foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว หิมะตกหนัก อากาศหนาวสุดขั้ว บางแห่งถึงขั้นติดลบ 46 องศาเซลเซียส ประเทศไทยเฮากะบ่หยอกคือกัน ทางตอนเหนือลดลงถึงศูนย์องศา เกิดแม่คะนิ้ง (น้ำค้่างแข็งบนยอดหญ้ากันแล้ว) ในช่วงวันที่ 10-13 มกราคมนี้ อุณหภูมิจะลดลงอีกมาก 5-7 องศา ในภาคเหนือและภาคอีสานบ้านเฮา รักษาสุขภาพกันดีๆ เด้อ อย่าสิเจ็บสิไข้ ซำบายดีครับ ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

isan food header

อาหารพื้นเมืองอีสานมักจะต้องมีส่วนปรุงรส หรือชูรส ด้วยผักพื้นบ้านอีสาน ซึ่งมีเอกลักษณ์ทางด้านถิ่นกำเนิด กลิ่นและรสที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ หายากเพราะมีผลผลิตออกมาตามฤดูกาล นอกจากนั้นยังเป็นพืชผักที่ให้คุณค่าทางด้านสุขภาพอนามัย ปลอดสารพิษ ทำให้เป็นที่นิยมกันทั่วไป ไม่ว่าจะทำอาหารประเภทลาบ ก้อย ต้ม แกง อ่อม ล้วนต้องใช้ผักพื้นเมืองเป็นส่วนประกอบทั้งสิ้น

samunprai

ผักขา หรือ ชะอม

ชะอม (Cha-om) หรือคนอีสานเรียก ผักขา ช่วยเพิ่มรสชาติให้อาหาร กินยอดอ่อนทั้งสดและลวก ยอดอ่อนแกงกับหน่อไม้ หรือทอดใส่ไข่จิ้มน้ำพริก คุณค่าทางยา แก้ท้องเฟ้อ ขับลมในลำไส้ แก้ปวดเสียวในลำไส้ มีเส้นใยอาหาร ป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด และมีเบต้า-แคโรทีนสูง รากใช้ฝนกับน้ำหรือเหล้าขาวแก้ขับลมในกระเพาะอาหาร ท้องอืดเฟ้อ

Cha Om

ชื่อสามัญ : Climbing wattle, Acacia, Cha-om
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Acacia pennata (L.) Willd. จัดอยู่ในวงศ์ถั่ว (FABACEAE หรือ LEGUMINOSAE) และอยู่ในวงศ์ย่อยสีเสียด (MIMOSOIDEAE หรือ MIMOSACEAE)

ผักขา หรือ ผักชะอม มีชื่อเรียกในท้องถิ่นอื่นๆ เช่น ผักหละ (ภาคเหนือ), อม (ภาคใต้), พูซูเด๊าะ (แม่ฮ่องสอน), โพซุยโดะ (กะเหรี่ยง) เป็นต้น

ประโยชน์ของชะอม

ชะอม ช่วยฟื้นฟูผมแห้งเสีย แตกปลาย ด้วยสูตรน้ำชะอมหมักผม เพียงแค่นำใบชะอมประมาณ 1 กำมือมาต้มกับน้ำเปล่า 3 ถ้วย จนได้น้ำชะอมเข้มข้น กรองเอาแต่น้ำ เมื่อสระผมเสร็จให้นำผ้าขนหนูมาชุบน้ำชะอมที่เตรียมไว้ บิดพอหมาด นำมาเช็ดผมให้ทั่ว แล้วทิ้งไว้ประมาณ 10 นาทีแล้วล้างออก จะช่วยทำให้ผมแห้งๆ กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

ชะอม นำมาทำเป็นเมนูอาหารได้หลากหลายเมนูมาก เช่น ไข่ชะอม ไข่ทอดชะอม ชะอมชุบไข่ แกงส้มชะอมกุ้ง แกงส้มชะอมไข่ นำมาลวกหรือนึ่งใช้เป็นผักจิ้มกับน้ำพริก น้ำพริกกะปิ รับประทานร่วมกับส้มตำมะม่วง ตำส้มโอ หรือจะนำไปปรุงเป็นแกงรวมกับปลา เนื้อ ไก่ กบ เขียด หรือต้มเป็นอ่อม ทำแกงลาว แกงแค เป็นต้น

สรรพคุณทางยาของชะอม

ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ เนื่องจากมีวิตามินเอสูง ยอดชะอมช่วยลดความร้อนในร่างกายได้ เชื่อกันว่าผักรสมันอย่างชะอมมีสรรพคุณเป็นยาอายุวัฒนะ ช่วยในการขับถ่าย ป้องกันโรคท้องผูก ส่วนรากชะอมนำมาฝนกินช่วยแก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ปวดท้อง และช่วยขับลมในลำไส้ มีส่วนช่วยบำรุงเส้นเอ็น ช่วยแก้อาการลิ้นอักเสบเป็นผื่นแดง

ข้อควรระวังในการรับประทานชะอม

สำหรับคุณแม่ที่เพิ่งมีบุตรอ่อน ไม่ควรรับประทานผักชะอม เพราะจะทำให้น้ำนมแม่แห้งได้ บางคนจะแพ้กลิ่นของผักชนิดนี้อย่างมาก ดังนั้นควรอยู่ห่างๆ เข้าไว้ การรับประทานผักชะอมในหน้าฝน อาจจะมีรสเปรี้ยว กลิ่นฉุน บางครั้งอาจทำให้มีอาการปวดท้องได้ (ปกตินิยมรับประทานผักชะอมกันในหน้าร้อน) และชะอมจะมีกรดยูริกสูง เป็นตัวการที่ทำให้เกิดข้ออักเสบในผู้ป่วยโรคเกาต์ ซึ่งเกิดมาจากสารพิวรีน (Purine) โดยผักชะอมนั้นก็มีสารพิวรีนในระดับปานกลางถึงระดับสูง ผู้ป่วยโรคเกาต์สามารถรับประทานได้ แต่ควรรับประทานในปริมาณที่จำกัด หากมีอาการกำเริบเป็นมากก็ไม่ควรรับประทาน เพราะจะทำให้ปวดกระดูกได้

ข่า และ ขิง

ข่า (Galanga, Greater galangal, False galangal) เป็นพืชล้มลุก มีลำต้นอยู่ใต้ดินเรียกว่า เหง้า ใช้ประกอบอาหารช่วยดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ เป็นเครื่องแกง อาหารไทยหลายชนิดใช้ข่าเป็นเครื่องปรุงหลัก เช่น ต้มข่าไก่ แกงเผ็ด แกงเขียวหวาน คุณค่าทางยาในเหง้าจะมีน้ำมันหอมระเหยต่างๆ ทำให้ช่วยขับลม ท้องอืดท้องเฟ้อ ขับเสมหะ ใบใช้ตำพอกหรือทาโรคผิวหนัง หิด กลาก เกลื้อน ถ้าหญิงคลอดลูกใหม่ๆ เลือดขัดให้ใช้หัวข่าสดมาบดผสมน้ำมะขามเปียกและเกลือแกง บีบคั้นเอาแต่น้ำ ประมาณชามแกงย่อมๆ ให้ดื่มจนหมด จะช่วยขับเลือดเสียและทำให้มดลูกเข้าอู่เร็วขึ้น

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Alpinia galanga (L.) Willd. จัดอยู่ในวงศ์ ZINGIBERACEAE เช่นเดียวกับกระชาย กระชายดำ กระชายแดง กระวาน กระวานเทศ ขิง ขมิ้น เร่ว เปราะป่า เปราะหอม ว่านนางคำ และว่านรากราคะ

นอกจากนี้ "ข่า" ยังมีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ อีก เช่น สะเอเชย เสะเออเคย (แม่ฮ่องสอน), ข่าหยวก (ภาคเหนือ), ข่าหลวง (ภาคเหนือ-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), กฎุกกโรหินี (ภาคกลาง) เป็นต้น

kha

ขิง (Ginger) ชื่อวิทยาศาสตร์ Zingiber officinale Roscoe จัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE) เป็นพืชล้มลุก มีแง่งใต้ดินแตกแขนงคล้ายนิ้วมือ เนื้อในสีเหลืองแกมเขียว มีส่วนประกอบของน้ำมันหอมระเหยและสารจากธรรมชาติ นิยมนำมาทำอาหารทั้งคาวหวาน เช่น ไก่ผัดขิง ใบใช้กินกับซุปหน่อไม้ ส้มตำ หัวผสมกับกระชายทำน้ำยาขนมจีน หรือนำมาต้มทำน้ำขิงใส่น้ำตาล คุณค่าทางยา ช่วยระบบทางเดินหายใจ เป็นหวัดคัดจมูก แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด ขับลม ช่วยบรรเทาอาการไอ ลดโคเลสเตอรอล

เหง้าขิงแห้ง เป็นยาจำพวกอายุวัฒนะ บำรุงร่างกาย หัวใจ ไฟธาตุ ขับลมในลำไส้ให้ตด (ผายลม) ออกมา แก้ร้อนในกระหายน้ำ ช่วยย่อยอาหาร แก้ลมพรรดึก แก้อาการปวดท้อง คลื่นเหียนอาเจียน แก้บิดมีตัว บิดมูกเลือก แก้อุจจาระเป็นฟองเหลือง ขับละลายก้อนนิ่ว ตำรับยาแผนโบราณใช้แก้ลมพานไส้ แน่นหน้าอก นอนไม่หลับ โรคปากเปื่อยฯ

กระชาย

กระชายหรือโสมไทย (Chinese Deys) นิยมใช้แต่งรสชาติอาหาร เช่น แกงป่า ผัดเผ็ด แกงส้มเนื้อ น้ำยาขนมจีน ถือว่าเป็นเครื่องเทศอย่างหนึ่ง กระชายมี 3 ประเภท เช่น กระชายดำ กระชายแดง กระชายเหลือง ที่ใช้ประกอบอาหารคือ กระชายเหลือง คุณค่าทางยาเชื่อว่ามีสรรพคุณคล้ายโสมบำรุงกำลัง เพิ่มสมรรถภาพทางเพศ เช่น กระชายดำ ซึ่งเป็นที่กล่าวขานกันมากในปัจจุบัน อาจจะเรียกว่าโสมไทย จะมีน้ำมันหอมระเหยสรรพคุณดับกลิ่นคาว ทำให้กระเพาะลำไส้เคลื่อนไหวดี สรรพคุณทางยาของกระชาย ถ้าใช้หัวปรุงแก้อาการปากเปื่อย ปากเป็นแผล ปากแตกแห้ง ร้อนในกระหายน้ำ แก้ปวดท้อง จุกเสียด แก้บิดมูกเลือด บำรุงกำลัง บำรุงน้ำดีฯ

สมุนไพรกระชาย มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ว่านพระอาทิตย์ (กรุงเทพมหานคร), กระชายดำ กะแอน ขิงทราย (มหาสารคาม), จี๊ปู ซีฟู เปาซอเร๊าะ เป๊าสี่ เป๊าะสี่ ระแอน เป๊าะซอเร้าะ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), ละแอน (ภาคเหนือ), ขิงจีน เป็นต้น

กระชาย (กระชายขาว, กระชายเหลือง) ชื่อสามัญ : Fingerroot, Chinese ginger, Chinese keys, Galingale
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Boesenbergia rotunda (L.) Mansf. จัดอยู่ในวงศ์ขิง (ZINGIBERACEAE)

kra chai

กระชายที่นิยมใช้กันก็คือ กระชายเหลืองและกระชายดำ ซึ่งกระชายดำปัจจุบันกำลังเป็นที่นิยม จนทำให้กระชายเหลืองถูกลดความสำคัญลงไป แต่ว่ากันว่าในด้านสรรพคุณทางยาสมุนไพร กระชายเหลืองนั้นดีกว่ากระชายดำ เพราะบางทีเราก็คิดไปเองว่าสมุนไพร ถ้าเป็นสีเข้มกว่าก็น่าจะมีประโยชน์มากกว่า แถมกระชายดำยังได้รับการโปรโมตทางการตลาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้คนทั่วไปหลงคิดว่ากระชายดำนั้นดีกว่ากระชายเหลืองนั่นเอง

สมุนไพรกระชาย มีสรรพคุณทางยานานับประการ จนได้ชื่อในวงการแพทย์แผนไทยว่าเป็น "โสมไทย" เนื่องจากกระชายกับโสมมีความคล้ายคลึงกันหลายอย่าง เช่น สรรพคุณในการบำรุงกำลังและเสริมสมรรถภาพทางเพศ ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของสมุนไพรทั้งสองชนิด ทั้งกระชายและโสมต่างก็เป็นพืชที่มีส่วนสะสมอาหารที่ใช้เป็นยาอยู่ใต้ดินเหมือนกัน แถมยังสามารถเรืองแสงในที่มืดได้เหมือนกันด้วย และในเรื่องของลักษณะที่คล้ายกับรูปร่างมนุษย์เหมือนๆ กัน ซึ่งบางครั้งเราจะเรียกโสมว่า "โสมคน" และเรียกกระชายว่า "นมกระชาย" (เนื่องจากกระชายมีลักษณะที่คล้ายคลึงกับนมผู้หญิงนั่นเอง และบางครั้งก็ดูคล้ายเพศชาย จึงเกิดความเชื่อที่ว่ามันน่าจะมีความเกี่ยวข้องในเรื่องสรรพคุณทางเพศ)

กระชายดำ นี่ทำเอา "อาวทิดหมู" ถึงกับไม่ได้นอนทั้งคืนทีเดียว (คงจะดีจริง เพิ่มพลังทางเพศ คึกคัก) แต่คำตอบที่ได้ทำเอาฮากันทั้งคณะทีมงานเว็บไซต์อีสานเกตกันเลยทีเดียว เพราะอาวทิดหมูตอบมาว่า "เฮอะ! ก็เขาว่ามันเด็ด เอามาดองเหล้าซัดเข้าไปเกือบแบนหนึ่ง นอนรอดูอาการตั้งแต่สามทุ่ม ว่า มันจะโด่เมื่อไหร่? จนสว่างเสียก่อนมันก็ยังไม่งึกไม่งักเลย" ปัดโธ่! นึกว่าไม่ได้นอนเพราะทำอย่างอื่น อุตส่าห์มาคุย 555...

ใบหูเสือ

หูเสือ เป็นผักกลิ่นหอมฉุน รสเผ็ดร้อน มีรสเปรี้ยวแทรกอยู่เล็กน้อย รูปทรงของใบมีหยักสมดุล สวยงาม อวบอ้วน ตามบ้านเรือนต่างๆ ส่วนใหญ่จะพบหูเสือถูกปลูกอยู่ในกะละมังหรือเข่งเก่าๆ ถึงแม้หูเสือจะไม่ใช่ผักหรือสมุนไพรที่โดดเด่น แต่แทบทุกบ้านมักปลูกไว้เป็นไม้คู่บ้าน บ้านคนจีนจะปลูกไว้เป็นยาแก้ไอ

หูเสือ หรือ COLEUS AMBOINICUS LOUR อยู่ในวงศ์ LABIATEAE เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี นิยมปลูกตามบ้านมาแต่โบราณเพื่อเก็บเอาใบสดกินเป็นผักจิ้มน้ำพริกชนิดต่างๆ และลาบ ก้อย ชาวบ้านทางภาคอีสานและภาคเหนือนิยมรับประทานกันมาก ขยายพันธุ์ง่ายๆ ปักชำต้นก็ขึ้นแล้ว มีชื่อเรียกอีกคือ ผักหูเสือ หูเสือไทย อีไหล หลึง หูเสือจีน โฮหิเช้า (จีน) หอมด่วนหลวง หอมด่วนหูเสือ (ภาคเหนือ) และ หูเสือ (ภาคอีสาน) ประโยชน์ทางสมุนไพร ใบ คั้นเอาน้ำหยอดแก้ปวดหู แก้พิษฝีในหู แก้หูเป็นนำหนวกดีมาก

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Plectranthus amboinicus (Lour.) Spreng. ( Syn. Coleus amboinicus Lour.)
ชื่อสามัญ : Indian borage
วงศ์ : LAMIACEAE (LABIATAE)
ชื่ออื่น : หอมด่วนหลวง (เหนือ), ผักหูเสือ, เนียมอีไหลหลึง, โฮว้หีเช่า (จีน)

hoo sua 01

ชาวบ้านในแถบภาคอีสานและภาคเหนือจะปลูกไว้เป็นเหมือนยาสามัญประจำบ้าน คือ เป็นทั้งยาบำรุงเลือดลม บำรุงร่างกาย ขับน้ำนมหลังคลอด และยังสามารถกินเป็นผัก โดยเฉพาะผักแกล้มลาบทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นลาบเนื้อ ลาบปลา ลาบไก่ ลาบเป็ด เนื่องจากในหูเสือ มีน้ำมันหอมระเหยสูง จึงช่วยย่อย แก้ท้องอืด และดับกลิ่นคาวได้ดีมาก นอกจากนี้ ยังนิยมกินกับแจ่วป่น ซุบหน่อไม้ รวมทั้งนำมาใช้แทนใบกะเพราในแกงกบ แกงปลาไหล ผัดหมูสับ เป็นต้น

กลิ่นของใบหูเสือคล้ายกับเครื่องเทศ “ออริกาโน” ที่ใช้โรยหน้าพิซซ่า หากใครชื่นชอบกลิ่นหอมของออริกาโน ก็สามารถใช้ใบหูเสือที่ตากแห้งสนิทในที่ร่ม แล้วบดละเอียด ใช้แทนออริกาโนได้เลย หรือจะทำ "น้ำสมูทตี้..หูเสือ" ดื่มเย็นๆ ก็ไม่ยาก ส่วนผสมและวิธีทำง่ายๆ นำน้ำผึ้ง มะนาว เกลือเล็กน้อย น้ำแข็ง ปั่นให้ละเอียด นำใบหูเสือหั่นฝอย ใส่ลงไป ปั่นให้พอแหลกเข้ากันดี ตักใส่แก้ว ดื่มแก้กระหายดีนักแล

นอกจากนี้ หูเสือ ยังมีสรรพคุณใช้ในการแก้หวัด แก้ไอ แก้คออักเสบ แก้หอบหืด ใช้เป็นยาสามัญประจำบ้านในการรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก รักษาอาการบวม ตำพอกแก้ปวดข้อ ใช้ขยี้ทาเพื่อห้ามเลือด ใช้คั้นน้ำทาแผลเรื้อรัง ใช้คั้นน้ำหยอดหูเพื่อรักษาหูน้ำหนวก ใช้ดับกลิ่นปาก ใช้แก้ไข้ในเด็ก ใช้ขยี้ทาท้องเด็กเพื่อแก้ท้องอืด ป้องกันฟันผุ ใช้ขยี้ทารักษาหิด แมลงสัตว์กัดต่อย ใช้ใส่ในยุ้งข้าวเพื่อไล่แมลง ปัจจุบัน มีการศึกษาทางเภสัชวิทยาพบว่า หูเสือมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย ยีสต์ และรา อีกด้วย

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ :

  • ไม้ล้มลุกอายุหลายปี สูง 0.3-1 เมตร ลำต้นอวบน้ำ มีขนหนาแน่น
  • ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปไข่ค่อนข้างกลม กว้าง 4-6 ซม. ยาว 5-7 ซม. โคนใบมนตัดมีครีบยาว ปลายใบมน ขอบใบจักมน แผ่นใบสีเขียว มีขนหนาแน่นทั้งสองด้าน เนื้อใบหนา มีกลิ่นเฉพาะ ก้านใบยาว 2-4.5 ซม.
  • ดอก ออกเป็นช่อที่ปลายยอด ช่อดอกยาว 10-20 ซม. มีใบประดับรูปไข่ ดอกสีฟ้า กลีบเลี้ยงโคนเชื่อติดกันเป็นรูประฆัง ด้านนอกมีขน ปลายแยกเป็น 5 แฉก กลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดปลายแยกเป็น 2 ปาก ปากบนตั้งตรง กลีบล่างยาวเว้า ออกดอกยาก
  • ผล รูปทรงกลมแป้น กว้าง 0.5 มม. ยาว 0.7 มม. ผิวเรียบ สีน้ำตาลอ่อน

สาบเสือ

สาบเสือ (อังกฤษ: Bitter bush, Siam weed) เป็นสมุนไพรอย่างหนึ่งที่หาง่ายมากมีอยู่ทั่วไป จัดว่าเป็นวัชพืชที่มีสรรพคุณทางยาที่ใช้ประโยชน์ได้ดีที่เดียว เราใช้ "ต้นสาบเสือ" เป็นดรรชีชี้วัดอุณหภูมิความแห้งแล้งของอากาศ เพราะหากอากาศไม่แล้งต้นสาบเสือก็จะไม่ออกดอก สาเหตุที่ได้ชื่อว่า "สาบเสือ" ก็เพราะว่าดอกของมันไม่มีกลิ่นหอมเลยแต่กลับมีกลิ่นสาบ คนโบราณเวลาหนีสัตว์ร้ายอื่นเข้าดงสาบเสือจะปลอดภัย เพราะสัตว์อื่นนั้นจะไม่ได้กลิ่นคน

สาบเสือ มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ อีกหลายชื่อตามท้องถิ่น เช่น หญ้าเสือหมอบ หญ้าดงร้าง หญ้าดอกขาว บ้านร้าง หมาหลง (สุพรรณบุรี ราชบุรี กาญจนบุรี), ฝรั่งเหาะ ฝรั่งรุกที่ (สุพรรณบุรี), ผัดคราด บ้านร้าง (ราชบุรี), หญ้าดงรั้ง หญ้าพระสิริไอสวรรค์ (สระบุรี), หญ้าดอกขาว (สุโขทัย ระนอง), หญ้าเลาฮ้าง (ขอนแก่น), สะพัง (เลย), มุ้งกระต่าย (อุดรธานี), หญ้าลืมเมือง (หนองคาย), มนทน (เพชรบูรณ์), เบญจมาศ (ตราด), หมาหลง (ชลบุรี-ศรีราชา), พายัพ พาทั้ง หญ้าเมืองวาย นองเส้งเปรง เซโพกวย ซิพูกุ่ย (เชียงใหม่), ไช้ปู่กย ชีโพแกว่ะ เชโพแกว่ะ (แม่ฮ่องสอน), รำเคย (ระนอง), ยี่สุ่นเถื่อน (สุราษฎร์ธานี), หญ้าเหมือน หญ้าเมืองฮ้าง ต้นลำฮ้าง (อิสาน), ต้นขี้ไก่ (ใต้)พาพั้งขาว (ไทใหญ่), จอดละเห่า (ม้ง), หญ้าเมืองวาย (คนเมือง), เฮียงเจกลั้ง ปวยกีเช่า (จีน) เป็นต้น

ชื่อสามัญ : Siam weed, Bitter bush, Christmas bush, Devil weed, Camfhur grass, Common floss flower, Triffid
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Chromolaena odorata (L.) R.M.King & H.Rob. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Eupatorium odoratum L.) จัดอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE หรือ COMPOSITAE)

saab sua 01

สรรพคุณของสาบเสือ

  • ดอกสาบเสือมีสรรพคุณช่วยชูกำลัง แก้อาการอ่อนเพลีย ช่วยบำรุงหัวใจ ช่วยแก้กระหายน้ำ แก้ไข เป็นยาแก้ร้อนใน
  • ใบช่วยแก้ตาฟาง ตาแฉะ ช่วยแก้ริดสีดวงทวาร ใช้ต้มอาบช่วยแก้ตัวบวมได้ แก้พิษน้ำเหลือง ถอนพิษแก้อักเสบ ใช้ในการห้ามเลือด ด้วยการใช้ใบนำมาโขลกและขยี้ แล้วนำมาพอกบริเวณบาดแผล ก็จะช่วยห้ามเลือดได้เป็นอย่างดี เพราะสาบเสือมีสารสำคัญหลายอย่างที่มีฤทธิ์ทำให้เส้นเลือดหดตัว และไปช่วยกระตุ้นสารที่ทำให้เลือดแข็งตัวได้เร็วยิ่งขึ้น แต่อาจจะแสบมาก ๆ แต่เมื่อแผลหายแล้วรักษาแผลเปื่อย จะช่วยป้องกันแผลเป็นได้อีกด้วย
  • รากสาบเสือใช้ผสมกับรากมะนาวและรากย่านาง นำมาต้มเป็นน้ำดื่มช่วยรักษาไข้ป่าได้ นำมาใช้ต้มเป็นน้ำดื่มช่วยแก้โรคกระเพาะได้
  • ต้นใช้เป็นยาแก้ปวดท้อง อาการท้องขึ้น ท้องเฟ้อ ช่วยแก้บวม ดูดหนอง
  • สารสกัดจากกิ่งและใบมีสารที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus และ Bacillus subtilis ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดหนอง
  • ทั้งต้นของสาบเสือ ใช้เป็นยาแก้บาดทะยัก
  • ใบสาบเสือ มีสารที่ช่วยยับยั้งการงอกและชะลอการเจริญเติบโตของพืชอื่นๆ

ประโยชน์ของสาบเสือ

  • ช่วยแก้ผมหงอก ทำให้ผมดกดำ ด้วยการใช้ใบสาบเสือนำมาตำแล้วใช้หมักผมเป็นประจำ ไม่นานจะทำทำให้เส้นผมดูดกดำขึ้น (ใบ)
  • ใบสาบเสือมีฤทธิ์ในการกำจัดปลวก ไล่แมลง ฆ่าแมลงได้ (ใบ)
  • ทั้งต้นและใบสามารถนำมาใช้ในการบำบัดน้ำเน่าเสียได้ ด้วยการเอาทั้งต้นและใบใส่ลงไปแช่ในบ่อน้ำเน่า เมื่อผ่านไป 2-3 สัปดาห์น้ำจะค่อย ๆ ใสขึ้นเอง (ต้น, ใบ)
  • ต้นสาบเสือมีกลิ่นแรง การใช้ในปริมาณมากนอกจากจะนำไปใช้ทำเป็นยาฆ่าแมลงแล้ว การใช้ในปริมาณเพียงเล็กน้อยก็สามารถนำมาใช้เป็นน้ำหอมได้ดีอีกด้วย (ทั้งต้น)
  • นอกจากนี้เรายังใช้ต้นสาบเสือเป็นตัวชี้วัดอุณหภูมิความแห้งแล้งของอากาศ ถ้าหากอากาศไม่แล้ง ต้นสาบเสือก็จะไม่ออกดอกนั่นเอง

มะรุม

มะรุม เป็นพืชพื้นบ้านที่มีทั่วทุกภาคของประเทศไทย ทำให้มีการเรียกชื่อมะรุมแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น คำว่า "มะรุม" นี้ เป็นคำเรียกขานของคนภาคกลาง ในขณะที่ฝั่งอีสานบ้านเฮาเอิ้นว่า “ผักอีฮุม หรือ บักฮุ้ม” ส่วนหมู่เฮาจาวเหนืออู้ว่า “บะค้อนก้อม” ส่วนชาวกะเหรี่ยงแถบกาญจนบุรีเรียก “กาแน้งเดิง” ด้านชายขอบจังหวัดแม่ฮ่องสอนกลับให้ชื่อแก่มันอย่างชวนให้ลิ้มรสว่า “ผักเนื้อไก่” นำฝักอ่อนมาแกงใส่ปลาอร่อยนักแล สรรพคุณทางยา เปลือก ถากมาต้มน้ำกินเป็นยาช่วยขับลมในกระเพาะและลำไส้ บำรุงธาตุ ราก รสเผ็ด หวานขม ใช้แก้อาการบวมน้ำ บำรุงธาตุไฟ เจริญอาหาร ยอดและฝักอ่อน ช่วยให้เจริญอาหาร แก้ไข้หัวลม (เปลี่ยนฤดู) ช่วยย่อยอาหาร

ชื่อสามัญ : Moringa
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Moringa oleifera Lam. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Guilandina moringa L., Hyperanthera moringa (L.) Vahl, Moringa zeylanica Burmann) จัดอยู่ในวงศ์ MORINGACEAE

ma rum

ปัจจุบันขณะนี้ ได้มีการโฆษณาสรรพคุณของมะรุมอย่างแพร่หลาย บ้างก็ว่าช่วยต้านมะเร็ง ช่วยรักษาเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ช่วยบำรุงสุขภาพ และสรรพคุณอื่นๆ อีกร้อยแปดพันประการ ทำให้แวดวงผู้รักสุขภาพทั้งหลายตื่นตัวและตื่นเต้นอีกครั้งกับสมุนไพรที่ดูเหมือนว่าจะ “มหัศจรรย์” ชนิดนี้ ไม่ต่างกับปรากฏการณ์กระชายดำและยอ ที่บูมเปรี้ยงปร้างช่วงก่อนหน้านี้ และก็เลือนหายไปกับสายลมแล้ว

และล่าสุด “กระแสมะรุมฟีเวอร์” ได้แพร่ระบาดจนกระทั่งบริษัทเอกชนหลายแห่งได้ผลิต “แคปซูลมะรุม” ออกมาขายกันเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ที่ไม่ชอบรับประทานผัก แต่อยากได้คุณประโยชน์ด้านสมุนไพร รวมถึงผู้ที่ไม่ค่อยมีเวลาบำรุงสุขภาพ แต่อยากได้อาหารเสริมเพื่อเป็นการบำรุงทางลัด เภสัชกรผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์แผนไทยแนะนำว่า ประชาชนต้องเข้าใจก่อนว่ามะรุมไม่ได้รักษาโรคได้สารพัดโรค ไม่ใช่ยามหัศจรรย์ หากคือผักพื้นบ้านที่คนไทยใช้เป็นวัตถุดิบทำอาหารมาหลายรุ่นแล้ว ไม่ใช่ยาวิเศษอย่างที่กระแสสังคมเข้าใจ

มะรุมมีฤทธิ์ร้อน ก็พอจะช่วยในเรื่องระบบไหลเวียนโลหิต แล้วก็มีความเชื่อว่ามันช่วยเรื่องเบาหวานกับความดันโลหิตสูง ในส่วนตรงนี้ต้องพิสูจน์วิจัยกันต่อไป แต่ที่ห่วงก็คือ หากคนเข้าใจว่ามันเป็นยา ไม่ใช่พืชผัก และรับประทานมันในฐานะยารักษาโรค คนจะไม่รับประทานยาแผนปัจจุบันที่ผลิตออกมาเพื่อรักษาโรคนั้นๆ โดยตรง ”

มะกรูด

มะกรูด เป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็ก แตกกิ่งก้าน ลำต้นและกิ่งมีหนามแข็ง ใบ เป็นใบประกอบที่มีใบย่อยใบเดียว สีเขียวหนา มีลักษณะคอดกิ่วที่กลางใบเป็นตอนๆ มีก้านแผ่ออกใหญ่เท่ากับแผ่นใบ ทำให้เห็นใบเป็น 2 ตอน ใบสีเขียวแก่ค่อนข้างหนา มีกลิ่นหอมมากเพราะมีต่อมน้ำมันอยู่ ดอก ออกเป็นกระจุก 3–5 ดอก กลีบดอกสีขาว ร่วงง่าย ผล มีหลายแบบแล้วแต่พันธุ์ผลเล็กเท่ามะนาว ผิวขรุขระน้อยกว่าและไม่มีจุกที่หัว

มะกรูดมีชื่อท้องถิ่นแตกต่างกันไป อีสานเรียก บักกูด แถวชายแดนติดเขมรเรียก โกร้ยเขียด ทางเหนือเรียก มะขูด, มะขุน ส่วนชาวกะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน เรียก มะขู และทางแดนใต้ เรียก ส้มกรูด, ส้มมั่วผี

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Citrus hystrix DC.
ชื่อวงศ์ : Rutaceac
ชื่อสามัญ : Leech Lime, Mauritius Papeda, Kaffir Lime, Porcupine Orange

ma krood 01

การปลูกก็ง่ายมากๆ ปลูกได้ดีในดินแทบทุกชนิด ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด มีสรรพคุณทางยา :

  • ผิวผลสดและผลแห้ง รสปร่า หอมร้อน สรรพคุณแก้ลมหน้ามืด แก้วิงเวียน บำรุงหัวใจ ขับลมลำไส้ ขับระดู
  • ผล รสเปรี้ยว มีสรรพคุณเป็นยาขับเสมหะ แก้ไอ แก้น้ำลายเหนียว ฟอกโลหิต ใช้สระผมทำให้ผมดกดำ ขจัดรังแค
  • ราก รสเย็นจืด แก้พิษฝีภายใน แก้เสมหะ แก้ลมจุกเสียด
  • น้ำมะกรูด รสเปรี้ยว กัดเสมหะ ใช้ดองยามีสรรพคุณเป็นยาฟอกโลหิตสำหรับสตรี
  • ใบ รสปร่า มีกลิ่นหอม แก้ไอ แก้อาเจียนเป็นโลหิต แก้ช้ำใน และดับกลิ่นคาว

คติความเชื่อ : มะกรูดเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่งที่ควรปลูกไว้ในบริเวณบ้าน โดยกำหนดปลูกทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (พายัพ) เพื่อผู้อยู่อาศัย จะได้มีความสุข และในบางตำราว่าเป็นความเชื่อของคนบ้านป่าที่เดินทางด้วยเกวียนเทียมโคหรือกระบือ เมื่อได้กลิ่นสาบเสือจะหยุดเดิน เจ้าของจะต้องขูดผิวมะนาวหรือมะกรูด ป้ายจมูกให้ดับกลิ่นสาบเสือก่อน โค กระบือจึงจะเดินต่อไป ดังนั้นการเดิน ทางสมัยก่อนผ่านป่า ผู้เดินทางจึงมักจะพกพามะนาว และมะกรูดติดตัวไปด้วยเสมอ ในพิธีกรรมการทำน้ำมนต์เพื่อสะเดาะเคราะห์ สำหรับพรมหรืออาบผู้ป่วยใบมะกรูดเป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะขาดไม่ได้ โดยใช้ร่วมกับใบส้มป่อย ใบเงินใบทอง ใบมะตูม หญ้าแพรก หมากผู้หมากเมีย ใบราชพฤกษ์ เชื่อกันว่าใบจากต้นไม้มงคลเหล่านี้จะช่วยปัดเป่าและบรรเทาเคราะห์โศกลงไปได้

มะนาว

มะนาว เป็นไม้ผลชนิดหนึ่ง ผลมีรสเปรี้ยวจัด จัดอยู่ในสกุลส้ม (Citrus) ผลสีเขียว เมื่อสุกจัดจะเป็นสีเหลือง เปลือกบาง ภายในมีเนื้อแบ่งกลีบๆ ชุ่มน้ำมาก เป็นพืชที่พบได้ทั่วไปในเอเชียตะออกเฉียงใต้ และเป็นพืชผักพื้นบ้านที่คนไทยคุ้นเคยรู้จักกันมานาน ซึ่งมักถูกนำมาปรุงรสเปรี้ยวให้กับอาหาร มีประโยชน์ทางโภชนาการและมีสรรพคุณทางยาอีกด้วย มะนาวมีหลายสายพันธุ์ที่นิยมปลูก เช่น มะนาวไข่ มะนาวหนัง มะนาวแป้น มะนาวโมฬี มะนาวหวาน มะนาวด่านเกวียน เป็นต้น

ma now 01

มะนาว ก็เหมือนกับส้มทั้งหลาย ที่มีปัญหามากในการจัดหมวดหมู่และแยกแยะทางอนุกรมวิธาน สำหรับชื่อทางวิทยาศาสตร์ที่คุ้นเคยของมะนาว ก็คือ Citrus aurantifolia Swingle หรือ "Citrus aurantifolia" (Christm & Panz) Swing. แต่ยังมีชื่ออื่นๆ อีก เช่น C. acida Roxb., C. lima Lunan, C. medica var. ácida Brandis และ Limonia aurantifolia Christm

สำหรับชื่อสามัญนั้นในหลายภาษาก็เรียกชื่อแตกต่างกันไป เช่น ในภาษาอังกฤษ เรียก Mexica lime, West Indian lime และ Key lime หรือเรียก lime สั้นๆ ก็ได้ สาเหตุที่มีหลายชื่ออาจเป็นเพราะเป็นพืชต่างถิ่น จึงไม่มีชื่อดั้งเดิมในภาษานั้นๆ ทำให้เกิดการเสนอชื่ออื่นๆ มาหลายชื่อก็เป็นได้ ส่วนในประเทศไทยยังเรียกอีกหลายชื่อ เช่น โกรยชะม้า, ปะนอเกล, ปะโหน่งกลยาน, มะนอเกละ, มะเน้าด์เล, มะลิ่ว, ส้มมะนาว, ลีมานีปีห์, หมากฟ้า และ "ส้มนาว" เป็นภาษาใต้ที่ใช้เรียกมะนาว (คำว่า "ส้ม" ในภาษาใต้จะใช้เรียกผลไม้บางชนิดที่มีรสเปรี้ยว อย่าง ส้มนาว ส้มขาม เป็นต้น) เช่นเดียวกับทางภาคอีสานเรียกผลไม้บางอย่างว่า "บัก" หรือ "หมาก" ในการขึ้นต้น เช่น บักม่วง หรือ หมากม่วง ที่หมายถึง มะม่วง ดังนั้น บักนาว ก็คือ มะนาว

อนึ่ง มีคำว่า เลมอน (lemon) ในภาษาอังกฤษ หมายถึง ผลส้มอีกชนิดหนึ่งที่หัวท้ายมน ไม่ใช่ผลกลมๆ อย่างมะนาวที่เรารู้จักกันดี สำหรับ มะนาวเทศ (Triphasia trifolia) นั้น เป็นพืชในวงศ์เดียวกัน (Rutaceae) กับมะนาวแต่ต่างสกุลกัน ส่วน มะนาวควาย หรือ ส้มซ่า (Citrus medica Linn. Var. Linetta.) เป็นพืชสกุลส้มเช่นเดียวกัน แต่ต่างชนิด (สปีชีส์) กัน

สรรพคุณทางยา

มะนาวเป็นผลไม้ที่มีกรดอินทรีย์หลายชนิด เช่น กรดซิตริก กรดมาลิก วิตามินซี จากน้ำมะนาว ส่วนน้ำมันหอมระเหยจากผิวมะนาว มีวิตามินเอและซี ทั้งยังมีธาตุแคลเซียมและฟอสฟอรัสสูงกว่าในน้ำมะนาวอีกด้วย มะนาวมีประโยชน์ใช้เป็นยาสมุนไพร ขับเสมหะ แก้ไอ เลือดออกตามไรฟัน เหงือกบวม ได้ด้วย ในผลมะนาว 1 ลูกจะมีน้ำมันหอมระเหยอยู่มากถึง 7% ที่ให้กลิ่นหอมสดชื่น (Aromatherapy) ซึ่งนำมาใช้ประโยชน์ในการผสมเป็นน้ำยาทำความสะอาดต่างๆ เช่น น้ำยาล้างจาน เป็นต้น

ใบมะกอก

มะกอก จะมีอยู่ด้วยกัน 3-4 ชนิด ได้แก่ มะกอกป่า มะกอกฝรั่ง มะกอกน้ำ และมะกอกโอลีฟ ในที่นี้เราจะพูดถึงมะกอกไทยหรือมะกอกป่า ที่เรานิยมนำมาใส่ในส้มตำ น้ำพริก ยำ และใช้ประกอบอาหารอื่นๆ ที่ต้องการรสเปรี้ยว โดยจะมีรสเปรี้ยวและฝาดเล็กน้อย ยอดอ่อนใช้รับประทานเป็นผักได้ โดยใช้รับประทานทั้งสุกและดิบร่วมกับน้ำพริก ลาบ ส้มตำ น้ำตก และอาหารประเภทยำที่มีรสจัด (ชาวเหนือนิยมนำมาสับผสมลงไปในลาบ เพื่อช่วยให้รสชาติไม่เลี่ยนและอร่อยขึ้น)

มีชื่อสามัญท้องถิ่นอื่นๆ ว่า กูก กอกกุก (เชียงราย), กอกเขา (นครศรีธรรมราช), ไพแซ (กะเหรี่ยง-เชียงใหม่), กอกหมอง (เงี้ยว-เชียงใหม่), กราไพ้ย ไพ้ย (กะเหรี่ยง-กาญจนบุรี), ตะผร่าเหมาะ (กะเหรี่ยงแดง), กอกป่า มะกอกป่า (เมี่ยน), มะกอกไทย (ไทลื้อ), สือก้วยโหยว (ม้ง), โค่ยพล่าละ แผละค้อก เพี๊ยะค๊อก ลำปูนล (ลั้วะ), ตุ๊ดกุ๊ก (ขมุ), ไฮ่บิ้ง (ปะหล่อง) เป็นต้น

ma kok pa

ชื่อสามัญ : Hog plum[1], Wild Mango[8]
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Spondias pinnata (L. f.) Kurz จัดอยู่ในวงศ์มะม่วง (ANACARDIACEAE)

ใบมะกอก เป็นใบประกอบ ลักษณะแบบขนนก มีชั้นเดียว เรียงสลับตามกิ่ง เนื้อใบหนา เป็นมัน ท้องใบเรียบ ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบไม่เท่ากัน ใบอ่อนสีน้ำตาลแดง ใบมะกอก มีรสฝาดเปรียว ผลมะกอกมีรสเปรี้ยวอมหวาน

สรรพคุณบำรุงร่างกาย แก้หูอักเสบ แก้ปวดหู แก้ร้อนใน แก้กระหายน้ำ ช่วยทำให้ชุ่มคอ รักษาอาการปวดท้อง รักษาอาการท้องเสีย

หมากแข้ง

หมากแข้ง หรือ มะเขือพวง เป็นพืชในกลุ่มพริกและมะเขือต่างๆ นั่นเอง มะเขือพวงมีลักษณะพิเศษบางประการต่างจากมะเขือชนิดอื่นๆ คือ เป็นไม้พุ่มยืนต้นข้ามปี ไม่ใช่พืชล้มลุกเหมือนมะเขือชนิดอื่นๆ มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า มะเขือละคร (นครราชสีมา), มะแว้งช้าง (สงขลา), มะแคว้งกุลา (ภาคเหนือ), หมากแข้ง บักแข้ง (ภาคอีสาน), เขือน้อย เขือพวง เขือเทศ ลูกแว้ง (ภาคใต้) เป็นต้น

ชื่อสามัญ : Turkey berry, Devil's fig, Wild eggplant, Pea eggplant, Pea aubergine, Shoo-shoo bush
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Solanum torvum Sw. (ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Solanum ficifolium Ortega, Solanum mayanum Lundell) จัดอยู่ในวงศ์มะเขือ (SOLANACEAE)

mak kaeng

หมากแข้ง เป็นพืชที่ขึ้นได้ทั่วไปในเขตร้อน โดยมีต้นกำเนิดในแอนทิลลีส ตั้งแต่รัฐฟลอริดา หมู่เกาะเวสต์อินดีส์ เม็กซิโก ไปจนถึงอเมริกากลาง และทวีปอเมริกาใต้แถบประเทศบราซิล เป็นพืชที่ทนต่อโรคพืชต่างๆ ได้เป็นอย่างดี การเพาะปลูกจึงไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าแมลงแต่อย่างใด จึงค่อนข้างมั่นใจได้ว่า การรับประทานมะเขือพวงจะได้ประโยชน์และปลอดสารพิษอย่างแน่นอน สำหรับในประเทศไทยบ้านเรานั้น รู้จักมะเขือพวงมานานแล้ว โดยนิยมนำผลมาใช้ประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู ไม่ว่าจะเป็น แกงป่า แกงคั่วปลาไหล แกงอ่อมปลาดุก แกงเขียวหวาน แกงเนื้อ น้ำพริกกะปิ น้ำพริกแมงดา น้ำพริกกุ้งสด น้ำพริกไข่เค็ม ปลาร้าทรงเครื่อง ผัดเผ็ด เป็นต้น

ส่วนของมะเขือพวงที่นำมาใช้เป็นผักก็คือ ผลอ่อนที่มีสีเขียว หากใช้เป็นผักจิ้มนิยมทำให้สุกโดยการเผา ปิ้ง หรือย่าง พอให้ผิวกรอบหรือไหม้บางส่วน จะทำให้รสชาติดีขึ้น และผลนิ่มกว่าเมื่อยังดิบ นอกจากนี้ยังอาจนำไปลวกหรือต้มให้สุกก็ได้ แต่ไม่ค่อยนิยมกัน มะเขือพวงมีสารโซลานีน (Solanine) ซึ่งเป็นอัลคาลอยด์ ผู้ที่เป็นโรคไขข้อควรหลีกเลี่ยงการรับประทาน เพราะสารนี้อาจจะทำให้เกิดความไม่สมดุลของแคลเซียมในร่างกายได้

ผักขะย่า

ผักขะย่า ไม้พุ่มหรือกึ่งเลื้อย มีหนามและขนสากกระจายตามลำต้น ช่อดอก และก้านดอก ใบประกอบมีใบประกอบย่อย 10-30 ใบ ใบจะหุบเข้าหากันได้ถ้าถูกสัมผัส ช่อดอกแบบช่อกระจะ กลีบกลางรูปไข่กลับ ขนาดเล็ก มีเส้นกลีบสีแดง ฝักพอง ปลายโค้ง โคนแคบ ปลายมีจะงอย ในไทยพบทุกภาค ภาคใต้ถึงชุมพร ขึ้นตามชายป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง สองข้างถนน ความสูงถึงประมาณ 500 เมตร ชาวบ้านบอกว่า ผักปู่ย่ามีกลิ่นหอมนวลน่ากิน ผักปู่ย่าพบขึ้นในแหล่งธรรมชาติบริเวณ ป่าละเมาะ ป่าเต็งรัง ป่าผสมผลัดใบ และบริเวณชายป่าที่รกร้าง ชอบขึ้นรวมกับต้นไม้อื่นๆ ขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด ผล มีลักษณะเป็นฝัก บวมพอง มีหนามเล็กๆ ขนาดเท่าหัวแม่มือ ภายในฝักจะมีเมล็ด 2 เมล็ด

ชื่อท้องถิ่นอื่นๆ เช่น ผักปู่ย่า หนามปู่ย่า ทะเน้าซอง (ภาคเหนือ), ช้าเลือด (ภาคกลาง), ผักขะย่า (นครพนม), ผักคายา (เลย), ผักกาดย่า (ปราจีนบุรี)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Caesalpinia mimosoides Lamk. จัดอยู่ในวงศ์ LEGUMINOSAE

pak ka ya

ผักขะย่า กินยอดอ่อน ใบอ่อนและดอกยอดและใบอ่อนจะออกช่วงฤดูฝนครับ ส่วนดอกออกในหน้าหนาว ใบอ่อนเป็นผักสดกินกับน้ำพริก ซุปหน่อไม้ หรือซอยใส่ลาบ ส่วนดอกและยอดอ่อนปรุงเป็น "ส้าผัก" มีรสเปรี้ยวและฝาดเผ็ด นึกแล้วชักเปรี้ยวปากอยากกินกับซุปหน่อไม้

คุณประโยชน์ทางด้านอาหาร

ส่วนที่เป็นผัก ได้แก่ ยอดอ่อน ใบอ่อนและดอกของผักปู่ย่า ใช้รับประทานเป็นผักได้ เช่น อีสานบ้านเฮายอดผักขะย่ากินสดๆ กับซุปหน่อไม้ หรือแกงหน่อไม้ยอดอ่อนและใบอ่อนจะผลิออกในช่วงฤดูหนาว (เดือนตุลาคม-เดือนกุมภาพันธุ์) ส่วนชาวเหนือรับประทานยอดอ่อน ใบอ่อนของผักปู่ย่าเป็นผักเคียงผักสด ส่วนดอกและยอดอ่อนนำไปปรุงเป็น "ส้าผัก" ได้โดยปรุงร่วมกับมะเขือแจ้ ยอดมะม่วงและเครื่องปรุงรสหลายชนิด

สรรพคุณทางยาของผักขะย่า

ยอดอ่อนและดอก มีรสเปรี้ยว ฝาดเผ็ดร่วมกัน จึงมีสรรพคุณ บำรุงเลือด แก้วิงเวียน และจากรายงานผลการวิจัยที่ค้นพบ พบว่า ในผักพื้นบ้านประเภทนี้ มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง จึงมีสรรพคุณในการลด หรือยับยั้งการสร้างเซลล์มะเร็งได้ดี

 

ผักพื้นบ้านอีสาน : ตอนที่ 1 | ตอนที่ 2 | ตอนที่ 3 | ตอนที่ 4 | ตอนที่ 5 | ตอนที่ 6

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)