คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
กลอง เป็นเครื่องดนตรีประเภทตีกระทบ ประกอบด้วยแผ่นวัสดุบางหุ้มทับไม้ที่มีโพรงกลวง วัสดุนี้มักทำด้วย "แผ่นหนังสัตว์" ขึงยึดติดกับโครงให้ตึง ทำให้เกิดเสียงโดยการตีด้วยไม้ หรืออวัยวะของผู้เล่น กลอง จัดเป็นเครื่องดนตรีที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ในอดีตวัสดุหุ้มกลองจะทำจากหนังสัตว์ฟอกให้เป็นแผ่นบาง ตากให้แห้ง จึงนำมาขึงหุ้มเป็นหน้ากลอง ปัจจุบันมีการพัฒนากลองที่ใช้วัสดุจำพวกพลาสติกหุ้ม ซึ่งจะให้เสียงที่แตกต่างกันออกไป
การใช้อุปกรณ์ในการตี กลองที่ทำจากพลาสติกจะต้องใช้ไม้ช่วยตี เพื่อช่วยให้เกิดเสียงที่ดังขึ้น เช่น กลองสแนร์ และ กลองชุด เป็นต้น ส่วนกลองที่ทำมาจากหนังสัตว์ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ไม้ตี เนื่องจากเราสามารถใช้แค่มือตีลงไปโดยตรง ก็จะทำให้เกิดเสียงดังก้องกังวานพอตัวอยู่แล้ว เช่น กลองยาว กลองรำมะนา ตะโพน เป็นต้น แต่ก็มีกลองหนังที่จำเป็นต้องใช้ไม้ตีก็มี เช่น กลองสะบัดชัย และกลองทัด เนื่องจากเป็นกลองขนาดใหญ่จึงไม่สามารถใช้มือตีอย่างเดียวได้
โดยปกติกลองจะใช้ในการให้จังหวะดนตรี เพื่อความบันเทิง สนุกสนาน รื่นเริง แต่ก็ยังมีการนำใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ ด้วย เช่น การตีกลองเพื่อส่งสัญญาณเรียกประชุม ตีกลองเพื่อบอกเหตุร้าย การตีกลองเพื่อร้องทุกข์ต่อศาล การตีกลองเพื่อเปิดศึกสงครามในสมัยก่อน และการตีกลองเพื่อบอกเวลาต่างๆ (เช่น เวลาย่ำรุ่ง เพล ย่ำค่ำ) ในสมัยยังไม่มีนาฬิกาก็ตีเป็นสัญญาณเพื่อบอกให้ชาวบ้านนำภัตตาหารไปถวายพระสงฆ์ เป็นต้น
กลองที่ใช้ในการตีบอกเหตุส่วนใหญ่จะใช้ "กลองเพล" ยามมีเหตุเภทภัยต่างๆ จะตีส่งสัญญาณให้ทราบได้กว้างไกลเท่าที่เสียงกลองจะดังไปถึง มีปรากฏว่าใช้เป็นที่หลบภัยร้ายตามนิทานพื้นบ้านอีสาน เรื่อง "นางคำกลอง" อันเป็นนิทานที่มีทั้งในฝั่ง สปป.ลาว และไทย ในการตีบอกเหตุต่างๆ นั้น "กลองเพล" จะถูกเรียกชื่อต่างออกไปตามสถานการณ์ที่บอกเหตุ (สมัยโบราณนั้นยังไม่มีเครื่องขยายเสียง หอกระจายข่าวของหมู่บ้าน การใช้สัญญาณกลองจึงเป็นสื่อที่เข้าใจกันได้ของชาวบ้าน) ดังนี้
ในภาคอีสานมีการนำ "กลอง" มาใช้เพื่อการต่างๆ ข้างต้น รวมทั้งการนำ "กลอง" มาเป็นเครื่องดนตรีประเภทตีให้จังหวะ หรือคุมจังหวะ โดยกลองที่จัดว่าเป็น "เครื่องดนตรีพื้นเมืองอีสาน" มีอยู่ 3 ชนิดคือ กลองตึ้ง กลองรำมะนา และกลองแอว (กลองยาว)
กลองตึ้ง เป็นกลองที่ให้เสียงทุ้มต่ำ คุมจังหวะตกของเพลง มีลักษณะทรงกระบอกกลมข้างในกลวง ตัวกลองทำจากต้นไม้ขนาดใหญ่เจาะตรงกลางเป็นรูทะลุ หุ้มด้านหนึ่งด้วยหนังสัตว์ ซึ่งนิยมใช้หนังวัว ขึงให้ตึงด้วยเชือกหนังสัตว์ตัดเป็นริ้วยาว (ปัจจุบันใช้เชือกไนล่อนแทน) ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของกลองตึ้งใหญ่พอๆ กับกลองเพล แต่ความยาวจะน้อยกว่า หรือยาวประมาณหนึ่งศอก
กลองตึ้ง นิยมใช้ประกอบขบวนแห่ เช่น วงมโหรี และวงกลองยาว เนื่องจากมีขนาดใหญ่มาก ไม่สามารถถือตีคนเดียวได้ จึงผูกเชือกหนังเป็นห่วงเล็กๆ ไว้ที่ขอบกลองตึ้ง สำหรับสอดไม้เข้าไป และหามกันสองคน โดยคนที่เดินตามหลังเป็นคนตี
กลองตึ้ง ให้เสียงคุมจังหวะตกเท่านั้น จึงตีเพียง ตึ้ง ตึ้ง (ไม่มีเสียงปะ) ที่จังหวะตกของเพลง ดังนั้น เพียงใช้ไม้ตีก็พอ ไม้สำหรับตีกลองตึ้ง ทำจากไม้ไผ่ ด้านปลายหุ้มมัดเป็นก้อนกลมด้วยเศษผ้า แต่หากไม่มีไม้ตี ก็สามารถใช้มือตีได้
กลองรำมะนา เป็นกลองที่ให้เสียงทุ้มต่ำเหมือนกลองตึ้ง ลักษณะทรวดทรงก็เหมือนกับกลองตึ้ง ต่างกันแต่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า ลักษณะคล้ายกลองพาเหรดหรือเบสดรัม (Bass Drum) ของวงดุริยางค์ ตัวกลอง ทำจากต้นไม้ขนาดกลาง เป็นไม้เนื้อแข็ง เช่น ก้ามปู ขนุน หรือต้นตาล เจาะรูทะลุตรงกลาง หุ้มด้านหนึ่งด้วยหนังวัวขึงให้ตึงด้วยเชือกหนังหรือเชือกไนล่อน ซึ่งกลองรำมะนามีน้ำหนักน้อยกว่ากลองตึ้ง จึงสามารถสะพายตีด้วยคนคนเดียวได้ กลองรำมะนา ใช้ตีประกอบวงมโหรี วงกลองยาว หรือตีให้จังหวะการเล่นพิณ แคน เป็นต้น
กลองรำมะนา นอกจากคุมจังหวะตกแล้ว ยังสามารถตีส่งจังหวะได้ด้วย ซึ่งนั่นก็คือ มีทั้งเสียง ตึ้ง ตึ้ง และเสียง ปะ เวลาตีนิยมใช้มือเดียว ตีเป็นเสียง “ปะ” ใช้ฝ่ามือตีลงบนหน้ากลองพร้อมกับกดไว้ ตีเสียง “ตึ้ง” โดยใช้ฝ่ามือตีบริเวณตรงกลางหน้ากลองแล้วยกขึ้นทันที แต่อย่างไรก็ตาม วงโปงลางพื้นบ้านส่วนใหญ่ใช้กลองรำมะนาเป็นตัวช่วยคุมจังหวะ ซึ่งใช้หลักการของกลองตึ้ง แต่กลองตึ้งใหญ่มากเกินไป หายาก จึงใช้กลองรำมะนามาใช้แทน และตีคุมจังหวะตก เหมือนกลองกระเดื่องเหยียบในกลองชุดดนตรีสากล
กลองยาว บางแห่งเรียก "กลองหาง" บางแห่งเรียก "กลองแอว" แต่โดยทั่วไปนิยมเรียกชื่อว่า กลองยาว เป็นเครื่องดนตรีในตระกูลของเสียงเกิดจากการสั่นสะเทือนของแผ่นหนัง (Membranophones) ทำจากไม้เนื้อแข็ง ชาวผู้ไทเรียกชื่อว่า “กลองหาง” ทำด้วยไม้ขนุน ขึงด้วยหนังวัว หน้าเดียว นิยมนำมาบรรเลงในขบวนแห่หรือเซิ้งต่างๆ และใช้ในวงดนตรีพื้นบ้านอีสาน (วงโปงลาง) ลักษณะของกลองหางหรือกลองยาว โดยทั่วไปนิยมเรียกชื่อว่า “กลองยาว” ซึ่งลักษณะทรวดทรงคล้ายกับกลองยาวภาคกลาง แต่ก็แตกต่างกัน คือ รูปทรงนับจากช่วงหน้ากลองลงมา จะเห็นว่า ตัวกลองจะยาวกว่ากลองยาวภาคกลาง ส่วนหางกลองจะสั้นกว่าของกลองยาวภาคกลาง และหางของกลองยาวอีสานจะบานออก สามารถตั้งได้อย่างมั่นคงโดยไม่ล้ม นอกจากนั้น การขึงหนังกลองแอวหรือกลองหางจะเอาด้านนอก หรือด้านที่มีขนสัตว์ไว้ด้านนอก
กลองยาว นิยมทำจากไม้ขนุน เนื่องจากไม้ขนุนให้เสียงก้องกำทอนดี เนื้อแข็งพอประมาณไม่หนักมาก และมีสีสันสวยงาม มีขนาดความสูงประมาณ 80 - 90 เซนติเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางของหน้ากลอง ประมาณ 9 – 10 นิ้ว นำมาขุดให้ภายในกลวง โดยปลายด้านหนึ่งจะบานออกคล้ายดอกลำโพง เรียกว่า “ตีนกลอง” ตอนกลางเรียวคอด ด้านบนป่องออกเป็นกล่องเสียง หนังกลองนิยมทำจากหนังวัวน้อย หรือวัวรุ่นๆ เพราะมีหนังที่บาง มีความยืดหยุ่นดี ส่วนวัวแก่ จะมีหนังที่หนา ทำให้เสียงไม่ดี
การขึงหน้ากลอง เริ่มจากเอาหนังวัวไปตากแดด ใช้ไม้ตีเป็นสี่เหลี่ยม เพื่อที่จะนำเอาหนังวัวไปขึงให้ตึงแล้วนำไปตากแดดจนแห้ง นำหนังวัวที่แห้งแล้วมาตัดเท่ากับขนาดของหน้ากลองที่ต้องการ พอตัดเสร็จก็นำหนังวัวไปแช่น้ำไว้ 1 คืน แล้วนำหนังวัวมาทุบกับพื้นดินโดยใช้ค้อนที่ทำจากไม้ทุบจนกว่าหนังวัวจะนิ่ม พอทุบเสร็จก็นำไปแช่น้ำอีก 30 นาที แล้วจึงนำหนังที่แช่แล้วมาสับรู (เจาะรู) เพื่อที่จะใช้เป็นที่ร้อยสายตึงหนังกลอง เชือกที่ใช้ร้อยสายโบราณใช้หนังสัตว์ตัดเป็นริ้วทำเส้นยาวๆ ปัจจุบันจะใช้เชือกไนล่อนเพราะว่ามีความเหนียวทน ไม่ยืดง่าย สะดวกและหาได้ง่ายกว่า
กลองยาว ที่ใช้ในคณะกลองยาวจะมีขนาดของกลองแต่ละลูกเท่ากัน เวลาจะใช้งานต้องใช้ข้าวเหนียวนึ่งสุก บดให้ละเอียดจนเหนียว นำมาติดหน้ากลอง บางแห้งก็ใช้กล้วยตากแห้งมาตำให้ละเอียดเหนียว เพื่อนำไปติดตรงกลางหน้ากลอง เพื่อปรับระดับโทนเสียง ให้กลองทุกลูกดังในคีย์เสียงเดียวกัน (ติดมากจะให้เสียงทุ้ม ติดน้อยจะให้เสียงแหลมกังวาน) เมื่อเล่นเสร็จแล้วจะขูดข้าวเหนียวหรือกล้วยตากแห้งออก ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดทำความสะอาด คราบข้าวเหนียวออกจนหมด ก่อนนำไปเก็บ (ถ้าไม่ขูดออกจะทำให้หนังเกิดรา)
วิธีการตีกลองหาง กลองหางหรือกลองยาว บรรเลงโดยการใช้มือตี การตีให้เป็นเสียง “ปะ” โดยการใช้ฝ่ามือตีลงบนหน้ากลองพร้อมกับกดไว้ การตีให้เป็นเสียง “เปิ้ด” โดยการใช้ครึ่งฝ่ามือท่อนบนตีลงบนริมหน้ากลอง แล้วใช้มืออีกข้างหนึ่งกดหน้ากลองไว้ทันที การตีให้เป็นเสียง “เปิง” โดยการใช้ครึ่งฝ่ามือท่อนบนตีลงบนริมหน้ากลองแล้วยกขึ้นทันที
ในวงดนตรีโปงลางพื้นบ้าน จะใช้กลองยาว 4 ลูก เรียงลำดับเล็กไปหาใหญ่ ขึงขึ้นเสียงกลองให้ได้เสียงที่มีระดับตัวโน้ตตามต้องการ เรียงลำดับเสียงสูงไปหาต่ำ ไล่จากขวาไปซ้าย คือ โด ลา ฟา เร วางกลองแต่ละลูกบนขาตั้งกลอง (โครงเหล็กโค้งเล็กน้อย เพื่อให้ผู้ตีสามารถใช้มือตีไล่เสียงได้สะดวก ที่ระยะแขนเท่าๆ กัน) นิยมบรรเลงร่วมกับ กลองตึ้ง โดยมีกลองตึ้ง 1 ใบ กลองหาง หรือ กลองยาว 4 ใบรวมเป็นชุดกลองอีสาน หรืออาจจะใช้บรรเลงในขบวนแห่ต่างๆ ก็เรียกว่า วงกลองยาว
คณะกลองยาว หรือ วงกลองยาว เกิดขึ้นก่อนที่วงดนตรีโปงลางจะโด่งดังเป็นที่รู้จักเช่นในปัจจุบัน แต่คณะกลองยาวก็ได้รับการปรับปรุงพัฒนา ประยุกต์รูปแบบนำเสนอใหม่ๆ และกำลังเป็นที่นิยมเป็นอย่างมากในภูมิภาคอีสาน โดยคณะกลองยาวนิยมใช้สำหรับประกอบขบวนแห่ต่างๆ เช่นเดียวกับวงมโหรีอีสาน
คณะกลองยาว ตามหมู่บ้านในสมัยก่อน ใช้กลองยาวเป็นเครื่องดนตรีหลัก โดยใช้กลองตึ้ง 1 และกลองยาวประมาณ 3-5 ลูก ไม่มีพิณหรือแคนบรรเลงลายประกอบ อาศัยเพียงลวดลายของจังหวะกลอง และลีลาการตีฉาบใหญ่เป็นสิ่งดึงดูด ซึ่งคณะกลองยาวยุคนี้ยังไม่มี "ขบวนนางรำ" ฟ้อนรำประกอบ (และอาจยังไม่มีชุดแต่งกายประจำคณะด้วย)
เมื่อคณะกลองยาวพัฒนาขึ้นเป็น "คณะกลองยาวยุคใหม่" จริงๆ เพื่อดึงดูดให้เจ้าภาพงานมาว่าจ้าง บางคณะจึงได้เพิ่มจำนวนกลองขึ้นมาให้ดูยิ่งใหญ่อลังการมากขึ้น เช่น ใช้กลองยาว 10 ลูกบ้าง 14 ลูกบ้าง จนมากถึง 20 ลูกบ้าง และนอกจากจะให้ผู้ชายตีกลอง บางคณะอาจใช้ผู้หญิงมาวาดลวดลายการตีก็มี แต่ในยุคนั้น ยังเป็นการโชว์ลวดลายการตีกลองยาวอย่างเดียวอยู่ จึงยังไม่มีพิณ-แคนมาบรรเลงประกอบ และยังไม่มีขบวนนางรำฟ้อนประกอบ คนตีกลองจะรับหน้าที่วาดลวดลายการฟ้อนไปด้วยในขณะตีกลองไปด้วย
กลองยาวศิลป์อีสาน มมส ชนะเลิศอันดับ 1 ออนซอนกลองยาวชาววาปี 2563
ส่วนคณะกลองยาวในยุคปัจจุบัน ได้นำเครื่องดนตรีหลายๆ อย่างมาประยุกต์เสริมเข้าไป เพื่อให้ดูทันสมัยขึ้น นั่นคือ นอกจากใช้การโชว์กลองเป็นจุดขายแล้ว ยังขายความบันเทิงอื่นๆ ด้วย เช่น ใช้เครื่องดนตรีพิณ- แคนบรรเลงประกอบ บางวงมีอีเล็กโทนบรรเลงด้วย มีการใช้เครื่องขยายเสียงร่วมด้วยเพื่อให้เสียงพิณ-แคน หรืออีเล็กโทนที่ระดับเสียงเบากว่ากลองดังได้ไกลขึ้น มีขบวนนางรำฟ้อนประกอบขบวนแห่ มีเครื่องแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ และบางคณะอาจมีการจัดรูปแบบขบวน ตกแต่งรถสำหรับขบวนแห่แบบต่างๆ เป็นต้น ซึ่งนี่คือตัวอย่างแห่งศิลปวัฒนธรรมที่ไม่หยุดนิ่งของกลองยาวอีสาน
คณะกลองยาววงใหญ่ หรือ วงเล็ก ในสมัยก่อนขึ้นอยู่กับจำนวนกลองยาวที่ใช้ โดยวงขนาดเล็ก ใช้กลองยาวประมาณ 3-5 ลูก หากกลองยาวไม่เกิน 20 ลูก ก็ยังถือว่าเป็นวงขนาดกลางอยู่ หากมีจำนวนเกิน 20 ลูกขึ้นไป จัดว่าเป็นวงขนาดใหญ่ ในปัจจุบัน นอกจากจะดูเรื่องจำนวนกลองยาวแล้ว ยังต้องดูขบวนนางรำประกอบด้วยว่า มีจำนวนกี่คน
กลองยาว ที่ใช้ในคณะกลองยาว จะต้องปรับเสียงให้กลองทุกลูกดังในคีย์เสียงเดียวกัน โดยใช้ข้าวเหนียวนึ่งสุก นำมาบดให้ละเอียด ติดที่หนังหน้ากลอง ปรับขนาด ทดลองตีเทียบจนได้เสียงที่เท่ากัน และเมื่อการละเล่นเสร็จแล้วทุกครั้ง ก็ต้องนำมาทำความสะอาด เอาคราบข้าวเหนียวที่ติดอยู่หน้ากลองออกให้หมด ก่อนนำกลองไปเก็บเพื่อป้องกันการเกิดเชื้อราในหนังหน้ากลองนั่นเอง
คณะมโหรีอีสาน หรือ วงมโหรีอีสาน เป็นวงดนตรีพื้นบ้านอีสาน ซื่งได้รับความนิยมกันมากในยุคก่อนที่วงดนตรีโปงลางจะโด่งดัง นิยมใช้บรรเลงประกอบขบวนแห่ต่างๆ ซึ่งเครื่องดนตรีหลักประเภทให้จังหวะจะคล้ายๆ กันเกือบทุกหมู่บ้านหรือทุกคณะ ส่วนเครื่องดนตรีประเภทบรรเลงทำนองอาจแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่า หมู่บ้านไหนจะสามารถเล่นเครื่องดนตรีอะไรได้ชำนาญกว่ากันบ้าง
ลายมโหรีอีสาน โดย วงโปงลางศิลป์อีสาน มมส.
โดยเครื่องดนตรีหลักของคณะมโหรี อีสานจะประกอบด้วย
เครื่องดนตรีประจำวงมโหรีอีสานที่พบมาก คือ
หรือ บางคณะอาจใช้แตกต่างออกไปเช่น
"มโหรีอีสาน - ฉบับเต็ม" บรรเลงพิณ : ทองเบส ทับถนน
ลายเพลงที่ใช้บรรเลงหลักๆ แล้วจะใช้เพลง มโหรีอีสาน ซึ่งแต่ละวงอาจจะมีลูกเล่น หรือท่วงทำนองแตกต่างกันออกไป นั่นคือเพลงหลัก แม้จะเรียกว่า มโหรีอีสาน เหมือนกัน แต่ทำนองเพลงอาจจะไม่เหมือนกันทีเดียวนัก ซึ่งนักดนตรีที่มีความสามารถทางการเดี่ยวเครื่องดนตรีอาจจะสอดใส่ลวดลายพิเศษเข้ามาร่วมด้วย และนอกจากเพลงมโหรีอีสานแล้ว อาจจะมีลายเพลงอื่นๆ เข้ามาประกอบด้วย ให้เกิดความสนุกสนานครึกครื้นถูกใจเจ้าภาพให้จ้างงานในโอกาสต่อไป
นอกจากการนำกลองชนิดต่างๆ มาตีเพื่อให้เกิดจังหวะดนตรี ให้เกิดความสนุกสนาน รื่นเริง ใช้ในการตีบอกเพื่อเหตุต่างๆ แล้ว กลองยังถูกนำมาใช้ในการแข่งขันในการตีให้เกิดเสียงดังด้วย เรียกว่า "การเส็งกลอง" ซึ่งมีคำในภาษาการพูดของคนอีสานที่น่าสนใจอยู่ 2 คำ คือ
การเส็งกลอง หรือ การตีกลอง เป็นประเพณีการละเล่นของชาวอีสานเพื่อขอฝนจากพญาแถน นิยมเล่นกันในงานประเพณีบุญบั้งไฟ และบุญผะเหวดตามฮีตสิบสองของคนอีสาน ชุมชนอีสานในหลายจังหวัด เช่น นครพนม อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ ฯลฯ ยังคงอนุรักษ์และสืบสานประเพณีไว้ให้ลูกหลานได้เรียนรู้ ได้ชื่นชมกัน
กลองกิ่ง หรือ กลองเส็ง ชาวบ้านจะช่วยกันทำกลองขึ้นมาเอง ไม้ที่นิยมนำมาทำกลองคือ ไม้ประดู่ ไม้มะรุมป่า และไม้ขนุน หนังที่ใช้ขึงหน้ากลองจะเป็นหนังวัว นิยมทำกลองเป็นคู่ๆ มีขนาดเท่ากัน และเรียกชื่อตามขนาดความยาวของรัศมีหน้ากลอง เช่น กลองเส็งขนาด 50, 60, 70 นิ้ว กลองทั้งคู่เมื่อตีแล้วจะต้องได้เสียงในระดับเดียวกัน จึงต้องมีการปรับจูนเสียงให้เป็นเสียงเดียวกัน ชาวบ้านเรียกว่า “การเข่งกลอง” คือการหมุนหรือขันเส้นเชือกที่รั้งหนังหน้ากลอง ถ้าต้องการให้ได้เสียงดังจะต้องขันหนังกลองให้ตึงที่สุด
ไม้ที่ใช้ตี ด้ามจับทำด้วยไม้ขนาดพอเหมาะและทำสายคล้องมือ เพื่อไม่ให้ไม้หลุดมือเวลาตี ส่วนก้านมักจะทำด้วยเหล็กเส้น ส่วนหัวจะทำด้วยตะกั่ว
ผู้ที่จะเส็งกลองได้ดีจะต้องสามารถตีกลองทั้งคู่ทั้งสองมือได้พร้อมๆ กัน และมีความแม่นยำในการตี ก่อนตีจะมีการพรมน้ำลงที่หนังหน้ากลองให้หนังนิ่ม เสียงที่ตีได้จะมีความทุ้มนุ่มนวลกว่าการตีกลองที่หนังหน้ากลองแห้ง หากตีกลองจนไม้ที่ทำกลองแตกหรือปริ จะทำให้กลองเสียงไม่ดี ภูมิปัญญาชาวบ้านที่ใช้คือ การนำเปลือกยางบงมาป่นให้เป็นผงละเอียด นำมาผสมน้ำและยาลงไปบนเนื้อไม้บริเวณที่แตกหรือปรินั้น บ้างก็ตีจนหนังหน้ากลองแตก ก็จะมีการเปลี่ยนหน้ากลองใหม่ [ อ่านเพิ่มเติม : กลองเส็งบ้านเป้า ]
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)