คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ปีนี้เป็นปีที่ 2 ที่การระบาดของไวรัสร้าย (COVID-19) ยังไม่หยุด ไม่จบไม่สิ้น จนทำให้ "เทศกาลบุญประเพณีอีสานบ้านเฮา" หลายๆ ประเพณีต้องงดจัดไปโดยปริยาย หรือถ้าหากมีการจัดงานก็ลดขนาดของงาน จำนวนผู้คนที่เกี่ยวข้องให้น้อยที่สุด และยังคงความเข้มงวดในมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 อย่างเข้มงวดกันมาตั้งแต่ต้นปี นี่ก็ผ่านมาเข้าครึ่งปีแล้วการระบาดก็ยังไม่หยุด แต่บุญประเพณีบ้านเฮาก็ต้องรักษา "ฮีต-คอง" เอาไว้ให้คงอยู่ต่อไป
ด่วน! ครม. มีมติ งดวันหยุดพิเศษ 27 กรกฎาคม 2564
ต้องการให้ประชาชนงดการเดินทางช่วงวันหยุดยาว เป็นการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด
วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เสด็จออกแทนพระองค์ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทรงเจิมเทียนพรรษา สำหรับทรงพระราชอุทิศพระราชทานไปจุดบูชาพระรัตนตรัย และพุทธเจดียสถานตามพระอารามหลวง ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด เนื่องในเทศกาลเข้าพรรษา ประจำปีพุทธศักราช 2564 โดยมี นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลเข้ารับพระราชทานเทียนพระราชทาน ในวันนี้
วันนี้ (12 กรกฎาคม 2564) ณ ห้องประชุมพรหมราช ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมด้วยนายเกริกชัย ผ่องแผ้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี น.ส.พิศทยา ไชยสงคราม นายกเทศมนตรีนครอุบลราชธานี และภาครัฐภาคเอกชนรวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้ประชุมเพื่อหาข้อยุติการจัดเทศกาลยลเทียนพรรษาฯ ณ ทุ่งศรีเมือง เพื่อลดการรวมคน และรับฟังเสียงประชาชน
ผลจากการประชุมในวันนี้มีมติร่วมกัน เห็นชอบ งดกิจกรรมเทียนพรรษา ณ ทุ่งศรีเมืองทั้งหมด และใช้สื่อออนไลน์ เพื่อการสื่อสารสร้างการรับรู้ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด covid ทั้งนี้ ได้ปรับรูปแบบงานเทศกาล ยลเทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ประจำปี 2564 ระหว่างวันที่ 22-28 กรกฎาคม 2564 ดังนี้
การจัดกิจกรรมครั้งนี้ ได้ปรับแนวทางการจัดงานให้คงอัตลักษณ์ของ เทศกาลเทียนพรรษาอุบลราชธานี โดยไม่ได้เชิญชวนให้คนในจังหวัด หรือต่างจังหวัดมาเข้าชม แต่จัดเพื่อดำเนินการถ่ายทำ ส่งภาพและเสียงออกสื่อออนไลน์ไปทั่วประเทศและทั่วโลก ตามสโลแกน "อยู่ที่ไหนก็เที่ยวได้" ตามที่กำหนดในภาพบนนะครับ
ผมในฐานะลูกหลานคนอุบลราชธานีโดยกำเนิด ก็ได้ติดตามข่าวคราวของการจัดงานมาโดยตลอด ปกติในทุกๆ ปีก็จะมีการตระเตรียมงานแห่เทียนกันตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมเป็นต้นมา ด้วยการบอกข่าวบอกบุญไปยังศรัทธาญาติโยมแต่ละคุ้มวัด ให้ได้ตระเตรียมขี้ผึ้งแทัเพื่อสมทบในการจัดทำต้นเทียนใหม่ในแต่ละปี (เทียนเดิมที่เคยทำมานั้น แม้จะสามารถนำมาหลอมใหม่เพื่อใช้ในการทำก็ไม่สามารถใช้ได้ทั้งหมด เพราะเทียนเก่าจะกรอบแข็งขาดความยืดหยุ่น จะต้องนำขี้ผึ้งแท้ๆ ใหม่มาผสมเข้าไปเกือบครึ่งต่อครึ่ง จึงจะสารมารถหล่อแบบพิมพ์ หรือแกะสลักให้สวยงามได้) แต่ปีนี้คณะกรรมการแต่ละคุ้มวัดก็บอกว่าให้รอฟังทางท่านผู้ว่าราชการจังหวัด ทางสาธารณสุขก่อนว่าจะจัดกันไหมในปีนี้ พอล่วงมาปลายเดือนเมษายนเข้าพฤษภาคม หลายๆ วัดที่เคยทำต้นเทียนขนาดใหญ่ก็ออกมาประกาศว่า ของดการทำต้นเทียนในปี 2564 นี้ อย่างเช่น วัดเลียบ(ในเขตเทศบาลนครอุบลฯ)วัดผาสุการาม(ในเขตเทศบาลเมืองวารินฯ)
ล่าสุด เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2561 ณ ห้องประชุมปทุมวรราช ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี ประจำปี 2564 "๑๒๐ ปี ยลเทียนพรรษา มรดกล้ำค่า เมืองดอกบัว"
เนื่องจาก การจัดงานประจำปีแห่เทียนเข้าพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี ประจำปี 2564 ยังอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ยังมีการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 จึงมีความจำเป็นที่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดงาน และใช้มาตราการป้องกันการแพร่ระบาดที่เข้มงวด ที่ประชุมจึงมีมติ งดรูปแบบการประกวดต้นเทียนพรรษา และการจัดขบวนแห่เทียนพรรษา
เทียนพรรษาพระราชทาน จาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
และผ้าอาบน้ำฝนพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 ที่วัดพลแพน อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี นายเกริกชัย ผ่องแผ้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี เป็นประธานในการแถลงข่าว เทศกาลเทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ประจำปี 2564 "ยลเทียนพรรษา มรดกล้ำค่า เมืองดอกบัว" โดยมีตัวแทนสำนักงานการท่องเที่ยวอุบลราชธานี องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุบลราชธานี เทศบาลนครอุบลราชธานี และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกันแถลงข่าว
นายเกริกชัย ผ่องแผ้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวว่า เทศกาลเทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ประจำปี 2564 "ยลเทียนพรรษา มรดกล้ำค่า เมืองดอกบัว" เพื่อเป็นการอนุรักษ์มรดกทางภูมิปัญญาท้องถิ่นในการ สืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของจังหวัดอุบลราชธานี ที่ดำเนินการมาเป็นระยะเวลานาน 120 ปี เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ในช่วงเทศกาลเข้าพรรษาสืบทอดพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป
ปัจจุบันด้วยสถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มการแพร่ระบาดที่สูงขึ้นมาก จากการรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชน และภาคส่วนต่างๆ ซึ่งมีความวิตกกังวลในการจัดงานในปีนี้ ทางจังหวัดอุบลฯ จึงได้งดการจัดกิจกรรม On-site ที่มีจุดเสี่ยงต่อการระบาดของโรค ได้มีมติเลิกกิจกรรมเสี่ยง 7 รายการ ดังนี้
โดยยังคงกิจกรรมที่สำคัญไว้ 3 ส่วน ณ บริเวณทุ่งศรีเมือง ได้แก่ การประดิษฐานเทียนพรรษาพระราชทาน ของพระบาทสมเด็จ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และผ้าอาบน้ำฝนพระราชทาน ของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพ พระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี บริเวณด้านหน้าอาคารจตุรมุข ทุ่งศรีเมือง ซึ่งจังหวัดอุบลราชธานีเป็นจังหวัดเดียวของไทย ที่ได้เข้าเฝ้ารับเทียนพระราชทาน มาเป็นเทียนชัยมิ่งมงคลในงานประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี ประจำทุกปีจนถึงปัจจุบันเป็นปีที่ 42
กิจกรรมทุ่งดอกเทียน เป็นการประดับตกแต่ง พื้นที่การจัดงานบริเวณ ด้านหน้าเทียนเฉลิมพระเกียรติด้วยต้นดอกผึ้ง โดยชาวอีสานในอดีตจัดทำขึ้นโดยนำขี้ผึ้งมาต้ม เพื่อทำเป็นดอกผึ้ง แล้วนำมาติดผ่านไม้ไผ่ ถวายเป็นพุทธบูชาในช่วงเข้าพรรษาหรือวันสำคัญของพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ดั้งเดิมก่อนที่จะมาเป็น ทำเทียนพรรษาในรูปแบบปัจจุบัน
กิจกรรมลานเทียน เป็นการจัดแสดง ต้นเทียนโบราณ แกะสลัก ติดพิมพ์ จำนวน 11 ต้นของคุ้มวัด ที่ร่วมแรงร่วมใจกันสืบสานอนุรักษ์มรดกอันล้ำค่าของจังหวัดอุบลราชธานี ที่ดำเนินงานมาเป็นปีที่ 120 ถนนสายเทียนสายธรรม เป็นการสาธิตการจัดทำเทียน ประเภทแกะสลัก ประเภทติดพิมพ์ และงานสุดยอดช่างเทียน ของเมืองอุบลฯ เพื่อเพิ่มช่องทางในการจำหน่ายผลงาน แกะเทียน เพื่อให้มีรายได้ตลอดทั้งปี
และการแสดงวัฒนธรรม เป็นการแสดงศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้านที่เป็นอัตลักษณ์ของอำเภอ และจังหวัด บนเวที 360 องศาไม่มีที่นั่งชม เน้นการถ่ายทอดสดทางเคเบิ้ลท้องถิ่น และ Streaming Online ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เพจเฟซบุ๊คในอุบลราชธานีและเว็บไซต์อื่นๆ
นอกจากนี้ ยังจัดการแสดงศิลปวัฒนธรรม อัตลักษณ์ของจังหวัดอุบลราชธานี ที่สำคัญและโดดเด่น ได้แก่ นิทรรศการเทียนพรรษาอุบลฯ ภาพเก่าเล่าเรื่องเมืองอุบลราชธานี ใบลานสำคัญเมืองอุบลฯ สถาปัตยกรรมที่เก่าแก่ของเมืองอุบลราชธานี ณ พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ จังหวัดอุบลราชธานี
ต้นเทียนที่จะนำมาตั้งโชว์ในบริเวณทุ่งศรีเมือง มีทั้งหมด 10 ต้น มีทั้งแบบแกะสลัก (ก) และแบบติดพิมพ์ (ต) คือ
ต้นเทียนขนาดใหญ่
ต้นเทียนขนาดกลาง
ต้นเทียนโบราณ
ต้นเทียนที่ตั้งโชว์ในวัด หน้าพระอุโบสถ (ตามนโยบายกระจายคนเที่ยวงาน) ขนาดกลาง จำนวน 1 ต้น ได้แก่ วัดมหาวนาราม (ต)
จะไม่มีกิจกรรมการแห่เทียนพรรษา ขบวนแห่อลังการของต้นเทียนแบบต่างๆ แต่เน้นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณี สื่อสารความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนและท้องถิ่น สู่สายตาคนทั่วโลก โดยใช้สื่อสังคมออนไลน์
นอกจากนี้ ยังจะมีการประดับตกแต่งเมืองให้เป็นบรรยากาศของเทศกาลงานประเพณี ที่แสดงอัตลักษณ์ของเมืองอุบลราชธานี และจะมีการสร้างการรับรู้และมีส่วนร่วมกับประชาชนและนักท่องเที่ยว ผ่านสื่อออนไลน์และทางแอปพลิเคชั่น “น้องเทียนธรรม”
ผู้สนใจสามารถติดตามชม ผ่านไลฟ์สดได้ ทั้งนี้ ตั้งแต่ 10 กรกฎาคม 2564 เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป วันที่ 11- 21 กรกฎาคม เวลา 14.00 น. เป็นต้นไปวันที่ 22-28 กรกฎาคมเวลา 16.00 น. และเวลา 18.00 น. อยู่ไหนก็ชมได้ทั่วโลก สามารถชุมชนออนไลน์ เที่ยวทิพย์ เซลฟี่ออนไลน์ การประกวดถ่ายภาพออนไลน์ มาสคอส “น้องเทียนธรรม-น้องเทียนหอม” นำเที่ยวผ่านออนไลน์ผ่านทาง
ยังคงมีการใช้นโยบายเว้นระยะ สวมหน้ากากอนามัย ใช้เจลแอลกอฮอล์ในการล้างมือทำความสะอาด และมีการกำหนดจำนวนผู้เข้ารวมชมกิจกรรมในจุดต่างๆ ไม่ให้แออัดเกินไป โดยการจองเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ผ่านแอพลิเคชั่นล่วงหน้า เพื่อป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาด COVID-19 ในช่วงที่วัคซีนยังไม่ครอบคลุมทั่วถึง รวมทั้งเน้นการตรวจสอบป้องกันบุคคลที่เข้ามายังพื้นที่ต้องผ่านการคัดกรอง เพื่อความปลอดภัย
บุญแห่เทียน - ดอกอ้อ ทุ่งทอง - ก้านตอง ทุ่งเงิน
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)