foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

agriculture new normal

เกษตรกรรม และ เกษตรกร ในบ้านเรานี้มีมากมายหลากหลายแบบมาแต่ดึกดำบรรพ์ ทำกันเป็นอาชีพต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่นถ่ายทอดกันมา แต่ก็เป็นอาชีพที่แปลกอาชีพหนึ่งที่พบว่า "มักจะเจอทางตันมาโดยตลอด" ตั้งแต่รายได้ที่ย่ำแย่ ผลผลิตราคาตกต่ำ ผลิตมากจนล้นตลาด ถูกชักจูงให้ผลิตตามๆ กันตามข่าวลือ "เขาว่าตัวนี้ราคาดี ตัวนี้มีอนาคต ปลูกหรือเลี้ยงง่าย" แล้วก็แห่ตามๆ กัน (มีคนรวยจริง คือคนที่เริ่มก่อน แล้วขายต้นพันธุ์ ส่วนคนจนก็คือคนที่ทำตามก้นเขาโดยไม่คิดนั่นเอง กรณีศึกษา : มะม่วงหิมพานต์ ยางพารา กล้วยหอมทอง ฯลฯ) องค์ความรู้ที่มีก็มีอย่างจำกัดทำตามที่เคยทำ ไม่ศึกษาหาวิธีการลดต้นทุน ขาดการคิดวิเคราะห์ มองหาช่องทางการผลิตและการจำหน่าย ผลลัพธ์ที่ได้จึงเป็นดังที่เห็น

วันนี้ โลกกำลังเปลี่ยนไปจากเดิมด้วยวิกฤตโควิด-19 เกษตรกรไทยได้เวลาหยุดคิดพิจารณากันใหม่ได้แล้วว่า "อาชีพเกษตรกรรมในยุคสมัยนิวนอร์มอล" ต้องเปลี่ยนแปลง หาทางรอดแบบยั่งยืนกันต่อไป เราจะเป็นเกษตรกรที่ทำตามๆ กันมาแบบเดิมๆ ไม่ได้อีกแล้ว เพราะ...

ทันทีที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ไปทั่วโลก เกษตรกรรมเป็นอาชีพที่ได้รับผลกระทบไม่แพ้อาชีพอื่นๆ ตั้งแต่การขาดแคลนแรงงาน ผลผลิตที่มีมากมายไม่สามารถส่งออกได้ "

ปรากฏการณ์นี้ทำให้เราได้เห็นทั้งสิ่งที่ดีมีประโยชน์ และโอกาสในการที่จะพัฒนาการเกษตรกรรมของประเทศ ให้เป็นไปในทิศทางใหม่ ด้วยสาเหตุ...

การล็อกดาวน์ (ปิดประเทศ) ทำให้คุณภาพอากาศ และธรรมชาติได้รับการฟื้นฟู เกษตรกรน่าจะใช้ประโยชน์จากดิน น้ำธรรมชาติที่ดีขึ้น ขณะที่แรงงานภาคเกษตรน่าจะเพิ่มขึ้นจากการกลับถิ่นฐาน (ของแรงงานภาคอุตสาหกรรม) คนเหล่านี้มีไม่น้อยเป็นคนรุ่นใหม่ เข้าถึงสื่อโซเชียลได้ สามารถรับรู้ถึงองค์ความรู้ข้อมูลต่างๆ หากกลับไปทำเกษตรก็น่าจะยกระดับของเกษตรกรไปอีกขั้น เพราะสามารถนำเทคโนโลยีมาผสมผสานกับความรู้พื้นฐานด้านเกษตร ที่ส่วนใหญ่ก็มีอยู่ในตัวกันอยู่แล้ว ”

สถานการณ์นี้ จะเป็นตัวเร่งให้คนไทยเข้าถึงเทคโนโลยี หรือสื่อโซเชียลได้เร็วขึ้น ทำให้ผู้บริโภคคำนึงถึงความปลอดภัย สุขอนามัยมากขึ้น เรื่องอาหารปลอดภัย อาหารเป็นยา เกษตรอินทรีย์ บทบาทจะมีค่อนข้างมาก ตลาดจะเปิดกว้างขึ้น ต่อไปเกษตรกรจะต้องพัฒนาเรื่องของมาตรฐาน จนสามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาได้ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค

สถานการณ์นี้เองที่ทำให้คนไทยได้บทเรียน ความรู้เพียงด้านเดียวสาขาใดสาขาหนึ่ง ไม่สามารถแก้ปัญหาองค์รวมได้เลย ช่วยสอนให้เราคิดถึงอนาคต เรียนรู้ทักษะการปรับตัวแสวงหาความรู้ใหม่ ประยุกต์กับความรู้ที่มีอยู่เดิม และต่อยอดองค์ความรู้ จากคนที่ไม่เคยคิดปลูกอะไร เพราะเห็นว่าไม่จำเป็น ซื้อหาเอาก็ได้ เปลี่ยนมาเป็นหาความรู้จากสื่อต่างๆ โดยเฉพาะสื่อโซเชียล ในเรื่องการปลูกพืชผักกินเอง การทำอาหารให้ได้โภชนาการสูงสุด ไม่ใช่แค่รสชาติอย่างเดียว สถานการณ์โควิดทำให้เกษตรกรต้องมาคิดใหม่ ต่อไปคงไม่ต้องเน้นเรื่องปริมาณผลผลิต แต่หันมาเน้นของดี มีคุณภาพ ปลอดภัยกับทั้งต่อตัวเกษตรกรผู้ทำการผลิตเองและต่อผู้บริโภคทั่วไปด้วย

agriculture new normal 01

เมื่อตลาดส่วนใหญ่ปิดไม่สามารถค้าขายปกติได้ ช่องทางการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกัน จึงเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยเกษตรกรแบบยั่งยืน ด้วยการเปิดตลาดเแลกเปลี่ยนในชุมชน หรือแลกเปลี่ยนสินค้ากันข้ามภูมิภาค เช่น โครงการปลาและอาหารทะเลจากทางภาคใต้ แลกเปลี่ยนข้าวสารจากทางภาคเหนือ และภาคอีสานที่เกิดขึ้นและได้ผลดี นอกจากนั้นการใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อกระจายสินค้าก็เป็นโอกาสที่สดใสไม่น้อยเลยทีเดียว

เศรษฐกิจพอเพียง กับ New Normal

สถานการณ์อุบัติใหม่หรือที่ฝรั่งเรียกกันว่า "New Normal" นั้นมีผลมากจริงๆ กับทุกประเทศทั่วโลก เพื่อหลายปีก่อนที่พ่อหลวงรัชกาลที่ ๙ ของเราได้ทรงมีพระราชดำรัสในเรื่อง "เศรษฐกิจพอเพียง" นั้น หลายคนอาจไม่เข้าใจเพราะดูไกลตัวเองเหลือเกิน ฉันมีเงินฉันจะซื้อจะหายังไงก็ได้ไม่เห็นจะต้องพอเพียงอะไรนี่นา แต่พอวิกฤตโควิด-19 มาเท่านั้นแหละ ทางเลือกใน "นิวนอร์มอล" ของประชาชนส่วนใหญ่ ก็คือ “เศรษฐกิจพอเพียง” นั่นเอง ต้องระมัดระวังในการใช้จ่าย ใช้ชีวิต จะสุรุ่ยสุร่ายเหมือนเคยไม่ได้แล้ว แม้แต่ยักษ์ที่พวกเราคิดว่าเศรษฐกิจดีในช่วงที่ผ่านมาอย่างประเทศจีน สภาประชาชนจีนในการประชุมครั้งสุดท้ายไม่นานมานี้ ก็มีนโยบายชัดเจนว่า จีนต้อง “พึ่งตนเอง” ให้มากที่สุด ผลิตเพื่อการบริโภคในประเทศแบบ “พอเพียง” เท่านั้นจึงจะรอด แล้วคนไทยจะยังทำเป็นไม่เข้าใจอยู่อีกหรือ?

และโอกาสนี้จึงเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะปรับเปลี่ยนเพื่อเป็น "ประเทศเกษตรกรรมที่ทั้งโลกจะต้องมองในฐานะ 'ประเทศที่มีความมั่นคงทางอาหาร' เป็นครัวของโลก ที่มีอาหารอินทรีย์มีคุณภาพ มีความปลอดภัย"

เกษตรกรยุคใหม่ควรใส่ใจ หาความรู้เพิ่มเติม ทดลองหาประสบการณ์ หาข้อดี เพิ่มจุดเด่น ค้นหาข้อเสีย ปรับปรุง ปฏิบัติตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ แล้วจะประสบผลสำเร็จ ผู้เขียนมีคำแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจจะหันมาเอาดีตามวิถีใหม่ "เกษตรนิวนอร์มอล" ให้ดูรายการสารคดีที่ชื่อว่า "มหาอำนาจบ้านนา" ทางสถานีโทรทัศน์ ThaiTBS ช่องดิจิทัลหมายเลข 3 หรือดูรายการย้อนหลังผ่านทางช่อง Youtube ชื่อ "มหาอำนาจบ้านนา" เช่นเดียวกัน ท่านจะได้แนวคิดจากคนที่ปรับเปลี่ยนวิธีการทำเกษตรจากแบบเดิมๆ สู่เกษตรอินทรีย์แนวใหม่ ทั้งวิธีการคิด การค้นหา ทดลอง จนประสบผลสำเร็จได้จริงๆ

ไก่งวง : มหาอำนาจบ้านนา

ไก่งวง สัตว์เศรษฐกิจที่น่าสนใจ

ไก่งวง เป็นสัตว์ปีกจำพวกนก จัดอยู่ในวงศ์เดียวกับ ไก่ ไก่ฟ้า นกยูง นกกระทา และนกกระจอกเทศ ไก่งวงมีขนาดใหญ่กว่าไก่ทั่วไป หน้าตาผิดแผกไปจากไก่พื้นบ้าน แต่ไก่งวงมีลักษณะเด่นบริเวณหัว เพราะเป็นผิวหนังย่นๆ ไม่มีขนขึ้น ในต่างประเทศผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์ (ในอเมริกาและแคนาดา) นิยมรับประทานกันในวันขอบคุณพระเจ้า Thanksgiving day

ปัจจุบัน มีการส่งเสริมการเลี้ยงไก่งวงในภาคอีสาน ว่ากันว่า เริ่มแรก "ไก่งวง" เข้ามาในประเทศไทยโดยทหารอเมริกัน ที่เข้ามาประจำการในฐานทัพที่ จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดนครราชสีมา (ช่วงสงครามเวียดนามนั่นเอง) การนำเข้ามาจากต่างประเทศขาดความสดใหม่ แช่แข็งมาจึงไม่อร่อย จึงมีการนำเอาลูกไก่งวงเข้ามาเลี้ยงในประเทศไทย

turkey 01

ปัจจุบัน เกษตรกรนิยมเลี้ยงไก่งวงอยู่ 3 สายพันธุ์หลัก คือ

  • พันธุ์เบลท์สวิลล์ สมอล ไวท์ (Beltsville Small White) มีขนาดตัวปานกลาง และขนาดเล็ก ขนสีขาว หนังสีขาว แข้งและนิ้วเท้าสีชมพูซีด ตาสีน้ำตาล จะงอยปากสีเทาอ่อน มีการเจริญเติบโตในระยะเล็กจนกระทั่งถึงโตเต็มวัยเร็วมาก หน้าอกกว้าง และเป็นที่ยอมรับในเรื่องรสชาติของผู้บริโภค
  • พันธุ์อเมริกัน บรอนซ์ (American Bronze) เป็นไก่งวงพันธุ์หนัก ขนสีบรอนช์ปนน้ำตาลดำ ปลายขนสีขาวเล็กน้อย แข้งและนิ้วเท้าสีเทาอ่อนปนชมพูซีด ตาสีน้ำตาล จะงอยปากสีเทาอ่อน และ
  • พันธุ์ไก่งวงลูกผสม (Cross breed) เกษตรกรได้รับการส่งเสริมการเลี้ยงไก่งวงอย่างแพร่หลาย ปัจจุบัน จังหวัดมหาสารคาม ถือเป็นแหล่งผลิตพ่อแม่พันธุ์ไก่งวงที่ดีที่สุดของประเทศ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการปศุสัตว์ที่ 4 ได้สนับสนุนการเลี้ยงและพัฒนาแม่พันธุ์ไก่งวงตัวใหม่ โดยใช้ชื่อว่า “ไก่งวงเมืองตักสิลา” เพื่อเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดมหาสารคาม นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงกันแพร่หลายในจังหวัดอื่นๆ เช่น สกลนคร นครพนม เป็นต้น

ไก่งวง ถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจทางเลือกให้เกษตรกร เพราะนอกจากให้ผลผลิตเนื้อคุณภาพดี มีโปรตีนสูง และคอเลสเตอรอลต่ำแล้ว ยังสามารถปรุงอาหารได้เช่นเดียวกับเนื้อไก่ เป็นที่ต้องการของตลาดผู้บริโภคเฉพาะที่มีกำลังซื้อสูง (Niche Market) เพราะราคาต่อตัวนั้นหลักพันบาทขึ้นไปนะครับ ที่สำคัญ การเลี้ยงไก่งวงนั้น เกษตรกรผู้เลี้ยงสามารถพึ่งตนเองได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ พึ่งพาปัจจัยภายนอกเพียง 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งตรงกันข้ามกับเป็ดและไก่ไข่ที่ต้องอาศัยอาหารเฉพาะ รวมทั้งยารักษาโรคจากบริษัทผู้ผลิตพันธุ์ รวมทั้งการเลี้ยงแบบลูกน้อง (Contact Farm) ส่งต่อให้เจ้าใหญ่ๆ จัดจำหน่าย

turkey 02

ไก่งวง เป็นสัตว์เลี้ยงง่าย สามารถปล่อยให้หาอาหารกินตามธรรมชาติได้ สามารถกินพืชหรือวัสดุในท้องถิ่นได้หลากหลาย เช่น ผักตบชวา หญ้า และเศษพืชผักสวนครัว เป็นต้น แต่ก็มีข้อเสียเหมือนกัน เนื่องจากเป็นสัตว์ปีกที่ไข่ไม่ค่อยเป็นที่เป็นทาง ไข่แล้วไม่สามารถกกให้ออกมาเป็นตัวได้ทั้งหมด อีกทั้งยังมีปัญหาเหยียบกันตายเอง ทำให้เปอร์เซ็นต์รอดตายน้อย และที่สำคัญตอนนี้ตลาดรองรับยังมีน้อยกว่าไก่บ้าน

ความท้าทายใหม่สำหรับเกษตรกรไทย

การเลี้ยงไก่งวง นั้นมีความท้าท้ายมากสำหรับเกษตรกรไทย ด้วยเสน่ห์ของเนื้อไก่งวงที่มีรสชาติอร่อย เรียกว่าในบรรดาสัตว์ปีกด้วยกัน ไม่มีเนื้อสัตว์ไหนที่เทียบได้ อีกทั้งไม่มีเงื่อนไขด้านเวลามากำหนดว่า ต้องจำหน่ายตอนไหน ไก่แก่ ไก่อ่อน ไม่มีผลทางการตลาด ไก่งวงยิ่งแก่ยิ่งเนื้ออร่อย ประเทศไทยสามารถพัฒนาการเลี้ยงทำในรูปแบบเชิงพาณิชย์ ผสมผสานกับการปล่อยให้หากินเองตามธรรมชาติ ผลิตส่งขายให้กับประเทศเพื่อนบ้านได้ อย่าง ประเทศลาว เวียดนาม มาเลเซีย และสิงคโปร์

turkey 03

การเลี้ยงไก่งวงจะดูตามความเหมาะสมของปริมาณและพื้นที่ ถ้าเลี้ยงมากต้องทำเป็นโรงเรือนที่แข็งแรงมั่นคง คอกสร้างด้วยไม้เนื้อแข็ง หลังคามุงสังกะสี กระเบื้อง หรือหญ้าคา ให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก อย่าให้อับชื้น ทำความสะอาดได้ง่าย แต่ละอาทิตย์จะต้องทำความสะอาดคอกเปลี่ยนวัสดุรองพื้น ใช้ปูนขาวโรยฆ่าเชื้อ ล้างอุปกรณ์ ให้น้ำ ให้อาหาร ซึ่งจะทำในช่วงที่ปล่อยไก่งวงเดินออกกำลังกาย ดังนั้น โรงเรือนจะมีลักษณะล้อมด้วยตาข่าย หรือรั้วไม้กว้างๆ แล้วมีโรงเรือนที่มีหลังคาอยู่บริเวณกลางคอก หรือด้านข้างไว้สำหรับให้ไก่งวงได้หลบแดดหลบฝน

และสิ่งสำคัญที่ต้องทำให้ไก่งวงในโรงเรือนคือ ทำคอนให้ไก่งวง เพราะนิสัยของไก่งวงชอบนอนที่สูง เนื่องจากไก่งวงมีพันธุกรรมของไก่ป่า จึงมีร่างกายที่แข็งแรงและทนต่อโรค ลักษณะของคอนนอนจะต้องเป็นไม้กลมๆ ไม่มีเหลี่ยม เช่น ไม้ไผ่ อีกทั้งภายในโรงเรือนจะหากล่องหรือโอ่งดินเผาขนาดเล็ก ไว้สำหรับให้ไก่งวงวางไข่ ซึ่งไก่งวงที่สามารถวางไข่ได้จะมีอายุช่วง 7-8 เดือน โดยจะมีปริมาณไข่ต่อแม่ต่อปี ประมาณ 50-90 ฟอง ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของแม่ไก่

ในหนึ่งปีไก่งวงจะออกไข่ 3 รุ่น เมื่อนำมาฟักเลี้ยงจะสามารถจำหน่ายลูกไก่งวงอายุ 8 สัปดาห์ ได้ราคาตัวละ 200 บาท ในกรณีที่ไม่ต้องการลูกไก่ สามารถนำไข่มาประกอบอาหาร หรือจำหน่ายได้อีกในราคาฟองละ 25-30 บาท ไก่งวงจะมีอายุพร้อมขายเป็นไก่งวงเนื้อได้ในระยะ 7-8 เดือน น้ำหนักตัวเฉลี่ยตัวละประมาณ 5 กิโลกรัม ขายได้กิโลกรัมละ 150 บาท

ในโรงเรือนขนาดพื้นที่ 3 x 6 เมตร จะสามารถปล่อยไก่งวงเลี้ยงได้ประมาณ 150 ตัว มีทั้งตัวผู้และตัวเมียปนกัน แต่หากเป็นโรงเรือนพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จะมีอัตราการปล่อยตัวผู้และตัวเมีย ในอัตราส่วนที่ 1:7 ซึ่งการคัดเลือกพ่อพันธุ์แม่พันธุ์นั้นดูได้จากนิสัยของไก่ เลือกไก่ที่มีลักษณะที่มีนิสัยเป็นมิตรไมตรี มีเยื่อใย เพราะเวลาที่ไก่งวงกกไข่ต้องสามารถเข้าไปใกล้ได้ โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลที่ไก่งวงวางไข่ เราจำเป็นต้องเก็บไข่ออกมาใส่ตู้ฟักไข่ที่ใช้อยู่ทั่วไป ควบคุมอุณหภูมิและความชื้น จนกว่าจะฟักออกเป็นตัว ก่อนนำไปอนุบาลจนแข็งแรงและไปปล่อยให้แม่เลี้ยงได้

turkey 04

การเลี้ยงไก่งวง ระยะเสี่ยงที่สุดคือ วัยแรกเกิด ถ้าอนุบาลไม่ดี แค่ยุงกัดตัวเดียว ลูกไก่เป็นฝีดาษตายได้ วิธีแก้ต้องกกให้ความอุ่นลูกไก่นาน 14-21 วัน ยามเช้าใช้แสงแดดช่วย ส่วนกลางคืนให้อยู่ในลังกระดาษ เพื่อลูกไก่แต่ละตัวได้ให้ความอุ่นแก่กัน คอกเลี้ยงต้องสะอาด อากาศถ่ายเทได้ดี แค่นี้ลูกไก่แข็งแรง มีภูมิสู้ยุงได้

อาหารสำหรับเลี้ยงไก่งวง

สำหรับอาหารเลี้ยงไก่งวง เกษตรกรส่วนใหญ่จะผสมเอง โดยใช้หญ้า หญ้าเนเปียร์ (ที่ใช้เลี้ยงวัว) หยวกกล้วย ผักบุ้ง ผักตบชวา (ตัดรากออก) ที่มีอยู่ในพื้นที่ และถ้าต้องการให้ไก่งวงเติบโตเร็ว มีน้ำหนัก เราสามารถทำอาหารเลี้ยงได้เอง เพียงแค่นำผักตบหรือหญ้าเนเปียร์สับ 8 ขีด + หัวอาหารไก่ไข่ 1 ขีด + รำหรือปลายข้าว 1 ขีด + ข้าวเปลือก 1 ขีด นำมาผสมให้เข้ากัน อาจผสมกับมันสำปะหลังและปลาป่นอีก 1 ส่วน มาคลุกเคล้าให้เข้ากัน เพื่อใช้เป็นอาหารข้นสำหรับไก่งวงได้

turkey 05

นอกจากนี้ ได้มีการนำเอาพืชสมุนไพรต่างๆ ที่ปลูกในสวน เช่น เหงือกปลาหมอ ฟ้าทลายโจร ขมิ้นชัน ไพล มาบดและผสมในอาหาร เพื่อบำรุงและสร้างภูมิคุ้มกัน โดยให้อาหารข้นวันละ 1 ครั้ง ในช่วงเช้า และให้เศษหญ้า เศษผัก เป็นอาหารเสริมในช่วงบ่าย

ปัจจุบัน ไก่งวง สามารถนำมาแปรรูปเป็นอาหารได้หลากหลายเมนู เช่น ลาบไก่งวงสมุนไพร ลาบไก่งวงแซบแบบอีสาน ลาบลวกไก่งวง ลาบย่างไก่งวง ยำไก่งวง ซกเล็กไก่งวง แกงมัสมั่นไก่งวง แกงคั่วไก่งวง ทอดมันไก่งวง ไส้อั่วไก่งวงทอด ไก่งวงต้มมะนาวดอง ต้มข่าไก่งวง ไส้อั่วไก่งวง ไก่งวงทอดกรอบ ไก่งวงรมควัน สเต๊กไก่งวง ก๋วยเตี๋ยวไก่งวง ซึ่งเชื่อแน่ว่าถ้าทุกคนได้ลิ้มชิมรสแล้วต้องยกนิ้วให้ว่า มีความเอร็ดอร่อยรสเลิศจริงๆ

ถ้าจะเลี้ยงไก่งวงสัก 1,000 ตัว จะใช้พื้นที่ประมาณ 4 ไร่ เลี้ยงด้วยระยะเวลาแค่ 9-12 เดือน หักต้นทุนค่าพันธุ์ไก่ ค่าอาหาร ค่าโรงเรือน สามารถทำกำไรปีละห้าแสนบาทมีให้เห็นได้ กำไรมากกว่าเลี้ยงวัว ไม่ต้องทนรอนาน 3-5 ปี อย่างไรก็ตามเกษตรกรที่สนใจเลี้ยงสามารถเริ่มต้นแต่น้อยเพื่อการศึกษาวิธีการเลี้ยงและดูแลรักษาในจำนวนน้อยๆ ก่อน สามารถติดต่อหาความรู้เพิ่มเติมได้จาก

  • ศูนย์วิจัยและพัฒนาการปศุสัตว์ที่ 4 กองส่งเสริมและพัฒนาการสัตว์ กรมปศุสัตว์ ถนนมหาสารคาม-วาปีปทุม ตำบลแวงน่าง อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม โทรศัพท์สอบถามที่ 0-4377-7600
  • กลุ่มวิสาหกิจชุมชุนผู้เลี้ยงไก่งวงบ้านคำเกิ้ม 19/1 หมู่ 8 ตำบลอาจสามารถ อำเภอเมือง จังหวัดนครพนม 48000 โทรศัพท์ 085-0149679 (คุณเชษฐา กัญญะพงศ์ ประธานกลุ่ม)

[ อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง : ลาบไก่งวง ]

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)