คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ขณะที่ หมอลำซิ่ง ครองความนิยมภาคอีสานในเวลานี้ ซึ่งเป็นผลพวงมาจาก
การที่ ราตรี ศรีวิไล ได้นำเอาหมอลำกลอนไปใส่กลองซิ่ง และเร่งเร้าจังหวะดนตรี
ขึ้น โดยเพียงต้องการให้คนหันมาดูหมอลำกัน แต่เธอถูกตำหนิจากคนในวงการ
หมอลำว่า เป็นต้นเหตุทำให้หมอลำกลอนผิดเพี้ยนไป "
ศิลปืนแห่งชาติ ประจำปี 2565 สาขาศิลปการแสดง (หมอลำประยุกต์)
ดร. ราตรีศรีวิไล บงสิทธิพร เดิมชื่อ ราตรีศรีสวัสดิ์ อุ่นทะยา ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็น "ราตรีศรีวิไล" ตามนามฉายาที่ใช้ในการแสดงหมอลำคือ "หมอลำราตรีศรีวิไล" หรือในกลุ่มลูกศิษย์ศิลปินหมอลำนิยมขานนามกันว่า “แม่ครูราตรีศรีวิไล” เกิดเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2495 ที่อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม บิดาชื่อนายเสริม มารดาชื่อ นางหมุน นาห้วยทราย ซึ่งทั้งสองคนมีอาชีพเป็นศิลปินหมอลำกลอนและนักประพันธ์กลอนลำ
ปี พ.ศ. 2517 ได้สมรสกับ นายวิชิต บงสิทธิพร อาชีพรับราชการสาธารณสุข มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ นายธนกร บงสิทธิพร และนางสาวโยธิกาศรีวิไล บงสิทธิพร อยู่ที่บ้านเลขที่ 41/60 ซอยหมู่บ้านเสรี ถนนมิตรภาพ อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น รหัสไปรษณีย์ 40000 โทรศัพท์ /โทรสาร 043-243070, 081-8715868 ซึ่งเปิดเป็นสำนักงานหมอลำ และได้รับคัดเลือกจาก สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ในการก่อตั้ง ศูนย์การเรียนภูมิปัญญาไทยด้านศิลปกรรมการแสดงพื้นบ้าน (หมอลำ) ขึ้นในจังหวัดขอนแก่น
การประพันธ์กลอนลำแบบประยุกต์ ส่วนใหญ่ใช้ทำนองประเภทผสมผสาน เช่น ทำนองลำทางสั้น ทางล่อง ทางเต้ย ลำพื้น ลำหมู่ ลำเพลิน ลำสินไซ ลำเดินขอนแก่น ลำย่าววาทขอนแก่น ลำย่าววาทกาฬสินธุ์ ลำย่าววาทอุบล ลำตั่งหวาย และลำผู้ไทย เป็นต้น เน้นจังหวะเร็ว เร้าใจและใช้จังหวะทำนองเพลงลูกทุ่ง ลูกกรุง สตริงเข้ามาผสมผสานเป็นบางส่วน ทางด้านเนื้อหาสาระก็คล้ายกับแบบดั้งเดิม แต่จะเพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่อง ความรัก ตลกขำขัน และการสร้างสรรค์สังคมตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามยุคตามสมัย การประพันธ์กลอนลำแบบประยุกต์จะต้องให้สอดคล้องกับดนตรี เพราะกลุ่มผู้ฟังลำแบบประยุกต์จะเน้นการฟังเสียงดนตรีประกอบด้วย และภาษาที่ใช้ในการประพันธ์กลอนใช้ภาษาไทยถิ่นอีสานและภาษาไทยกลางผสมผสานเท่ากัน
ขณะที่ หมอลำซิ่ง ครองความนิยมภาคอีสานในเวลานี้ ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการที่ ราตรี ศรีวิไล ได้นำเอาหมอลำกลอนไปใส่กลองซิ่ง และเร่งเร้าจังหวะดนตรีขึ้น โดยเพียงต้องการให้คนหันมาดูหมอลำกัน แต่เธอถูกตำหนิจากคนในวงการหมอลำว่าเป็นต้นเหตุทำให้หมอลำกลอนผิดเพี้ยนไป
"ช่วงหมอลำซิ่ง ออกมาเยอะๆ และมีการเต้น และแต่งตัวไม่สุภาพ มีคนออกมาด่าแม่ราตรีเยอะมาก บอกว่า เป็นต้นแบบให้หมอลำกลอนกลายพันธุ์ แต่คนที่ด่าเราเขาไม่เคยดูว่า พื้นที่เราปูเอาไว้เป็นอย่างไร เราทำหมอลำซิ่งจริง แต่ไม่ได้ทะลึ่ง หรืออนาจาร ไม่เคยใส่กระโปรงสั้น เต้นเด้งหน้า เด้งหลังเหมือนโคโยตี้ แต่เด็กหมอลำซิ่งรุ่นใหม่เอาไปทำเอง อธิบายอย่างไรเขาก็ไม่ฟัง กลับแอนตี้เราอย่างเดียว แต่มีลูกศิษย์เราบางคนไปวิ่งตามตลาดก็มี โดยลืมของจริงรากเหง้า มันไม่ใช่รูปแบบวัฒนธรรม แต่เป็นรูปแบบนักธุรกิจ มุมมองนักวัฒนธรรมมองเราเสียหายว่า แม่ราตรีเป็นต้นฉบับหมอลำซิ่ง แต่จริงๆ เราไม่เคยทำให้วัฒนธรรมหมอลำเสียหาย คำสกปรกไม่เคยพูด เราพูดแค่กำกวม ไม่เคยพูดหยาบคายลามก"
เมื่อถามว่า "ท้อไหมที่ถูกเพื่อนร่วมอาชีพเดียจฉันท์" แม่ราตรีบอกว่า "ท้อแต่ไม่ถอย คนให้กำลังใจก็มี แต่ถ้าถามย้อนกลับคืนว่า ถ้าเราทำไม่ดี ทำไมหน่วยงานราชการ กรม กอง กระทรวงต่างๆ ถึงได้มาจ้างเรา เขียนกลอนลำ และ ร้องหมอลำซิ่งให้ไปรณรงค์ โดยเฉพาะรณรงค์เรื่องไม่กินปลาดิบ รณรงค์เลือกตั้งทุกคนวิ่งมาหาเราหมด
ในกลุ่มหมอลำกลอนด้วยกัน เขาแอนตี้แม่มากถึงขนาดที่จะฆ่าเราให้ตาย ไม่ให้หมอลำซิ่งเกิดได้ แต่ก็ไม่ได้ เพราะหมอลำซิ่งมันเยอะ เขาเลยพูดไม่ได้ แต่มันเสียใจตรงที่ว่า ทำไมผู้ใหญ่เหล่านี้ไม่มองเด็กเหล่านี้ในด้านดีบ้าง เพราะคนที่เขาทำดีก็มี หมอลำซิ่งที่ไม่อนาจาร สามารถต่อลมหายใจให้หมอลำอีสานมีชีวิตอยู่รอด ไม่ให้ตายไป เพราะถ้าไม่มีหมอลำซิ่ง หมอลำตายจากอีสานไปแล้ว"
ส่วนที่เธอห่างหายจากวงการหลายปีนั้น เธอมุ่งมั่นเพื่อเรียนหนังสือจนใกล้จบปริญญา โดยแม่ราตรีบอกเล่าถึงแรงจูงใจ ว่า "เดือนธันวาคมนี้ ก็จะเข้ารับพระราชทานปริญญามหาบัณฑิต ของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม สาขาหมอลำ และ ตั้งใจจะเรียนต่อดอกเตอร์เพื่อเป็นดอกเตอร์ด้านหมอลำคนแรกของประเทศไทยและของโลกให้ได้ ตั้งแต่เด็กอยากเรียนมาก แต่พ่อแม่ไม่ให้เรียน บอกให้เป็นหมอลำ เพราะพ่อแม่เป็นหมอลำ พ่อแม่ก็ทิ้งหนังสือกลอนลำใส่มือให้ จบป. 4 ก็เป็นหมอลำเลย จนมาถึงพ.ศ. 2518 ลูกสาวเกิด ช่วงพักคลอด เพิ่งได้มาเรียนต่อระดับ ป. 5 - ป. 6 และ เรียนต่อ กศน. มาเรื่อยๆ จนจบ ม. 6 และ และเรียนต่อระดับปริญญาตรี ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย และ ได้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในปี 2548 ในสาขาพัฒนาชุมชน"
หลังจากจบระดับปริญญาตรีแล้ว ราชินีหมอลำซิ่งยังไม่หยุดเท่านั้น โดยมุมานะเรียนปริญญาโทจนจบสมใจ "ตั้งใจจะเรียนแค่ปริญญาโทก็พอ แต่พอได้เรียน ปริญญาโท ในสาขาหมอลำ ที่เพิ่งเปิดโดยวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ คณบดีเคยคุยกันกับเราว่าหากตั้งสาขาหมอลำ เพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่เด็ก เขาบอกแม่ราตรีต้องมาเรียนนะ ต้องจบปริญญาโทด้านหมอลำให้ได้ โดยคนที่เป็นอีกแรงผลักดันสำคัญคือ อาจารย์สุพรรณี เหลืองบุญชู ซึ่งเป็นคนทำให้เราเห็นความสำคัญของการเรียนต่อที่สาขานี้ เพื่อให้เด็กที่เป็นหมอลำรุ่นใหม่ๆ ไม่คิดว่า เรียนหมอลำ เรียนไปทำอะไรไม่มีประโยชน์"
แรงผลักดันที่ทำให้อยากเรียนต่อ เพราะอยากเป็นแรงผลักดันให้เด็กรุ่นใหม่ใฝ่เรียนหนังสือ และไม่ทิ้งการเรียน ไปเต้นกินรำกินอย่างที่โบราณว่าอย่างเดียว "
"ถ้าหมอลำเรียนหนังสือสูง คำครหานินทาก็จะได้น้อยลง ที่ผ่านมาเขามองว่าหมอลำโง่ โกหกอย่างไรก็ได้ หลอกอย่างไรก็ได้ จ้างแล้วไม่มีเงินจ่าย หมอลำก็ไม่มีปัญญาด่า เขาดูถูกเราขนาดนั้น ถ้าเราเรียนสูงคำเหล่านี้ก็จะหายไป วิทยานิพนธ์ที่ทำ ในระดับปริญญาโทเป็นเรื่องสุนทรียภาพในกลอนลำของหมอลำกลอน ซึ่งมันเข้าทางตนเองและเราผ่านตรงนี้มาแล้ว เคยได้รับรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้านผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรม สาขาวรรณศิลป์ เลยทำให้เรายิ่งมีแรงผลักดัน อยากเรียนต่ออีกจนจบดอกเตอร์ และอาจารย์ที่คณะบอกว่า ใครจะเป็นดอกเตอร์หมอลำคนแรกของโลก ถ้าไม่ใช่ราตรีศรีวิไล เรียนเถอะ เพราะอนาคตหากมีนักศึกษาเข้าเรียนต่อด้านนี้อีก จะหาดอกเตอร์มาคุมวิทยานิพนธ์ไม่ได้ หากแม่ราตรีไม่จบดอกเตอร์ให้ได้เสียก่อน"
แม่ราตรี ฝากทิ้งท้ายถึง ลูกหลานที่เป็นหมอลำซิ่งว่า "อยากจะไหว้ให้กลับมา อย่าไปนุ่งสั้น ที่มองแล้วกลายเป็นชุดจ้ำบะ เป็นโคโยตี้ เราไม่จำเป็นต้องขายเรือนร่าง ขายเซ็กส์ขนาดนั้น ขายท่าเต้นที่ไม่ดี ทำให้เสียหาย อยากจะให้ลูกเต้ากลับมา กู้หน้าตาพ่อแม่เรา มรดกอีสาน เขาได้ทำเอาไว้ให้เราแล้ว แม่จะคอยอนุโลมให้ มาเจอกันครึ่งทางก็ยังดี ดีกว่าหลุดโลกไปมากกว่านี้ สงสารพ่อแม่ที่เคยส่งเรามาร้องมาลำ พ่อแม่ไปดูก็ไม่ภูมิใจหรอก ลูกสาวนุ่งสั้น เด้งหน้าเด้งหลัง ขอให้คืนหาทิศทางวัฒนธรรมหมอลำของเราซะ หมอลำซิ่งเราจะได้ไม่ถูกดูถูกแบบนี้ เขาจะได้มองเห็นเราดีขึ้น"
แม่ครูราตรีศรีวิไล ได้ประพันธ์บทกลอนลำเกี่ยวกับเนื้อหาสาระต่างๆ ตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ละยุคสมัย และกลอนเกี่ยวกับการสร้างสรรค์สังคม เช่น กลอนรณรงค์เผยแพร่ข่าวสารด้านต่างๆ ได้แก่ กลอนรณรงค์ต่อต้านโรคภัยไข้เจ็บทั่วไป กลอนเลิกเหล้าเข้าพรรษาบูชาในหลวงรณรงค์เชิญชวนเลือกตั้งผู้แทนทุกระดับ รณรงค์เผยแพร่ประชาธิปไตย รณรงค์เชิญชวนรักการอ่าน การเรียนรู้หนังสือ เชิญชวนอนุรักษ์ภาษาและวรรณกรรม กลอนอนุรักษ์วัฒนธรรม ตลอดจนกลอนรักษาจารีตประเพณีไทย เป็นต้น รวมจำนวนกลอนลำที่ประพันธ์ได้มากกว่า 1,000 กลอน (เอกลักษณ์โดดเด่นในการประพันธ์กลอนลำ คือ เน้นการใช้ภาษาไทยถิ่นอีสาน) เมื่อประพันธ์กลอนเสร็จก็มอบให้ลูกศิษย์และหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งตัวท่านเอง นำไปแสดงเผยแพร่ต่อสาธารณชนตามงานองค์กรต่างๆ ตามความเหมาะสมของแต่ละงาน
ดูคลิปนี้จาก Facebook Fanpage ได้เลย
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)