คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
เทศกาลแห่เทียนพรรษา ของจังหวัดอุบลราชธานี ได้รับความสนใจและโด่งดังไปทั่วไปโลก ด้วยการแกะสลักลวดลายบนต้นเทียน และรถประดับเทียนอย่างวิจิตรตระการตา ซึ่งประเพณีนี้มีขึ้นในช่วงวันเข้าพรรษา เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา จึงถือได้ว่าเป็นงานบุญยิ่งใหญ่ของภาคอีสาน ในงานจัดให้มีการแสดงทางวัฒนธรรม ชมริ้วขบวนแห่เทียนโบราณ ขบวนแห่เทียนพรรษาจากคุ้มวัดและสถานศึกษาต่างๆ การประกวดธิดาเทียนพรรษา การประกวดต้นเทียนประเภทแกะสลัก ติดพิมพ์ และเทียนโบราณ การประกวดภาพถ่ายความประทับใจในงาน
และกิจกรรมเยือนชุมชนตามคุ้มวัดต่างๆ (ตลอดเดือน กรกฎาคม 2561) ที่มีการจัดกิจกกรรมการทำต้นเทียน การจัดทำส่วนประกอบประดับตกแต่งรถขบวนแห่ การซ้อมรำประกอบขบวนเทียน ถนนสายเทียนสายธรรม การแสดงประกอบแสง-เสียง ขบวนแห่เทียนภาคกลางคืน นอกจากนี้ ยังมีการเชิญศิลปินจากทั่วโลกเดินทางมาสร้าง "ประติมากรรมเทียนนานาชาติ" จัดแสดงตลอดทั้งเดือนกรกฏาคมอีกด้วย
จังหวัดอุบลราชธานี ได้กำหนดการจัดงานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี ประจำปี 2561 ในชื่อว่า "ฮีตศรัทธา ราชธานีแห่งเทียน" ระหว่างวันที่ 23 - 28 กรกฎาคม 2561 เพื่อเป็นการอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด
ช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ หากท่านใดมีโปรแกรมมาท่องเที่ยวอุบลราชธานี ก็อย่าลืมวางแผน "เยือนอุบลฯ ถิ่นคนทำเทียน" กันนะครับ งานประเพณีแห่เข้าเทียนพรรษา เป็นประเพณีทางพุทธศาสนาที่มีมายาวนานของชาวจังหวัดอุบลราชธานี ถือเป็นงานบุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจังหวัด โดยกำหนดจัดงานขึ้นเป็นประจำทุกปี ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 วันอาสาฬหบูชา และแรม 1 ค่ำ เดือน 8 หรือวันเข้าพรรษา ซึ่งปีนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ 27 กรกฎาคม 2561 และวันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม 2561 ทางจังหวัดอุบลราชธานีกำหนดให้จัดงาน "ฮีตศรัทธา ราชธานีแห่งเทียน" ขึ้นระหว่างวันที่ 23 - 28 กรกฎาคม 2561
มาเที่ยวกันได้เลยครับ ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมไปจนถึงช่วงจัดงาน ท่านจะได้ชมกระบวนการทำต้นเทียน และมีส่วนร่วมในการทำต้นเทียนพรรษากับช่างเทียนตามคุ้มวัดต่างๆ ซึ่งท่านสามารถมีส่วนร่วมในการทำต้นเทียนได้ตั้งแต่บริจาคขี้ผึ้งเพื่อหล่อเทียน ช่วยในการหลอมเทียน แกะสลักลวดลายบางส่วน ชื่นชมกับฝีมือช่างพื้นบ้านซึ่งมีทั้งพระภิกษู สามเณร และญาติโยม มาช่วยกันทำในแต่ละคุ้มวัด
สำหรับวัดที่ทำต้นเทียนประเภทติดพิมพ์ ท่านจะได้ร่วมมือกันแบบเต็มที่ตั้งแต่การช่วยต้มเทียนเทลงในแบบหล่อ (แม่พิมพ์ลายต่างๆ) แกะเทียนออกจากแบบแล้วมาช่วยกันตัดตกแต่งลวดลายให้คมชัดสวยงาม เพื่อให้ช่างนำไปติดบนต้นเทียนตามแบบที่เตรียมไว้อีกที
ขอแนะนำคุ้มวัด/ขุมชนที่ทำต้นเทียนขนาดใหญ่ มีดังนี้
วันที่จัดงาน : 1 - 31 กรกฏาคม 2561
สถานที่จัดงาน : บริเวณโดยรอบสนามทุ่งศรีเมือง จังหวัดอุบลราชธานี และคุ้มวัดต่างๆ
พิเศษสุด
จังหวัดนครราชสีมา จัดงานแห่เทียนพรรษาจัดอย่างยิ่งใหญ่ทุกปี โดยในปีนี้จัดภายใต้ชื่องาน “เสริมบุญ สร้างบารมี แห่เทียนโคราช” เพื่อเป็นการส่งเสริมอนุรักษ์ไว้ ซึ่งศิลปวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของไทยให้คงอยู่สืบไป สำหรับกิจกรรมภายในงาน มีการแสดงโขนนาฏกรรม รามเกียรติ์ ตอน "นารายณ์ปราบนนทก" บริเวณลานคุณย่าโม
ชมขบวนแห่รถเทียนโคราช และร่วมฟังเสวนาธรรมเทศนา โดยพระอาจารย์สมพงษ์ โมฆรัตน์ รวมถึงการแสดงและจำหน่ายสินค้า OTOP และร้านอาหารชื่อดัง "อาหารดีเมืองโคราช" อีกด้วย
วันที่จัดงาน : 26 - 28 กรกฎาคม 2561
สถานที่จัดงาน : ลานอุสาวรีย์ย่าโม จังหวัดนครราชสีมา
งานแห่เทียนพรรษาและตักบาตรบนหลังช้าง จัดขึ้นที่ บริเวณอนุสาวรีย์พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง อำเภอเมืองสุรินทร์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และร่วมกันสืบทอดประเพณีอันดีงามและส่งเสริมการท่องเที่ยว กิจกรรมภายในงานได้แก่ ขบวนแห่เทียนพรรษาที่ตกแต่งอย่างสวยงาม วิจิตรอลังการจาก 12 คุ้มวัดชื่อดังในจังหวัด อาทิ วัดบูรพาราม พระอารามหลวงเฉลิมพระเกียรติ วัดศาลาลอยพระอารามหลวง วัดกลางสุรินทร์ ฯลฯ
ชมขบวนฟ้อนรำศิลปวัฒนธรรมของชาวจังหวัดสุรินทร์ จากนักแสดงนับร้อยชีวิต พร้อมขบวนแห่ช้างที่ยิ่งใหญ่นับ 87 เชือก และร่วมทำบุญตักบาตรบนหลังช้าง (หนึ่งเดียวในโลก) ณ บริเวณอนุสาวรีย์พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง โดยมีพระเถระชั้นผู้ใหญ่นั่งบนหลังช้าง ออกรับบิณฑบาตแก่นักท่องเที่ยวให้ได้ร่วมใส่บาตรกันทุกคน
วันที่จัดงาน : 28 กรกฎาคม 2561
สถานที่จัดงาน : ณ บริเวณอนุสาวรีย์พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง จังหวัดสุรินทร์
วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันเพ็ญ เดือน 8 ก่อนวันเข้าพรรษา 1 วัน เป็นวันที่สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดง พระปฐมเทศนา หรือการแสดง พระธรรมครั้งแรก หลังจากที่ตรัสรู้ได้ 2 เดือน เป็นวันที่เริ่มประดิษฐานพระพุทธศาสนา เนื่องจากมีองค์ประกอบของ พระรัตนตรัยครบถ้วนคือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์
ในวันนี้พุทธศาสนิกชนต่างพากันมาน้อมระลึกถึงพระรัตนตรัย ด้วยการไปชุมนุมตามพระอารามต่าง ๆ เพื่อกระทำการบูชาปูชนียวัตถุได้แก่ พระธาตุเจดีย์ หรือพระพุทธปฏิมา ที่เป็นพระประธานในพระอุโบสถ อย่างใดอย่างหนึ่ง ด้วยดอกไม้ ธูป เทียน เริ่มด้วยการสรรเสริญคุณพระรัตนตรัย เวียนเทียน และฟังพระธรรมเทศนา
วันที่จัดงาน : 27 กรกฎาคม 2561
สถานที่จัดงาน : ในทุกจังหวัดทั่วอีสานและประเทศไทย
วันเข้าพรรษา เป็นวันที่พระสงฆ์เริ่มอยู่จำพรรษาตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 8 จนถึงกลางเดือน 11 ดังนั้น พระสงฆ์ต้องประพฤติปฎิบัติตามกิจของสงฆ์ คือก่อนที่ถึงวันเข้าพรรษา พระสงฆ์ ควรทำความสะอาดตามเสนาสนะสำหรับอยู่จำพรรษา รวมถึง พระอุโบสถ และอื่นๆ โดยพระสงฆ์จะต้องประกอบพิธีอธิษฐานพรรษา คือการตั้งอธิษฐานใจของตนเองว่าตลอดฤดูกาลเข้าพรรษานี้จะไม่ไปไหน
ในวันเข้าพรรษา และช่วงฤดูพรรษากาล ตลอดทั้ง 3 เดือน พุทธศาสนิกชนชาวไทยถือเป็นโอกาสอันดีที่จะบำเพ็ญกุศล ด้วยการเข้าวัดทำบุญใส่บาตร ฟังพระธรรมเทศนา ซึ่งสิ่งที่พิเศษจากวันสำคัญอื่นๆ คือ มีการถวายหลอดไฟหรือเทียนเข้าพรรษา และผ้าอาบน้ำฝน (ผ้าวัสสิกสาฏก) แก่พระสงฆ์ด้วย เพื่อสำหรับให้พระสงฆ์ได้ใช้สำหรับการอยู่จำพรรษา โดยในอดีต ชายไทยที่เป็นพุทธศาสนิกชนเมื่ออายุครบบวช (20 ปี) จะนิยมถือบรรพชาอุปสมบทเป็นพระสงฆ์เพื่ออยู่จำพรรษาตลอดฤดูพรรษากาลทั้ง 3 เดือน โดยพุทธศาสนิกชนไทยจะเรียกการบรรพชาอุปสมบทเพื่อจำพรรษาตลอดพรรษากาลว่า "บวชเอาพรรษา"
วันที่จัดงาน : 28 กรกฎาคม 2561
สถานที่จัดงาน : ในทุกจังหวัดทั่วอีสานและประเทศไทย
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)