foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

LP Sing header

หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นพระภิกษุผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ตามพระธรรมวินัย เอาใจใส่การศึกษาปฏิบัติธรรม มีความรู้ความเห็นลึกซึ้ง มีปฏิภาณเทศนาแจ่มแจ้ง โวหารไพเราะจับใจ มีชื่อเสียงด้านวิปัสสนาธุระ ธรรมบาลี อักษรสมัย และวิทยาคม เป็นบุคคลที่มีจิตใจหนักแน่น ประพฤติพรหมจรรย์ บำเพ็ญวิปัสสนาธุระตลอดชีวิต จนได้รับขนานนามว่า "แม่ทัพธรรมพระกรรมฐาน"

สิงห์ ขนฺตยาคโม

พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์ หรือ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม (27 มกราคม พ.ศ. 2432 - 8 กันยายน พ.ศ. 2504) เป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกาย ชาวจังหวัดอุบลราชธานี พระป่ากรรมฐานศิษย์องค์สำคัญของ หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล และ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต

LP Sing 01

ชาติกำเนิด

หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม นามเดิมชื่อ สิงห์ บุญโท ถือกำเนิดเมื่อวันจันทร์ ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 3 ปีฉลู เอกศก จุลศักราช 1251 ตรงกับวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2432 ณ บ้านหนองขอน ตำบลหัวตะพาน อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งในปัจจุบันคือ บ้านหนองขอน ตำบลหัวตะพาน อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ บิดาชื่อ เพียอินทวงษ์ (อ้าน บุญโท) มารดาชื่อ หล้า บุญโท ท่านเป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวนพี่น้องทั้งหมด 7 คน (บุตรคนที่ 5 คือ พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ป.ธ.5 พระน้องชายของหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม)

บรรพชา

ปี พ.ศ. 2446 เมื่อท่านอายุได้ 14 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ สำนักพระอุปัชฌาย์ป้อง ณ วัดบ้านหนองขอน ตำบลหัวตะพาน อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี

ปี พ.ศ. 2449 เมื่อท่านอายุ 17 ปี ได้ย้ายไปอยู่ วัดสุทัศน์ เมืองอุบลราชธานี เพื่อศึกษาเล่าเรียนวิชาความรู้ให้ยิ่งขึ้น และได้บวชซ้ำเป็นสามเณรธรรมยุตในสำนักพระครูสมุห์โฉม ณ วัดสุทัศน์ เมืองอุบลราชธานี เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ตรงกับวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2449 ในปัจจุบันคือ วัดสุทัศนาราม ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี

อุปสมบท

ปี พ.ศ. 2452 เมื่อท่านอายุ 20 ปี ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดสุทัศน์ เมืองอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2452 โดยมี พระศาสนดิลก (อ้วน ติสฺโส) ต่อมาดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาเสน ชิตเสโน ต่อมาดำรงสมณศักดิ์ที่ พระสาสนดิลก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระปลัดทัศน์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และได้พำนักจำพรรษา ณ วัดสุทัศน์ เมืองอุบลราชธานี แห่งนี้ ในปัจจุบันคือ วัดสุทัศนาราม ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี

หลวงปู่ดูลย์ อตุโล กับ หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม ณ วัดสุทัศน์ จังหวัดอุบลราชธานีเมื่อ ปี พ.ศ. 2458 หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ได้กลับจากเขาสาริกา จังหวัดนครนายก ไปพักจำพรรษา ณ วัดบูรพาราม จังหวัดอุบลราชธานี มีกิตติศัพท์ขจรไปว่า ท่านได้สำเร็จธรรมจากเขาสาริกา ดังนั้น พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม จึงได้ไปศึกษากรรมฐานกับ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ท่านให้กรรมฐาน กายคตาสติ ข้อ ปัปผาสะ ปัญจกะ (คือ หทยํ ยกนํ กิโลมกํ ปิหกํ ปปฺผาสํ) ให้เป็นบทบริกรรม ในช่วงปีนี้ พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ได้ถวายตัวเป็นศิษย์ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต พร้อมกับเพื่อนสหธรรมิกคือ พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล เมื่อได้ถวายตัวเป็นศิษย์และได้ฝึกทำสมาธิกับครูบาอาจารย์ จิตใจสงบดี มีความสังเวชสลดใจเกิดความเบื่อหน่ายในการประกอบคันถธุระ เชื่อแน่ว่ายังไม่หมดเขตสมัยมรรคผลนิพพาน เพราะหนทางการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบมีอยู่ จึงตกลงบำเพ็ญด้านวิปัสสนาธุระสืบไป และได้ออกธุดงค์ติดตาม หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต นับแต่นั้นมาไป ซึ่งท่านได้ธุดงค์วิเวกตามป่าเขาสถานที่ต่างๆ ในเขตจังหวัดมุกดาหาร จังหวัดนครพนม จังหวัดหนองคาย

ปี พ.ศ. 2460 หลังออกพรรษา พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ได้เดินทางกลับจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมกับ เด็กชายเทสก์ เรี่ยวแรง เพื่อเยี่ยมอาการป่วยของพี่ชายและน้องชาย ต่อมาพี่ชายได้ถึงแก่กรรม ส่วนน้องชาย คือ พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล หายป่วยและได้เดินทางไปศึกษาเล่าเรียน ณ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร

ในการกลับมาจังหวัดอุบลราชธานีในครั้งนี้ ได้รับบัญชาจาก สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ในขณะดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชมุนี เจ้าอาวาสวัดสุปัฏนารามวรวิหารและเจ้าคณะมณฑลอุบลราชธานี ให้ช่วยสั่งสอนพุทธบริษัทในวัดสุปัฎน์ (วัดสุปัฏนารามวรวิหาร) และวัดสุทัศน์ (วัดสุทัศนาราม) อีกด้วย และหลังออกจากพรรษาในปี พ.ศ. 2461 ท่านได้ออกธุดงค์ติดตามหา หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต และพำนักจำพรรษาในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดอุดรธานี จังหวัดหนองคาย

ปี พ.ศ. 2463 พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ได้ธุดงค์วิเวกไปพักจำพรรษาเพียงลำเพียงรูปเดียว ณ ถ้ำผาบิ้ง อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เมื่อได้โอกาสดีจึงเร่งความเพียรแต่ต้นพรรษา จนถึงกลางเดือน 9 ได้เกิดความอัศจรรย์ทางจิต เกิดความรู้ความเห็นแจ่มแจ้งในพระธรรมวินัย จึงเร่งความเพียรต่อไปตลอดไตรมาส ได้เกิดความเข้าใจว่า "พระพุทธเจ้าทรงเป็นวิภัชวาที (ผู้จำแนกธรรม) ตรัสจำแนกขันธ์ 5 ในตัวเรา หรือ กายกับใจ ออกเป็นพระธรรมวินัยถึง 84000 พระธรรมขันธ์ เมื่อกล่าวความจริงแล้ว ตัวคนเรา หรือ กายกับใจ นี้เป็นตัวอริยสัจทั้ง 4 คือ ทุกข์ ทุกขสมุทัย ทุกขนิโรธ และทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา รวมกันเป็นธรรมแท่งเดียว" ในตอนนี้ท่านบันทึกต่อว่า "ความรู้ที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ละเอียดเฉียบแหลมคมคายมาก รู้จักตัดสินพระธรรมวินัยได้เด็ดขาด ทำให้การปฏิบัติพระธรรมและพระวินัยเป็นไปอย่างเด็ดเดี่ยวมั่นคงและกล้าหาญ"

หลังจากออกพรรษาในปี พ.ศ. 2463 ท่านได้เดินทางไปหา หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ซึ่งพำนักอยู่ที่จังหวัดสกลนคร และธุดงค์ติดตามต่อไปในเขตจังหวัดสกลนคร จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร และในช่วงนี้ได้ท่านได้พำนักกับ หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ซึ่งเป็นครูบาอาจารย์ของ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต อีกด้วย

ปี พ.ศ. 2466 หลังออกพรรษา ปี พ.ศ. 2465 ท่านได้เดินทางกลับจังหวัดอุบลราชธานี เนื่องจากโยมมารดาถึงแก่กรรม และอยู่พำนักจำพรรษา ณ วัดสุทัศน์ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งในการนี้ท่านได้นำ สามเณรเทสก์ เรี่ยวแรง ทำการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดสุทัศน์ หรือ วัดสุทัศนาราม จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2466 โดยมี พระมหารัตน์ รฏฺฐปาโล ป.ธ. 4 เป็นพระอุปัชฌาย์ พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ซึ่งสามเณรเทสก์ เรี่ยวแรง นั้นในกาลต่อมาก็คือ พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (เทสก์ เทสรังสี)

LP Sing 04ในปีนี้ ท่านได้ทำการอบรม พระมหาปิ่น ปญฺญาพโล ป.ธ.5 ผู้เป็นพระน้องชาย ในทางวิปัสสนาธุระ จนกระทั่งพระมหาปิ่นผู้เป็นน้องชายได้ตัดสินใจออกธุดงค์ ปฏิบัติธรรมกรรมฐานศึกษาด้านวิปัสสนาธุระ และเผยแผ่พระธรรมคำสอนสู่ประชาชนเคียงบ่าเคียงไหล่พระพี่ชาย ชื่อเสียงขจรหอมฟุ้งร่ำลือไปไกล จนมีผู้จนเลื่อมใสศรัทธาอย่างกว้างขวางมาจนถึงปัจจุบัน

ปี พ.ศ. 2470 ในวันเพ็ญ เดือน 3 ก่อนเข้าพรรษา คณะพระธุดงค์กรรมฐานของหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ปักหลักอยู่ในเขตจังหวัดอุบลราชธานี และได้จัดประชุมคณะสงฆ์ขึ้นในช่วงวันมาฆบูชา ซึ่งในการนี้ หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ได้ปรารภถึงการออกธุดงค์วิเวกเพียงลำพัง เพื่อพิจารณาค้นคว้าในปฏิปทาสัมมาปฏิบัติ อันเป็นธรรมอันสูงสุด และได้มอบภารธุระทุกอย่างให้แก่ พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม และ พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ศิษย์อาวุโสเป็นผู้บริหารปกครองหมู่คณะสงฆ์ แนะนำพร่ำสอน ตามแนวทางที่ท่านได้ให้ไว้แล้วต่อไป

ปี พ.ศ. 2471 พระครูพิศาลอรัญเขต ในกาลต่อมาก็คือ พระเทพสิทธาจารย์ (จันทร์ เขมิโย) ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดศรีจันทร์ และเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่นในขณะนั้น ได้ทำหนังสือไปนิมนต์พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ศิษย์อาวุโสในองค์หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ให้มาช่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนาธรรมปฏิบัติให้แก่ประชาชนจังหวัดขอนแก่น ท่านจึงได้กราบเรียนปรึกษาหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต เมื่อเห็นว่าเหมาะสมดีแล้ว จึงมอบให้เป็นหน้าที่ของพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม รับนิมนต์

หลังจากออกพรรษาแล้ว พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล กับหมู่คณะสงฆ์ ได้เดินเท้านำกองทัพธรรมจากบ้านนาหัววัว อำเภอกุดชุม จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบันคือ จังหวัดยโสธร) มุ่งสู่จังหวัดขอนแก่น และได้ตั้งสำนักสงฆ์ขึ้นที่ ป่าช้าโคกเหล่างา ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของจังหวัดขอนแก่น ซึ่งปัจจุบันก็คือ วัดป่าวิเวกธรรม อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งในขณะนั้นมีพระสงฆ์สามเณรรวมกันไม่ต่ำกว่า 70 รูป ท่านจึงได้ประชุมคณะสงฆ์ตกลงกันให้แยกย้ายกันไปตั้งเป็น สำนักสงฆ์วัดป่าอรัญวาสี ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น และพื้นที่ใกล้เคียง จึงทำให้วัดป่าอรัญวาสีและคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย ตั้งขึ้นในจังหวัดขอนแก่น และพื้นที่ใกล้เคียงเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้เองจึงนับได้ว่า วัดป่าวิเวกธรรม เป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาฝ่ายอรัญวาสีของภาคอีสานตอนกลาง

ปี พ.ศ. 2475 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ในขณะที่ดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมปาโมกข์ และดำรงตำแหน่งเป็น เจ้าอาวาสวัดสุทธจินดาวรวิหาร และ เจ้าคณะมณฑลนครราชสีมา ได้บัญชาให้ พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายวิปัสสนาธุระ และหลักธรรมคำสอนให้แก่ประชาชนชาวจังหวัดนครราชสีมา ดังนั้น พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม จึงนำหมู่คณะสงฆ์ อาทิ พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ พระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ เดินทางมุ่งสู่งจังหวัดนครราชสีมา

LP Sing 03

ในการนี้ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ดำริให้สร้างวัดป่าอรัญวาสีขึ้น สำหรับคณะสงฆ์ฝ่ายวิปัสสนาธุระ เพื่อใช้จำพรรษาและบำเพ็ญเพียรวิปัสสนากรรมฐาน หลวงชำนาญนิคมเขต ผู้บังคับกองตำรวจกองเมืองนครราชสีมาในขณะนั้น มีศรัทธาถวายที่ดินและรับบัญชาก่อสร้างเป็นสำนักสงฆ์ขึ้น ซึ่งสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ให้นามว่า วัดป่าสาลวัน โดยมี พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก และได้สร้างสำนักสงฆ์ขึ้นอีกแห่ง ซึ่งก็คือ วัดป่าศรัทธารวม โดยมี พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก ในกาลต่อมา ได้มีสร้างวัดป่าอรัญวาสีในเขตจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดใกล้เคียงเพิ่มมากขึ้น

ปี พ.ศ. 2480 สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ในขณะที่ดำรงสมณศักดิ์ที่ พระพรหมมุนี และดำรงตำแหน่งเป็น เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาสราชวรวิหาร และ เจ้าคณะมณฑลนครราชสีมา ได้บัญชาให้ พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เดินทางช่วยท่านเจ้าคุณพระปราจีนมุนี ตั้งวัดป่าอรัญวาสีสำหรับพระฝ่ายวิปัสสนาธุระภาคตะวันออก และไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายวิปัสสนาธุระ และหลักธรรมคำสอนให้แก่ประชาชนชาวจังหวัดปราจีนบุรี ดังนั้น พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม พร้อมด้วย พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ได้เดินทางไปยังจังหวัดปราจีนบุรี ท่านทั้งสองได้ตั้ง สำนักสงฆ์วัดป่าทรงคุณ ขึ้น ปัจจุบันก็คือ วัดป่าทรงคุณ ตำบลดงพระราม อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี และได้ช่วยปฏิสังขรณ์ วัดปากกระพอก อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี ซึงร้างมา 5 ปี ให้กลับคืนสู่สภาพเป็นวัดมีพระภิกษุสงฆ์อยู่ประจำ

ปี พ.ศ. 2483 ในขณะ พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ได้กลับมาพำนักจำพรรษาที่วัดป่าสาลวัน เพื่อสอนพุทธบริษัทให้ฝึกหัดนั่งสมาธิภาวนาเป็นประจำ กระทั่งออกพรรษา คณะชาวบ้านหนองบัวใหญ่ อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ ได้มาอาราธนาให้ไปสร้างสำนักสงฆ์ขึ้นที่ บ้านหนองบัวใหญ่ ท่านจึงได้เดินทางไปสร้างวัดขึ้นและให้ชื่อว่า วัดป่าไพโรจน์ ปัจจุบันคือ วัดป่าสุวรรณไพโรจน์ ต.หนองบัวใหญ่ อำเภอจัตุรัส จังหวัดชัยภูมิ

ในปีนี้ ช่วงที่พำนักอยู่ วัดป่าไพโรจน์ พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ได้เดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเป็นประธานในการจัดงานถวายมุทิตาจิต หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล อายุครบ 80 ปี โดยจัดขึ้น ณ วัดบูรพาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

LP Sing 05

หลวงปู่สิงห์ ขนฺตฺยาคโม เมื่อครั้งยังมีพรรษาไม่มากนัก

ปี พ.ศ. 2485 พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ได้เดินทางไปจังหวัดนครจัมปาศักดิ์ ประเทศไทย ในขณะนั้น เพื่อรับสรีระสังขาร หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ซึ่งได้มรณภาพในอิริยาบถนั่งกราบพระประธานครั้งที่ 3 ในพระอุโบสถวัดอำมาตยาราม อำเภอวรรณไวทยากร จังหวัดนครจัมปาศักดิ์ ประเทศไทย ในขณะนั้น (ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของ แขวงจำปาศักดิ์ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2485 สิริอายุ 82 ปี พรรษา 62 คณะศิษย์ได้เชิญศพของท่านกลับมา ณ วัดบูรพาราม อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี และได้ประกอบพิธีฌาปนกิจในวันที่ 15 - 16 เมษายน พ.ศ. 2486

ในปีนี้ คณะวัดป่าแสนสำราญ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ได้มาอาราธนาให้ไปช่วยสั่งสอนพุทธบริษัทญาติโยม และช่วยสร้างศาลาการเปรียญ เมื่อทำเสร็จแล้วจึงกลับไปจำพรรษา ณ วัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา และ พ.ศ. 2486 ในช่วงเวลานอกพรรษา ได้กลับไปจัดสร้างพระพุทธบาท กว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร พร้อมมณฑป เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธบาท ณ วัดป่าแสนสำราญ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

ปี พ.ศ. 2487 พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ได้ไปพำนักจำพรรษา ณ วัดป่าแสนสำราญ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เนื่องจาก พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล พระน้องชายอาพาธและพำนักจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าแสนสำราญแห่งนี้ อีกทั้ง สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ก็อาพาธและได้มาพักรักษาตัวอยู่ที่วัดสุปัฏนารามวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็ได้บัญชาให้ท่านมาอยู่พำนักจำพรรษาในที่ใกล้ๆ ไปมาเยี่ยมเยียนกันได้ง่าย

ปี พ.ศ. 2489 ในขณะที่พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ได้กลับไปพำนักจำพรรษา ณ วัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา นั้น พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ได้มรณภาพ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2489 ณ ณ วัดป่าแสนสำราญ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ในการนี้ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) ได้บัญชาให้จัดพิธีฌาปนากิจโดยไม่ชักช้า พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม จึงได้จัดพิธีฌาปนากิจ พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2489

LP Sing 06ปี พ.ศ. 2491 พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ได้ไปพำนักจำพรรษา ณ วัดป่าทรงคุณ ตำบลดงพระราม อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัดปราจีนบุรี เพื่ออบรมสั่งสอนคณะพุทธบริษัทวัดป่าทรงคุณ ให้ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ให้เป็นไปเพื่อความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ต่อมาได้สร้าง วัดป่าทรงธรรม ตำบลท่าตูม อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี และท่านได้ไปช่วยคณะสงฆ์จังหวัดเพชรบุรี สร้างวัดธรรมยุตขึ้นในเขตจังหวัดเพชรบุรีอีกด้วย

สมณศักดิ์

ได้รับโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์ตามลำดับ ดังนี้

  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2496 เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ "พระครูญาณวิศิษฏ์"
  • 5 ธันวาคม พ.ศ. 2500 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ "พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์"

ปี พ.ศ. 2504 พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม ได้จัดงาน ผูกพัทธสีมาพระอุโบสถวัดป่าสาลวัน ขึ้น ในการนี้ ได้ถือโอกาสจัดประชุมใหญ่คณะสงฆ์พระกรรมฐาน ทั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคอื่นๆ ได้มีตัวแทนพระภิกษุสงฆ์มาร่วมประชุมเป็นจำนวนมาก เพื่อปรึกษาหารือข้อปัญหาทางพระวินัย และระเบียบการเดินธุดงค์ของคณะพระกรรมฐาน เพื่อป้องกันความเสียหายอันอาจมีขึ้น เนื่องจากการเดินธุดงค์ไปต่างถิ่นห่างไกลครูบาอาจารย์ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2504 และเมื่อเสร็จการประชุมแล้ว คณะสงฆ์ได้พร้อมเพรียงกันสวดถอดถอน และผูกพัทธสีมาพระอุโบสถวัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ในวันที่ 7 - 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2504

มรณภาพ

พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์ (สิงห์ ขนฺตยาคโม) ได้ละวางสังขาร เนื่องจากเป็นโรคมะเร็งในกระเพาะอาหารเรื้อรัง มรณภาพด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2504 เวลา 10.20 น. ณ วัดป่าสาลวัน อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา สิริอายุ 72 ปี พรรษา 52

LP Sing 07

บรรดาศิษยานุศิษย์พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ที่มาในงานประชุมเพลิงสรีระสังขาร “ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ”
เมื่อวันอังคารที่ ๓๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ ณ วัดป่าสุทธาวาส บ้านคำสะอาด ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร

คติธรรมคำสอน

...นักปฏิบัติทั้งหลายในพระพุทธศาสนานี้ พึงเป็นผู้มีศีลเป็นที่รัก มีวัตรปฏิบัติพร้อมบริบูรณ์ และมีธรรมซึ่งมีอุปการะมากเป็นที่เจริญอยู่ จึงเป็นผู้เจริญรุ่งเรือง ธรรมมีอุปการะมาก มีหลายประการ แต่จะกล่าวในที่นี้เฉพาะ 3 ประการ คือ

  1. อปฺปมาโท อมตํ ปทํ พึงเป็นผู้ไม่ประมาท ซึ่งบทธรรมอันไม่ตาย
  2. สติมา ปริมุขํ สติ อุปฏฺฐเปติ พึงเป็นผู้มีสติ เฉพาะหน้าเสมอ
  3. สมฺปชาโน พึงเป็นผู้มีสัมปชัญญะ รู้จิตเสมอ

ธรรม 3 ประการเหล่านี้ เป็นธรรมมีอุปการะมาก นักปฏบัติย่อมเจริญอยู่เป็นนิตย์ ฯ...

พระญาณวิศิษฏ์สมิทธิวีราจารย์ (สิงห์ ขนฺตยาคโม)

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)