foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศแปรปรวนนะครับ ฤดูหนาวแต่ร้อน และมีฝนตกกระจายทั่วประเทศเลยทีเดียว และตอนนี้ก็ฤดูเก็บเกี่ยวของชาวนาซึ่งไม่ได้เก็บเกี่ยวด้วยมือแบบดั้งเดิมแล้ว แต่หันมาใช้รถเกี่ยวข้าวแทนซึ่งทำได้รวดเร็วกว่ามากๆ แต่ก็มีปัญหาตามมาคือข้าวเปลือกมันยังไม่แห้งเก็บเข้ายุ้งฉางไม่ได้ ต้องมีการตากแดดให้แห้งก่อนสัก 2-3 วัน พอมีฝนมาแบบนี้ก็แย่เลย บางรายก็เอาไปตากบนถนนหนทางซึ่งอันตรายมากๆ อย่าหาทำเด้อพี่น้อง มันผิดกฎหมาย...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

may festival header

เทศกาลงานประเพณีภาคอีสาน ประจำเดือน พฤษภาคม ๒๕๖๕ ปีนี้แม้การระบาดของ "ไวรัสโควิด-19" จะยังคงมีอยู่แต่จำนวนประชากรที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มีการเร่งรัดประชาสัมพันธ์ให้เข้ารับการฉีดวัคซีนเข้มกระตุ้นทุกภาคส่วน น่าจะมีการผ่อนผันให้จัดงานประเพณีได้แบบมีข้อจำกัดอยู่บ้าง ก็ระมัดระวังให้ความร่วมมือกันนะครับเพื่อความสุขของทุกคน

  • ประเพณีบุญบั้งไฟยโสธร ประจำปี 2565 ที่อำเภอเมือง ยโสธร ระหว่างวันที่ 13-15 พฤษภาคม 2565
  • วันวิสาขบูชา ในทุกจังหวัดภาคอีสาน วันอาทิตย์ที่ 15 พฤษภาคม 2565

ประเพณีบุญบั้งไฟยโสธร

bung fai 2565

งานประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นงานประเพณีท้องถิ่นของชาวอีสาน ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต และความเชื่อทางศาสนาของชาวอีสานมาช้านาน โดยเชื่อว่าเมื่อเข้าสู่ฤดูกาลปักดำทำนา จะต้องจุดบั้งไฟขึ้นไปบูชาพญาแถนบนฟากฟ้า เพื่อขอให้พญาแถนซึ่งได้ชื่อว่าเป็น "เทพแห่งฝน" ได้ดลบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล เพื่อให้สรรพสิ่งบนผืนโลกได้ดำเนินวีถีชีวิตไปตามครรลองที่ควรจะเป็น

โดยเฉพาะผู้คนบนผืนดินอีสาน ที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับการทำใร่ทำนามาช้านาน ต้องอาศัยข้าวและพืชผลทางการเกษตร ในการหล่อเลี้ยง ดำรงชีวิตมาโดยตลอด น้ำฝนจากฟ้าจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ คืองานประเพณีแห่ และจุดบั้งไฟจึงถูก สร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อเป็นความหวัง และกำลังใจ ของชาวอีสานมาโดยตลอด งานประเพณีบุญบั้งไฟจะจัดขึ้นเป็นประจำปีทุกปี ชมขบวนแห่บั้งไฟ และการจุดบั้งไฟแสน และบั้งไฟหมื่น ชมวิถีของคนทำบั้งไฟ และบรรยากาศการทำบั้งไฟ เพื่อเป็นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีของจังหวัดให้คงอยู่สืบไป

เมื่อพูดถึง "งานบุญบั้งไฟ" ย่อมจะต้องนึกถึง เมืองบั้งไฟโก้ ยโสธร กันแน่นอนเลยทีเดียว ซึ่งจะจัดกันทุกปีใน วันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคมของทุกปี ปีนี้การจัดงานก็อยู่ในระหว่างวันที่ 13-15 พฤษภาคม 2565

bung fai 02

ประเพณีบุญบั้งไฟตามตำนานเล่าว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าถือชาติกำเนิดเป็น พญาคางคก (พญาคันคาก) ได้อาศัยอยู่ใต้ร่มโพธิ์ใหญ่ในเมืองพันทุมวดี ด้วยเหตุใดไม่แจ้ง พญาแถนเทพเจ้าแห่งฝนโกรธเคืองโลกมนุษย์มาก จึงแกล้งไม่ให้ฝนตกนานถึง 7 เดือน ทำให้เกิดความลำบากยากแค้นอย่างแสนสาหัสแก่มวลมนุษย์ สัตว์และพืช จนกระทั่งพากันล้มตายเป็นจำนวนมาก พวกที่แข็งแรงก็รอดตายและได้พากันมารวมกลุ่มใต้ต้นโพธิ์ใหญ่กับพญาคางคก สรรพสัตว์ทั้งหลายจึงได้หารือกันเพื่อจะหาวิธีการปราบพญาแถน ที่ประชุมได้ตกลงกันให้พญานาคียกทัพไปรบกับพญาแถน แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ จากนั้นจึงให้พญาต่อแตนยกทัพไปปราบแต่ก็ต้องพ่ายแพ้อีกเช่นกัน ทำให้พวกสรรพสัตว์ทั้งหลายเกิดความท้อถอย หมดกำลังใจและสิ้นหวัง ได้แต่รอวันตาย

ในที่สุด พญาคางคก จึงขออาสาที่จะไปรบกับ พญาแถน จึงได้วางแผนในการรบโดยปลวกทั้งหลายก่อจอมปลวกขึ้นไปจนถึงเมืองพญาแถน เพื่อเป็นเส้นทางให้บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายได้เดินทางไปสู่เมืองพญาแถน ซึ่งมีมอด แมลงป่อง ตะขาบ สำหรับมอดได้รับหน้าที่ให้ทำการกัดเจาะด้ามอาวุธที่ทำด้วยไม้ทุกชนิด ส่วนแมลงป่องและตะขาบให้ซ่อนตัวอยู่ตามกองฟืนที่ใช้หุงต้มอาหาร และอยู่ตามเสื้อผ้าของไพร่พลพญาแถนทำหน้าที่กัดต่อย

หลังจากวางแผนเรียบร้อย กองทัพพญาคางคกก็เดินทางเพื่อปฏิบัติหน้าที่การรบ มอดทำหน้าที่กัดเจาะด้ามอาวุธ แมลงป่องและตะขาบกัดต่อยไพร่พลของพญาแถนจนเจ็บปวด ร้องระงมจนกองทัพระส่ำระสาย ในที่สุดพญาแถนจึงได้ยอมแพ้และตกลงทำสัญญาสงบศึกกับพญาคางคก ดังนี้

  1. ถ้ามวลมนุษย์จุดบั้งไฟขึ้นสู่ท้องฟ้าเมื่อใด ให้พญาแถนสั่งให้ฝนตกในโลกมนุษย์
  2. ถ้าได้ยินเสียงกบ เขียดร้อง ให้รับรู้ว่าฝนได้ตกลงมาแล้ว
  3. ถ้าได้ยินเสียงสะนู (เสียงธนูหวายของว่าว) หรือเสียงโหวด ให้ฝนหยุดตกเพราะจะเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวข้าว

หลังจากที่ได้สัญญากันแล้ว พญาแถนจึงได้ถูกปล่อยตัวไปและได้ปฏิบัติตามสัญญามาจนบัดนี้ นั่นเอง

bung fai 03

ภายในงานนักท่องเที่ยวจะได้พบกิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ ขบวนแห่บั้งไฟสวยงาม (บั้งไฟเอ้) การประกวดแห่กาพย์เซิ้งบั้งไฟ การสาธิตและร่วมการแกะลายบั้งไฟ การแสดงรถบั้งไฟโบราณ การประกวดเวทีกองเชียร์บั้งไฟ การประกวดธิดาบั้งไฟโก้ การแสดงแสงสีสื่อผสม ตำนานพญาคันคาก (ตำนานบุญบั้งไฟยโสธร) ชมการเตรียมและฝึกซ้อมการรำของขบวนบั้งไฟของคุ้มวัดต่างๆ การจุดบั้งไฟปฐมฤกษ์และบั้งไฟเสี่ยงทาย การจุดโชว์บั้งไฟแฟนซี (บั้งไฟติดร่มมีควันสี) การแข่งขันบั้งไฟติดร่มแฟนซี และบั้งไฟขึ้นสูง และการจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ "OTOP ของดียโสธร"

📍เชิญร่วมงาน เทศกาลประเพณีบุญบั้งไฟ ยโสธร 2565 ระหว่างวันที่ 13-15 พฤษภาคม 2565 ณ บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองยโสธร ลานวิมานพญาแถน (พญาคันคาก-พญานาค) และสวนสาธารณะพญาแถน

bung fai 05

งานเทศกาลประเพณีบุญบั้งไฟ นับเป็นอีกหนึ่งงานเทศกาลสำคัญของจังหวัดยโสธร ทั้งยังเป็นประเพณีเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของชาวอีสานอย่างแนบแน่น ซึ่งเชื่อกันว่าเมื่อเข้าสู่ฤดูกาลทำนา จะต้องจุดบั้งไฟขึ้นไปบูชาพญาแถน (เทพเจ้าแห่งฝน) ดลบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล หล่อเลี้ยงนาข้าวและผลผลิตทางการเกษตรต่างๆ ให้ออกดอกออกผลตามกำหนด โดยมีกิจกรรมดังนี้

  • การประกวดธิดาบั้งไฟโก้ เปิดโอเพ่น ต้องผ่านมาตรการ ตรวจคัดกรองทุกขั้นตอน
  • การประกวดกองเชียร์บั้งไฟ กำหนด 10 คณะ โดยทุกคณะต้องมีมาตรการการตรวจคัดกรอง อย่างเข้มงวด งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ขบวนแห่ ของคุ้มวัดในเขตเทศบาล มี 9 ขบวน แต่ละขบวน มีผู้เข้าร่วมได้ ไม่เกิน 70 คน มีนางรำ กลองยาว รถแห่บั้งไฟสวยงาม
  • บั้งไฟแสน จุดแข่งขัน รวม 9 คุ้มวัด ไม่เกิน 24 คณะ
  • บั้งไฟแฟนซีติดร่ม ไม่จำกัดจำนวน
  • มีซุ้มอาหาร street food 13-15 พฤษภาคม ไม่มีการจำหน่ายเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ (โดมเทศบาล) มีคอนเสิร์ตให้ดู จากศิลปินดัง

ทั้งนี้ ทุกกิจกรรมจะต้องผ่านการตรวจคัดกรองอย่างเข้มข้น ฉีดวัคซีนครบ ตรวจ ATK ก่อน 48 ชั่วโมง.. แล้วมาเที่ยวบุญบั้งไฟยโสธรกันนะครับ

วันที่จัดงาน : 13-15 พฤษภาคม 2565

สถานที่จัดงาน : หน้าที่ว่าการอำเภอเมืองยโสธร, ลานวิมานพญาแถน (อาคารพญาคันคาก) และบริเวณสวนสาธารณะพญาแถน จังหวัดยโสธร

 

วันวิสาขบูชา

wisaka bucha 1วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ คือเกิด ได้ตรัสรู้ คือสำเร็จ ได้ปรินิพพาน คือ ดับ เกิดขึ้นตรงกันทั้ง 3 คราว กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติใน วันวิสาขบูชา ได้แก่

  1. ทำบุญใส่บาตร กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ญาติที่ล่วงลับ และเจ้ากรรมนายเวรจัด
  2. สำรับคาวหวานไปทำบุญถวายภัตตาหารที่วัด
  3. และปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนาปล่อยนกปล่อยปลา เพื่อสร้างบุญสร้างกุศล
  4. ร่วมเวียนเทียนรอบอุโบสถที่วัดในตอนค่ำ เพื่อรำลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
  5. ร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับวันสำคัญทางพุทธศาสนา
  6. จัดแสดงนิทรรศการ ประวัติ หรือเรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวกับวันวิสาขบูชาตามโรงเรียน หรือสถานที่ราชการต่างๆ เพื่อให้ความรู้ และเป็นการร่วมรำลึกถึงความสำคัญของวันวิสาขบูชา
  7. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน วัดและสถานที่ราชการ
  8. บำเพ็ญสาธารณประโยชน์

wisaka bucha 3

หากท่านไม่สะดวกในการไปทำบุญที่วัด ก็เชิญชวนให้พุทธศาสนิกชนร่วม "เวียนเทียนออนไลน์" ใน "วันวิสาขบูชา" 2565 ในรูปแบบวิถีใหม่ New Normal ซึ่งเป็นการทำบุญวิถีใหม่ ปลอดภัยจากโควิด-19  และยังอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่ไม่สามารถเดินทางไปทำกิจกรรมที่วัด ให้ร่วมทำบุญในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา โดยร่วม "เวียนเทียนออนไลน์" ได้ที่เว็บไซต์ www.เวียนเทียนออนไลน์.com สามารถเลือกสถานที่เวียนเทียน ทั้งวัดในประเทศไทย และวัดไทยในต่างประเทศ ซึ่งจะเปิดระบบให้ประชาชนสามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ก่อนหลัง 2 วัน

วันที่จัดงาน : 15 พฤษภาคม 2565

สถานที่จัดงาน : ในทุกจังหวัดทั่วอีสานและประเทศไทย (โรดติดตามข่าวสารในท้องถิ่นของท่าน)

 

ท่องเที่ยวอีสาน

lilred

หากแฟนานุแฟนของเว็บไซต์อีสานบ้านเฮา หรือหน่วยงานราชการ จังหวัด อำเภอ เทศบาล อปท. ใดๆ มีข่าวสารการจัดงานบุญประเพณีในท้องถิ่นของท่าน อยากจะเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ก็แจ้งมายังทีมงานได้ครับ ผ่านทางอีเมล์ webmaster @ isangate.com หรือผ่านทาง Inbox ใน Fanpage Facebook : IsanGate ก็ได้เช่นเดียวกันครับ ขอรายละเอียด วันเวลา สถานที่จัดงาน กิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ ถ้ามีภาพประกอบด้วยก็จะดีเยี่ยมครับ (ภาพของงานปีก่อนๆ หรือการคประชุมเตรียมงาน) บริการท่านฟรีๆ ครับ ไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)