คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
นายชาลี มาระแสง ปราชญ์ชาวบ้านผู้ปลูกป่า และทำการการเกษตรแบบผสมผสาน เป็นเกษตรกรผู้กว้างขวาง มีจิตสาธารณะ ชอบบำเพ็ญประโยชน์ และสร้างกิจกรรมต่างๆ มากมาย จากการที่ในวัยเด็กเคยอยู่กับธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ อยู่ร่วมกับสัตว์ป่าน้อยใหญ่อย่างสมดุล ธรรมชาติได้สอนให้นายชาลีมีความฉลาดในเรื่องการทำมาหากิน ทำให้เป็นคนที่มีความอดทนสู้งานหนัก จนกระทั่งบวชเรียนจบนักเรียนธรรมชั้นตรี ในปี 2491 หลังจากสึกออกมา นายชาลีมีแนวคิดที่จะทำงานหาเงิน
จึงตัดสินใจเดินทางไปขายแรงงานในภาคกลาง โชคดีที่มีมีคนรับไปทำงานในสวนส้ม สวนละมุด ที่อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ทำงานหนักเท่าไหร่ก็สู้ แต่ถูกดูหมิ่นถากถางอาชีพลูกจ้างจากบรรดาลูกเจ้าของนายจ้างอยู่บ่อยครั้ง ก็เลยหนีไปทำงานขุดร่องวางสายโทรศัพท์ในกรุงเทพฯ จากนั้นไปเป็นลูกจ้างขุดบ่อเลี้ยงปลาที่บางนา ต่อมาไปเป็นลูกจ้างทำนาที่นครนายก เป็นลูกจ้างในสวนมะพร้าว สวนมะม่วง และสวนกล้วยที่ชลบุรี จนกระทั่งปี 2495 จึงคิดหวนกลับคืนสู่บ้านเกิดที่ บ้านกุดซวย ตำบลคำพระ อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ
ยังไม่ถึงบ้านได้แวะไปหาพี่สาวที่ตัวเมืองอำนาจเจริญ โชคพาให้ไปพบนายช่างใหญ่ หัวหน้าคนงานก่อสร้างชลประทาน จึงได้ทำงานหาประสบการณ์ด้านชลประทานอยู่ถึง 2 ปี พ่อ-แม่ตามให้กลับบ้านไปแต่งงานกับสาวที่สู่ขอไว้ให้ ขัดใจไม่ได้เลยต้องแต่งงาน แต่ก็อยู่กันได้เพียง 6 เดือนก็เลิกรา จนกลับไปหาคนรักเก่าที่เคยชอบพอกัน แต่พ่อ-แม่ทั้งสองฝ่ายก็ไม่ถูกใจ จึงหอบผ้าหนีไปอยู่ด้วยกัน ด้วยความสงสารเห็นใจจากแม่ฝ่ายหญิงที่สงสารลูกสาว จึงขอร้องให้กลับมาด้วยกันโดยยกที่นาโคกให้ 64 ไร่ แต่สามารถทำนาข้าวได้เพียง 4 ไร่เพราะไม่มีน้ำเพียงพอ ด้วยนิสัยรักสนุก ชอบเที่ยวเตร่ ดื่มสุราหนัก จึงทำให้หนุ่มชาลีกับเมียต้องอาศัยข้าวแม่ยายกิน
ยิ่งขุดยิ่งเจอทางสว่าง - พ่อชาลี มาระแสง
ความทุกข์ยากนี้วนเวียนซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกระทั่งวันหนึ่ง นายช่างชลประทานใหญ่มาเยี่ยมได้เห็นที่นาแห้งแล้งเช่นนั้น จึงให้คำแนะนำว่า "ต้องขุดดินกั้นพื้นที่ให้สูงไม่ต่ำกว่า 4 เมตร ยาว 160 เมตร คันดินกว้าง 1-2 เมตร เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้" ลุงชาลีครุ่นคิดวางแผนในการทำงาน แต่ก็ยังไม่ได้ลงมือ จนอีกขวบปีต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงผนวช ลุงชาลีได้ออกไปที่ทุ่งนากอบดินวางเทินไว้บนศีรษะ พร้อมตั้งสัตย์ปฏิญาณต่อแม่พระธรณีว่า "ข้าฯ จะขอขุดบ่อน้ำ ทำคันดิน กักน้ำทำนา เลี้ยงปลา ปลูกผักผลไม้ให้มีกินให้จงได้ และจะไม่ตัดโกนหนวดเคราจนกว่าจะกระทำได้สำเร็จ"
จากวันนั้น ตั้งแต่ตีสี่ ตีห้าของทุกวัน ลุงชาลีก็ตื่นออกมาขุดสระทำคันดินที่ทุ่งนาทุกๆ วัน จนมือทั้งสองข้างแตกเป็นร่องลึกไม่สามารถวักน้ำล้างหน้าได้ ต้องใช้หลังมือแทน ฝ่ามือแตกด้านหนาไม่เคยย่อท้อเป็นเวลานานถึง 18 ปีจึงสำเร็จผลตามที่ตั้งปณิธานไว้ สิ่งที่ลุงชาลีกล่าวถึงปณิธานนี้ว่า "หลักคิดไม่มีอะไรมาก เพียงใช้ศีล สมาธิ ปัญญา คือศีลนี้ไม่ได้มากมายก่ายกองอะไร คือไม่ต้องหลอกลวง ไม่โกหกตัวเองและโกหกผู้อื่น เวลาบอกคนอื่น บอกภรรยาว่า ไปขุดบ่อปลา ปลูกต้นไม้ ผมก็ไปทำอย่างนั้นจริงๆ ส่วนสมาธิก็ให้หยุดคิดก่อนจะทำอะไรลงไป เรามีปัญญาที่จะกระทำได้มากน้อยแค่ไหน พอหยุดคิด สงบ ระลึกได้ ปัญญาก็เกิด ทำอะไรได้ผลสำเร็จ เท่านั้นเอง"
จากประสบการณ์ที่ได้สั่งสมมานานหลายปี นายชาลี ได้ตั้งปณิธานอันแรงกล้า ที่จะร่วมทำบุญถวายแด่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) เมื่อครั้งพระองค์ทรงออกผนวช ในปี 2500 จึงนำประสบการณ์ที่เคยออกไปทำงานในที่ต่างๆ หันมาทำการเกษตรที่บ้านเกิด ด้วยความมุ่งมั่นที่จะ "ออมน้ำ" นายชาลี จึงบากบั่นขุดบ่อ สร้างคันดินจนสำเร็จ ใช้เวลานานถึง 18 ปี จนได้แหล่งเก็บน้ำที่สมบูรณ์ในปี 2524 ที่มีคันดินสูง 5 เมตร ความกว้าง 14 เมตร ความยาว 280 เมตร จนทำให้ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว มีสวนผลไม้ มีรายได้เพิ่ม
กลายเป็นผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง กลายเป็นวิทยากรบรรยายเรื่อง "เกษตรแบบผสมผสาน" แทบจะทุกวัน อาศัยทุนทางสังคม ทุนทางสิ่งแวดล้อมหันมาออมน้ำ ออมดิน ออมต้นไม้ โดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านมาเชื่อมต่อกับวิถีชีวิต สร้างชุมชนเข้มแข็ง เรียนรู้การเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน
ได้มีการจัดตั้ง "ศูนย์เรียนรู้การเกษตรทฤษฎีใหม่ จัดตั้งมหาวิชชาลัยภูมิปัญญาไทยอีสานคืนถิ่น" เป็นเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน ที่มีส่วนร่วมในการเริ่มต้นก่อตั้ง "ภาคีพันธมิตรเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านใน 5 จังหวัดภาคอีสาน" ได้แก่ สุรินทร์ บุรีรัมย์ นครราชสีมา อำนาจเจริญ และขอนแก่น และมีเจตนาอย่างแรงกล้า ที่จะร่วมสร้างเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านอีสานให้ครบทุกจังหวัด เพื่อให้พี่น้องประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขและพึ่งตนเองได้
แนะนำให้รู้จักพ่อชาลี มาระแสง (ฉบับเต็ม) คลิกเลย!
วัตถุดิบส่วนผสม :
ขั้นตอน/วิธีการทำ :
การนำไปใช้งาน :
ประโยชน์จากปุ๋ย :
วัตถุดิบที่ต้องเตรียม :
ขั้นตอน/วิธีการหมัก :
การนำไปใช้งาน :
การทำน้ำหวานหมักจากพืชสีเขียว (น้ำแม่) :
ส่วนประกอบ :
การทำน้ำหวานหมักจากผลไม้ (น้ำพ่อ) :
ส่วนประกอบ :
การหมัก :
การผสมน้ำหวานหมักเพื่อใช้ให้ตรงกับการเจริญเติบโตของพืช :
การนำไปใช้งาน :
ปราชญ์ชาวบ้าน - พ่อชาลี มาระแสง ตอนที่ 1
ปราชญ์ชาวบ้าน - พ่อชาลี มาระแสง ตอนที่ 2
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)