คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล หรือ พระราชวุฒาจารย์ เป็นพระภิกษุฝ่ายวิปัสสนาธุระ ชาวสุรินทร์ ศิษย์ของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต พระผู้เลิศทางธุดงควัตร อาจารย์ใหญ่สายพระป่า ในอดีต
หลวงปู่ดูลย์ ถือกำเนิด ณ บ้านปราสาท ตำบลเฉนียง อำเภอเมืองสุรินทร์ เมื่อวันอังคารแรม 2 ค่ำ เดือน 11 ปีกุน ตรงกับวันอังคารที่ 4 ตุลาคม 2430 เป็นปีที่ 20 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โยมบิดาของท่านชื่อ นายแดง โยมมารดาชื่อ นางเงิม นามสกุล ดีมาก หลวงปู่มีพี่น้อง 5 คน คนแรกเป็นหญิงชื่อ กลิ้ง คนที่สองคือตัวหลวงปู่เอง ชื่อ ดูลย์ คนที่สามเป็นชายชื่อ เคน คนที่สี่และห้าเป็นหญิงชื่อ รัตน์ และ ทอง พี่น้องทั้ง 4 คนของท่านมีชีวิตจนถึงวัยชรา และทุกคนเสียชีวิตก่อนที่จะมีอายุถึง 70 ปี มีเพียงหลวงปู่เท่านั้นที่ดำรงอายุขัยอยู่จนถึง 96 ปี
ภายหลังท่านได้เปลี่ยนมาใช้นามสกุล “เกษมสินธุ์” ด้วยเหตุที่นายพร้อม หลานชายของท่านได้ขอให้ตั้งนามสกุลให้ ท่านจึงตั้งว่า “เกษมสินธุ์” แล้วท่านก็เลยได้เปลี่ยนมาใช้นามสกุลนี้ด้วย
ในวัยเด็ก การศึกษาเล่าเรียนของพระอาจารย์ดูลย์ อาศัยวัดเป็นสถานศึกษา โดยมีพระในวัดเป็นผู้อบรมสั่งสอน ซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับการศึกษาในสมัยนั้น วิชาที่เล่าเรียนก็ประกอบไปด้วย การเรียนการสอนเรื่องทางโลก ที่พอให้อ่านออกเขียนได้ และศีลธรรมจรรยามารยาทอันควรประพฤติปฏิบัติ โดยจะมุ่งเน้นที่การฝึกอบรมจิตใจเป็นหลักพื้นฐาน เพื่อเป็นการพัฒนาทางด้านจิตใจของคน ส่วนในเรื่องของวิชาการนั้นจะมีน้อยมาก หรือแทบจะไม่มีเอาเสียเลย เพราะในสมัยนั้นระบบการศึกษาของประเทศยังไม่ดีพอ เด็กชายดูลย์ก็ได้เจริญเติบโตและได้รับการศึกษาอบรมมาแบบนั้นเช่นกัน
เมื่อย่างเข้าสู่วัยหนุ่ม นายดูลย์ได้เป็นเรี่ยวแรงสำคัญของครอบครัว ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่บุตรคนหัวปี แต่ก็ถือว่าท่านเป็นลูกชายคนโตของบ้าน ในช่วงแรกท่านก็ช่วยพี่สาวทำงานบ้าน ต่อเมื่อโตขึ้นต้องแบกรับภาระมากมายทั้งในบ้านและนอกบ้าน ตั้งแต่หาบน้ำ ตำข้าว หุงข้าว เลี้ยงดูน้องๆ และช่วยบิดามารดาทำไร่ไถนา เลี้ยงวัวเลี้ยงควาย เป็นต้น ซึ่งท่านก็สามารถทำได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่องแต่ประการใด
ในบรรดาคนหนุ่มรุ่นเดียวกันแห่งบ้านปราสาท นายดูลย์จัดว่าเป็นหนุ่มหน้าตาดี ได้เปรียบเพื่อนๆ ทั้งด้านรูปสมบัติที่นอกจากจะมีร่างกายแข็งแรง และสุขภาพอนามัยดีแล้ว ยังเป็นผู้ที่มีผิวพรรณหมดจด รูปร่างโปร่ง ได้สัดส่วนสมทรง น่ารักน่าเอ็นดู และมีท่าทางคล่องแคล่ว ว่องไว นอกจากนี้แล้วยังเป็นผู้มีอุปนิสัยที่อ่อนโยนเยือกเย็น ความประพฤติเรียบร้อยซึ่งติดมาตั้งแต่วัยเยาว์ จึงได้รับคำยกย่องชมเชยจากบรรดาญาติพี่น้องและผู้ที่ได้พบเห็นโดยทั่วไป
ด้วยเหตุที่ท่านมีรูปร่างดังกล่าวนั้นเอง พระยาสุรินทร์ภักดีศรีไผทสมันต์ (จรัญ) เจ้าเมืองสุรินทร์ในสมัยนั้น จึงมีบัญชาให้นำตัวนายดูลย์มาร่วมแสดงละครนอกโดยให้เล่นเป็นตัวนางเอก พระอาจารย์ดูลย์เมื่อครั้งรับบทเป็นนางเอกละครนั้น เป็นที่ชื่นชอบของผู้ดูมาก ละครที่ท่านแสดงมีหลายเรื่อง อาทิ ไชยเชษฐ์ จันทรกุมาร ลักษณวงศ์ เป็นต้น อยู่กับคณะละครถึง 4 ปีเศษ แม้ว่าจะอยู่ในสภาพที่น่าลุ่มหลง และเพลิดเพลินเป็นอย่างยิ่ง เพราะท่านเป็นนักแสดงที่ชื่นชอบของผู้คนเป็นจำนวนมาก แต่ท่านมิได้หลงใหลไปกับสิ่งนั้น กลับมีอุปนิสัยโน้มเอียงเข้าหาพระศาสนา และชอบเข้าวัดฟังธรรม ซึ่งแตกต่างจากเด็กหนุ่มทั่วๆ ไป
เนื่องจากมีจิตใจฝักใฝ่โน้มเอียงไปในทางธรรม ทำให้นายดูลย์คิดจะออกบวชมาหลายครั้ง แต่ด้วยความที่เป็นกำลังสำคัญของครอบครัว และบิดามารดาก็ไม่ยินยอมให้บวชเรียนอย่างง่ายดายนัก ในครั้งแรก เมื่อคิดจะบวชจึงถูกคัดค้านจากพ่อแดงด้วยเหตุผลว่า "เมื่อท่านไปบวชแล้ว ครอบครัวอาจจะต้องลำบาก เพราะท่านเป็นบุตรชายคนโต เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของครอบครัว"
นายดูลย์เฝ้าอ้อนวอนบิดามารดาอยู่หลายครั้ง แต่ก็ถูกคัดค้านเรื่อยมา แต่นายดูลย์ก็ยังมิได้ละความคิดในการบวชเรียนแต่ประการใด จนในที่สุดบิดามารดาก็ไม่อาจขัดขวางความตั้งใจจริงของท่านได้ จึงยินยอมอนุญาตให้บวชได้ตามความปรารถนา แต่มีข้อแม้ว่า "เมื่อบวชแล้วต้องไม่สึก หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องอยู่จนได้เป็นเจ้าอาวาสเสียก่อน"
ครั้นเมื่อนายดูลย์ได้รับอนุญาตจากบิดามารดาให้บวช ขณะนั้นท่านมีอายุได้ 22 ปี ตระกูลเจ้าเมืองที่เคยชุบเลี้ยงท่าน ได้เป็นผู้จัดแจงเรื่องการบวชให้ครบถ้วนทุกอย่าง ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2435 นายดูลย์ก็เข้าพิธีอุปสมบทก่อนเข้าพรรษา ณ พัทธสีมาวัดจุมพลสุทธาวาส ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งตั้งอยู่ในกำแพงเมืองรอบนอก ของจังหวัดสุรินทร์ในสมัยนั้น โดยมี พระครูวิมลสีลพรต (ทอง) เป็นพระอุปัชฌาย์ ท่านพระครูบึก เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ท่านพระครูฤทธิ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “อตุโล” อันหมายถึง ผู้ไม่มีใครเทียบได้ นับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
หลวงปู่ดูลย์ได้พากเพียรศึกษาการปฏิบัติกรรมฐานอย่างเคร่งครัด มีความวิริยะ อุตสาหะอย่างแรงกล้า จนล่วงเข้าพรรษาที่ 6 หลวงปู่ดูลย์จึงหันมาศึกษาพระปริยัติธรรมที่ วัดสุปัฏนาราม จังหวัดอุบลราชธานี สอบได้นักธรรมชั้นตรีเป็นรุ่นแรก ของจังหวัดอุบลราชธานี และได้ศึกษาบาลีไวยากรณ์ (มูลกัจจายน์) จนสามารถแปลพระธรรมบทได้
เนื่องจากวัดสุปัฏนาราม เป็นวัดที่อยู่ในสังกัดธรรมยุตินิกาย หลวงปู่ดูลย์จึงได้ขอญัตติเป็นธรรมยุตินิกายใน พ.ศ. 2461 ณ วัดสุปัฏนาราม โดยมีพระมหารัฐ เป็นพระอุปัชฌาย์ และในพรรษาต่อมาหลวงปู่ได้มีโอกาสพบพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เมื่อได้ฟังธรรมเพียงครั้งเดียวจากพระอาจารย์มั่น ก็เกิดความอัศจรรย์ใจยิ่ง จึงได้เลิกศึกษาพระปริยัติ แล้วออกธุดงค์ตามพระอาจารย์มั่น ไปยังที่ต่างๆ หลายแห่ง จึงนับได้ว่าหลวงปู่ดูลย์เป็นศิษย์พระอาจารย์มั่นในสมัยแรก
ครั้นออกพรรษา เมื่อพระอาจารย์มั่นออกจาริกธุดงค์ พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม และพระอาจารย์ดูลย์ได้ออกธุดงค์ติดตามพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ไปด้วยทุกหนทุกแห่งตลอดกาลออกพรรษานั้น ในการร่วมออกธุดงค์ติดตามพระอาจารย์มั่นในพรรษานี้ยังไม่มีอะไรมาก เพียงแต่เป็นการฝึกใช้ชีวิตแบบพระป่า และใช้หลักความรู้ในการฝึกปฏิบัติเบื้องต้น เพื่อสร้างฐานความรู้ให้มั่นคง พระอาจารย์ดูลย์ผู้มีความตั้งใจแน่วแน่และจริงจัง ก็มิได้ปล่อยเวลาในพรรษานั้นให้ล่วงไปโดยเปล่าประโยชน์ ท่านได้เร่งการฝึกปฏิบัติความเพียรอย่างเคร่งครัด โดยมีความเชื่อมั่นและศรัทธาที่จะเกิดขึ้นในตัวของท่านอย่างแน่นอน
อนึ่ง การที่ได้มีโอกาสฝึกปฏิบัติในครั้งนั้น ก็ยิ่งทำให้ พระอาจารย์ดูลย์ มีความเลื่อมใสในทางธุดงค์กัมมัฏฐานมากขึ้น ในปี พ.ศ. 2463 พระอาจารย์ดูลย์และสหธรรมิกอีก 5 รูป คือ พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม , พระอาจารย์บุญ , พระอาจารย์สีเทา และพระอาจารย์หนู จึงได้แยกออกจากคณะของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เดินธุดงค์แสวงหาที่สงบวิเวกเพื่อบำเพ็ญเพียรในกาลเข้าพรรษาได้เดินธุดงค์เลียบเทือกเขาภูพานมาจนกระทั่งถึง ป่าท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นป่ารกชัฏ ชุกชุมไปด้วยสัตว์ร้าย และยุงก้นป่องอันเป็นพาหะของไข้มาลาเรีย
และในระหว่างพรรษานั้นคณะของพระอาจารย์ดูลย์ ยกเว้นพระอารย์หนูรูปเดียว ต่างก็เป็นไข้มาลาเรีย ได้รับความเจ็บปวด และทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส ยาที่จะรักษาก็ไม่มี จนกระทั่งพระรูปหนึ่งมรณภาพไปต่อหน้าต่อตา ยังความสลดสังเวชให้กับผู้ที่ยังคงอยู่เป็นอย่างยิ่ง
แต่ความตายก็มิอาจทำให้พระทั้ง 4 รูป ที่เหลืออยู่เกิดความหวั่นไหวรวนเร พระอาจารย์ดูลย์เมื่อประสบชะตากรรมเช่นนี้ ท่านได้อาศัยความสำเหนียกรู้เผชิญกับความตายอย่างเยือกเย็น และเกิดความคิดในใจว่า สิ่งที่จะพึ่งได้ในยามนี้มีแต่อำนาจพุทธคุณเท่านั้น แม้ท่านจะได้รับพิษไข้อย่างแสนสาหัส ท่านได้รำลึกถึงพระพุทธคุณ และตั้งสัจจะว่า “ถึงอย่างไร ตัวเราคงไม่พ้นเงื้อมมือแห่งความตายในพรรษานี้แน่แล้ว แม้เราจักตาย ก็จงตายในสมาธิภาวนาเถิด”
จากนั้น ท่านก็รีบเร่งทำความเพียร ตั้งสติให้สมบูรณ์เฉพาะหน้า ดำรงจิตให้มั่นอยู่ในสมาธิ และพร้อมทั้งพิจารณาความตายโดยมีมรณสติกัมมัฏฐานเป็นอารมณ์ โดยมิได้พรั่งพรึ่งต่อมรณภัยที่กำลังจะมาถึงตัว นับเป็นบททดสอบอันสำคัญยิ่ง ที่ต้องเผชิญกับชะตากรรมเช่นนี้ของพระอาจารย์ดูลย์
ต่อมาท่านได้จาริกมาจำพรรษา ณ วัดม่วงไข่ บ้านกุดก้อม จังหวัดสกลนคร ท่านได้ใช้แบบอย่างในการประพฤติปฏิบัติของ พระอาจารย์มั่นอย่างเคร่งครัดและครบถ้วนทุกประการ อาทิเช่น เดินบิณฑบาตเป็นวัตร ฉันแต่ในบาตรวันละมื้อ หมั่นปัดกวาดบริเวณที่อยู่อาศัย และเดินจงกรม นั่งสมาธิภาวนาอย่างต่อเนื่อง มีความสำรวมระวังเป็นอย่างดี การมาพักจำพรรษาที่วัดม่วงไข่ของพระอาจารย์ดูลย์ในครั้งนี้ นับว่าเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวงในหลายๆ ด้าน ด้านหนึ่งก็คือ ทำให้เกิดพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่มีชื่อเสียงขึ้นมาอีก 2 รูป คือ
1. พระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ สำนักวัดป่านิโครธาราม อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งขณะนั้นยังเป็นสามเณรอยู่ เมื่อได้ฟังคำสั่งสอนของท่านก็เกิดความเลื่อมใสศรัทธาและปฏิบัติตามแนวที่ท่านสอน เป็นผู้มีวิริยะอุตสาหะอย่างแรงกล้าในธรรมปฏิบัติ ได้เจริญรุ่งเรืองในพระศาสนา จนต่อมากลายเป็นพระเถระฝ่ายวิปัสสนาธุระผู้มีชื่อเสียง เป็นที่เคารพนับถือและศรัทธาอย่างยิ่งของพุทธศาสนิกชนอย่างกว้างขวาง
2. พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร แห่งสำนักวัดป่าอุดมสมพร อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ซึ่งขณะนั้นท่านได้พำนักอยู่วัดใกล้ๆ กับวัดม่วงไข่ เมื่อได้ทราบถึงวัตรปฏิบัติอันงดงามของพระอาจารย์ดูลย์ จึงเกิดความสนใจเป็นยิ่งนัก เดินทางเข้ามอบตัวเป็นศิษย์ ฟังพระธรรมเทศนา และฝึกปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐานกับพระอาจารย์ดูลย์ตลอดพรรษา จนกระทั่งท่านได้จาริกจากวัดม่วงไข่ พร้อมภิกษุสามเณรวัดม่วงไข่ทั้งวัด พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ก็ได้ติดตามไปด้วยเช่นกันต่อมาภายหลัง พระอาจารย์ฝั้นได้กลายเป็นศิษย์คนสำคัญของพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต อีกรูปหนึ่ง คุณงามความดีของท่านได้แผ่ออกไปอย่างกว้างขวาง เป็นที่เคารพนับถือและศรัทธาอย่างยิ่งของพุทธศาสนิกชนทั่วไป
เมื่อกล่าวถึงพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอาจารย์ดูลย์ได้กล่าวยกย่องว่า
ท่านอาจารย์ฝั้นนั้นทำกัมมัฏฐานได้ผลดีมาก เป็นนักปฏิบัติที่เอาจริงเอาจัง มีน้ำใจเป็นนักสู้ที่สู้เสมอตาย ไม่มีการลดละท้อถอย เข้าถึงผลการปฏิบัติได้โดยเร็ว นอกจากนั้นยังมีรูปสมบัติและคุณสมบัติพร้อม ”
พระอาจารย์ดูลย์นึกอยู่ในใจว่า ในอนาคตพระอาจารย์ฝั้นจะมีความสำคัญใหญ่หลวง จะเป็นกำลังสำคัญของพระศาสนาอย่างแน่นอน ซึ่งต่อมาความคิดของท่านก็กลายเป็นความจริง ในช่วงที่ออกธุดงค์จากวัดม่วงไข่นั้น ท่านก็คิดเสมอว่า จะต้องพาพระอาจารย์ฝั้นไปพบและมอบถวายให้เป็นศิษย์ของพระอาจารย์มั่นให้จงได้ ด้วยเหตุที่ท่านชอบอัธยาศัยของพระอาจารย์ฝั้นเป็นอย่างมากนั่นเอง
ในภายหลังท่านได้พบและสนทนาธรรมกับพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต หลายครั้ง นับตั้งแต่พระอาจารย์ดูลย์เดินทางออกจาก จังหวัดสุรินทร์ เพื่อไปศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม จนถึงปี พ.ศ. 2466 ท่านจึงได้เดินทางกลับไปยัง จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่าน เพื่อเผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดาแก่ผู้ที่สนใจ
การเดินทางกลับมายังบ้านเกิดครั้งนี้ เป็นการมาแบบพระธุดงค์อย่างสมบูรณ์ด้วยภูมิปัญญาที่แก่กล้า และจริยาวัตรที่งดงาม ได้เข้าพำนักอยู่ ณ วัดนาสาม ตำบลนาบัว อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ไปทางทิศใต้ประมาณ 15 กิโลเมตร การมาครั้งถือได้ว่า "กรุแห่งพระธรรม" ได้เปิดขึ้นแก่ชาวสุรินทร์แล้ว ได้สร้างความปีติให้แก่ชาวบ้านเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะชาวบ้านที่อยู่ใน ตำบลนาบัว และ ตำบลเฉนียง ที่พากันแตกตื่นพระธุดงค์ ต่างก็ชักชวนกันไปฟังท่านแสดงพระธรรมเทศนา และร่วมปฏิบัติธรรมกับท่านกันอย่างล้นหลาม
พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล คงพำนักที่สำนักสงฆ์ป่าหนองเสม็ด เพื่อโปรดญาติโยมอีกระยะหนึ่ง แต่ด้วยจิตใจที่โน้มเอียงในการปฏิบัติมากกว่า ท่านจึงดำริที่จะออกธุดงค์กัมมัฏฐาน เพื่อบำเพ็ญเพียรอีกครั้ง เมื่อตัดสินใจดังนั้นแล้ว จึงได้ลาญาติโยมออกจาริกธุดงค์ โดยตั้งใจว่าจะเดินทางไปเรื่อยๆ แต่เมื่อเดินทางไปถึงวัดสุทัศนาราม จังหวัดอุบลราชธานี อันเป็นวัดที่ท่านเคยมาพำนัก เมื่อครั้งมาศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม และเป็นวัดที่ท่านญัตติเป็นธรรมยุติกนิกาย ก็ได้พบกับพระอุปัชฌาย์ของท่าน
ท่านขอร้องให้ช่วยกันสร้างโบสถ์วัดสุทัศนารามให้เสร็จเสียก่อน แล้วค่อยเดินธุดงค์ต่อ ด้วยในขณะนั้น ทางวัดมีทุนทรัพย์ที่จะใช้ในการก่อสร้างเพียง 300 บาทเท่านั้น เมื่อได้รับการขอร้องเช่นนั้น พระอาจารย์ดูลย์ก็ไม่อาจขัดพระอุปัชฌาย์ได้ ท่านจึงตกลงใจพำนักอยู่ที่วัดสุทัศนาราม เพื่อคุมการสร้างโบสถ์ให้เสร็จก่อน ซึ่งต้องใช้เวลา 6 ปี นับว่าเป็นโบสถ์ที่ใหญ่ที่สุดของ จังหวัดอุบลราชธานี
ระหว่างที่พำนักอยู่ที่วัดสุทัศนารามนั้น นอกเหนือจากการควบคุมดูแลการก่อสร้างโบสถ์แล้ว พระอาจารย์ดูลย์ยังได้รับมอบหมายจากพระอุปัชฌาย์ ห้ท่านรับผิดชอบงานอย่างอื่นควบคู่กันไปอีกด้วย กล่าวคือ ปกครองพระภิกษุสามเณรในวัดสุทัศนาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ เป็นต้น
ในระหว่างนี้เอง ท่านก็ได้ศิษย์เพิ่มขึ้นมาอีกผู้หนึ่ง ซึ่งภายหลังมีตำแหน่งเป็นถึงระดับอธิบดี ท่านผู้นั้นคือ พันเอกปิ่น มุทุกันต์ ซึ่งในขณะนั้นได้บวชเป็นสามเณรอยู่ ศิษย์ของพระอาจารย์ดูลย์คนนี้ เป็นผู้มีความเฉลียวฉลาดยิ่งนัก สนใจใฝ่หาความรู้อยู่เสมอ และต้องการไปศึกษาเล่าเรียนในกรุงเทพฯ
ครั้นเมื่อพระอาจารย์ดูลย์ทราบเรื่อง จึงได้นำสามเณรปิ่นไปฝากไว้กับพระมหาเฉย (พระเทพกวี) ที่วัดสัมพันธวงศาวาส กรุงเทพฯ เพื่อศึกษาเล่าเรียนตามที่ต้องการ จนสามเณรปิ่นสอบได้เปรียญ 9 ประโยค และลาสิกขาเพื่อออกไปรับราชการเป็น "อนุสาสนาจารย์ในกองทัพบก" จนได้เป็นอธิบดีกรมการศาสนา ท่านเป็นนักปาฐกฝีปากกล้า ซึ่งท่านให้ความเคารพนับถือพระอาจารย์ดูลย์เป็นอาจารย์ตลอดมา ท่านได้กล่าวถึงพระอาจารย์ดูลย์ว่า เป็นอาจารย์กัมมัฏฐานที่พูดน้อย แต่ทำงานมากกว่า
ปี พ.ศ. 2476 พระธรรมปาโมกข์ (อ้วน ติสฺโส) ต่อมาเลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เจ้าคณะมณฑลนครราชสีมา ร่วมกับคณะสงฆ์ ดำริที่จะสถาปนา "วัดบูรพาราม" ขึ้นเป็น "วัดธรรมยุติกนิกายแห่งแรก" ของ จังหวัดสุรินทร์ ได้มีบัญชาให้พระมหาพลอย จากวัดสัมพันธวงศาวาส กรุงเทพฯ เดินทางมาจัดการฟื้นฟูด้านการศึกษา ขณะเดียวกันก็มีบัญชามาถึงพระอาจารย์ดูลย์ อตุโล ให้เดินทางกลับไปจังหวัดสุรินทร์ เพื่อช่วยทางด้านวิปัสสนาธุระ บูรณะปฏิสังขรณ์วัดบูรพารามให้กลับคืนสู่สภาพที่ดี และเป็นศูนย์การศึกษาพระพุทธศาสนาทั้งฝ่ายปริยัติและปฏิบัติ ซึ่งขณะนั้นกำลังทรุดโทรมอย่างหนัก เพราะก่อสร้างมาเกือบ 200 ปีแล้ว ทำให้ท่านต้องกลับจังหวัดสุรินทร์ ตามคำบัญชาของคณะสงฆ์ดังกล่าว
การบูรณะฟื้นฟูวัดบูรพารามนี้ งานด้านพระศาสนานับเป็นงานที่หนักมาก ด้วยในขณะนั้นยังล้าหลังในทุกๆ อย่าง เมื่อพระอาจารย์ดูลย์มาพำนักอยู่ที่วัดนี้ ท่านต้องริเริ่มใหม่ทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาด้านปริยัติ การปฏิบัติ การบูรณะปฏิสังขรณ์วัด และการเผยแผ่พระศาสนา ซึ่งต้องพัฒนาไปพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะในเรื่องการศึกษาด้านพระปริยัติธรรม ด้วยการศึกษาในสมัยก่อนเป็นเพียงการทำสืบต่อกันมา จังหวัดสุรินทร์ซึ่งมีพื้นที่อยู่ใกล้กับประเทศกัมพูชานั้น มักจะมีภาษาพื้นเมืองหรือตัวอักขระ และพยัญชนะที่ใช้ในการเรียน การเทศน์ การสวด หรือพิธีกรรมต่างๆ ตลอดจนคัมภีร์ก็โน้มเอียงไปทางเขมรอยู่มาก
ดังนั้นเมื่อพระอาจารย์ดูลย์เริ่มพัฒนาในด้านพระปริยัติ ท่านก็เริ่มใช้อักษรไทยและภาษาไทยมากขึ้น ซึ่งนับเป็นภารกิจที่หนักมากทีเดียว จึงกล่าวได้ว่าเป็นยุคเริ่มแรกของการศึกษาด้านพระปริยัติธรรมแผนใหม่ หากมีพระภิกษุสามเณรองค์ใดสนใจในการศึกษาปริยัติ หลังจากศึกษาเบื้องต้นที่วัดแล้ว ท่านก็ส่งไปศึกษาในระดับสูงต่อที่กรุงเทพฯ
สำหรับการปฏิบัตินั้น ท่านยึดแนวทางที่ท่านเคยศึกษามาในทางกัมมัฏฐานเป็นหลักสำคัญ ในส่วนของท่านเองท่านก็ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกันก็แบ่งเวลาสอนพระภิกษุสามเณรและญาติโยมที่สนใจในการปฏิบัติเป็นประจำเสมอมา พระภิกษุสามเณรองค์ใดที่สนใจในการธุดงค์กัมมัฏฐานอย่างจริงจัง หลังจากที่ได้รับการฝึกอบรมจากท่านแล้ว ท่านก็จะส่งไปอยู่กับพระอาจารย์ฝั้น อาจาโรบ้าง พระอาจารย์บัว ญาณสัมปันโนบ้าง เป็นต้น
การพัฒนาด้านปริยัติและปฏิบัติของพระอาจารย์ดูลย์ นับเป็นการวางรากฐานที่มั่นคงของการศึกษาพระศาสนาทั้งสองด้านมาจนตราบเท่าทุกวันนี้
ครั้นปี พ.ศ. 2479 หลังจากที่พำนักอยู่วัดบูรพารามได้ระยะหนึ่ง ท่านก็เริ่มการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดบูรพารามทันที โดยเริ่มจากการสร้างโบสถ์แบบคอนกรีตเสริมเหล็กขึ้นเป็นแห่งแรก และเป็นโบสถ์ที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดสุรินทร์ โดยมุ่งที่จะใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด แต่ใช้งบประมาณให้น้อยที่สุด แรงงานส่วนใหญ่ได้จากชาวบ้าน และพระภิกษุสามเณรในวัด โดยมีท่านเป็นผู้เขียนแบบเอง แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2493 ใช้เวลาก่อสร้าง 14 ปี เหตุเพราะการเรี่ยไรเงินในสมัยนั้นทำได้ยาก ต้องขอบริจาคเป็นข้าวเปลือกเพื่อนำไปขายเพื่อซื้อปูนซีเมนต์ ส่วนก้อนอิฐนั้นใช้แรงงานพระ-เณร และชาวบ้านช่วยกัน หลังจากสร้างโบสถ์เสร็จได้สร้างพระประธานเป็น "พระพุทธชินราชจำลอง" หล่อด้วยโลหะทองเหลือง
การมาพำนักอยู่ที่วัดนี้ของท่าน ด้วยความเสียสละทุ่มเทต่อพระศาสนาและสังคม ได้สร้างความเจริญให้เกิดขึ้นแก่วัดบูรพารามเป็นอันมาก จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2511 วัดบูรพาราม ได้รับการยกย่องจากกรมศาสนาให้เป็น "วัดพัฒนาตัวอย่าง" และในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้ยก "วัดบูรพาราม" ขึ้นเป็น "พระอารามหลวง"
นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา วัดบูรพาราม ก็กลายเป็นที่รู้จักของสาธุชนทั่วไป มีประชาชนเข้ามาศึกษาธรรมะ ด้วยความเลื่อมใสในคำสอนและวัตรปฏิบัติของพระอาจารย์ดูลย์ อตุโล เป็นจำนวนมาก
พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล ท่านเป็นปูชนียบุคคลที่หาได้ยากอย่างยิ่ง ท่านได้อุทิศชีวิตรับใช้พระศาสนา ด้วยแรงกายแรงใจอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยที่มิได้หวังในลาภสักการะ และยศฐาบรรดาศักดิ์แต่ประการใด แต่ด้วยคุณงามความดีของท่าน ทำให้ท่านได้รับสมณศักด์เป็นลำดับดังนี้
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2477 เป็นต้นมา พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล พำนักอยู่ที่ วัดบูรพาราม เพียงแห่งเดียวเท่านั้น จนกระทั่งมรณภาพลงในปี พ.ศ. 2526 รวมเวลาที่ท่านพำนักอยู่ที่วัดบูรพารามแห่งนี้ได้ทั้งสิ้น 50 ปีเศษ
หลังจากอาพาธหนักมาแล้ว ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2508 แม้ต่อมาท่านจะมีอาการอาพาธขึ้นบ้าง ตามประสาของผู้ชราภาพ แต่อาการก็ไม่หนักหนาสาหัสมากนัก หลังจากนั้นอีก 18 ปี เมื่อท่านเจริญขันธ์มาถึง 95 ปี จึงมีอาการผิดปกติด้านสุขภาพอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2526
อาการอาพาธครั้งนี้ เริ่มมีอาการปวดชาตั้งแต่บั้นเองลงไปถึงปลายเท้า เริ่มเป็นด้านซ้ายข้างเดียวก่อน ต่อมาอาการอย่างนี้ก็ลามมาที่ขาข้างขวา รู้สึกเหมือนจะปวดหนักปวดเบาอยู่ตลอดเวลา แต่เวลาถ่ายกลับถ่ายไม่ออก และมีอาการหนาวๆ ร้อนๆ และกระสับกระส่ายอยู่ตลอดเวลา แต่ถึงกระนั้นท่านก็อดทนเป็นอย่างมาก ท่านไม่เคยต้องการหมอ หรือไม่เคยพูดถึงโรงพยาบาลเลย ทุกครั้งที่จะต้องนำหมอมารักษา หรือพาท่านไปที่โรงพยาบาล จะต้องขอร้องทุกครั้ง
พระอาจารย์ดูลย์ได้ไปพำนักรักษาอาการอาพาธ ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นเวลาประมาณ 2 เดือน อาการอาพาธของท่านดีขึ้นเป็นลำดับ คณะแพทย์จึงลงความเห็นว่าให้ออกจากโรงพยาบาลกลับวัดบูรพารามได้
ครั้นถึงเวลาประมาณ 02.00 น. ของวันที่ 30 ตุลาคม 2526 พระอาจารย์ดูลย์ได้แสดงธรรม ให้แก่ลูกศิษย์ที่อยู่ในห้องพักกุฎีนั้นได้รับฟัง โดยท่านอยู่ในอิริยาบถนอนหงาย ข้อธรรมที่ท่านมักจะแสดงบ่อยๆ ในระยะนี้นั้นก็คือ ธรรมอันว่าด้วยลักษณาการแห่งพุทธปรินิพพาน ครั้งนั้นเมื่อแสดงธรรมจบแล้ว พระอาจารย์ดูลย์ก็ไม่ได้กล่าวอะไรอีกเลย
ขณะที่พระอาจารย์ดูลย์แสดงพระธรรมเทศนาจบลง เป็นเวลาประมาณ 03.00 น. ท่านอยู่ในอิริยาบถนอนสงบนิ่ง หายใจเบาๆ ดูอาการเป็นปกติคล้ายกับคนนอนหลับตามธรรมดา แต่ลมหายใจท่านเบาลงมาก นับเป็นลักษณาการมรณภาพที่ไม่ปรากฏร่องรอยให้เห็นเลย เป็นความงดงามบริสุทธิ์ และสงบเย็นอย่างสิ้นเชิง
ท่านได้ละทิ้งสังขาร มรณภาพเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2526 เวลา 04.13 น. รวมอายุได้ 96 ปี 26 วัน พรรษา 74
สังขารของพระอาจารย์ดูลย์ อตุโล ตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดบูรพาราม อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ มีศิษย์จากทุกสารทิศหลั่งไหลมานมัสการ และสรงน้ำสรีระเป็นจำนวนมาก ทางจังหวัดสุรินทร์ ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำสรงศพ พร้อมกับทั้งได้พระราชทานโกศโถฉัตรเบญจาตั้งประดับ และทรงพระมหากรุณาโปรดบำเพ็ญพระราชกุศล 7 วัน, 50 วัน และ 100 วัน ตามลำดับ
วันที่ 8 กรกฎาคม 2528 ซึ่งเป็นวันพระราชทานเพลิงศพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานเพลิง ที่จัดให้มีขึ้น ณ วนอุทยานแห่งชาติ เขาพนมสวาย ซึ่งห่างจากจังหวัดสุรินทร์ไปทางทิศใต้ประมาณ 22 กิโลเมตร ทั้งพระและฆราวาสต่างมาร่วมแสดงกตัญญูกตเวทิตา ต่อพระอาจารย์ดูลย์เป็นจำนวนมาก
คณะกรรมการฝ่ายสงฆ์และฆราวาส ได้มีมติให้จัดสร้างอนุสรณ์ขึ้นภายในบริเวณ วัดบูรพาราม อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ อันเป็นวัดที่ท่านได้บูรณปฏิสังขรณ์และพำนักตลอดมา ตราบจนกระทั่งท่านได้สิ้นอายุขัย รวมเวลาประมาณ 50 ปี อาคารดังกล่าวดำเนินการก่อสร้าง แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2528 ใช้ชื่อว่า “พิพิธภัณฑ์กัมมัฏฐานหลวงปู่ดูลย์ อตุโล” ภายในพิพิธภัณฑ์ประกอบไปด้วย รูปเหมือนของพระอาจารย์ดูลย์ ในอิริยาบถนั่งห้อยเท้า หล่อด้วยโลหะ ขนาด 2 เท่าครึ่งขององค์จริง พร้อมเครื่องอัฐบริขารของท่าน
แม้ปัจจุบันพระอาจารย์ดูลย์ อตุโล จะละสังขารไปแล้วก็ตาม แต่ยังมีผู้เคารพบูชาและเลื่อมใสศรัทธาในแนวทางคำสอนและวัตรปฏิปทา ต่างพากันเดินทางไปวัดบูรพารามอยู่เช่นเดิม
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)