คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ต้นปี พ.ศ. 2493 หลวงพ่อได้รับจดหมายจากพระมหาบุญมี ซึ่งเป็นเพื่อนที่เคยปฏิบัติธรรมร่วมกัน ส่งข่าวเรื่อง หลวงพ่อวัดปากน้ำภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ให้ทราบ จึงออกเดินทางจากบ้านสวนกล้วย สู่กรุงเทพฯ ได้ศึกษาแนวทางปฏิบัติที่วัดปากน้ำประมาณ 7 วัน จากนั้นก็เดินทางต่อไป ยังวัดใหญ่ชัยมงคล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ในระหว่างปี พ.ศ. 2493-2494 ซึ่งเป็นพรรษาที่สิบสองและสิบสาม หลวงพ่อได้จำพรรษาอยู่ที่วัดใหญ่ชัยมงคล ได้พบกัลยาณมิตรสองท่าน คือ พระอาจารย์ฉลวย (ปัจจุบันพำนักอยู่ที่ วัดเขาต้นเกตุ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์) และหลวงตาแปลก
ครั้งหนึ่งขณะอยู่ที่วัดนั้น หลวงพ่ออาพาธหนัก ท้องทางด้านซ้ายบวมขึ้น มีความเจ็บปวดมาก ทั้งโรคหืดที่เคยเป็นก็กำเริบซ้ำเติมอีก ได้รับความทุกข์ทรมานมาก จึงปรารภกับตัวเองว่า
เรานี้อยู่ห่างไกลญาติพี่น้อง เงินทองก็ไม่มี และยังมาป่วยหนักอีก จะไปโรงพยาบาลก็คงต้องเป็นภาระยุ่งยากแก่ผู้อื่น ไม่ไปดีกว่า จะใช้ธรรมโอสถรักษา ถ้าหายก็หาย ถ้าไม่หายก็ให้ตายไป "
หลวงพ่อเล่าว่า... เมื่อปลงตกเช่นนี้ จึงทอดอาลัยในชีวิตแล้วอดอาหาร ดื่มเพียงน้ำเปล่าบ้าง ไม่ยอมพักผ่อนหลับนอน เดินจงกรมสลับกับนั่งสมาธิตลอดวัน ร่างกายเกิดความอ่อนเพลียมาก แต่จิตใจกลับเข้มแข็งไม่หวั่นไหวต่อสิ่งใด
รุ่งเช้า พระเณรไปบิณฑบาต หลวงพ่อก็เดินจงกรมและนั่งสมาธิ เมื่อเพื่อนพระเณรกลับมานั่งฉันอาหาร หลวงพ่อได้พิจารณาดูจิตเกิดคิดผิดว่า การฉันอาหารเป็นเรื่องยุ่งยาก ท่านให้ความ เห็นเรื่องการอดอาหารแก่ศิษย์ว่า
"การอดอาหารนั้น ระวังให้ดีบางที จะทำให้เราหลงได้ เพราะจิตอาจคิดผิด เห็นเพื่อนๆ เขาฉันอาหารแล้วคิดว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก เป็นภาระที่ทำความลำบากแก่ตนเอง เมื่อคิดอย่างนี้ อาจจะไม่ยอมฉันอาหาร จึงเป็นทางตายได้ง่ายๆ เหมือนกัน"
หลวงพ่ออดอาหาร เร่งความเพียรอย่างหนักถึง 8 วัน โรคร้ายนั้นได้หายไป และไม่กลับมา กำเริบอีก ท่านอาจารย์ฉลวยเฝ้าสังเกตอาการด้วยความเป็นห่วง ครั้นเห็นว่า เพื่อนอดอาหารนาน พอสมควรแล้ว จึงมาขอร้องให้ฉันอาหารดังเดิม จากประสบการณ์ในครั้งนั้น หลวงพ่อยังได้แนะนำ ลูกศิษย์อีกว่า
"เมื่อเราอดอาหารนานหลายๆ วัน เวลากลับมาฉัน ต้องระวังอย่าเพิ่งฉันมากในวันแรกๆ เพราะธาตุขันธ์ยังไม่เป็นปกติ ถ้าฉันมากอาจตายได้ เพราะอาหารไม่ย่อย ควรฉันวันละน้อย และเพิ่มขึ้นไปทุกวันจนเป็นปกติ"
การอาพาธของหลวงพ่อทุกครั้ง มักผ่านพ้นไปได้ด้วยความอดทน และกำลังใจที่เกิดจาก ความคิดที่ถูกต้อง รวมทั้งการทอดอาลัยในสังขารร่างกาย "หายก็เอา ตายก็เอา ถ้าคิดอยาก หายอย่างเดียวทุกข์แน่" ท่านจะให้กำลังใจแก่ศิษย์ด้วยคำพูดเช่นนี้เสมอ หรือบางครั้งก็หยิบยก เอาเหตุการณ์ที่ได้เผชิญและฝ่าฟันมาเล่าเป็นคติ ดังครั้งหนึ่ง...
ระหว่างรอนแรมโดดเดี่ยวอยู่ในป่า เขตสกลนครกับนครพนม หลวงพ่อเกิดอาพาธหนัก นอนซมเพราะพิษไข้อยู่ผู้เดียวบนภูเขา ไข้สูงมากจนลุกไม่ขึ้น รู้สึกอ่อนเพลียมากจนม่อยหลับไป พอรู้สึกตัวตื่นขึ้นก็เป็นเวลาพลบค่ำ ขณะนอนลืมตา คิดถึงสภาพความลำบากยากไร้ของตนอยู่ ได้ยินเสียงเก้งร้องดังก้องภูเขา จึงตั้งปัญหาถามตัวเองว่า
"อีเก้งและสัตว์ป่าต่างๆ มันป่วยเป็นไหม? มันป่วยเป็นเหมือนกัน เพราะมันก็มีสังขาร ร่างกายเหมือนเรานี่แหละ
มันมียากิน... มีหมอมาฉีดยาให้หรือเปล่า? เปล่า... ไม่มีเลย... มันคงหายอดไม้ใบหญ้า ตามมีตามได้
สัตว์ป่ามันไม่มียากิน ไม่มีหมอรักษา แต่ก็ยังมีลูกหลานสืบเผ่าพันธุ์ต่อมาเป็นจำนวนมาก มิใช่หรือ ?
ใช่.... ถูกแล้ว!"
พอหลวงพ่อพิจารณาได้ข้อคิดเช่นนี้ ก็มีกำลังใจดีขึ้นมาก พยายามลุกตะเกียกตะกายไป เอาน้ำในกามาดื่ม แล้วลุกขึ้นนั่งทำสมาธิ จนอาการไข้ทุเลาลงเรื่อยๆ รุ่งเช้าก็มีกำลังออกไปบิณฑบาตได้
หลังอาการอาพาธหนักที่วัดใหญ่ชัยมงคล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลวงพ่อคงทำความเพียรภาวนาอย่างสม่ำเสมอ ไม่ได้แสดงธรรมแก่ผู้ใด มีแต่อบรมและพิจารณาตัวเองอยู่ ตลอดเวลา
เมื่อออกพรรษา ได้เปลี่ยนสถานที่ภาวนาไปยัง เกาะสีชัง พักอยู่บนเกาะประมาณหนึ่งเดือน แล้วย้อนกลับมาพักอยู่ที่วัดใหญ่ชัยมงคลอีกระยะหนึ่ง จากนั้นก็อำลาสหธรรมิก คือ ท่านอาจารย์ฉลวยและหลวงตาแปลกกลับคืนสู่อีสาน
เราจะหลุดพ้นจากความทุกข์ได้อย่างไร "
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)