คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ออกจากวัดป่าหนองฮี หลวงพ่อเดินธุดงค์ลงมาทางอีสานใต้ รอนแรมมาในป่าหลายวัน จนถึงบ้านป่าตาว ตำบลคำเตย อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ชาวบ้านถิ่นนั้น พอทราบข่าวว่า มีพระกรรมฐานมาพักอยู่ใกล้หมู่บ้าน ต่างพากันมาคารวะขอฟังธรรม หลวงพ่อได้แนะแนวทางปฏิบัติต่างๆ แก่พวกเขาจนเข้าใจและเกิดศรัทธานำไปปฏิบัติตามสมควร
พักอยู่ที่บ้านป่าตาวสองเดือน ได้อำลาชาวบ้านออกแสวงหาความสงบวิเวกต่อไป โดยมุ่งหน้าลงมาทางอุบลฯ ชาวบ้านคนหนึ่งมีศรัทธามาก ได้ฝากฝังลูกชายนามว่า ทองดี ให้เป็นศิษย์ติดตามไปด้วย
มื่อหลวงพ่อเดินทางมาถึงบ้านก่อ ท่านได้แวะพักที่ป่าช้าวัดก่อนอก เพื่อเยี่ยมเยือนโยมมารดาและญาติพี่น้อง และได้ฝึกสอนเด็กชายทองดีกับเด็กชายเที่ยง ให้รู้จักวิธีการบวชพอสมควรแล้ว หลวงพ่อจึงพาไปบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดวารินทราราม แล้วนำกลับมาพักที่วัดก่อนอก
ขณะที่พักอยู่ในป่าช้า ญาติมิตรที่คุ้นเคยกับหลวงพ่อในวัยเด็กได้มานมัสการ สนทนาด้วยความยินดี เพราะนับแต่ท่านออกธุดงค์แล้ว ก็ไม่ได้พบกันบ่อยนัก แต่การพบกันในครั้งนี้ เพื่อนสนิทคนหนึ่งสังเกตเห็นว่า หลวงพ่อกลับมาคราวนี้เปลี่ยนแปลงไปมาก จากคนที่พูดเก่ง ชอบหัวเราะร่าเริง กลายเป็นคนเงียบขรึม พูดน้อย ไม่รื่นเริงเหมือนเก่า เมื่อเฝ้าสังเกตเห็นเช่นนั้นหลายวัน เกิดอยากรู้ความในใจว่าเป็นเช่นใด
วันหนึ่งญาติๆ ได้เข้าพบหลวงพ่อที่ป่าช้า เมื่อสนทนากันพักหนึ่ง จึงถามว่า
"ท่านจะไม่สึกหรือครับ"
"ยังไม่อยากตอบ เพราะมันเป็นเรื่องของวันข้างหน้า ถ้าอาตมาจะตอบว่าไม่สึก แต่หากต่อไปมันอยากสึกขึ้นมาล่ะ ก็เป็นการโกหกกัน"
หลังจากสนทนากันตามวิสัยผู้คุ้นเคยแล้ว เพื่อนรักก็กราบลากลับไปพร้อมกับคาดการณ์ว่า หลวงพ่อคงจะรุ่งเรืองและมั่นคงในบวรศาสนา เพราะนับตั้งแต่ท่านบวชแล้วออกธุดงค์กลับมา อุปนิสัยและกิริยาท่าทางของท่านเปลี่ยนไปเป็นคนละคน แม้จะยังเป็นภิกษุหนุ่ม แต่ก็ดูน่าเคารพเลื่อมใสมาก แต่การที่ท่านตอบคำถามเลี่ยงๆ ไปนั้น คงเป็นเพราะความรอบคอบ ซึ่งเป็นลักษณะของคนมีปัญญามากกว่า
หลวงพ่อพักอยู่ป่าช้าวัดก่อนอกประมาณสิบห้าวัน ได้ให้ข้อคิดและคำแนะนำแก่มารดา และญาติมิตรพอสมควร จากนั้นหลวงพ่อกับสามเณรทองดีได้เดินทางไปยังอำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ
ในปี พ.ศ. 2492 ซึ่งเป็นพรรษาที่สิบเอ็ดของหลวงพ่อ วันหนึ่งท่านจาริกไปถึง บ้านสวนกล้วย อำเภอกันทรลักษณ์ ได้พำนักอยู่ในป่าห่างจากหมู่บ้านพอสมควร ป่าแห่งนั้นมีบรรยากาศสงบ ร่มรื่น เหมาะแก่การบำเพ็ญภาวนามาก จึงตัดสินใจจำพรรษาอยู่ที่นั่น
พรรษานั้นหลวงพ่อเล่าว่า การบำเพ็ญสมณธรรมของท่าน ดำเนินไปอย่างสม่ำเสมอ ไม่ย่อหย่อนและท้อถอย จิตใจสงบระงับมาก
(ที่บ้านสวนกล้วยแห่งนี้ ต่อมาได้มี วัดสาขาแห่งที่ 6 ของวัดป่าพง ชื่อว่า วัดป่ากัทลิวัน (สวนกล้วย) ตำบลสวนกล้วย อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งมี พระครูวิมลธรรมรัตน์ (หลวงพ่อบุญเสริม ธมฺมปาโล) นักเทศน์ชื่อดัง (ปัจจุบันมรณภาพแล้ว) เป็นเจ้าอาวาส)
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)