foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

songkran header

ถึงเดือนเมษายนทีไร พวกเราคนไทยก็จะมีความรื่นรมย์ นึกถึงแต่ความสนุกสนานใน "วันสงกรานต์" ซึ่งถือว่าเป็น วันปีใหม่ไทย คำว่า “สงกรานต์” ภาษาอังกฤษ : Songkran ซึ่งคำนี้มาจากภาษาสันสกฤต “सङ्क्रान्ति | saṃkrānti” (สงฺกฺรานฺติ) มีความหมายว่า ผ่านไป, ข้ามไป, ไปด้วยกัน, เชื่อมหรือร่วมกัน, เปลี่ยนไป, ส่งต่อไป, อพยพไป, เคลื่อนจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง ไทยเราเอามาเขียนเป็น “สงกรานต์” (ต การันต์ ไม่ใช่ ติ) ความหมายทางวิชาการคือ เวลาที่ดวงอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ความหมายที่เข้าใจกันคือ “เทศกาลปีใหม่ไทย” 

จริงๆ แล้ว "ประเพณีสงกรานต์" ไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทย ในประเทศแถบเอเซียนี้ล้วนมีประเพณีสงกรานต์กันทั้งนั้น เช่น ในกัมพูชาหรือเขมรเรียก : សង្រ្កាន្ត (สัง-คะ-แรน) หรือ  ចូលឆ្នាំថ្  “โจล ชนัม ทะเมย” (Chaul Chnam Thmey) แปลว่า บุญขึ้นปีใหม่  ชาวกัมพูชาไม่ได้เล่นสาดน้ำกันเอิกเกริกอย่างในประเทศไทยหรือลาว  ส่วน “เทศกาลน้ำ” ที่ชาวกัมพูชาฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่ทั่วประเทศนั้น จะมีในช่วงปลายปี นั่นก็คือ เทศกาล "บุญอมตูก" เป็นประเพณีที่จัดขึ้นทุกปีในเดือนพฤศจิกายน  เพื่อระลึกถึงการสิ้นสุดของฤดูฝน (ในปี พ.ศ. 2566 เขมรพยายามเคลมว่า ประเพณีสงกรานต์ต้นกำเนิดมาจากเขมร มีสลักในกำแพงนครวัด พากันลืมชื่อ “โจล ชนัม ทะเมย” ไปแล้ว ว่าซั่น)

ในพม่าเรียก : သင်္ကြန် (ตะจาน หรือ ทิง-ยาน) หรือ Thingyan มาจากภาษาบาลีคำว่า “สงกรานต์”  ใน สปป.ลาว เรียกว่า : ສົງການ, ປີໃໝ່ລາວ, ບຸນຫົດນໍ້າ (สงกาน, ปีใหม่ลาว, บุญหดน้ำ) ในประเทศจีนเรียกว่า : 泼水节 (โพ-ชุ่ย-เจี่ย)  ชาวไทลื้อ ชาวสิบสองปันนา นั้นอาศัยอยู่ในมณฑลยูนนาน ทางตอนใต้ของประเทศจีน ที่นี่จัดงานสงกรานต์ประมาณวันที่ 13-15 เมษายน จุดเด่นของสงกรานต์ที่นี่คือ การแข่งขันเรือมังกร และขบวนเต้นรำนกยูง ทุกๆ ปีจะมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากหลั่งไหลเข้าร่วมงาน เพราะยังคงอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณี และสิ่งแวดล้อมไว้ได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญบางบ้านแถบนี้ยังพูดภาษาไทยได้อีกด้วย   และยังมีประเพณีสงกรานต์อีก ทางตะวันออกของประเทศอินเดีย ซึ่งสันนิษฐานว่า ได้รับอิทธิพลมาจาก เทศกาลโฮลี (होली) ในอินเดีย แต่เทศกาลโฮลีจะใช้การสาดผงสีที่ได้จากพืชพรรณในธรรมชาติ แทนการสาดน้ำ ซึ่งเริ่มในทุกวันแรม 1 ค่ำเดือน 4 คือ ในเดือนมีนาคม

Holi Festival 01

"สงกรานต์" เป็นคำสันสกฤต หมายถึง "การเคลื่อนย้าย" ซึ่งเป็นการอุปมาถึงการเคลื่อนย้ายของการประทับในจักรราศี คือการเคลื่อนขึ้นปีใหม่ในความเชื่อของไทย และในบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เดิมวันที่จัดเทศกาลสงกรานต์จะกำหนดโดยการคำนวณทางดาราศาสตร์จากพราหมณ์หรือโหรในราชสำนัก แต่ปัจจุบันนี้เพื่อความสะดวกได้ระบุแน่นอนว่า เป็นวันที่ 13 ถึง 15 เมษายน ของทุกปี

สงกรานต์เฉพาะในภาคอีสาน นิยมจัดกันอย่างเรียบง่าย แต่ว่ามากไปด้วยความอบอุ่น โดยคนอีสานจะเรียกประเพณีสงกรานต์ว่า "บุญเดือนห้า" หรือ "ตรุษสงกรานต์" บางพื้นที่จะเรียกว่า “บุญเนา” และจะถือฤกษ์ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เวลาบ่าย 3 โมง เป็นเวลาเริ่มงาน โดยพระสงฆ์จะตีกลองโฮมเปิดศักราช จากนั้นญาติโยมจะจัดเตรียมน้ำอบ น้ำหอม หาบไปรวมกันที่ศาลาวัด เพื่อสรงน้ำพระพุทธรูป แล้วต่อด้วยการรดน้ำดำหัว ปู่ ย่า ตา ยาย และญาติผู้ใหญ่ เพื่อขอขมาลาโทษ จากนั้นก็จะเป็นการเล่นสาดน้ำสงกรานต์กันอย่างสนุกสนาน

บุญสงกรานต์

ในแต่ละปีทาง กระทรวงวัฒนธรรม จะได้เผยแพร่ "ประกาศสงกรานต์" ของ ฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง ให้ประชาชนได้ทราบและจะปรากฏชื่อ "นางสงกรานต์" แต่ละปีไม่ซ้ำกัน ทำให้หลายคนอยากทราบถึงที่มาของ "นางสงกรานต์" หรือทาง สปป.ลาว เรียกว่า "นางสังขานต์" หรือ "นางสังขาร" หรือ "นางสังขาน" หรือเขียนแบบอักษรลาวว่า "ນາງສັງຂານ" ว่าเป็นมาอย่างไร มีใครกันบ้าง?

ตำนานนางสงกรานต์

ตามจารึกที่ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กล่าวตามพระบาลีฝ่ายรามัญว่า ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเศรษฐีคนหนึ่ง รวยทรัพย์แต่อาภัพนักไม่มีบุตร ตั้งบ้านอยู่ใกล้กับนักเลงสุราที่มีบุตรสองคน วันหนึ่งนักเลงสุราต่อว่าเศรษฐีว่ารวยนักแต่ไร้ทายาทสืบสกุล น่าเสียดายนัก จนกระทั่งเศรษฐีน้อยใจ จึงได้ไปบวงสรวงต่อพระอาทิตย์ พระจันทร์ ตั้งจิตอธิษฐานอยู่นานกว่าสามปี ก็ไร้วี่แววที่จะมีบุตรสักที

thummaban kuman

จนกระทั่งวันหนึ่ง พอถึงช่วงที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ เศรษฐีได้พาบริวารไปยังต้นไทรริมแม่น้ำ พอถึงก็ได้เอาข้าวสารลงล้างในน้ำเจ็ดครั้ง แล้วหุงบูชาพร้อมกับได้กล่าวอธิษฐานขอบุตรกับรุกขเทวดาที่สถิตในต้นไทรนั้น รุกขเทวดามีความเห็นใจเศรษฐี จึงเหาะไปเข้าเฝ้าพระอินทร์ ไม่ช้าพระอินทร์ก็มีเมตตาประทานให้เทพบุตรองค์หนึ่งนามว่า "ธรรมบาล" ลงไปปฏิสนธิในครรภ์ภรรยาเศรษฐี ไม่ช้าก็คลอดออกมา เศรษฐีตั้งชื่อให้กุมารน้อยนี้ว่า ธรรมบาลกุมาร และได้ปลูกปราสาทไว้ใต้ต้นไทรให้กุมารนี้อยู่อาศัย

ต่อมาเมื่อธรรมบาลกุมารเจริญวัยเติบโตขึ้น ก็ได้เรียนรู้ซึ่ง "ภาษานก" และเรียนคัมภีร์ "ไตรเภท" จบเมื่ออายุได้เจ็ดขวบ จนเขาได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่างๆ แก่คนทั้งหลาย อยู่มาวันหนึ่ง ท้าวกบิลพรหม ได้รู้ข่าวจึงลงมาถามปัญหากับธรรมบาลกุมาร 3 ข้อ ถ้าธรรมบาลกุมารตอบได้ก็จะตัดเศียรตนเองบูชาแก่ธรรมบาลกุมาร แต่ถ้าตอบไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย ท้าวกบิลพรหม ได้ถาม ธรรมบาลกุมาร ว่า

ตอนเช้า 'ศรี' อยู่ที่ไหน ตอนเที่ยง 'ศรี' อยู่ที่ไหน และตอนค่ำ 'ศรี' อยู่ที่ไหน "

เมื่อได้ฟังคำถามดังนั้น ธรรมบาลกุมาร ก็ไม่สามารถตอบได้ในทันที จึงขอผัดผ่อนกับ ท้าวกบิลพรหม เป็นเวลา 7 วัน ระหว่างนั้น ธรรมบาลกุมาร ก็พยายามคิดค้นหาคำตอบ จนล่วงเข้าวันที่ 6 ธรรมบาลกุมารก็ลงจากปราสาทมานอนอยู่ใต้ต้นตาล โดยคิดว่า หากไม่สามารถตอบปัญหานี้ได้ ก็ขอตายในที่ลับยังดีกว่าไปตายด้วยอาญาของท้าวกบิลพรหม

thummaban kuman 2

นับเป็นโชคดีที่ธรรมบาลกุมารสามารถฟังภาษานกได้ และบังเอิญบนต้นไม้นั้นมีนกอินทรี 2 ตัวผัวเมียเกาะทำรังอยู่ นางนกอินทรีถามสามีว่า "พรุ่งนี้เราจะไปหาอาหารแห่งใด" สามีตอบนางนกว่า "เราจะไปกินศพธรรมบาลกุมาร ซึ่งท้าวกบิลพรหมจะฆ่าเสีย ด้วยแก้ปัญหาไม่ได้" นางนกจึงถามว่า "คำถามที่ท้าวกบิลพรหมถามคืออะไร" สามีก็เล่าให้ฟัง ซึ่งนางนกก็ไม่สามารถตอบได้เช่นกัน สามีจึงเฉลยว่า

ตอนเช้า 'ศรี' จะอยู่ที่หน้า คนจึงต้องล้างหน้าทุกๆ เช้า ตอนเที่ยง 'ศรี' จะอยู่ที่อก คนจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก ส่วนตอนเย็น 'ศรี' จะอยู่ที่เท้า คนจึงต้องล้างเท้าก่อนเข้านอน "

ธรรมบาลกุมาร ก็ได้ทราบเรื่องที่นกอินทรีคุยกันตลอด จึงจดจำไว้ ครั้นรุ่งขึ้น ท้าวกบิลพรหม ก็มาตามสัญญาที่ให้ไว้ทุกประการ ธรรมบาลกุมาร จึงนำคำตอบที่ได้ยินจากนกไปตอบกับท้าวกบิลพรหม

ท้าวกบิลพรหม ได้คำตอบเช่นนั้น จึงตรัสเรียกธิดาทั้งเจ็ด อันเป็นบาทบาจาริกาพระอินทร์มาประชุมพร้อมกัน แล้วบอกว่า "เราจะตัดเศียรบูชาธรรมบาลกุมาร ถ้าจะตั้งไว้ยังแผ่นดิน ไฟก็จะไหม้โลก ถ้าจะโยนขึ้นไปบนอากาศ ฝนก็จะแล้ง ถ้าจะทิ้งในมหาสมุทร น้ำทะเลก็จะเหือดแห้ง"

nang songkran 01

ด้วยเหตุนี้ ท้าวกบิลพรหม จึงมอบหมายให้ธิดาทั้ง 7 ผลัดเวรกันนำพานมารองรับเศียร โดยให้นางทุงษะ ผู้เป็นธิดาองค์โต เป็นผู้เริ่มต้นก่อน จากนั้น นางทุงษะก็อัญเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหมเวียนขวารอบเขาพระสุเมรุ 60 นาที แล้วเก็บรักษาไว้ในถ้ำคันธุลี ในเขาไกรลาศ และเมื่อครบกำหนด 365 วัน ซึ่งโลกสมมุติว่าเป็นปีหนึ่ง เวียนมาถึงวันมหาสงกรานต์ เทพธิดาทั้ง 7 ก็จะทรงพาหนะของตน ผลัดเวรกันมาเชิญ พระเศียรของบิดา ออกแห่ ทำเช่นนี้ทุกๆ ปี และเนื่องจากเทพธิดาทั้ง 7 ปรากฏตัวใน วันมหาสงกรานต์ เป็นประจำ จึงได้ชื่อว่า "นางสงกรานต์" ส่วนท้าวกบิลพรหมนั้น โดยนัยก็หมายถึง พระอาทิตย์ เพราะคำว่า กบิล หมายถึง สีแดง

thummaban kuman 3

ทั้งนี้ ในแต่ละปี นางสงกรานต์ แต่ละนางจะทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันตามวันมหาสงกรานต์ และจะมีนาม อาหาร อาวุธ สัตว์ที่เป็นพาหนะต่างๆ กัน ดังนี้

nang songkran 02   

นางทุงษะเทวี

ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์จะมีนามว่า ทุงษะเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกทับทิม อาภรณ์แก้วปัทมราช ภักษาหารอุทุมพร (ผลมะเดื่อ) พระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงสังข์ เสด็จมาบนหลังครุฑ แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันอาทิตย์ นางสงกรานต์ชื่อ นางแพงศรี

คำทำนาย : ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันมหาสงกรานต์ ปีนั้นพืชพันธุ์ธัญญาหารไม่สู้จะงอกงามนัก ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันเนา ข้าวจะตายฝอย คนต่างด้าวจะเข้าเมืองมาก ท้าวพระยาจะร้อนใจ ถ้าวันอาทิตย์เป็นวันเถลิงศก พระมหากษัตริย์จะมีพระบรมเดชานุภาพ ปราบศัตรูได้ทั่วทุกทิศ

nang songkran 03

นางโคราคะเทวี

ถ้าวันจันทร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์จะมีนามว่า โคราคะเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกปีบ อาภรณ์แก้วมุกดา ภักษาหารเตลัง (น้ำมัน) พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังพยัคฆ์ (เสือ) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันจันทร์ นางสงกรานต์ชื่อ นางมโนรา

คำทำนาย : ถ้าวันจันทร์เป็นวันมหาสงกรานต์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ตลอดจนคุณหญิง คุณนายทั้งหลายจะเรืองอำนาจ ถ้าวันจันทร์เป็นวันเนา มักเกิดความไข้ต่างๆ และเกลือจะแพง นางพญาจะร้อนใจ ถ้าวันจันทร์เป็นวันเถลิงศก พระราชินีและท้าวนางฝ่ายในจะมีความสุขสำราญ

nang songkran 04

นางรากษสเทวี

ถ้าวันอังคารเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์จะมีนามว่า รากษสเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกบัวหลวง อาภรณ์แก้วโมรา ภักษาหารโลหิต พระหัตถ์ขวาทรงตรีศูล พระหัตถ์ซ้ายทรงธนู เสด็จมาบนหลังวราหะ (หมู) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันอังคาร นางสงกรานต์ชื่อ นางรากษสเทวี (เช่นกัน)

คำทำนาย : ถ้าวันอังคารเป็นวันมหาสงกรานต์ โจรผู้ร้ายจะชุกชุม จะเกิดการเจ็บไข้ร้ายแรง แต่ถ้าวันอังคารเป็นวันเนา ผลหมากรากไม้จะแพง ถ้าวันอังคารเป็นวันเถลิงศก ข้าราชการทุกหมู่เหล่าจะมีความสุข มีชัยชนะแก่ศัตรูหมู่พาล

nang songkran 05

นางมณฑาเทวี

ถ้าวันพุธเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์จะมีนามว่า มณฑาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจำปา อาภรณ์แก้วไพฑูรย์ ภักษาหารนมเนย พระหัตถ์ขวาทรงเข็ม พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้เท้า เสด็จมาบนหลังคัทรภะ (ลา) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันพุธ นางสงกรานต์ชื่อ นางมันทะ

คำทำนาย : ถ้าวันพุธเป็นวันมหาสงกรานต์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จะได้รับการยกย่องจากต่างประเทศ ถ้าวันพุธเป็นวันเนา ข้าวปลาอาหารจะแพง แม่หม้ายจะพลัดที่อยู่ ถ้าวันพุธเป็นวันเถลิงศก บรรดานักปราชญ์ราชบัณฑิตจะมีความสุขสำราญ

nang songkran 06

นางกิริณีเทวี

ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์จะมีนามว่า กิริณีเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกมณฑา อาภรณ์แก้วมรกต ภักษาหารถั่วงา พระหัตถ์ขวาทรงขอช้าง พระหัตถ์ซ้ายทรงปืน เสด็จมาบนหลังคชสาร (ช้าง) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันพฤหัส นางสงกรานต์ชื่อ นางกัญญาเทพ

คำทำนาย : ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันมหาสงกรานต์ ผู้น้อยจะแพ้ผู้เป็นใหญ่ และเจ้านาย ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันเนา ผลไม้จะแพง ราชตระกูลจะมีความร้อนใจ ถ้าวันพฤหัสบดีเป็นวันเถลิงศก สมณชีพราหมณ์จะปฏิบัติกรณียกิจอันดีงาม

 nang songkran 07

 

นางกิมิทาเทวี

ถ้าวันศุกร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์จะมีนามว่า กิมิทาเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกจงกลนี อาภรณ์แก้วบุษราคัม ภักษาหารกล้วยน้ำ พระหัตถ์ขวาทรงขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายทรงพิณ เสด็จมาบนหลังมหิงสา (ควาย) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันศุกร์ นางสงกรานต์ชื่อ นางริญโท

คำทำนาย : ถ้าวันศุกร์เป็นวันมหาสงกรานต์ พืชพันธุ์ธัญญาหารจะอุดมสมบูรณ์ ฝนชุก พายุพัดแรง ผู้คนจะเป็นโรคตาและเจ็บไข้กันมาก ถ้าวันศุกร์เป็นวันเนา พริกจะแพง แร้งกาจะเป็นโรค สัตว์ป่าจะเป็นอันตราย แม่หม้ายจะมีลาภ ถ้าวันศุกร์เป็นวันเถลิงศก พ่อค้าคหบดีจะทำมาค้าขึ้น มีผลกำไรมาก

nang songkran 08

นางมโหธรเทวี

ถ้าวันเสาร์เป็นวันมหาสงกรานต์ นางสงกรานต์จะมีนามว่า มโหธรเทวี ทรงพาหุรัดทัดดอกสามหาว อาภรณ์แก้วนิลรัตน์ ภักษาหารเนื้อทรายพระหัตถ์ขวาทรงจักร พระหัตถ์ซ้ายทรงตรีศูล เสด็จมาบนหลังมยุรา (นกยูง) แต่ทางล้านนาจะมีความเชื่อว่าวันเสาร์ นางสงกรานต์ชื่อ นางสามาเทวี

คำทำนาย : ถ้าวันเสาร์เป็นวันมหาสงกรานต์ โจรผู้ร้ายจะชุกชุม จะเกิดการเจ็บไข้ร้ายแรง ถ้าวันเสาร์เป็นวันเนา ข้าวปลาจะแพง ข้าวจะได้น้อย ผลไม้จะแพง น้ำน้อย จะเกิดเพลิงกลางเมือง ขุนนางจะต้องโทษ ถ้าวันเสาร์เป็นวันเถลิงศก บรรดาทหารทั้งปวงจะมีชัยชนะแก่ข้าศึกศัตรู

 

อนึ่ง ท่าทางของนางสงกรานต์ จะกำหนดตามเวลาที่ 'พระอาทิตย์' ย้ายเข้าสู่ราศีเมษ หรือ 'เวลามหาสงกรานต์' ตามที่คำนวณได้ ซึ่งเกณฑ์ในการกำหนดท่าทางของนางสงกรานต์เป็นดังนี้

  • ถ้าเวลามหาสงกรานต์เป็นเวลารุ่งสางถึงเที่ยง (06:00 น. - 11:59 น.) นางสงกรานต์ยืนมา
  • ถ้าเวลามหาสงกรานต์เป็นเวลาเที่ยงถึงเย็น (12:00 น. - 17:59 น.) นางสงกรานต์นั่งมา
  • ถ้าเวลามหาสงกรานต์เป็นเวลาค่ำถึงเที่ยงคืน (18:00 น. - 23:59 น.) นางสงกรานต์นอนลืมตามา
  • ถ้าเวลามหาสงกรานต์เป็นเวลาเที่ยงคืนถึงเช้ามืด (00:00 น. - 05:59 น.) นางสงกรานต์นอนหลับตามา

ข้อมูลทั้งหมดดังกล่าวนี้ จะมีระบุในประกาศสงกรานต์ทุกปีเสมอ อย่างไรก็ตาม ยังมีคำทำนายนางสงกรานต์ ที่ทำนายตามความเชื่อเกี่ยวกับอิริยาบถของนางสงกรานต์ไว้อีก ดังนี้

  • ถ้านางสงกรานต์ ยืนมา จะเกิดความเดือดร้อนเจ็บไข้
  • ถ้านางสงกรานต์ นั่งมา จะเกิดความเจ็บไข้ ผู้คนล้มตายและเกิดเหตุเภทภัยต่างๆ
  • ถ้านางสงกรานต์ นอนลืมตา ประชาชนจะอยู่เย็นเป็นสุข
  • ถ้านางสงกรานต์ นอนหลับตา พระมหากษัตริย์จะเจริญรุ่งเรืองดี

ขอขอบคุณ : ภาพประกอบนางสงกรานต์จาก กระทรวงวัฒนธรรม

กิจกรรมในวันสงกรานต์

ตามประเพณีไทยดั้งเดิมนั้น เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์เวียนมาถึง ชาวไทยจะมีกิจกรรมสำคัญที่กระทำกันดังนี้

  • การทำบุญตักบาตร ถือว่าเป็นการสร้างบุญสร้างกุศลให้แก่ตนเอง และอุทิศส่วนกุศลนั้นแก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว การทำบุญแบบนี้มักจะเตรียมการไว้ล่วงหน้า นำอาหารไปตักบาตรถวายพระภิกษุที่ศาลาวัด ซึ่งจัดเป็นที่รวมสำหรับทำบุญ ในวันนี้หลังจากที่ได้ทำบุญเสร็จแล้ว ก็จะมีการก่อพระทรายอันเป็นประเพณีด้วย
  • การนำทรายเข้าวัด ทางภาคเหนือนิยมขนทรายเข้าวัดเพื่อเป็นนิมิตโชคลาภ ให้มีความสุขความเจริญ เงินทองไหลมาเทมาดุจทรายที่ขนเข้าวัด แต่ในอีสานบางท้องที่ มีความเชื่อกันว่า ตลอดทั้งปีเมื่อเราเข้าไปทำกิจกรรมต่างๆ ภายในวัด ก็จะมีการนำเอาทราย(ที่ติดเท้า)ออกจากวัดไปถือว่าเป็นบาป จึงมีการขนทรายเข้าวัดเป็นการทดแทนในวันสงกรานต์เพื่อไม่ให้เป็นบาป เมื่อได้ทรายมาก็จะทำการ ก่อเจดีย์ทราย เป็นรูปร่างคล้ายกับเจดีย์ แล้วประดับด้วยดอกไม้ ธงทิว หรือธุง ทุง ตุงต่างๆ สวยงาม
  • บังสุกุลอัฐิ เป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ญาติผู้ล่วงลับ เป็นการรดน้ำ ขอขมากระดูกญาติผู้ใหญ่ที่ตายแล้ว แล้วนิมนต์พระไปบังสุกุล
  • การสรงน้ำพระ จะรดน้ำพระพุทธรูปที่อยู่ประจำในแต่ละบ้านและพระพุทธรูปสำคัญที่วัด และบางที่ก็จัดให้มี การสรงน้ำพระสงฆ์ ด้วย ทางอีสานเรียก กองฮด เป็นพิธีสรงน้ำหรือรินน้ำแก่พระสงฆ์ ซึ่งเป็นรูปแบบประเพณีที่เก่าแก่ของผู้คนในแถบอีสาน เป็นกิจกรรมที่ชาวบ้านจัดขึ้น เพื่อยกย่องพระรูปใดรูปหนึ่งที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ยกย่องพระดีมีคุณธรรม มีความสามารถในชุมชนขึ้นเป็น สำเร็จ ซา คู ฯลฯ เป็นการทำพิธีเถราภิเษกมอบถวายสมณศักดิ์กันในระดับชาวบ้าน โดยชาวบ้าน
  • การรดน้ำ ถือเป็นการอวยพรปีใหม่ให้กันและกัน น้ำที่รดมักใช้น้ำหอมเจือด้วยน้ำธรรมดา การดำหัว จุดประสงค์คล้ายกับการรดน้ำทางภาคกลาง พบเห็นได้ทางภาคเหนือ การดำหัวทำเพื่อแสดงเราเคารพนับถือต่อพระ, ผู้สูงอายุ คือการขอขมาในสิ่งที่ได้ล่วงเกินท่านไปแล้ว หรือ การขอพรปีใหม่จากผู้ใหญ่ ของที่ใช้ในการดำหัวส่วนมากมีอาภรณ์ มะพร้าว กล้วย ส้มป่อยเทียนและดอกไม้
  • การรดน้ำผู้ใหญ่ คือการไปอวยพรให้ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ครูบาอาจารย์ ท่านผู้ใหญ่มักจะนั่งลงแล้วผู้ที่รดก็จะเอาน้ำหอมเจือกับน้ำรดที่มือท่าน ท่านจะให้ศีลให้พรผู้ที่ไปรด ถ้าเป็นพระก็จะนำผ้าสบงไปถวายให้ท่านผลัดเปลี่ยนด้วย หากเป็นฆราวาสก็จะหาผ้าถุง ผ้าขาวม้าไปให้
  • การปล่อยนกปล่อยปลา ถือเป็นการล้างบาปที่ทำไว้ เป็นการสะเดาะเคราะห์ร้ายให้มีแต่ความสุขความสบายในวันขึ้นปีใหม่ (ในสมัยปัจจุบัน ผู้เขียนคิดว่า น่าจะเป็นการทำบาปมากกว่าบุญ นก ปลา ล้วนมีอิสระอยู่ในป่า ในน้ำ ใยต้องถูกจับขังมาให้คนปล่อย ทรมานสัตว์เปล่าๆ มากกว่า)

สงกรานต์ เป็นประเพณีที่งดงามมากมายมาเนิ่นนาน แต่พอมายุคเศรษฐกิจหาเงินจากการท่องเที่ยว "ประเพณีอันดีงามของไทย" ทั้งหลายก็ถูกกระทำให้บิดเบี้ยวเพื่อรับใช้เงินตรา อ้างส่งเสริมการท่องเที่ยวบังหน้า ทำลายประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามไปเสียสิ้น จาก ความรัก ความห่วงหาอาทร กลายเป็น มหาสงครามสาดน้ำ ดังที่เห็น ต้องขอบคุณ "ไวรัสโควิด-19" ที่ทำให้ประเพณีอันดีงามกลับมาได้อีกครั้งหนึ่ง

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)