คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
เทศกาลงานประเพณีภาคอีสาน ประจำเดือน พฤษภาคม ๒๕๖๔ ปีนี้แม้การระบาดของ "ไวรัสโควิด-19" จะยังคงมีอยู่ แต่ก็มีแนวโน้มที่ลดลงในหลายๆ ประเทศ และปีนี้มีวัคซีนสำหรับฉีดป้องกันเจ้าไวรัสร้ายนี่ออกมาใช้งานกันหลายตัว ก็มีการเร่งฉีดให้ประชาชนประเทศต่างๆ ให้ได้เกิน 70% ของประชากร เพื่อเร่งสร้างความต้านทานหมู่ให้เกิดขึ้นจะได้ยับยั้งการระบาดของโรคที่มีความรุนแรงลดลง สามารถควบคุมได้ ประเทศไทยก็เช่นเดียวกันทยอยได้รับวัคซีนเข้ามาเป็นระยะ และเริ่มฉีดให้ประชาชนใกลุ่มเสี่ยงไปก่อน คาดว่า ปลายปี พ.ศ. 2564 นี้ น่าจะฉีดให้ประชากรได้มากกว่า 50% ด้วยเหตุผลที่การฉีดวัคซีนเสร็จแล้วแต่ละครั้ง แต่ละคนต้องพักเพื่อสังเกตอาการอย่างน้อย 20-30 นาทีในสถานพยาบาล เพื่อความปลอดภัย จึงทำให้ปริมาณการฉีดแต่ละวันมีไม่มาก
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงก่อนสงกรานต์เป็นต้นมาก็เกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 จากสถานบันเทิงในกรุงเทพฯ แล้วแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วซึ่งทางสาธารณสุขยืนยันว่า เป็นไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ เป็นสายพันธุ์จากอังกฤษ ที่ไม่แสดงอาการแต่แพร่กระจายรวดเร็วมาก ภายในสัปดาห์เดียวก็แพร่ครอบคลุมไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ และตรวจพบผู้ติดเชื้อทั่วประเทศมากกว่า 1,000 คนต่อวัน ต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 แล้ว (18 เมษายน 2564)
วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ คือเกิด ได้ตรัสรู้ คือสำเร็จ ได้ปรินิพพาน คือ ดับ เกิดขึ้นตรงกันทั้ง 3 คราว กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติใน วันวิสาขบูชา ได้แก่
เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ค่อนข้างรุนแรงมากในช่วงนี้ จากการหารือในที่ประชุม มหาเถรสมาคม มีข้อสรุปเกี่ยวกับคำแนะนำแก่พุทธศาสนิกชนให้ปฏิบัติตนในการร่วมกิจกรรมเนื่องในวัน "วิสาขบูชา 2564" ดังนี้
วันที่จัดงาน : 26 พฤษภาคม 2564
สถานที่จัดงาน : ในทุกจังหวัดทั่วอีสานและประเทศไทย (โปรดติดตามข่าวสารในท้องถิ่นของท่าน)
งานประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นงานประเพณีท้องถิ่นของชาวอีสาน ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต และความเชื่อทางศาสนาของชาวอีสานมาช้านาน โดยเชื่อว่าเมื่อเข้าสู่ฤดูกาลปักดำทำนา จะต้องจุดบั้งไฟขึ้นไปบูชาพญาแถนบนฟากฟ้า เพื่อขอให้พญาแถนซึ่งได้ชื่อว่าเป็น "เทพแห่งฝน" ได้ดลบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล เพื่อให้สรรพสิ่งบนผืนโลกได้ดำเนินวีถีชีวิตไปตามครรลองที่ควรจะเป็น
โดยเฉพาะผู้คนบนผืนดินอีสาน ที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับการทำใร่ทำนามาช้านาน ต้องอาศัยข้าวและพืชผลทางการเกษตร ในการหล่อเลี้ยง ดำรงชีวิตมาโดยตลอด น้ำฝนจากฟ้าจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ คืองานประเพณีแห่ และจุดบั้งไฟจึงถูก สร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อเป็นความหวัง และกำลังใจ ของชาวอีสานมาโดยตลอด งานประเพณีบุญบั้งไฟจะจัดขึ้นเป็นประจำปีทุกปี ชมขบวนแห่บั้งไฟ และการจุดบั้งไฟแสน และบั้งไฟหมื่น ชมวิถีของคนทำบั้งไฟ และบรรยากาศการทำบั้งไฟ เพื่อเป็นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีของจังหวัดให้คงอยู่สืบไป
เมื่อพูดถึง "งานบุญบั้งไฟ" ย่อมจะต้องนึกถึง เมืองบั้งไฟโก้ ยโสธร กันแน่นอนเลยทีเดียว ซึ่งจะจัดกันทุกปีใน วันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ที่ 2 ของเดือนพฤษภาคมของทุกปี ปีนี้การจัดงานถ้าเหมือนเคยก็อยู่ในระหว่างวันที่ 7-9 พฤษภาคม 2564 และปีนี้มี วันหยุดเพิ่มพิเศษ สำหรับประชาชนที่ทำงานในหน่วยราชการของจังหวัดภาคอีสานทุกจังหวัด ได้หยุดเพิ่มอีก 1 วัน ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 ม่วนกันได้เลยพี่น้อง
ประเพณีบุญบั้งไฟตามตำนานเล่าว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าถือชาติกำเนิดเป็น พญาคางคก (พญาคันคาก) ได้อาศัยอยู่ใต้ร่มโพธิ์ใหญ่ในเมืองพันทุมวดี ด้วยเหตุใดไม่แจ้ง พญาแถนเทพเจ้าแห่งฝนโกรธเคืองโลกมนุษย์มาก จึงแกล้งไม่ให้ฝนตกนานถึง 7 เดือน ทำให้เกิดความลำบากยากแค้นอย่างแสนสาหัสแก่มวลมนุษย์ สัตว์และพืช จนกระทั่งพากันล้มตายเป็นจำนวนมาก พวกที่แข็งแรงก็รอดตายและได้พากันมารวมกลุ่มใต้ต้นโพธิ์ใหญ่กับพญาคางคก สรรพสัตว์ทั้งหลายจึงได้หารือกันเพื่อจะหาวิธีการปราบพญาแถน ที่ประชุมได้ตกลงกันให้พญานาคียกทัพไปรบกับพญาแถน แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ จากนั้นจึงให้พญาต่อแตนยกทัพไปปราบแต่ก็ต้องพ่ายแพ้อีกเช่นกัน ทำให้พวกสรรพสัตว์ทั้งหลายเกิดความท้อถอย หมดกำลังใจและสิ้นหวัง ได้แต่รอวันตาย
ในที่สุด พญาคางคก จึงขออาสาที่จะไปรบกับ พญาแถน จึงได้วางแผนในการรบโดยปลวกทั้งหลายก่อจอมปลวกขึ้นไปจนถึงเมืองพญาแถน เพื่อเป็นเส้นทางให้บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายได้เดินทางไปสู่เมืองพญาแถน ซึ่งมีมอด แมลงป่อง ตะขาบ สำหรับมอดได้รับหน้าที่ให้ทำการกัดเจาะด้ามอาวุธที่ทำด้วยไม้ทุกชนิด ส่วนแมลงป่องและตะขาบให้ซ่อนตัวอยู่ตามกองฟืนที่ใช้หุงต้มอาหาร และอยู่ตามเสื้อผ้าของไพร่พลพญาแถนทำหน้าที่กัดต่อย
หลังจากวางแผนเรียบร้อย กองทัพพญาคางคกก็เดินทางเพื่อปฏิบัติหน้าที่การรบ มอดทำหน้าที่กัดเจาะด้ามอาวุธ แมลงป่องและตะขาบกัดต่อยไพร่พลของพญาแถนจนเจ็บปวด ร้องระงมจนกองทัพระส่ำระสาย ในที่สุดพญาแถนจึงได้ยอมแพ้และตกลงทำสัญญาสงบศึกกับพญาคางคก ดังนี้
หลังจากที่ได้สัญญากันแล้ว พญาแถนจึงได้ถูกปล่อยตัวไปและได้ปฏิบัติตามสัญญามาจนบัดนี้ นั่นเอง
ภายในงานนักท่องเที่ยวจะได้พบกิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ ขบวนแห่บั้งไฟสวยงาม (บั้งไฟเอ้) การประกวดแห่กาพย์เซิ้งบั้งไฟ การสาธิตและร่วมการแกะลายบั้งไฟ การแสดงรถบั้งไฟโบราณ การประกวดเวทีกองเชียร์บั้งไฟ การประกวดธิดาบั้งไฟโก้ การแสดงแสงสีสื่อผสม ตำนานพญาคันคาก (ตำนานบุญบั้งไฟยโสธร) ชมการเตรียมและฝึกซ้อมการรำของขบวนบั้งไฟของคุ้มวัดต่างๆ การจุดบั้งไฟปฐมฤกษ์และบั้งไฟเสี่ยงทาย การจุดโชว์บั้งไฟแฟนซี (บั้งไฟติดร่มมีควันสี) การแข่งขันบั้งไฟติดร่มแฟนซี และบั้งไฟขึ้นสูง และการจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ "OTOP ของดียโสธร"
วันที่จัดงาน : 7 - 9 พฤษภาคม 2564
สถานที่จัดงาน : หน้าที่ว่าการอำเภอเมืองยโสธร, ลานวิมานพญาแถน (อาคารพญาคันคาก) และบริเวณสวนสาธารณะพญาแถน จังหวัดยโสธร
นายชลธี ยังตรง ผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในทั่วประเทศ สำหรับจังหวัดยโสธร ตรวจพบผู้ติดเชื้อล่าสุดเมื่อวานนี้ (17 เม.ย.64) รวม 14 ราย จึงต้องดำเนินตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคอย่างเข้มข้น โดยให้งดการจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟในทุกพื้นที่ ทั้งระดับจังหวัด อำเภอและตำบล ส่วนร้านอาหาร สามารถนั่งรับประทานได้ถึงเวลา 23.00 น. และห้ามใช้อาคาร สถานที่ของโรงเรียนและสถาบันการศึกษา จัดการเรียน การสอน การฝึกอบรม หรือทำกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนมากที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค และห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนเกินกว่า 50 คน เว้นแต่ได้รับอนุญาตและต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเข้มข้น
ให้ปิดสถานบริการ สถานประกอบการ ที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะหรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกันไปจนถึงวันที่ 2 พฤษภาคม 2564 นี้ ส่วนห้างสรรพสินค้าเปิดบริการได้ถึงเวลา 21.00 น.นอกจากนี้ยังให้งดจัดงานเลี้ยง งานสังสรรค์ งานรื่นเริงยกเว้นการจัดงานตามประเพณีนิยม แต่ไม่ให้มีการแสดงมหรสพ รถแห่หรือการเฉลิมฉลองในงานแต่อย่างใด และขอความร่วมมือให้ชะลอการเดินทางโดยไม่มีเหตุจำเป็น เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด19
หากแฟนานุแฟนของเว็บไซต์อีสานบ้านเฮา หรือหน่วยงานราชการ จังหวัด อำเภอ เทศบาล อปท. ใดๆ มีข่าวสารการจัดงานบุญประเพณีในท้องถิ่นของท่าน อยากจะเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ก็แจ้งมายังทีมงานได้ครับ ผ่านทางอีเมล์ webmaster @ isangate.com หรือผ่านทาง Inbox ใน Fanpage Facebook : IsanGate ก็ได้เช่นเดียวกันครับ ขอรายละเอียด วันเวลา สถานที่จัดงาน กิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ ถ้ามีภาพประกอบด้วยก็จะดีเยี่ยมครับ (ภาพของงานปีก่อนๆ หรือการคประชุมเตรียมงาน) บริการท่านฟรีๆ ครับ ไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)