คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
แม้จะสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาพืชไร่ จากมหาวิทยาลัยด้านการเกษตรที่ดีแห่งหนึ่งของประเทศ ก็ใช่ว่าจะมาทำการเกษตรแล้วประสบผลสำเร็จกันทุกคน จำต้องมีองค์ความรู้ด้านอื่นๆ มาประกอบด้วย จึงจะสามารถพ้นออกจากวังวนการทำการเกษตรเชิงเดียว เกษตรที่ทำให้มากๆ เพื่อขายให้ได้เงินมากมายตามความคาดหวังในวงการธุรกิจการเกษตร เมื่อใคร่ครวญและถามตัวเองเสมอว่า "อะไรคือความหมายของชีวิต" จึงได้พบทางออก ใช่แล้วเรากำลังกล่าวถึง "ลุงโชค" หรือ โชคดี ปรโลกานนท์ : วิถีวนเกษตรเพื่อชีวิตพอเพียงที่เปี่ยมสุข
นายโชคดี ปรโลกานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2500 จบการศึกษาปริญญาตรี สาขาพืชไร่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (แม่โจ้รุ่น 45) ทำงานในบทบาทของนักพัฒนาภาคเอกชน (NGO) ร่วมกับ นายนิคม พุทธา เจ้าหน้าที่มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ที่เข้ามาดำเนินงานโครงการพัฒนาชนบท เพื่อการอนุรักษ์ชุมชนรอบพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยนายโชคดี ปรโลกานนท์ ริเริ่มงานพัฒนาในภาคเอกชน ในบทบาทของนักส่งเสริมการเกษตรของโครงการ และขณะเดียวกันก็ได้ฟื้นฟูที่ดินของตนเอง เพื่อสร้างสวนเกษตรกรรมยั่งยืน ในรูปแบบวนเกษตร โดยได้เรียนรู้มาจาก ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม และปราชญ์ชาวบ้านอีกหลายคน จากโอกาสที่ได้นำพาชาวบ้าน ในโครงการพัฒนาชนบทเพื่อการอนุรักษ์ชุมชนรอบพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ไปเรียนรู้ศึกษาดูงานมานั่นเอง
“ผมชอบการเกษตรมาตั้งแต่เด็ก เพราะพ่อแม่เป็นชาวนาชาวไร่ เลยคิดว่าตัวตนของเราน่าจะเป็นเกษตรกร” ‘โชคดี ปรโลกานนท์’ หรือ ‘ลุงโชค’ ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน สาขาเศรษฐกิจพอเพียง ปี 2556 และนักอนุรักษ์ผู้มีส่วนพลิกฟื้นพื้นที่สีเขียวบนเขาแผงม้า อำเภอวังน้ำเขียว กว่า 2 หมื่นไร่ เล่าถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้หนุ่มชาวพัทลุงคนหนึ่ง เลือกเรียนสาขาพืชไร่ ที่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และจบออกมาโดยไม่คิดทำอาชีพอื่นใด นอกจากมุ่งหน้าเป็นเกษตรกร
31 ปีก่อน ‘โชคดี’ บัณฑิตใหม่ พกความรู้ด้านเกษตรที่ร่ำเรียนมาเต็มอ้อมแขน ลงแรงทำไร่ข้าวโพด ที่อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา แต่ความรู้ในชั้นเรียนที่สอนให้รู้จักความสำเร็จในอาชีพเกษตรกร โดยวัดเพียงปริมาณผลผลิตและรายได้ที่ได้รับ ทำให้ 5 ปีแรก ในการปลูกข้าวโพดก็ต้องล้มเหลวไม่เป็นท่า ‘ลุงโชค’ เล่าว่า ผลของการเร่งปลูกพืชเชิงเดี่ยวทำให้ดินเสื่อมโทรม ยิ่งต้องใช้ปุ๋ยใช้ยา เงินที่ได้มาก็ยังหมดไปกับการซื้ออาหารและดื่มเหล้าคลายเครียด ทำให้สุขภาพย่ำแย่ ไม่มีความสุขและไม่ร่ำรวยอย่างที่คิดฝัน
“ตอนนั้นเลยหันมาทบทวนตัวเองและปรับวิถีคิดใหม่ โดยพยายามหารูปแบบทางเกษตรที่มีเป้าหมายของชีวิต คือ ความสุข แทนตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจ ปรากฏว่าไปตรงกับแนวคิดวนเกษตรของพ่อผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม และตรงกับหลักการทรงงานของในหลวง ที่ต้องพึ่งตนเอง ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งผมชอบมากๆ เราต้องพึ่งตนเองโดยเริ่มจากปัจจัยสี่ในการดำรงชีพให้ได้ก่อน ต้องมีอาหารกิน มียา มีที่อยู่อาศัย พอพิจารณาดูแล้วปัจจัยสี่ทั้งหลายก็มาจาก ‘ต้นไม้’ นั่นเอง”
และนั่นเป็นที่มาของ ‘สวนลุงโชค’ สวนวนเกษตร จากน้ำพักน้ำแรงกว่า 24 ปี บนพื้นที่ 100 ไร่ ที่เต็มไปด้วยความเขียวชะอุ่มของพันธุ์ไม้หลากชนิด ทั้งข้าว พืชผักพื้นบ้าน พืชสมุนไพร ไม้ใช้สอย ไม้ดอกไม้ประดับ ซึ่งแม้ไม่ได้ปลูกพืชชนิดใดชนิดหนึ่งเพื่อขายโดยเฉพาะ แต่ ‘ลุงโชค’ บอกว่า วนเกษตร ก็สามารถสร้างรายได้อย่างที่ใครคิดไม่ถึง
“การปลูกต้นไม้หลากหลายแบบวนเกษตรไม่ใช่ว่าจะไม่มีรายได้ ปีที่ 2 ของการทำวนเกษตรผมก็เริ่มมีรายได้จากการขายพันธุ์ต้นไม้ ขายผลิตภัณฑ์จากต้นไม้ เช่น ต้นไม้บางชนิดที่มีกลิ่นหอม อย่าง ใบเสน่ห์จันทร์หอม ตะไคร้ ใบมะกรูด ก็เอามากลั่นเป็นน้ำมันหอมระเหย หรือทำเป็น สเปรย์ไล่ยุง ขาย รายได้อีกส่วนที่หลายคนคิดไม่ถึงคือ การขายใบไม้ ใบไม้หลายชนิดมีรูปทรงแปลกๆ ก็ขายไปทำพวงหรีดงานศพได้ เพราะฉะนั้นใบไม้จึงเป็นที่ต้องการมาก รายได้จากวนเกษตรจึงเป็นการเปลี่ยนคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ให้กลายเป็นมูลค่าขึ้นมา”
เมื่อถามถึงปัญหาความยากจนของอาชีพเกษตรกรไทย ปราชญ์เกษตรของแผ่นดินสาขาเศรษฐกิจพอเพียงแสดงทัศนะว่า เพราะเกษตรกรยุคนี้ไม่ได้ใช้วิถีเกษตรในการดำรงชีวิต เกษตรกรเป็นคนสร้างอาหารแต่กลับไม่มีอาหารไว้กินเอง และต้องพึ่งพาทุกอย่างตามที่ระบบทุน ผ่านกลไกของรัฐจัดหาไว้ให้ ทั้งปัจจัยการผลิต ของกินของใช้
“เกษตรมันไม่ใช่แค่อาชีพ แต่มันใหญ่กว่านั้น มันเป็นวัฒนธรรมและเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ แต่พอเรามองเกษตรเป็นแค่อาชีพ ไปเน้นแต่ตรงรายได้ แต่ไม่เคยคิดเรื่องรายจ่าย จึงสู้เขาไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องกลับไปใช้วิถีอย่างเดิม คือต้องพอเพียง และพึ่งตนเองให้ได้
ที่ผ่านมาประเทศไทยดีใจว่า เราขายข้าวได้เยอะที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก แต่คนปลูกข้าวกลับจนที่สุดในประเทศ คนที่รวยคือ พ่อค้าส่งออก กับ รัฐมนตรีที่ขายข้าว แล้วมันจะมีประโยชน์อะไร ทำเท่าไหร่ภาคเกษตรก็กลายเป็นเพียงคนงานของบริษัทยักษ์ใหญ่ในระบบเกษตรพันธะสัญญา ที่ไม่ได้เงินเดือนและสวัสดิการ”
แม้จะเข้าสู่วัยชราอายุเกิน 60 ปี อันเป็นวัยที่สุกงอมทางความคิด และเป็นต้นแบบวิถีเกษตรพอเพียงให้ลูกหลานจำนวนไม่น้อย จนกระทั่งได้รับการยกย่องเป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดินในปีนี้ แต่ ‘ลุงโชค’ กล่าวว่า แม้แต่ผู้ที่ได้ชื่อว่า ‘ปราชญ์’ ก็ยังมีเรื่องอีกมากมายที่ต้องเรียนรู้
“ผมคิดว่าเราต้องรู้ทันทุกมิติ คงไม่ใช่แค่ก้มหน้าก้มตาปลูกต้นไม้ต่อไป คงต้องเรียนรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายที่เกิดขึ้นในโลก และสิ่งที่เราทำมันจะไปตอบโจทย์ได้อย่างไร คงต้องเรียนรู้ตลอดเวลา” ปราชญ์เกษตรผู้ไม่หยุดเรียนรู้กล่าวทิ้งท้าย
...การหมั่นเรียนรู้และทบทวนสิ่งที่ได้กระทำคงเป็นเคล็ดลับความสุขตามวิถีเกษตรในแบบฉบับของเขา ‘โชคดี ปรโลกานนท์’
นายโชคดี ปรโลกานนท์ ในบทบาทของหัวหน้าโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเข้าอยู่หัวฯ ปี พ.ศ. 2537-2539 พื้นที่เขาแผงม้า อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ในจำนวนพื้นที่กว่า 20,000 ไร่ โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเอกชนบริจาคงบประมาณสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันป่ากำลังฟื้นตัว และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของพื้นที่ลุ่มน้ำลำพระเพลิง เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งที่อยู่อาศัยของกระทิง โดยได้ส่งมอบพื้นที่ให้อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ดูแลพื้นที่เมื่อปี 2540
ช่วงปี พ.ศ. 2540-2543 ได้ทำพื้นที่โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ มูนหลง-มูนสามง่าม ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน จำนวนพื้นที่ 10,000 ไร่ ปัจจุบันป่ากำลังฟื้นตัว และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารของพื้นที่ลุ่มน้ำมูนตอนบน โดยได้ส่งมอบพื้นที่ให้อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ดูแลพื้นที่เมื่อปี 2543 หลักคิดในการทำงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติคือ ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ นำหลักการของระบบป่าธรรมชาติ มาใช้สร้างให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ปลูกป่า มีความหลากหลายของพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ และดำรงไว้ซึ่งความสมดุลของระบบนิเวศ เป็นแหล่งเก็บรักษาพันธุกรรมท้องถิ่นและ สร้างการเรียนรู้ เน้นการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการฟื้นฟูป่า
งานขยายผลเกษตรกรรมยั่งยืน รูปแบบวนเกษตร พ.ศ. 2543-2545 นายโชคดี ปรโลกานนท์ เป็นหัวหน้า โครงการหมู่บ้าน ปตท.พัฒนา โดยนำแนวคิดวนเกษตร ที่ขยายผลมาจาก โครงการพัฒนาชนบทเพื่อการอนุรักษ์ มาขยายผล ส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายโครงการหมู่บ้าน ปตท.พัฒนา ใน 3 พื้นที่ คือ พื้นที่ทับลาน จังหวัดนครราชสีมา, พื้นที่แก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี, พื้นที่กุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดูแลรักษาป่า และส่งเสริมอาชีพเกษตรพึ่งพาตนเอง ลดการใช้ปัจจัยภายนอก หลีกเลี่ยง และปฏิเสธปุ๋ยเคมี สารเคมีในการเกษตร สร้างการเรียนรู้ สนับสนุนให้เกิดเครือข่ายชุมชน เกิดกลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำมูน
นอกจากนั้น ยังได้เข้าร่วม โครงการอนุรักษ์และวิจัยกระทิงเขาแผงม้า เก็บรวบรวมผลข้อการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศโดยรวมของเขาแผงม้า ทั้งสังคมพืชและสังคมสัตว์ โครงการห้องเรียนธรรมชาติ ค่ายเยาวชนกระทิงน้อย นำเอาองค์ความรู้ที่ได้จากการฟื้นฟูป่าเขาแผงม้า เก็บรวบรวมผลข้อการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศโดยรวมของเขาแผงม้า ทั้งสังคมพืชและสังคมสัตว์ จัดกิจกรรมสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ ในรูปแบบกิจกรรม "ค่ายเยาวชน" ได้มาศึกษาเรียนรู้ เสริมสร้างจิตสำนึกให้สังคมได้ตระหนักถึงคุณค่าของธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
โครงการส่งเสริมเยาวชนเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พื้นที่ต้นน้ำมูนตอนบน ลำพระเพลิง และโครงการเครือข่ายการเรียนรู้ทางเลือกวิถีชีวิตท้องถิ่นยั่งยืน แนวคิดสร้างหลักสูตรเรียนรู้ท้องถิ่น นำเด็กและเยาวชนในท้องถิ่นมาเรียนรู้เรื่องเขาแผงม้า เรียนรู้เรื่องวิถีชีวิตในท้องถิ่นทางออกของวิถีชีวิตท้องถิ่นยั่งยืน พ.ศ. 2550 - ปัจจุบัน ดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อการอนุรักษ์กระทิง ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ในพื้นที่เขาแผงม้า และส่งเสริมการเรียนรู้ท้องถิ่น ในพื้นที่ต้นน้ำมูนตอนบน และส่งเสริมการเรียนรู้โครงการ โรงเรียน บ้านป่า และเครือข่าย โรงเรียนเรารักษ์น้ำแม่มูน
เยี่ยมชม "โรงเรียน ป่า ไผ่" ลุงโชค-โชคดี ปรโลกานนท์
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ซึ่งได้มีการขยายผลองค์ความรู้ไปสู่สมาชิกชุมชนปราชญ์ เกิดเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกิดทักษะชีวิต และนำวิถีแห่งความพอเพียง มาเป็นเป้าหมาย เป็นหลักคิดแห่งการดำเนินชีวิต เกิดแหล่งเรียนรู้เกษตรกรเพื่อการพึ่งตนเองและสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น (สวนลุงโชค) ได้รับการส่งเสริมให้เป็นเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเป็นสถานที่รวบรวมองค์ความรู้เกษตรกรรม เป็นแหล่งศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดูงาน แสดงนิทรรศการงานด้านแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงต่อไป
ท่านที่สนใจอยากแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ ลุงโชค เชิญได้ที่ :
บ้านเลขที่ 14 บ้านคลองทุรียน หมู่ที่ 6 ตำบลวังน้ำเขียว อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา 30370
โทรศัพท์: 084-3554720, 081-7251179, 081-9553018, 091-876-8199
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)