คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ฮีตหนึ่งนั้น เถิงเดือนเจียง เข้ากลายมาแถมถ่ายฝูงหมู่สังฆเจ้าก็เตรียมเข้าอยู่กรรมมันหาธรรมเนียมนี้ถือมาตั้งแต่ก่อน อย่าได้ละห่างเว้นเข็ญ (บาปเข็ญ คือ สิ่งที่ไม่ดีไม่งาม ความชั่วร้าย ไม่เป็นมงคล) สิข่องแล่นนำ แท้แหล่ว "
บุญเข้ากรรม ภิกษุต้องอาบัติ สังฆาทิเสส ต้องอยู่กรรมถึงจะพ้นอาบัติ ญาติโยมแม่ออกแม่ตน ผู้อยากได้บุญกุศลก็จะให้ไปทานรักษาศีลฟังธรรม เกี่ยวกับการเข้ากรรมของภิกษุ เรียกว่า บุญเข้ากรรม กำหนดเอาเดือนเจียงเป็นเวลาทำ จะเป็นข้างขึ้นหรือข้างแรมก็ได้ วันที่นิยม ทำเป็นส่วนมากคือวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เพราะเหตุกำหนดให้ทำในระหว่างเดือนเจียงจึง เรียกว่า บุญเดือนเจียง นิมนต์สังฆเจ้าเข้ากรรมฯ ชาวบ้านเลี้ยงผีแถนและผีต่างๆ
ดังคำกล่าวที่ว่า
ฮีตหนึ่งนั้น เถิงเดือนเจียง เข้ากลายมาแถมถ่ายฝูงหมู่สังฆเจ้า ก็เตรียมเข้าอยู่กรรมมันหาธรรมเนียมนี้ถือมาตั้งแต่ก่อน อย่าได้ละห่างเว้นเข็ญ (บาปเข็ญ คือ สิ่งที่ไม่ดีไม่งาม ความชั่วร้าย ไม่เป็นมงคล) สิข่องแล่นนำ แท้แหล่ว "
บุญเข้ากรรม เป็นเดือนที่พระสงฆ์เข้ากรรม (ปริวาสกรรม) เพื่อให้พระสงฆ์ผู้กระทำผิด คือพระสงฆ์ต้องอาบัติสังฆาทิเสส ข้อใดข้อหนึ่งแล้ว บอกพระสงฆ์ด้วยกันให้ทราบไว้ ได้สารภาพต่อหน้าคณะสงฆ์ เป็นการฝึกจิตสำนึกถึงความบกพร่องของตน และมุ่งประพฤติตนให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัยต่อไป
อาบัติสังฆาทิเสส ของสงฆ์ มีอยู่ 13 ข้อ ได้แก่
ถือเป็นครุกาบัติ (โทษหนัก) แต่แก้ไขได้โดยคณะสงฆ์ คือ จะปลงอาบัติกับภิกษุเพียงรูปใดรูปหนึ่งไม่ได้ ต้องอาศัยสงฆ์ในการประพฤติเพื่อการออกจากอาบัตินั้น เช่น การให้ปริวาส ให้มานัต ต้องอาศัยสงฆ์อย่างน้อย 4 รูปขึ้นไป แต่ถ้า "การอัพภาน" คือ การเรียกเข้าหมู่เป็นผู้พ้นจากอาบัติหนัก และเป็นผู้บริสุทธิ์ ต้องอาศัยพระสงฆ์ 20 รูปขึ้นไป
ด้านฆราวาสก็จะมีการทำบุญเลี้ยงผีต่างๆ บุญเข้ากรรมนิยมทำกันในเดือนอ้าย (เดือนเจียง) จะเป็นข้างขึ้นหรือข้างแรมก็ได้ ซึ่งเป็นฤดูหนาว บุญเข้ากรรมคือ พิธีทำบุญโดยให้พระภิกษุผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส (อาบัติ หนักรองจากปาราชิก) คือพิธีเข้ากรรม การเข้ากรรมจัดทำโดยพระสงฆ์พระสงฆ์เข้าไปอยู่ในเขตหรือที่จำกัด เพื่อทรมานร่างกายให้หายจากกรรมหรือพ้นจากอาบัติที่ได้กระทำ และเป็นการชำระจิตใจให้หายจากความมัวหมองด้วย บางแห่งถือว่าเมื่อบวชแล้วจะแทนคุณมารดาได้จะต้องอยู่กรรม (อยู่ไฟหลังคลอด) เพราะมารดาท่านเคยอยู่กรรมมาแล้ว
โดยมากงานบุญในเดือนอ้ายนี้มักจะเป็นพิธีกรรมทางสงฆ์เสียมากกว่า ผู้คนมีความเชื่อกันว่า หากทำบุญแด่พระสงฆ์ในช่วงที่ท่านเข้ากรรมจะได้อานิสสงฆ์สูง เพราะในยามที่พระสงฆ์เข้ากรรมถือเป็นช่วงที่เคร่งวินัยและบริสุทธิ์มากที่สุด การเข้ากรรมของพระสงฆ์ก็เปรียบได้กับการอยู่กรรมของแม่ลูกอ่อน หรือหญิงที่พึ่งจะคลอดลูกใหม่ที่จะต้องอยู่กรรม ปฏิบัติตัวให้เหมาะสมคือจะต้องรู้จักคะลำ ทั้งเรื่องการกินและกิจวัตร ทั้งนี้เพื่อให้เกิความปลอดภัยทั้งแม่และลูก
ส่วนการเข้ากรรมของพระภิกษุสงฆ์นั้น เป็นเรื่องที่ถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่โบราณกาล เป็นการทำเพื่อให้พระที่ต้องอาบัติที่หนักรองลงมาจากปราชิก ทำพิธีวุฏฐานพิธี ซึ่งเป็นระเบียบอันเป็นเครื่องออกจากอาบัติ อันเป็นพิธีกรรมที่ทำให้จิตใจไม่หมองมัว หรืออีกนัยหนึ่งก็เพื่อระลึกถึงการกระทำอันเป็นบาปที่ทำมาตลอดเข้าพรรษา หรือตั้งแต่กำเนิด บ้างก็ว่า การคร่ำเคร่งในการเข้ากรรมของพระสงฆ์ เพื่อเป็นการทดแทนการอยู่กรรมของมารดาที่แสนจะทรมาน
มีตำนานเล่าสืบกันมาว่า "ในสมัยพุทธกาล ในช่วงที่พระภิกษุสงฆ์จะเข้าปริวาสกรรม มีพระสงฆ์รูปหนึ่ง ล่องเรือไปตามแม่น้ำคงคา ได้เอามือไปจับใบตะไคร่น้ำขาดเพียงเล็กน้อย การทำลายชีวิตในครั้งนั้นเข้าใจว่าเป็นเพียงบาปเล็กน้อย เป็นอาบัติอย่างเบา จึงไม่แสดงอาบัติ
แต่เหตุในครั้งนั้นก็ยังคงค้างคาอยู่ในใจของภิกษุรูปนั้นอยู่เสมอ ตลอดระยะเวลาในช่วงเวลาที่ปฏิบัติธรรมในป่าและคงอยู่เป็นเวลานาน แต่เมื่ออยากแสดงอาบัติในการทำใบตะไคร่น้ำขาดในครั้งนั้นก็ไม่มีภิกษุรูปใดรับฟัง เมื่อภิกษุรูปนี้ได้มรณภาพลง บาปกรรมก็ยังติดตัวไปยังภพใหม่ด้วย" จะเห็นได้ว่าแท้ที่จริงแล้วช่วงระยะเวลาการเข้ากรรมของพระสงฆ์นั้น เป็นช่วงที่ท่านแสดงซึ่งอาบัติที่เคยกระทำมา และยอมรับในการทำผิดนั้น มิได้บริสุทธิ์กว่ากาลที่ผ่านมา แต่เป็นความศรัทธาของพุทธศาสนิกชน ในปัจจุบัน ชาวอีสานก็ยังให้ความสำคัญกับงานบุญในเดือนเจียงนี้อยู่ แม้จะมีจำนวนลดน้อยลงบ้างตามกาลเวลา
พิธีกรรมที่ทำส่วนใหญ่ก็จะทำขึ้น เพื่อให้คนในชุมชนได้มีปฏิสัมพันธ์ต่อกันสร้างความสมัคสมานสามัคคี และหล่อหลอมให้เป็นคนรู้จักสัมมาคารวะ เคารพผู้อาวุโสในชุมชน รู้จักการแยกแยะรู้จักการให้อภัยแก่กัน ก็คือให้คนในชุมชนอยู่ด้วยการอย่างมีคุณธรรมไม่โลภ โกรธ หลง ต่างคนต่างพึ่งพาอาศัยกัน ไม่ถือชั้นวรรณะ และเป็นการสืบทอดศิลปะขนบธรรมเนียมประเพณีต่างให้สังคมเกิดความเป็นสุข นั่นคือจุดประสงค์ที่ยิ่งใหญ่ของประเพณีพิธีกรรมของชาวอีสาน ซึ่งเป็นความสำคัญและงดงามมากในอดีตกาล
สถานที่ สถานที่สำหรับเข้ากรรมนั้น จะต้องเป็นสถานที่เงียบไม่พลุกพล่าน อาจเป็นบริเวณวัดตอนใดตอนหนึ่งก็ได้ มีกุฏิหรือกระต๊อบชั่วคราวเป็นหลังๆ สำหรับพระภิกษุอยู่อาศัยระหว่างเข้ากรรมตามลำพังผู้เดียว ส่วนใหญ่จะนิยมใช้ดอนปู่ตาของหมู่บ้าน จำนวนพระพระสงฆ์เข้ากรรมคราวหนึ่งๆ มีจำนวนเท่าใดก็ได้ ก่อนจะเข้ากรรม พระภิกษุรูปใดต้องอาบัติแล้วต้องบอกพระภิกษุสงฆ์จำนวน 4 รูปให้รับทราบไว้ก่อน ได้เวลาแล้วจึงเข้ากรรม
พิธีกรรม ในหนังสือวินัยมุขกล่าวว่า พระสงฆ์ผู้เข้ากรรมต้องประพฤติมานัตต์ แปลว่า "นับราตรี" ครบหกราตรี แล้วสงฆ์จึงจะสวดระงับอาบัติเรียกว่า "อัพภาน" แปลว่า "เรียกเข้าหมู่" แต่พระต้องอาบัติแล้วปกปิดไว้ล่วงเลยนานวันเท่าใดต้องอยู่ปริวาส ซึ่งแปลว่า "อยู่ใช้ให้ครบวันเท่านั้น" ก่อนจึงควรประพฤติมานัตต์ได้ต่อไป ถ้าในระหว่างอยู่ปริวาสต้องครุกาบัติอีก จะต้องกลับอยู่ปริวาสหรือประพฤติมานัตต์ใหม่ เรียกว่า "ปฏิกัสสนา" แปลว่า กิริยาชักเข้าหาอาบัติเดิม สำหรับประเพณีนิยมกันในภาคอีสานเกี่ยวกับการเข้ากรรมนี้ปกติอยู่ เก้าราตรี คือ ตอนสามราตรีแรกเรียกว่า "อยู่ปริวาส"
เมื่อจะเข้าปริวาสให้กล่าวคำสมาทานต่อสงฆ์ โดยกราบพระภิกษุผู้แก่พรรษากว่า ซึ่งสามารถสวดให้ปริวาสได้รูปหนึ่งว่า “ปริวาสัง สมาทิยามิ หรือ วัตตัง สมาธิยามิ” 3 หนก็ได ้และถ้าไม่อาจอยู่ปริวาสต่อไปได้จะเก็บปริวาสก็กล่าวว่า ”ปริวาสัง นิกขิปามิ หรือวัตตังนิกขิปามิ” 3 หน ต่อหน้าพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง และตอนหกราตรีต่อมาเรียกว่า “อยู่มานัตต์” ซึ่งมีคาถาสวดเพื่อเข้ามานัตต์ต่อหน้าสงฆ์ โดยกราบพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งผู้แก่พรรษา ซึ่งสามารถสวดให้มานัตต์ได้ โดยกล่าวขอสมาทานมานัตต์ก่อน แล้วจึงสมาทานวัตตังดังนี้ “มานัตตัง สมาทิยามิ วัตตังสมาทิยามิ” 3 หน แล้วประพฤติให้ครบหกราตรี
แต่ถ้ามีเหตุอันจำเป็นต้องพักเก็บมานัต จะกล่าวคำเก็บมานัตต่อหน้าพระภิกษุผู้แก่พรรษาโดยว่าวัตต์ก่อนแล้วจึงว่าเก็บมานัตต์ ดังนี้ “วัตตัง นิกขิปามิ มานัตตัง นิกขิปามิ” 3 หน ถ้าต้องการเข้ามานัตต์ต่ออีก ก็ขอสมาทานมานัตต์ดังกล่าวแล้ว เมื่อเข้ากรรมครบกำหนดคืออยู่มานัตต์ครบหกราตรีแล้ว จึงอัพภาน คือออกจากรรมได้แก่การออกจากอาบัติสังฆาทิเสสหรืออาบัติหนักขนาดกลาง (ครุกาบัติ)
ระหว่างเข้ากรรม การสารภาพความผิดต้องมีพระสงฆ์ 4 รูป เป็นผู้รับรู้ ส่วนการออกจากกรรม ต้องมีพระสงฆ์ 20 รูป ให้อัพภาน ในจำนวนนี้จะนับพระภิกษุผู้กำลังประพฤติวุฏฐานวิธีเข้าด้วยไม่ได้ การรับพระภิกษุผู้ต้องอาบัติหนักและได้ถูกทำโทษ คือ อยู่ปริวาสหรือมานัตต์ แล้วให้กลับเป็นผู้บริสุทธิ์โดยพระสงฆ์สวดระงับอาบัตินี้เรียกว่า “สวดอัพภาน” ภิกษุที่ออกจากกรรมแล้วถือว่าเป็นผู้หมดมลทิน เป็นผู้บริสุทธิ์ผุดผ่อง
สำหรับชาวบ้านที่เกี่ยวข้องกับพิธีบุญเข้ากรรม จะต้องเป็นผู้ให้ความอุปถัมภ์ด้วยจตุปัจจัยแด่พระภิกษุสงฆ์ตลอดเวลาที่เข้ากรรม และในวันที่พระภิกษุออกจากกรรมจะต้องมีการทำบุญให้ทานเช่น มีการตักบาตร ถวายภัตตาหาร และฟังเทศน์ เป็นต้น คฤหัสถ์ผู้ใดได้ทำบุญแด่พระภิกษุสงฆ์ในบุญเข้ากรรม ถือว่าได้กุศลหรืออานิสงส์แรงมาก บุญเข้ากรรมในปัจจุบันมักจะมีจัดทำเฉพาะบางตำบลหมู่บ้านที่ชาวบ้านยึดมั่นในประเพณีดั้งเดิมจริงๆ เท่านั้น
ในปัจจุบันนี้ บุญเข้ากรรม หรือ เข้าปริวาสกรรม นี้ มีวัตถุประสงค์ที่ผิดแผกไปจากในอดีต เป็นการเชิญชวนผู้คนให้เข้าไปทำบุญมากมาย เพื่อแสวงหาทรัพย์ให้วัดหรือสำนักสงฆ์ โดยอ้างว่าจะได้บุญมากกว่าปกติ เพราะพระที่มาร่วมพิธีมีความขลัง จะเป็นไปได้อย่างไรกัน ก็ในเมื่อพระที่มาเข้ากรรมนั้นจริงๆ แล้วคือ "พระที่ทุศีล" มาปลงอาบัติเพื่อให้หมู่คณะให้อภัยรับเข้ากลุ่มใหม่ (ฟอกขาว) ก็โปรดพิจารณากันนะครับ เดี๋ยวนี้พุทธพาณิชย์มันเยอะจนไกลไปจากแก่นของหลักพุทธศาสนา เหลือแต่กระพี้ประโลมโลก
รายการ "ร้อยเรื่องเมืองไทย" ตอน "บุญเข้ากรรม"
คติไทยเดือนอ้ายหรือเดือนเจียงของชาวอีสาน นอกจากจะมีประเพณีการทำบุญเข้ากรรมของพระสงฆ์แล้ว ยังมีประเพณีเส็งกลอง (แข่งขันตีกลอง) ทำบุญดอกผ้า ประเพณีนวดข้าว เป็นต้น
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)