คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
อาหารพื้นเมืองอีสาน มักจะต้องมีส่วนปรุงรส หรือ ชูรสด้วย ผักพื้นบ้านอีสาน ซึ่งมีเอกลักษณ์ทางด้านถิ่นกำเนิด กลิ่นและรสที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ หายากเพราะมีผลผลิตออกมาตามฤดูกาล นอกจากนั้นยังเป็นพืชผักที่ให้คุณค่าทางด้านสุขภาพอนามัย ปลอดสารพิษ ทำให้เป็นที่นิยมกันทั่วไป ไม่ว่าจะทำอาหารประเภทลาบ ก้อย ต้ม แกง อ่อม ล้วนต้องใช้ผักพื้นเมืองเป็นส่วนประกอบทั้งสิ้น
ในอาหารที่แนะนำให้รู้จักได้กล่าวถึงผักหลายชนิด ท่านอาจจะสงสัยว่า คือผักอะไรกันแน่ มีสรรพคุณอย่างไร เรามารู้จักกันหน่อยดีกว่า เดิมทีนำเสนอแค่ชื่อและสรรพคุณนิดหน่อย ต่อมามีผู้สอบถามเพิ่มมากขึ้นรวมทั้งเพื่อนในต่างถิ่นต่างภาคได้อ่านและเสนอมาว่า ทางบ้านถิ่นอื่นก็มีแต่เรียกชื่อต่างกัน ผมเลยนำมาขยายความเพิ่มเติม ค้นหาชื่อสามัญในถิ่นต่างๆ ชื่อทางวิทยาศาสตร์ ประโยชน์และสรรพคุณทางยา และใส่รูปประกอบเพิ่มขึ้น จนต้องขยายจากตอนเดียวมาเป็นหลายตอนตามลิงก์ท้ายหน้านี้นะครับ ขอบคุณแหล่งที่มาจากที่ต่างๆ และเพื่อนๆ ในพื้นที่อื่นๆ ที่ได้แนะนำมา ท่านใดจะให้ข้อมูลมาอีกก็ยินดีปรับปรุงข้อมูลให้ครบถ้วนรอบด้านยิ่งขึ้น
มีคุณค่าทางอาหารมาก นำไปกินใบสดหรือใช้เป็นส่วนประกอบในอาหาร ประเภทต้ม ลาบ ก้อย ป่น เพื่อดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ ส่วนคุณค่าทางยา จะได้วิตามินหลายชนิด เช่น วิตามิน ซี, บี 1, บี 2, ไนอาซีน และเบต้า-แคโรทีน ซึ่งเป็นสารเริ่มต้นของการสร้างวิตามินเอ
ผักหอมเป หรือ ผักชีฝรั่ง (Stink Weed) หรือ ผักชีใบเลื่อย มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ผักชีดอย ผักจีดอย ผักจีฝรั่ง หอมป้อมกุลา หอมป้อมกูลวา ห้อมป้อมเป้อ (เชียงใหม่, ภาคเหนือ), มะและเด๊าะ (แม่ฮ่องสอน), ผักชีใบเลื่อย (ขอนแก่น,พิจิตร), ผักหอมเทศ ผักหอมเป (เลย,ขอนแก่น), หอมป้อม หอมเป (ชัยภูมิ), หอมน้อยฮ้อ (อุตรดิตถ์), หอมป้อมเปอะ (กำแพงเพชร) เป็นต้น
ชื่อสามัญ : Culantro, Long coriander, Sawtooth coriander
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Eryngium foetidum L. จัดอยู่ในวงศ์ผักชี (APIACEAE หรือ UMBELLIFERAE)
ผักชีฝรั่ง เป็นพืชล้มลุกจัดอยู่ในวงศ์ผักชี โดยมีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้และประเทศเม็กซิโก แต่ปัจจุบันมีการเพาะปลูกกระจายไปทั่วโลก เป็นผักที่มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว มีใบสีเขียวอ่อน ขอบใบมีลักษณะคล้ายฟันเลื่อย และสำหรับวิธีการเลือกซื้อผักชีฝรั่งนั้น ให้เลือกซื้อเอาใบที่เขียวสด ไม่เหลืองและเหี่ยว เพื่อให้ยืดอายุได้ยาวนานสามารถเก็บใส่ถุงพลาสติกมัดปากถุงให้มิดชิด แล้วนำไปแช่ตู้เย็นในช่องผักได้เลย
เนื่องจากผักชีฝรั่งนั้นมีกรดออกซาลิก (Oxalic acid) ในปริมาณที่สูงมากเป็นอันดับ 1 ในตระกูลผักทั้งหลาย ซึ่งกรดออกซาลิกนี้เป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดโรคนิ่วในไตและกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งอาการที่พบตามมาก็ได้แก่ อาการปวดท้อง ปวดเอว ปัสสาวะติดขัด เป็นต้น ดังนั้นจึงไม่ควรที่จะบริโภคผักชีฝรั่งในปริมาณมากเกินไป หรือรับประทานติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ แต่ควรเปลี่ยนไปรับประทานผักชนิดอื่นบ้างสลับกันไป
สนับสนุนให้เว็บเราคงอยู่ให้บริการด้วยการคลิกไปชมสปอนเซอร์ของเราด้วยครับ
ตะไคร้ (Lemon grass) มีคุณค่ากับอาหารไทยมานานแล้ว ใส่ในต้มยำ แกงต่างๆ หรือจะหั่นฝอยใส่ยำ ใส่หม่ำ เพิ่มกลิ่นหอม เพิ่มรสชาติและดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ คุณค่าทางยา จะช่วยลดการบีบตัวของลำไส้บรรเทาอาการปวดท้อง ลดอาการจุกเสียด แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ ใช้หัวนำมาคั่วไฟกินแก้ขับปัสสาวะ แก้ขัดเบา แก้นิ่วในระยะแรกๆ แก้ปัสสาวะหยด และยังใช้ใบมาย่างไฟให้เหลือง แก้อาการปวดท้อง ท้องขึ้น ท้องเฟ้อ บรรเทาอาการร้อนใน ริมฝีปากแห้ง
ชื่อสามัญ : Lemongrass
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cymbopogon citratus (DC.) Stapf จัดอยู่ในวงศ์หญ้า (POACEAE หรือ GRAMINEAE)
ตะไคร้ จัดเป็นพืชล้มลุกตระกูลหญ้า ใบมีลักษณะเรียวยาว ปลายใบมีขนหนาม เป็นสมุนไพรไทยชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาประกอบอาหาร โดยตะไคร้แบ่งออกเป็น 6 ชนิด ได้แก่ ตะไคร้หอม ตะไคร้กอ ตะไคร้ต้น ตะไคร้น้ำ ตะไคร้หางนาค และตะไคร้หางสิงห์ ซึ่งเป็นสมุนไพรไทยที่นิยมปลูกทั่วไปในบ้านเรา โดยมีถื่นกำเนิดในประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย พม่า ศรีลังกา และไทย
ตะไคร้ เป็นทั้งยารักษาโรคและยังมีวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย เช่น วิตามินเอ ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก ฯลฯ
ตะไคร้หอม บางท้องถิ่นเรียก ตะไคร้แดง เพราะลำต้นสีแดง สรรพคุณแก้ริดสีดวง เป็นแผลในปาก ริมฝีปากแตก ร้อนในกระหายน้ำ สตรีมีครรภ์กินมากไม่ได้ กินแก้ขับเลือดเสีย ขับลมในลำไส้ ใช้ทาตามแขน ขา มือ เท้า ป้องกันยุงและแมลงรบกวนได้ดี
สะระแหน่ (Kitchen mint) เป็นผักที่มีกลิ่นดี หอมเย็น เป็นผักกินสดๆ วิตามินจึงไม่ลดลงไปเพราะการใช้ความร้อน ใช้โรยหน้าต้มยำ ลาบ ก้อย คุณค่าทางอาหารและทางยาให้ความสดชื่น ความคิดแจ่มใส ตากแห้งผสมกับใบชาชงเป็นชาหอมได้ มีเบต้า-แคโรทีน และวิตามินซีสูง
สะระแหน่ มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า หอมด่วน หอมเดือน (ภาคเหนือ), ผักขะแยะ (ภาคอีสาน), สะระแหน่สวน (ภาคกลาง), มักเงาะ สะแน่ (ภาคใต้) เป็นต้น
ชื่อสามัญ : Kitchen Mint, Marsh Mint
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Mentha × villosa Huds. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Mentha × cordifolia Opiz ex Fresen.) จัดอยู่ในวงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)
มีแหล่งกำเนิดในแถบทวีปยุโรปตอนใต้ และในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ลักษณะใบจะคล้ายคลึงกับพืชในตระกูลมิ้นต์มาก มีกลิ่นหอมคล้ายมะนาว รสชาติจะคล้ายๆ กับตะไคร้หอมและมะนาว
สรรพคุณทางยา
ช่วยกำจัดอนุมูลอิสระออกจากร่างกาย ใช้เป็นยาเย็น ดับร้อน และขับเหงื่อในร่างกาย ช่วยบำรุงและรักษาสายตา ลดรอยคล้ำใต้ตาด้วยการนำใบสะระแหน่มาบดให้ละเอียดโดยเติมน้ำระหว่างบดด้วยเล็กน้อย แล้วใส่น้ำผึ้งตามลงไป คลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วนำมาทาใต้ตาทิ้ง ไว้ประมาณ 15 นาทีแล้วล้างออก นอกจากนั้นยังช่วยบรรเทาอาการเครียด รักษาอาการปวดศีรษะ ไมเกรน ช่วยให้สมองปลอดโปร่ง โล่งคอ ด้วยการดื่มน้ำใบสะระแหน่ 5 กรัมกับน้ำ 1 ถ้วย ผสมเกลือเล็กน้อย วันละ 2 ครั้ง แก้อาการหน้ามืดตาลาย ด้วยการดื่มน้ำต้มใบสะระแหน่กับขิงสด บรรเทาอาการและแก้หวัด น้ำมูกไหล อาการไอ และรักษาโรคหอบหืด เป็นต้น
ผักชีลาว (Dill) หรือ เทียนข้าวเปลือก เทียนตาตั๊กแตน (ภาคกลาง) ผักชีตั๊กแตน ผักชีเทียน (พิจิตร) ผักชีเมือง (น่าน) เป็นพืชล้มลุกมีอายุ 1-2 ปี ลำต้นเรียบและตรง มีรูกลวงตลอดความยาว ใบประกอบแบบขนนก ดอกเป็นช่อออกจากฐานเดียวกัน กลีบดอกโค้งเข้า ปลายกลีบมีหยักเว้า ผลรูปรี มีขอบนูนขึ้นมาเป็น 3 แนวที่ด้านหลังเมล็ด
ชื่อสามัญ : Dill (อ่านว่า ดิล)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Anethum graveolens L. จัดอยู่ในวงศ์ผักชี (APIACEAE หรือ UMBELLIFERAE)
ผักชีลาว เป็นผักที่มีกลิ่นเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้หลายๆ คนชื่นชอบ (โดยเฉพาะทีมงาน IsanGate นี่มักหลายแฮง) แต่สำหรับบางคนถึงกับส่ายหัวเลยทีเดียว แต่ถึงจะอย่างนั้นก็เถอะ ผักชีลาวก็เป็นพืชผักสมุนไพรที่ทรงคุณค่ามากมาย เพราะคุณค่าทางโภชนาการของผักชีลาวนั้น ประกอบไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิดในปริมาณที่สูงอีกด้วย
สรรพคุณทางยา ขับลม บำรุงกำลัง แก้เส้นศูนย์กลางท้องพิการ แก้ชีพจรอ่อนหรือพิการ แก้นอนสะดุ้งผวา แก้เสมหะพิการ แก้กำเดา ผักชีลาวทั้งต้น ต้มน้ำดื่มแก้หวัด ตำรายาไทยใช้ ผล บำรุงกำลัง ขับลม เส้นท้องพิการ แก้นอนสะดุ้ง คลุ้มคลั่ง ช่วยเพิ่มการทำงานของกระเพาะอาหาร ช่วยย่อยอาหารที่รับประทาน แก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ และยังมีส่วนช่วยลดความดันโลหิต ขยายหลอดเลือด และช่วยกระตุ้นการหายใจได้อีกด้วย
ถึงชื่อจะมีคำว่า "ลาว" อยู่ด้วย แต่ในทางฝรั่งอินเตอร์นั้น นำเอา "ผล" หรือ "เมล็ด" ซึ่งมีน้ำมันหอมระเหย นำมาผลิตใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เช่น สบู่ โลชั่นบำรุงผิว เป็นต้น ส่วน "ใบ" นิยมนำมาใส่แกงอ่อม แกงหน่อไม้ ห่อหมก น้ำพริกปลาร้า ผักชีลาวผัดไข่ ยอดของใบใช้รับประทานกับลาบและยังช่วยชูรสชาติอาหารอีกด้วย (อาวทิดหมูการันตีได้เลย) ส่วนของผลนิยมนำมาบด เอาไปโรยบนมันฝรั่งบดหรือสลัดผัก เพื่อช่วยเพิ่มรสชาติของอาหาร รวมทั้งใบสดและแห้ง ก็นิยมนำมาโรยบนอาหารประเภทปลาเพื่อช่วยดับกลิ่นคาว น้ำมันผักชีลาวนำมาใช้แต่งกลิ่นผักดอง สตูว์ น้ำซอส ของหวาน และเครื่องดื่มรวมไปถึงเหล้าฝรั่งต่างๆ ด้วย บ่ธรรมดาเด้อขอรับ
ผักอีฮีน หรือ ผักขาเขียด (ชื่อวิทยาศาสตร์: Monochoria vaginalis) เป็นพืชชนิดหนึ่งจัดเป็นวัชพืชน้ำ พบทั่วไปในบริเวณที่มีน้ำขัง หนอง คลอง บึง ชื่อเรียกอื่นๆ ได้แก่ ขากบขาเขียด ผักเป็ด ผักเผ็ด ผักริ้น ผักหิน ผักฮิ้น ผักฮิ้นน้ำ ผักขี้เขียด กันจ้อง ผักลิ่น ผักลิ้น ริ้น ผักอีฮิน ผักอีฮินใหญ่ ในภาษาอีสาน และ "ขี้ใต้" ในภาษาใต้
เป็นไม้น้ำจำพวกผักตบ มีลักษณะเหมือนผักตบไทยแต่มีขนาดเล็กกว่า ใบเรียวยาว เกิดตามที่มีน้ำขัง เป็นพืชสะเทินน้ำสะเทินบกอายุฤดูเดียว ชอบขึ้นในที่น้ำท่วมขังตื้นๆ เช่น ในนาข้าว ใบเป็นใบเดี่ยวมีรูปร่างหลายแบบตั้งแต่รูปแคบยาวคล้ายหอก จนถึงรูปไข่ปลายใบแหลม ฐานใบเป็นรูปหัวใจ ใบสีเขียวเข้มเป็นมัน แตกแบบสลับกัน ดอกออกเป็นช่อตั้งตรง มีดอกย่อย 2-5 ดอก กลีบดอกสีม่วง มี 6 กลีบ มีเมล็ดมาก ดอกอ่อนและก้านใบรับประทานได้ ใบคั้นเอาน้ำดื่มแก้ไอ ขับปัสสาวะ หรือตำละเอียดใช้พอกฝี
ยอดอ่อน ใบอ่อนและดอก จะออกในช่วงหน้าฝนใช้รับประทานเป็นผัก นิยมรับประทานทั้งต้น มักเก็บช่วง 2–3 อาทิตย์แรกเท่านั้น หลังจากนั้นต้นจะแก่ รับประทานไม่อร่อย วิธีรับประทานเป็นอาหาร จะรับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก หรือกับแกงรสจัดของภาคใต้ หรืออาหารรสจัดประเภท ลาบ ยำ ก้อย ส้มตำได้ นอกจากนี้ยังนำไปแกงส้ม แกงกับปลา หรือเนื้อหมู
สรรพคุณทางยา
ใบของผักอีฮีนหรือผักเขียด นำมาคั้นน้ำรับประทาน แก้ไอ ขับปัสสาวะ ตำพอกฝี หรือรับประทานใบสด ผักเขียดมีรสจืด เย็น เหมาะรับประทานเพื่อลดความร้อนในร่างกาย
ผักขะแยง (Balloon vine) ผักที่มีกลิ่นรสหอมฉุน ใช้ปรุงรสอาหารโดยเฉพาะแก่งอ่อมกบ แกงหน่อไม้ คุณค่าทางยา คั้นน้ำจากต้นแก้ไข้ ทั้งต้นเป็นยาขับน้ำนม ขับลมและเป็นยาระบาย มีวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด
ผักขะแยง หรือ ผักแขยง ตามหลักทางพฤกษศาสตร์แล้วจะมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิด คือ Limnophila aromatica (Lam.) Merr. และ Limnophila geoffrayi Bonati. (ชนิดต้นเล็ก พบได้มากทางภาคอีสาน)
มีชื่อวิทยาศาสตร์ Limnophila aromatica (Lam.) Merr. จะจัดอยู่ในวงศ์เทียนเกล็ดหอย (PLANTAGINACEAE) มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ผักพา (ภาคเหนือ), จุ้ยหู่โย้ง (จีนแต้จิ๋ว), สุ่ยฝูโหยง (จีนกลาง), ผักกะแยง แขยง คะแยง ผักกะออม มะออม ผักลืมผัว ควันเข้าตา อีผวยผาย เป็นต้น
ผักขะแยงจัดเป็นผักพื้นบ้านในกลุ่มที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง จึงช่วยในการต้านมะเร็ง และต้านการเจริญของเชื้อโรคต่างๆ ได้ การรับประทานผักขะแยงแบบสดๆ ยังช่วยดับกลิ่นตัว กลิ่นเต่าได้ด้วย ทั้งต้น ยอดอ่อน และใบอ่อน สามารถรับประทานเป็นผักสดร่วมกับลาบ ก้อย แจ่ว น้ำพริก ส้มตำ ซุปหน่อไม้ หรือนำไปเป็นเครื่องปรุงรสและแต่งกลิ่นช่วยดับกลิ่นคาวสำหรับต้มส้ม แกงหน่อไม้ แกงอ่อมต่าง ๆ เช่น อ่อมกบ อ่อมเขียด อ่อมหอย อ่อมปลา อ่อมเนื้อวัว เป็นต้น
ในปัจจุบัน "ผักขะแยงแห้ง" จัดเป็นสินค้าสำหรับการส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศแล้ว เนื่องจากทั้งคนไทย ลาว เขมร เวียดนาม ที่นิยมบริโภคผักชนิดนี้ได้ไปพำนักพักอาศัยอยู่กันในแถบยุโรปและอเมริกาเป็นจำนวนมาก จึงมีความต้องการสูง
มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์พบว่า น้ำมันหอมระเหยจากผักขะแยงมีฤทธิ์ต่อต้านจุลินทรีย์ จึงได้มีการนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอาง เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของจุลินทรีย์ และน้ำมันหอมระเหยของผักขะแยงยังมีคุณสมบัติเป็นยาฆ่าแมลงในกลุ่มที่ทำลายผลไม้ได้อีกด้วย ส่วนประโยชน์ในด้านอื่นๆ เกษตรกรจะนำผักขะแยงมาใช้ในการไล่แมลง และยังมีงานวิจัยที่พบว่า น้ำมันหอมระเหยที่สกัดได้ ซึ่งมีกลิ่นคล้ายกับน้ำมันสน และการสกัดด้วยไอน้ำสามารถช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียชนิดหนึ่ง ที่มักพบปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์อาหารและนม รวมถึงเนื้อสัตว์และไข่ไก่ ซึ่งทำให้เกิดอาหารเป็นพิษอีกด้วย
สรรพคุณทางยา
ผักแขยงมีรสเผ็ดร้อน กลิ่นหอมฉุน ช่วยทำให้เจริญอาหาร ลดอาการเบื่ออาหาร หมอยาพื้นบ้านแนะนำว่า ให้กินผักแขยงทั้งต้นเพื่อป้องกันเส้นเลือดตีบตันและไข้ร้อนใน ใช้เป็นยาแก้ไข้ ลดไข้ ด้วยการใช้ต้นผักขะแยงสดๆ ประมาณ 15-30 กรัม นำมาต้มกับน้ำกิน ตำรายาพื้นบ้านทางภาคอีสานจะใช้ผักขะแยงทั้งต้นเป็นยาช่วยขับน้ำนมของสตรี โดยจะนำมาใช้หลังจากการคลอดบุตรมาได้สักพักแล้ว เนื่องจากตอนคลอดบุตรใหม่ๆ ร่างกายของคุณแม่อาจยังไม่เข้าที่หรือยังอ่อนแอมาก กลิ่นของผักขะแยงอาจทำให้เกิดอาการเวียนหัวหรือคลื่นไส้ได้ ช่วยแก้น้ำนมแม่ที่มีรสเปรี้ยว
ตำรายาพื้นบ้านภาคอื่นๆ จะใช้ผักขะแยงทั้งต้นและรากเป็นยาแก้ไข้หัวลม โดยใช้ในปริมาณตามต้องการ ก่อนนำมาใช้ให้ล้างน้ำให้สะอาดเสียก่อน แล้วนำมาตำให้ละเอียดคั้นเอาแต่น้ำกิน ใช้เป็นยาขับลมและเป็นยาระบายท้อง ใช้แก้อาการคัน กลาก และฝี ด้วยการใช้ต้นสดนำมาต้มกับน้ำใช้ชะล้างบริเวณที่เป็น หรือนำมาคั้นเอาน้ำทา หรือนำมาตำพอกบริเวณที่เป็น ใช้ตำพอกแก้อาการบวม ใช้เป็นยาแก้พิษงู (สำหรับงูพิษที่ไม่มีพิษร้ายแรง) ด้วยการใช้ต้นสดๆ ประมาณ 15 กรัม นำมาตำให้ละเอียดผสมกับต้นฟ้าทะลายโจรสด ประมาณ 30 กรัม แล้วนำไปผสมกับน้ำส้มในปริมาณพอควร คั้นเอาน้ำดื่ม ส่วนกากที่เหลือให้เอามาพอกรอบๆ บาดแผล แต่อย่าพอกบนบาดแผล ส่วนต้นแห้งที่เก็บไว้นาน 1 ปี เมื่อนำมาต้มกับน้ำดื่ม จะมีสรรพคุณเป็นยาแก้พิษเบื่อเมา
ผักถั่วพู จัดเป็นพืชในเขตร้อน มีถิ่นกำเนิดในประเทศแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้แก่ ประเทศไทย ลาว พม่า อินเดีย ฟิลิปปินส์ และปาปัวนิวกินี และในปัจจุบันถั่วพูก็เป็นพืชที่สามารถปลูกได้ในรัฐฟลอริดา ของอเมริกา มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ถั่วพูใหญ่ ถั่วพูตะขาบ ถั่วพูจีน เป็นต้น
ชื่อสามัญ : Winged bean, Goa bean, Asparagus pea, Four-angled bean, Winged pea
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Psophocarpus tetragonolobus (L.) DC. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยถั่ว FABOIDEAE (PAPILIONOIDEAE หรือ PAPILIONACEAE)
หลายคนคงเกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า ลักษณะที่ว่าเป็นพูๆ นั้นเป็นอย่างไร คำว่า "พู" เป็นคำในยุคสมัยเก่า ไม่ค่อยพบว่าใช้กันบ่อยนักในปัจจุบัน ในหนังสืออักขราภิธานศรับท์บอกว่า คำว่า "พู" หมายถึง "กลีบใหญ่เหมือนลูกทุเรียนที่เป็นกลีบๆ มียวงอยู่ข้างใน" ส่วนในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ปี พ.ศ. 2525 อธิบายว่า "พูเป็นชื่อเรียกของสิ่งที่มีลักษณะนูนออกมา เช่น พูทุเรียน" จากความหมายดังกล่าวแสดงว่า คนไทยมองฝักถั่วพูว่ามีพู (4 พู) จึงนำมาตั้งเป็นชื่อของถั่วชนิดนี้ แต่สำหรับชาวต่างชาติจะมองว่า มันมีลักษณะเป็นปีก จึงเป็นที่มาของชื่อ "Winged bean" นั่นเอง
ประโยชน์ของถั่วพู
ถั่วพู เป็นยอดอาหารเหนือชั้นที่มีความเหนือกว่าพี่น้องตระกูลถั่วทั้งหลาย มีประโยชน์มาก และยังเป็นพืชเพียงไม่กี่ชนิด ที่สามารถนำมารับประทานได้แทบทุกส่วนของต้น เป็นพืชที่มีสารขัดขวางต่ำ จึงช่วยทำให้การดูดซึมแคลเซียมในร่างกายเป็นไปได้ด้วยดี เมื่อรับประทานถั่วพูแล้วร่างกายสามารถดูดซึมแคลเซียมไปใช้ได้ถึง 39.1-51.9% การรับประทานถั่วพูอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง สามารถช่วยป้องกันและลดการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ช่วยป้องกันมะเร็งเต้านม และยังส่งผลดีต่อฮอร์โมนเพศหญิงอีกด้วย เพราะพืชตระกูลถั่วที่กินได้ทั้งฝักทั้งหลายจะมีสารที่มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์โปรติเอส การรับประทานถั่วทั้งชนิดแห้งและสด เช่น ถั่วพู นอกจากจะได้เส้นใยอาหารมากแล้ว ยังมีส่วนช่วยลดคอเลสเตอรอลได้อีกด้วย
ปัจจุบันนิยมปลูกถั่วพูไว้ตามริมรั้วหรือในสวนหลังบ้าน หรือปลูกตามหัวไร่ปลายนา เพื่อใช้เป็นผักสวนครัว โดยส่วนที่นำมาใช้เป็นอาหารได้แก่ ยอดอ่อน ใบอ่อน ดอกอ่อน ฝักอ่อน รสมัน (ใช้กินเป็นผัก) และหัวใต้ดิน (ใช้กินเป็นอาหารแห้ง) คนไทยทั่วไปนิยมใช้ฝักอ่อนเป็นผักสดจิ้มรับประทานกับน้ำพริก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับน้ำพริกปลาร้า หรือนำไปปรุงอาหาร เช่น ผัดกับน้ำมันหอย แกงเผ็ด ลวกราดน้ำกะทิ หรือทำเป็นยำถั่วพู นำมาหั่นเป็นเครื่องเคียงขนมจีน ใช้ผสมในทอดมันเช่นเดียวกับถั่วฝักยาว ส่วนทางภาคใต้ก็นิยมกินยอดอ่อน ฝักอ่อน และดอกอ่อนเป็นผักสด หรือนำไปต้ม นำไปผัด ใส่แกงส้ม ทำแกงไตปลาก็ได้
สรรพคุณของถั่วพู
ฝักอ่อนถั่วพูช่วยบำรุงร่างกาย หรือจะใช้เมล็ดแก่ตากแห้งนำมาบดให้เป็นผง นำมาละลายกับน้ำครั้งละ 5-6 กรัม ใช้รับประทานก่อนอาหารวันละ 3 เวลา ส่วนหัวก็ช่วยบำรุงร่างกายด้วยเช่นกัน หัวใต้ดินนำมาเผาหรือนึ่งกินช่วยบำรุงกำลัง หรือจะใช้รากถั่วพูใช้ผสมกับสมุนไพรและน้ำดอกไม้ ใช้เป็นยาชูกำลังก็ได้เช่นกัน และอีกตำราบอกว่าให้ใช้เมล็ดแก่นำมาต้มให้สุกแล้วรับประทาน หรือจะนำเมล็ดที่ต้มสุกแล้วมาบดให้ละเอียดผสมกับน้ำสุก ใช้ดื่มก่อนอาหารวันละ 3 เวลาก็จะช่วยทำให้สุขภาพแข็งแรง เพิ่มกำลังวังชาได้เช่นกัน
หัวถั่วพู เมื่อนำมาตากแห้งแล้วคั่วให้เหลือง ใช้ชงกับน้ำดื่ม ช่วยแก้อาการอ่อนเพลียได้ ส่วนฝักอ่อนก็ช่วยได้เช่นกัน ฝักถั่วพูอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด เช่น วิตามินเอ ซี อี และยังเป็นผักที่มีโปรตีนสูง ซึ่งเป็นตัวช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกายและทำให้ร่างกายแข็งแรง หัวมีรสชุ่มเย็น ช่วยทำให้ดวงจิตชุ่มชื่น การรับประทานฝักถั่วพูเป็นประจำจะช่วยบำรุงกระดูกและฟันได้เป็นอย่างดี เพราะถั่วพูมีแคลเซียมและฟอสฟอรัสสูง ส่วนรากใช้ประกอบสมุนไพรและน้ำดอกไม้ ใช้เป็นยาแก้โรคหัวใจ
อีตู่ หรือ แมงลัก เป็นพืชล้มลุกในสกุลกะเพราและโหระพา ลักษณะของต้นจะคล้ายกับต้นกะเพรา ต่างกันที่กลิ่น และสีใบจะอ่อนกว่า มีลำต้นสูงประมาณ 30-80 เซนติเมตร มีกลิ่นหอมทุกส่วน ใบเดี่ยว ใบเรียงตรงข้ามเป็นคู่ๆ ดอกและช่อจะออกที่ปลายยอด อาจเป็นช่อเดี่ยวหรือแตกออกเป็นช่อย่อยๆ ดอกจะบานจากล่างไปบน มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ก้อมก้อข้าว (ภาคเหนือ), มังลัก, อีตู่ (ภาคอีสาน) เป็นต้น
ชื่อสามัญ : Lemon basil, Hoary basil, Hairy basil
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ocimum × africanum Lour. (ชื่อพ้อง Ocimum americanum var. pilosum (Willd.) A.J.Paton, Ocimum basilicum var. anisatum Benth., Ocimum × citriodorum Vis.) ในจัดอยู่ในวงศ์กะเพรา (LAMIACEAE หรือ LABIATAE)
ต้นอีตู่ หรือ ต้นแมงลัก ส่วนที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ก็คือ เมล็ดและใบ ซึ่งในส่วนของใบนั้นเรานิยมนำมาใช้ประกอบอาหาร หรือใส่เครื่องแกงต่างๆ เช่น แกงเลียง แกงอ่อม เป็นต้น นำมาเป็นผักแนมกับข้าวปุ้น (ขนมจีน) เข้ากันยิ่งนัก ส่วนเมล็ดก็นำมาใช้ทำเป็นขนมอื่นๆ ได้ หรือจะนำไปผสมกับเครื่องดื่มก็ได้ เช่น น้ำเต้าหู้ น้ำขิง น้ำใบเตย (ใส่ในโจ๊กก็ได้นะ) โดยสามารถรับประทานได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ และยังปลอดภัยสำหรับหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรอีกด้วย สาวๆ ที่ชอบการลดหุ่นด้วยการลดอาหารมักจะทานเมล็ดแมงลักนี่แหละ นัยว่าจะช่วยให้อิ่มไวอิ่มนานเพราะไปขยายปริมาณในกะเพราะอาหาร
ด้วยความที่มองดูคล้ายๆ กันกับโหระพา จึงมีวิธีสังเกตความแตกต่างระหว่างแมงลักกับโหระพาง่ายๆ ก็คือ ใบแมงลักจะเล็กกว่าใบโหระพา มีลำต้นสีเขียวอ่อนเกือบขาว ส่วนใบโหระพาลำต้นจะออกสีม่วงแดง เมื่อนำมาเทียบกันแล้วโหระพาจะต้นใหญ่กว่าแมงลัก และใบแมงลักจะเป็นรูปรีออกตรงข้ามกัน ปลายและโคนของใบแหลม ขอบใบเรียวหรือหยักมนๆ ซึ่งต่างจากใบโหระพาที่ขอบใบจะหยักเป็นฟันเลื่อยห่างๆ แต่เอาเข้าจริงถ้าเด็ดใบมาดมกลิ่นจะต่างกันชัดเจน
ประโยชน์ของเม็ดแมงลัก
เม็ดแมงลัก ช่วยลดความอ้วน เพราะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลได้ มีสรรพคุณในการเปลี่ยนคอเลสเตอรอลไปเป็นกรดน้ำดี และยังช่วยเพิ่มการขับออกของกรดน้ำดีด้วย ซึ่งจะไปลดเฉพาะคอเลสเตอรอล จึงเป็นตัวช่วยสำหรับผู้ที่ต้องควบคุมน้ำหนักและความอ้วน เนื่องจากเม็ดแมงลักไม่ก่อให้เกิดพลังงาน และมันสามารถพองตัวได้มากถึง 45 เท่า (โอ้โฮ เฮะ!) เมื่อนำมารับประทานเป็นอาหาร (ควรรับประทานแค่บางมื้อต่อวัน เพื่อป้องกันโรคขาดสารอาหาร) หรือจะรับประทานก่อนอาหารเพื่อทำให้กระเพาะไม่ว่างและรู้สึกอิ่ม เป็นการช่วยควบคุมปริมาณอาหารที่รับประทานไปด้วยเป็นอย่างดี สำหรับวิธีชงเม็ดแมงลักก็คือใช้เม็ดแมงลักประมาณ 2 ช้อนชานำมาแช่น้ำ 1 แก้วใหญ่ทิ้งไว้จนพองตัวเต็ม นำมาผสมกับน้ำร้อน 1 แก้วแล้วนำมารับประทาน (หรือจะผสมกับน้ำผึ้ง น้ำสมุนไพร หรือนมก็ได้)
เมื่อรับประทานเป็นประจำ จะช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคหัวใจได้อีกด้วย เม็ดแมงลักเป็นอาหารที่เหมาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพราะช่วยทำให้การดูดซึมของน้ำตาลลดลง เนื่องจากเม็ดแมงลักทำให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้ช้าลงอยู่แล้ว และเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ค่อยรับประทานอาหารที่มีกากใยอย่างพวก ผักผลไม้ ช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้เป็นปกติและมีประสิทธิภาพ ขับถ่ายสะดวก
ใบแมงลักช่วยแก้อาการวิงเวียนศีรษะได้ มีสรรพคุณในการช่วยขับเหงื่อ ช่วยแก้อาการท้องอืดท้องเฟ้อ ด้วยการใช้ใบสดมาล้างน้ำให้สะอาดแล้วรับประทาน มีฤทธิ์ช่วยขับลมในลำไส้
โทษของเม็ดแมงลัก
อะไรที่มีประโยชน์ถ้ามากไปก็มีโทษเหมือนกัน การรับประทานเม็ดแมงลักในปริมาณมากๆ อาจจะเกิดอาการแน่นท้องรู้สึกไม่สบายตัวได้ การรับประทานเม็ดแมงลักในขณะที่ยังพองตัวไม่เต็มที่ อาจจะเกิดการดูดน้ำจากกระเพาะอาหาร ทำให้เม็ดแมงลักจับตัวกันเป็นก้อนและอุดตันในลำไส้ ซึ่งอาจทำให้ท้องผูกได้เช่นกันถ้ารับประทานแบบผิดวิธี ไม่ควรรับประทานเม็ดแมงลักพร้อมกับกับยาอื่นๆ เพราะจะมีผลทำให้ร่างกายดูดซึมยาเหล่านั้นได้ไม่ดีและน้อยลง ดังนั้นควรทานยาก่อนสักประมาณ 15-30 นาทีแล้วค่อยรับประทานเม็ดแมงลักตามเด้อสิบอกให่
ผักก้านจอง มีชื่อเรียกอื่นๆ ตามท้องถิ่นต่างๆ เช่น ตาลปัตรฤาษี บอนจีน นางกวัก ตาลปัตรยายชี หรือผักพาย เป็นพืชล้มลุกที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ ดังนั้นถ้านำมาปลูกการดูแลรักษาจึงไม่ใช่ปัญหามากมายนัก อายุการเก็บเกี่ยวผลผลิตนานหลายปี เป็นไม้น้ำพบบริเวณนาข้าวและบริเวณที่มีน้ำขังทั่วไป ลำต้นเหง้าฝังจมอยู่ในโคลนเจริญเป็นต้น บางครั้งมีไหลสั้นๆ จำนวนมาก ก้านใบยาวเป็นเหลี่ยมอวบใหญ่ ตัวใบแบนมีขนาดใหญ่เป็นรูปไข่หรือรูปรีป้อมฐานใบเป็นรูปหัวใจดอกสีเหลืองออกเป็นกระจุกที่ปลายก้านช่อ
ชื่อสามัญ : Limnocharis flava
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Limnocharis flava (L.) Buchenau) วงศ์ : Limnocharitaceae
สรรพคุณต่างๆ ของผักก้านจอง
ช่วยเจริญอาหาร และป้องกันไข้หัวลม (เป็นช่วงเปลี่ยนฤดู หรือสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ทำให้ร่างกายปรับสภาพไม่ทัน) ผักก้านจอง สามารถนำมากินได้ ทั้งต้นอ่อน ก้านใบ และดอก นอกจากจะให้รสชาติ หวานมันอร่อยแล้ว กินเป็นผักสดแกล้ม ลาบก้อย น้ำพริก และยังทำเป็นผักสุกโดยการลวกเป็นผักจิ้มน้ำพริก เห็นพี่น้องบ้านเฮานำเอาผักก้านจองมาปรุงเป็นก้อย โดยการย่างให้สุกตัดเป็นท่อนสั้นๆ ผสมกับเห็ดฟางย่าง นำมาคลุกเข้ากันผสมกับข้าวคั่ว หัวหอม ผักชี ผักหอมเป พริกป่น น้ำปลาแดก บีบบักนาวจักหน่อย ให้มีรสเปรี้ยวนำเค็ม จะทำให้รสชาติของผักก้านจองอร่อยเหาะมากขึ้น
นอกจากนี้ ผักก้านจองทั้งต้นยังนำไปหมักใช้ทำปุ๋ยพืชสด และใช้เป็นอาหารสัตว์ เช่น โค กระบือ ได้อีกด้วย ประโยชน์หลายอยู่
ผักติ้ว เป็นไม้ป่าที่ขึ้นประปรายในป่าเบญจพรรณแล้ง พบแพร่กระจายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย ลาว พม่า และเวียดนาม ในประเทศไทยพบได้ในทุกภาค แต่พบมากในภาคเหนือและอีสาน ดอกของต้นผักติ้วจะบานเต็มต้นสวยงามและส่งกลิ่นหอม เหมาะสำหรับปลูกเป็นต้นไม้ที่ให้ร่มเงาและไม้ประดับ ส่วนต่างๆ ของผักติ้วก็สามารถรับประทานเป็นอาหารและยาได้ด้วย ผักติ้วจะมีอยู่ 3 ชนิด คือ ติ้วขาว ติ้วขน และติ้วหนาม ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะติ้วขาวที่กินได้เท่านั้น
ติ้วขาว มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า แต้วหิน (ลำปาง), ผักเตา เตา (เลย), ติ้วส้ม (นครราชสีมา), กวยโชง (กาญจนบุรี), ตาว (สตูล), ติ้วแดง ติ้วยาง ติ้วเลือด ติ้วเหลือง (ภาคเหนือ), ติ้วเหลือง (ภาคกลาง), แต้ว (ภาคใต้), ผักติ้ว เป็นต้น
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cratoxylum formosum (Jacq.) Benth. & Hook.f. ex Dyer (Cratoxylum formosum subsp. formosum) ปัจจุบันจัดอยู่ในวงศ์ติ้ว (HYPERICACEAE)
ประโยชน์จากผักติ้ว
ผักติ้วปรุงอาหารได้หลากหลายเมนู แกงปลาย่างใส่ผักติ้ว แกงปลาใส่ไข่มดแดง แกงเห็ดนางรม แกงส้มใบแต้ว แกงเห็ดปลวกใส่ผักติ้ว แค่นึกรายชื่อเมนูอาหารจากผักติ้ว ก็น้ำลายสอแล้ว คนอีสานนิยมกินผักติ้วคู่กับลาบ ก้อย เอาไปทำซุปเส้นผักติ้วิ (ใช้วุ้นเส้นลวกสุก กับยอดผักติ้วอ่อน คลุกกับป่นปลาหรือป่นกบ แซบๆ เด้อพี่น้อง) หรือจะนำไปยำใส่เนื้อ หมู ไก่ ก็ได้เช่นกัน ชาวปักษ์ใต้ก็นิยมนำยอดอ่อนผักติ้วรสเปรี้ยว ปนฝาด กินกับขนมจีนน้ำยา และแกงพื้นบ้านปักษ์ใต้ ได้รสชาติอร่อยเด็ด
ไม้ติ้วขาวสามารถนำมาใช้ในการก่อสร้าง ทำโครงสร้างบ้าน สร้างขื่อบ้าน ทำกระดานพื้น สร้างรั้ว ทำเสาเข็ม ทำด้ามเครื่องมือ จอบ เสียม เครื่องตกแต่งภายในเรือน กระสวยทอผ้า ทำหีบใส่ของ ฯลฯ
สรรพคุณทางยาของติ้วขาว
ยอด, ใบอ่อน, ดอก, เถา ช่วยบำรุงโลหิต ฟอกโลหิต แก้ประดง ช่วยขับลม ส่วนเปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำกินแก้ธาตุพิการ รากและใบ ใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้อาการปวดท้อง ใช้รากผสมกับรากปลาไหลและหัวแห้วหมู นำมาต้มกับน้ำดื่มวันละ 3 ครั้งเป็นยาขับปัสสาวะ แก้อาการปัสสาวะขัด
ต้นและยางจากเปลือกต้น ใช้ทาแก้อาการคัน ผักติ้วเป็นผักที่มีวิตามินเอสูง จึงมีสรรพคุณช่วยป้องกันไม่ให้เด็กเป็นตาบอดกลางคืน และโรคตาไก่
ผักเม็ก ไม้พุ่มหรือไม้ยืนต้นขนาดเล็กความสูง 5-10 เมตร ลำต้นสีแดงเปลือกต้นบางซ้อนกันหลายชั้น แตกกิ่งก้านมาก ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ใบอ่อนสีน้ำตาล-ชมพู ใบแก่สีเขียวเข้มเป็นมัน ใบลักษณะรูปหอก ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม รสฝาดอมเปรี้ยว ดอกเป็นดอกช่อเล็กๆ สีเหลืองอ่อน ออกที่ปลายยอดเกสรสีเหลืองอ่อน ผลทรงกลมหรือรูปไข่ ผลแก่สีขาวขนาดเล็ก กว้าง 5 มม. ยาว 6 มม. ก้นผลนูนออกมาและบุ๋ม ส่วนที่เราใช้บริโภคคือ ยอดอ่อน ใบอ่อน
ชื่อสามัญเรียกอื่นๆ เช่น ผักเสม็ด, ผักเม็ก (นครราชสีมา), ไคร้เม็ด (เชียงใหม่), เม็ก (ปราจีนบุรี), เม็ดชุน (นครศรีธรรมราช), เสม็ด (สกลนคร, สตูล), เสม็ดเขา, เสม็ดแดง (ตราด), เสม็ดชุน (ภาคกลาง), ยีมือแล (มลายู – ภาคใต้), ขะเม็ก เป็นต้น
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Syzygium gratum (Wight) S.N. Mitra var. gratum วงศ์ MYRTACEAE
สรรพคุณทางยาสมุนไพร คือ น้ำมันจากใบ มีกลิ่นคล้ายการบูร เรียกว่า “น้ำมันเขียว” ใช้นวดแก้เคล็ด เมื่อย ปวดบวม แก้หมัด เหา ชุบสำลีอุดฟันแก้ปวดฟัน
คุณค่าทางอาหาร คือ กินเป็นยาขับเสมหะ แก้หลอดลมอักเสบ ขับลม กินมากเป็นยาขับพยาธิ ส่วนที่ใช้เป็นอาหาร ใบอ่อน ยอดอ่อน รับประทานเป็นผักสดกับน้ำพริก ลาบ ยำ ใช้รับประทานกับขนมจีนหรือเป็นผักจิ้มน้ำพริก นอกจากนี้ยังนำมาปรุงกับเครื่องปรุงต่างๆ เช่น ปลาร้า มะนาว ข้าวคั่ว หอมแดง พริก ฯลฯ คลุกเคล้าให้เข้ากัน ชิมรสตามชอบ เรียก ซุบผักเม็ก
ผักเม็กมีรสฝาดปนเปรี้ยวนิดๆ ยอดสีขาวจะอร่อยกว่ายอดสีแดง นิยมรับประทานกันมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน
ข้อควรระวัง : สำหรับการรับประทานผักเม็ก คือ ในผักเม็กมีสารออกซาเลต (Oxalate) สูง หากรับประทานสดหรือรับประทานจำนวนมากอาจเสี่ยงต่อการเป็นนิ่วได้ ซึ่งแก้ไขโดยการรับประทานอาหารที่มีโปรตีนหรือประเภทเนื้อสัตว์ควบคู่กันไป อันตรายจากโรคนิ่วก็จะไม่มี
ตดหมูตดหมา เป็นชื่อของพืชชนิดหนึ่ง ที่กำลังมีกระแสโด่งดังอยู่ในโลกโซเชียล เกี่ยวกับสรรพคุณช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งหลายคนที่ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับสมุนไพร คงเคยได้ยินหรือได้เห็นผ่านหูผ่านตามาบ้าง ต้นตดหมูตดหมาเป็นไม้ล้มลุก เป็นพืชที่ขึ้นได้ทั่วไป ในป่าธรรมชาติและบริเวณในสวน ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด และเพาะเลี้ยงต้นอ่อน นิยมปลูกขึ้นเลื้อยตามรั้วบ้าน เพื่อเก็บยอดอ่อน ใบอ่อน รับประทานเป็นผักแกล้มลาบ ยำ พล่า ก้อย หรือน้ำพริก มีบางท้องถิ่นเห็นเก็บมาวางขายตลาดสดกันก็มี
ตดหมูตดหมา เป็นชื่อที่คนส่วนใหญ่เรียกกัน มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “กระพังโหม” และมีชื่อพ้องที่เรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น เช่น ตำยานตัวผู้ พังโหม ย่านพาโหม หญ้าตดหมา เป็นต้น
ชื่อวิทยาศาสตร์ จัดอยู่ในวงศ์ Merremia tridentata (L.) Hallier f. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Convolvulus tridentatus L., Ipomoea tridentata (L.) Roth, Xenostegia tridentata (L.) D.F. Austin & Staples) จัดอยู่ในวงศ์ผักบุ้ง (CONVOLVULACEAE)
สรรพคุณทางยาของเถาตดหมา
ใบใช้ตำพอกศีรษะเป็นยารักษาไข้ป่า รากนำมาต้มกับน้ำใช้บ้วนปากเป็นยารักษาอาการปวดฟัน ช่วยระบายความร้อนในร่างกาย ประโยชน์ทางยา นับได้ว่าเป็นสมุนไพรตัวหนึ่ง ที่มีสรรพคุณรักษาอาการอักเสบบริเวณคอ ปาก รักษาบาดแผล เป็นยาระบายอ่อนๆ สำหรับเด็ก รากมีสรรพคุณแก้โรคดีซ่าน
พี่น้องชาวบ้านในแถบถิ่นอีสานใต้อย่าง จังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดศรีสะเกษ มีขนมท้องถิ่นที่ชื่อไม่น่ากินอย่าง “ขนมตดหมา” หรือเรียกตามภาษาถิ่นว่า “เวือระพอม” เป็นขนมพื้นบ้านที่มีมานมนานแต่โบราณ มีรสชาติอร่อยที่อยากให้ทุกคนได้ลองชิมกัน ถ้าได้ผ่านไปเที่ยวทางแถบนั้น
ผักพื้นบ้านอีสาน : ตอนที่ 1 | ตอนที่ 2 | ตอนที่ 3 | ตอนที่ 4 | ตอนที่ 5 | ตอนที่ 6
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)