คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
อาหารอีสานรสเด็ดของชาวอีสานอีกอย่างคือ "ลาบหมาน้อย" ขอรับ... นั้นๆ ว่าแล้วสิพากันเข้าใจผิดคิดว่า "พวกเฮาชาวอีสานกิน "หมาน้อย" สี่ขา เห่าเสียงดังบ็อกๆ บ่แม่นเด้ออาว์" อันนี้มันเป็นแนวกินเฮ็ดมาจากพืชสมุนไพรขอรับ ที่เขียนเรื่องนี้ก็เพราะว่า หลานสาวของทิดหมู เลาเป็นฅนอีสานขนานแท้อีหลี คักๆ แหน่หลาย มักกินแกงหน่อไม้ แกงหวาย แกงขี้เหล็ก แกงผำ มื้อนี้นางมาจากกรุงเทพฯ (ช่วงนี้วันหยุดติดต่อกันหลายวันเลยลางานมายามบ้าน) พากันไปตลาดเห็นไทบ้านมาขายเครือหมาน้อย นางฮ้องเสียงดังดีใจปานถืกเลขถืกหวยว่า "ลุงๆ ทิดหมู มื้อนี้เฮ็ดลาบหมาน้อยให้นางกินแหน่เด้อ โอยน้ำลายเหี่ยบ่ได้กินมาดนหลายปี มื้อนี้พ้อแล้วสิซื้อเมือบ้าน ใส่ป่นปลาข่อใหญ่เด้อนางสิซื้อไปจักโตใหญ่ๆ" เลยเป็นที่มาของบทความมื้อนี้ซั่นดอก
หมาน้อย เป็น ไม้เถาเลื้อย ในวงศ์ MENISPERMACEAE มีชื่อเรียกอื่นๆ ตามท้องถิ่น เช่น กรุงเขมา, หมอน้อย, ก้นปิด, พระพาย, เปล้าเลือด, สีฟัน เนื้อไม้แข็ง มีขนนุ่มสั้นปกคลุมหนาแน่นตามเถา กิ่ง ช่อดอก และใบ ไม่มีมือเกาะ มีรากสะสมอาหารใต้ดิน ใบเป็นใบเดี่ยว มีหลายรูป เช่น รูปหัวใจ รูปกลม รูปไต หรือรูปไข่กว้าง ก้นใบปิด ออกแบบสลับ กว้าง 4.5-12 เซนติเมตร ยาว 4.5-11 เซนติเมตร ปลายใบส่วนมากมนหรือเรียวแหลม โคนใบกลมตัด หรือเป็นรูปหัวใจ ขอบใบเรียบ เนื้อบางคล้ายกระดาษ มีขนนุ่มสั้นกระจาย ทั้งหลังใบ และท้องใบ ใบเมื่อยังอ่อนจะมีขนอ่อนนุ่มปกคลุมอยู่ทั้งสองด้าน และตามขอบใบ แต่จะร่วงไปเมื่อใบแก่ (ชื่อ "เครือหมาน้อย" ก็น่าจะมาจากความนุ่มของขนที่ใบนี่แหละ ไทบ้านจับแล้วเห็นว่า นุ่มเหมือนขนหมาน้อย จึงเรียกว่า "เครือหมาน้อย" นั่นเอง)
ดอก ออกเป็นกระจุกสีขาว ที่ซอกใบ แต่ละดอกที่รวมเป็นกระจุกนั้น จะมีขนาดเล็กประมาณ 0.2-0.5 มิลลิเมตร ผล กลมรี อยู่ตรงปลายก้านผลสีส้ม เมื่อสุกมีสีน้ำตาลออกแดง ขยายพันธุ์โดยการใช้เมล็ดหรือเหง้า พบในป่าดิบ ป่าผลัดใบ และป่าไผ่ ตามริมแม่น้ำลำธาร ออกดอกช่วงเดือนมีนาคมถึงธันวาคม เถาและใบคั้นเอาน้ำเมื่อผสมกับเครื่องปรุงอาหาร จะมีลักษณะเป็นวุ้น รับประทานเป็นอาหาร
ใบหมาน้อยมีสารพวกเพคติน เมื่อขยำใบกับน้ำ เมื่อทิ้งไว้จะแข็งตัวเป็นวุ้น พืชสมุนไพรที่พบได้ทั่วไปตามท้องไร่ปลายนา ที่รกร้างว่างเปล่า หรือตามสวนป่า นอกจากมีสรรพคุณทางยามากมายแล้ว ชาวบ้านถิ่นอีสานจะนำใบมาประกอบอาหารพื้นถิ่นทั้งคาว หวาน อาทิ วุ้นหมาน้อย ลาบหมาน้อย ฯลฯ
การทำลาบหมาน้อยไม่ใช่เรื่องยากครับ จริงๆ จะบอกว่า "ลาบ" ก็ไม่เหมือนลาบหมู ลาบเนื้อ ลาบปลา ลาบไก่นะครับ มันเหมือนวุ้นมากกว่า หรือบางคนอาจจะนึกถึง "หมูเย็น" (พะโล้แช่แข็ง) อาหารจีนมากกว่า ขั้นตอนและวิธีการทำก็ไม่ยุ่งยากครับ เริ่มกันเลย
หมาน้อย นั้นนอกจากจะเป็นอาหารแล้ว ยังมีสรรพคุณเป็นยาอีกด้วย เช่น เป็นยาแก้ร้อนใน ใช้แก้ไข้ แก้ดีรั่ว ดีล้น ดีซ่าน เป็นยาขับปัสสาวะ ยาถ่าย แก้ไข้มาลาเรีย ใช้เป็นยาเจริญอาหาร ฯลฯ ทั้งนี้การใช้ประโยชน์ในด้านการใช้เป็นยาอาจะมีวิธีการปรุงแต่งไม่เหมือนกัน เพราะบางครั้งอาจใช้เฉพาะราก ใช้เฉพาะใบ หรือเฉพาะเครือ เป็นต้น
ข้อห้าม อาหารนี้เป็นของแสลงกับสตรีมีครรภ์ ไม่ควรรับประทานมาก
นอกจากจะทำลาบหมาน้อยแล้ว ยังเอามาทำเป็นของหวานทานในหน้าร้อนก็ไม่เลวนะครับ ทำไม่ยากเลย
อ้างอิง : ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)