foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว หิมะตกหนัก อากาศหนาวสุดขั้ว บางแห่งถึงขั้นติดลบ 46 องศาเซลเซียส ประเทศไทยเฮากะบ่หยอกคือกัน ทางตอนเหนือลดลงถึงศูนย์องศา เกิดแม่คะนิ้ง (น้ำค้่างแข็งบนยอดหญ้ากันแล้ว) ในช่วงวันที่ 10-13 มกราคมนี้ อุณหภูมิจะลดลงอีกมาก 5-7 องศา ในภาคเหนือและภาคอีสานบ้านเฮา รักษาสุขภาพกันดีๆ เด้อ อย่าสิเจ็บสิไข้ ซำบายดีครับ ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

isan food header

อาหารพื้นเมืองอีสาน มักจะต้องมีส่วนปรุงรส หรือชูรส ด้วยผักพื้นบ้านอีสาน ซึ่งมีเอกลักษณ์ทางด้านถิ่นกำเนิด กลิ่นและรสที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ หายากเพราะมีผลผลิตออกมาตามฤดูกาล นอกจากนั้นยังเป็นพืชผักที่ให้คุณค่าทางด้านสุขภาพอนามัย ปลอดสารพิษ ทำให้เป็นที่นิยมกันทั่วไป ไม่ว่าจะทำอาหารประเภทลาบ ก้อย ต้ม แกง อ่อม ล้วนต้องใช้ผักพื้นเมืองเป็นส่วนประกอบทั้งสิ้น

samunprai

ดอกกระเจียว

ดอกกระเจียว นอกจากจะมีความสวยงามจนกลายเป็นหล่องท่องเที่ยว ที่ผู้คนพากันไปถ่ายรูปเซลฟี่ เช็คอินกันจนเป็นที่โด่งดังไปทั่วประเทศ คือ ทุ่งดอกกระเจียว ที่อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม และอุทยานแห่งชาติไทรทอง จังหวัดชัยภูมิ คนอีสานนั้นรู้จักดอกกระเจียวทั้งในฐานะอาหาร เป็น "ผัก" ที่รับประทานได้กับน้ำพริกต่างๆ ป่นปลา ป่นกบ และยังเป็น "ยาสมุนไพร" ใกล้ตัวอีกด้วย ดอกกระเจียวเหล่านี้คือ

กระเจียวแดง ชื่อวิทยาศาสตร์ Curcuma sessilis Gage. เป็นไม้ล้มลุกจัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE) เช่นเดียวกับกระเจียวขาวสมุนไพรกระเจียวแดง มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ว่านมหาเมฆ (สกลนคร), อาวแดง (ภาคเหนือ), กาเตียว (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, เลย), กระเจียว กระเจียวแดง (ภาคกลาง), จวด (ภาคใต้, ชุมพร, สงขลา), กระเจียวสี, กระเจียวป่า, เพาะพอ (กะเหรี่ยง) เป็นต้น

dok krajiew

กระเจียวมีลำต้นเป็นเหง้าใต้ดิน ช่อดอกชูออกจากปลายลำต้นเทียม โดยมีริ้วประดับ ริ้วประดับตอนปลายมีสีแดงอมม่วง กลีบดอกสีครีม ปลายกลีบปากมีแต้มสีเหลือง มีเขตการกระจายพันธุ์ในพม่าตอนเหนือ ในประเทศไทยพบได้ทุกภาค โดยมักขึ้นตามป่าดิบทั่วไป ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และที่โล่งทั่วไป

สรรพคุณของกระเจียวแดง

  • กระเจียวมีเส้นใยอาหาร (Fiber) ที่เป็นตัวช่วยกระตุ้นให้ลำไส้บีบตัวขับถ่ายของเสียออกมา จึงช่วยป้องกันอาการท้องผูกได้ดี อีกทั้งเส้นใยอาหารยังสามารถจับคอเลสเตอรอลไว้เมื่อขับถ่ายออกมาถึงทำให้ลดระดับคอเลสเตอรอลในเส้นเลือดได้ และเมื่อเส้นใยสัมผัสสารพิษและสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งที่มีอยู่ในอาหาร ร่างกายจึงได้รับสารพิษและสารก่อมะเร็งน้อยลงไปด้วย
  • ดอกอ่อนมีรสเผ็ดร้อน กลิ่นหอม ใช้เป็นยาขับลมในกระเพาะอาหาร ช่วยบรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ และลดกรดในกระเพาะอาหาร จึงช่วยทำให้รู้สึกสบายท้องและช่วยให้สุขภาพดี (ดอกอ่อน)
  • ดอกมีสรรพคุณช่วยแก้มดลูกอักเสบสำหรับสตรีหลังคลอด (ดอก)
  • หน่ออ่อนใช้เป็นยาสมานแผล (หน่ออ่อน)
  • เหง้าใช้เป็นยาแก้ปวดเมื่อย (เหง้า)

ประโยชน์ของกระเจียวแดง

หน่ออ่อนใช้รับประทานร่วมกับน้ำพริก ลาบ ก้อย ส้มตำ ส่วนช่อดอกอ่อนนำมาลวกให้สุก ใช้รับประทานกับน้ำพริกหรือปรุงเป็นแกง โดยหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แกงรวมกับผักหวานปลาย่างและเครื่องแกง หรือจะกินดอกสดก็ได้ บางบ้านนิยมนำมาทำแกงส้มหรือไม่ก็นำมาแกล้มกับขนมจีน ลาบ ก้อย

dok krajiew ponkob

ส้มเสี้ยว

ส้มเสี้ยว จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก สูง 5-10 เมตร ทรงพุ่มเตี้ย ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่กว้าง แยกเป็นสองพู กว้างและยาว 10-15 ซม. ใบมีรสเปรี้ยว ดอกช่อ ออกที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง กลีบดอกสีชมพูอ่อน ผลเป็นฝักรูปดาบ เป็นพืชที่สามารถขึ้นได้ในทุกสภาพดิน มีเขตการกระจายพันธุ์ในภูมิภาคอินโดจีน ในประเทศไทยพบได้ทั่วไปในพื้นที่โล่ง ป่าทุ่งหญ้า ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และตามป่าผลัดใบผสมเกือบทุกภาคของประเทศ ยกเว้นทางภาคใต้ ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลจนถึง 800 เมตร

som siew

เสี้ยวป่า ชื่อสามัญ Orchid Tree, Purple Bauhinia
ชื่อวิทยาศาสตร์ Bauhinia saccocalyx Pierre จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยราชพฤกษ์ (CAESALPINIOIDEAE หรือ CAESALPINIACEAE)

สมุนไพรเสี้ยวป่า มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ส้มเสี้ยวโพะ เสี้ยวดอกขาว (เลย), ส้มเสี้ยว (นครสวรรค์, อุดรธานี), คิงโค (นครราชสีมา), คังโค (สุพรรณบุรี), ชงโค, เสี้ยวส้ม (นครราชสีมา, สุพรรณบุรี, อุทัยธานี, จันทบุรี), เสี้ยวใหญ่ (ปราจีนบุรี), แดงโค (สระบุรี) ป้าม (ส่วย-สุรินทร์), ชงโคป่า เป็นต้น

สรรพคุณของเสี้ยวป่า

  • ใบเสี้ยวป่า มีรสเปรี้ยวฝาด ใช้ผสมกับลำต้นกำแพงเจ็ดชั้น นำมาต้มกับน้ำดื่มวันละ 3 ครั้ง เป็นยาฟอกโลหิต (ใบ) และขับปัสสาวะ
  • รากและลำต้น ใช้แก้ไอ ขับเสมหะ
  • ดอก แก้เสมหะพิการ

ประโยชน์ของเสี้ยวป่า

  • ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับริมทางทั่วไป ออกดอกดกดีมาก ดอกมีสีขาวและมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ตัดแต่งหรือให้เลื้อยขึ้นค้างได้ แต่ยังไม่นิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับตามบ้านมากนัก
  • ลำต้นหรือกิ่งที่มีความตรงอยู่บ้าง สามารถนำมาใช้ทำเป็นเสาค้ำยันให้แก่บางส่วนของบ้านได้ แต่ไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากนัก หรือจะนำมาทำเป็นเสาสำหรับพืชผักที่เป็นไม้รอเลื้อย ใช้ทำเป็นเชื้อเพลิง เผาถ่านก็ได้เช่นกัน
  • ใบอ่อน ยอดอ่อน และดอก รสเปรี้ยว ชาวอีสานนิยมกินเป็นผักสดกับน้ำพริก ลาบ แจ่ว หรืออาหารรสจัด ใบใช้ประกอบอาหารมีรสเปรี้ยว ประเภทแกงส้ม (จากการสัมภาษณ์และจัดประชุมผู้รู้ในชุมชน)

สมอไทย

สมอไทย (Chebulic Myrobalans) เป็นสมุนไพรในตำราพุทธโอสถครั้งบรรพกาล ปัจจุบันสมอไทย ยังเป็นพืชสมุนไพรที่ใช้ประโยชน์ได้จริง ในบรรดาผลไม้อบแห้งที่วางขายเป็นห่อเล็กๆ ตามท่ารถ ตามตลาดนัดและตามมุมขายของภายในวัด สมอแช่อิ่มเป็นหนึ่งในสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ไม่น้อยหน้ามะม่วง มะขาม หรือเม็ดบ๊วย ด้วยรสชาติเป็นเอกลักษณ์ที่ยิ่งทานก็ยิ่งอร่อย ใครได้ลองทานสักครั้งก็มักติดใจและต้องหามาทานอีกเมื่อมีโอกาส หลายคนรู้จักสมอในรูปแบบที่ว่านี้เพียงอย่างเดียว เพราะสมอที่เป็นผลสดซื้อหาไม่ได้ง่ายๆ แล้วในปัจจุบัน ทันทีที่เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ก็จะมีกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปตั้งท่ารออยู่แล้ว

ซึ่งก็ไม่คุ้มที่ชาวนาชาวสวนจะนำออกมาวางขายเอง เพราะน้อยคนนักที่จะรู้ว่าผลสมอสดๆ เอาไปทำอะไรได้บ้าง แม้ว่าราคาค่างวดในท้องตลาดของสมอจะดูไม่ได้มีมูลค่าสูงมากนัก แต่นี่คือสมุนไพรที่มีตำนานมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลเลยทีเดียว เพราะเป็นสมุนไพรในไม่กี่ชนิดที่ถูกกำหนดให้เป็น "พุทธโอสถ" และอยู่ในรายการ "อาหารปานะของพระสงฆ์" มาโดยตลอด นี่จึงไม่ได้เป็นเพียงสมุนไพรพื้นบ้านธรรมดาๆ ที่ไม่น่าสนใจอะไร

som mor

สมอไทย ชื่อสามัญ Chebulic Myrobalans (คิบูลิค ไมโรบาลัน), Myrolan Wood (ไมโรบาลัน วูด)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Terminalia chebula Retz. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Terminalia chebula var. chebula) จัดอยู่ในวงศ์สมอ (COMBRETACEAE)
มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า กกส้มมอ, หมากแน่ะ, ม่าแน่, สมออัพยา, ลูกสมอ เป็นต้น

สมอไทย เป็นพืชท้องถิ่นไทย มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ พม่า และลาว เป็นต้น รวมถึงเอเชียใต้ พบได้มากในป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ ในภาคกลาง อีสาน และภาคเหนือ ชาวธิเบตถือว่าสมอไทยคือ "ราชาแห่งยา" สมอไทยนั้นมีรสต่างๆ ถึง 6 รสด้วยกัน ซึ่งเป็นสมุนไพรที่นานาชาตินิยมมากที่สุดในจำนวนสมุนไพรทั้งหมดทั้งมวลก็ว่าได้ ซึ่งจะมีรสชาติดังนี้ รสเปรี้ยว รสฝาด รสหวาน รสขม รสเผ็ด รสเค็ม ทั้งหมดนี้คือสรรพคุณของสมอไทย

สมอไทยได้รับการยอมรับว่าเป็น "ราชาสมุนไพร" เนื่องจากช่วยกำจัดสารพิษออกจากร่างกาย และช่วยบำบัดรักษาโรคต่างๆ ใช้รักษาอาการท้องผูกเรื้อรัง ซึ่งดีกว่ายาทั่วไปที่ช่วยถ่ายท้องได้ แต่แก้อาการท้องผูกไม่ได้ และยังช่วยชำระล้างลำไส้ได้อีกด้วย และยังอุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น วิตามินเอ วิตามินซี ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส

ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ของสมอไทย

  • ส่วนของเปลือกสำต้น เมื่อแก่ได้ที่สามารถใช้เพื่อย้อมผ้าได้ สีที่ออกมาเป็นโทนดำอมแดง
  • ใบอ่อนใช้เป็นแผ่นห่อยาสูบได้
  • ใบแก่นำมาใช้ย้อมผ้า ได้สีเขียวขี้ม้าหรือสีเหลืองอมน้ำตาล ขึ้นอยู่กับสีใบที่เราเลือกใช้
  • ผลดิบกินเป็นผลไม้สดหรือนำไปดองเกลือ รสเปรี้ยวขมอมฝาด มีแทนนินเป็นจำนวนมาก
  • ผลอ่อนใช้เป็นยาระบาย ผลแก่เป็นยาฝาดสมาน แก้ลมจุกเสียด
  • เยื่อหุ้มเมล็ดแก้ขัดและโรคเกี่ยวกับน้ำดี มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์หลายชนิด เช่น วิตามินซี วิตามินเอ แคลเซียม ฟอสฟอรัส
  • ผลสุก 5 – 6 ผลต้มกับน้ำใส่เกลือเล็กน้อย ใช้เป็นระบายอ่อนๆ ใช้น้ำประมาณ 1 ถ้วยแก้ว

ส้มป่อย

ส้มป่อย เป็นพืชยืนต้นขนาดเล็กหรือเป็นไม้พุ่ม ลักษณะลำต้นเลื้อยหาที่ยึดเกาะขึ้นไปตามกิ่งไม้ แต่ไม่มีมือจับ เถาของส้มป่อยจะแข็งแรงมาก สามารถเลื้อยไปตามต้นไม้อื่นได้สูงถึง 6-7 เมตร เปลือกต้นสีน้ำตาล เถาอ่อนสีน้ำตาลแดงมีขนกำมะหยี่หรือขนสั้นหนานุ่มอยู่ทั่วต้นกิ่งก้านมีหนามแหลมสั้นๆ อยู่ทั่วไป ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก คล้ายใบกระถิน ใบชะอม ดอกออกเป็นช่อกระจุกทรงกลมออกตามปลายกิ่งหรือตามซอกใบข้างลำต้น มีขนนุ่มหนาแน่น มีขนาดเล็กอัดแน่นเป็นแกน กลีบดอกสีขาวนวลเป็นหลอด ออกดอกช่วงหน้าแล้ง มกราคมถึงพฤษภาคม ผลส้มป่อยเป็นฝักแบนยาว เป็นลอนคลื่น เป็นข้อๆ ตามเมล็ด ปลายฝักมีหนามแหลม สันฝักหนา ผิวขรุขระย่นเมื่อแห้ง ฝักอ่อนเปลือกสีเขียวอมแดง ฝักแก่สีน้ำตาลเข้มหรือน้ำตาลดำ

ส้มป่อย นำมาใช้ในพิธีกรรมต่างๆ เช่น การรดน้ำดำหัว สรงน้ำพระ งานมงคล อวมงคลต่างๆ ขันน้ำมนต์ คนเป็นหมอครูจะใช้ “ฝักส้มป่อยแห้ง” ย่างไฟให้หอม ใส่ขันน้ำมนต์ ใบหญ้าคาผูกมัดพอกำเป็นอุปกรณ์ ชุบสะบัดโปรยหยาดหยดเม็ดน้ำมนต์สู่ชาวชนและสถานที่ แม้แต่ผีในโลงยังได้รับอานิสงส์ส่งสู่สุคติ

som poi

ส้มป่อย ชื่อสามัญ Soap Pod
ชื่อวิทยาศาสตร์ Acacia concinna (Willd.) DC. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Acacia rugata (Lam.) Merr., Mimosa concinna Willd.) จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยสีเสียด (MIMOSOIDEAE หรือ MIMOSACEAE)

สมุนไพรส้มป่อย มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า หมากขอน, หม่าหัน, ส้มพอดี (ภาคอีสาน), ส้มคอน (ไทใหญ่), ส้มขอน (เงี้ยว-แม่ฮ่องสอน), พิจือสะ, พิฉี่สะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ผ่อชิละ, ผ่อชิบูทู (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), แผละป่อย, เมี่ยงโกร๊ะ, ไม้ส้มป่อย (ลั้วะ), เบล่หม่าฮั้น (ปะหล่อง) เป็นต้น

ฝักส้มป่อย คนเก่าแก่ใช้สระผม เพราะเมื่อเอาฝักมาตีกับน้ำจะเกิดฟอง มีสรรพคุณทำให้ผมเงางามสลวย มีสารกลุ่ม Zaponin เช่น อะคาชินิน สูงถึง 20% เป็นสารแชมพูธรรมชาติมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ ช่วยรักษารังแค ผมหงอกก่อนวัย ซึ่งเมื่อตีส้มป่อยกับน้ำ สารซาโพนินจะแตกฟองที่คงทนมาก ช่วยการชำระล้างได้ดี ไม่ทำลายธรรมชาติของผมและหนังศีรษะ ใช้อาบน้ำทำให้ร่างกายสะอาดปราศจากคราบไคล ช่วยให้สดชื่น แก้ผดผื่นคัน และโรคผิวหนังหลายชนิด

ส้มป่อย เป็นสมุนไพรที่สารพัดสรรพคุณ ใบและฝักใช้เป็นส่วนประกอบของยาที่มีรสเปรี้ยว ช่วยซับเหงื่อ ขจัดสิ่งสกปรกจากร่างกาย เป็นยาประคบลูกประคบแก้ปวดเมื่อย น้ำต้มใบส้มป่อยเป็นยาสตรีถ่ายระดูขาว ฟอกเลือดประจำเดือน ล้างเมือกทางเดินอาหาร เป็นยาระบาย ขจัดพิษออกจากระบบทางเดินอาหาร ช่วยลดน้ำหนัก ลดความอ้วน ช่วยละลายเสมหะ แก้ไอได้ดี แก้ไข้ รักษาโรคลำไส้ แก้ท้องอืด บิด รักษาโรคตาแดง ต่อมน้ำตาพิการ พอกฝีให้แตกยุบเร็ว บดเมล็ดคั่วพ่นจมูกทำให้จาม รักษาริดสีดวงจมูก แก้น้ำลายเหนียว รักษาโรคตับ สระผมแก้อาการคันศีรษะขจัดรังแค

ทางบ้านอาวทิดหมูคนรุ่นเก่าใช้ประกอบอาหาร เช่น แกงส้มปลาดุก ใส่ก้านตูน หรือคูน กับยอดส้มป่อยสุดยอด ต้มส้มปลากดแม่น้ำ แกงเขียด ต้มยำกบ นับว่ามีส่วนผสมของสมุนไพรที่เป็นสุดยอดสมุนไพรและนับวันจะหายากเข้าไปทุกที

มะอึก

มะอึก (Hairy-fruited eggplant) ถือเป็นผักป่าที่มีผลคล้ายกับมะแว้งหรือมะเขือพวง แต่มีลักษณะเด่นที่ผลจะมีขนแข็งปกคลุม ซึ่งบางพื้นที่นิยมนำผลมารับประทานคู่กับอาหารหรือใช้ประกอบอาหาร เพราะเนื้อผลมีความกรอบ ให้รสเปรี้ยว และเฝื่อนเล็กน้อย ทำให้ช่วยเพิ่มรสชาติอาหารได้เป็นอย่างดี

ma euk

มะอึก ชื่อสามัญ Solanum, Bolo Maka
ชื่อวิทยาศาสตร์ Solanum stramoniifolium Jacq. จัดอยู่ในวงศ์มะเขือ (SOLANACEAE)
มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า มะเขือปู่ มะปู่ มะเขือขน หมากขน (ภาคเหนือ), หมากอึก หมักอึก บักเอิก (ภาคอีสาน), อึก ลูกอึก (ภาคใต้), มะอึก (ภาคกลาง), ยั่งคุยดี (กะเหรี่ยง) เป็นต้น

เป็นพืชสวนครัวที่นิยมรับประทาน และมีการเพาะปลูกอย่างแพร่หลายทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มักไม่นิยมปลูกเพื่อเป็นการค้าสักเท่าไหร่ จึงไม่พบเห็นได้บ่อยเท่ามะแว้งและมะเขือพวง จึงอาจกล่าวได้ว่า มะอึกเป็นมะเขือป่า ที่เป็นลูกครึ่งอยู่ระหว่างมะเขือพวงกับมะแว้งนั่นเอง โดยเราจะนิยมใช้ผลแก่หรือผลสุกเต็มที่รับประทานเป็นผักแกล้ม หรือจิ้มกับน้ำพริกต่างๆ ให้รสชาติเฝื่อนเล็กน้อยอร่อยมาก หรือจะใช้เปลือกผลเอาเมล็ดทิ้งแล้วหั่นเป็นฝอยๆ ใช้โขลกรวมกับน้ำพริกกะปิเพื่อเพิ่มรสชาติก็ดีไม่น้อย หรือจะหั่นเป็นชิ้นทั้งเมล็ดใส่รวมกับส้มตำก็ได้เหมือนกัน

มะอึกจัดเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งของประเทศในแถบทวีปอเมริกากลาง และประเทศเม็กซิโก ที่นิยมนำผลสุกมาคั้นเป็นเครื่องดื่ม แต่ในบ้านเรายังไม่เป็นที่นิยมนัก อาจเป็นเพราะผลมีมีขนแข็งปกคลุมทำให้ค่อนข้างยุ่งยากหากนำมาใช้ประโยชน์

ประโยชน์ของมะอึก

“มะอึก” จัดเป็นพืชพื้นบ้านของไทย ได้มีการนำมาใช้ประโยชน์ทั้งในด้าน “อาหาร” และ “ยา” มาอย่างยาวนาน ซึ่งในตำรายาสมุนไพรก็ได้บรรยายสรรพคุณของมะอึกไว้อย่างหลากหลาย โดยส่วนที่นำมาใช้เป็นยาสมุนไพร ได้แก่ ส่วนของ “ใบ” “ราก” “เมล็ด” และ “ผล”

สรรพคุณของมะอึก

  • ใบ ช่วยแก้ปอดบวม, ใช้ตำแก้พิษฝี, ใช้เป็นยาพอกแก้อาการคัน ผดผื่นคัน หรือจะใช้ดอกนำมาตำแล้วพอกก็ได้เช่นกัน (ใบ, ราก, ดอก)
  • ผล ช่วยกัดเสมหะ ขับฟอกเสมหะในลำคอ, ช่วยแก้อาการไอ, ช่วยแก้ดีพิการ แก้โทษเพื่อน้ำดี
  • ราก มีรสเย็นและเปรี้ยวเล็กน้อย ช่วยดับพิษร้อนในร่างกาย, ช่วยลดไข้ แก้ไข้ แก้ไข้เพื่อดี แก้ไข้สันนิบาต, ช่วยแก้น้ำลายเหนียว, ช่วยแก้ปวด, แก้น้ำดีพิการ, ช่วยแก้ดีฝ่อ ดีกระตุก หรืออาการนอนสะดุ้ง ผวา เพ้อ ชนิดหลับๆ ตื่นๆ ซึ่งสาเหตุมาจากโทษน้ำดีกระทำ และช่วยกระทุ้งพิษไข้หัวทุกชนิด หรืออาการของไข้ที่มีตุ่มออกเป็นผื่นตามผิวหนัง เช่น เหือด หิด หัด อีสุกอีใส เป็นต้น
  • เมล็ด ช่วยแก้อาการปวดฟัน ด้วยการใช้เมล็ดนำมาเผาแล้วสูดดมควันเข้าไป
  • ขนของผลมะอึก สามารถนำมาทอดกับไข่เพื่อช่วยขับพยาธิได้
  • นอกจากนี้ “ใบ” “ราก” และ “ดอก” ของมะอึกนำมาตำแล้วใช้เป็นยาพอกแก้อาการคันและผดผื่นคันได้เช่นกัน

มะยม

มะยม เป็นไม้ที่คนไทยปลูกกันแพร่หลายมานานแล้ว เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง สูงไม่เกิน 10 เมตร ลำต้นตรง แตกกิ่งก้านสาขาบริเวณปลายยอด กิ่งก้าน เปราะแตกหักง่าย ผิวเปลือกต้นขรุขระ สีเทาปนน้ำตาล ใบเป็นใบรวม มีใบย่อยออกเรียงแบบสลับเป็น 2 แถว ผลรูปร่างกลมแบนมี 3 พู ผลอ่อนสีเขียว เมื่อแก่สีเหลืองหรือสีขาวแกมเหลือง เมล็ดรูปร่างกลม เห็นเป็นร่องสีน้ำตาลอ่อน

ตามตำราพรหมชาติ ในทิศตะวันตกของบ้านเรือน ให้ปลูกมะยมเป็นไม้มงคล โดยเชื่อว่าการปลูกมะยมไว้ ผู้คนจะได้นิยมชมชอบชื่นชม หรือมีนะเมตตามหานิยม มีความหมายและเป็นสิริมงคลต่อบ้านเรือนที่อยู่อาศัย

ma yom

มะยม ชื่อสามัญ Star gooseberry
ชื่อวิทยาศาสตร์ Phyllanthus acidus (L.) Skeels จัดอยู่ในวงศ์มะขามป้อม (PHYLLANTHACEAE)
มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า หมากยม หมักยม (ภาคอีสาน), ยม (ภาคใต้) เป็นต้น

มะยมนั้นมีทั้งตัวผู้และตัวเมีย โดยลักษณะเด่นของต้นตัวผู้จะออกดอกเต็มต้นแต่ไม่ติดลูก ส่วนต้นมะยมตัวเมียนั้นจะมีดอกน้อยกว่า ซึ่งในทางการแพทย์นั้นนิยมใช้มะยมตัวผู้เป็นหลักทั้งใบและราก เพราะมีสรรพคุณทางยาค่อนข้างสูงกว่ามะยมตัวเมีย

คุณประโยชน์ทางยา คนสมัยเก่าแพทย์แผนโบราณ นิยมใช้รากมะยมตัวผู้ คือ มะยมต้นที่มีดอกแต่ไม่ติดลูก เอารากมะยมตัวผู้ เขาว่าดีกว่ารากมะยมตัวเมีย แต่คงใช้ได้ทั้งหมดนั่นแหละทั้งตัวผู้ตัวเมีย สมัยนี้ไม่ค่อยพบเจอมะยมตัวผู้มากนัก หรือไม่เจอเลย ก็สมัยนี้ปลูกมะยมต้องการเอาลูกเอาผลกันทั้งนั้น และเอาเคล็ดจากชื่อด้วย

รากมะยม มีสรรพคุณ แก้โรคผิวหนัง แก้ผดผื่นคัน ช่วยขับน้ำเหลืองให้แห้ง ประดง ดับพิษเสมหะ โลหิตเป็นพิษ เปลือกลำต้น แก้ไข้ทับระดู ใบปรุงเป็นส่วนประกอบของยาเขียว สรรพคุณดับพิษไข้ แก้ไข้ ใช้ใบมะยมรวมกับใบมะเฟือง ใบหมากผู้หมากเมีย ต้มน้ำอาบ แก้พิษคัน พิษไข้หัวเหือด หัด ไข้ดำแดง ไข้สุกใส แก้คัน

มะยม เป็นผักเป็นผลไม้ ยอดอ่อนสีเขียวอมชมพูเรื่อๆ ออกมากฤดูฝน เป็นผักเคียง ผักแกล้มกินคู่กับส้มตำ ลาบ ก้อย จิ้มน้ำพริก ชุบแป้งทอด กินร่วมกับขนมจีนน้ำยา แกงเลียง กินกับแหนมสด ผลอ่อนออกฤดูฝน ผลแก่มีปลายฝนต้นหนาว ผลนอกจากกินเป็นผลไม้ จิ้มพริกเกลือ น้ำปลาหวาน แล้วยังนำมาตำส้มตำแทนมะละกอ และยังสามารถนำผลแก่มาทำ แยมมะยม มะยมดอง มะยมแช่อิ่ม มะยมกวน ปรุงเป็นน้ำมะยม

ข้อควรระวัง : น้ำยางจากเปลือกของรากมะยมจะมีพิษเล็กน้อย การรับประทานเข้าไปอาจจะมีอาการปวดท้อง ปวดศีรษะ และมีอาการง่วงซึมได้ ควรระวังน้ำยางจากเปลือกรากให้ดี

มะเฟือง

มะเฟือง ถิ่นกำเนิดตั้งเดิมของมะเฟืองนั้น เชื่อกันว่าอยู่บริเวณประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย และบริเวณใกล้เคียง (ซึ่งก็คือ เอเชียอาคเนย์) จึงอาจกล่าวได้ว่ามะเฟืองเป็นพืชพื้นบ้านดั้งเดิมของชาวเอเชียอาคเนย์ ซึ่งรวมกับชาวไทยด้วย ส่วนอีกข้อมูลหนึ่งระบุถึงถิ่นกำเนิดของมะเฟืองว่า มะเฟืองมีถิ่นกำเนิดในแถบศรีลังกาและบริเวณมะละกา ซึ่งจัดเป็นไม้พื้นเมืองแถบอินโดนีเซีย อินเดีย และศรีลังกา รวมทั้งยังนิยมปลูกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และบางส่วนของเอเชียตะวันออก นอกจากนี้ในปัจจุบันยังพบมะเฟืองปลูกที่สาธารณรัฐโดมินิกัน บราซิล เปรู กานา กายานา ซามัว ตองกา ไต้หวัน French Polynesia คอสตาริกา และ ออสเตรเลีย สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทุกภาคของประเทศ

ma fuang

มะเฟือง ชื่อสามัญ Star fruit
ชื่อวิทยาศาสตร์ Averrhoa carambola L. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Averrhoa acutangula Stokes, Sarcotheca philippica (Villar) Hallier f.) จัดอยู่ในวงศ์กระทืบยอด (OXALIDACEAE)
มีชื่อเรียกอื่นว่า เฟือง (ภาคใต้)

มะเฟือง เป็นผลไม้ที่นิยมมากในแถบเอเชียตะวันออกรวมถึงบ้านเราด้วย ผลไม้ชนิดนี้มีลักษณะเป็นทรงกระสวย เมื่อหั่นเป็นแนวขวางจะเป็นรูปเหมือนดาวห้าแฉก สีผลเป็นสีเขียว เมื่อสุกจะเป็นสีเหลือง ส่วนเรื่องรสชาติจะออกเปรี้ยวแบบเฝื่อน ๆ โดยมีทั้งรสเปรี้ยวและหวาน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละสายพันธุ์ โดนผลมะเฟืองสุกนั้นประกอบไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุอยู่หลายชนิด

โดยประโยชน์ของมะเฟือง ในผลมะเฟืองสุกน้ำหนัก 100 กรัมจะอุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรตถึง 6.7 กรัม โปรตีน 1 กรัม ธาตุโพแทสเซียม 133 mg. วิตามินซี 35 mg. ธาตุฟอสฟอรัส 12 mg. ตามลำดับ นอกจากนี้ยังประกอบไปด้วย วิตามินบี 5 วิตามินบี 9 (หรือกรดโฟลิก) ธาตุสังกะสีและไขมันอีกด้วย สำหรับผู้ที่รับประทานยาลดไขมัน ยาคลายเครียดอยู่ไม่ควรรับประทานมะเฟือง เนื่องจากมะเฟืองมีฤทธิ์ไปต่อต้านการทำงานของตัวยา และผู้ป่วยที่เป็นโรคไตหรือกำลังจะฟอกไต ก็ไม่ควรรับประทานมะเฟือง เพราะมะเฟืองมีกรดออกซาลิกสูงซึ่งอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงหรือทำให้อาการทรุดหนักเพิ่มมากขึ้นได้

พิษมะเฟือง เนื่องจากมะเฟืองมีกรดออกซาลิกในปริมาณที่สูง การได้รับสารนี้เข้าไปในร่างกายในปริมาณมากสามารถเพิ่มโอกาส เป็นนิ่วในทางเดินปัสสาวะได้ เนื่องจากสารนี้จะไปจับตัวกับแคลเซียมและตกเป็นผลึกนิ่วในไต เมื่อผลึกนิ่วจำนวนมากเกิดการตกตะกอนจะทำให้เกิดการอุดตันในเนื้อไตและท่อไต ทำให้ไตวายเฉียบพลันได้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับภาวะการขาดน้ำในร่างกายของเราด้วย และการเกิดภาวะไตวายไม่ได้เป็นกันทุกราย แต่ก็มีรายงานว่า มีผู้ป่วยที่ดื่มน้ำมะเฟืองหลังจากทำงานหนัก และสูญเสียเหงื่อในปริมาณมากจะยิ่งมีโอกาสเกิดโรคได้มากขึ้น โดยมีงานวิจัยเกี่ยวกับมะเฟืองอธิบายว่า มะเฟืองเปรี้ยวนั้นมีโอกาสก่อให้เกิดโรคดังกล่าวได้มากกว่ามะเฟืองที่มีชนิดหวาน เนื่องจากมีกรดออกซาลิกที่มากกว่านั้นเอง

ผักแว่น

ผักแว่น เป็นพืชผักธรรมชาติ เป็นวัชพืชในนาข้าว คนนิยมกินเป็นผักมานานแล้ว มีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมาย โดยเฉพาะเป็นพืชเย็น ช่วยบรรเทาความร้อนในร่างกาย ผักแว่น 100 กรัม ให้พลังงานแก่ร่างกาย 15 กิโลแคลอรี

pak van

ผักแว่น ชื่อสามัญ Water clover, Water fern, Pepperwort
ชื่อวิทยาศาสตร์ Marsilea crenata C. Presl จัดอยู่ในวงศ์ MARSILEACEAE
ชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ผักลิ้นปี่ (ภาคใต้), หนูเต๊าะ (กระเหรี่ยง-ภาคเหนือ), ผักแว่น (ภาคกลาง, ภาคเหนือ, ภาคอีสาน), ผักก๋ำแหวน, Chuntul phnom (กัมพูชา), tapahitik (มาเลเซีย) เป็นต้น

ผักแว่น ผักตามธรรมชาติ แม้จะเป็นวัชพืชที่คอยแย่งน้ำแย่งอาหารต้นข้าวในนา แต่เป็นผักที่มีประโยชน์ ถ้าช่วยกันดูแลรักษาธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมให้ดี บริสุทธิ์สะอาด ผักแว่นจะเป็นพืชผักอินทรีย์ที่ทรงคุณค่า เป็นอาหารของคนเราได้เป็นอย่างดี มีประโยชน์ต่อมนุษย์มากมาย รักความบริสุทธิ์ รักธรรมชาติ ทำความรู้จักผักแว่นมากกว่านี้ จะรู้สึกรักและหวงแหนไว้เป็นสมบัติธรรมชาติของเราอีกนาน

ประโยชน์ของผักแว่น

ใบอ่อน ยอดอ่อน และก้านใบ ใช้รับประทานเป็นผักสดร่วมกับน้ำพริก ลาบ ก้อย ส้มตำ ซุปหน่อไม้ ใช้เป็นเครื่องเคียงกับอาหารชนิดต่างๆ หรือนำไปใช้ประกอบอาหาร เช่น ทำแกงจืด แกงอ่อม เจียวไข่ เป็นต้น และเมื่อนำมาต้มจะมีลักษณะอ่อนนิ่มทำให้รับประทานได้ง่าย จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ

ในประเทศอินโดนีเซีย ในเมืองสุราบายา นิยมใช้ผักแว่นนำมาเสิร์ฟร่วมกับมันเทศและเพเซล (Pacel) หรือซอสเผ็ดที่ผลิตจากถั่วลิสง

สรรพคุณทางยาของผักแว่น

ตามตำรายาไทยระบุถึงสรรพคุณไว้ว่า ทุกส่วนมีรสจืดอมฝาดเล็กน้อย ช่วยเป็นยาบำรุงธาตุ ช่วยเจริญอาหาร แก้ฝีในลำคอ ถอนพิษทั่วไป ลดไข้ แก้หวัดร้อน แก้เจ็บคอ คอแห้ง คออักเสบ แก้ปวดท้อง ท้องเสีย แก้อาเจียนเป็นเลือด แก้ดีพิการ แก้ปัสสาวะ อุจจาระเป็นเลือด สมานแผลในปาก ลำคอ และกระเพาะอาหาร แก้เคล็ดขัดยอก ปวกเมื่อยตามร่างกาย แก้อาการร้อนใน ดับกระหาย

ส่วนอีกตำราหนึ่งระบุไว้ว่า ยอด รสจืด ฝาดหวานเล็กน้อย ใช้แก้ไข้ ระงับร้อน แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษ สมานแผลในปากและคอ แก้ดีพิการ แก้พิษทั้งปวง รักษาแผลเปื่อย แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวด ช่วยขับปัสสาวะ บำรุงสายตา

หมายเหตุ : ผักแว่นเป็นพืชคนละชนิดกับ "ส้มกบ" เพียงแต่มีชื่อเรียกเหมือนกันว่า "ผักแว่น" อีกทั้งยังมีลักษณะคล้ายกัน จึงอาจทำให้จำสับสนได้

ผักกาดหิ่น

ผักกาดหิ่น เป็นผักพื้นบ้าน ปลูกกันเยอะที่อิสานบ้านเฮา มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น ผักกาดไร่ ผักกาดสร้อย, ผักกาดเขียวน้อย, ผักชุนฉ่าย, ผักขมจีน, ผักกาดนา, ผักกาดขิ่น เป็นผักที่มีกลิ่นฉุนนิดๆ เวลารับประทานก็จะมีกลิ่นฉุนๆ ขึ้นจมูกเหมือนวาซาบิ จึงได้รับฉายาว่า "วาซาบิเมืองไทย"

การที่คนอีสานเรียก ผักกาดหิ่น หรือผักกาดสร้อย เนื่องจากคำว่า "หิ่น" แปลว่า ฉุนขึ้นจมูก ส่วนคำว่า "สร้อย" แปลว่า ฉีกขาดเป็นริ้วๆ ตามลักษณะใบของผักนั่นเอง

pak kad hin

ผักกาดหิ่น ชื่อสามัญ ผักกาดเขียว (Brassica juncea) Indian/ Chinese mustard (English), karashina (Japanese)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Brassica juncea (L.) Czern. วงศ์ Brassicaceae

ผักกาดหิ่น เป็นพืชล้มลุก ลำต้นตั้งตรง อาจสูงได้ถึง 1 เมตร เกลี้ยง แตกกิ่งด้านสาขามาก ใบ เป็นใบเดี่ยว เรียงสลับกัน ไม่มีหูใบ ใบที่โคนต้นรูปขอบขนานแกมรูปหอก ขอบหยักเป็นแฉก ยาวได้ถึง 20 ซม. มีก้านใบ มีสารอาหารสูง ช่วยบำรุงสายตาให้มีประกายที่สดใส โดยเฉพาะเบต้าแคโรทีนที่จะเปลี่ยนเป็นวิตามิน A ให้แก่ร่างกายทำให้ป้องกันโรคตาฟาง (Blurred vision) ตาบอดกลางคืน (Night blindness) หรือโรคต้อตาชนิดต่างๆ ในผู้สูงอายุได้ และยังช่วยต้านการเกิดโรคมะเร็ง มีแคลเซียม วิตามินซี เส้นใยอาหารสามารถป้องกันโลหิตจาง ทั้งยังมีเส้นใยที่มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ ช่วยกระตุ้นการบีบตัวของอวัยวะดังกล่าว ทำให้ระบบขับถ่ายเป็นไปอย่างปกติ สุขภาพจึงดีตามไปด้วย

เป็นผักที่ปลูกง่าย โตเร็ว ประกอบอาหารได้หลากหลาย จะต้ม แกง ลวกจิ้ม ใช้แทนพวกผักกวางตุ้งได้ แต่รสไม่เหมือนกัน จะมีกลิ่นขึ้นจมูกแบบวาซาบิ และมีหลายพันธุ์หมายถึงลักษณะต้นนั้นอาจจะต่างกันบ้างเช่น ใบหยิกน้อย หยิกมาก สูง เตี้ย แต่ประโยชน์ รสขาติ กลิ่น ไม่ต่างกัน มันก็คือชนิดเดียวกัน ใช้ทำอาหารก็แล้วแต่ถนัด กินแกล้มลาบ จะทำต้มจืด ต้มจับฉ่าย ต้มใส่กระดูกหมู หรือลวกจิ้มน้ำพริก ส่วนอาวทิดหมูนั้นชอบกินแบบสดๆ กับป่นกบ ป่นปลา ลาบต่างๆ เข้ากันหลายครับ

 

ผักพื้นบ้านอีสาน : ตอนที่ 1 | ตอนที่ 2 | ตอนที่ 3 | ตอนที่ 4 | ตอนที่ 5 | ตอนที่ 6

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)