foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

thai silk header

ความเป็นมาของ "ไหมไทย"

mon mai 01การปลูกหม่อนและการเลี้ยงไหมของไทย คาดว่า ได้รับการถ่ายทอดจากผู้อพยพย้ายถิ่นฐาน ซึ่งมาจากตอนใต้ของประเทศจีน โดยเดินทางผ่านมาทางพม่า ลาว และเขมร จากหลักฐานสันนิษฐานว่า มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมานานกว่า 3,000 ปีมาแล้ว โดยการพบหลักฐานเศษผ้าที่ติดอยู่กับกำไลสำริดของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านเชียง และบ้านนาดี อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี ซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิตปัจจุบัน กล่าวคือ พื้นที่ภาคอีสานมีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมากที่สุด ผ้าไหมเป็นศิลปกรรมสิ่งทอที่มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น โดยเฉพาะในด้านความประณีตในกรรมวิธีการผลิต ที่ทำให้เนื้อผ้าไหมมีความเรียบสม่ำเสมอ สวยงาม นุ่มน่าสัมผัส เป็นเงาเมื่อสวมใส่ ปัจจัยส่วนใหญ่มาจากภูมิปัญญาในด้านกระบวนการสาวไหมน้อย ที่แยกเส้นไหมชั้นนอก (ไหมหัว) ที่มีขนาดใหญ่ เนื้อหยาบออกจากเส้นไหมชั้นใน (ไหมน้อย) ที่มีลักษณะเส้นเล็ก สม่ำเสมอ เส้นเรียบ เมื่อทอเป็นผืนผ้าแล้วเนื้อผ้านุ่ม สวมใส่เย็นสบาย การสาวไหม หัตถกรรมของชาวอีสาน เป็นภูมิปัญญาที่มีสืบทอดกันมา จากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่งของบรรพบุรุษแต่โบราณ และเป็นภูมิปัญญาในท้องถิ่นที่มีความสำคัญยิ่งในปัจจุบัน

mon mai 02ผ้าไหมเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชาวอีสาน มีการนุ่งผ้าไหมในชีวิตประจำวัน สาวชาวอีสานต้องเลี้ยงไหม ทอผ้าไหมและเก็บไว้จำนวนหลายร้อยผืน เพื่อใช้ในพิธีการต่างฯ เช่น งานแต่งงาน งานบวช งานศพ และงานพิธีกรรมตามความเชื่อในแต่ละท้องถิ่น ชาวอีสานมีหลายเผ่าพันธุ์ ทำให้ลักษณะการทอ ลวดลายผ้าไหม และการสวมใส่ผ้าไหมแตกต่างกัน มีเพียงการสาวไหมที่ทุกเผ่าพันธุ์ชาวอีสานมีลักษณะเหมือนกัน

เส้นไหมหัตถกรรมของชาวอีสาน มีความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์ จากการสาวมือด้วยพวงสาวพื้นบ้าน ทำให้เส้นไหมที่ได้มีความนุ่มนวลและมีความยืดหยุ่น เมื่อนำมาทักทอเป็นผืนผ้าจะทิ้งตัวอย่างมีน้ำหนัก ภูมิปัญญาการสาวไหมเป็นกระบวนการผลิตเส้นไหมของผู้เลี้ยงไหม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม วิถีชีวิตที่สืบทอดกันมาของสตรีภายในครอบครัว คือ แม่ถ่ายทอดวิธีการสาวไหมโดยการทำให้ดู แนะนำวิธีการสาวไหมให้บุตรรู้ แล้วบุตรสาวนำไปปฏิบัติตาม ซึ่งเป็นการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง ซ้ำแล้วซ้ำอีกจนเกิดความชำนาญ เป็นการเรียนรู้ในครอบครัว แล้วขยายไปในชุมชนนั้นๆ

mon mai 03ผ้าไหมมีความสำคัญกับขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวอีสาน ทั้งชาวเขมร ลาว ส่วย เช่น มีการสวมใส่ผ้าไหมในงานพิธีเทศกาล หรือติดต่องานสำคัญต่างๆ เป็นต้น ชาวอีสานจึงปลูกหม่อนเลี้ยงไหม สาวไหม และทอผ้าไหมเป็นอาชีพเสริมสร้างรายได้ ซึ่งการทอผ้าไหมของชาวอีสานแต่ละจังหวัดจะได้ผ้าไหมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะประจำจังหวัดแตกต่างกันไป ซึ่งแต่ละจังหวัดก็มีประวัติความเป็นมาของผ้าไหมที่ต่างกัน

ผ้าไหมกาบบัวจังหวัดอุบลราชธานี มีการกล่าวในตำนานเมืองอุบลถึงการสืบเชื้อสายจาก เจ้านครเชียงรุ้งแสนหวีฟ้า ของเจ้าปางคำ พระบิดาของเจ้าพระตา เจ้าพระวอ โดยกล่าวถึง ปีพ.ศ. ๒๒๒๘ เกิดวิกฤตทางการเมือง ในนครเชียงรุ้ง เนื่องจากจีนฮ่อหัวขาว หรือฮ่อธงขาว ยกกำลังเข้าปล้นเมืองเชียงรุ้ง เจ้านครเชียงรุ้ง ได้แก่ เจ้าอินทกุมาร เจ้านางจันทกุมารี เจ้าปางคำ อพยพไพร่พล จากเมืองเชียงรุ้ง มาขอพึ่งพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช แห่งเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นพระประยูรญาติทางฝ่ายมารดา พระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี โปรดให้นำไพร่พลไปตั้งที่เมืองหนองบัวลุ่มภู มีชื่อว่า “นครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน” จะเห็นได้ว่า จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับอิทธิพลทางด้านศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี รวมถึงวิถีชีวิตมาจากเวียงจันทร์ตั้งแต่สมัยโบราณกาล จนกระทั่ง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งราชวงศ์จักรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์สำเร็จราชการมณฑลลาวกาว ได้นำผ้าทอเมืองอุบลฯ ทูลเกล้าถวาย [ อ่านเพิ่มเติม "ผ้ากาบบัวอุบลราชธานี" ]

ผ้าไหมมัดหมี่อำเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น มีคำพูดที่ว่า “คนรู้จักเมืองขอนแก่น ก็ต้องรู้จักผ้าไหมขอนแก่น” และ “ผ้าไหมเมืองขอนแก่นก็ต้องผ้าไหมของอำเภอชนบท” คำกล่าวนี้แสดงให้เห็นถึงชื่อเสียงของผ้าไหมเมืองขอนแก่น ซึ่งมีความวิจิตรงดงาม ประณีต ความคิดสร้างสรรค์ ในการออกแบบลวดลายและสีสันของ ผ้าไหมให้มีความโดดเด่นแตกต่างจากผ้าไหมที่อื่นๆ นับเป็นเอกลักษณ์ของผ้าไหมเมืองขอนแก่น เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ได้รับการถ่ายทอดจากบรรพบุรุษจากรุ่นสู่รุ่นที่ชาวขอนแก่นภูมิใจที่สุด

mon mai 07

ในอดีตที่ผ่านมา การทอผ้า ถือเป็นหน้าที่สำคัญของผู้หญิงชาวอีสาน เพราะจะต้องทอผ้าเพื่อใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มในชีวิตประจำวัน ผู้หญิงอีสานต้องเรียนรู้และฝึกหัดการทอผ้ามาตั้งแต่เด็ก จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตดังคำผญาที่สอนสตรีชาวอีสานว่า

ทอหูกบ่เป็นแจ ทอแพรบ่เป็นฝาต้อน เลี้ยงม่อนบ่ฮู้โตลุกโตนอน อย่าฟ้าววอนเอาผัว ”

ผ้าไหมบ้านเขว้าจังหวัดชัยภูมิ ในอดีตการผลิตผ้าไหมของอำเภอบ้านเขว้า เป็นการผลิตโดยอาศัยภูมิปัญญาจากชาวบ้าน ผลิตขึ้นไว้ใช้ในครัวเรือน ต่อมาเริ่มมีการผลิตขึ้นมาอย่างแพร่หลาย ทำให้เกิดแนวความคิดที่จะนำผลิตภัณฑ์ผ้าไหมออกจำหน่ายตามท้องตลาด ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากส่วนราชการในการหาตลาด เพื่อนำผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายตามสถานที่ต่างๆ

mon mai 08

ผ้าไหมจังหวัดบุรีรัมย์ การทอผ้าและเลี้ยงไหมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวลาวโขง (ลาวพรวน) ที่ถูกกวาดต้อนมาอาศัยในพื้นที่นี้ ในกลุ่มวิชาอาชีพแขนงต่างๆ ได้ถูกนำเข้ามาด้วย โดยเฉพาะการทอผ้าและเลี้ยงไหมที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวลาวโขง (ลาวพรวน) ในกลุ่มชนชั้นสูง ที่มีวัตถุดิบเป็นเส้นไหมมากกว่าเส้นฝ้ายที่ใช้กันในชนชั้นล่างลงไป กาลเวลาล่วงเลยไปนับร้อยปี พระชายาเจ้าผู้ครองนครเมืองไผทสมันที่กวาดต้อนมาจากกลุ่มลาวโขง ได้ทรงฟื้นฟูการเลี้ยงไหมและทอผ้าไหมมัดหมี่ที่เคยทอสวมใส่และมีจำนวนน้อยลงขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อผลิตใช้ให้เพียงพอและเหมาะสมกับกลุ่มชนสตรีชั้นสูง ภายหลังนำมาใช้กันแพร่หลายของชาวลาวโขง ที่มีเอกลักษณ์ความสวยงามแปลกตา และวิจิตรบรรจง

ผ้าไหมจังหวัดสุรินทร์ ผ้าไหมสุรินทร์เป็นศิลปกรรมสิ่งทอที่มีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น โดยเฉพาะในด้านความประณีตในกรรมวิธีการผลิต ที่ทำให้เนื้อผ้าไหมมีความเรียบสม่ำเสมอ สวยงาม นุ่มน่าสัมผัส เป็นเงาและสวมใส่ ปัจจัยส่วนใหญ่มาจากภูมิปัญญาของชาวสุรินทร์ ในด้านกระบวนการสาวไหมน้อยที่แยกเส้นไหมชั้นนอก (ไหมหัว) ที่มีขนาดใหญ่ เนื้อหยาบออกจากเส้นไหมชั้นใน (ไหมน้อย) ที่มีลักษณะเส้นเล็ก สม่ำเสมอ เส้นเรียบ เมื่อทอเป็นผืนผ้าแล้วเนื้อผ้านุ่ม สวมใส่เย็นสบาย การสาวไหมหัตถกรรมของชาวสุรินทร์ เป็นภูมิปัญญาที่มีสืบทอดกันมา จากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่งของบรรพบุรุษแต่โบราณ และเป็นภูมิปัญญาในท้องถิ่นที่มีความสำคัญยิ่งในปัจจุบัน

mon mai 09

ยังมีผ้าไหมอีกหลายๆ จังหวัดในอีสานที่มีชื่อเสียง เช่น ผ้าไหมขิดของจังหวัดอุดรธานี ผ้าไหมแพรวากาฬสินธุ์ ต่างก็เป็นที่รู้จักดี ซึ่งผ้าไหมในพื้นที่ภาคอีสานมีวัฒนธรรมที่ยาวนาน และเป็นที่ตั้งของชุมชนคนสมัยโบราณ มีความหลากหลายทางเผ่าพันธุ์ และเป็นแหล่งต้นกำเนิดของผ้าไหมของไทย ทำให้วิถีชีวิตกับผ้าไหมผูกพันกัน จนดูเหมือนเป็นสิ่งตกทอดจากบรรพบุรุษ ลูกหลานทุกคนต้องดำรงรักษาองค์ความรู้เส้นไหมไว้

หลักฐานที่ปรากฏในปัจจุบัน คือ ลายผ้าที่มีหลากหลาย การใช้ผ้าไหมในพิธีการต่างๆ การสวมใส่ผ้าไหมทุกเพศทุกวัย มีพื้นที่ปลูกหม่อนที่มากที่สุดในประเทศ พันธุ์ไหมที่มีมากมายหลายชนิด ซึ่งไหมบางสายพันธุ์มีการเลี้ยงต่อกันมาหลายร้อยปี ทำให้หญิงชาวอีสานมีการสาวไหมมาตั้งแต่เด็กสาว เรื่อยมาจนพัฒนาฝีมือจากประสบการณ์ที่ทำบ่อยๆ และสืบทอดกรรมวิธีการสาวสู่ลูกหลานมาหลายชั่วอายุคน เกิดการพัฒนาการสาวเรื่อยมา จะกล่าวได้ว่าชาวอีสานมีการสาวไหม และพัฒนาการสาวไหมมากที่สุดในประเทศ จนมีคำกล่าวว่า "ถ้าจะซื้อเส้นไหมต้องไปอีสาน" ปริมาณเส้นไหมไทยพื้นบ้านที่มีการผลิตในแต่ละปี ประมาณ 800 - 1,000 ตัน โดยร้อยละ 98 มาจากภาคอีสาน

คุณลักษณะเส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน

เส้นไหมไทยเป็นวัตถุดิบที่เป็นเอกลักษณ์ และถือเป็นวัตถุดิบที่สำคัญในการทอผ้าไหมของไทย ซึ่งสร้างความแตกต่างจากผ้าไหมทั้งโลก เส้นไหมไทย ได้จากการนำรังไหมพันธุ์ไทยมาสาวด้วยพวงสาวไหมพื้นบ้าน โดยการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น การเลี้ยงไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านได้แก่ พันธุ์นางน้อย นางลาย นางหงอก นางสิ่ว นางเขียว นางตุ่ย สำโรง นางเหลือง นางไหม แพงพวย และกากี วนาสวรรค์ ทับทิมสยาม ไข่งู คอตั้ง สองพี่น้อง ลำปอ ฯลฯ

ถือเป็นอาชีพที่เป็นประเพณีวัฒนธรรม และวิธีชีวิตของเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสานของไทย ซึ่งเกษตรกรโดยเฉพาะจะต้องปลูกหม่อน เลี้ยงไหม สาวไหมและทอผ้าเป็น ถือเป็นค่านิยมของสังคมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดังเช่น สุภาษิตโบราณที่กล่าวว่า “ทอหูกบ่เป็นแจ ทอแพรบ่เป็นฝาต้อน เลี้ยงม่อนบ่ฮู้โตลุกโตนอน อย่าฟ้าววอนเอาผัว”

mon mai 10

รังไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านที่ได้จากการเลี้ยงไหม เกษตรกรจะนำมาสาวมือ เพื่อผลิตเส้นไหม โดยอุปกรณ์การสาวแบบดั้งเดิม ปกติในการสาวไหมของเกษตรกรจะได้เส้นไหม เป็น 3 ประเภท แตกต่างกันตามชั้นของรังไหมที่ใช้สาว ดังนี้

  • เส้นไหมหลืบ (ลืบ) หรือไหมเปลือก หรือ ไหม 3 (เป็นเส้นไหมที่ได้จากเปลือกรังไหมชั้นนอก รวมทั้งปุยไหม) ลักษณะทางกายภาพ เป็นเส้นไหมที่ได้จากรังไหมชั้นนอก รวมทั้งปุยไหม นิยมใช้เป็นเส้นพุ่งในการทอผ้าและใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ลักษณะเส้นไหมจะใหญ่มากและเนื้อหยาบ มีปุ่มปม ขนาดสม่ำเสมอ รวมตัวกลม สะอาดไม่มีสิ่งปลอมปน มีสีเข้มและสม่ำเสมอ ขนาดของเส้นไหมขึ้นอยกูั่บความต้องการของผู้สาวไหม ที่พบโดยทั่วไปจะมีขนาดตั้งแต่ 300 ดีเนียร์ ขึ้นไป
  • เส้นไหมสาวเลย หรือเส้นไหมรวด หรือ ไหม 2 (เป็นเส้นไหมที่ได้จากเปลือกรังไหมชั้นนอกและชั้นในรวมกัน) ลักษณะทางกายภาพ เส้นไหมที่ได้จากการสาวควบกัน ทั้งปุยและเส้นใยส่วนนอกของรังไหม ไปจนถึงเส้นใยส่วนในของรังไหมให้เสร็จคราวเดียวกัน เส้นไหมไม่เรียบ ขนาดสม่ำเสมอ รวมตัวกลม สะอาดไม่มีสิ่งปลอมปน สีสม่ำเสมอ ลักษณะเส้นไหมที่สาวได้หยาบและเส้นใหญ่กว่าไหมหนึ่ง ใช้เป็นเส้นไหมพุ่งได้เพียงอย่างเดียว มีขนาดเส้นทั่วไป 150 - 200 ดีเนียร์
  • เส้นไหมน้อย หรือไหมเครือ หรือไหมยอด หรือ ไหม 1 (เป็นเส้นไหมที่ได้จากเปลือกรังไหมชั้นใน) ลักษณะทางกายภาพ เป็นเส้นไหมที่ได้จากเปลือกรังไหมชั้นใน เส้นไหมที่ได้จะมีลักษณะเส้นเรียบ ขนาดและสีสม่ำเสมอ รวมตัวกลม สะอาดไม่มีสิ่งปลอมปน นุ่มมือเมื่อสัมผัส นิยมใช้เป็นเส้นยืนในการทอผ้า เมื่อทอเป็นผืนผ้าแล้วเนื้อผ้าจะนุ่ม เรียบ มีความเลื่อมมันของเส้นไหมในระดับดีมาก มีความนุ่มนวลดี เส้นไหมมีความเหนียว สามารถนำมาทำเป็นเส้นยืนและเส้นพุ่งได้ ระดับความสม่ำเสมอของสีเส้นไหมดี สีเส้นไหมเป็นสีเหลืองทอง โดยทั่วไปมีขนาด 100 - 120 ดีเนียร์

กระบวนการผลิต

การปลูกหม่อนเพื่อเลี้ยงไหม

mon mai 11

พื้นที่ปลูกหม่อนอยู่ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) เช่น อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด ขอนแก่น ชัยภูมิ สกลนคร บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ นครราชสีมา มีกรรมวิธีในการดูแลรักษาแปลงหม่อนให้ปลอดภัยจากสารพิษ (สารเคมีกำจัดแมลง) มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการปลูกหม่อน โดยมีพันธุ์หม่อนเป็นพันธุ์พื้นบ้านและพันธุ์ส่งเสริมของกรมหม่อนไหม เช่น พันธุ์นครราชสีมา 60, พันธุ์ศรีสะเกษ 33, พันธุ์สกลนคร, พันธุ์หม่อนน้อย, พันธุ์คุณไพ มีคุณภาพใบหม่อนที่ดีเหมาะสมในการเลี้ยงไหมในแต่ละวัย มีการดูแลรักษาต้นหม่อนอย่างสม่ำเสมอ เช่น

  • การใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยเคมี หลังการตัดแต่งกิ่งต้นหม่อน เพื่อป้องกันกำจัดโรคและแมลง เพิ่มผลผลิตและคุณภาพใบหม่อนทุกครั้ง ในปริมาณที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ อย่างน้อยปีละครั้ง
  • มีการกำจัดวัชพืชและทำความสะอาดแปลงหม่อนอย่างสม่ำเสมอไม่น้อยกว่าปีละ 2 ครั้ง
  • มีการหว่านยิปซั่มเพื่อปรับสภาพความเป็นกรดเป็นด่าง (pH) ของดิน
  • เก็บเกี่ยวใบหม่อนในช่วงเวลาและตำแหน่งใบที่เหมาะสมในการเลี้ยงไหมแต่ละวัย
  • เก็บรักษาใบหม่อนในที่ที่มีการระบายอากาศดีและมีความชื้นที่เหมาะสม

การเลี้ยงไหม

กระบวนการเลี้ยงไหมจนได้รังไหมของชาวบ้าน จะต้องมีโรงเลี้ยงไหม และวัสดุอุปกรณ์ ที่สะอาดและปลอดภัย พันธุ์ไหมที่เลี้ยงในภาคอีสาน เป็นพันธุ์ไทยพื้นบ้านที่มีความแข็งแรง เลี้ยงง่าย ปรับตัวเข้ากับสภาพภูมิอากาศของภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ดี ซึ่งมีลักษณะเฉพาะ คือ ฟักออกตลอดปีตามธรรมชาติ (polyvoltine) ไข่ไหมเมื่อมีอายุ 20 วัน ในอุณหภูมิห้องปกติจะฟักออกเป็นตัวได้เอง จำนวนไข่ไหมต่อแม่ 250 - 360 ฟอง อายุหนอนไหม 18 - 22 วัน น้ำหนักรังสด 0.8 - 1.0 กรัมต่อรัง น้ำหนักเปลือกรัง 10 - 12 เซนติกรัมต่อรัง เปอร์เซ็นต์เปลือกรัง 11 - 13 เปอร์เซ็นต์

mon mai 12

รูปร่างรังไหมมีลักษณะหัวป้านท้ายแหลม หรือคล้ายกระสวย รังไหมสีเหลือง เส้นใยมีขนาด 12.7 - 2.1 ดีเนียร์ (denier) ความยาวเส้นใย 200 - 400 เมตรต่อรัง เส้นไหมมีความยืดหยุ่นดี มีความเงางาม รังบาง มีปุยหรือขี้ไหม (floss) ค่อนข้างมากมีอัตราการสาวออกง่าย ได้แก่ พันธุ์นางน้อย นางลาย นางหงอก นางสิ่ว นางเขียว นางตุ่ย สำโรง นางเหลือง นางไหม แพงพวย และกากี วนาสวรรค์ ทับทิมสยาม ไข่งู คอตั้ง สองพี่น้อง ลำปอ ฯลฯ

การเลี้ยงไหม

  • ไหมวัยอ่อน : ให้ใบหม่อนที่มีขนาด เหมาะสมแก่วัยไหม และมีการเลี้ยงอย่างถูกต้อง และเหมาะสมกับสภาพพื้นที่
  • ไหมวัยแก่ : ให้ใบหม่อนที่มีขนาด เหมาะสมแก่วัยไหม และมีการเลี้ยงอย่างถูกต้องและเหมาะสมกับสภาพพื้นที่
  • การเก็บรังไหม เมื่อไหมสุกเข้าทำรังแล้วต้องเก็บรังไหมออกจากจ่อ 3 - 5 วัน หากอากาศร้อนก็เก็บได้เร็วขึ้น อากาศหนาวเก็บรังช้าลง เพราะการพ่นเส้นใยของหนอนไหมจะช้าลงในช่วงอากาศหนาว การคัดเลือกรังไหม โดยคัดเลือกแยกรังดีออกจากรังเสีย เพื่อให้ได้เส้นไหมที่มีคุณลักษณะเส้นกลมขนาดสม่ำเสมอ

ภูมิปัญญาการสาวไหม

การสาวไหม เป็นกระบวนการหัตถกรรมดึงเส้นไหมออกจากรังไหม ผ่านพวงสาวแบบพื้นบ้าน พันเกลียวเส้นไหม แล้วดึงเส้นไหมลงในภาชนะ ซึ่งมีกระบวนการปฏิบัติ คือ ทำการต้มรังไหม ดึงเส้นไหมออกจากรังไหม ผ่านพวงสาวแบบพื้นบ้าน พันเกลียวเส้นไหม 10 - 11 รอบแล้วดึงเส้นไหมลงภาชนะที่เตรียมไว้ เป็นการสาวไหมด้วยมือหลังจากสาวไหมเสร็จแล้ว นำเส้นไหมไปกรอใส่อัก และพันเกลียวประมาณ 80 รอบ ทำความสะอาดเส้นไหม ปั่นตีเกลียวเส้นไหม นำไปขึ้นเหล่งเพื่อมัดทำใจไหมเสร็จแล้ว จึงนำไปฟอกย้อมเพื่อทอผ้า การสาวไหมหัตถกรรม สามารถสาวแยกชนิดเส้นไหมได้ 3 ประเภท คือเส้นไหม 3 หรือไหมลืบ เส้นไหม 1 หรือไหมน้อย และเส้นไหม 2หรือไหมสาวเลย

อุปกรณ์ที่ใช้สาวไหม

อุปกรณ์การสาวไหม ถือเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดจากภูมิปัญญา ที่ผสมผสานกับประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่นในการสาวไหมไทยพื้นบ้าน เครื่องสาวไหมที่ใช้ในการสาว เพื่อให้ได้เส้นไหมที่มีเอกลักษณ์คุณภาพใกล้เคียงกันมีดังนี้

mon mai 05

พวงสาวไหมแบบพื้นบ้าน เป็นอุปกรณ์ที่ทำจากไม้เนื้ออ่อนที่ไม่มีเสี้ยนขุยขน เช่น ไม้ตะแบก ไม้โมก มีการแกะสลักลวดลายสวยงาม รูปทรงแล้วแต่ละท้องถิ่นและเป็นงานฝีมือ มีขา 2 ข้างสำหรับยึดกับปากหม้อสาวไหมไม่ให้ล้ม ขาพวงสาวไหมสามารถขยับให้กว้างและแคบได้ มีความสูงประมาณ 35 - 40 เซนติเมตร กว้างประมาณ 6 - 8 เซนติเมตรเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5 - 6 เซนติเมตร มีซีกไม้ไผ่ล้อมรอบประมาณ 15 - 20 เซนติเมตร ขนาดขึ้นอยู่กับช่างผู้ทำพวงสาวไหม ใช้สำหรับพันเกลียวเส้นไหมทำให้เส้นไหมรวมตัวกันขณะสาวไหม

พวงสาวไหมแบบปรับปรุง (เด่นชัย 1) เป็นอุปกรณ์ที่ทำจากไม้เนื้ออ่อนที่ไม่มีเสี้ยนขุยขน เช่น ไม้ตะแบก ไม้โมก มีการแกะสลักลวดลายสวยงาม รูปทรงแล้วแต่ละท้องถิ่น และเป็นงานฝีมือ มีขา 2 ข้าง สำหรับยึดกับปากหม้อสาวไหมไม่ให้ล้ม ขาพวงสาวไหมสามารถขยับให้กว้างและแคบได้ มีความสูงประมาณ 35 - 40 เซนติเมตร กว้างประมาณ 25 เซนติเมตร ประกอบด้วย รอกสาวไหม 2 รอก และรอกเล็กรับเส้นไหมอีก 2 รอก มีตัวกันรังไหมไม่ให้รังขึ้นไปพันกับเส้นไหมเวลาสาวไหมและมีรูร้อยเส้นไหมจะมีส่วนบังคับให้เส้นไหมไม่มีปุ่มปมขนาดใหญ่และทำให้เส้นไหมเรียบสม่ำเสมอกันเกือบทั้งเส้น การทำเกลียวจะทำได้มาก ซึ่งทำให้ได้ 80 เกลียว (พัน 80 รอบ) มีผลทำให้เส้นรวมตัวดีเส้นกลมไม่แตก สาวลงตะกร้า (ภาชนะรองรับ) เหมือนการสาวแบบพื้นบ้านแต่ดึงเส้นไหมได้คล่องตัวกว่าเพราะมีรอกรับเส้นไหมทำให้เกิดมุมของการสาวไหมได้เหมาะสมพอดี จึงดึงเส้นไหมลงตะกร้าได้ง่าย

mon mai 04

หม้อต้มสาวไหม มี 2 ชนิด สามารถใช้ได้ทั้งหม้อที่ทำจากดินปั้น (หม้อดิน) และทำจากอลูมิเนียม มีรูปทรงสูงซึ่งชาวบ้านนิยมใช้หม้อนึ่งข้าวเหนียว ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางปากหม้อประมาณ 19 - 22 เซนติเมตร ใช้สำหรับต้มรังไหมขณะสาวไหม คณลักษณะของหม้อดินจะรักษาอุณหภูมิของน้ำให้สม่ำเสมอไม่ร้อนไม่เย็นเร็วเกินไป ส่วนหม้อที่ทำจากอลูมิเนียมจะได้ความร้อนขึ้นลงเร็ว ผู้สาวไหมต้องควบคุมอุณหภูมิตลอดเวลา

ไม้คืบเกลี่ยรังไหม เป็นอุปกรณ์ที่ทำจากไม้เนื้อแข็งหรือไม้ไผ่ ไม่มีขุยขน หรือเสี้ยน และมีน้ำหนักเบา เช่น ไม้ประดู่ ไม้พยุง ไม้ไผ่รวกเนื้อแก่ หัวไม้มีลักษณะคล้ายไม้พาย มีด้ามกลม ขนาดพอเหมาะกับการจับขณะสาวไหมยาวประมาณ 35 - 40 เซนติเมตร ด้านหัวจะแบน มีร่องตรงกลาง ยาวประมาณ 13 เซนติเมตร ใช้สำหรับเกลี่ยรังไหมในหม้อต้ม และควบคุมเส้นไหมที่ออกจากรังไหมให้รวมตัวกัน ตลอดจนใช้เกลี่ยหรือตักรังไหมเสียและดักแด้ออกจากหม้อต้มรังไหม

mon mai 06

น้ำต้มรังไหม ต้องเป็นน้ำสะอาด ไม่ขุ่น มีความเป็นกรด-ด่าง ปานกลาง (ประมาณ 6.5 - 7.5) ไม่ควรใช้น้ำจากบ่อน้ำบาดาล น้ำประปา หรือน้ำฝนใหม่ๆ จะทำให้สาวไหมออกยาก

การเตรียมรังไหม

ก่อนจะทำการสาวไหม ให้คัดเลือกรังไหมที่จะสาวก่อน โดยแยกรังดีออกจากรังเสีย เพื่อให้ได้เส้นไหมที่มีคุณลักษณะเส้นกลมและขนาดสม่ำเสมอ ในการคัดแยกคุณภาพรังไหมควรมีการคัดแยกรังเสียออกก่อนการนำไปสาว ซึ่งประเภทรังเสีย มีดังนี้

  • รังแฝด คือ รังไหมที่เกิดจากหนอนไหมตั้งแต่ 2 ตัว ขึ้นไป ทำรังร่วมกัน รังไหมประเภทนี้ เมื่อนำมาสาวจะทำให้เส้นไหมขาดบ่อย เพราะเส้นไหมพันกัน
  • รังเจาะ คือ รังไหมที่เกิดจากหนอนแมลงวันลาย ในระยะหนอนไหมและเจริญเติบโตอยู่ภายในแล้วเจาะรังไหมออกมา ทำให้รังไหมที่ถูกเจาะเป็นรังเสียเพราะรังไหมที่เกิดเป็นรู เท่ากับไปตัดเส้นไหมให้ขาดทั้งเส้น

mon mai 20

  • รังเปื้อนภายใน คือ รังไหมที่เกิดจากดักแด้ตายภายในรัง หรือบางครั้งหนอนไหมที่เป็นโรค แต่สามารถทำรังได้ เมื่อทำรังเสร็จก็ตายอยู่ภายในรัง ทำให้รังไหมสกปรก เมื่อนำมาสาวจะได้เส้นไหมมีสีดำ ไม่มีคุณภาพ
  • รังเปื้อนภายนอก คือ หนอนไหมปล่อยปัสสาวะครั้งสุดท้ายก่อนทำรัง หรือเกิดจากการแตกของหนอนไหมที่เป็นโรคเข้าจ่อ ทำให้เปื้อนรังดีที่อยู่ในจ่อเดียวกัน เมื่อนำไปสาวจะสาวยาก
  • รังบาง คือ รังไหมที่เกิดจากขณะที่ไหมเป็นโรคแล้วเจริญเติบโตจนไหมสุกเข้าทำรัง และเมื่อพ่นเส้นใยเพื่อทำรังได้เล็กน้อยหนอนไหมก็จะตาย ทำให้รังไหมบางผิดปกติ หรือบางครั้งอาจเกิดจากเก็บไหมเข้าจ่อช้าเกินไป ทำให้หนอนไหมพ่นเส้นใยทิ้งก่อนบ้างแล้ว ทำให้เส้นใยเหลือทำรังน้อย
  • รังหลวม คือ รังไหมที่เกิดขณะไหมสุกทำรัง สภาพอากาศขณะหนอนไหมทำรังไม่เหมาะสม เช่น อุณหภูมิขึ้นๆ ลงๆ ส่งผลให้การพ่นใยไม่สม่ำเสมอ
  • รังหัวท้ายบาง คือ รังไหมที่เกิดจากลักษณะสายพันธุ์ไหม หรือเกิดจากอุณหภูมิในการกกไข่ไหมสูง หรือบางครั้งเกิดจากอุณหภูมิต่ำเกินไประหว่างไหมทำรัง
  • รังผิดรูปร่าง คือ รังไหมที่เกิดจากลักษณะจ่อไม่ถูกสุขลักษณะ หรือเกิดจากหนอนไหมอ่อนแอทำรังได้ไม่สมบูรณ์ ลักษณะรังบิดเบี้ยว และไม่สม่ำเสมอ
  • รังด้าน คือ รังไหมเกิดจากหนอนไหมทำรังติดข้างๆ จ่อ หรือติดกับกระดาษรองจ่อ ลักษณะรังจะแบนผิดปกติ และหนา
  • รังบุบ คือ รังไหมที่เกิดจากการขนส่งโดยไม่ระมัดระวังเกิดจากการกระทบกระแทกกัน
  • รังเป็นเชื้อรา คือ รังไหมที่เกิดจากการอบแห้งไม่สมบูรณ์ หรือบางครั้งไม่มีการควบคุมความชื้นในห้องเก็บรังไหม ทำให้เกิดเชื้อราเกิดขึ้นได้

การสาวไหม

ในการสาวไหม เกษตรกรจะทำการสาวไหมโดยการสาวแยกเปลือกรังชั้นนอกและชั้นใน ทำให้ได้เส้นไหมประเภทต่างๆ ดังนี้

การสาวไหมหลืบ (ลืบ) หรือไหมเปลือก หรือไหม 3

พวงสาวไหมแบบพื้นบ้าน

  • การต้มรังไหม น้ำที่ใช้ต้มรังไหมควรเป็นน้ำสะอาด ไม่ขุ่น มีความเป็นกรด-ด่างปานกลาง เช่นน้ำฝน น้ำประปา ที่ใส่โอ่งเก็บไว้นาน (ไม่ใช้น้ำบ่อ น้ำบาดาล น้ำประปา และน้ำฝนใหม่) ต้มให้ร้อน แต่ไม่เดือดโดยสังเกตเห็นไอน้ำที่ปากหม้อ และฟองอากาศเล็กๆ ลอยขึ้นมาทั่วปากหม้อ หรือใช้นิ้วมือจุ่มดูรู้สึกว่าร้อน มีอุณหภูมิประมาณ 82 - 89 องศาเซลเซียส นำรังไหมที่เตรียมไว้ลงต้มในหม้อ 2 กำมือใหญ่ (ประมาณ 120 - 150 รัง) ใช้ไม้คืบกดรังไหมให้จมน้ำไปมา 4 - 5 ครั้ง นาน 1 - 2 นาที (เรียกว่า การต้มรังไหม) ยกไม้คืบเกลี่ยรังไหมขึ้นปมเส้นไหมจะหลุดจากรังไหมติดไม้คืบขึ้นมา
  • การพันเกลียวเส้นไหม เมื่อเส้นไหมติดไม้คืบเกลี่ยรังไหมขึ้นมา ใช้มือซ้ายรวบเส้นไหมที่ติดกับไม้คืบดึงขึ้นมา แล้วสอดเส้นไหมใส่รูที่อยู่ตรงกลางพวงสาว ดึงขึ้นไปพันกับลูกรอกของพวงสาว 1 รอบ แล้วพันเกลียวเส้นไหม 7 - 9 รอบ แล้วดึงเส้นไหมผ่านพวงสาวไหม ลงภาชนะที่วางอยู่ทางด้านซ้ายมือค่อนไปทางด้านหลังและทำการสาวไหม (ดึงเส้นไหม) จนเส้นไหมเปลือกนอกหมด
  • เมื่อสาวไหม 3 หรือไหมหลืบ (ลืบ) ซึ่งเป็นไหมเปลือกนอกออกหมดแล้ว โดยจะสังเกตเห็นเส้นไหมที่ออกจากรังไหมในหม้อต้มสาว มีลักษณะเล็กละเอียด สม่ำเสมอและนุ่มมือ ผิวรังไหมเรียบและรังไหมมีสีจางลง ให้หยุดสาวแล้วใช้กระชอน ช้อน หรือทัพพี ตักรังไหมออกจากหม้อต้มครั้งละประมาณ 15 - 20 รัง และเพิ่มรังไหมครั้งละ 15 - 20 รัง ผึ่งไว้บนกระด้งอีกด้านหนึ่งที่ว่าง

mon mai 13

พวงสาวไหมแบบปรับปรุง (เด่นชัย 1)

  • การต้มรังไหม น้ำที่ใช้ต้มรังไหมควรเป็นน้ำสะอาด ไม่ขุ่น มีความเป็นกรด-ด่างปานกลาง เช่น น้ำฝน น้ำประปา ที่ใส่โอ่งเก็บไว้นาน (ไม่ใช่น้ำบ่อ น้ำบาดาล น้ำประปา และน้ำฝนใหม่) ต้มให้ร้อนแต่ไม่เดือด โดยสังเกตเห็นไอน้ำที่ปากหม้อ และฟองอากาศเล็กๆ ลอยขึ้นมาทั่วปากหม้อ หรือใช้นิ้วมือจุ่มดูรู้สึกว่าร้อน มีอุณหภูมิประมาณ 82 - 89 องศาเซลเซียส นำรังไหมที่เตรียมไว้ลงต้มในหม้อ 2 กำมือใหญ่ (ประมาณ 120 - 150 รัง) ใช้ไม้คืบกดรังไหมให้จมน้ำไปมา 4 - 5 ครั้ง นาน 1 - 2 นาที (เรียกว่า การต้มรังไหม) ยกไม้คืบเกลี่ยรังไหมขึ้นปมเส้นไหมจะหลุดจากรังไหมติดไม้คืบขึ้นมา
  • การพันเกลียวเส้นไหม เมื่อเส้นไหมติดไม้คืบเกลี่ยรังไหมขึ้นมา ใช้มือซ้ายรวบเส้นไหมที่ติดกับไม้คืบดึงขึ้นมา แล้วสอดเส้นไหมใส่รูที่อยู่ตรงกลางพวงสาว ดึงขึ้นไปพันกับลูกรอกของพวงสาวตัวล่างสุด 2 รอบแล้วพันเกลียวเส้นไหม 7 - 9 รอบ
  • แล้วดึงเส้นไหมผ่านพวงสาวไหมลงภาชนะที่วางอยู่ทางด้านซ้ายมือ ค่อนไปทางด้านหลัง และทำการสาวไหม (ดึงเส้นไหม) จนเส้นไหมเปลือกนอกหมด
  • เมื่อสาวไหม 3 หรือไหมหลืบ (ลืบ) ซึ่งเป็นไหมเปลือกนอกออกหมดแล้ว โดยจะสังเกตเห็นเส้นไหมที่ออกจากรังไหมในหม้อต้มสาวมีลักษณะเล็กละเอียด สม่ำเสมอและนุ่มมือ ผิวรังไหมเรียบ และรังไหมมีสีจางลง ให้หยุดสาวแล้วใช้กระชอน ช้อน หรือทัพพี ตักรังไหมออกจากหม้อต้มครั้งละประมาณ 15 - 20 รัง ผึ่งไว้บนกระด้งอีกด้านหนึ่งที่ว่าง และเพิ่มรังไหมครั้งละ 15 - 20 รัง

การสาวไหมน้อย หรือไหมเครือ หรือไหม 1

เป็นการสาวเส้นไหมที่อยู่ชั้นในของรังไหม รังไหมที่จะนำมาสาวไหมน้อยต้องผ่านการสาวไหม หัวไหมลืบออกแล้ว โดยมีขั้นตอนการสาวไหมน้อยดังนี้

mon mai 14

พวงสาวไหมแบบพื้นบ้าน

  • การต้มรังไหม น้ำที่ใช้ต้มรังไหมสำหรับสาวไหมน้อย ต้องสะอาดและมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับน้ำที่ใช้ต้มรังไหม สาวไหมหัวและทุกครั้งที่จะสาวไหมน้อยต้องเปลี่ยนน้ำต้มใหม่ ไม่ควรใช้น้ำที่ต้มสาวไหมหัวมาสาวไหมน้อยต่อ เพราะจะทำให้เส้นไหมไม่สวยมีสีคล้ำ แข็งกระด้าง ต้มน้ำให้ร้อนอุณหภูมิประมาณ 85 - 90 องศาเซลเซียส หรือสังเกตมีไอน้ำและฟองอากาศขึ้นทั่วปากหม้อต้ม หรือใช้นิ้วมือจุ่มดูรู้สึกร้อน ยกเว้นช่วงฤดูฝน
  • นำรังไหมที่ผ่านการสาวไหมหัวออกแล้ว กำรังไหมบีบให้น้ำออกพอหมาดๆ ใส่ลงไปในหม้อต้มประมาณ 70 - 100 รัง ใช้ไม้คืบกดรังไหมให้จมน้ำ พลิกไปมา 3 - 4 ครั้ง นาน 1 - 2 นาที แล้วยกไม้คืบเกลี่ยรังไหมขึ้น ปมเส้นไหมจะหลุดออกจากรังไหม และติดปลายไม้คืบมาด้วย
  • ยกไม้คืบขึ้นสูง ใช้มือซ้ายรวบเส้นไหมดึงขึ้นมา สอดเส้นไหมใส่เข้าไปในรูของพวง สาวดึงขึ้นไปพันลูกรอก 1 รอบ แล้วพันเกลียว 10 - 11 รอบ
  • ใช้มือซ้ายดึงปลายเส้นไหมผ่านหน้าขาซ้าย แล้วปล่อยให้เส้นไหมลงภาชนะที่วางรองรับอยู่ด้านหลังทางด้านซ้ายมือ
  • ดึงเส้นไหมลงภาชนะให้สม่ำเสมอ ความเร็วประมาณ 60 - 65 ครั้ง/นาที และช่วงของการดึงเส้นไหมมีระยะจากการจับเส้นไหมถึงช่วงการปล่อยเส้นไหมลงภาชนะประมาณ 40 - 45 เซนติเมตร จะทำให้เส้นไหมวางเรียงกันในภาชนะสวยงามเมื่อนำมาเหล่งมัดไจไหมแล้วเส้นไหมจะตรง
  • ขณะสาวไหมให้ใช้ไม้คืบเกลี่ยรังไหมเข้ารวมกัน และบังคับรังไหมไม่ให้ลอยขึ้นตามเส้นไหม เพราะจะทำให้เส้นไหมติด สาวไม่ได้ พยายามอย่าเกลี่ยรังไหมบ่อยเกินไปจะทำให้เส้นไหมมีปุ่มปมติดออกมามาก และทำให้เส้นไหมขาด
  • ขณะเดียวกันก็ใช้สายตาสังเกตดูลักษณะรังไหมที่อยู่ในหม้อต้ม ถ้ามีรังเสีย รังเน่าก็ตักออกถ้าสังเกตรังไหมบางมองเห็นดักแด้ชัดเจนก็หยุด ตักรังไหมหรือดักแด้ออกครั้งละประมาณ 5 - 10 รัง แล้วเติมรังไหมใหม่เข้าไป 5 - 10 รัง/ครั้ง แล้วใช้ไม้คืบกดรังไหมที่เติมเข้าไปใหม่ให้จมน้ำแล้วทำการสาวต่อ
  • นอกจากใช้สายตาสังเกตรังไหมในหม้อต้มแล้ว ต้องสังเกตเส้นไหมที่สาวผ่านพวงสาวด้วยว่ามีปุ่มปมหรือขี้ไหมติดมา ถ้ามีปุ่มปมหรือขี้ไหมให้หยุดและแกะออก
  • เมื่อเส้นไหมมีขนาดเล็กลงให้หยุด เติมรังไหมลงต้มเพิ่มครั้งละไม่เกิน 10 รังและรู้สึกว่าเส้นไหมมีขนาดใหญ่ขึ้น ให้ใช้ไม้คืบเกลี่ยรังไหมในหม้อต้มออกด้านข้าง หรือตักรังไหมในหม้อออก
  • การควบคุมอุณหภูมิน้ำต้มรังไหม ถ้าน้ำร้อนรังไหมจะเปื่อยเส้นไหมออกมาก บางทีหลุดออกมาทั้งรัง ให้เติมน้ำเย็นลงไป ถ้าน้ำเย็นเกินไปจะสาวไม่ค่อยออก ให้เพิ่มฟืนเชื้อเพลิงเข้าไปอีก และคอยควบคุมความร้อนของน้ำในหม้อต้มให้สม่ำเสมอตลอดเวลาการสาวไหม
  • เมื่อสาวเสร็จแล้ว ให้นำเส้นไหมออกจากภาชนะที่ใส่ออกมาตากให้แห้ง โดยมีวัสดุที่มีน้ำหนักพอประมาณทับไว้ ทิ้งไว้ให้แห้งโดยมีวัสดุที่มีน้ำหนักพอประมาณทับไว้ เช่น เมล็ดนุ่น ข้าวสาร ก้อนกรวดเม็ดเล็กที่ล้างสะอาด แล้วจึงนำไปกรอใส่อัก เพื่อทำความสะอาด ตีเกลียว และเหล่งมัดทำไพและไจไหมต่อไป

mon mai 15

พวงสาวไหมแบบปรับปรุง (เด่นชัย 1)

  • การต้มรังไหม น้ำที่ใช้ต้มรังไหมสำหรับสาวไหมน้อย ต้องสะอาดและมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับน้ำที่ใช้ต้มรังไหมสาวไหมหัว และทุกครั้งที่จะสาวไหมน้อยต้องเปลี่ยนน้ำต้มใหม่ไม่ควรใช้น้ำที่ต้มสาวไหมหัวมาสาวไหมน้อยต่อ เพราะจะทำให้เส้นไหมไม่สวย มีสีคล้ำ แข็งกระด้าง ต้มน้ำให้ร้อนอุณหภูมิประมาณ 85 - 90 องศาเซลเซียส หรือสังเกตมีไอน้ำและฟองอากาศขึ้นทั่วปากหม้อต้ม หรือใช้นิ้วมือจุ่มดูรู้สึกร้อน
  • นำรังไหมที่ผ่านการสาวไหมหัวออกแล้ว กำรังไหมบีบให้น้ำออกพอหมาดๆ ใส่ลงไปในหม้อต้มประมาณ 80 - 90 รัง ใช้ไม้คืบกดรังไหมให้จมน้ำ พลิกไปมา 3 - 4 ครั้ง นาน 1 - 2 นาที แล้วยกไม้คืบเกลี่ยรังไหมขึ้น ปมเส้นไหมจะหลุดออกจากรังไหม และติดปลายไม้คืบมาด้วย
  • ยกไม้คืบขึ้นสูงใช้มือซ้ายรวบเส้นไหมดึงขึ้นมา สอดเส้นไหมใส่เข้าไปในรูของพวงสาวดึงขึ้นไปพันลูกรอก 1 รอก 2 รอบ แล้วพันเกลียวไม่น้อยกว่า 80 เกลียว แล้วผ่านเส้นไหมไปยังรอกที่ 3
  • ใช้มือซ้ายดึงปลายเส้นไหมผ่านหน้าขาซ้าย แล้วปล่อยให้เส้นไหมลงภาชนะที่วางรองรับอยู่ด้านหลังทางด้านซ้ายมือ
  • ดึงเส้นไหมลงภาชนะให้สม่ำเสมอ ความเร็วประมาณ 60 - 65 ครั้ง/นาที และช่วงของการดึงเส้นไหมมีระยะจากการจับเส้นไหมถึงช่วงการปล่อยเส้นไหมลงภาชนะประมาณ 40 - 45 เซนติเมตร จะทำให้เส้นไหมวางเรียงกันในภาชนะสวยงาม เมื่อนำมาเหล่งมัดใจไหมแล้วเส้นไหมจะตรง
  • ขณะสาวไหมให้ใช้ไม้คืบเกลี่ยรังไหมเข้ารวมกัน และบังคับรังไหมไม่ให้ลอยขึ้นตามเส้นไหม เพราะจะทำให้เส้นไหมติด สาวไม่ได้ พยายามอย่าเกลี่ยรังไหมบ่อยเกินไปจะทำให้เส้นไหมมีปุ่มปม ติดออกมามาก และทำให้เส้นไหมขาด
  • ขณะเดียวกันก็ใช้สายตาสังเกตดูลักษณะรังไหมที่อยู่ในหม้อต้ม ถ้ามีรังเสีย รังเน่าก็ตักออก ถ้าสังเกตรังไหมบางมองเห็นดักแด้ชัดเจนก็หยุด ตักรังไหม ดักแด้ออกครั้งละประมาณ 5 - 10 รัง แล้วเติมรังไหมใหม่เข้าไป 5 - 10 รัง/ครั้ง แล้วใช้ไม้คืบกดรังไหมที่เติมเข้าไปใหม่ให้จมน้ำแล้วทำการสาวต่อ
  • นอกจากใช้สายตาสังเกตรังไหมในหม้อต้มแล้ว ต้องสังเกตเส้นไหมที่สาวผ่านพวงสาวด้วยว่ามีปุ่มปมหรือขี้ไหมติดมา ถ้ามีปุ่มปมหรือขี้ไหมให้หยุดและแกะออก
  • เมื่อเส้นไหมมีขนาดเล็กลงให้หยุด เติมรังไหมลงต้มเพิ่มครั้งละไม่เกิน 10 รัง และรู้สึกว่าเส้นไหมมีขนาดใหญ่ขึ้น ให้ใช้ไม้คืบเกลี่ยรังไหมในหม้อต้มออกด้านข้าง หรือตักรังไหมในหม้อออก
  • การควบคุมอุณหภูมิน้ำต้มรังไหม ถ้าน้ำร้อนรังไหมจะเปื่อยเส้นไหมออกมาก บางทีหลุดออกมาทั้งรัง ให้เติมน้ำเย็นลงไป ถ้าน้ำเย็นเกินไปจะสาวไม่ค่อยออก ให้เพิ่มฟืนเชื้อเพลิงเข้าไปอีก และคอยควบคุมความร้อนของน้ำในหม้อต้มให้สม่ำเสมอตลอดเวลาการสาวไหม
  • เมื่อสาวเสร็จแล้ว ให้นำเส้นไหมทิ้งไว้ให้แห้งโดยมีวัสดุที่มีน้ำหนักพอประมาณทับไว้ เช่น เมล็ดนุ่น ข้าวสาร ก้อนกรวดเม็ดเล็กที่ล้างสะอาด แล้วจึงนำไปเหล่งมัดทำไพและไจไหมต่อไป

เส้นไหมสาวเลย หรือเส้นไหมรวด หรือไหม 2

เป็นการสาวเส้นไหมจากการสาวควบกันทั้งปุยและเส้นใยทั้งหมดให้เสร็จในคราวเดียวกันโดยไม่ได้แบ่งเป็นไหม 3 (ไหมหลืบ) และไหม 1 (ไหมน้อย) มีขั้นตอนการสาวไหมดังนี้

mon mai 17

พวงสาวไหมแบบพื้นบ้าน

  • การต้มรังไหม น้ำที่ใช้ต้มรังไหมสำหรับสาวไหมสอง ต้องสะอาดและมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับน้ำที่ใช้ต้มรังไหมสาวไหม 1 และไหม 3 ควรใช้น้ำที่ต้มสาวไหมใหม่ เพราะจะทำให้เส้นไหมสวย มีสีไม่คล้ำ ต้มน้ำให้ร้อนอุณหภูมิประมาณ 85 - 90องศาเซลเซียส หรือสังเกตมีไอน้ำและฟองอากาศขึ้นทั่วปากหม้อต้ม หรือใช้นิ้วมือจุ่มดูรู้สึกร้อน
  • นำรังไหม ใส่ลงไปในหม้อต้มประมาณ 60 - 70 รัง ใช้ไม้คืบกดรังไหมให้จมน้ำ พลิกไปมา 3 - 4 ครั้ง นาน 1 - 2 นาที แล้วยกไม้คืบเกลี่ยรังไหมขึ้น ปมเส้นไหมจะหลุดออกจากรังไหม และติดปลายไม้คืบมาด้วย
  • ยกไม้คืบขึ้นสูง ใช้มือซ้ายรวบเส้นไหมดึงขึ้นมา สอดเส้นไหมใส่เข้าไปในรูของพวงสาว ดึงขึ้นไปพันลูกรอก 1 รอบ แล้วพันเกลียว 7 - 8 รอบ
  • ใช้มือซ้ายดึงปลายเส้นไหมผ่านหน้าขาซ้าย แล้วปล่อยให้เส้นไหมลงภาชนะที่วางรองรับอยู่ด้านหลังทางด้านซ้ายมือ
  • ดึงเส้นไหมลงภาชนะให้สม่ำเสมอ ความเร็วประมาณ 40 - 50 ครั้ง/นาที และช่วงของการดึงเส้นไหมมีระยะจากการจับเส้นไหมถึงช่วงการปล่อยเส้นไหมลงภาชนะประมาณ 40 - 45 เซนติเมตร จะทำให้เส้นไหมวางเรียงกันในภาชนะสวยงาม เมื่อนำมาเหล่งมัดใจไหมแล้วเส้นไหมจะตรง
  • ขณะสาวไหมให้ใช้ไม้คืบเกลี่ยรังไหมเข้ารวมกัน และบังคับรังไหมไม่ให้ลอยขึ้นตามเส้นไหมเพราะจะทำให้เส้นไหมติด สาวไม่ได้ พยายามอย่าเกลี่ยรังไหมบ่อยเกินไปจะทำให้เส้นไหมมีปุ่มปม ติดออกมามาก และทำให้เส้นไหมขาด
  • ขณะเดียวกันก็ใช้สายตาสังเกตดูลักษณะรังไหมที่อยู่ในหม้อต้มถ้ามีรังเสีย รังเน่าก็ตักออก ถ้าสังเกตรังไหมบางมองเห็นดักแด้ชัดเจนก็หยุด ตักรังไหม ดักแด้ออกครั้งละประมาณ 5 - 10 รัง แล้วเติมรังไหมใหม่เข้าไป 5 - 10 รัง/ครั้ง แล้วใช้ไม้คืบกดรังไหมที่เติมเข้าไปใหม่ให้จมน้ำแล้วทำการสาวต่อ
  • นอกจากใช้สายตาสังเกตรังไหมในหม้อต้มแล้ว ต้องสังเกตเส้นไหมที่สาวผ่านพวงสาวด้วยว่า มีปุ่มปมหรือขี้ไหมติดมา ถ้ามีขี้ไหม และมีสิ่งปลอมปนให้หยุดและแกะออก
  • เมื่อเส้นไหมมีขนาดเล็กลงให้หยุด เติมรังไหมลงต้มเพิ่มครั้งละไม่เกิน 5 - 10 รัง และรู้สึกว่าเส้นไหมมีขนาดใหญ่ขึ้น ให้ใช้ไม้คืบเกลี่ยรังไหมในหม้อต้มออกด้านข้าง หรือตักรังไหมในหม้อออก
  • การควบคุมอุณหภูมิน้ำต้มรังไหม ถ้าน้ำร้อนรังไหมจะเปื่อยเส้นไหมออกมาก บางทีหลุดออกมาทั้งรัง ให้เติมน้ำเย็นลงไป ถ้าน้ำเย็นเกินไปจะสาวไม่ค่อยออก ให้เพิ่มฟืนเชื้อเพลิงเข้าไปอีก และคอยควบคุมความร้อนของน้ำในหม้อต้มให้สม่ำเสมอตลอดเวลาการสาวไหม
  • เมื่อสาวเสร็จแล้ว ให้นำเส้นไหมทิ้งไว้ให้แห้งโดยมีวัสดุที่มีน้ำหนักพอประมาณทับไว้ เช่น เมล็ดนุ่น ข้าวสาร ก้อนกรวดเม็ดเล็กที่ล้างสะอาด แล้วจึงนำไปเหล่งมัดทำไพและไจไหมต่อไป

พวงสาวไหมแบบปรับปรุง (เด่นชัย 1)

  • การต้มรังไหม น้ำที่ใช้ต้มรังไหมสำหรับสาวไหมสอง ต้องสะอาด ต้มน้ำให้ร้อนอุณหภูมิประมาณ 85 - 90 องศาเซลเซียส หรือสังเกตมีไอน้ำและฟองอากาศขึ้นทั่วปากหม้อต้ม หรือใช้นิ้วมือจุ่มดูรู้สึกร้อน
  • นำรังไหม ใส่ลงไปในหม้อต้มประมาณ 60 - 70 รัง ใช้ไม้คืบกดรังไหมให้จมน้ำ พลิกไปมา 3 - 4 ครั้ง นาน 11 - 12 นาที แล้วยกไม้คืบเกลี่ยรังไหมขึ้น ปมเส้นไหมจะหลุดออกจากรังไหม และติดปลายไม้คืบมาด้วย
  • ยกไม้คืบขึ้นสูง ใช้มือซ้ายรวบเส้นไหมดึงขึ้นมา สอดเส้นไหมใส่เข้าไปในรูของพวงสาวดึงขึ้นไปพันลูกรอก 2 รอก 1 รอบ แล้วพันเกลียวไม่น้อยกว่า 50 - 60 เกลียว แล้วผ่านเส้นไหมไปยังรอกตัวที่ 3
  • ใช้มือซ้ายดึงปลายเส้นไหมผ่านหน้าขาซ้าย แล้วปล่อยให้เส้นไหมลงภาชนะที่วางรองรับอยู่ด้านหลังทางด้านซ้ายมือ
  • ดึงเส้นไหมลงภาชนะให้สม่ำเสมอความเร็วประมาณ 55 - 60 ครั้ง/นาที และช่วงของการดึงเส้นไหม ระยะจากการจับเส้นไหมถึงช่วงการปล่อยเส้นไหมลงภาชนะประมาณ 40 - 45 เซนติเมตร จะทำให้เส้นไหมวางเรียงกันในภาชนะสวยงามเมื่อนำมาเหล่งมัดไจไหมแล้วเส้นไหมจะตรง
  • ขณะสาวไหมให้ใช้ไม้คืบเกลี่ยรังไหมเข้ารวมกัน และบังคับรังไหมไม่ให้ลอยขึ้นตามเส้นไหมเพราะจะทำให้เส้นไหมติดสาวไม่ได้ พยายามอย่าเกลี่ยรังไหมบ่อยเกินไปจะทำให้เส้นไหมมีปุ่มปมติดออกมามากและทำให้เส้นไหมขาด
  • ขณะเดียวกันก็ใช้สายตาสังเกตดูลักษณะรังไหมที่อยู่ในหม้อต้ม ถ้ามีรังเสีย รังเน่าก็ตักออก ถ้าสังเกตรังไหมบางมองเห็นดักแด้ชัดเจนก็หยุด ตักรังไหม ดักแด้ออกครั้งละประมาณ 5 - 10 รัง แล้วเติมรังไหมใหม่เข้าไป 5 - 10 รัง/ครั้ง แล้วใช้ไม้คืบกดรังไหมที่เติมเข้าไปใหม่ให้จมน้ำแล้วทำการสาวต่อ
  • นอกจากใช้สายตาสังเกตรังไหมในหม้อต้มแล้ว ต้องสังเกตเส้นไหมที่สาวผ่านพวงสาวด้วยว่ามีปุ่มปมหรือขี้ไหมติดมา ถ้ามีสิ่งปลอมปน หรือขี้ไหมให้หยุดและแกะออก
  • เมื่อเส้นไหมมีขนาดเล็กลงให้หยุด เติมรังไหมลงต้มเพิ่มครั้งละไม่เกิน 5 - 10 รัง และรู้สึกว่าเส้นไหมมีขนาดใหญ่ขึ้น ให้ใช้ไม้คืบเกลี่ยรังไหมในหม้อต้มออกด้านข้าง หรือตักรังไหมในหม้อออก
  • การควบคุมอุณหภูมิน้ำต้มรังไหม ถ้าน้ำร้อนรังไหมจะเปื่อยเส้นไหมออกมาก บางทีหลุดออกมาทั้งรัง ให้เติมน้ำเย็นลงไป ถ้าน้ำเย็นเกินไปจะสาวไม่ค่อยออก ให้เพิ่มฟืนเชื้อเพลิงเข้าไปอีก และคอยควบคุมความร้อนของน้ำในหม้อต้มให้สม่ำเสมอตลอดเวลาการสาวไหม
  • เมื่อเห็นว่าน้ำในหม้อต้มมีสีคล้ำให้เปลี่ยนน้ำสำหรับต้ม และสาวไหม
  • เมื่อสาวเสร็จแล้ว ให้นำเส้นไหมทิ้งไว้ให้แห้งโดยมีวัสดุที่มีน้ำหนักพอประมาณทับไว้ เช่น เมล็ดนุ่น ข้าวสาร ก้อนกรวดเม็ดเล็กที่ล้างสะอาด แล้วจึงนำไปเหล่งมัดทำไพและไจไหมต่อไป

mon mai 16การทำมาตรฐานเส้นไหม

เส้นไหมที่ได้จากการสาวไหมหัตถกรรมจะกองรวมกันในภาชนะที่รองรับ ซึ่งไม่สามารถจะนำไปใช้ประโยชน์ได้ ผู้สาวไหมจะต้องทำกระบวนการต่อไปอีก คือ การกรอเส้นไหมเข้าอัก การแกะทำความสะอาดเส้นไหม การตีเกลียวเส้นไหม การเหล่งไหม และการทำไพ จึงจะสามารถนำเส้นไหมไปฟอกกาวไหมออก เพื่อย้อมสีสำหรับทอผ้า

หลักการสำคัญของการสาวไหม คือ การพันเกลียวระหว่างรอบสาวไหมเพื่อให้เส้นใยหลายๆ เส้นที่สาวมาจากหลายๆ รัง ดึงมารวมกันเป็นเส้นเดียวนั้นให้เกิดการรัดตัวแน่น เส้นไม่แตก และเส้นกลม การสาวไหมทุกครั้งต้องพันเกลียวซึ่งเป็นหัวใจหลักของการสาวไหมที่จำเป็นต้องปฏิบัติทุกครั้ง

การกรอไหม หรือการเหล่ง (re-reeling) คือการนำเส้นไหมที่สาวได้มากรอทำเข็ดไหม (ไจไหม) โดยให้มีเส้นรอบวง 135 - 155 เซนติเมตร ตามมาตรฐาน ทำการมัดเงื่อนเส้นไหมให้เรียบร้อย โดยใน 1 เข็ดจะมีเงื่อนปลาย 2 อัน นำเงื่อนในซึ่งเป็นเงื่อนที่เริ่มการกรอกับเงื่อนนอกซึ่งเป็นเงื่อนที่กรอเส้นไหมเสร็จนำมาผูกเข้ากับเชือกด้วยด้ายสีแดง สีน้ำเงินและสีเหลือง มัดเงื่อนให้เรียบร้อย แล้วทำการมัดเป็นเข็ด โดยแบ่งเป็น 3 - 4 ช่วง (พื้นบ้านเรียกว่าทำพลอง) ตลอดตามความยาวของเส้นรอบวงเข็ดโดย 1 ช่วง (พลอง) จะแบ่งแยกออก เป็น 3 - 4 เปลาะ (หรือไน) (พื้นบ้านเรียกทำไพ) แล้วทำการร้อยด้ายขึ้นลง เพื่อโอบเส้นไหมไว้ไม่ให้กระจาย (จะง่ายต่อการฟอกย้อมถ้าผู้ทอจะนำไปใช้เลยหรือง่ายต่อการไปควบและทำเกลียวในขั้นตอนต่อๆ ไป) ทำเช่นนี้จนครบทั้ง 4 - 6 ช่วง ส่วนไหมหัตถกรรมมักนิยมน้ำหนักขนาดไม่เกิน ๑๐๐ กรัม เส้นไหมที่ได้จากการกรอยังไม่ผ่านการตีเกลียวนี้ เรียกกันว่า เส้นไหมดิบ (Raw silk) ตามมาตรฐานการกรอไหมต้องกรอแบบสาน (Diamond cross) คือการจัดเรียงเส้นไหมในเข็ดให้เป็นแบบไขว้ไป-มา ซึ่งจะสานกันเป็นเหมือนร่างแหทำให้ง่ายต่อการนำไปสู่กระบวนการผลิตผ้า

mon mai 18

การเก็บรักษาเส้นไหม เส้นไหมที่มัดไพทำเข็ดเสร็จแล้ว หากจะเตรียมไว้สำหรับทอผ้า จะนำไปฟอกกาวออกก่อน แล้วนำไปเก็บรักษา แต่ถ้าหากจะจำหน่ายก็เก็บรักษาไว้ไม่ให้โดนแสงแดด และเก็บในที่สามารถป้องกันแมลงได้ เช่น เส้นไหมห่อด้วยผ้าเก็บใส่ไว้ในตู้หรือกล่องพลาสติก และควรตรวจดูเส้นไหมทุกเดือน เพื่อให้อากาศถ่ายเทเป็นประจำ ในกรณีขนส่งจำหน่ายจึงบรรจุด้วยถุงพลาสติก

mon mai 19

ข้อมูลจากหนังสือ : ภูมิปัญญาการผลิตเส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน (Wisdom of Isan Indigenous Thai Silk Yarn)
โดย กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)