คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ในปี พ.ศ. ๒๕๖๔ นี้นับเป็นปีที่หม่นหมองเศร้าสร้อย หลายคนวิตกกังวล ซึมเศร้าจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ยังคงไม่หยุดลงเสียที ทำให้การจัดงานบุญประเพณีทั้งหลายกร่อยไปมาก เพราะไม่มีคนร่วมงานคึกคัก เรียกว่าไม่มีความบันเทิงใดๆ เลยก็ว่าได้ เดือนตุลาคมนี้ก็เช่นเดียวกัน แม้จะตรงกับเทศกาลออกพรรษาแต่กิจกรรมต่างๆ ก็คงมีเพียงรักษาประเพณีเอาไว้เท่านั้น พวกเฮาต้องอยู่กับมัน (บักโควิด) นี่ไปอีกนาน ต้องทำตัวระมัดระวัง รณรงค์ป้องกันไว้ การ์ดอย่าตก อย่าเผลอให้มันน็อคปลายคางได้เด้อ สำหรับงานประเพณีอันดีของเฮาที่ยังคงมีเพื่อรักษาไว้ในเดืนนี้ได้แก่
การจุดไฟตูมกาเป็นประเพณีของชาวบ้านทุ่งแต้ ตำบลทุ่งแต้ อำเภอเมืองยโสธร มีมาแต่ช้านานกว่า 200 ปีพร้อมกับการก่อตั้งหมู่บ้าน แต่เมื่อช่วง 50 ปี ที่ผ่านมาประเพณีดังกล่าวได้เลือนหายไป เนื่องจากมีความเจริญและมีไฟฟ้าเข้ามาใช้ในชุมชน ภายหลัง พระครูปริยัติ พลากร เจ้าอาวาสวัดบูรพา กลับมาอยู่วัดบ้านเกิด จึงพาญาติโยมฟื้นฟูประเพณีนี้ขึ้นมามาตั้งแต่ปี 2548 รวม 13 ปี และปัจจุบัน ชาวบ้านทุ่งแต้ ได้เริ่มรื้อฟื้นการจุดไฟตูมกาในช่วงวันออกพรรษาให้กลับมาอีกครั้ง เพื่อให้ชาวบ้าน นักเรียนและเยาวชน ได้ร่วมกิจกรรมเป็นการสืบสานการจุดไฟตูมกาในช่วงวันออกพรรษา
จังหวัดยโสธร จึงได้มีการเตรียมการจัด งานประเพณีจุดไฟตูมกา ในคืนวันออกพรรษาอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว และอนุรักษ์ประเพณีท้องถิ่นอันดีงาม ภายใต้ชื่อ "จุดไฟตูมกา ออกพรรษายโสธร" ขึ้น ชมการสาธิตการแกะสลักไฟตูมกา การแห่ต้นไฟตูมกา การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านจากโรงเรียนต่างๆ ชมการรำไฟตูมกา โดยนางรำจากทุกหมู่บ้านในอำเภอเมืองยโสธร จำนวนกว่า 1,000 คน การประกวดไฟตูมกาประเภทต่างๆ การแสดงรำวงย้อนยุคจากชุมชนทุ่งแต้ อำเภอเมืองยโสธร และชมความระยิบระยับงดงามตระการตา ในยามค่ำคืนของแสงไฟตูมกานับหมื่นดวง
พระครูปริยัติพลากร เจ้าอาวาสวัดบูรพาบ้านทุ่งแต้ ตำบลทุ่งแต้ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร เผยว่า เนื่องจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ทำให้การจัดงานประเพณีจุดไฟตูมกาออกพรรษายโสธร ประจำปี 2564 ลดรูปแบบลงเป็นการจัดแบบ New Normal ไม่มีการประกวดธิดาตูมกา ไม่มีขบวนการแห่ต้นตูมกาของแต่ละคุ้มวัด ไม่มีเวทีการแสดง ไม่มีการจับฉลากเซียมซี แต่ยังมีกิจกรรมการสืบสานตามวิถีดั่งเดิม ด้วยการให้เยาวชนนักเรียนจากโรงเรียนบ้านทุ่งแต้ เข้ามาเรียนรู้การทำไฟตูมกา ตั้งแต่กระบวนการเก็บลูกตูมกา การขูด การขัดและการเจาะลูกตูมกาให้มีลวดลายที่สวยงาม และการตั้งต้นตูมกาให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เข้ามาถ่ายรูปเป็นที่ระลึก เช็คอินได้ในระหว่างวันที่ 19-25 ตุลาคม 2564 ที่วัดบูรพาบ้านทุ่งแต้ ตำบลทุ่งแต้ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ส่วนในวันออกพรรษา วันที่ 21 ตุลาคม 2564 ยังคงมีการจุดไฟตูมกา และการรำไฟตูมกา
สำหรับผู้ที่จะเข้ามาร่วมจุดไฟตูมกา หรือมาถ่ายภาพกับต้นไฟตูมกา ขอให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 อย่างเคร่งครัด เพื่อให้การร่วมสืบสานประเพณีจุดไฟตูมกา ออกพรรษายโสธร ในรูปแบบ New Normal ได้บุญกุศลและห่างไกลจากโควิด-19 ด้วย
วันที่จัดงาน : 19-22 ตุลาคม 2563
สถานที่จัดงาน : ณ หน้าที่ว่าการอำเภอเมืองยโสธร และวัดบูรพา บ้านทุ่งแต้ ตำบลทุ่งแต้ อำเภอเมืองยโสธร
จังหวัดสกลนคร งานประเพณีแห่ปราสาทผึ้ง และแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานฯ จัดขึ้นในช่วงออกพรรษา ระหว่างวันขึ้น 12-15 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี มีการจัดการแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ บริเวณหนองหาร และในตอนกลางคืนของวันขึ้น 13 ค่ำ ก่อนวันทำการแห่ขบวนปราสาทผึ้ง ชาวคุ้มต่างๆ จะนำปราสาทผึ้งของตนที่ตกแต่งสวยงามประดับโคมไฟหลากสีมาตั้งประกวดแข่งขันกัน เพื่อให้ประชาชนได้ชมความสวยงามอย่างใกล้ชิด
มีประกาศออกมาว่างดจัดงานครับ อ่านประกาศที่นี่
วันที่จัดงาน : 16 - 21 ตุลาคม 2564
สถานที่จัดงาน : ณ สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จังหวัดสกลนคร
“ประเพณีไหลเรือไฟ” เป็นพิธีกรรมที่พุทธศาสนิกชนชาวอีสานยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมาแต่ครั้งโบราณ โดยมีความเชื่อว่า การไหลเรือไฟเป็นการบูชารอยพระพุทธบาท ที่พระพุทธองค์ประทับไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมทานที ครั้งที่พญานาคได้ทูลอาราธนาพระพุทธองค์ไปแสดงธรรมในพิภพของนาคใต้เมืองบาดาล รวมทั้งความเชื่อเกี่ยวกับการบูชาพญานาคในลำน้ำโขง การระลึกถึงพระคุณของพระแม่คงคา ขอขมาลาโทษต่อแม่น้ำ ต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในแม่น้ำ และยังถือเป็นการลอยเคราะห์ลอยโศก ขอให้อยู่เย็นเป็นสุข มีโชคมีลาภ
นอกจากนั้นในตำนานยังเล่าขานกันว่า ในแม่น้ำโขงเป็นที่สิงสถิตของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย เช่น พญานาค เจ้าพ่อเหล็กซีด้ามแตก เจ้าพ่อคำแดง เจ้าพ่อหมื่น เจ้าพ่อสัมมะติ เจ้าพ่อสิบสอง ต้องทำการบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น เพื่อให้ท่านปกปักรักษาบ้านเมือง ประชาชนให้มีความสงบสุขร่มเย็น ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และขอให้มีโชคลาภ การทำมาหากินให้มีแต่ความอุดมสมบูรณ์ เจริญรุ่งเรือง
ส่วนราชการ ภาคเอกชน จังหวัดนครพนม ร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐภาคเอกชน เพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดนครพนม รับทราบสถานการณ์ Covid-19 และพิจารณาแนวทางการจัดกิจกรรม งานประเพณีไหลเรือไฟ มีมติปรับลดการจัดกิจกรรม คงเหลือกิจกรรมบางส่วน โดยจำกัดผู้ร่วมกิจกรรมให้เป็นไปตามประกาศของคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดนครพนม (ผู้ร่วมกิจกรรม 100 คน) ควบคู่ไปกับการรับชมออนไลน์
กิจกรรมงานประเพณีไหลเรือไฟปี 2564 ประกอบด้วย ลอยเรือไฟโบราณ รำบูชาองค์พระธาตุพนม เรือไฟโชว์ และกระทงสาย ไข่พญานาค ตักบาตรเทโวโรหณะ โดยงดการไหลเรือไฟที่มีการแข่งขัน พาข้าวแลง การแข่งขันเรือยาว ขบวนแห่ปราสาทผึ้ง การแสดงดนตรี การแสดงวัฒนธรรมชนเผ่า การประกวดซุ้มวิถีคนเรือไฟ และงดคาราวานสินค้า
ไฮไลท์อยู่ที่ เรือไฟโบราณ เป็นการอนุรักษ์เรือไฟดั้งเดิมของชาวอีสานแถบลุ่มน้ำโขง โดยทำจากท่อนกล้วย หรือไม้ไผ่ ต่อเป็นลำเรือ ยาวประมาณ 5-6 เมตร ตกแต่งด้วยดอกไม้ ธูป เทียน ใส่ข้าวปลาอาหาร กล้วย อ้อย หมากพลู บุหรี่ ฝ้าย ไนไหมหลอด เสื่อ หรือสิ่งของที่ต้องการบริจาคทานบรรจุลงเรือไฟ ฯลฯ
โดยทางจังหวัดนครพนม มอบหมายให้ นายณรงค์ ไชยตา ประธานกลุ่มพนมนครานุรักษ์ จัดสร้างเรือไฟโบราณตามปีนักษัตร จำนวน 12 ลำ ตั้งโชว์ที่บริเวณลานพนมนาคา ริมแม่น้ำโขง ถนนสุนทรวิจิตร เขตเทศบาลเมืองนครพนม ตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม โดยผู้ที่เกิดปีนักษัตรใดก็นำสิ่งของ ตลอดจนตัดผม ตัดเล็บของตนใส่ในกระทง วันขึ้น 15 เดือน 11 ซึ่งตรงกับวันที่ 21 ตุลาคม 2564 ก็จะนำเรือไฟลงน้ำ เป็นคติความเชื่อการสะเดาะเคราะห์เผาความทุกข์ให้ลอยไปตามกระแสน้ำ
วันที่จัดงาน : 18 - 22 ตุลาคม 2564
สถานที่จัดงาน : ณ เลียบริมฝั่งแม่น้ำโขง ถนนสุนทรวิจิตร และศาลากลางจังหวัดนครพนม
หน่วยราชการ องค์กรเอกชน หรือชุมชน หมู่บ้าน ตำบลใด ที่ได้จัดงานบุญประเพณีอันดีงามของชาวอีสาน ต้องการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ กิจกรรมเหล่านี้สามารถติดต่อกับทีมงาน เว็บไซต์ประตูสู่อีสาน ของเราได้ ทาง Facebook Fanpage หรืออีเมล์ webmaster at isangate.com เรายินดีสนับสนุนประชาสัมพันธ์งานให้ท่านฟรีๆ นะครับ
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)