คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
อาหารอีสานบางประเภทคนภาคอื่นอาจเห็นเป็นเรื่องแปลก "กินเข้าไปได้อย่างไรกัน" แต่สำหรับคนอีสานเองนั้น มันเป็นเรื่องธรรมดามากๆ เพราะความอร่อยเด็ด หากินได้ยาก มีเป็นบางฤดูกาลเท่านั้น จนบางคนบอกว่ามันเป็น "อาหารอีสานอินดี้" วันนี้เอามาแนะนำสั้นๆ หลายๆ ชนิดครับ เพราะทิดหมูเองกะไปหามาชิมยากคือกัน เว้นแต่ฟลุ๊กกลับบ้านเกิดไปพ้อลุงป้า น้าอาที่สนิทกันที่ทราบข่าวว่า หลานสิเมือยามบ้านจั่งไปหาเตรียมไว้ต้อนรับเป็นพิเศษเท่านั้น บางชนิดก็เคยเสนอไปแล้วอย่าง แกงขี้เหล็กใส่หนังควายจี่ แกงหน่อไม้ หมกฮวก ลาบเทา/แกงไข่ผำ สำหรับวันนี้เอาที่แปลกๆ มาเสนอครับ
เชื่อว่า หลายๆ คนคงเคยฟังนิยายปรัมปรา เรื่อง ท้าวขูลูนางอั้ว กันมาบ้างแล้ว พอบอก "คั่วขูลู" หลายคนสงสัยสิอุทานว่า "อ้าวๆ ทิดหมู เจ้าคือมากินของแปลก สัตว์ใหญ่สัตว์โตแท้ล่ะบาดนี่" โอ้ย! บ่แม่นเด้อครับ เป็นสัตว์น้อย สัตว์แปลกๆ ที่หลายคนคงเคยเห็น แต่ไม่ได้แกะดูข้างใน ไผเคยไปหามาคั่วแหน่ยกมือขึ้น
ขูลู หริอ คูลู หรือ กูลู มันก็คือ ดักแด้ ด้วงชนิดหนึ่ง ม้วนทำรังอยู่ใบกล้วย เรียก ด้วงขูลู หรือหนอนที่กินใบกล้วยนั่นเอง ภาษาอังกฤษ : type of larvae that makes nest in rolled bit of banana leaf. หลายคนคงเคยเห็นใบกล้วยที่ถูกหนอนชนิดนี้กัดกิน เมื่อแก่ตัวมันจะพันใบกล้วยเข้าเป็นม้วนๆ เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการเป็นดักแด้ ก่อนจะเป็นตัวด้วงบินหนีในวันต่อๆ ไป
ถ้ามีจำนวนมากชาวบ้านจะนำมาคั่วใส่เกลือกินได้ มันมัน เค็มๆ จั๊กหน่อยเพิ่นหว่าจั่งซั้น ถ้ามีน้อยสมัยก่อนทิดหมูกะเด็ดเอาม้วนใบกล้วยพวกนี้ โยนลงกองไฟโลด สุกแล้วกะกินได้ ผู้บ่เคยกินกะอาจสิฮ้องยี้ๆ อ๊วกแตกได้ "ของแซบมันแล้วแต่ผู้มักเด้ออาว์"
บ๊ะ ทันสมัยเด้นี่ ไทอีสานบ้านเฮาใช้สี่จี (4G) มาดนนาน มีหลายจนเอามาคั่วพุ้นแหล่วพี่น้อง อันว่า "สี่จี" นี้ประกอบด้วย
1. จีซอน หรือ อีซอน หรือ กีซอน ทางภาคเหนือเรียก แมงจอน ทางเขมรเรียก กระมล ทางภาคกลางเรียก แมลงกระชอน เป็นตัวเดียวกันนั่นแหละ เป็นแมลงจำพวกหนึ่งในวงศ์ Gryllotalpidae มีลักษณะทั่วไปคล้ายกับจิ้งหรีด ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในป่า พบในเขตเกษตรกรรมในประเทศไทยเพียงชนิดเดียวคือ Gryllotalpa orientalis ตัวยาวประมาณ 3 เซนติเมตร อกกว้าง 0.8 เซนติเมตร สีน้ำตาล ปีกบางใส บินได้ในระยะใกล้ๆ เพียง 1–2 เมตร ขาคู่หน้าใช้ขุดดิน ปล้องสั้น ปล้องที่ 4 แบนคล้ายอุ้งมือ ส่วนขาคู่อื่นๆ ใช้ในการวิ่ง กระโดดเหมือนแมลงทั่วไป ว่ายบนผิวน้ำและส่งเสียงร้องได้คล้ายจิ้งหรีด
2. จีหรีด หรือ จิ้งหริด หรือ จังหรีด เป็นแมลงจำพวกหนึ่ง อยู่ในวงศ์ Gryllid เป็นแมลงที่มีขนาดลำตัวปานกลางเมื่อเทียบกับแมลงโดยทั่วไป มีปีก 2 คู่ คู่หน้าเนื้อปีกหนากว่าคู่หลัง ปีกเมื่อพับจะหักเป็นมุมที่ด้านข้างของลำตัว ปีกคู่หลังบางพับได้แบบพัดสอดเข้าไปอยู่ใต้ปีกคู่หน้า ปากเป็นชนิดกัดกิน หัวกับอกมีขนาดกว้างไล่เลี่ยกัน ขาคู่หลังใหญ่และแข็งแรง ปัจจุบันหามากินได้ง่ายเพราะมีการเลี้ยงเพื่อจำหน่ายอยู่ทั่วไป เป็นอาหารโปรตีนประเภทแมลงที่ส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศเชียวนะ
รายการดูให้รู้ : คนญี่ปุ่นก็กินแปลก
3. จีโป่ม หรือ จิโป่ม หรือ จิหล่อ หรือ จิ้งกุ่ง ในภาษาเหนือ หรือภาษากลางเรียก จิ้งโกร่ง (Short tailed cricket) เป็นจิ้งหรีดชนิดหนึ่งที่มีขนาดลำตัวใหญ่ที่สุด นิยมใช้ประกอบอาหารหลายเมนู อาทิ จิโป่มคั่วเกลือ ป่นจิโป่ม แกงหน่อไม้ใส่จิโป่ม จิโป่มชุบแป้งทอด เป็นต้น นอกจากนั้น ยังนิยมใช้เป็นเหยื่อจับปลาหรือเหยื่อปักเบ็ดได้เช่นกัน
4. จินูน หรือ กุดกีนูน หรือ แมงอีนูน หรือ แมงกีนูน หรือ แมงนูน หรือ แมงนูนหลวง (อังกฤษ: Cockchafer) เป็นแมลงปีกแข็งชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Melolontha melolontha อยู่ในวงศ์ Scarabaeidae มีรูปร่างอ้วนป้อมเป็นรูปไข่ หัวมันเรียบ มีหนวดแบบใบไม้ 1 คู่ที่ปาก ปากเป็นแบบปากกัด ตามีขนาดใหญ่มองเห็นได้ชัด ที่อกปล้องแรกเห็นชัดกว่าปล้องอื่นๆ ปีกมี 2 คู่ คู่หน้ามีลักษณะแข็งเรียบเป็นมันมีหน้าที่เป็นเปลือกหุ้มตัว ส่วนปีกคู่ที่สองนั้นบางใส ใช้สำหรับบิน ส่วนท้องอยู่ด้านล่างมีปีกที่แข็งคลุม หัว อก และขามีสีน้ำตาลไปจนถึงสีดำ ปีกที่แข็งมีสีน้ำตาลอ่อน ขนาดลำตัวยาวประมาณ 30 มิลลิเมตร
ทั้งสี่จีนี่ก่อนจะเอามาประกอบอาหาร ต้องทำการเด็ดปีก เด็ดขา เอาขี้ออกก่อน ล้างให้สะอาดแล้วนำไปคั่วให้แห้งกับเกลือ หรือจะพรมด้วยซอสแม็กกี้ (ใช้กระป๋องสเปรย์ฉีด แบบทอดตั๊กแตนปาทังก้า) ก็จะได้ความหอมในการรับประทานได้อีก นอกจากการคั่วให้แห้งกินเปล่าๆ แล้วยังสามารถเอามาทำป่น ทำแจ่ว ทำน้ำพริกกินกับผักสด ผักลวก ผักต้มอย่าง บักลิ้นไม้ (เพกา) เผา หน่อไม้ต้ม ถั่วฝักยาว แตงกวา มะเขือ ตามชอบ หรือจะนำไปใส่ในแกงหน่อไม้ก็แซบหลายเด้อพี่น้อง
น่าจะเป็นจีตัวที่ห้าได้เนาะ กุดจี่เบ้า หรือ ขี้เบ้า เป็นชนิดกุดจี่ที่ค่อนข้างหายาก ไม่นิยมรับประทานกุดจี่ตัวเต็มวัย ที่มีปีกแข็งแล้ว แต่นิยมรับประทานตัวอ่อน หรือดักแด้ของกุดจี่เบ้าเป็นหลัก โดยแม่กุดจี่จะหล่อขี้งัว ขี้ควายให้เป็นก้อนกลมๆ โดยการกลิ้งไปมา แล้ววางไข่ไว้ภายในก้อนขี้ที่หล่อไว้นี้ ซึ่งจะเจริญเป็นตัวอ่อน และเป็นตัวเต็มวัยเจาะออกมาบินหนีไป สมัยทิดหมูยังน้อยออกไปเลี้ยงงัวควาย ถ้ามันขี้ออกมานี่ ต้องปักหลักไม้เป็นที่หมายว่าเป็นของใคร เพื่อรอเวลาให้กุดจี่มาทำเบ้าวางไข่
การทำก้อนรังไข่นี้ตัวกุดจี่จะทำการขุดหลุมกว้าง แล้วกลิ้งไข่ลงไปฝังกลบด้วยดินข้างเคียงและเศษหญ้า ตัวแมงกุดจี่ตัวแม่ก็จะฝังตัวเองอยู่ในรังไข่นี่ และตายไปในที่สุด ไม่กี่วันหลังจากนั้นชาวบ้านค่อยมาขุดก้อนเบ้าตัวอ่อนนี่ไปผ่าเอาตัวอ่อนภายในออกมา
ตัวอ่อนกุดจี่เบ้าจะให้รสชาติที่มีรสมัน อร่อยมากกว่ากุดจี่ทุกชนิด ใช้ประกอบอาหารได้หลายอย่าง อาทิ ดักแด้กุดจี่เบ้าคั่วเกลือ แกงคั่วดักแด้กุดจี่เบ้า แกงเลียงดักแด้กุดจี่เบ้า แกงหน่อไม้ใส่ดักแด้กุดจี่เบ้า เป็นต้น
กุดจี่เบ้า หรือ ขี้เบ้า เป็นชนิดของกุดจี่ที่ค่อนข้างหายากแล้วในปัจจุบัน และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย เช่น การใช้สารเคมีของเกษตรกรจำนวนมากในพื้นที่ไร่นา ทำให้ปริมาณแมลงสูญพันธุ์ไปด้วยจำนวนมาก ปริมาณโค-กระบือที่ลดลง (เนื่องจากหันไปใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานสัตว์) รูปแบบการเลี้ยงโค-กระบือปัจจุบันที่เลี้ยงกันในคอก โดยไม่ค่อยปล่อยเลี้ยงตามทุ่งนา ป่า ทาม ที่มีแมลงธรรมชาติดังอดีต เป็นต้น
ขุมทรัพย์คนอีสาน ตอน แมงกุดจี่เบ้า
แมงแคง หรือ แมงแคงจิก มีชื่อพื้นบ้านว่า แมงแคง แมงแคงค้อ แมงขิว มีฉายา "จอมยุทธ์ใบไม้ผลิ" เพราะออกจากไข่มาเพื่อกินใบไม้อ่อนโดยเฉพาะ ตัวเต็มวัยมีสีน้ำตาลปนเหลือง รูปร่างลักษณะคล้ายโล่ ยาวประมาณ 25-31 ม.ม. ส่วนกว้างตอนอก ประมาณ 15-17 มม. ตัวเมียจะวางไข่เป็นกลุ่มตามใบหรือเรียงตามก้านดอก ไข่กลุ่มหนึ่งจะมีจำนวนโดยเฉลี่ย 14 ฟอง ประมาณ 7-14 วัน ไข่จะฟักออกมาเป็นตัวอ่อน มีสีแดงและจะมีการลอกคราบ 5 ครั้ง ราว 61-74 วัน ตัวอ่อนจะเจริญออกมาเป็นตัวเต็มวัย
แหล่งที่พบก็ตามต้นค้อ (ตะคร้อ) ต้นจิก ต้นฮัง (รัง) และป่าเต็งรังทั่วไป ส่วนมากพบตามต้นค้อ ซึ่งแมงแคงดำรงชีวิตด้วยการกินน้ำเลี้ยงจากยอดใบอ่อนต้นค้อ จึงพบได้มากตามต้นค้อเป็นหลัก แต่ทางภาคเหนือจะพบแถวต้นลำไย เลยเรียกว่า "มวนลำไย" ช่วงที่พบได้ง่ายคือ เดือน เมษายน - มิถุนายน บนต้นค้อที่กำลังงอกใบใหม่ ส่วนวงจรชีวิตแมงแคง มีอายุขัย นับตั้งแต่ไข่-ตัวเต็มวัย-ตาย ประมาณ 1 ปี
แมงแคง เป็นเมนูอีสานรสโอชาชั้นยอด นำไปปรุงเป็นอาหาร ได้หลายชนิด เช่น กินดิบๆ เพียงเด็ดปีกทิ้ง แล้วบีบตรงส่วนท้องเพื่อให้ฉี่ที่มีกลิ่นฉุนๆ ออก โยนใส่ปากเคี้ยวรสชาติมัน หรือนำไปคั่วไฟอ่อนๆ โรยเกลือเล็กน้อย แต่ส่วนมากจะนำไปทำน้ำพริก หรือแจ่วแมงแคง หลายคนบอกว่ารสชาติอร่อยกว่าน้ำพริกแมงดา เพราะมีกลิ่นหอมไม่ฉุน และนับวันจะมีราคาแพงขึ้นทุกปี เนื่องจากเริ่มหายากเข้าไปทุกที ปีนี้ทิดหมูไปพ้ออยู่ตลาดอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ข้ามของ (แม่น้ำโขง) นำเข้าจากฝั่ง สปป.ลาว ราคากิโลกรัมละประมาณ 1,300-1,500 บาท กะเลยได้แต่กลืนน้ำลาย บ่กล้าซื้อครับ (คนจนน้อ รัฐบาลเพิ่นกะบ่ให้ 5,000 คือหมู่เพิ่น น้อยใจเด้นิ)
อาหารอีสาน - แจ่วแมงแคง
วันเสาร์ที่แล้ว (7 สิงหาคม 2564) มีหมู่แถวบ้านมาชวนไปเลาะเล่นแคมของแถวอำเภอเขมราฐ เลยแวะเข้าไปในตลาดเจอทั้ง แมงแคง เห็ดนานาชนิด หน่อไม้ วางขายเป็นจำนวนมาก แต่ราคาค่อนข้างสูง กะเลยซื้อบ่ลง (แซบอยู่ แต่เงินบ่มีอดเอาไว้บ่กินดอก) เห็นมีหลายปานนั้นเลยเกิดความสงสัยถามแม่ค้าว่า
ทิดหมู "พากันไปเอามาแต่ไส คือมาหลายแท้"
แม่ค้าตอบว่า "มาแต่ฝั่งลาวพุ้นแหล่ว จั่งหว่าราคามันแพงนั่นตี้"
ด้วยความสงสัยทิดหมูเลยถามต่อไปว่า "เอ้าเพิ่นปิดด่านบ่ให้ข้ามไปมาหากัน คือได้มาหลายแท้"
แม่ค้าตอบเบาๆ ว่า "พ้อกันเคิ่งทาง กลางแม่น้ำโขงซั่นแหล่วน้อ ทางนี้กำเงินใส่ถงไป พายเรือตามนัดไปกลางแม่น้ำโขง ทางนั้นกะพายเอาแมงแคง เห็ด หน่อไม้มากลางแม่น้ำโขง ป่อนใส่มือกัน หันหลังพายเข้าฝั่งไผฝั่งมันซั่นตั่ว มาสิยาก"
เหอๆ นี่ล่ะ "บ้านพี่เมืองน้อง ของกินกะแบ่งปันกันยามยาก ย้อนบักโควิดนี่แหม" อย่าสิไปหาเรื่องจับเพิ่นเด้อ บ่แม่น "ยาบ้า" ดอกมีแต่แนวแซบๆ
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)