คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
สิม หรือ โบสถ์ ในภาษาอีสานคำว่า "สิม" มาจากคำว่า สีมา หรือ เสมา แปลว่า เขต หลักเขตการทำสังฆกรรม โบสถ์มีใบเสมาเป็นสิ่งแสดงที่หมายนิมิตล้อมรอบตัวอาคาร 8 จุด เพื่อกำหนดเขตวิสุงคามสีมา สิมอีสานแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ สิมน้ำ กับ สิมบก สิมที่สมบูรณ์จะต้องมีพัทธสีมา หากไม่มีเขตวิสุงคามสีมาถาวรต้องไปบวชในสิมน้ำ เพราะถือว่า "น้ำ" เป็นสิ่งบริสุทธิ์ เนื่องจากความทุรกันดารของเส้นทางสู่ชนบทในภาคอีสาน
ชาวอีสานจึงสร้าง "สิมน้ำ" ขึ้นชั่วคราว เพื่อใช้อุปสมบทกรรมให้ถูกต้องตามพระวินัยบัญญัติ โดยต้องสร้างให้อยู่ในน้ำที่เกิดขึ้นเอง (ชาตสระ) และอยู่ห่างจากตลิ่งกว่าชั่ววิดน้ำสาด กาลล่วงมาจึงนิยมสร้าง "สิมบก" ขึ้นเป็นการถาวรตามรูปแบบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอีสาน และขอวิสุงคามสีมา พร้อมกับการฝังลูกนิมิตเป็นเขตหมายให้ถูกต้องตามพระวินัยบัญญัติ สิมบกแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ สิมโปร่ง กับ สิมทึบ
ลักษณะเด่นเชิงรูปธรรม สิมเป็นที่รวมของศิลปะและช่างฝีมือ สิมอีสานมีขนาดเล็ก แต่สัดส่วนพอดี ลงตัว สวยงาม รูปทรงเป็นกล่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาทรงจั่ว มีลวดลายประดับตกแต่งบริเวณฐาน ตัวเรือน และส่วนยอด นอกจากนั้น สิมบางหลังยังมีการเขียนฮูปแต้มเป็นเรื่องราวสอนธรรมะแก่ญาติโยมไว้ที่ผนังด้านนอก เกิดเป็นอัตลักษณ์ของสิมอีสาน
ลักษณะเด่นเชิงนามธรรม สิมเป็นเขตสังฆกรรมภายในองค์พัทธสีมา ถือว่าศักดิ์สิทธิ์และบริสุทธิ์ เป็นสถานสมมุติแห่งความดีงาม
สิมอีสาน วัดไตรภูมิคณาจารย์ อำเภอสุวรรณภูมิ ร้อยเอ็ด
“สิม” มีความหมายเช่นเดียวกับ “โบสถ์” หรือ “อุโบสถ” กร่อนเสียงมาจากคำว่า "เสมา" หรือ “สีมา” ซึ่งหมายถึง เขต แดน ขอบเขต หรืออาณาเขต ที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้ในการทำสังฆกรรมหรือกิจกรรมของสงฆ์ซึ่งต้องทำในสิม ทำนอกสิมไม่ได้
สิม มี 3 ประเภท สิมที่ทำในบ้านเรียก “คามสีมา” สิมที่ทำในป่าเรียก “อพัทธสีมา” ถ้าผูกแล้วเรียก “พัทธสีมา” ส่วน “วิสุงคามสีมา” นั้นคือ “คามสีมา” ที่พระเจ้าแผ่นดินทรงยกที่ดินที่จะสร้างสิมให้ แต่สีมาจะเป็นชนิดใดก็ตาม หากยังไม่ได้ผูกก็ยังไม่มั่นคงถาวร เพราะผู้ให้อาจจะเพิกถอนเมื่อใดก็ได้ ท่านว่าถ้าได้ผูกแล้ว รากสิมจะหยั่งลงไปถึงน้ำหนุนแผ่นดิน ดังนั้น เมื่อมีการสร้างสิมแล้วจึงนิยมผูกสีมาทุกคราไป
การผูกสิม ต้องมีการฝังลูกนิมิต นิยมใช้เป็นศิลา มีตั้งแต่ 3-8 ลูก วางห่างจากสิมประมาณ 1 วา เรียก ”ใบเสมา” เป็นแผ่นหินที่ทำเป็นเครื่องหมายบอกเขตพระอุโบสถ ใบเสมา นี้เป็นหลักฐานทางโบราณคดีไทย ที่ใช้กำหนดยุคสมัยของการสร้างวัดสร้างอุโบสถ จึงมีรูปแบบและขนาดใหญ่เล็ก และทำด้วยหินชนิดที่แตกต่างกันออกไป ตามสภาพของภูมิประเทศในแถบนั้น แต่เดิมไม่มีข้อกำหนดจำนวนใบเสมาว่าจะมีเท่าไร เพราะเป็นเครื่องหมายบอกอาณาเขตที่ให้สงฆ์มาประชุมกัน อาจจะมีเฉพาะ 4 มุมก็ได้ โดยกำหนดให้มีอาณาเขตพอสมควรแก่การทำสังฆกรรม หรือการประชุมสงฆ์เท่านั้น
ในปัจจุบัน นิยมทำการกำหนดเขตวัดหรือเขตอุโบสถ มักจะมีใบพัทธสีมา 8 แห่ง หรือฝังลูกนิมิตไว้ 8 จุดรอบพื้นที่ อันน่าจะเป็นสัญลักษณ์สำคัญในความหมายของที่ประชุมสงฆ์ที่มีข้อวัตรในการปฏิบัติให้พ้นทุกข์ในมรรค 8 เป็นสำคัญ บางวัดที่มีใบสีมา 8 แห่ง แต่ฝังลูกนิมิตไว้กลางโบสถ์เป็นจุดที่ 9 ก็มี ลูกนิมิต จะฝังไว้ตรงกลางสิม เรียก “บือสิม” โดยการขุดหลุมสี่เหลี่ยม กว้าง 1 เมตร ยาว 1 เมตร ลึก 1 เมตร
รูปแบบของสิมในภาคอีสานนั้น ส่วนใหญ่ปรากฏให้เห็นอยู่ 2 ชนิด คือ “คามสีมา” หรือที่ชาวอีสานมักเรียกว่า “สิมบก” และ “อุทกกะเขปะสีมา” ที่เรียกว่า “สิมน้ำ” สิมน้ำหรือ อุทกกะเขปะสีมา ในอีสานมีน้อยมาก สร้างขึ้นเพราะความจำเป็นเร่งด่วนในการประกอบสังฆกรรมซึ่งไม่มีวัด หรือมีเพียงสำนักสงฆ์ที่ยังขาด “สิม” อันได้ผูกพัทธสีมาถูกต้องตามพระวินัย
สิมน้ำ วัดศิริสว่างวราราม อำเภอกมลาไสย กาฬสินธุ์
ข้อบัญญัติตามพระวินัยปิฎกกล่าวไว้ว่า น่านน้ำที่สงฆ์จะกำหนดเป็นอุทกกะเขปะได้มี 3 ประการคือ
การทำสังฆกรรมในน่านน้ำ 3 ชนิด จะทำบนเรือ หรือบนแพที่ผูกกับหลักในน้ำ หรือทอดสมอก็ได้ ให้ห่างจากตลิ่งกว่าชั่ววิดน้ำสาด (ประมาณ 3 วา) ท่านห้ามไม่ให้ทำในเรือ หรือแพที่กำลังลอยลำเดินทาง จะทำบนร้านที่ปลูกขึ้นในน้ำ ท่านว่าได้ ดังนั้น “ร้านที่ปลูกขึ้นในน้ำ” จึงเป็นมูลเหตุมาเป็น สิมน้ำ ประเภทถาวรขึ้น สามารถใช้สอยได้ในระยะเวลานานพอสมควร แม้จะไม่มีความคงทนนัก ปัจจุบัน สิมน้ำ ในภาคอีสานได้สูญหายไปจนเกือบหาดูไม่ได้แล้ว
รากฐานของสิมน้ำในระยะแรก มักใช้เรือหรือแพผูกมัดเข้าหากัน แล้วปูพื้นกระดานทำเป็นโรงเรือนแบบง่ายๆ มิได้คำนึงถึงรูปแบบทางสถาปัตยกรรมเพื่อความสวยงามแต่ประการใด สิมน้ำนิยมทำแพร่หลายในช่วงเผยแพร่พุทธศาสนาธรรมยุตติกนิกาย ในสมัยของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล และท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม
“สิมบก หรือ คามสีมา” เป็นผลงานของสถาปนิกพื้นบ้านอีสานอย่างแท้จริง บ่งบอกถึงภูมิปัญญาช่างพื้นบ้านแบบดั้งเดิม ที่สั่งสอน แก้ไข ดัดแปลง สืบต่อกันมา แม้ขนาดจะไม่ใหญ่โตอลังการเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น แต่ก็เป็นสัจธรรมที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตของผู้คนบนถิ่นนั้นๆ ผลงานของช่างต่างถิ่นต่างวัฒนธรรมตลอดถึงการลอกเลียนรูปแบบจากช่างเมืองหลวง จนก่อให้เกิดรูปแบบสิมบก หากจะแบ่งตามลักษณะทางสถาปัตยกรรมของสิมบกสามารถแบ่งได้ 2 ชนิด คือ 1) ชนิดโปร่งหรือสิมโถง ซึ่งแบ่งย่อยได้เป็น สิมโปร่งพื้นบ้านบริสุทธิ์ มีทั้งแบบไม่มีเสารับปีกนก และแบบมีเสารับปีกนก และ 2) ชนิดสิมทึบ ซึ่งมีลักษณะใหญ่ๆ 4 ลักษณะดังนี้
“สิมอีสาน” นอกจากจะมีรูปแบบที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอีสานแล้ว ยังมีรายละเอียดของการตกแต่งอีกหลายประการ ที่ทำให้ตัวสิมมีความงามเพิ่มมากยิ่งขึ้น เราอาจแยกสิมออกเป็น 3 ส่วน ดังนี้
รายละเอียดส่วนประดับของสิมอีสาน มีดังนี้
ช่อฟ้า นับเป็นส่วนที่สูงที่สุดของสิม มักแกะสลักด้วยไม้เป็นลักษณะคล้ายปราสาท (ผาสาด) หรือฉัตรตั้งลดหลั่นซ้อนกันขึ้นไป บนสันหลังคาตรงส่วนกลางของหลังคาสิม นับเป็นส่วนสำคัญที่ชี้บอกถึงความเป็นอีสาน ปัจจุบันยังพอมีสิมที่ก่อสร้างใหม่บางหลังที่ยังคงเอกลักษณ์ของ “ช่อฟ้า” ส่วนนี้ไว้ แม้จะทำเป็นคอนกรีตไปแล้วก็ตาม
โหง่ หรือที่ภาคกลางเรียกว่า “ช่อฟ้า” ตัวนี้นั้น นับเป็นส่วนสำคัญของการตกแต่ง สิมอีสาน ที่ขาดไม่ได้ เพราะจะทำให้หลังคาขาดด้วนไปอย่างเห็นได้ชัด ช่างได้ออกแบบโหง่ ให้มีรูปแบบที่เป็นพื้นถิ่นอย่างมีคุณค่า จะไม่มีแบบสูตรสำเร็จเหมือนภาคกลาง โหง่ ของเดิมจะสร้างด้วยไม้ทั้งสิ้น
ลำยอง เป็นส่วนที่เรียกว่า “นาคสะดุ้ง” แต่สิมอีสานมักนิยมทำเรียบเป็นแบบ “แป้นลม” ของเรือนพักอาศัย หลายแห่งแกะสลักเป็นลำตัวนาคเกี่ยวหางต่อหัวกันอย่างสนุกสนาน ข้างละไม่ต่ำกว่า 3-5 ตัว ส่อให้เห็นถึงความเป็นอิสระในการออกแบบของช่างอย่างเต็มที่
หางหงส์ สลักเป็นหัวพญานาคบ้างเป็นลายก้านดก (กนกหัวม้วน) บ้าง แล้วแต่ช่างจะคิดประดิษฐ์เอา
เชิงชาย บางแห่งก็แกะสลักเป็นลายเครือเถา บางแห่งก็ฉลุไม้เป็นลวดลายคล้ายอุบะย้อยต่อเนื่อง แต่ส่วนใหญ่จะไม่ใคร่ตกแต่งในส่วนนี้
หน้าบัน หรือ “สีหน้า” ของสิมอีสาน นิยมทำเป็นลายตาเวน หรือเป็นดวงตะวันส่องแสงเป็นรัศมีติดกระจกประดับ ประดุจความสว่างไสวสดใสชัชวาลแห่งดวงประทีป คือปัญญาของผู้ใฝ่ใจในพระธรรมขององค์พระสัมมาพุทธเจ้า
ประตู ส่วนใหญ่จะมีประตูเดียว บางแห่งก็สลักลวดลาย มักเป็นลายเครือเถาตามแบบช่างพื้นบ้าน จะดูหยาบแต่ก็ให้ความเป็นเอกลักษณ์ของอีสานได้ดีทีเดียว
หน้าต่าง มักเจาะผนัง 4 เหลี่ยมใส่บานหน้าต่างไม้ขนาดไม่ใหญ่นักอาจมีบานพับคู่และบานพับเดี่ยวไม่ใคร่ทำซุ่มประดับหน้าต่าง จะทำบ้างก็เป็นซุ้มประตูเสียส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเมื่อนิยมก่ออิฐปั้นปูนช่างญวนจะนิยมทำซุ่มประตูแบบอาร์คโค้งใส่ลงไปในสิมอีสาน แถมให้ด้วย
แขนนาง หรือ คันทวย ส่วนนี้เป็นลักษณะพิเศษของสิมอีสานที่ไม่เหมือนใคร จะมีทั้งทวยนาคและทวยแผงคือเป็นแผงแผ่นไม้ขนาดค่อนข้างใหญ่ แกะสลักลายนูนต่ำทั้ง 2 ด้าน การประดับของคันทวยนี้ด้านล่างจะมีเต้าไม้ยื่นออกมารับจากผนังแล้วจะเอนหัวออกเล็กน้อยขึ้นไปยึดกับไม้ด้านบน ซึ่งเป็นไม้ขื่อรับปีกนกยันเชิงชาย จะเห็นได้ว่าแปลกกว่าของทางภาคอื่น
ฮังผึ้ง หรือ “รวงผึ้ง” ของทางภาคกลาง หรือ “โก่งคิ้ว” ของทางภาคเหนือ มีลักษณะเด่นมากของงานตกแต่งด้านหน้าของสิมอีสาน ซึ่งมักจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ช่วงเสา 4 ต้น ช่วงเสากลางเป็นหน้าบันของจั่วใหญ่ ตรงกับบันไดทางขึ้น ฮังผึ้งจะอยู่สูงกว่าปกติ ส่วนในช่วงเสาอีกสองข้างนั้นเป็นบันไดปีกนก จะมีฮังผึ้งต่ำลงมา มีการแกะสลักลวดลายวิจิตรประณีต ทำให้สิมอีสานดุอลังการขึ้นเป็นพิเศษ บางหลังด้านหน้ามีเพียงช่วงเสาเดียว ตัวฮังผึ้งจะยาวตลอดและยังคงทำเลียนแบบคล้ายอย่างแรกเช่นกัน
แอวขัน มีลักษณะพิเศษ สิมบางหลังมีแอวขันสูงท่วมหัว การก่ออิฐทำเป็นโบกคว่ำ-โบกหงาย มักจะสูงชันกว่าของภาคกลาง ส่วนท้องกระดานนิยมทำเป้นกระดูกงูโปนออกมาแก้ความเรียบของตัวท้องกระดาน ส่วนลวดบัวนั้นก็มีคล้ายๆ กันโดยทั่วไป ส่วนใหญ่นิยมทำเป็นลักษณะแอวขันปากพาน คือ ทำเลียนรูปพานหรือโตกใส่ข้าวของต่างๆ ในพิธีกรรมพื้นบ้านนั้นเอง
บันได มักมีบันไดทางขึ้นเพียงด้านเดียว นิยมทำปูนปั้นเป็นรูปสัตว์เฝ้าบันได เช่น เป็นตัวจระเข้นอนราบเอาหัวลงล่างเอาหางอยู่บน บางแห่งเป็นรูปจระเข้เหราอ้าปากคาบสิงห์ บางแห่งก็เป็นตัวสัตว์คล้ายมอม ที่คนสมัยก่อนใช้สักไว้ตามขา (เฉพาะผู้ชาย) และที่กำลังเป็นกระแสในช่วงปลายปี พ.ศ. 2563 ในโลกออนไลน์ คือ "น้อน" หรือ "เหรา" ที่เป็นศิลปะพื้นฐิ่นอีสานที่น่าสนใจ [ อ่านเพิ่มเติม : เหรา ศิลปะความงามแบบบ้านๆ]
ชุกชี ส่วนแท่นประดิษฐานพระประธานภายในสิม ช่างไท-อีสาน นิยมก่ออิฐถือปูนมีรูปแบบฐานแอวขันปากพาน สัดส่วนของการลดเหลี่ยม, โบกคว่ำ, โบกหงาย และท้องกระดานนั้น ทำตามรสชาติงานช่างแบบพื้นเมือง ซึ่งให้คุณค่าจนเกิดเป็นเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะตัว
ผลงานเขียนภาพลายเส้นโดย อาจารย์กิตติสันต์ ศรีรักษา
สิม หรือ อุโบสถหลังเก่า วัดขะยูงวนาราม ตำบลขะยูง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ สร้างปี 2422
ผู้เขียน : ติ๊ก แสนบุญ
ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมกราคม 2559
วัฒนธรรมงานช่างประเภทศาสนาคาร สิม หรือที่เรียกกันตามสมัยนิยมยุคปัจจุบันว่า โบสถ์ หรือ พระอุโบสถ ตามคำเรียกในวัฒนธรรมงานช่างภาคกลาง หากในรากศัพท์สำเนียงไท-อีสานโบราณ นิยมเรียกกันอย่างสามัญว่า "สิม" ซึ่งสันนิษฐานกันว่ากร่อนมาจากคำว่า "สีมา" โดยสิมหรือโบสถ์ ถือเป็นศิลปะสถาปัตยกรรมที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของวัดในอีสาน แม้จะไม่มีระเบียบแบบแผนการวางผังที่ชัดเจนมากนัก
วิหารยุคอีสานเก่าในวัฒนธรรมลาว ณ วัดหลวง วัดแรกสร้างของเมืองอุบล (สร้างราว พ.ศ. 2337) เมื่อชำรุดได้รื้อไปราว พ.ศ. 2492 (ภาพโดย คุณพ่อบำเพ็ญ ณ อุบล ปราชญ์เมืองอุบลผู้ล่วงลับ) ศิลปะสถาปัตยกรรมที่สืบต่อสายสกุลช่างหลวงล้านช้าง ในบริบทพื้นที่การเมืองอีสานของกลุ่มเจ้านายพื้นเมืองที่สืบทอดรูปแบบในเชิงช่างมาจากวัฒนธรรมหลวงล้านช้าง
"สิม" ยุคอีสานเก่าวัฒนธรรมลาว วัดกลางมิ่งเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด (ภาพจากหอจดหมายเหตุ) สิมสกุลช่างหลวงหลังนี้มีประวัติว่า เจ้าอนุวงศ์ มาสร้างไว้เป็นอนุสรณ์ โดยมีช่างจากราชสำนักเวียงจันทน์ และสยามมาร่วมสร้าง และมีการบูรณะซ่อมสร้างครั้งสำคัญ ในยุคอุดมการณ์สร้างความเป็นไทย พ.ศ. 2483-84 โดย นายช่างคำหมา แสงงาม
สิมอีสานในยุคก่อน พ.ศ. 2475 นโยบายของรัฐช่วงนี้จนถึงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ภาพรวมมีลักษณะมุ่งเน้นการควบคุมส่วนภูมิภาคมากกว่าการให้บริการ ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งที่รัฐใช้เพื่อผนึกภูมิภาคนี้ ให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในกรอบของพื้นที่การเมืองรัฐไทย โดยภาพรวมพื้นที่การเมืองในภาคอีสานมีอิทธิพลศิลปะสถาปัตยกรรมแบบอย่างวัฒนธรรมลาวล้านช้าง เป็นวัฒนธรรมกระแสหลัก โดยสิมอีสานล้วนมีรูปแบบลักษณะแบบอย่างศิลปะลาวล้านช้าง ในรูปแบบสายสกุลช่างพื้นบ้าน ซึ่งมีเหตุปัจจัยมาจากความมีพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรม และการเมืองร่วมกัน โดยเฉพาะมิติทางด้านเชื้อชาติ ดั่งตัวอย่างร่องรอยศิลปะสถาปัตยกรรมสกุลช่างหลวงล้านช้าง
สิมในยุคอีสานเก่า ณ วัดไตรภูมิ บ้านผือฮี จังหวัดร้อยเอ็ด
โดดเด่นด้วยเอวขันเอกลักษณ์สกุลช่างเมืองร้อยเอ็ด ที่ได้รับการบูรณะคืนชีวิตรูปแบบเดิมอีกครั้ง
ดั่งที่ปรากฏหลักฐานอยู่ตามหัวเมืองสำคัญต่างๆ เช่น กลุ่มการเมืองสายพระวอพระตาแห่งเมืองเวียงจันทน์ ที่แยกตัวและสถาปนาเป็นกลุ่มอำนาจทางการเมืองใหม่ในพื้นที่อีสาน ดั่งที่ปรากฏหลักฐานการสร้างวิหารวัดหลวง ซึ่งเป็นวัดแรกในการตั้งเมืองอุบลราชธานี (สร้างราว พ.ศ. 2337 และเมื่อชำรุดทรุดโทรมจึงได้รื้อทิ้งใน พ.ศ. 2492) หรือจะเป็นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ดั่งปรากฏหลักฐานที่รูปแบบสิมของวัดกลางมิ่งเมือง แห่งเมืองร้อยเอ็ด และในแหล่งพื้นที่การเมืองสำคัญอื่นๆ เช่น สิมวัดพระเหลาเทพนิมิต อำเภอพนา จังหวัดอำนาจเจริญ สิมวัดมหาธาตุ วัดศรีคุณเมือง เมืองเลย วิหารวัดมโนภิรมย์ เมืองมุกดาหาร ทั้งหมดล้วนมีอิทธิพลศิลปะแบบอย่างสายสกุลช่างหลวงล้านช้างทั้งทางตรงและทางอ้อม
โดยในยุคสมัยนี้หากมองด้วยกรอบแนวคิดล้านช้างนิยม จะถือได้ว่าเป็นยุครุ่งเรืองในงานช่างแขนงนี้ ที่ผู้เขียนเรียกว่าศิลปะสถาปัตยกรรมยุคอีสานเก่า
ในบทความนี้ผู้เขียนยังนำเสนอ "สิม" หรือ "วิหาร" ในอีสาน ในมิติแห่งห้วงกรอบของเวลาแต่ละยุคสมัย โดยได้แบ่งพัฒนาการตามปัจจัยเงื่อนไขทางสังคมออกเป็น 3 ช่วงสำคัญ คือ
สิมสกุลช่างญวน ลักษณะเดิมก่อนดัดแปลงเทิบด้านหน้าของวัดบ้านค้อแขม อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
เป็นสิมที่สร้างราว พ.ศ. 2476-79 สันนิษฐานว่าเป็นอีกผลงานหนึ่งของช่างนา เวียงสมศรี
โดยเริ่มมีการผสมผสานความเป็นไทยผ่านลักษณะซุ้มหน้าต่างแบบอย่างซุ้มบันแถลงไทย
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 เป็นครั้งแรกที่รัฐมีนโยบายให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง โดยผ่านผู้แทนราษฎร หากพิเคราะห์ในมิติด้านสภาพเศรษฐกิจ สังคมอีสานในช่วงนี้ รัฐบาลให้ความสนใจต่อภาคอีสานด้วย เพราะกลัวจะกลายเป็นของฝรั่งเศส โดยสรุปได้ว่า การขยายตัวของรัฐในช่วงนี้ เป็นไปเพื่อเสริมกระบวนการสร้างชาติของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยม โดยเฉพาะนโยบายที่เน้นการผลิตเพื่อขายนั้น มีผลกระทบต่อภาคอีสานอย่างมาก และในมิติทางสังคมการเมืองในช่วง ๒๕ ปีดังกล่าวนี้ ศาสนาคาร โดยเฉพาะ "สิม" และ "อาฮาม" (วิหาร) ในยุคนี้ถือได้ว่า เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญจากวัฒนธรรมลาวล้านช้างมาสู่วัฒนธรรมราชสำนักกรุงเทพฯ ที่สัมพันธ์เชื่อมโยงไปกับปัจจัยสังคมการเมืองในขณะนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดยเฉพาะตั้งแต่สมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ครองอำนาจทางการเมืองตลอดระยะเวลาในช่วง 15 ปี ซึ่งแบ่งเป็น 2 ช่วงเวลา คือ ช่วงที่ 1 พ.ศ. 2481 - 87 และช่วงที่ 2 ตั้งแต่ พ.ศ. 2491 - 2500 ห้วงเวลาดังกล่าวสภาพสังคมวัฒนธรรมอีสานในขณะนั้น ได้มีการปรับตัวมาแล้วอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัจจัยทางการพัฒนาการคมนาคมและการสื่อสาร เช่น มีการขยายเส้นทางการรถไฟ ผลที่ตามมาประการหนึ่งของการขยายการคมนาคมจากส่วนกลางเข้าไปในภาคอีสานนี้ ทำให้คนในภาคอีสานได้รับการติดต่ออย่างใกล้ชิดกับคนในภาคกลางมากขึ้น ก่อให้เกิดความรู้สึกว่ากรุงเทพฯ คือศูนย์กลางทางการเมืองและเศรษฐกิจอย่างแท้จริง (สุเทพ สุนทรเภสัช. หมู่บ้านอีสานยุคสงครามเย็น. 2521, น. 13.) ปัจจัยแวดล้อมด้านการคมนาคมเหล่านี้มีส่วนอย่างมากต่อการปรับเปลี่ยนรสนิยม ความชอบต่อรูปแบบศิลปะศาสนาคารอย่างสิม โดยเฉพาะประเด็นสำคัญอย่างการเข้าถึงวัสดุ และเทคโนโลยีการก่อสร้าง ผ่านวิถีวัฒนธรรมการค้าแบบใหม่ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ได้ส่งผลให้วัฒนธรรมงานช่างแบบเครื่องไม้ ปรับเปลี่ยนมาสู่วัฒนธรรมงานก่ออิฐถือปูน
ค่อนข้างเข้มข้นชัดเจนมากขึ้นควบคู่ไปกับสกุลช่างอื่นๆ ในลักษณะผสมผสานทั้งวัฒนธรรมภายนอกและของท้องถิ่น เช่น สิมแม้จะมีกลุ่มช่างญวนเป็นนายช่างใหญ่ในการก่อรูปศิลปะศาสนาคาร แต่ช่างท้องถิ่นในชุมชนก็ยังมีส่วนร่วมไม่ว่าจะเป็นงานไม้แกะสลักบานประตู หน้าต่าง คันทวย เครื่องลำยอง อย่างช่อฟ้าปราสาทหางหงส์ หรืออย่างงานตกแต่งอย่างฮูปแต้ม หรืองานจิตรกรรม อย่างกรณีของ วัดสนวนวารีพัฒนาราม เมืองขอนแก่น วัดโพธิ์ชัยโคกใหญ่ เมืองกาฬสินธุ์ วัดโพธิ์คำ เมืองนครพนม เป็นต้น
สิมวัดทุ่งศรีเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ศิลปะเชิงช่างหลวงล้านช้างผสานกับสกุลช่างหลวงกรุงเทพฯ ยุคต้น
ซึ่งมีการบูรณะมาอย่างต่อเนื่อง ถือเป็นสิมต้นแบบของสกุลช่างเมืองอุบลที่มีลักษณะไทย ก่อนการเข้ามาของโบสถ์มาตรฐาน ก ข ค
ในยุควัฒนธรรมการเมืองเรื่องความเป็นไทยแห่งชาติ
โดยระยะแรกกลุ่มช่างญวนมักเน้นรูปทรงและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมอย่างง่ายๆ (ซึ่งเป็นหลักพัฒนาการพื้นฐานทางศิลปะ) นอกเหนือจากในบางพื้นที่ที่เปิดโอกาสการให้กลุ่มช่างญวนเหล่านั้น แสดงออกในเชิงศิลปะญวนได้อย่างเต็มที่ ดังกรณี สิมวัดบ้านเซเป็ด วัดบ้านกระเดียน อำเภอตระการพืชผล (มีหอแจก และสิม และธาตุ) วัดธรรมละ อำเภอเหล่าเสือโก้ก (มีหอธรรมาสน์และหอแจกที่มีการตกแต่งรูปทรงและลวดลายด้วยศิลปะอย่างญวน) จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งทั้งหมดมีลักษณะการแสดงออกแบบอย่างศิลปะญวนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการใช้รูปลวดลายประดับ เมื่อเปรียบเทียบกับแหล่งข้อมูลอื่น แม้แต่ในเขตพื้นที่ที่มีกลุ่มคนญวนอยู่หนาแน่นอย่าง นครพนม สกลนคร มุกดาหาร
แม้ในช่วงต้น 15 ปีแรก รูปแบบอาจจะยังไม่ชัดเจนนัก ด้วยเพราะลักษณะเฉพาะของสังคมวัฒนธรรมอีสาน ที่มีพื้นที่กว้างใหญ่เข้าถึงลำบาก และรวมถึงมีจำนวนประชากรมาก ทำให้เป็นปัจจัยสำคัญก่อให้เกิดความหลากหลาย และมีอิสระในการสร้างสรรค์ ทั้งกลุ่มที่ต้องการสืบสานรูปแบบวัฒนธรรมล้านช้างแบบอนุรักษนิยม และกลุ่มสกุลช่างญวน หรือกลุ่มที่ผสมผสานวัฒนธรรมพื้นเมืองกับรูปแบบภายนอก ดั่งกรณี สิมวัดบ้านเอียด เมืองมหาสารคาม ที่มีการบูรณาการเชิงช่างหรือบางส่วนก็สอดแทรกกรอบแนวคิดเรื่อง อุดมการณ์ร่วมของผู้คนในสังคมให้มีความหวังในโลกหน้าอย่างแน่นแฟ้น คือ การอดออม อดทน สร้างบุญบารมีชาตินี้เพื่อเสวยสุขในโลกหน้า (โลกพระศรีอาริย์)
แต่ท้ายที่สุด ทุกสายสกุลช่างต่างๆ ก็ปรับตัวยอมรับ เข้าหารูปแบบสายสกุลช่างราชสำนักกรุงเทพฯ ที่ทรงพลัง อย่างต่อเนื่อง โดยมีทั้งปัจจัยภายในและภายนอก จากนโยบายรัฐนิยมแห่งความเป็นไทย ที่เริ่มเข้มข้นตั้งแต่ พ.ศ. 2483 เป็นต้นมา ดั่งที่มีการผลิตสร้างแบบโบสถ์ สำเร็จรูป ก ข ค ของกรมศิลปากรซึ่งออกแบบโดย พระพรหมพิจิตร
แต่ในพื้นที่อีสานช่วงแรกๆ อิทธิพลดังกล่าวก็ยังถือว่าเข้ามามีบทบาทไม่มากนักสำหรับวัดชนบทรอบนอก โดยความเข้มข้นจะเกิดกับวัดในเขตเมืองเป็นส่วนใหญ่ ตามสายการปกครองคณะสงฆ์ไทยที่เป็นส่วนหนึ่งแห่งกลไกการสร้างชาติด้วยวัฒนธรรมประดิษฐที่ว่า ลักษณะไทย และทั้งหมด ได้กลืนกลายรสนิยมจากวัฒนธรรมงานช่างล้านช้าง มาสู่สกุลช่างญวน มาสู่สายสกุลช่างแบบอย่างศิลปะไทยราชสำนักกรุงเทพฯ
แม้การสร้างในความเป็นจริงจะไม่ได้ลอกเลียนลักษณะโบสถ์แบบ ก ข ค ทั้งหมดแต่อย่างใด หากแต่เป็นการผสานผสมในรสนิยมเชิงช่างร่วมกัน ที่อาจอธิบายได้ว่าที่เป็นเช่นนั้น เพราะด้วยข้อจำกัดด้านเทคนิควัสดุการก่อสร้าง หรือแม้แต่ฝีมือช่างที่มีข้อจำกัดของความถนัด ความชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน และสำคัญจะเป็นความตั้งใจหรือไม่ก็ตาม ช่างพื้นถิ่นอีสานก็เรียนรู้พัฒนาฝีมือกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของสายสกุลช่างของตนเอง แม้แต่กลุ่มช่างญวนส่วนใหญ่ก็สามารถเรียนรู้ความเป็นไทยในเชิงศิลปะมากขึ้น จนสามารถจัดอยู่ในกลุ่มช่างราชสำนัก เช่น สายสกุลช่างญวนที่มีฝีมือที่โดดเด่นมากในแถบอีสานเหนืออย่าง องแมด จันดี หรือที่เรียกกันว่า องแมด ก็สร้างสรรค์ผลงานออกมาอย่างมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเช่น วัดกลาง และอีกหลายแห่งในจังหวัดนครพนม หรือในแถบอุดรธานีก็มี องกู่วันฝ่อ ซึ่งมีผลงานสำคัญในการสร้างศาลากลางหลังเก่า ของจังหวัดอุดรธานี เป็นต้น
ลวดลายรูปทรงลักษณะไทยที่ด้านหลังสิมสกุลช่างญวน ณ วัดแก้วรังสี อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี
สร้างเมื่อ พ.ศ. 2485 ฝีมือ องนา เวียงสมศรี
โดยศิลปะไทยมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วง พ.ศ. 2487 เป็นต้นมา และแพร่หลายมากในช่วง พ.ศ. 2491 - 2500 ซึ่งถือเป็นช่วงสุดท้ายของการครองอำนาจทางการเมืองสูงสุดของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม กับบทบาททางการเมือง
กลุ่มสกุลช่างญวน ถือเป็นสกุลช่างสำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนในการสร้างนวัตกรรมด้านศาสนาคารอีสาน ผ่านปัจจัยตัวแปรจากการกดขี่ด้านการนับถือศาสนาหรือการเคลื่อนย้ายหนีภัยการเมืองภายใน และปัจจัยการเมืองภายนอกจากภาวะสงคราม ในยุคสมัยการล่าอาณานิคมของฝรั่งเศส การเข้ามาของกลุ่มชาวญวนในหลายช่วงเวลา ซึ่งในแถบอีสานใต้มีนายช่างญวนที่มีชื่อเสียง และผลงานที่โดดเด่นมากท่านหนึ่งที่ชื่อ องนา เวียงสมศรี ดั่งปรากฏหลักฐานผลงานออกแบบก่อสร้างชิ้นสำคัญอย่างน้อยตั้งแต่ในพ.ศ. ๒๔๗๓ ดังผลงานที่ปรากฏอยู่ที่ สิมและธาตุวัดโพนเมือง (มีลักษณะศิลปะไทย) และวัดบ้านกระเดียน เมืองอุบลราชธานี สร้างแล้วเสร็จ พ.ศ. 2477 (มีลักษณะศิลปะแบบญวนผสมตะวันตก) และในแถบอีสานเหนือจะมี องแมด จันดี ที่มีผลงานอยู่มากมายในแถบนครพนม
ในส่วนช่างท้องถิ่น จะมี นายช่างคำหมา แสงงาม และ นายช่างหล้า จันทรวิจิตร ซึ่งเป็นศิษย์เอกแห่งสำนักพระครูวิโรจน์ รัตโนบล ช่างพระที่มีชื่อเสียงในงานช่างซึ่งได้ไปบูรณะองค์พระธาตุพนม จุดเด่นของสายสกุลช่างสำนักนี้คือ มีรูปแบบที่รับอิทธิพลจากราชสำนักกรุงเทพฯ ค่อนข้างมาก จากข้อมูลทำให้เห็นว่ากลุ่มช่างท้องถิ่นเหล่านี้ส่วนใหญ่ ได้เคยร่วมงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเชิงช่างซึ่งกันและกัน เช่น สายสกุลช่างหล้า จันทรวิจิตร ได้เคยร่วมงานกับ องนา เวียงสมศรี เป็นต้น และในด้านเทคนิคการก่อสร้างที่โดดเด่นในยุคนี้คือ การประดับรูปลวดลายปูนปั้นสด แบบนูนต่ำ ซึ่งเป็นลักษณะร่วมกันที่สำคัญ ส่วนเทคนิคงานไม้แกะสลักและงานโครงสร้างไม้ เป็นบทบาทของช่างพื้นถิ่น
มังกรในลักษณะไทย สร้าง พ.ศ. 2477 ฝีมือของ องนา เวียงสมศรี นายช่างใหญ่ชาวญวนแห่งอีสานใต้ เครดิตภาพ : ติ๊ก แสนบุญ
สิมไม้เก่า วัดโพธิ์บัลลังก์ อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร ถือเป็นสิมไม้ขนาดใหญ่ที่สุดในอีสาน
โดยทำหน้าที่เป็นหอแจกด้วย สร้างราว พ.ศ. 2500
ยุคสงครามเย็น ช่วงนี้แม้การเมืองในกระแสหลักจะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล แต่ในแง่การดำเนินนโยบายทางวัฒนธรรม ยังคงสืบต่ออุดมการณ์ชาตินิยม ที่รัฐบาลยุคสมัย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ทำไว้ แต่ที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นคือ การพัฒนาบ้านเมืองในยุคที่เรียกได้ว่า เป็นยุคน้ำไหล ไฟสว่าง ถนนหนทางดี ภายใต้แรงกดดันทางการเมืองทั้งจากภายในและภายนอก ในการช่วงชิงมวลชนของสองค่ายลัทธิการเมืองของค่ายเสรีนิยมที่มีอเมริกาเป็นผู้นำ กับค่ายสังคมนิยมที่มีรัสเซียและจีนเป็นผู้นำ ด้านสังคมมีความหลากหลายในระบบความเชื่อด้านการศาสนาต่างๆ มีการขยายวัดสาขา วัดป่าเป็นจำนวนมาก งานช่างศาสนาคารสมัยนั้นมักแสดงออกและผลิตซ้ำถึงความเป็นไทย มากกว่าการสร้างสรรค์ในลักษณะลาว
สิมอีสานในวัฒนธรรมเขมรที่มีการซ่อมสร้างราว พ.ศ. 2500 โดยจะมีขนาดพื้นที่การใช้งานมากกว่าสิมในวัฒนธรรมลาว
โดยกลุ่มช่างอาชีพท้องถิ่นกลุ่มเก่าไม่ว่าจะเป็น สำนักช่างคำหมา แสงงาม สำนักช่างหล้า จันทรวิจิตร ช่างนา เวียงสมศรี หรือกลุ่มช่างอุทัยทอง จันทร์ทร ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยส่วนมากจะเป็นช่วงเริ่มต้นของกลุ่มลูกศิลป์หรือลูกๆ ของเจ้าสำนักต่างๆ โดยยังเป็นการสืบต่อรูปแบบจากยุคที่แล้ว โดยที่โดดเด่นมากในแถบอีสานใต้น่าจะเป็นกลุ่มสายช่างนา ที่ส่งต่อให้ลูกชายคือ ช่างเรียน เวียงสมศรี ที่สร้างอัตลักษณ์ให้กับตัวเองด้วยการคิดค้นปรับประยุกต์ลวดลายเขมร มาใช้ในการสร้างสรรค์ศาสนาคารต่างๆ โดยสร้างแนวคิดที่อ้างอิงวัฒนธรรมพื้นถิ่นเขมร เป็นต้น
สิมร่วมสมัยที่ใช้วัสดุตกแต่งจากวัสดุเหลือใช้ อย่างขวดแก้ว ณ วัดป่ามหาเจดีย์แก้ว ในอำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ
หรือรู้จักกันในชื่อ วัดล้านขวด สร้างใน พ.ศ. 2527
ช่วง พ.ศ. 2510 - 2525 ช่วงเวลานี้ในวัฒนธรรมกระแสหลัก ถือเป็นห้วงที่กระแสการอนุรักษ์และพัฒนาสู่รูปแบบร่วมสมัย การสร้างสรรค์ในอีสานยุคนี้ก็มีการออกแบบในลักษณะพื้นถิ่นในนิยามใหม่ โดยที่ผู้มีบทบาทสำคัญไม่ใช่กลุ่มนายช่างอาชีพอย่างแต่ก่อน หากแต่เป็นกลุ่มปัญญาชนที่เป็นผลผลิตของการศึกษาในระบบวิชาชีพที่เรียกว่า สถาปนิก ที่เป็น อาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษาท้องถิ่น จากเดิมที่เคยผูกขาดอยู่กับกลุ่มช่างอาชีพของท้องถิ่น โดยช่างกลุ่มใหม่นี้มีเอกลักษณ์รวมกันคือ การอ้างอิงแนวคิดที่ตีความสถาปัตยกรรมศาสนาในมิติเชิงปรัชญา ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในวิถีสังคม จารีต ในวัฒนธรรมพื้นบ้านอีสาน
ดังตัวอย่างผลงานการออกแบบสำคัญที่เคยนำเสนอไปแล้วอย่าง โบสถ์วัดศาลาลอยที่โคราช ผลงานของ วิโรฒ ศรีสุโร ซึ่งสร้างราว พ.ศ. 2510 แล้วเสร็จ พ.ศ. 2516 โดยท่านถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในฐานะอาจารย์ ผู้บุกเบิกอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมอีสานในอดีต มาตีความรับใช้สังคมใหม่ ที่เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ ต่อการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นร่วมสมัยต่อมาในอีสาน
อุโบสถวัดหนองป่าพง อุบลราชธานี ตามแนวคิดของ หลวงพ่อชา สุภัทโท สร้างในปี พ.ศ. 2519
เขียนแบบโดย อาจารย์บำเพ็ญ พันธ์รัตนอิสระ วิทยาลัยเทคนิคโนโลยีและอาชีวศึกษา จังหวัดนครราชสีมา
อุโบสถของวัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ที่แนวคิดในการก่อสร้างมาจาก หลวงพ่อชา สุภัทโท ที่ท่านปรารภว่า "วัดป่าพงเป็นวัดใหญ่ มีพระอยู่อาศัยมาก และมีวัดสาขามากมาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงต้องการให้ออกแบบโบสถ์ที่มีขนาดกว้างใหญ่ สามารถให้พระสงฆ์มารวมกันทำพิธีทางศาสนาได้ถึง 200 รูป เป็นอย่างน้อย ให้พื้นโบสถ์ยกลอยสูงขึ้นจากพื้นดิน พื้นโบสถ์ส่วนที่ลอยนี้ จะใช้เป็นถังเก็บน้าฝนขนาดใหญ่ เพราะวัดมักจะกันดารน้ำในฤดูแล้ง ไม่ควรมีช่อฟ้าใบระกา ตลอดทั้งสิ่งประดับฟุ่มเฟือยต่างๆ เพียงแต่ให้หลังคาคุ้มแดดคุ้มฝนได้ ก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องมีผนัง ประตู หน้าต่าง พื้นโบสถ์ที่อยู่สูงทำให้ทุกคนมองเห็น และมีความรู้สึกว่าได้ร่วมพิธีกรรม มุ่งในประโยชน์ใช้สอย ประหยัด แข็งแรงทนทาน รูปแบบอาคารให้พยายามดึงเอาส่วนที่เป็นเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรม ศิลปกรรมพื้นเมืองอีสาน เข้ามาผสมปนเปด้วย" เขียนแบบโดย อาจารย์บำเพ็ญ พันธ์รัตนอิสระ อาจารย์แผนกสถาปัตยกรรมศาสตร์ วิทยาลัยเทคนิคโนโลยีและอาชีวศึกษา จังหวัดนครราชสีมา เป็นทั้งสถาปนิกและวิศวกรอำนวยการสร้าง ดังนั้น ศาสนาคารที่สร้างสรรค์ในยุค พ.ศ. 2516 - 2525 จัดเป็นช่วงอรุณรุ่งของศิลปะศาสนาคารอีสานร่วมสมัยยุคแรก โดยมีกลุ่มสถาปนิกในระบบเข้าไปมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์
ซึ่งสัมพันธ์แนบแน่นกับสภาพแวดล้อมทางสังคม การเมืองสมัยนั้นๆ ที่เป็นสังคมยุคแห่งความรุ่งเรืองของสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ พร้อมๆ กับสภาพเศรษฐกิจใหม่ที่ผูกโยงสัมพันธ์กับการเมืองโลก ซึ่งยังอยู่ในช่วงสงครามเย็น ที่ใช้อุดมการณ์ทางการเมือง ที่มุ่งเน้นความก้าวหน้าทันสมัยสะท้อนให้เห็นการใช้เทคโนโลยีโครงสร้างอาคาร (จิตวิญาณความเป็นสมัยใหม่ผ่านวัสดุคอนกรีต เหล็ก กระจก และเน้นสร้างสุนทรีย ความงามตามสัจจะวัสดุ) และวัสดุผสานกับคตินิยมบางอย่างของท้องถิ่น ด้วยกระเบื้องดินเผ่าด่านเกวียน ซึ่งเป็นวัสดุตกแต่งอาคารพื้นถิ่นที่เป็นที่นิยมมากในยุคนั้น นับเป็นจุดเปลี่ยนแรกที่สำคัญในงานออกแบบสถาปัตยกรรมใหม่ที่รับใช้ศาสนาอย่างแท้จริง
สิมร่วมสมัยที่ผสมผสานเชิงช่างแบบวัฒนธรรมจารีตในหลายรูปลักษณ์ ณ วัดเขาพระอังคาร
ตำบลเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์
สิมอีสานกับการให้ความหมายใหม่ กับเสรีภาพการแสดงออกผ่านการตีความใหม่ ภายใต้ปรัชญาธรรม ณ วัดป่าเนรัญชราวนาราม อำเภอบึงบูรพ์ จังหวัดศรีสะเกษ สร้างใน พ.ศ. 2540 - 2542 โดยการนำสร้างของหลวงพ่อหมอ (พระครูวีรญาณโสภณ เจ้าอาวาส) ตามที่ท่านได้นิมิต โดยต้องการให้เรือแห่งนี้มีการใช้งานหลายอย่างโดยเป็นทั้งโบสถ์ วิหาร เจดีย์ และศาลาการเปรียญในอาคารหลังเดียวกัน ซึ่งท่านออกแบบให้เป็นเสมือนเรือพิฆาตสังสารวัฏ
ใน พ.ศ. 2534 ถือเป็นช่วงสิ้นสุดสงครามเย็น มีการปรับเปลี่ยนนโยบายการเมือง การปกครอง ที่เน้นการกระจายอำนาจการบริหารจากส่วนกลาง ลงสู่ท้องถิ่นมากขึ้น นักการเมืองท้องถิ่นสร้างอิทธิพลมากขึ้นโดยเชื่อมโยงกับการเมืองในระดับชาติ มีการแสดงออกทางความคิดทางการเมืองที่เข้มข้นเสรีอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ชนชั้นล่างชาวนาชาวไร่ที่เป็นชนชั้นแรงงาน มีความรู้เท่าทันทางการเมืองผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ ความรุ่งเรืองของสื่อวิทยุท้องถิ่น ทำให้คนอีสานก้าวข้ามความเป็นสังคมชนบทสู่สังคมเมือง โดยมีแรงขับเคลื่อนผ่านผู้แทนพรรคการเมือง สร้างสิทธิความชอบธรรมเสมอภาคจากชนชั้นกลางในเมือง แรงปรารถนาแห่งความอยากมี อยากเป็น ทำให้วิถีสังคมอีสานเปลี่ยนแปลงไปจากวิถีสังคมเกษตรแบบพอเพียงในโลกอุดมคติได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง
สิม วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี สร้างราว พ.ศ. 2542 โดยตกแต่งต่อเติมเรื่อยมาจนถึง พ.ศ. 2557
โดยอิงต้นแบบจากวัดเชียงทอง แขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว มาสร้างจุดขายสำคัญด้วย ฮูปแต้มนูนต่ำ เป็นต้นกัลปพฤกษ์ เรืองแสง
โลกทรรศน์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้งานช่างในยุคนี้ ถือเป็นห้วงเวลาที่การสร้างสรรค์ศิลปะศาสนาคารอีสาน มีความหลากหลายอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยกลุ่มช่างอาชีพได้พยายามพัฒนารูปแบบงานในแบบฉบับของตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยการศึกษาจากภาพถ่าย หนังสือ ตำรา หรือบ้างก็เดินทางไปศึกษาดูงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตามแหล่งศิลปะสถาปัตยกรรม วัดต่างๆ ที่มีความประทับใจ
สิมอีสานร่วมสมัย ทำเป็นรูปทรงยานพาหนะสำคัญทางบก วัวเทียมเกวียน ณ วัดพระธาตุเรืองรอง อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ
ตามเงื่อนไขตัวแปรสำคัญ คือ รสนิยมของทั้งตัวนายช่าง สมภาร คณะกรรมการวัด และเจ้าศรัทธา และในกลุ่มช่างพื้นบ้านก็มี ช่างพระ โดยเฉพาะสมภารเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการเป็นต้นคิดในการออกแบบ สร้างสรรค์ตามจินตนาการใหม่ ทั้งในรูปแบบที่ต้องการแสดงถึงการตีความสัจธรรม คำสอน ผ่านการสร้างสรรค์ หรือจะเป็นกลุ่มที่มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนในแง่การใช้วัสดุเหลือใช้ เช่น แนวคิดการออกแบบสร้างวัดล้านขวด เมืองศรีสะเกษ หรือคติการสร้างสิมในรูปลักษณะของเรือสำเภา หรือเรือสุพรรณหงส์ ซึ่งปรากฏอยู่ในหลายพื้นที่ หรือบ้างก็จะสร้าง สิม วิหาร หอแจก รวมอยู่ในหลังเดียวกัน เป็นที่นิยมมากในวัดที่สร้างในยุคหลังๆ โดยเฉพาะวัดป่าที่เริ่มขยายตัวเพิ่มมากขึ้น
สิมสกุลช่างญวนเมืองนครพนม โดดเด่นด้วยการทำรูปลวดลายนูนต่ำถือเป็นเอกลักษณ์สิมของเมืองนครพนมรูปแบบหนึ่ง
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ล้วนแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ในเชิงช่าง ไปกับบริบทพื้นที่สังคมวัฒนธรรมใหม่ที่ว่า ด้วยความเสมอภาค และโดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพการแสดงออกในเชิงช่าง ที่สัมพันธ์ไปกับคุณลักษณะเฉพาะแบบ วิถีวัฒนธรรมแบบสังคมชาวบ้าน ที่เปลี่ยนผ่านความเรียบง่ายในโลกอุดมคติแห่งความพอเพียง ด้วยวิถีชาวบ้าน ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่เป็นวัฒนธรรมที่มีลักษณะเปิดกว้างและให้อิสระเสรีในการแสดงออก ไม่มีกรอบกฎเกณฑ์ผูกขาด
สิมกลางน้ำ วัดสระประสานสุข หรือวัดบ้านนาเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
อันเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ช่างไม่ว่าจะเป็นสายสกุลช่างพื้นบ้าน พื้นเมือง หรือช่างต่างถิ่นอย่างสายสกุลช่างญวน และกลุ่มช่างในระบบราชการ ที่สามารถจะออกแบบสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมประเภทศาสนาคาร อย่างมีความหลากหลาย ทั้งแบบอนุรักษนิยม และแบบร่วมสมัยไร้ตัวตน ในรสนิยมใหม่แห่งวิถีสังคมชาวนา และสังคมเมืองพื้นถิ่น ซึ่งต่างก็ต้องการการยอมรับในความมีและความเป็นมาตั้งแต่อดีต มาจนถึงปัจจุบันสมัยภายใต้รูปลักษณ์แห่งสังขารใหม่ในเงื่อนไขตามบริบทใหม่ที่แตกต่างจากในอดีตอย่างสิ้นเชิง
รายการ "กระจกหกด้าน" ตอน "สิม"
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)