คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
เรื่องเล่านี้โดย นายเถา แสนดี ชาวบ้านตากลาง อายุ 75 ปี เป็นหมอช้างที่ยังมีชีวิตอยู่ หรือ พระหมอเฒ่า ซึ่งเป็นตําแหน่งสูงสุด
ในบรรดาหมอช้างทุกคน เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2537 ได้เล่าตำนานพระหมอเฒ่าให้หลวงพี่หาญ หลานชาย ที่บวชจําพรรษา
อยู่ที่วัดในหมู่บ้านตากลาง ตําบลกระโพ อําเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์ บันทึกไว้โดย อารีย์ ทองแก้ว
พระหมอเฒ่า คนสุดท้ายของชาวส่วยหรือชาวกูย ที่มีอาชีพคล้องช้างป่า มีชื่อเสียงเลื่องลือไปทั่วทุกสารทิศ ในความสามารถเกี่ยวกับการจับช้างป่าตั้งแต่ยังเป็นเด็กหนุ่มที่ยังไม่ได้แต่งงาน ต่อมาได้แต่งงานกับหญิงสาวชาวบ้านใกล้เคียง อยู่กินกันมาจนมีลูกชายหนึ่งคนชื่อ “ก่อง” หรือภาษาส่วยเรียกว่า “อาหก่อง” เป็นที่รักและห่วงใยของพ่อแม่เป็นอย่างมาก เมื่อเติบโตเข้าสู่วัยหนุ่มก็ได้รับตําแหน่ง “กํารวงปืด” (ครูบาใหญ่) ตามประเพณีที่มีพ่อเป็น พระมอเฒ่า โดยไม่ต้องไต่เต้าตามลําดับ โดยประเพณีที่สืบทอดกันมาได้กําหนดไว้ว่า
ผู้มีตําแหน่งสูงสุดในบรรดาหมอช้าง ถ้ามีลูกคนแรกเป็นผู้ชาย ให้หมอช้างทั้งหลายนําเอาเปลือกต้นกระโดนมารองรับตัวเด็กให้นอน พร้อมกับประกาศยกฐานหรือตําแหน่งหมอช้าง คือ “กํารวงปีด” ให้ โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนใดๆ แต่ถ้าลูกคนแรกเป็นผู้หญิงก็จะไม่มีสิทธิพิเศษดังกล่าว "
ก่อง หรือ อาหก่อง เป็นทายาทสืบทอดมรดกทุกอย่างต่อจากพระมอเฒ่า ที่พ่อแม่ภาคภูมิใจมาก เพราะตั้งแต่เล็กจนโตก่องเป็นเด็กดี มีสัมมาคารวะต่อผู้ใหญ่และขยันขันแข็ง พระมอเฒ่าจึงคิดที่จะถ่ายทอดวิชาทุกอย่างให้กับลูกชาย ให้มีความสามารถทุกอย่างโดดเด่นเหนือชายหนุ่มทุกคนในหมู่บ้าน
วันหนึ่ง พระมอเฒ่า ได้พาลูกและภรรยาออกไปเรียนรู้การคล้องช้างป่า โดยไม่บอกใครเลย เพราะต้องการตามใจลูกที่ไม่ต้องการให้ใครรู้ หรืออาจเป็นเพราะความประมาทของพระมอเฒ่าด้วย ประกอบกับความเย่อหยิ่งในความสามารถของตนเองที่ไม่มีใครเทียบเท่า จึงคิดว่าจะทําอะไร หรือทําอย่างไรก็ได้
ย้อนกลับไปในอดีต “อาหก่อง” เคยเกิดเป็นลูกช้างป่า ถูกพระมอเฒ่าคล้องมาได้ เมื่อนํามาฝึกอย่างหนักในหมู่บ้าน ก็ทนกับสภาพสิ่งแวดล้อมที่ยากลำบากไม่ได้จึงตรอมใจตาย แล้วได้กลับชาติมาเกิดเป็นลูกชายของพระมอเฒ่า อาหก่องสามารถจําชาติก่อนได้ทุกอย่าง จึงคิดถึงแม่ช้างป่าอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะเวลาที่เห็นบรรดาหมอช้างออกไปคล้องช้างในป่า ก็ยิ่งคิดถึงแม่มากยิ่งขึ้น
เมื่อกลับชาติมาเป็นคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้เกิดมาเป็นลูกของพระมอเฒ่าแล้ว ก็ได้โอกาสเหมาะที่รอคอยมานาน ในตอนที่พระมอเฒ่าจะพาภรรยาและตนออกไปคล้องช้าง ซึ่งตามธรรมเนียมแล้ว การออกไปคล้องช้างในป่านั้น ได้ห้ามนําภรรยาไปด้วย นอกจากนี้ก็ห้ามให้ลูกนั่งบนช้างเชือกเดียวกันกับพ่อด้วย แต่พระมอเฒ่าก็ละเลยไม่ปฏิบัติตาม ซึ่งถือว่าผิดธรรมเนียมประเพณีอย่างร้ายแรง
ทั้งนี้อาจเนื่องจากเชื่อว่า ตนเองเป็นผู้มีตําแหน่งสูงสุด มีความสามารถที่จะดูแลภรรยาและลูกได้ นอกจากนี้ ยังต้องการให้อาหก่องไม่ต้องลําบากในการหุงหาอาหารให้ ที่สําคัญคือ ต้องการฝึกลูกชายให้เป็นคนเก่งโดยไม่ต้องการให้ใครรู้
ก่อนออกไปคล้องช้างป่า และระหว่างการเดินทางไปคล้องช้างในป่าลึก อาหก่องได้ขอร้องให้พ่อคล้องเอาช้างผู้เป็น 'แม่ช้าง' โดยให้เหตุผลว่าเมื่อคล้องได้แม่ช้างแล้ว ลูกช้างก็จะต้องติดตามผู้เป็นแม่ช้างมาด้วย แต่พระมอเฒ่าผู้เป็นพ่อได้บอกว่า "โดยธรรมเนียมการคล้องช้างนั้น จะไม่คล้องเอาแม่ช้าง การคล้องช้างจะคล้องเอาเฉพาะลูกช้าง เพราะต้องการให้แม่ช้างอยู่ในป่าเพื่อผลิตลูกช้างให้อีกต่อๆ ไป และถ้าคล้องเอาแม่ช้างไปด้วย จะทําให้การฝึกลูกช้างเป็นไปด้วยความยากลําบาก ลูกช้างจะคลอเคลียกับแม่ช้าง และไม่สนใจการฝึกซ้อม" ความขัดแย้งระหว่างพ่อกับลูกเป็นอยู่เรื่อยๆ เพราะต่างคนต่างยืนยันความเห็นของตน ไม่มีใครยอมใคร เมื่อถึงบริเวณดงช้าง พระมอเฒ่าได้นำภรรยาพร้อมด้วยสัมภาระต่างๆ ไปไว้ที่จันรมย์ (ที่พัก) ใกล้ต้นหว้าใหญ่ เพื่อให้ภรรยาคอยหุงหาอาหารไว้ให้ตนกับลูกชาย โดยให้ภรรยาอยู่ตามลําพังเพียงผู้เดียว
พิธีกรรมคล้องช้าง ของชาวกูย แบบโบราณ
ต่อจากนั้น พระมอเฒ่าก็เริ่มทําพิธีเบิกไพร (เปิดป่า) จัดหนังปะกํามาวางบนหลังช้าง ไม้คันจามและอุปกรณ์ที่จําเป็น โดยให้อาหก่องเป็น 'มะ' นั่งท้ายบนช้างต่อ เสร็จแล้วก็พากันขับช้างเข้าสู่ป่าทึบที่ช้างอาศัยอยู่ เดินทางไปได้สักครู่ใหญ่ พระมอเฒ่าก็มองเห็นโขลงช้างใหญ่กําลังกินอาหารอย่างเงียบๆ พระมอเฒ่าจึงได้ขับช้างอาสาเข้าใกล้โขลงช้างทันที บังเอิญว่าช้างโขลงนั้นมี 'แม่ช้าง' ซึ่งในอดีตเคยเป็นแม่ของอาหก่อง พร้อมน้องๆ และเพื่อนๆ อีกมากมายอยู่ด้วย อาหก่องเมื่อเห็นดังนั้น ก็ตะโกนบอกพ่อให้คล้องเอาแม่ช้างโดยเร็วหลายๆ ครั้ง แต่พระมอเฒ่าไม่สนใจเพราะต้องการคล้องลูกช้างเท่านั้น
อาหก่อง ได้เห็นพ่อไล่กวดลูกช้าง เห็นภาพที่แม่ช้างพยายามปกป้องลูกช้างให้วิ่งหนีโดยเร็ว ได้เห็นสภาพแม่ช้างที่ตกใจ เห็นแม่ช้างเหนื่อยหอบ เพราะแม่ช้างแก่มากแล้ว จึงตัดสินใจกระโดดขี่หลังแม่ช้างไป ฝ่ายแม่ช้างเมื่อเห็นคนกระโดดขี่หลังก็ตกใจกลัวสุดขีด จึงเร่งความเร็วในการวิ่งสุดชีวิต ทําให้ห่างออกไกลจากพระมอเฒ่าเรื่อยๆ ฝ่ายช้างต่อเมื่อไม่มีผู้ขับขี่หรือบังคับก็ไม่ใส่ใจที่จะวิ่งไล่กวดโขลงช้างต่อไปอีก
ทางด้าน พระมอเฒ่า ก็ตกใจที่เห็นอาหก่องกระโดดขี่หลังแม่ช้างไป และด้วยความเป็นห่วงลูก พระมอเฒ่าก็ได้ร้องเรียกหา อาหก่องๆๆๆ ไปเรื่อยๆ โดยไม่สนใจฝูงลูกช้างอีกต่อไป แต่กลับให้ช้างวิ่งตามแม่ช้างเพื่อติดตามหาอาหก่อง ได้ยินเสียงอาหก่องร้องตอบมาว่า "กู๊กๆๆๆ" แต่เสียงนั้นก็ห่างไกลออกไปเรื่อยๆ เพราะแม่ช้างเองก็รีบหนีให้เร็วสุดชีวิตเพราะมีคนขี่อยู่บนหลังของตนเอง จนในที่สุด แม่ช้างที่ อาหก่อง กระโดดขึ้นขี่ก็หายลับไป พร้อมกับความมืดที่เริ่มปกคลุมป่า พระมอเฒ่าเสียใจมาก และได้พยายามค้นหาอาหก่องลูกชายท่ามกลางความมืด แต่ก็ไม่มีวี่แววและเสียงขานตอบจากลูกชายเลย เมื่อดึกมากแล้ว พระมอเฒ่าก็ตัดสินใจกลับไปหาภรรยาพร้อมช้างคู่ใจ ระหว่างทางก็ตัดพ้อว่า "ลูกทิ้งพ่อแม่ที่แท้จริงไปได้ลงคอ ทั้งที่ตนเองหวังดีอยากให้อาหก่องเก่งกว่าคนอื่นๆ ทําไมลูกถึงไม่เข้าใจพ่อแม่เลย"
พระมอเฒ่าได้แต่ร่ำไห้มาตลอดทาง เมื่อมาถึงต้นหว้าใหญ่ก็ได้ร้องเรียกภรรยา แต่ไม่มีเสียงใครตอบรับ ก็เข้าใจว่าภรรยาคงนอนหลับ แต่เมื่อเดินเข้าไปหาก็ไม่เห็นภรรยานอนอยู่ จึงเดินเรียกหาภรรยาไปเรื่อยๆ แต่ก็ไม่พบ ด้วยความเหนื่อยล้าและความมืดปกคลุมไปทั่ว พระมอเฒ่าจึงตัดสินใจว่า จะตามหาภรรยาในตอนกลางวันแทน
เมื่อถึงเวลาเช้า พระมอเฒ่าจึงเดินตามหาภรรยาตนเองอีกครั้ง ปรากฏว่าเจอเลือดและเศษเนื้อชิ้นน้อยกระจายอยู่เป็นบริเวณกว้าง พระมอเฒ่าเกิดความสงสัยจึงเดินตามหาไปทั่ว ในที่สุดก็พบแขนข้างหนึ่งของภรรยาอยู่บนพื้น ที่มีเลือดกระจายอยู่ทั่วบริเวณจึงเข้าใจว่า เสือได้กัดกินภรรยาของตนไปแล้ว พระมอเฒ่าทั้งตกใจและเสียใจเป็นเท่าทวีคูณ ได้แต่ร้องไห้จวนจะขาดใจตายตามลูกและภรรยาไป ด้วยความเสียใจบวกกับความเหนื่อยล้าของพระมอเฒ่า ทําให้หมดกําลังที่จะคิดทําอะไรต่อไป จึงได้นําแขนข้างหนึ่งของภรรยาขึ้นหลังช้าง และนอนนิ่งๆ อยู่บนหลังช้างเพื่อให้ช้างพากลับบ้าน
เมื่อถึงหมู่บ้าน ชาวบ้านต่างสงสัยว่า พระมอเฒ่าหายไปไหน ภรรยาและอาหก่องหายไปไหน เมื่อถูกชาวบ้านถามมากๆ ยิ่งไปตอกย้ําความเสียใจให้กับพระมอเฒ่ามากยิ่งขึ้น พระมอเฒ่าไม่ตอบชาวบ้านแต่อย่างใด ได้แต่บอกว่า ตนเองไม่เหลืออะไรแล้ว จะเหลือก็เพียงแค่แขนนางเท่านั้น ทุกคนต่างดูสัมภาระของพระมอเฒ่าที่อยู่บนหลังช้าง เมื่อเห็นแขนข้างหนึ่งและอุปกรณ์อื่นๆ แต่ไม่เห็นภรรยาและอาหก่องลูกชายของพระมอเฒ่า ก็คาดเดากันพอเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ได้บ้าง พระมอเฒ่าได้ฝากส่วนแขนของนาง (หมายถึงแขนของภรรยา) ให้ทุกคนจัดการแล้วแต่ความเหมาะสมด้วย ส่วนคนที่จะไปคล้องช้าง หรือทําอะไรเกี่ยวกับช้างก็ให้ขอ 'อาหก่อง' ทุกครั้ง เพราะอาหก่องถือว่าเป็นเจ้าของช้างในป่าทั้งหมดไปแล้ว และก่อนพระมอเฒ่าสิ้นใจ พระครูปะกํา (เป็นตําแหน่งรองจากพระมอเฒ่า) ได้เข้าไปกอดพระมอเฒ่าพร้อมกับจับหนังปะกําไว้ เป็นการรับมอบพิธีการคล้องช้างไว้ต่อจากพระมอเฒ่า โดยให้สัญญาว่า จะรักษาประเพณีการคล้องช้างไว้มิให้สูญหายชั่วลูกชั่วหลาน จะรักษาให้สุจริตและรักษาให้เคร่งครัด แต่ไม่ขอรับตําแหน่งเทียบเท่าพระมอเฒ่า จะขอรับเพียงตําแหน่งพระครูปะกําเท่านั้น
ดังนั้นจึงจะเห็นได้ว่า ในปัจจุบันไม่มีตําแหน่ง พระมอเฒ่า จะมีเพียงตําแหน่ง ครูบาใหญ่ หรือตําแหน่ง กํารวงปีด ซึ่งเป็นตําแหน่งที่รองลงมาเท่านั้น ต่อมาก็มีการประชุมหารือและตกลงกันในบรรดาหมอช้างว่า จะเอาแขนนางไว้ในบ่วงบาศก์ ทุกครั้งที่ทําหนังปะกําจึงเรียกบ่วงบาศก์ว่า “แขนนาง” และกิจกรรมที่เกี่ยวกับช้างทุกครั้งก็จะพูดถึงหรือ เรียกหา “อาหก่อง” มาจนถึงปัจจุบัน
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การคล้องช้าง ก็จะไม่มีการนําภรรยาหรือผู้หญิงติดตามไปด้วยเลย มีการบัญญัติว่า เป็นข้อห้ามที่ต้องถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด รวมทั้งห้ามไม่ให้พ่อกับลูกขี่ช้างเชือกเดียวกันเด็ดขาด ก่อนออกไปคล้องช้าง ทุกคนต้องผ่านการทําพิธีใหม่อีกครั้ง เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ ถ้าไม่ได้ช้างก็ต้องหาสาเหตุว่า ใครทําผิดข้อห้าม หรือข้อปฏิบัติใดบ้าง ถ้าไม่มีใครยอมรับก็จะถือว่า ผู้ที่ทําผิดข้อห้ามนั้นจะมีอันเป็นไปเอง บางครั้งก็จะมีอาการเจ็บปวด หรือมีอันเป็นไปต่างๆ นานา ซึ่งเป็นความเชื่อที่มีมาจนถึงทุกวันนี้
จากเรื่องเหล่านี้พอสรุปว่า ในการอยู่รวมกันเป็นกลุ่มชนหรือการทํางานเป็นกลุ่มนั้น ทุกคนจะต้องเคารพกฎ ระเบียบ กติกาของหมู่คณะอย่างเคร่งครัด ทุกคนจะต้องสามัคคีกัน มีจิตใจบริสุทธิ์ ถ้าไม่เคารพกฎระเบียบ กติกา หรือเห็นแก่ตัว เอาเปรียบผู้อื่น ก็จะได้รับผลร้ายตอบแทนทั้งกับตนเองและครอบครัว
การทำเชือกปะกำ คล้องช้างอันศักดิ์สิทธิ์
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)