คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
การเกิด | การบวช | การแต่งงาน | การตาย
ชีวิตขั้นสุดท้าย คือ การตาย คำว่า ตาย ได้แก่ การสิ้นลมหายใจ ร่างกายของคนตาย เรียก ซากศพ คำว่า ศพ เป็นคำไทย ภาษาบาลีว่า ฉว สันสกฤตว่า ศว แปลว่า ศพ ประเพณีเกี่ยวกับศพมีดังนี้
เทวทูต คนใช้ของเทวดา หรือสิ่งที่ปรากฏอยู่รอบๆ ตัวเราเรียก เทวทูต มี 5 อย่าง คือ
เมื่อเห็นคนแก่ เจ็บ คนต้องโทษ และคนตาย พระศาสนาสอนให้คนน้อมนึกมาใส่ตัว จนเกิดความสลดใจ ไม่กล้าทำกรรมอันเป็นบาป ถ้าไปพิจารณาในเวลาคางแข็ง หรือเขียนคาถาเทวทูตใส่ปากคนตายเทวทูตจะช่วยอะไรไม่ได้
ศพที่ถูกฆ่าตาย ตกน้ำตาย ตกต้นไม้ตาย เป็นต้น ถือว่า ตายโหง ไม่นิยมอาบน้ำศพ เพียงแต่มัดแล้วนำไปฝังที่ป่าช้า เพราะถือว่าตายไม่บริสุทธิ์ ที่ไม่เผาเพราะกลัวจะเกิดความเดือดร้อนแก่ญาติพี่น้อง แต่ถ้าเป็นการตายธรรมดานิยมอาบน้ำด้วยน้ำหอม
การหวีผมให้ศพ หวีไปข้างหลังครึ่งหนึ่ง ข้างหน้าครึ่งหนึ่ง
ใช้ผ้าขาวนุ่งสองชั้น ชั้นในเอาชายพกไว้ข้างหลัง ชั้นนอกเอาชายพกไว้ข้างหน้า แล้วห่มผ้าเฉลียงบ่า
เมื่อยกศพขึ้นบนเตียงแล้ว เอามือขวาของศพยื่นออกไปบนเตียง เอาหมอนใบเล็กๆ รองหันหัวศพ ไปทางทิศตะวันตกใช้น้ำอบน้ำหอมรด ถ้าผู้ตายเป็นพ่อแม่ ลูกหลานจะนำขมิ้นทาที่หน้าและเท้าพิมพ์ไว้เคารพบูชา
เงินใส่ปากศพใช้เงินฮาง เงินเหรียญเงินบาท
ผู้ชอบกินหมาก เขาก็ตำหมากใส่ปากให้
เขาใช้ขี้ผึ้งดีปิดตาปิดปากศพ
ใช้เชือกหรือด้ายมัดศพ 3 เปราะ คือที่ คอ 1 มือ 1 เท้า 1
ปุตโต คีเว เชือกคือลูกมัดที่คอ
ธนัง ปาเท เชือกคือสมบัติมัดที่เท้า
ภริยา หัตเถ เชือกคือเมียมัดที่มือ "
ตรงกับภาษิตโบราณว่าไว้ว่า "ตัณหาฮักลูกเหมือนดังเชือกผูกคอ ตัณหาฮักเมียเหมือนดังปอผูกศอก ตัณหาฮักเข้าของเหมือนดังปอกสุบตีน ตัณหาสามอันนี้มาขีนให้เป็นเชือก ให้กลิ้งเกลือกอยู่ในวัฏะสงสาร"
เอาไม้ไผ่ยาวขนาดโลงสับติดกันเป็นฟากให้ได้ประมาณ 7 ซี่ หรือใช้ไม้ไผ่ 7 ซีก ถักด้วยเชือกหรือหวาย ปูฟากแล้วเอาศพใส่
บันไดทำด้วยก้านกล้วยหรือ ไม้ไผ่ผูกเป็นสามชั้นเหมือนบันไดธรรมดา ขนาดกว้างเท่ากับ ปากโลง วางไว้ข้างนอกหรือในโลงก็ได้
ศพนั้นจะใส่ในโลงหรือไม่ก็ตาม จะตั้งไว้ในที่ใดก็ตาม ต้องหันหัวศพไปทางทิศตะวันตกเสมอ
จุดตะเกียงหรือไต้ไว้ทางหัวและเท้าศพตลอดคืน
เมื่อพระมาติกาจบแต่ละครั้ง จะเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืนก็ตาม นิยมดับเทียนหรือตะเกียงชั่วคราว
ถึงเวลารับประทานอาหารเช้าเย็น เขาจะจัดอาหารคาว หวาน หมาก พลู บุหรี่ มาตั้งไว้ทางหัวโลงแล้วเอามือเคาะโลงปลุกให้ตื่นขึ้นมากิน
เฮือนที่มีศพอยู่ เรียก เฮือนดี ที่เรียกเช่นนั้นถือเอานิมิตของผู้มา คือบรรดาญาติ พี่น้องเมื่อได้ยินข่าวใครตายลงจะพากันนำข้าวของเงินทองมาช่วยเหลือ มาคบงันจนงานเสร็จ
ก่อนจะเอาศพใส่ในโลง นิมนต์พระสงฆ์มา มาติกาทั้งเช้าและค่ำ เวลาจะมาติกา เจ้าภาพจุดธูปเทียนบูชาศพ แล้วอาราธนาศีล 5 เอามือเคาะโลงบอกให้ผู้ตายมารับศิลด้วย เสร็จแล้วพระสงฆ์สวดมาติกา
ยอดมุข คือ ยอดธรรม ยอดธรรมได้แก่ พระอภิธรรมพระที่นิมนต์ไปสวดมาติกาและยอดมุขเป็นจำพวกเดียวกัน แต่เวลาสวดแบ่งหน้าที่กัน สองรูปสวดยอดมุข นอกนั้นสวดมาติกา การสวดก็สวดไปพร้อมกันและจบพร้อมกัน
ผู้ป่วยนอนตายอยู่ในห้องใดก็ตั้งศพไว้ห้องนั้น เมื่อจะยกศพลงจากเรือนไม่ให้ลอดขื่อ เปิดฝาห้องนั้น แล้วยกออกมาทางระเบียงลงนอกชาน
เมื่อยกศพออกจากเรือนแล้ว พระท่านจะสวดทำน้ำมนต์ เจ้าของบ้านเอาน้ำมนต์ รดจากที่ตั้งศพออกไปเทหม้อน้ำกินน้ำใช้คว่ำปากหม้อไว้ การทำดังนี้ถือว่าน้ำเก่าเป็นน้ำที่ไม่บริสุทธิ์ให้เททิ้งเสีย ถ้าผู้ตายเป็นพ่อแม่เขาจะเอากระดานปูเรือน 2-3 แผ่นมาต่อโลงให้ถือว่า ได้แบ่งเรือนให้พ่อแม่ที่ตายไปได้มีที่อยู่อาศัย พลิกและผูกบันได พอยกศพลงถึงพื้นดินแล้วพลิกบันไดแล้ว เอาเรียวหนามผูกปลายติดกันติดไว้ที่ประตูเรือน พอยกศพออกไปแล้วถอนกิ่งไม้นั้นออก
ดอกไม้ธูปเทียนเรียก เครื่องสักการะ ก่อนจะยกศพลงจากเรือน ลูกหลานของผู้ตาย จัดเครื่องสักการะไปเคารพศพ ส่วนญาติพี่น้องคนอื่นๆ นำเครื่องสักการะไปเคารพที่ป่าช้า การกระทำทั้งนี้ ถือว่า หากได้พลาดพลั้งต่อผู้ตาย ผู้ตายจะได้ยกโทษให้ หากมิได้ประมาทพลาดพลั้ง ก็ชื่อว่าได้บำเพ็ญกุศล เคารพต่อวุฒบุคคลอีกโสดหนึ่ง
ไม้หามใช้ไม้ไผ่บ้าน 2 ลำ เอาโลงขึ้นตั้งขันด้วยตอกชะเนาะหามข้างละ 3-4 คน เอาเท้าศพไปก่อนห้ามพักกลางทาง ห้ามเปลี่ยนบ่า ห้ามข้ามนา ข้ามสวน ที่ทำดังนี้ด้วยถือว่าเป็นของคะลำ
ใช้ด้ายหรือเชือกจูงศพ ถ้าผู้ตายมีลูกหลานเป็นผู้ชาย ก็ให้บวชเป็นพระหรือเณร เป็นหญิงให้นุ่งขาวห่มขาวบวชเป็นชีจูงศพไปป่าช้า เมื่อแจกข้าวแล้วจึงสึก หรือจะอยู่ไปตลอดก็ได้
เมื่อหามศพออกจากบ้านมีการหว่านข้าวสารไปตลอดทาง
ข้าวเปลือกที่ใช้คั่วด้วยไฟให้แตกเรียกข้าวตอกแตก ข้าวนี้ใช้โรยไป ตลอดทางเหมือนข้าวสาร
เมื่อหามศพผ่านไป เขาจะใช้ไม้ขีดทางหรือหักกิ่งไม้ไว้ เพื่อให้ผู้ตายตามไป ข้างหลังได้สังเกต อีกอย่างหนึ่งเป็นการลวงตาผีที่กลับมา มันจะเข้าใจว่านี่ไม่ใช่ทางไปบ้านของเรา เพราะมีขีดและกิ่งไม้ขวางทาง
ศพที่จะปลงศพนั้น เขาเอาไข่ 1 ใบ ข้าว 1 ปั้น เสี่ยงทายถ้าไข่แตกตรงไหนให้ฝัง หรือเผาตรงนั้น โดยถือว่าตรงนั้นเจ้าของเขาอนุญาตให้แล้ว ผู้ตายก็พอใจอยู่ที่นั่นแล้ว แล้วปลงศพที่ตรงนั้นหาฟืนมากองเป็นกองเรียก กองฟอน ปักหลักสี่หลักที่มุมทั้งสี่เรียก หลักสะกอน เวียนสามรอบ ก่อนจะยกศพขึ้นตั้งกลางกองฟอนหามศพเวียนรอบกองฟอน 3 รอบ การเวียนต้องเวียนซ้าย
ก่อนล้างต้องพลิกศพ เอาผ้าห่อศพออก เพื่อไฟจะได้ไหม้เร็ว แล้วทุบเอาน้ำมะพร้าวและน้ำอบ น้ำหอมล้างหน้าศพ
ไม้แก่นสองท่อน ยาวท่อนละ 2 วาเศษใช้สำหรับบังคับมิให้โลงตกลงจากกองฟอน การเอาไม้ข่มเหงไว้เช่นนี้ ถือว่าเป็นการสอนคนว่า "คนเรานั้นไม่ว่าจะชั่วดีมีจน ใหญ่เล็กเพียงไหน ก็ต้องมีผู้ปกครองคอยควบคุมดูแล ว่ากล่าวตักเตือนอยู่ตลอด"
หมากเงินหมากทอง เรียก หมากกาละพฤกษ์ เขาเอาผลไม้ ก้านกล้วยตัดเป็นท่อนๆ หรือไม้ขีดไฟ เสียบสตางค์เข้าไปในนั้น ก่อนจะเผาศพมีการหว่านกาละพฤกษ์ ผู้คนวิ่งวุ่นกันเก็บเอา ดูแล้วน่าสนุกสนานยิ่งนัก มาติกาบังสุกุลศพ ก่อนจะเผานิมนต์พระสวดมนต์มาติกา เสร็จแล้วโยงด้ายจากโลงให้พระชักบังสุกุล เสร็จแล้วพระให้พร แล้วลงมือเผาต่อไป
วันที่ไม่ควรเผาศพ วันพระ วันอังคาร และวันถูก 9 กอง ถือว่าเป็นวันที่ไม่ควรเผา วันพระนั้นเป็นวันที่พระสงฆ์ทำกิจพระศาสนา ญาติโยมก็พากันไปรักษาศิล ฟังธรรม วันอังคารถือว่าเป็นวันแข็ง ถ้ามีความจำเป็นจะต้องเผาให้ทำการอุปโลกน์เสียก่อน คือเมื่อนำศพไปถึงป่าช้าแล้ว คนหนึ่งทำพิธีขุดหลุมจะฝัง พระสงฆ์ไปขอแผ่จากญาติโยม ขอให้ญาติโยมช่วยหาฟืนมาให้ แล้วจัดการเผา ส่วนวัน 9 กองนั้น เป็นอีกวันหนึ่งที่ไม่เคยเผาด้วยถือว่าวันทั้งสามนี้เมื่อเผาจะนำความเดือดร้อนมาให้
ไฟสำหรับจุดศพนั้นเขามีไว้ต่างหาก ใช้ไต้หรือจุดเทียนห้ามมิให้จุดติดต่อกัน ด้วยถือว่าไฟธรรมดาก็ดี ไฟราคะ โทสะ โมหะก็ดี ไฟทั้งนี้เป็นของร้อน ถ้าไปต่อกันเข้า จะลุกลามใหญ่โตไหม้บ้านเมือง และทำลายทรัพย์สินอาคาร บ้านเรือนให้เสียหายพินาศ เผาแล้วกลับบ้าน มีการบายศรีสู่ขวัญให้เพื่ออยู่เย็นเป็นสุขต่อไป
เมื่อเผาศพครบ 3 วัน แล้วเชิญญาติพี่น้องและนิมนต์พระสงฆ์ไปทำพิธีเก็บกระดูก จัดอาหารไป 1 ที่ เมื่อถึงป่าช้าหลุมเผาศพแล้วนำอาหารไปเลี้ยงผี บอกเล่าว่าพรุ่งนี้ไปกินข้าวแจกลูกหลานเขาจะทำบุญแจกข้าว พอบอกเล่าแล้วก็กองกระดูกให้เป็นรูปคนนอนหงาย สมมุติว่าตาย หันหัวไปทางทิศตะวันตก แล้วนิมนต์พระมาบังสุกุล พอเสร็จแล้วลบรูปหุ่นนั้นเสีย ทำรูปหุ่นใหม่หันหัวไปทางทิศตะวันออก สมมติว่าเกิดใหม่ เอากระดูกใส่ในหม้อวาง ไว้ตรงกลางรูปหุ่น แล้วนิมนต์พระสงฆ์บังสุกุลเป็น แล้วเขี่ยเถ้าถ่านที่เหลือลงไปในหลุมฝังไว้
บางท้องถิ่นในภาคอีสานเหนือ หลังเผาศพเสร็จแล้ว 3 วัน ถึงจะเก็บกระดูกมาทำบุญที่บ้าน ว่ากันว่า รอให้กระดูกเย็นเสียก่อน คือ เย็นโดยไม่ต้องใช้น้ำราด
ระหว่างที่รอให้ครบ 3 วันนั้นลูกหลานจะจัดเตรียมเครื่องทำบุญ และของถวายวัด ที่ภาคอีสานเหนือ จะมีการทำตุงเป็นผืนใหญ่ ยิ่งยาวเท่าไหร่ได้ก็ยิ่งดี เสมือนหนึ่งว่าให้ผู้ตายเป็นทางขึ้นสู่สวรรค์
ในการทำตุงนี้ ลูกหลานทุกคนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการทำคนละเล็กละน้อย หลังจากทำบุญที่บ้านแล้วก็นำสิ่งของที่เตรียมไว้มาที่วัด ส่วนตุงนั้นจะนำมาตั้งไว้ที่มุมโบสถ์ด้านทิศเหนือ กระดูกจะนำไปฝากวัด หรือจัดก่อเจดีย์แล้วแต่กรณี ฤดูปีหน้าฟ้าใหม่ก็มาบังสุกุลทำบุญให้ทานตามประเพณี
การเผาแบบคนโบราณ นอกจากจะทำเป็นโลงแล้ว ยังทำเป็นรูปนกหัสดีลิงค์ ซึ่งเป็นนกที่มีขนาดใหญ่มาก คนเป็นใหญ่เป็นโตมีเกียรติยศชื่อเสียง จึงสมควรให้เผาแบบนี้ ประวัติมีว่า
นกหัสดีลิงค์ เป็นนกใหญ่ตัวโตเท่าช้าง อาศัยอยู่ในป่าหิมพานต์ เรียก ชื่อตามเจ้าของภาษาว่า หัตถิลิงคะสะกุโณ เรียกตามภาษาของเราว่า นกหัสดีลิงค์ เรื่องย่อมีว่า พระเจ้าปรันตปะเจ้าเมืองโกสัมพี นั่งผิงแดดอยู่กับราชเทวีมีครรภ์แก่ พระนางห่มผ้ากัมพลแดง นกเข้าใจว่า ก้อนเนื้อ จึงบินมาโฉบเอาไปวางไว้ในระหว่างคาคบไม้ไทร พระนางปรบมือร้อง นกตกใจบินหนีพระนางจึงลงจากคาคบไม้ แล้วประสูติพระโอรสในขณะที่ฝนตกฟ้าร้อง จึงขนานนามพระโอรสว่า อุเทน
ชาวอีสาน เมื่อเจ้าเมืองหรือพระสงฆ์ผู้หลักผู้ใหญ่ถึงแก่กรรมมักจะทำศพเป็นการใหญ่โตหีบศพทำแบบโบราณ มีบุษบกหลายชั้นทำรูปนกหัสดีลิงค์ ตั้งบนกองฟอนตั้งหีบศพบนหลังนกหัสดีลิงค์ ปลูกประรำใหญ่และสูงคร่อม มีมหรสพคบงันและทำบุญกุศลครบ 7 วัน 7 คืน ถึงวันเผาก็ทำพิธีฆ่านกหัสดีลิงค์แล้วจึงเผา ผู้นำชาวอีสาน คือ พระตา พระวอ ก็ปรากฏว่า ทำศพแบบรูปนกหัสดีลิงค์ เอาศพพระวอ พระตาขึ้นตั้งบนหลังนก มีมหรสพครบ 7 วัน 7 คืน แล้วเผา ณ ทุ่งบ้านดู่ บ้านแก เขตนครจำปาศักดิ์ ลูกชายของพระตา 2 คน คือ ท้าวคำผง เจ้าเมืองอุบลฯ คนแรก นามว่า พระปทุมราชวงศา และท้าวพรหม เจ้าเมืองอุบลคนที่สอง นามว่าพระพรหมราชวงศากับลูกชายท้าวคำผง ชื่อกุทอง เจ้าเมืองคนที่สามนามว่า พระปทุมราชวงศา เจ้าเมืองทั้งสามองค์นี้ ครองเมืองอุบลมาเป็นเวลานานถึง 80 ปีเศษ เวลาถึงแก่กรรม ก็จัดทำศพแบบรูปนกหัสดีลิงค์ มีมหรสพคบงัน 7 วัน 7 คืน ณ บริเวณทุ่งศรีเมือง ในเมืองอุบลราชธานี (จากประวัติเมืองอุบลฯ โดย สิน ปิติกะวงศ์ พ.ศ. 2479)
ฝ่ายพระสงฆ์เมืองอุบลฯ ที่ท่านเจ้าเมือง หรือชาวเมืองเรียกกันว่า ยาท่านธรรมบาล วัดป่าน้อย ซึ่งมีสมณศักดิ์เป็น เจ้าคุณพระอริยวงศาจารย์ ปลายรัชกาลที่ 5 ท่านถึงแก่มรณภาพ ก็จัดทำศพแบบรูปนกหัสดีลิงค์ มีมหรสพคบงัน 7 วัน 7 คืน เผาที่วัดป่าน้อย เมืองอุบลฯ อีกองค์หนึ่งคือยาท่านดีโลด หรือ ที่ทางการเรียกพระครูวิโรจน์รัตโนบล เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อ ปี พ.ศ. 2485 ท่านถึงแก่มรณภาพ ก็จัดทำศพแบบรูปนกหัสดีลิงค์ ตั้งศพบำเพ็ญบุญ และมีมหรสพคบงันครบ 7 วัน 7 คืน ณ วัดทุ่งศรีเมือง (จากประวัติทุ่งศรีเมือง 2514)
การจัดทำศพแบบรูปนกหัสดีลิงค์นี้ถือเป็นเกียรติประวัติอย่างสูง สมควรได้รับเกียรติศักดิ์เช่นนั้น ต้องได้ทำประโยชน์แก่ประเทศชาติ และพระศาสนามากมาย ส่วนเจ้าเมืองและพระสงฆ์ผู้หลักผู้ใหญ่ในภาคอีสานซึ่งได้ทำความดีมีจำนวนมาก เวลาทำศพ จะได้ทำแบบรูปนกหัสดีลิงค์นี้หรือไม่ ผู้เขียนไม่สามารถนำมาเล่าไว้ จึงขออภัยไว้ ณ ที่นี้ด้วย (เพิ่มเติมสำหรับคำถามนี้ อ่านคำตอบได้ที่ นกหัสดีลิงค์ พิธีการปลงศพของเจ้านายชั้นสูงและพระเถระผู้ใหญ่ในอีสาน)
เกี่ยวกับการตายนี้ คนโบราณมีข้อห้ามไว้หยุมหยิม จุดประสงค์ของผู้ห้ามก็เพื่อต้องการให้เกิดความสวัสดิมงคล ผู้อยู่ก็ให้สบาย ผู้ตายให้มีสุข ข้อที่คนโบราณห้ามไว้ มีดังนี้
การฝังศพ หรือ การเผาศพ เป็นปัญหาที่ถกเถียงกันมาตลอด เพราะเกจิอาจารย์บางคนว่าควร บางคนว่าไม่ควร โดยอ้างตำรานี่ ตำราที่ห้ามก็ห้ามเพียงว่า คะลำบ้าง จะเป็นอันตรายบ้าง จะพินาศฉิบหายถึงขายตัวบ้าง เมื่อเป็นเช่นนี้เราจะแก้ไขอย่างไร
สมมุติว่าห้ามไม่ให้เผา แต่เราจำเป็นต้องเผา เราจะทำอย่างไร? โบราณแนะวิธีทำไว้ดังนี้
การเกิด | การบวช | การแต่งงาน | การตาย
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)