คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ซุบ, เนี่ยน | ต้ม | ตำ | ป่น
ท่านเว็บมาดเซ่อเพิ่นมีโอกาสได้ไปเที่ยวเมืองนอกเมืองนา เพิ่นว่าม่วนหลาย อาหารการกินเขากะแปลก ชื่อเอิ้นกะชวนให้สับสนกับอาหารบ้านเฮาหลายอยู่ อย่าง "ซุป" ของฝรั่งนั้นมันเป็นน้ำแกง หรือน้ำต้มเนื้อ ต้มผักให้เปื่อย เหลวๆ เอามาซดฮ้อนๆ ย้อนเขาเมืองหนาว ผิดกับอีสานบ้านเฮา "ซุบ" เอาไว้ตุ้ยข้าวเหนียวแซบๆ อย่าง ซุบบักมี้ ซุบบักเขือ ซุบหน่อไม้ เป็นต้น มื้อนี้เลยขอเสนออาหารประเภท ซุบ หรือเนี่ยน ต้ม ตำ ป่น มาให้รู้จักกัน
ซุบ เป็นอาหารที่มีวิวัฒนาการมาจากการนำผักมาจิ้มแจ่ว คำว่า "ซุบ" มีผู้สันนิษฐานว่า มาจากคำว่า "ชุบ" หมายถึง จุ่มหรือจิ้ม นั่นเอง ภาคอีสานออกเสียง ช เป็น ซ ชุบจึงออกเสียงว่า ซุบ ส่วนของฝรั่งเขามาจากคำว่า "Soup" เขียนไทยเป็น "ซุป" ใช้ ป.ปลา สะกดครับท่าน
การนำผักมาจิ้มแจ่ว ซึ่งแจ่วมีส่วนผสมหลักคือ ปลาร้าและพริก ผักที่นิยมนำมาทำซุบ เช่น หน่อไม้สดต้มขูดฝอย ขนุนอ่อน มะเขือต้ม ผักเม็ก ผักติ้ว ซึ่งผักดังกล่าวปกติก็นิยมบริโภค โดยใช้เป็นผักจิ้มแจ่วอยู่แล้ว ชาวบ้านจึงพลิกแพลงด้วยการนำผักเหล่านั้นผสมลงไปในแจ่วเสียเลย แล้วใส่ข้าวคั่ว งาคั่ว เพื่อให้มีกลิ่นหอมน่ารับประทานยิ่งขึ้นไปอีก
การเรียกชื่อ ซุบ จะเรียกตามผักที่เป็นส่วนผสมหลัก เช่น ซุบหน่อไม้ ซุบมะเขือ ซุบบักมี่ (ขนุนอ่อน) ซุบเห็ดกระด้าง (เห็ดขอนไม้ตากแห้ง นำมาต้มให้อ่อนนุ่ม) การทำซุบจะไม่นิยมให้มีรสเผ็ดมากนัก
ส่วนผสมในการทำซุบได้แก่ น้ำปลาร้า พืชชนิดใดชนิดหนึ่ง เนื้อปลาต้มโขลก ข้าวคั่วโขลก งาคั่ว คลุกเคล้าผสมกัน ไม่นิยมใส่พืชที่ให้รสเปรี้ยวจัด เช่น มะนาว มะขาม ในส่วนผสมของซุบ บางครั้งอาจไม่มีเนื้อสัตว์เป็นส่วนประกอบ ส่วนผักแต่งกลิ่นนิยมใช้ ต้นหอม ใบสะระแหน่ ใบสัง และใบผักชีฝรั่ง (หอมเป, หอมห่อ)
เนี่ยน (บางท้องถิ่นเรียกว่า เนียง) มีส่วนผสมและวิธีทำคล้ายซุบ แต่เรียกเฉพาะผักที่ใช้ ต้องเป็นมะเขือต้ม เรียกว่า เนี่ยนมะเขือ วิธีทำก็ง่ายๆ คือ นำมะเขือมาต้มให้สุกยีให้ละเอียดด้วยสาก ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า ใส่พริกป่นให้มีรสเผ็ดเล็กน้อย จะไม่ใส่ข้าวคั่วและงาคั่ว อาจใช้หัวหอมซอย หรือต้นหอมหั่นฝอย สะระแหน่โรยหน้าแต่งกลิ่น และให้มีสีสันน่ารับประทานยิ่งขึ้น
ซุบหน่อไม้ อาหารอีสานอีกหนึ่งเมนูที่เป็นที่นิยมทั่วไป ไม่เว้นแม้แต่ในเมืองกรุงเทพฯ และเขตปริมณฑล (ก็คนอีสานเข้าไปขายแรงงานเยอะเนาะ) ช่วยเพิ่มรสชาติให้กับการสังสรรอาหารอีสานของเฮา พบได้ในสถานที่ขายส้มตำ ลาบ ก้อย อีสานทั่วไป หรือจะนำมาทำรับประทานกันเองก็จะเอร็ดอร่อยมากกว่า ยิ่งถ้ามีปลาร้าหอมๆ ติดครัวแล้วปรุงจะได้ความแซบนัวที่ไม่ต้องง้อผลชูรสแตาอย่างใดเลยทีเดียว การทำซุปหน่อไม้นี่ใช้หน่อไม้ได้ทั้งแบบหน่อสดๆ ใหม่ๆ (อันนี้จะอร่อยที่สุด) หน่อไม้ไผ่ดอง (หน่อไม้ต้มสุก ดองใส่ปิ๊บหรือถุงมาขาย) และหน่อไม้ส้ม (หน่อไม้สดนำมาฝาน/สับเป็นชิ้นเล็กๆ ดองในน้ำเกลือ)
เครื่องปรุง
วิธีการทำ
หมายเหตุความอร่อย : การทำอาหารอีสานประเภทลาบ ก้อย ซุบ ทั้งหลายควรใส่ข้าวคั่วภายหลังการคลุกเคล้า เพื่อไม่ให้ข้าวคั่วเหนียวจนหมดความหอม โดยเฉพาอาหารที่ลวกน้ำร้อน หรือผ่านการทำให้ร้อนก่อนปรุงมา จะทำให้ข้าวคั่วเละเหนียวไปเลย ไม่อร่อย ไม่ได้รสสัมผัสในการขบเคี้ยว (เคยเห็นที่ทำขายร้านริมทางใน กทม. ชอบใส่ข้าวคั่วลงตอนที่ปรุงร้อนๆ แล้วบอกเลยว่า ขาดความแซบเพราะไม่รู้จริงๆ)
ต้ม เป็นการปรุงอาหารที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบในปริมาณมากกว่าการแกง มีรสชาติที่เข้มข้น มีรสเค็ม เปรี้ยวมากกว่าเผ็ด หรือหวาน รสชาติแตกต่างกันตามชนิดของต้ม หรือเนื้อสัตว์ที่ เป็นส่วนประกอบ การต้มทำได้ดังนี้
การปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า ถือเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของอาหารอีสาน การต้มเนื้อ ปลา ให้ ดับกลิ่นคาว ต้องต้มน้ำให้เดือดใส่เครื่องดับกลิ่น เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด หอม กระเทียมเผา ก่อน เมื่อน้ำเดือดได้ที่จึงใส่เนื้อสัตว์ในภายหลัง
ตำ เป็นชื่อเรียกอาหารที่มีวิวัฒนาการมาจากการนำผักจิ้มแจ่ว เช่นเดียวกับ "ซุบ" ซึ่งใช้ผักต้ม แต่ "ตำ" ใช้พืชที่สด ตัวอย่างที่เห็นและนิยมบริโภคทั่วไปได้แก่ ตำส้ม (ส้มตำมะละกอ) ตำแตง ตำถั่ว ตำกล้วย และผลไม้พื้นเมืองอื่นๆ การตำจะรวมเอาพืชที่มีรสต่างๆ ทั้งเผ็ด เปรี้ยว ฝาด ขม มาตำรวมด้วยกันได้
เครื่องปรุงหลักได้แก่ พืชที่ใช้ตำ (มะละกอ แตง ถั่ว กล้วยดิบ ฯลฯ) เครื่องปรุงได้แก่ พริก สดหรือแห้ง ปลาร้า น้ำปลา พืชที่ให้รสเปรี้ยวต่างๆ เช่น มะนาว มะกอก มะเขือเทศ มะเขือเครือ น้ำมะขามเปียก อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือรวมกันแล้วแต่ฤดูกาลใดมีพืชชนิดใดมาก ก็จะใช้พืชชนิดนั้น พืชที่ใช้ตำนำมาสับหรือซอยให้เป็นชิ้นเล็กๆ ยาวๆ โขลกคลุกเคล้าให้เข้ากับเครื่องปรุงรส จะ ได้อาหารที่นิยมรับประทานมาแต่ดั้งเดิม (Esarn Classic) จนถึงปัจจุบัน
เนื่องจากส้มตำเป็นอาหารที่ผ่านกระบวนการใช้ภูมิปัญญา นำพืชนานาชนิดมาคลุกเคล้าผสมกัน จนเป็นที่ถูกปากของคนทั่วไป จากชุมชนสู่ท้องถิ่น และสู่สากล เป็นอาหารที่รู้จักกันทั่วไป ซึ่งต้องมีเครื่องเคียงในการรับประทานให้ได้รสชาติ คือ ข้าวเหนียว ไก่ย่าง แคบหมู ถ้าเป็น ตำถั่วที่ใช้ถั่วปี (สีม่วง) ที่ปลุกตามหัวไร่ปลายนา เครื่องเคียงที่เหมาะสมคือ ปิ้งกบ (ขุดจากรูจำศีล จะได้รสชาติดีที่สุด) ปิ้งปลาดุกนา จะเป็นสุดยอดของความอร่อยทีเดียว
ปัจจุบันมีการพัฒนาอาหารประเภทตำ ให้มีความสอดคล้องกับรสนิยมผู้บริโภค เช่น นำเส้นขนมจีนลงตำคลุกกับตำมะละกอ เรียกว่า ตำซั่ว ถ้านำทั้งน้ำยาขนมจีน ถั่วงอก ผักกาดดอง ลงผสมด้วย พร้อมทั้งปูนานึ่งสุก และปลาร้าปลาช่อนชิ้นโต เรียกกันว่า ตำมั่ว ซึ่งสาวๆ เมืองอุบล ชอบนัก (มันแซบอีหลีตั่วละอ้าย)
ป่น เป็นเครื่องจิ้มชนิดหนึ่ง รองมาจากแจ่ว ส่วนประกอบหลักได้แก่ พริกสดหรือพริกแห้ง หัวหอมแดง กระเทียม (คั่วหรือเผาให้สุก) โขลกผสมกับเนื้อปลาต้ม ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า (จะขาดไม่ได้เลยทีเดียว) น้ำปลาและเติมน้ำต้มสุกเล็กน้อย (อาจใช้วิธีการต้มน้ำปลาร้าให้เจือจางก็ได้) อาจเพิ่มรสเปรี้ยวด้วยน้ำมะนาว แต่งกลิ่นด้วยต้นหอมซอย ลักษณะของป่นจะข้นเพื่อให้จิ้มกับผักได้ดี โดยเฉพาะผักดอง (ส้มผัก อาจทำจากผักกาดตีนหมี กะหล่ำปลี ต้นหอม ต้นผักเสี้ยน) ผักสด และ ผักลวกชนิดต่างๆ
ส่วนประกอบในการทำป่นนอกเหนือจากปลาอาจใช้เนื้อสัตว์อื่น เช่น กบ หรือเห็ดชนิดต่างๆ ก็ได้เช่นกัน
ซุบ, เนี่ยน | ต้ม | ตำ | ป่น
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)