foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

he ra header

เหรา (อ่านว่า เห-รา) ความงามในแบบศิลปะแบบบ้านๆ ของฅนอีสาน ความงดงามที่เกิดจากความศรัทธาในพุทธศาสนาและความเชื่อ สร้างขึ้นโดยคนในท้องถิ่นที่ไม่ได้ไปร่ำเรียนมาจากสำนักศิลปะใด แต่สร้างด้วยความศรัทธาและแรงบันดาลใจที่มีต่อพระพุทธศาสนา เป็นศิลปะแบบ Naïve Art (นาอีฟ อาร์ต) บางคนบอกเป็นงานศิลปะที่ไร้เดียงสา คือศิลปะที่สร้างขึ้นโดยคนที่ไม่ได้ร่ำเรียนทางศิลปะมาก่อน ศิลปะแบบชาวบ้าน เป็นงานที่มีความเรียบง่ายและตรงไปตรงมา ละเลยกฎเกณฑ์ มุมมองต่างๆ แบบดั้งเดิม บ้างก็ว่าผิดพลาดไม่เป็นไปตามรูปทรงเรขาคณิต ไม่เป็นรูปทรง เหมือนงานศิลปะจากสำนักหรือสกุลช่างหลวง ตัดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป ซึ่งงานศิลปะพื้นบ้านนั้นก็มักจะมีแนวทางที่เรียบง่ายคล้ายๆ กัน ไม่ได้มาจากบริบททางวัฒนธรรมหรือประเพณี เฉกเช่นดัง "เหรา" ตัวนี้

he ra 01

จากกรณีผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Arisara Kangkun ได้โพสต์ภาพความน่ารักของ "สัตว์หิมพานต์" ตรงบันไดทางขึ้นสิม หรืออุโบสถ วัดชัยภูมิการาม หรือ วัดกลาง วัดเก่าแก่ของอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี พร้อมข้อความระบุว่า น้อน เอ็นดูความตาจุด 55555 เพิ่งรู้ว่าน้อนไม่ใช่พญานาค 5555 ใครแวะมาเที่ยวเขมราษฎร์ แวะไปทำบุญและถ่ายภาพกับน้อนในวัดได้นะคะ ในเมืองมีอาคารเก่าสวยๆ อยู่เยอะค่ะลองมาเที่ยวกันนะ” (น้อน ศัพท์แสงวัยรุ่นในสื่อโชเชียล มีความหมายว่า "น้อง" แทนตัวด้วยความรักแต่ไม่รู้จักว่าเป็นอะไร บางทีอาจจะใส่ น.หนู ตามไปหลายตัว "น้อนนน" แสดงว่าน่ารักมาก อันนี้ถามหลานๆ มาอีกที ผมแก่แล้วก็เพิ่งจะเข้าใจ ไม่ว่ากันนะ😁🤣😂) ซึ่งโพสต์ดังกล่าวกลายเป็นไวรัลชั่วข้ามคืน มีคนทำเป็นภาพแฟนอาร์ต คาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนจนกลายเป็นกระแส #หิมพานต์มาร์ชเมลโล่ จนล่าสุดมีการเปิดเผยว่า สัตว์หิมพานต์ตัวดังกล่าวไม่ใช่พญานาค แต่เป็น “เหรา”

“เหรา” หรือ "น้อนน" ที่กำลังโด่งดังอยู่ในโลกออนไลน์ขณะนี้ ตั้งอยู่บริเวณทางขึ้นบันไดอุโบสถ หรือ สิม วัดชัยภูมิการาม หรือวัดกลาง วัดเก่าแก่แห่งหนึ่งในอำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ลักษณะแปลกตา มี 5 หงอน ไม่มีเกล็ด เท้าด้านหลังเหยียบปลา สร้างโดยช่างฝีมือชาวบ้านสมัยโบราณ ลักษณะเรียบง่าย ตัดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็นให้เหลือเพียงความงามอันบริสุทธิ์ ไม่มีเกล็ด หรือเปลวกนก เหมือนกับงานช่างหลวง ที่สร้างด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนา เป็นความงามอีกรูปแบบที่หาชมได้ยากในปัจจุบัน อาจเรียกได้อีกอย่างว่า ศิลปะแบบนาอีฟ (Naïve) เป็นคำภาษาฝรั่งเศส หมายถึง เป็นธรรมชาติ บริสุทธิ์ ไร้เดียงสา

he ra 02

เหรา, มกร คืออะไร?

ประเทศในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้ง ไทย ลาว เขมร และพม่า มีความเชื่อเกี่ยวกับการบูชา “งู” และด้วยเหตุที่งูนั้นลักษณะทางกายภาพ คือ มีพิษร้ายแรง จึงเป็นสัตว์ที่มนุษย์ให้การนับถือว่ามีอำนาจ โดยเฉพาะงูใหญ่อย่าง “พญานาค” ซึ่งอาจจะมีรูปร่างแตกต่างกันไปตามอุดมคติของชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ อย่างเช่นในดินแดนล้านนานั้น มีปากคล้ายจระเข้ บ้างมีเขี้ยวยาวโค้ง เรียกกันว่า “มกรคายนาค” (อ่านว่า มะ–กะ–ระ หรือ มะ–กอน) เป็นสัตว์จินตนาการในป่าหิมพานต์ เพื่อเสริมความเข้าใจให้มากขึ้นจึงขอนำเอาบทความของผู้รู้มาขยายต่อให้ทราบต่อไปดังนี้

สัตว์อะไร...กันแน่...!?...ที่เชิงบันไดโบสถ์วัดกลาง

โดย ติ๊ก แสนบุญ ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์หอการค้าอุบลฯ

ณ เวลานี้ตามโลกสื่อสารออนไลน์ต่างๆ มีการพูดถึงมากสำหรับ สัตว์ทวารบาท ทางเข้าออกของโบสถ์ วัดชัยภูมิการาม (วัดกลาง) ตำบลเขมราฐ อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี ผู้คนต่างให้ความสนใจมาติดตามเที่ยวชมจากทั่วสารทิศ โดยข่าวข้อมูลกระแสหลัก ให้ข้อสรุปว่ารูปสัตว์ดังกล่าวคือ ตัวเหรา โดยข้อเขียนนี้ต้องการให้เห็นที่มา และความน่าจะเป็นแห่งที่มาของความหมายอื่นๆ ซึ่งไม่จำกัดการนิยาม การให้ความหมาย รวมถึงมิติทางวัฒนธรรมความเชื่อ ซึ่งเป็นมุมมองส่วนตัว ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป

รูปสัตว์ทวารบาลที่พบโดยทั่วไป จำแนกออกเป็น สัตว์เสมือนจริงตามธรรมชาติ เช่น งู จระเข้ สิงโต เสือ ช้าง หมา ตะกวด และสัตว์ในจินตนาการ อย่างสัตว์หิมพานต์ ที่มีการผสมผสานกันของสัตว์หลากหลายชนิดในสัตว์หนึ่งตัว ที่ปรากฏอยู่ในวรรณคดี หรือสัตว์สัญลักษณ์แห่งวัฒนธรรมความเชื่อ อันประกอบด้วย

1. พญานาค

พญานาค ถือได้ว่าเป็นสัตว์สัญลักษณ์อันดับต้นๆ ของการถูกนำมาสร้างสรรค์ภายใต้กรอบแนวคิดเรื่อง นาคาคติ ที่มีพัฒนาการด้านความเชื่ออันสืบทอดคตินี้มาจาก "ลัทธิบูชางู" ตามระบบความเชื่อดั้งเดิมของผู้คนในแถบถิ่นอุษาคเนย์ โดยเฉพาะในบริบทแถบถิ่นลุ่มน้ำโขง ตั้งแต่ตอนใต้ของมณฑลยูนนาน ประเทศจีน เรื่อยลงมาจนถึงปากแม่น้ำโขง ล้วนแล้วแต่มี คตินับถือบูชางู หรือ นาค โดยในด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี มีหลักฐานสำคัญที่อธิบายความหมายเชื่อมโยงจาก ลวดลายเขียนสีที่ บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งปรากฏลวดลายเขียนสีเป็นรูปงูที่ภาชนะดินเผาที่ใช้เซ่นบูชาศพจำนวนมาก ซึ่งพบในแอ่งสกลนคร ที่เคารพบูชางูมาไม่น้อยกว่า 3,000 ปีตั้งแต่ยุคโลหะ (ปราณี , 2543 )

he ra 03

ศาสนาคารที่ทำการศึกษาล้วนพบว่า มีกรอบแนวความคิดเรื่อง พญานาค หรือ นาคาคติ ซึ่งพบอยู่ทุกกลุ่มสกุลช่างทั้งอีสาน และสปป.ลาว โดย "นาค" หรือ "พญานาค" เป็นชื่อเรียกตามสมมติอย่างหนึ่ง ที่ใช้เรียกแทนสัตว์เลื้อยคลานในจินตนาการ ประเภทงู ที่มีปรากฏการณ์ความเชื่อทั้งในโลกวัฒนธรรมตะวันตก และโลกตะวันออก โดยในมิติทางภาษาชื่อของ นาค จัดอยู่ในภาษาตระกูล อินโด-ยูโรป มีรากเดิมว่า นอค (naga) แปลว่า เปลือย แก้ผ้า แล้วภาษาอังกฤษรับมาใช้ว่า nakea เป็นอันรู้กันว่า "นาค" ไม่ใช่คำไทยลาว และไม่ใช่คำมอญ-เขมร

แต่ทั้งตระกูลไทยลาวกับมอญ-เขมร รับมาใช้ในความหมายว่า งู เพราะ งูเป็นสัตว์เปลือย ไม่มีขนปกปิด แล้วสร้างจินตนาการเพิ่มเติมต่อมาว่า หัวหน้างู ทั้งหลายคือ พญานาค (สุจิตต์ , 2549) ทั้งนี้ พญานาค ในวัฒนธรรมอื่นๆ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่รับอารยธรรมกระแสหลักจากจีน เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี และญวน ล้วนใช้สัญลักษณ์เป็นรูป มังกร ซึ่งก็ผิดกันกับพญานาคก็เฉพาะรูปร่างหน้าตา และชื่อเรียกเท่านั้น ซึ่ง จีน เรียกว่า เล้ง เล่ง หรือ หลง โดยคนไทยนิยมเรียกว่า มังกร ซึ่งอาจมาจากภาษาบาลีสันสกฤตว่า มกร (ส. พลายน้อย, 2547)

he ra 04

นอกจากนี้ยังมีคำอื่นๆ ที่หมายถึง "งู" คือ เงือก เงี้ยว งึม ต่อมาเรียกด้วยคำบาลีว่า นาค หรือ พญานาค (สุจิตต์ , 2550) เช่นเดียวกับคนในวัฒนธรรมอื่นๆ  ดั่งมีตำนานในแถบลุ่มน้ำโขง เช่น ในเขมร มีเรื่อง "นางนาคกับพระทอง" กล่าวได้ว่าเป็นนิทานปรัมปราของบรรพบุรุษชาวเขมร ในลาวและภาคอีสานของไทยมีหนังสืออุรังคธาตุ ซึ่งมีเรื่องราวเกี่ยวกับนาคอยู่มากมาย ส่วนเวียดนาม (อาณาจักรจามปา) มีนิทาน นางนาค เช่นกัน และไทยสยามในแถบแคว้นสุโขทัยมีเรื่องราว "พระร่วง" เป็นลูกนางนาค ส่วนใน พม่า มีตำนานเกี่ยวกับนาคอยู่ในเรื่องกำเนิดเมืองหงสาวดี ดังนั้น นาค จึงมีความหมายนัยยะสำคัญต่อลัทธิความเชื่อที่เป็นลักษณะร่วม บนความหลากหลายของวัฒนธรรมตามบริบทในแต่ละพื้นที่ ดังปรากฏร่องรอยผ่าน ตำนาน นิทานปรัมปราที่อธิบายเรื่องราวเกี่ยวกับนาค ปรากฏอยู่ในกลุ่มชนหลายเผ่าพันธุ์ในแถบถิ่นนี้ ซึ่ง ศรีศักร วัลลิโภดม ได้วิเคราะห์เรื่องของ นาค ไว้ในหนังสือ แอ่งอารยธรรมอีสาน อยู่ 3 ประเด็น ซึ่งเป็นกรอบแนวความคิดที่นักวิชาการรุ่นต่อมาใช้อธิบายความหมายของนาค ในบริบทของแถบถิ่นสุวรรณภูมิ คือ 1) นาคเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มชนดั้งเดิม 2) นาคเป็นสัญลักษณ์ของเจ้าแห่งดินและน้ำ 3) นาคเป็นลัทธิทางศาสนา

นอกจากนี้ นาค ได้ถูกอธิบายความไว้ในหนังสืออุรังคธาตุ ตอนต้นเรื่องว่า “เมืองสุวรรณภูมินี้เป็นที่อยู่แห่งนาคทั้งหลาย” นาค ในความหมายทางลัทธิศาสนา เช่น ตำนานอุรังคธาตุ ที่แสดงให้เห็นถึงชัยชนะใหม่ต่อระบบความเชื่อเดิม จากการเคารพนับถือผีสู่การนับถือพุทธ และพราหมณ์ ซึ่งผสมผสานกลมกลืน ดังนั้นจะเห็นได้ว่า บรรดานาค ได้กลายเป็นผู้พิทักษ์ศาสนา และสถาบันกษัตริย์

he ra 05

ดังนั้น จึงเป็นที่มาของการนำลักษณะของ งู หรือ นาค เข้าไปเป็นองค์ประกอบทางงานช่างต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับลัทธิความเชื่อ ดั่งปรากฏสถาปัตยกรรมประเภทศาสนาคารในเวลาต่อมา ส่วนในด้านเอกลักษณ์และรูปก็ย่อมแปลกแตกต่างกันไป ตามแต่รสนิยมในเชิงช่างที่สั่งสมถ่ายทอดสืบต่อกันมาในแต่ละสายสกุลช่าง ในกลุ่มวัฒนธรรมไทย-ลาวอีสานชื่อ "นาค" ยังปรากฏคำในภาษาถิ่นที่ต่างออกไปอีกเช่น งูซวง ในนิทานเรื่อง สังข์สินไซ และใน สารานุกรมไทย ฉบับ ปรีชา พิณทอง อธิบายว่า ลวง คือ นางนาค เรียก นางลวง ซึ่งสอดคล้องกับ มหาสิลา วีระวงศ์ ซึ่งอธิบายว่า “ลวง” นี้หมายความว่า นาค (ลวงเป็นคำลาว นาคเป็นคำบาลี)

ในตำนานอุรังคธาตุ กัณฑ์ที่ 2 พุทธประวัติ ยังบรรยายถึง การเผยแพร่พระพุทธศาสนาโดยการสร้างรอยพระพุทธบาทในที่ต่างๆ ซึ่งเป็นยุคก่อนจะมีพระพุทธรูป ตลอดจนการทำให้พวกนาคยอมรับนับถือพุทธศาสนา มีข้อสันนิษฐานว่า แต่เดิมมาคนเผ่าอ้ายลาวคงนับถือผี คือบรรพบุรุษผู้มีพระคุณที่ล่วงลับไปแล้ว และมี ลัทธิบูชางู โดยเหตุที่ได้อพยพโยกย้ายมาสู่อาณาบริเวณที่เป็นเขตมรสุมฝนตกชุก มีสัตว์ร้ายนานาชนิด โดยเฉพาะคงจะถูกงูกัดตายมาก จึงยอมจำนนแล้วบูชา จะเห็นรูปปั้นงูในสมัยก่อนเป็นหัวงูจงอางซึ่งเรียกกันว่า งูซวง ต่อมาจึงเติมหงอนขึ้นคล้ายกับสวมชฎาให้งู แล้วใช้เป็นลวดลายประดับไว้ตามสถานที่เคารพ เช่น บนหลังคาโบสถ์วิหาร หรือตามข้างบันไดทางขึ้นลง ต่อมาชนพวกนี้จึงยอมรับนับถือพุทธศาสนาในสมัยก่อนสร้างพระอุรังคธาตุ

ในส่วนของความเป็นสัญลักษณ์จาก งู สู่ นาค โดยถูกปรับเปลี่ยนตามภาษาศักดิ์สิทธิ์ ดังปรากฏอยู่ที่ลวดลายเขียนสีบนหม้อเครื่องปั้นดินเผาจำนวนมากที่ทำขึ้นเพื่อเซ่นบูชาศพ ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วในเบื้องตน หรือจะเห็นได้จากการที่รูปสัญลักษณ์นาคถูกนำไปผูกติดเป็นองค์ประกอบสำคัญอยู่กับ "บั้งไฟ" ที่มนุษย์จุดไปขอฝน โดยมีลักษณะแบบงู หรือนาค จะสามารถพบได้ในกลุ่มวัฒนธรรมไทยลาวในหลายประเทศ นอกจากนี้ยังมีงานพุทธหัตถศิลป์อย่าง "โฮงฮด" หรือ "ฮางฮด" ที่นิยมทำเป็นรูป พญานาค ที่ใช้ใน พิธีฮดสรงพระ หรือที่เรียกว่า พิธีเถราภิเศก อันแสดงถึงการใช้นาคเป็นสัญลักษณ์ในการเป็นตัวกลางที่เปลี่ยนผ่านสถานภาพทางสังคมระหว่างชาวบ้านและพระสงฆ์

kong hod 4

นาค ในมิติวัฒนธรรมเชิงช่าง โดยเฉพาะในกลุ่มวัฒนธรรมไทย-ลาว ทั้งล้านนาและล้านช้าง ยังปรากฏการใช้นาคเป็นองค์ประกอบสำคัญในลวดลายของผ้าทอ โดยลดทอนรายละเอียดตามจินตนาการเป็นลักษณะตัว s และตัว w โดยมีคำอธิบายว่า ความคิดเรื่องนาคมีมาก่อนที่นาคแบบอินเดียจะแพร่เข้ามาสู่ท้องถิ่น นาค ในความหมายเก่าของท้องถิ่นเป็นสัญลักษณ์แห่งอวัยวะเพศชาย เป็นผู้บันดาลสายฝนเชื่อมโยงกับความอุดมสมบูรณ์

2. จระเข้

จระเข้ มักถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ร่วมของเทพเจ้าแห่งน้ำร่วมกับ นาค เพราะอยู่ในน้ำและว่ายน้ำได้ โดยมีสัตว์ในน้ำชนิดต่างๆ เป็นบริวาร ฉะนั้นการติดต่อกับบรรพบุรุษที่อยู่แหล่งเดิมได้ ก็โดยผ่านงูหรือจระเข้นี่เอง (สุจิตต์ , 2550) โดยเฉพาะในแถบสองฝั่งโขง ที่พบการนำจระเข้มาใช้ในองค์ประกอบส่วนประดับตกแต่ง โดยเฉพาะส่วนฐานเชิงบันไดโดย จระเข้ มกร หรือ ตัวเหราคายนาค ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับวัฒนธรรม ความเชื่อกับเทพเจ้าหลายองค์ แต่ทั้งหมดเป็นล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับน้ำ โดยถูกนำไปใช้เป็นสัตว์สัญลักษณ์ที่เป็นพาหนะของเทพเจ้าที่เกี่ยวกับน้ำ โดย รัชกาลที่ 6 ทรงประทานอธิบายว่า มกร คือ เหรา (ส.พลายน้อย, 2532) โดยจระเข้ถือเป็นสัตว์เลื้อยคลาน สัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ในอุษาคเนย์ และเป็นสัตว์สัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ของคนอุษาคเนย์มาตั้งแต่ยุคดั้งเดิม อย่างน้อยก็มีร่องรอยหลักฐานราวยุคสุวรรณภูมิเมื่อ 2,500 ปีมาแล้ว

he ra 07

ทั้งในบางกลุ่มชนยังเกี่ยวเนื่องกับแนวคิดเรื่อง ผีบรรพชน ที่สืบมาถึงปัจจุบัน ที่สำคัญคือการสลักหินเป็นร่องลึกรูปจระเข้ ที่น่าจะเกี่ยวข้องกับความเชื่อดั้งเดิมพื้นถิ่นของที่นี่ สัตว์เลื้อยคลานพวกนี้ได้กลายมาเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ และความศักดิ์สิทธิ์ เพราะลักษณะการดำรงชีวิตที่เกี่ยวข้องกับน้ำและดิน คือเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่คนยุคก่อนจินตนาการสมมุติเอาว่า นี่คือสื่อกลางที่จะติดต่อหรือ บันดาลให้เกิดน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ขึ้นได้ สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ยุคดั้งเดิมเหล่านี้ ส่วนมากยังปรากฏอยู่บนวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของผู้คนในอุษาคเนย์ ที่ยังพบได้พร้อมๆ กับศาสนาและความเจริญก้าวหน้าของสังคม

ดังนั้นรูปสัตว์ทวารบาลทางเข้าโบสถ์แห่งนี้ก็คือ การสืบทอดคติความเชื่อมาจากกรอบแนวคิดว่าด้วยเรื่อง นาคาคติ ที่พัฒนาสืบเนื่องมาจากลัทธิบูชางูของศาสนาผีของกลุ่มคนพื้นเมืองที่ถูกเรียกว่า พวกนาค เมื่อปรับเปลี่ยนมารับนับถือพระพุทธศาสนา ก็มีการสร้างสรรค์จินตนาการสืบต่อเป็นสัตว์ที่มีคุณวิเศษมากขึ้น เช่น มีมือ เท้า ที่ผสมผสานกับสัตว์อื่นๆ ดังมีการเปรียบเทียบว่า นาค หรือ พญานาค ว่ามีลักษณะแบบอย่างตัว เหรา คือสัตว์หิมพานต์ชนิดหนึ่ง โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพประทานอธิบายว่า เหรา จะมีหัวเหมือนมังกร และมีตีนแบบอย่างพวกตัวจิ้งเหลน แต่ทั้งหมดก็ไม่สามารถหาข้อสรุปให้เป็นที่ยุติได้

he ra 08

โดยในมุมมองผู้เขียนเสนอว่า ทวารบาลโบสถ์วัดแห่งนี้คือ รูปลักษณะนาค หรือพญานาค นั้นเอง เพียงแต่รูปแบบนาคที่วัดแห่งนี้ ช่างญวนได้สร้างสรรค์เป็นนวัตศิลป์ใหม่ที่เรียบเกลี้ยง ปราศจากลวดลาย (สัมพันธ์ไปกับรูปแบบที่เรียบเกลี้ยง ในรายละเอียดของการตกแต่งตัวโบสถ์ด้วยเช่นกัน) โดยเท้ามีการจับปลา ซึ้งเป็นคติที่นิยมทำของวัดในฝั่งสปป.ลาว อีกทั้งเมื่อดูช่วงเวลาการซ่อมสร้าง สิม หรือ โบสถ์ ของวัดแห่งนี้ ซึ่งซ่อมสร้างเสริมในปี พ.ศ. 2460 – 2470 (ตามข้อมูลในพื้นที่) ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าว บริบทสังคมท้องถิ่นอีสานในขณะนั้นได้ผสมผสานคติไทยพอสมควรแล้ว ในเชิงการรับอิทธิพลทางศิลปะจากส่วนกลางกรุงเทพฯ อีกทั้งขนาดลายละเอียดการตกแต่งดูได้จากรูปแบบสิมหรือโบสถ์หลังนี้ รวมถึงการให้นิยามชื่อเรียกที่ว่า ตัวเหรา ก็ถือเป็นการนำเข้าชื่อตามคตินิยมไทยส่วนกลาง ไม่ใช่ชื่อที่นิยมใช้ในชุมชนท้องถิ่นไทย-ลาว 2 ฝั่งโขง โดยหากเป็นคำพื้นเมืองเดิมสองฝั่งโขง โดยเฉพาะชาวบ้านจะนิยมเรียก พญานาค ว่า ตัวลวง หรือ งูซวาง ซึ่งเรื่องราวของ "หมาสรวง" มักมีความสัมพันธ์กับเรื่องราวของงูซวาง/งูซวง

ในบางถิ่นเขียนเป็น งูทรวง พบในฮูปแต้มหรืองานจิตรกรรมฝาผนังอีสานโบราณ โดยเฉพาะในยุคจารีตล้านช้างโดยนิยมทำเป็นรูปพญานาค ตกแต่งส่วนหัวมีหงอนที่แปลกแตกต่างกันไป ตามแต่จินตนาการช่าง ทั้งกลุ่มสกุลช่างพื้นบ้านพื้นเมือง ช่างญวน โดยมีเรื่องราวหลักฐานผ่านวรรณกรรมทางศาสนา ทั้งของล้านช้างและล้านนา เรื่อง คัชชนาม สรุปได้ว่า หมาสรวง (ซึ่งหมายรวมถึงงูซวง/งูซวาง) ซึ่งเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่ถูกพญาแถนส่งมาจากสวรรค์ เพื่อลงมาปราบปรามมนุษย์ที่ประพฤติไม่ดี โดยเมื่อมาอยู่ในบริบทของเมืองมนุษย์ โดยเฉพาะเมื่อรับคติพุทธสัตว์ศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ ก็ยังได้รับเกียรติยกย่องในฐานะเทพผู้รักษาค้ำจุนพระพุทธศาสนา โดยมีรูปเป็นสัตว์ทวารบาลเหล่านั้นทำหน้าที่คุ้มครอง ปกป้องศาสนาคารอันศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ ดังปรากฏอยู่ที่งานสร้างสรรค์ทางวรรณกรรมทางศาสนา และประติมากรรมปูนปั้น เชิงสัญญะทางความเชื่อในศาสนา เป็นรูปหมาสรวง และงูซวง หรือตัวลวง ตามทวารบาลบริเวณเชิงบันไดศาสนาคารต่างๆ และนัยยะที่ปรากฏอยู่ที่การสร้างสรรค์รูปสัตว์ต่างๆ

he ra 06

ทำให้เห็นถึงการผสานคติความเชื่อพื้นเมืองเดิมแห่งศาสนาผี ที่ผสานผสมกับศาสนาพุทธ ภายใต้รูปสัญญะแห่งการสร้างสรรค์ ปรับแต่งกับระบบรสนิยม และคติความเชื่อของช่างพื้นถิ่น ที่มีลักษณะเสรี ทำให้เกิดรูปแบบทางเลือกอันหลากหลาย อย่างนอกกรอบจารีตแห่งขนบช่างกระแสหลักทั่วไป ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างคุณค่าแห่งความหมายที่สำคัญในตัวเอง

เหรา (น้อนน) วัดบ้านเซเป็ด อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี

ติ๊ก แสนบุญ ธันวาคม 2563
(ข้อเขียนนี้หากเป็นประโยชน์ขออุทิศแด่ พี่ดำเนิน แสนบุญ ผู้ล่วงลับ)

he ra 09

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ที่คนในโลกออนไลน์ได้มีการแชร์กันสนั่นถึง น้อน หรือเจ้า เหรา สุดน่ารักตัวนี้ ทางพระใบฏีกา สุทัศน์ สติสัมปันโน ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดชัยภูมิการามได้พูดถึงประเด็นนี้ว่า "เหราตัวนี้ถูกสร้างขึ้นมาพร้อมกับอุโบสถตั้งแต่ปี พ.ศ. 2317 จากฝีมือช่างท้องถิ่น หรือช่างสกุลญวนในสมัยนั้น หากแต่ทางวัดเพิ่งได้มาบูรณะใหม่เมื่อ 6 ปีที่แล้ว โดยนำเอาสีทองที่เหลือจากการทำสีซุ้มประตูวัดมาทา ทำให้จากสีขาวเดิมกลายเป็นสีทองอย่างที่เห็น"

หลังจากนั้นมีคนสอบถามเข้ามาว่า "ทำไมถึงมีลักษณะแบบนั้น ถือเป็นการดูถูกหรือเปล่า ให้ช่วยอธิบายหน่อย" ทางวัดจึงได้มีการอธิบายไปว่า "ไม่ได้ทำด้วยความดูถูกแต่อย่างใด สร้างด้วยความจิตใจและความศรัทธา ที่ในสมัยก่อนอยากแสดงให้เห็นถึง การอยู่แบบไม่ต้องโอ่โถง อยู่แบบเรียบง่าย คือเน้นใช้งานและความเรียบง่าย เป็นแค่สร้างขึ้นมาเป็นปูนฉาบเรียบเหมือนกับตัวพระอุโบสถ

ตั้งแต่ที่มีข่าวออกไปที่เรียกกันว่า 'น้อน' หรือโพสต์ล้อเลียนว่าเหมือน 'โปเกมอน' บ้าง ตอนแรกอาตมาก็เกิดความสงสัยว่า มองเป็นโปเกมอนได้อย่างไร แต่สุดท้ายก็มองเป็นเรื่องของนานาจิตตังไป ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดชัยภูมิการามได้อธิบายแล้วยังบอกอีกว่า ตั้งแต่ที่มีกระแสน้อนนั้น ในปัจจุบันจากแต่ก่อนที่มีแค่คนในพื้นที่ หรือคนใกล้เคียงเท่านั้นที่เข้ามาในวัด หากทุกวันนี้มาจากที่ไกลๆ ไม่ว่าจะทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ก็มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

he ra 10

เมื่อปีกลาย (พ.ศ. 2563) น้อน (เหรา) สีทอง ได้สร้างกระแส "หิมพานต์มาร์ชเมลโล่" ทำให้มีผู้สนใจกันมากมายไปเยี่ยมชมกันไม่ขาด ปีนี้ทาง กรมศิลปากร โดย สำนักศิลปากร ที่ 9 อุบลราชธานี จึงได้ช่วยเข้าไปบูรณะที่วัดชัยภูมิการาม (วัดกลาง) อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี โดยเลือกที่จะให้น้อนกลับมาเป็นสีขาว ตามแบบดั้งเดิมแล้ว

หากมองในมุมมองของความสวยงาม เหรา ตัวนี้อาจไม่ได้สวยงาม และดูประณีตเหมือนกับหลายๆ ที่ในประเทศไทย เหมือนกับการที่เขาชอบพูดกันเล่นๆ ว่า  งานไม่ตรงปก หรือ ถ้าเป็นงานกราฟิกคงเป็นงานที่บรีฟไปแล้ว งานที่ได้ไม่ตรงบรีฟ สิ่งที่คิดกับสิ่งที่ได้แตกต่างกันจนเกินไป แม้ถูกมองว่าบิดเบี้ยว แต่ก็ยังมีฟังก์ชันแบบของตัวเองที่งดงาม จนเป็นกระแสอยู่นั่นเอง...

he ra 11

เรื่องที่เกี่ยวข้อง : งูซวง นางลวง หมาสรวง สัตว์ในอุดมคติที่ปรากฏในวรรณกรรมอีสาน

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)