เกิดจากวัดป่าพง แต่เกิดจากจิตใจเราเอง..."
ต่อมาปี พ.ศ. 2513 ได้มีชาวอเมริกันอีกสองคนเข้ามาบวชที่วัดหนองป่าพง แต่อยู่ได้ราวหนึ่งปีทั้งคู่ก็ลาสิกขาไป คนหนึ่งเป็นนักเขียนได้จดบันทึกคำสอนของหลวงพ่อ แล้วนำไปพิมพ์เผยแพร่ ทำให้ชื่อเสียงของหลวงพ่อเป็นที่รู้จักในหมู่ชาวต่างประเทศยิ่งขึ้น ส่วนอีกคนเป็นนักจิตวิทยา ชอบวิพากษ์ครูบาอาจารย์ต่างๆ เว้นไว้แต่หลวงพ่อองค์เดียวที่เขาเคารพเทิดทูนมาก หลังลาสิกขาบท เมื่อได้พบชาวต่างประเทศที่กำลังแสวงหาครูอาจารย์ เขามักแนะนำให้มาพบกับหลวงพ่อ ทำให้พระฝรั่งในวัดหนองป่าพงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
The Mindful Way ภาพยนตร์สารคดี ที่ BBC เข้ามาถ่ายทำเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในเมืองไทย
ผู้คนที่มาวัดหนองป่าพง ต่างทึ่งที่เห็นพระฝรั่งปฏิบัติกรรมฐานเคร่งครัดอยู่เคียงข้างกับพระไทย จึงเกิดความสงสัยว่า หลวงพ่อสอนชาวต่างประเทศได้อย่างไร ในเมื่อท่านไม่คุ้นเคยกับภาษาอังกฤษ และลูกศิษย์ฝรั่งเองก็ไม่คุ้นเคยภาษาไทย หลวงพ่อชี้แจงว่า
"ที่บ้านโยมมีสัตว์เลี้ยงหรือเปล่า อย่างหมา แมว หรือวัวควายอย่างนี้ เวลาฝึกหัดมัน โยม ต้องรู้ภาษาของมันด้วยไหม?..."
"ถึงแม้มีลูกศิษย์เมืองนอกมาอยู่ด้วยมากๆ อย่างนี้ ก็ไม่ได้เทศน์ให้เขาฟังมากนัก พาเขาทำเอาเลย ทำดีได้ดี ถ้าทำไม่ดีก็ได้ของไม่ดี พาเขาทำดู เมื่อเขาทำจริงๆ ก็เลยได้ดี เขาก็เลย เชื่อ..."
ครั้งหนึ่งเมื่อถูกถามปัญหาเช่นนี้ ท่านตอบแบบขำๆ ว่า "ไม่ยากหรอกดึงไปดึงมาเหมือนควาย เดี๋ยวมันก็เป็นเท่านั้นแหละ"
ศิษย์ชาวออสเตรเลี่ยนรูปหนึ่งเล่าถึงบทเรียนอันดุเดือดว่า
"วันหนึ่งผมมีเรื่องขัดใจกับพระรูปหนึ่ง รู้สึกโกรธ หงุดหงิดอยู่ทั้งวัน รุ่งเช้าไปบิณฑบาต ก็เดินคิดไปตลอดทาง ขากลับเดินเข้าวัดพอดีสวนทางกับหลวงพ่อ ท่านยิ้มและทักผมว่า "กู๊ด มอร์นิ่ง" ซึ่งทำให้อารมณ์ของผมเปลี่ยนทันที จากความหงุดหงิดกลายเป็นปลื้มทันที
...ถึงเวลาสวดมนต์ทำวัตรเย็น หลวงพ่อให้ผมเข้าไปอุปัฏฐาก ถวายการนวดที่กุฏิของท่าน ผมรู้สึกตื่นเต้นดีใจมากกับโอกาสที่หาได้ยากเช่นนั้น เพราะเราเป็นพระใหม่ แต่ขณะที่กำลังถวายการนวดอยู่อย่างตั้งใจ หลวงพ่อก็ถีบเปรี้ยงเข้าที่ยอดอกที่กำลังพองโตของผม จนล้มก้นกระแทกพื้น ท่านดุใหญ่เลยว่า "จิตไม่มั่นคง พอไม่ได้ดังใจก็หงุดหงิดขัดเคือง เมื่อได้ตามปรารถนาก็ฟูฟ่อง" ผมฟังท่านดุไปหลายๆ อย่างแล้ว ก็ไม่โกรธและไม่เสียใจ รู้สึกซาบซึ้งในพระคุณของท่านที่ช่วยชี้กิเลสของเรา ไม่เช่นนั้น เราคงเป็นคนหลงอารมณ์ไปอีกนาน..."
นอกจากจริยาวัตรอันงดงามของหลวงพ่อแล้ว บรรยากาศของวัดหนองป่าพงและกิริยามารยาทของพระเณร ยังเป็นแรงดลใจให้ผู้มาพบเห็นเกิดความศรัทธาอย่างยิ่ง ดังท่านอาจารย์ ชาวต่างชาติรูปหนึ่งเล่าว่า
"พอผ่านเข้าประตูวัดหนองป่าพงเป็นครั้งแรก ก็เกิดความประหลาดใจ และความประทับใจก็เกิดขึ้น เมื่อเห็นบริเวณสถานที่ แม้จะเป็นป่ามีต้นไม้หนาแน่น แต่ทางเดินก็ดูสะอาดไม่มีอะไร เกะกะสายตา
...จากนั้นก็ไปเห็นกุฏิศาลาสะอาดเรียบร้อยที่สุด รู้สึกว่าวัดหนองป่าพงนี่ ระเบียบวินัยดีมากจริงๆ พอตกตอนเย็นเห็นพระเณรออกมาทำกิจท่านเรียบร้อยดี มีกิริยาสำรวมไม่ตื่นเต้นอะไรเลย ผมเคยไปวัดอื่น พอพระเณรเห็นพวกฝรั่งก็ปรี่เข้าหา เข้ามาพูดภาษาอังกฤษ ถามรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง ทำเหมือนกับว่า พวกฝรั่งมีอะไรดีอย่างนั้น
...แต่ที่วัดหนองป่าพง บรรดาพระสงฆ์ ญาติโยม ผ้าขาว แม่ชี ไม่เห็นมีใครสนใจกับฝรั่งอย่างผม ท่านนั่งก็สำรวม เดินก็สำรวม มีกิจอะไรต้องทำก็ทำไป ถามก็เงยหน้ามาพูดด้วย ไม่มีอาการตื่นเต้นอะไรเลย มีความรู้สึกว่า ท่านเหล่านี้ต้องมีของดีแน่ เกิดศรัทธาขึ้นมาก..."
ปีพ.ศ. 2518 จำนวนศิษย์ชาวต่างประเทศในวัดหนองป่าพงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลวงพ่อจึงตั้ง วัดป่านานาชาติ ขึ้นที่ป่าช้าบ้านบุ่งหวาย ซึ่งอยู่ห่างจากวัดหนองป่าพงราว 7-8 กิโลเมตร เพื่อปูพื้นฐานให้พระชาวต่างชาติได้รู้จักปกครองกันเอง โดยมอบให้ท่านอาจารย์สุเมโธดูแล
ประธานสงฆ์วัดป่านานาชาติในสมัยแรก ประสบปัญหาในการปกครองหมู่คณะมาก เพราะคนฝรั่งมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูง และกล้าแสดงออก จึงสร้างปัญหาให้ประธานสงฆ์ต้องเป็นทุกข์เสมอ
เมื่อเรื่องถึงหลวงพ่อ ท่านจะแนะนำให้ทั้งสองฝ่ายละวางทิฐิมานะ ให้ปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น สำหรับประธานสงฆ์ หลวงพ่อจะแนะนำวิธีปกครองให้ว่า "ถ้าลูกศิษย์ของเรามีเรื่องขัดแย้งกัน ก็ให้พิจารณาให้ดี อย่าตัดสินว่าผู้มาใหม่ไม่ดี อย่าไปว่าคนนั้นดี คนนี้ไม่ดี ต้องใช้เวลาดูไปนานๆ ก่อน ดุอุปนิสัยของเขาไปนานๆ อย่าไปคิดว่า ดีหรือไม่ดีเลยทันที เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันไม่แน่นอน ต้องใช้เวลาดูไปก่อน..."
ศิษย์ชาวต่างประเทศ ต่างเคารพปัญญาบารมีของหลวงพ่อเป็นอย่างยิ่ง ท่านเต็มไปด้วยเมตตาธรรม และอารมณขันเบิกบานแจ่มใสอยู่เป็นนิจ มีความสามารถพิเศษในการสื่อสาร และแก้ปัญหาแก่ศิษย์ได้อย่างดีเยี่ยม ชาวต่างประเทศจึงเกิดศรัทธาเข้ามาศึกษาและปฏิบัติธรรมที่ วัดหนองป่าพงและวัดป่านานาชาติ เป็นจำนวนเพิ่มขึ้นตามลำดับ
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)