คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
นายเลี่ยม บุตรจันทา หรือพ่อเลี่ยม ถือเป็นผู้รู้ด้านเกษตรที่คนทั่วไปรู้จักกันดีมากที่สุดคนหนึ่ง เกิดเมื่อวันจันทร์ ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2499 ที่อำเภอหนองกี่ จังหวัดบุรีรัมย์ จบการศึกษาผู้ใหญ่ระดับ 4 จากโรงเรียนวัดใหญ่ชัยมงคล อำเภอหนองกี่ จังหวัดบุรีรัมย์ และนักธรรมเอก เป็นชาวอีสาน มีอาชีพปลูกอ้อย และมันสำปะหลัง ทำมานานตั้งแต่เด็ก จนหนี้สินพอกพูน
เนื่องจาก เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เพียงปีละ 1 ครั้ง แต่ค่าใช้จ่ายมีอยู่ทุกวัน จนทะเลาะกับสมาชิกในครอบครัว เนื่องจากปัญหาหนี้สิน สุดท้ายก็หาทางออกด้วยการกินเหล้า เผาความกลัดกลุ้ม ประกอบอาชีพแล้วมีรายได้ไม่พอกับหนี้สิน ธรรมดามีหนี้เพราะการประกอบอาชีพอย่างเดียวก็พอทน แต่หนี้ที่เกิดขึ้นเพราะอบายมุข ทั้งสิ้น ทั้งกินเหล้า เล่นหวย เล่นโป สารพัด โดนยายตุ๋ย (ภรรยา) ด่าทุกวัน เมียด่าก็กินเหล้า สุขภาพแย่ เมียด่ามากๆ เข้าก็ขายที่ใช้หนี้
เมื่อปี 2529 ได้ตัดสินใจขายที่ดิน เพื่อนำเงินไปใช้หนี้ทั้งหมด เหลือเงินจากการใช้หนี้จำนวน 1 แสนบาท จึงอพยพมาอยู่บ้านนาอีสาน อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมนางสมบูรณ์ บุตรจันทา ภรรยา และลูกอีก 1 คน และซื้อที่ดิน 1 แปลง จำนวน 50 ไร่ พร้อมแผ้วถางป่าจนเป็นพื้นที่โล่ง โดยประกาศจะไม่ปลูกมันและอ้อยอีกต่อไป
ทีแรกก็ไปถางป่า ปลูกข้าว ปลูกผัก ทำอยู่ 1 – 2 ปี ติดเขตเขาฉกรรจ์ ต่อมาได้รับคัดเลือกเข้ามาทำกินในที่ ส.ป.ก. เมื่อปี 2534 แต่สุดท้ายคู่ชีวิต ก็ชักชวนปลูกข้าวโพด เพราะเห็นพี่น้องปลูกข้าวโพด ก็เลยทดลองปลูกบ้าง ปลูกไปไม่นานก็ขาดทุนเหมือนเดิม ปัญหาหนี้สินก็ตามมา
จึงนำเงินที่เหลือมาลงทุน แต่ก็ขายได้ปีละ 1 ครั้งเหมือนเดิม จากนั้นก็นำเงินที่ได้ไปใช้จ่ายเพื่อให้ครบปี สุดท้ายก็กลายเป็นหนี้สินอีกเช่นเดิม และปี 2536 ยอดหนี้ก็เพิ่มจำนวนมหาศาล สุดท้ายก็กินเหล้า และเมาเหมือนเดิม
ชีวิตมีแต่เรื่องเมา ทะเลาะกับครอบครัวทุกวัน สุดท้ายได้ไปเรียนรู้ข้างนอก มีคนไปชวนให้เข้าอบรมกับ ตชด. อยากไปอบรมมาก เพราะคิดว่า "ถ้าได้ไปอบรมจะห่างเมียและมีเหล้ากินนอกบ้าน" วันที่ไปอบรมได้แนวคิดจากผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ซึ่งเป็นวิทยากร ผู้ใหญ่ได้เล่าประสบการณ์ พร้อมแนวคิดเชิงดูถูกว่า "เกษตรกรไม่รู้จักตนเอง" พ่อเลี่ยมเถียงในใจว่า "ทำไมจะไม่รู้จักตัวเอง อาทิตย์ละ 3 – 4 วันเมียก็ด่าให้รู้ตลอด"
แต่ผู้ใหญ่วิบูลย์บอกว่า "การที่จะรู้จักตัวเองต้องมีเครื่องมือ คือต้องทำบัญชี" ตอนไปอบรม ไม่ได้กินเหล้าอย่างที่คิด ต้องงดเหล้า 2 – 3 วัน เมื่อเลิกสัมมนากลับมาบ้านเริ่มมีไฟในตัวเอง ก็เริ่มทำบัญชี ขอสมุดจากลูกชายมาตีเส้นทำแบบบัญชีเอง เกือบจะไม่ได้ทำต่ออยู่แล้ว เพราะถามลูกชายว่า "แม่ให้เงินไปโรงเรียนใช้จ่ายอะไรบ้าง และถามยายตุ๋ยเมียรักว่าใช้จ่ายอะไร" แต่ก็โดนยายตุ๋ยด่าหาว่าไม่ไว้ใจ ก็ถามค่าใช้จ่ายยายตุ๋ยอยู่ประมาณ 1 อาทิตย์ ยายตุ๋ยก็ด่าทุกวันเหมือนกัน
BCC CHANNEL ฅน พอ ดี ตอน สวนออนซอนพ่อเลี่ยม
พอหลังจากนั้น เมียด่าอยู่สักอาทิตย์ ในที่สุดก็เลิกด่า เพราะถามทุกวัน และลงบัญชีทุกวัน พอต้นปี 2539 ได้สรุปบัญชีรับจ่ายในครัวเรือน และก็เรียกยายตุ๋ย พร้อมลูกชายทั้ง 2 มานั่งคุยกัน พอยายตุ๋ยเห็นบัญชีหันมาบอกเลยว่า "ถ้าแกเลิกเหล้าได้ก็จะมีเงินถึง 40,000 กว่าบาทใช้หนี้ ธกส." พอหันมาอ่านบัญชีของแม่บ้าน แม่บ้านก็ด่าอีก บอกว่า "สิ่งที่เขาซื้อไป 20,000 บาทนั้นใช้ในครอบครัวซึ่งดีกว่าที่พ่อเลี่ยมหมดไปกับการกินเหล้า เล่นโป" สุดท้ายยายตุ๋ยก็ถามว่า "จะอยู่กับเมียก็ให้เลิกอบายมุข หรือถ้าจะเลือกอบายมุขต้องก็เลิกกับเมีย"
ตอนนั้นชีวิตไม่รู้ว่าจะเลือกอะไร "จะเลิกอบายมุขก็เสียดาย จะเลิกกับเมียก็ไม่ได้" ก็ลองหันไปเห็นลูกชาย 2 คน ถามลูกว่า "เลือกใครระหว่างพ่อกับแม่" ลูกชายทั้ง 2 ตอบเหมือนกันว่า "เลือกแม่" เมื่อได้ยินคำตอบของลูกชายทั้ง 2 ก็เริ่มทบทวนตัวเองว่า "ทำไมลูกถึงเลือกอยู่กับแม่ และชีวิตทำไมมันเศร้าอย่างนี้" สุดท้ายก็เลยตัดสินใจที่จะเลิกอบายมุข เสร็จแล้วก็กลับมาดูรายจ่ายของเมีย เห็นว่ารายจ่ายของเมียหมดไปกับค่าพืชผักสวนครัว จึงตัดสินใจปลูกทุกอย่างที่กิน และกินทุกอย่างที่ปลูก
จากนั้น พ่อเลี่ยม ได้ออกเรียนรู้ และศึกษาจากวิทยากรหลายท่าน มีการพูดถึง "ชาวนา ชาวไร่ว่าโง่ และได้อธิบายว่าโง่อย่างไร จึงได้เข้าใจ เพราะสิ่งที่เขาว่าโง่นั้น คือตัวเรา" นอกจากนี้ยังได้พูดถึงศาสตร์พระราชา และปรัชญาของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ด้วยการพึ่งพาตนเอง โดยวิทยากรเหล่านั้น ได้แนะนำให้เริ่มจากทำบัญชีครัวเรือน และเมื่อสิ้นปี มาดูจึงรู้ว่า รายจ่ายที่จ่ายไป เราสามารถทำเองได้ สำคัญกว่านั้น เสียเงินไปกับการซื้อเหล้า และเล่นการพนันจำนวนมาก
ดังนั้นในปี 2540 จึงประกาศเป็นวาระครอบครัวว่า "จะไม่ปลูกอะไร เพื่อนำไปขายอีกแล้ว แต่จะปลูกสิ่งที่เรากิน ทั้งข้าว พืชผัก และผลไม้ต่างๆ" มีโอกาสได้ไปฟัง ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา และพ่อใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม ปราชญ์ชาวบ้านจังหวัดฉะเชิงเทรา พูดถึงเรื่อง "ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง" ที่สร้างประโยชน์และคุณค่ามหาศาล แล้วนำความรู้ประสบการณ์มาปรับใช้ที่ไร่ของตนเอง โดยตั้งชื่อสวนว่า "สวนออนซอน"
ได้เริ่มปลูกป่าตั้งแต่ปี 2542 ทั้งไม้กินผล ไม้ยืนต้น และไม้ใช้สอยต่างๆ ผสมกับพืชผักหลากหลายชนิด ปัจจุบันมีเนื้อที่ป่าประมาณ 13 ไร่ มีทุกอย่างที่เราอยากกิน ทำให้ไม่ต้องซื้ออะไร เพราะของกินมีทุกชนิด ส่วนของใช้ เช่นสบู่ แชมพู น้ำยาล้างจาน หรือน้ำยาซักผ้า ก็ทำใช้เอง
จากนั้นก็ทำเกษตรผสมผสาน ตามศาสตร์พระราชา ที่เน้นเรื่องการพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก เมื่อเหลือกินก็แบ่งปัน เหลือจากแบ่งปันก็ขาย จนมีชาวบ้านมาขอซื้อผลผลิตและพืชผักต่างๆ จากนั้นอีก 6 ปี ก็สามารถใช้หนี้ก้อนสุดท้ายได้หมด สำคัญกว่านั้น เมื่อเป็นป่า ทำให้ไม่ต้องซื้อปุ๋ย เพราะเศษวัชพืชหรือใบไม้ต่างๆ เป็นปุ๋ยได้ทั้งหมด นี่คือศาสตร์พระราชา และไม่ได้นำองค์ความรู้มาใช้อย่างเดียว แต่มีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ อยู่บนหัวนอน และห้อยคอไว้ตลอดเวลา เพื่อระลึกถึงพระองค์ และเป็นคติเตือนใจ ที่พระองค์ทำให้เราหลุดพ้นจากความทุกข์ และความยากจน
ส่วนการถ่ายทอดองค์ความรู้ ได้ชักชวนญาติพี่น้องมาทำแบบเรา และนำพาปฏิบัติจริง จากนั้นก็มีคนที่สนใจมาศึกษาเรื่อยๆ ประมาณ 5-6 พันคนต่อปี โดยมาไกลสุดจากประเทศแคนาดา
“แรกๆ คนไม่ค่อยเชื่อว่า การไม่มีเงินใช้ แล้วจะมีอาหารกินครบ 3 มื้อ ได้อย่างไร ก็พามาปฏิบัติจริง เช่น เรามีข้าว อยากกินปลา เราก็มีปลาในบ่อ อยากกินต้มยำ หรือแกงใส่อะไร ก็ไปหาในสวน แล้วสุดท้ายก็ไม่มีใครได้ไปจ่ายตลาด แต่มีกินครบทุกมื้อ”
ปัจจุบัน จากสวนกลายเป็นป่า ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายกับครอบครัว โดยมีประชาชนและผู้สนใจด้านเกษตรทั่วประเทศ มาศึกษาเรียนรู้ และพร้อมถ่ายทอดวิชาต่างๆ ให้กับคนทั่วไป เพื่อสานต่อหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และศาสตร์พระราชา เพื่อให้อยู่กับลูกหลานไปนานเท่านาน
ดังนั้นวันนี้ เลี่ยม บุตรจันทา จึงถือเป็น "ปราชญาเดินดิน" ที่คนทั่วประเทศรู้จัก และบ้านนาอีสาน แหล่งพักพิงของครอบครัวได้กลายเป็นพื้นที่ศึกษาดูงานของหลายหน่วยงาน รวมถึงโครงการรักษ์ป่า สร้างคน 84 ตำบล วิถีพอเพียง ที่มีพี่น้องหลายตำบลได้ไปแวะเยี่ยมเยือนพ่อเลี่ยม และยายตุ๋ย (ภรรยา) เพื่อนำประสบการณ์ที่ล้มเหลวจากการทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว มาเป็นแรงบันดาลใจ
ปัจจุบัน นายเลี่ยม บุตรจันทา เป็นปราชญ์ชาวบ้าน ภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นเกษตรกรนักคิด นักปฏิบัติ และเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้กับประชาชน ผู้ที่สนใจใฝ่รู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย มีผู้คนหลั่งไหลมาศึกษาดูงานที่บ้านนายเลี่ยม บุตรจันทา เป็นประจำไม่เคยขาดเพราะมีกิจกรรมหลากหลายที่น่าสนใจ
รายการ Perspective : พ่อเลี่ยม บุตรจันทา - ปราชญ์ชาวบ้าน แห่งบ้านสวนออนซอน
เพื่อหาความสุข สงบ และสบายในชีวิตบั้นปลาย อย่างสองสามีภรรยาคู่นี้ สำหรับผู้สนใจศึกษาดูงาน หรืออยากเรียนรู้การทำเกษตรผสมผสาน และลงมือปฏิบัติจริง สามารถสอบถามพ่อเลี่ยม ได้ที่เบอร์ 084-711-6099 โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย หรือหากจะช่วยค่าน้ำ ค่าไฟ ก็จะดีไม่น้อย หรือไม่ให้เลย ก็สามารถไปเรียนรู้ได้ ที่บ้านเลขที่ 411 บ้านนาอีสาน หมู่ที่ 16 ตำบลท่ากระดาน อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา 24160
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)