foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว หิมะตกหนัก อากาศหนาวสุดขั้ว บางแห่งถึงขั้นติดลบ 46 องศาเซลเซียส ประเทศไทยเฮากะบ่หยอกคือกัน ทางตอนเหนือลดลงถึงศูนย์องศา เกิดแม่คะนิ้ง (น้ำค้่างแข็งบนยอดหญ้ากันแล้ว) ในช่วงวันที่ 10-13 มกราคมนี้ อุณหภูมิจะลดลงอีกมาก 5-7 องศา ในภาคเหนือและภาคอีสานบ้านเฮา รักษาสุขภาพกันดีๆ เด้อ อย่าสิเจ็บสิไข้ ซำบายดีครับ ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

art local people

kru kamman 02คำหมาน คนไค

าจารย์สมพงษ์ พละสูรย์ หรือที่หลายๆ คนรู้จักในนาม "ครูคำหมาน คนไค" เป็น อดีตครูประชาบาลโรงเรียนบ้านนอก ในสมัยปี พ.ศ. 2502 อดีตศึกษานิเทศก์ นักคิด นักเขียน นักวิชาการ ผู้ที่ได้นำประสบการณ์ในอาชีพครูที่ยากลำบากยิ่งนักในสมัยนั้น มาเขียนเป็นเรื่องสั้นชุด "บันทึกครูประชาบาล" และเมื่อมีผู้สนใจจะนำไปสร้างภาพยนตร์ จึงได้นำมาเรียบเรียงเป็นนวนิยายอีกครั้งในชื่อว่า "ครูบ้านนอก" ที่ถูกนำไปถ่ายทอดแปลออกไปตีพิมพ์อีกหลายภาษาในหลายประเทศ

แต่ที่ทำให้คนไทยรู้จัก "ครูคำหมาน คนไค" และสะเทือนวงการวิชาชีพครูมากที่สุด ก็เมื่อนวนิยายถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อเรื่องเดียวกันคือ "ครูบ้านนอก" กำกับการแสดงโดย สุรสีห์ ผาธรรม และมีดารานำรุ่นใหม่ที่ใครๆ ก็ไม่รู้จัก คือ ปิยะ ตระกูลราษฎร์ และวาสนา สิทธิเวช มาแสดงนำ พ่วงด้วย ครูใหญ่คำเม้า ที่รับบทโดยศิลปินอาวุโสภาคอีสาน ตำนานเพชรพิณทอง นพดล ดวงพร

(เสริมเพิ่มนิดหนึ่ง มีแฟนๆ ถามเข้ามาว่าชื่อ "คำหมาน คนไค" นี่หมายถึงอะไร โดยเฉพาะคำ "คนไค" นี่อยากทราบความหมาย ชื่อ คำหมาน นี่ไม่แปลกเพราะคนอีสานส่วนใหญ่มักจะมีชื่อพยางค์เดียว เช่น สี สา มี มา หมาน ฯลฯ คำว่า "คำหมาน" จะแยกออกมาเป็น 2 คำ 2 ความหมาย คือ หมาน หมายถึง ความมีโชคดี ทำอะไรไม่ขัดข้อง ไปหาปลาได้ปลา ไปล่าสัตว์ได้เก้ง กวาง เรียกว่า ทำอะไรๆ ก็หมานเบิด ส่วน "คำ" ที่ใช้นำหน้าหมายความว่า คนดี ลูกที่ดีของพ่อแม่ จึงมักเอามานำหน้าชื่อเช่นเดียวกับคนจีนมักใช้คำว่า "กิม" นำหน้าชื่อนั่นเอง ส่วนคำว่า "คนไค" นั้นมี 2 คำเช่นกัน คือ คน กับ ไค หมายความว่า ดี ดีกว่า รวมแล้วคือ คนดีกว่าหมู่ ชื่อ "คำหมาน คนไค" จึงหมายถึง คนดีมีโชค คนดีกว่าผู้อื่น นั่นเอง)

นายสมพงษ์ พละสูรย์ เกิดเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2480 ที่บ้านดอนเมย ตำบลนาจิก อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี (ในขณะนั้น ปัจจุบันเป็นจังหวัดอำนาจเจริญ)  เป็นบุตรคนเดียวของ นายยอด กับนางทุม พละศูนย์ ในปี พ.ศ. 2513 นายสมพงษ์ จึงขอเปลี่ยนนามสกุลเป็น “พละสูรย์” ดังที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

เรื่องเกี่ยวกับเรื่องวัน-เดือน-ปีเกิด รวมทั้งบิดา-มารดา และบรรพบุรุษ นายสมพงษ์ เล่าไว้อย่างน่าสนใจว่า

…บรรพบุรุษของข้าพเจ้าเป็นคนสยามเชื้อชาติลาว ประวัติของวงศ์ตระกูลของข้าพเจ้า เป็นเรื่องที่คนในเครือญาติบอกเล่าสืบต่อกันมาจากรุ่นต่อรุ่น บรรพบุรุษชั้นต้นที่ข้าพเจ้าได้เห็นตัว และได้มาอยู่ในครอบครัว คือ แม่ทวด แม่ทวด หรือยายทวดของข้าพเจ้า ชื่อ นางเทิ่ง เสนาดี (เสียชีวิต เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๙ อำยุ ๙๑–๙๒ ปี) แม่ทวดเล่าว่าพ่อของท่าน ชื่อ ไชยเสด แม่ชื่อคำหอม ท่านไชยเสด นำพาพวกพ้องมาจาก “ฝั่งซ้าย” (ในสมัยก่อนการย้ายไป-มาข้ามลำน้ำโขงทำได้โดยสะดวก) ข้าพเจ้าเข้าใจว่าท่านไชยเสดข้ามโขงเข้ามาราว พ.ศ.๒๓๘๐–๒๓๙๐ แม่ทวดมีสามีเป็นคนลาวสยาม (ลาวอีสาน) ชื่อไชยเสนา แม่ทวดมีลูก ๗ คน เป็นหญิง ๓ คน ลูกหญิงคนโต ชื่อนางพา โสภามี คนเล็ก ชื่อ ทุม พละศูนย์ นางพา มีลูกสาวชื่อ นางนันท์ อุทธจันทร์ ข้าพเจ้าเป็นลูกคนแรกของ นางนันท์ – นายเหี่ยว อุทธจันทร์…

 

ส่วน นางทุม แต่งงานกับ นายยอด พละศูนย์ และไม่มีลูก จึงขอข้าพเจ้ามาเป็นบุตรตั้งแต่ข้าพเจ้าเป็นเด็กอ่อน พ่อยอดบอกว่า ท่านเป็นผู้ไปแจ้งเกิด (แจ้งขอใบสูติบัตร) ท่านบอกว่าข้าพเจ้าเกิดวันเสาร์ เดือนสี่ ปีฉลู พ.ศ. ๒๔๘๐ ใบเกิดระบุว่าวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ข้าพเจ้าตรวจสอบปฏิทินร้อยปี พบว่า วันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ เป็นวันอังคาร ข้าพเจ้าเชื่อคำของพ่อจึงตรวจสอบวันข้างขึ้นข้างแรม แล้วสรุปเองว่า ข้าพเจ้าเกิดวันเสาร์ที่ ๑๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ แต่ถือเอาวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ เป็นวันเดือนปีเกิดตามกฎหมาย…”
                                                                                                                                    (สมพงษ์ พละสูรย์, ๒๕๔๘:๑)

ด้านการศึกษา

เข้าเรียนชั้นประถมปีที่ 1 ที่ โรงเรียนประชาบาลตำบลนาจิก 4 วัดบ้านดอนเมย นายสมพงษ์เป็นเด็กฉลาด ฝักใฝ่ในการเรียน เมื่อเรียนจบชั้นประถมปีที่ 4 บิดา-มารดาได้อพยพครอบครัวไปทำมาค้าขายในตัวจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อให้นายสมพงษ์ ได้เข้าเรียนในโรงเรียนมัธยมประจำจังหวัด คือ โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช ใน พ.ศ. 2492 (เมื่อปีการศึกษา 2492–2497 หมายเลขประจาตัว 5559) ในระหว่างเรียนชั้นมัธยม บิดาได้ถึงแก่กรรมไปก่อน แต่มารดาก็ยังคงทำมาค้าขายอยู่ในตัวเมืองอุบลฯ ซึ่งต่อมาได้ถึงแก่กรรมในอีกปีถัดมา

นายสมพงษ์ก็ได้มาอาศัยอยู่กับญาติ คือ นายมนูญ-นางยุวพงษ์ ผาสุขมูล โดย นางยุวพงษ์ เป็นญาติฝ่ายมารดามีศักดิ์เป็นป้า ส่วน นายมนูญ รับราชการกรมทางหลวง ที่แขวงการทางอุบลราชธานี นายสมพงษ์นับถือบุคคลทั้งสองเสมือนพ่อ-แม่ และอาศัยอยู่กับครอบครัวนี้ตลอดมา และได้ส่งเสียให้เรียนจนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 ใน ปี พ.ศ. 2498

นายสมพงษ์ มีความสนใจใคร่รู้มากตั้งแต่วัยเด็ก เมื่ออ่านออกเขียนได้ก็อ่านหนังสือที่มีอยู่ในบ้านญาติ เมื่อเรียนระดับมัธยมก็อ่านหนังสือ ประวัตินายปรีดี พนมยงค์ วิธีชนะมิตรและจูงใจคน (เดล คาร์เนกี แต่ง อาษา ขอจิตต์เมตต์ แปล) การอ่านหนังสือนี้เป็นผลให้นายสมพงษ์สนใจการศึกษาเรียนรู้ และอยากอ่านหนังสือมากขึ้น ในด้านภาษาอังกฤษก็สนใจเรียน และหัดเขียนตัวอักษรภาษาอังกฤษบนปกสมุดตั้งแต่เรียนอยู่ชั้น ป.3 เมื่อมาเรียนชั้นมัธยมศึกษา ก็เริ่มสนใจภาษาอังกฤษมากขึ้น ตอนอยู่ชั้น ม.3 อาจารย์พักตร์ สุนทรารักษ์ เปิดสอนภาษาอังกฤษ ก็สมัครเรียนจนสามารถออกเสียงภาษาอังกฤษได้ดี และสนทนาภาษาอังกฤษง่ายๆ ได้ ตอนเรียนชั้น ม.1 เคยพบฝรั่งคนหนึ่งที่หน้าไปรษณีย์จังหวัดอุบลราชธานี ก็สามารถพูดคุยกับฝรั่งได้พอรู้เรื่อง

พอเรียนมัธยมปลาย (ม.4–ม.6) ก็อ่านหนังสือที่ ห้องสมุดประชาชน นายสมพงษ์เคยบอกว่า "ชอบอ่านหนังสือและมีความสุขในการอ่านหนังสือ ขณะเดียวกันก็สนใจภาษาอังกฤษมากขึ้น อาจารย์เพลินจิต ไพรีพินาศ และอาจารย์สุจริต จันทรกาญจน์ ซึ่งเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ ได้แนะนาช่วยเหลือและให้กำลังใจเป็นอย่างดี ประกอบกับในช่วงเวลานั้น หน่วย “USIS” ของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ส่งหนังสือและวารสาร มาให้ห้องสมุดประชาชนจังหวัดอุบลราชธานีเป็นจานวนมาก จึงเป็นผลให้มีหนังสือภาษาอังกฤษอ่านมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องราวของประเทศสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอเมริกา และวารสารภาษาอังกฤษ เช่น Life , News Week, Time, National Geographic Magazine รวมทั้งวารสารภาษาไทย เช่น สยามสมัย ชาวกรุง ศรีสัปดาห์ สตรีสาร ประวัติบุคคลสาคัญและหนังสืออื่นๆ เป็นจานวนมาก"

นายสมพงษ์ เล่าต่อไปว่า “การอ่านหนังสือเหล่านี้ทำให้มีความฝันและจินตนาการ รวมทั้ง ได้ข้อมูลและความรู้หลายอย่าง ตอนที่เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 อาจารย์วิมลศรี เวชศาสตร์ (สกุลเดิม ศรีภา) ให้ยืมหนังสือประวัติศาสตร์ไปอ่านเล่มหนึ่ง อ่านจบหลายเที่ยว เกิดความประทับใจครูคนนี้มาก”

เนื่องจากนายสมพงษ์เป็นนักเรียนเรียนดี จึงได้รับการคัดเลือกให้ได้รับทุนไปเรียนต่อ ระดับฝึกหัดครู ที่ โรงเรียนฝึกหัดครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ใน พ.ศ. 2498 ได้รับ ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา (ป.กศ.) เป็นรุ่นแรกในปี พ.ศ. 2500 แล้วได้รับทุนเรียนต่อชั้น ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ. สูง) ใน วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และในปีเดียวกันนั้นเอง นายสมพงษ์ก็สมัครสอบชั้น ประโยคเตรียมอุดมศึกษา แผนกอักษรศาสตร์ได้อีกด้วย

นายสมพงษ์ พละสูรย์ สำเร็จการศึกษาได้รับวุฒิ ประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง (ป.กศ. สูง) เป็นรุ่นแรก อีกเช่นกัน ใน พ.ศ. 2502 และได้รับการบรรจุเข้าเป็นครูในปีนี้เอง ได้เข้ารับราชการตำแหน่ง ครูตรี โรงเรียนบ้านอำนาจ ตำบลอำนาจ อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี สังกัดกองการประถมศึกษา กรมสามัญศึกษาได้มุ่งมันในการทำงาน และศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม จนเจริญก้าวหน้ามาเป็นลำดับ ดังนี้

kru kamman 06

  • พ.ศ. 2503 สอบได้รับวุฒิประโยคครูพิเศษมัธยม (พ.ม.)
  • พ.ศ. 2506 ไปช่วยราชการทำการสอนที่โรงเรียนบ้านไก่ดำ ตำบลไก่เขี่ย อำเภออำนาจเจริญ
  • พ.ศ. 2507 ได้รับอนุมัติให้ลาศึกษาต่อระดับปริญญาตรี ที่วิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร กรุงเทพฯ สำเร็จได้รับปริญญาการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.) ในปี พ.ศ. 2509 ช่วยราชการทำหน้าที่ ครูวิชาการ สำนักงานศึกษาธิการอำเภออำนาจเจริญ และในปีนั้นเองก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็น ศึกษานิเทศก์จังหวัดอุบลราชธานี สังกัดกรมสามัญศึกษา
  • พ.ศ. 2511 ได้รับอนุมัติให้ลาศึกษาต่อระดับปริญญาโท ที่ Colorado State College รัฐโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยได้รับทุน AID ของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา สำเร็จได้รับปริญญา Master of Arts (M.A.) ใน พ.ศ. 2512
  • พ.ศ. 2513 ได้เลื่อนขึ้นเป็นศึกษานิเทศก์โท ทำหน้าที่หัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ กรมสามัญศึกษา จังหวัดอุบลราชธานี
  • พ.ศ. 2518 ปรับตำแหน่งเป็นศึกษานิเทศก์ ระดับ 6 ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ กรมสามัญศึกษา จังหวัดอุบลราชธานี
  • พ.ศ. 2520 ช่วยราชการกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ
  • พ.ศ. 2521 โอนมาเป็นนักวิชาการศึกษา 7 ตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายพัฒนาหลักสูตรประถมศึกษา ศูนย์พัฒนาหลักสูตร กรมวิชาการ
  • พ.ศ. 2528 เป็นนักวิชาการศึกษา 8 ตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์แนะแนวการศึกษาและอาชีพ กรมวิชาการ
  • พ.ศ. 2533 ได้รับอนุมัติให้ไปดำรงตำแหน่งในองค์กรของรัฐ ตำแหน่ง รองเลขาธิการคุรุสภา
  • พ.ศ. 2537 ลาออกจากราชการตำแหน่งนักวิชาการศึกษา 8 ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคุรุสภา ติดต่อกันถึงวาระที่ 3 ในพ.ศ.2542

แม้จะพ้นวาระการดำรงตำแหน่งที่คุรุสภา นายสมพงษ์ก็ยังได้ปฏิบัติหน้าที่ให้แก่ทางราชการอีกหลายปี เช่น พ.ศ. 2542 – 2544 เป็นที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ในปี พ.ศ. 2544 เป็นกรรมาธิการการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ของวุฒิสภา และระหว่างปี พ.ศ. 2544 – 2546 เป็นผู้ชำนาญการในสำนักงานปฏิรูปการศึกษา ฯลฯ นอกจากนั้น ยังปลีกเวลาให้แก่ภาคเอกชน โดยรับเชิญเป็นที่ปรึกษาหน่วยงานทางวิชาการ เป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยเอกชน เป็นต้น

kru kamman 03

อาจารย์สมพงษ์เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถทั้งในการสอน การนิเทศการศึกษา การสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ เป็นนักพูด นักคิด นักเขียน มีผลงานในด้านวิชาการ วิชาชีพ และการสื่อสารสัมพันธ์ เป็นจำนวนมาก ที่สำคัญและสร้างชื่อเสียงให้มากที่สุดคือ งานเขียน ซึ่งอาจารย์สมพงษ์ได้เล่าไว้ในหนังสือ “ชีวิตสมพงษ์ พละสูรย์ 'คำหมาน คนไค' มหัศจรรย์ยิ่งนัก” ความตอนหนึ่งว่า

“...ข้าพเจ้าเขียนหนังสือหลายเล่ม ทั้งเรื่องสั้น บทความ สารคดี เช่น จดหมายจากครูบ้านนอก (ได้รับรางวัลสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปี 2522) บ้านโพนทราย (ได้รับรางวัลสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ปี 2524) ... หนังสือของข้าพเจ้ามีดังนี้

  • นิยาย ได้แก่ ครูบ้านนอก ฆ่าราชการครู (แปลเป็นภาษาอังกฤษ) บักเซียงน้อย บักสีเด๋อ บ้านโพนทราย ตักเงินจากบ่อ
  • รวมเรื่องสั้น จดหมายจากครูคำหมาน คนไค บันทึกครูประชาบาล หัวอกศึกษา ประสาคนภูธร ประสาครูบ้านนอก ไม้บรรทัดคด ครูบ้านนอกขี่เรือบิน ปากอิสาน
  • สารคดี 199 กระบวนท่าของครูมืออาชีพ ทางก้าวหน้าของครูมืออาชีพ  ครูมืออาชีพยุคปฏิรูปการศึกษา การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนากระบวนการคิด การฝึกกระบวนการคิดโดยการปฏบัติ ข้ามโขงไปลาว เที่ยวบาหลี
  • หนังสือสำหรับเด็ก ยอดกับทองเด็กอีสาน อาร์ทกับดอกหญ้า เพื่อนรักเพื่อนแท้ เหตุเกิดที่บ้านโพนทราย ชีวิตใหม่ (ได้รับรางวัลจากธนาคารกรุงเทพฯ) ...”

งานเขียนของอาจารย์สมพงษ์ที่เป็นบทความ และเรื่องสั้นในช่วงระยะเวลา 20 กว่าปี ตั้งแต่ พ.ศ.2521 เป็นต้นมา มีมากมาย และได้ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ทั้งรายวัน รายสัปดาห์ และ รายเดือน ที่มีชื่อเสียงทั้งหลาย เป็นบทความเกี่ยวกับการศึกษา สังคม และวัฒนธรรม ประมาณ 2,500 เรื่อง ส่วนที่เป็นเรื่องสั้นที่ลงพิมพ์ในวารสารรายเดือนมีประมาณ 350 เรื่อง

kru kamman 04

ในบรรดางานเขียนประเภทนวนิยาย เรื่องที่สร้างความโด่งดังให้แก่อาจารย์สมพงษ์มากที่สุดก็คือ นวนิยายเรื่อง "ครูบ้านนอก" ซึ่งนอกจากจะโด่งดังอยู่ในประเทศไทยหลายทศวรรษแล้ว ยังแพร่หลายไปยังนานาประเทศอีกด้วย ซึ่งอาจารย์สมพงษ์ได้เล่าไว้ในคำนำของผู้ประพันธ์ ในการพิมพ์ครั้งที่ 12 ของนวนิยายเรื่อง “ครูบ้านนอก” ความตอนหนึ่ง ว่า

“...นิยายเรื่อง ครูบ้านนอก มีความเป็นมาดังนี้ ในปี 2518 ในขณะที่ผมเป็นข้าราชการครูในจังหวัดอุบลราชานี ผมได้เขียนเรื่องสั้นชุดหนึ่ง จากประสบการณ์ที่ได้สัมผัสด้วยตนเอง ผสมผสานกับเรื่องราวที่ผมได้รับรู้ จากคำบอกเล่าของครูและชาวบ้านที่เคยรู้เห็นเหตุการณ์ และเรื่องราวของครูประชาบาลในท้องถิ่น เรื่องสั้นชุดนั้น มีสาระเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของครูประชาบาลจังหวัดอุบลฯ ในช่วง พ.ศ. 2500 – 2519 หนังสือเล่มนั้นชื่อ "บันทึกของครูประชาบาล" ประกอบด้วยเรื่องสั้น 69 ตอนๆ ละประมาณ 1 หน้ากระดาษฟุลสแก๊ป ผมขอให้ ดร.เอกวิทย์ ณ ถลาง (ขณะดำรงตำแหน่ง รองอธิบดีกรมสามัญศึกษา) เขียนคำนำ และท่านได้กรุณาเขียนคำนำให้ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2519 หนังสือเล่มนี้ได้รับรางวัลชมเชย "หนังสือดีเด่นประเภทนวนิยาย" ในงาน สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ พ.ศ. 2519

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2520 บุคคลคณะหนึ่งไปพบผมที่บ้านพักในเมืองอุบลฯ บุคคลดังกล่าวขอซื้อลิขสิทธิ์หนังสือ บันทึกของครูประชาบาล เพื่อนำไปสร้างภาพยนตร์ ผมแย้งว่าหนังสือเล่มนั้นเป็นรวมเรื่องสั้น ไม่มีพระเอก นางเอก คงไม่เหมาะที่จะนำไปสร้างภาพยนตร์ ผมเสนอว่า ถ้าบุคคลคณะนั้นเห็นว่าสาระของบันทึกของครูประชาบาล ควรสร้างเป็นภาพยนตร์ ผมจะเขียนนิยายขึ้นใหม่ให้มีสาระตามบันทึกของครูประชาบาล

kru kamman 05

บุคคลคณะนั้นเห็นด้วย แต่ขอร่วมวางโครงเรื่องพร้อมทั้งขอตั้งชื่อเรื่องว่า "ครูบ้านนอก" ผมขอให้บุคคลคณะนั้นเขียนบทภาพยนตร์ และผมก็จะเริ่มเขียนนิยาย หนังสือครูบ้านนอกพิมพ์เสร็จ พร้อมกับภาพยนตร์เรื่อง "ครูบ้านนอก" ฉายในกรุงเทพฯ ในต้นปี 2521 หนังสือครูบ้านนอกได้ถูกพิมพ์หลายครั้ง โดยหลายสำนักพิมพ์ การพิมพ์ครั้งนี้ จึงถือเป็นการพิมพ์ครั้งที่ 12 ของสำนวนภาษาไทย

การแปลและพิมพ์เป็นภาษาต่างประเทศมีดังนี้ ค.ศ. 1980 (พ.ศ. 2523) พิมพ์เป็นภาษาญี่ปุ่น ครั้งแรกในชื่อออกเสียงว่า “อินาคาโนคิโอชิ” (Inaka no Kyoshi) โดยสำนักพิมพ์สถาบันอิมูรา และพิมพ์อีกถึงครั้งที่ 5 เมื่อ ค.ศ. 1996 (พ.ศ. 2539) สำนวนภาษาอังกฤษชื่อเรื่อง The Teachers of MadDog Swamp พิมพ์โดยสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยควีนสแลนด์ ประเทศออสเตรเลีย ค.ศ. 1982 (พ.ศ. 2525) พิมพ์ครั้งที่ 2 โดย Silkworm Book สำนักพิมพ์สุริวงศ์ เชียงใหม่ ค.ศ. 1992 (พ.ศ.2535) สำนวนภาษาอูดู (Urdu) ชื่อเรื่อง The Death of Dream พิมพ์โดยสถาบัน MASHAL เมือง Lahore ประเทศปากีสถาน เมื่อ ค.ศ. 2003...”

งานสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่อาจารย์สมพงษ์ ที่ทำควบคู่ไปกับงานเขียนก็คือ การเป็นวิทยากร โดยเป็นวิทยากรมาโดยตลอด ตั้งแต่เป็นครูในโรงเรียนประชาบาล เป็นศึกษานิเทศก์ เป็นนักวิชาการ เป็นผู้บริหารที่คุรุสภา นอกจากเป็นวิทยากรในประเทศแล้ว ท่านยังได้รับเชิญร่วมประชุม และเป็นวิทยากรในต่างประเทศหลายครั้งที่สำคัญ เช่น

  • พ.ศ.2523 ประชุมวรรณกรรมที่เมืองมนิลา ประเทศฟิลิปปินส์
  • พ.ศ.2524 ประชุมวรรณกรรมและวัฒนธรรมที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติแคนเบอร่า ประเทศออสเตรเลีย
  • พ.ศ.2525 บรรยายเกี่ยวกับเรื่องวัฒนธรรมและสังคมไทย ให้แก่คนไทยในนครนิวยอร์ค วอชิงตันดี.ซี. และลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา
  • พ.ศ.2535 เสนอรายงาน Country Report ในที่ประชุมสภาครูอาเซียนที่ประเทศสิงคโปร์
  • พ.ศ.2540 เป็นผู้บรรยาย ผู้หนึ่งในการประชุมสมาคมครูของมูลนิธิชิสุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ฯลฯ

อาจารย์สมพงษ์ได้ให้ข้อคิดในการทำงานของตน ตลอดจนความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจไว้ในประวัติซึ่งนำมาลงไว้ในหนังสือ ชีวิตสมพงษ์ พละสูรย์ฯ เล่มเดียวกันความตอนหนึ่งว่า “...ข้าพเจ้าไม่อาจอ้างตนได้ว่า ทำงานเพื่อสังคม เพราะงานที่ทำส่วนใหญ่เป็นงานราชการ ซึ่งข้าพเจ้าต้องทำตามระเบียบและกฎหมาย ข้าพเจ้าทำงานด้วยความสำนึกสุจริต คำสอนของพ่อแม่และเครือญาติ ทำให้ข้าพเจ้าทำงานด้วยใจสุจริต ข้าพเจ้าทำงานโดยไม่ยึดมั่นในยศตำแหน่ง แต่ถือประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ เมื่อมีโอกาสจึงคิดและทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอยู่เสมอ

kru kamman 07

ตำแหน่งทางราชการของข้าพเจ้าไม่ใหญ่ ไม่เล็ก งานราชการที่ข้าพเจ้าปฏิบัติมีส่วนร่วมคิด และร่วมทำ (อย่างมาก) ที่มีคุณค่าต่อการศึกษา และวงการครูของชาติได้แก่ หลักสูตรประถมศึกษา พ.ศ. 2521 แผนการสอนชั้น ป. 1 – ป. 6 ของกรมวิชาการ มาตรฐานวิชาชีพครู พ.ศ. 2537 ของคุรุสภา และจรรยาบรรณครู พ.ศ. 2539 ของคุรุสภา...”

ในด้านความเป็นครู อาจารย์สมพงษ์เชื่อมั่นว่า ตนได้รับอิทธิพลหรือแรงบันดาลใจจากครู โดยได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับครูของตน ซึ่งนำมาลงไว้ ในหนังสือชีวิตสมพงษ์ พละสูรย์ฯ เล่มเดียวกันอีกตอนหนึ่งว่า “...เป็นที่น่าสังเกตว่า ตั้งแต่เข้าโรงเรียนจนเรียนจบมัธยม ครูทุกคนมีอิทธิพลต่อผมมาก ผมเป็นคนเชื่อฟังครู รักโรงเรียน ไม่อยากขาดเรียน ครูบอกหรือสั่งอะไร ก็ต้องรีบทำถือเป็นเรื่องสำคัญทีเดียว ผมว่าผมสอนง่าย จัดเป็นประเภท เด็กยากจน เรียนดี ความประพฤติเรียบร้อย ไม่ค่อยกล้าแสดงออก...

เพราะความที่ผมเชื่อครู ผมจึงขยันเรียน การบ้านไม่เคยค้าง ให้ปุ๊บทำปั๊บ... ผมว่าถ้าคนเราศรัทธาในตัวครูอาจารย์แล้ว การเรียนมันจะดีขึ้นเอง เพราะเจ้าตัวขยันขึ้น รักการเรียนมากขึ้น ทำงานที่ครูมอบหมาย ถ้าสงสัยก็สอบถาม แต่ถ้านักเรียนไม่ชอบครู หรือไม่ศรัทธาครู ผลมันจะออกมาตรงกันข้ามเลย

kru kamman 08

การที่ผมเอ่ยถึงครูเก่าของผม เพราะเห็นว่าท่านเหล่านี้เป็นผู้เข้าใจนักเรียน สนใจนักเรียน ตอบสนองต่อปัญหาของนักเรียนแต่ละคนเป็นรายๆ ไป เด็กมีปัญหาอย่างผมเมื่อมีครูดีๆ อย่างนี้ ก็มีกำลังใจ อยากเล่าเรียน และนิสัยที่ว่านี้พลอยติดตามตัวผมมาด้วย คือเมื่อผมเป็นครูผมก็ทำอย่างเดียวกับครูที่ผมศรัทธา ผมให้ความใส่ใจเด็ก รักและเมตตาเด็กเหมือนพี่น้อง เท่าที่สังเกตรู้สึกว่าเด็กๆ ศิษย์ผมเขารักผมมากนะ หลายคนปัจจุบันมีการงานทำรายได้ดีกว่าผมก็มี แต่เขาเรียกผมว่าครู ทั้งๆ ที่คนอื่นๆ เรียกผมว่า อาจารย์ และเขายังทำตัวเป็นลูกศิษย์เหมือนกับเมื่อ 25 ปีก่อน

ที่ผมพูดมายืดยาวก็เพื่อจะอธิบายว่า ครูมีอิทธิพลต่อผมหลายทาง ทั้งด้านการเรียน ด้านนิสัย และการปฏิบัติตนต่อศิษย์ ผมจึงเชื่อว่า ถ้าบ้านเมืองเรามีครูดีๆ ที่เข้าใจปัญหาของศิษย์ และมีน้ำใจช่วยแก้ปัญหาของศิษย์เท่าที่บทบาทของครูจะทำได้ ผมว่าเด็กๆ เราจะเรียนดี เรียนเก่ง และมีความประพฤติดีมาก ปัญหาสังคมอาจน้อยกว่าที่เป็นอยู่ก็ได้...

เกียรติคุณที่ได้รับการยกย่อง

  • พ.ศ. 2546 ได้รับเลือกเป็น “คนดีศรีอำนาจเจริญ”
  • พ.ศ. 2546 ได้รับเลือกเป็น “ศิลปินมรดกอีสาน”
  • พ.ศ. 2552 ได้รับเลือกเป็น “ปราชญ์เมืองอุบลฯ”
  • พ.ศ. 2556 ได้รับเลือกเป็น “ผู้ทดแทนคุณแผ่นดิน”

อ่านบทความเรื่อง "เรียนภาษาอังกฤษประสาครูบ้านนอก" โดย คำหมาน คนไค

ชีวิตครอบครัว

นายสมพงษ์ พละสูรย์ แต่งงานกับนางสาวมาลัย (บุตรนายผุย นางคำปุ่น กาญจนกัณฑ์) ใน พ.ศ. 2504 มีบุตรสาว 2 คนคือ นางมาริสา ชัยชาญ และนางสาวรสมาลิน หลังจากนางมาลัยถึงแก่กรรมใน พ.ศ. 2509 นายสมพงษ์ได้แต่งงานอีกครั้งกับนางสาวสายัณห์ (บุตรนายสุปัน นางยุ่น พูลพัฒน์) ใน พ.ศ. 2514 มีบุตรสาว 2 คน คือ นางสาวสิริพงษ์ และนางสาววราพงษ์ ครอบครัวมีแต่ความสงบสุข ไม่เงียบเหงา เพราะการที่เป็นศึกษานิเทศก์ นักวิชาการ นักเขียน นักอภิปราย ฯลฯ ย่อมได้รับการเชิญให้เข้าร่วมในงานสำคัญๆ ของสังคมอยู่ตลอดเวลา

kru kamman 01

จนกระทั่งสูงอายุมากขึ้น ร่างกายจึงทรุดโทรมลง ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลบ่อยขึ้น จนกระทั่งถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2559 สิริอายุ 78 ปี 8 เดือน 18 วัน

ครูบ้านนอก - ความจริงไม่ตาย

redline

backled1

 

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)