คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
จากอยุธยา หลวงพ่อเดินทางกลับมาที่อุบลฯ ได้แวะพักที่ป่าช้าบ้านก่อ พอญาติพี่น้องรู้ข่าว ต่างพากันมานมัสการด้วยความยินดี เพราะจากกันไปนานถึงสองปี โดยไม่ทราบข่าวคราวกันเลย และญาติมิตรยังสังเกตเห็นว่า หลวงพ่อกลับมาคราวนี้มีท่าทีน่าเลื่อมใสมาก จึงพากันให้ความเคารพยำเกรง ท่านจะแนะนำสิ่งใดทุกคนก็สนใจฟัง ไม่แสดงอาการโต้แย้งใดๆ ทำให้โยมแม่และญาติพี่น้องหลายคน เกิดความรู้ ความเข้าใจในเรื่องบาปบุญคุณโทษยิ่งขึ้น
ค่ำคืนหนึ่ง พระภิกษุเที่ยง โชติธมฺโม ซึ่งเมื่อครั้งเป็นสามเณรเคยได้รับการอบรมสั่งสอนจากหลวงพ่อ ได้เข้ามากราบคารวะขอฟังธรรม และตัดสินใจออกปากฝากตัวเป็นศิษย์ ขอติดตามออกบำเพ็ญกรรมฐาน แต่หลวงพ่อกลับนิ่งเฉย ไม่ตอบรับและตอบปฏิเสธ ทำให้พระภิกษุเที่ยงเกิดความลังเลและรูสึกผิดหวังบ้าง เมื่อนั่งนิ่งกันอยู่ชั่วครู่หลวงพ่อได้เอ่ยขึ้นว่า
"ทำไมถึงอยากจะไป"
"กระผมเห็นว่าอยู่ที่นี่ไม่มีอะไรดีขึ้น จึงอยากไปปฏิบัติเช่นครูบาอาจารย์บ้างครับ" พระเที่ยงตอบ พร้อมกับใจชื้นขึ้นมาเล็กน้อย
"เอ้า... ถ้าจะไปจริงๆ ให้ท่านทองดี (สามเณรทองดีบวชเป็นภิกษุแล้ว) เขียนแผนที่บอก ทางไปบ้านป่าต่าวให้นะ แล้วไปรอผมอยู่ที่นั่น"
เมื่อแนะแนวทางปฏิบัติแก่ญาติพี่น้องบ้างแล้ว หลวงพ่อก็ออกจาริกไปตามสถานที่วิเวกต่างๆ ต่อไป จนกระทั่งมาถึงบ้านป่าตาว อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร (เมื่อก่อนเป็นจังหวัดอุบลราชธานี) และได้พำนักจำพรรษาที่ 14 (พ.ศ. 2495) อยู่ที่วัดถ้ำหินแตก
ในปีนั้น หลวงพ่อจำพรรษาร่วมกับพระเณรหลายรูป มีพระเที่ยงกับพระทองดีรวมอยู่ด้วย ท่านได้นำหมู่คณะประพฤติปฏิบัติอย่างอุกฤษฏ์ บางวันเดินจงกรมนั่งสมาธิตลอดวันตลอดคืน โดยให้ข้อคิดแก่ศิษย์ว่า
"อย่าพากันติดในสมมุติบัญญัติจนเกินไป ที่ว่าเป็นกลางวันกลางคืนนั้น มันเป็นการสมมุติของชาวโลกเท่านั้นเอง เมื่อกล่าวโดยปรมัตถธรรมแล้ว ไม่มีกลางวัน กลางคืน ไม่มีข้างขึ้น ข้างแรม ฉะนั้น เรามาสมมุติกันใหม่ ให้กลางวันเป็นกลางคืน ให้กลางคืนเป็นกลางวันก็ได้ ถ้าเราคิดได้ว่า กลางวันหรือกลางคืน ก็ไม่แตกต่างอะไรกัน เราก็จะทำความเพียรโดยไม่อ้างเวลา"
วันหนึ่ง หลวงพ่อสังเกตเห็นพระเที่ยงฉันยาบางอย่างอยู่เป็นประจำ จึงถามว่า "ท่านเที่ยง ฉันยาพวกนี้มานานแล้วหรือ ?"
"กระผม ฉันมาหลายปีแล้วครับ" "แล้วมันดีขึ้นไหม ?"
"พอทุเลาลงบ้างครับ"
หลวงพ่อนิ่งอยู่ชั่วครู่แล้วพูดขึ้นว่า
เอ้อ... ฉันยาพวกนี้ก็นานแล้ว ยังไม่เห็นว่ามันจะหาย สักที... เอามันโยนทิ้งไปซะ แล้วมาฉันยาขนานใหม่กัน คือ ฉันอาหารให้น้อย นอนให้น้อย และพูดให้น้อย แล้วทำความเพียรเดินจงกรมนั่งสมาธิให้มาก ลองทำดูนะ ถ้ามันไม่หาย เราก็ยอมตาย ไปซะ..."
ชาวบ้านป่าตาวในสมัยนั้น ส่วนใหญ่เป็นชาวนาที่ค่อนข้างยากจน แม้จะมีจิตศรัทธาต่อการทำบุญกุศล แต่ก็ขัดสนเรื่องความเป็นอยู่บ้าง จึงอุปัฏฐากพระสงฆ์ตามมีตามได้ อาหารที่บิณฑบาตได้โดยมากจึงเป็นข้าวเหนียวเปล่าๆ วันใดมีกล้วยสุก หรือพริกเกลือ ถือว่าเป็นวันพิเศษสำหรับพระที่ถ้ำหินแตกเลยทีเดียว
แม้จะอดอยากขาดแคลนสักปานใด หลวงพ่อกับศิษย์ก็คงบากบั่นหมั่นเพียร เจริญภาวนา อย่างไม่ย่อท้อ กลับน้อมเอาความยากไร้มาเป็นครู ผู้สอนให้มีความอดทน ไม่เห็นแก่ปากแก่ท้อง แต่วันหนึ่งก็มีสิ่งมาทดสอบความมุ่งมั่นของท่าน
บริเวณสำนักที่หลวงพ่อพำนักอยู่นั้น ด้านทิศเหนือเป็นแอ่งน้ำใหญ่ มีปลาชุกชุมมาก เวลาฝนตกหนักน้ำล้นฝั่ง ปลาต่างตะเกียกตะกายตามน้ำมา เพื่อจะเข้าไปในแอ่งน้ำใหญ่ บางตัวที่มีเรี่ยวแรงดี ก็ข้ามคันหินธรรมชาติที่กั้นเป็นขอบแอ่งน้ำขึ้นไปได้ แต่บางตัวหมดกำลังเสียก่อน ก็นอนดิ้นกระเสือกกระสนหายใจพะงาบๆ อยู่บนคันหินนั้น หลวงพ่อสังเกตเห็นได้ช่วยจับมันปล่อย ลงไปในแอ่งน้ำอยู่บ่อยๆ
เช้าวันหนึ่งก่อนจะออกบิณฑบาต หลวงพ่อเดินไปดูปลา เพื่อจะช่วยชีวิตมันดังทุกวัน พบปลาติดเบ็ดดิ้นทุรนทุรายอยู่หลายตัว คิดจะช่วยมัน แต่ก็จนใจ เพราะเบ็ดมีเจ้าของ ซึ่งเขาอาจไม่พอใจก็ได้หากไปทำเช่นนั้น จึงได้แต่เพียงยืนมองดูด้วยความสลดใจ แล้วคิดไปว่า เพราะความหิวแท้ๆ ที่ทำให้เจ้าต้องกินเหยื่อที่เขาล่อไว้ จึงได้คติเตือนตนเองว่า "เรานี่ก็เหมือนกัน ถ้าฉันอาหาร โดยไม่พิจารณา ก็จะเป็นเหมือนปลากินเหยื่อแล้วติดเบ็ด"
เมื่อพิจารณาธรรมจากปลาติดเบ็ดแล้วก็ออกไปบิณฑบาต ครั้นกลับมาถึงวัด ชาวบ้านนำ ต้มยำปลามาถวาย หลวงพ่อรู้ว่าต้องเป็นปลาติดเบ็ดที่เห็นเมื่อเช้านี้แน่ๆ และอาจเป็นตัวที่เราช่วยชีวิตมันก็ได้ พอชาวบ้านยกหม้อต้มยำปลามาประเคน หลวงพ่อก็รับแล้ววางไว้ไม่ยอมฉัน เพราะนึกสงสารปลา และยังคิดยาวไกลไปอีกว่า ... "หากเรายินดีฉันของเขาในวันนี้ ต่อไปปลา ในแอ่งน้ำจะถูกฆ่าหมด"
เมื่อพิจารณาได้เช่นนั้น ก็ยกหม้อแกงส่งให้พระทองดีซึ่งนั่งอยู่ข้างๆ พระทองดีสังเกตเห็น หลวงพ่อไม่ฉัน ก็ไม่ยอมฉันเหมือนกัน ชาวบ้านเห็นดังนั้น จึงถามว่า "ท่านอาจารย์ ไม่ฉันต้มปลา หรือครับ ?"
"ไม่ฉันหรอก... สงสารมัน" หลวงพ่อตอบ
โยมคนนั้นถึงกับอึ้งไปชั่วครู่ แล้วจึงพูดว่า "ถ้าเป็นผมหิวๆ อย่างนี้คงอดไม่ได้แน่"
นับตั้งแต่นั้น ชาวบ้านก็ไม่มารบกวนปลาในแอ่งน้ำนั้นเลย และพวกเขายังถือกันว่า มันเป็นปลาของวัดที่ควรช่วยกันรักษาด้วย ปี พ.ศ. 2496 (พรรษาที่ 15) หลวงพ่อกับลูกศิษย์ยังคงพำนัก อยู่ที่บ้านป่าตาวต่อเป็นปีที่สอง
"ฉันอาหารไม่พิจารณา... จะเหมือนปลากินเหยื่อแล้วติดเบ็ด"
แต่ในระหว่างพรรษา หลวงพ่อได้ปลีกตัวไปอยู่ตามลำพังบนภูกอย ซึ่งอยู่ห่างจากถ้ำหินแตกประมาณสามกิโลเมตร ตอนเช้าหลวงพ่อจะลงมาบิณฑบาต แล้วแวะฉันอาหารร่วมกับพระเณรที่วัดถ้ำหินแตกทุกวัน ครั้นฉันเสร็จก็กลับขึ้นสู่ภูกอยตามเดิม แม้หลวงพ่อไม่ได้ร่วมจำพรรษากับลูกศิษย์ แต่ก็ได้ตั้งกติกาข้อวัตรเคร่งครัดไว้ควบคุมพระเณรแทนตัวท่าน เมื่อถึงวันอุโบสถหลวงพ่อ จะลงมาร่วมสังฆกรรม พร้อมทั้งให้โอวาทแก่ศิษย์และญาติโยม
ในระหว่างพรรษานั้น หลวงพ่อต้องประสบกับการเจ็บป่วยอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นบททดสอบสำคัญที่ท่านฝ่าฟันมาด้วยความอดทนและปัญญา วันหนึ่ง ขณะทำความเพียรอยู่บนภูกอย ท่านรู้สึกปวดฟันมาก รวมทั้งเหงือกก็อักเสบบวมขึ้นทั้งข้างล่างและข้างบน จึงหยิบเอาว่านยาสมุนไพร มาฝนกับน้ำแล้วฉันตามมีตามได้ แต่ความเจ็บปวดก็เพียงแต่ทุเลาลงเล็กน้อยเท่านั้น
หลวงพ่อจึงตั้งจิตพิจารณาว่า "เรามีความเจ็บไข้เป็นธรรมดา ไม่มีใครหลีกหนีความเจ็บ ป่วยนี้ไปได้" แล้วพยายามแยกกายกับใจออกเป็นคนละส่วน... "แม้กายจะมีอาการเจ็บป่วย แต่ก็ ไม่ปล่อยให้ใจป่วยด้วย เพราะหากปล่อยให้ใจกังวลในร่างกาย ก็จะเป็นทุกข์ถึงสองขั้น" หลวงพ่อ เฝ้าดูและต่อสู้กับความรู้สึกเจ็บปวดนี้นานถึงเจ็ดวัน อาการเหงือกบวมจึงทุเลาและหายไป
พอออกพรรษา หลวงพ่อลงมาพักที่วัดถ้ำหินแตก แล้วให้พระเณรแยกย้ายกันไปภาวนาในป่าตามลำพัง โดยกำหนดให้เจ็ดวันมารวมกันที่วัดครั้งหนึ่ง หลวงพ่อพาลูกศิษย์ประพฤติปฏิบัติเช่นนั้น จนกระทั่งถึงปลายเดือนสามของปี พ.ศ. 2497 แม่พิมพ์ (มารดาของหลวงพ่อ) พร้อมกับ ผู้ใหญ่ลา (พี่ชาย) และญาติมิตรชาวบ้านก่ออีก 5 คน ได้เดินทางมานิมนต์หลวงพ่อให้กลับไปโปรดญาติโยมทางบ้านก่อบ้าง หลวงพ่อพิจารณาเห็นว่า ถึงเวลาสมควรแล้ว ที่จะได้ให้ธรรมานุเคราะห์แก่ผู้มีพระคุณ จึงรับนิมนต์ และให้แม่พิมพ์กับญาติมิตรขึ้นรถกลับไปก่อน
จากนั้น หลวงพ่อได้เรียกลูกศิษย์มาประชุมกัน แล้วมอบให้พระเที่ยง พระทองดี กับพระ เณรบางส่วนอยู่ดูแลสำนัก (ต่อมาพระเที่ยงได้ติดตามไปอยู่กับหลวงพ่อที่ป่าพง ส่วนพระทองดี ไปศึกษาปริยัติที่กรุงเทพฯ)
เมื่อตกลงกันเรียบร้อยแล้ว หลวงพ่อกับพระเณรอีกส่วนหนึ่งก็อำลาชาวบ้านป่าตาว ออกเดินทางกลับสู่มาตุภูมิ
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)