foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

LP fun header

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร เป็นพระเถระในสายพระป่าในประเทศไทยอีกท่านหนึ่ง ที่ได้รับการเคารพและยกย่องในปฏิปทาของท่าน การเป็นผู้นำและนักพัฒนาที่มองการณ์ไกลทำให้ท้องถิ่นทุรกันดารมากมายได้รับการพัฒนาในทุกด้าน ทั้งเรื่องสุขอนามัยในชุมชน อาชีพการทำมาหากินของชาวบ้าน

LP fun 01ชาติกำเนิด

พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 9 ปีกุน ตรงกับวันที่ 20 สิงหาคม 2442 ที่บ้านม่วงไข่ ตำบลพรรณา อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ในตระกูล “สุวรรณรงค์” เจ้าเมืองพรรณานิคม บิดาของท่านคือ เจ้าไชยกุมมาร (เม้า) ผู้เป็นหลานปู่ของ พระเสนาณรงค์ (นวล) และหลานอาของ พระเสนาณรงค์ (สุวรรณ์) เจ้าเมืองพรรณานิคมคนที่ 2 และที่ 4 ตามลำดับ มารดาของท่านชื่อ นุ้ย เป็นบุตรีของหลวงประชานุรักษ์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา มีอยู่ทั้งหมด 8 คน ท่านเป็นบุตรลำดับที่ 5 พระอาจารย์ฝั้น ครั้งวัยเยาว์มีความประพฤติเรียบร้อย นิสัยโอบอ้อมอารี ขยันหมั่นเพียร อดทนต่ออุปสรรค ช่วยเหลือกิจการงานของบิดา มารดา โดยไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก

การศึกษาทั้งทางโลกและทางธรรม

ท่านเข้าศึกษาชั้นประถมศึกษาที่ โรงเรียนวัดโพธิ์ชัย บ้านม่วงไข่ แบบเรียนที่เขียนอ่านได้แก่ มูลบทบรรพกิจเล่ม 1 – 2 ซึ่งเป็นแบบเรียนที่วิเศษสุดในยุคนั้น ผู้ใดเรียนจบจะแตกฉานในด้านการอ่านเขียนไปทุกคน ปรากฏว่า ท่านมีความหมั่นเพียรในการศึกษาเป็นอันมาก สามารถเขียนอ่านได้รวดเร็วกว่าเด็กอื่นๆ ถึงขนาดได้รับความไว้วางใจจากอาจารย์ให้เป็นครูสอนเด็กๆ คนอื่นแทนในขณะที่อาจารย์มีกิจจำเป็น

ในกาลต่อมาได้เข้าไปศึกษาต่อกับพี่เขยที่เป็นปลัดขวา ที่อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ช่วงนั้นทีแรกท่านอยากรับราชการ เพราะเป็นงานที่มีหน้ามีตา ได้รับความเคารพนับถือจากผู้คนในสมัยนั้น แต่ภายหลังได้เปลี่ยนความตั้งใจเดิมเสียโดยสิ้นเชิง เพราะได้เห็นความเป็นอนิจจังของผู้มียศถาบรรดาศักดิ์ จึงได้เปลี่ยนความตั้งใจ และได้เข้าบรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดโพนทอง บ้านบะทอง ซึ่งเป็นวัดมหานิกาย ขณะที่ยังเป็นสามเณรอยู่นั้น ท่านเอาใจใส่ศึกษาและเคร่งครัดในพระธรรมวินัยเป็นอันมาก ถึงขนาดคุณย่าของท่านได้พยากรณ์เอาไว้ว่า

ในภายภาคหน้า ท่านจะเข้าไปอาศัยอยู่ในป่าขมิ้น จนตลอดชีวิต ระหว่างนั้นจะสร้างแต่คุณความดีอันประเสริฐเลิศล้ำค่า จะเป็นผู้บริสุทธิ์ผ่องใส ประชาชนทุกชั้นตั้งแต่สูงสุด จนต่ำสุด ทุกเชื้อชาติ ศาสนา ที่ได้ฟังพระธรรมเทศนาของท่าน จะบังเกิดความเลื่อมใสในตัวท่าน และรสพระธรรมที่ท่านเทศนาเป็นอันมาก "

ครั้นถึงอายุ 20 ปี ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พระอุโบสถวัดสิทธิบังคม ที่บ้านไฮ่ ตำบลไร่ อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร โดย พระครูป้อง (นนทะเสน) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์สัง กับ พระอาจารย์นวล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ระหว่างจำพรรษาอยู่ที่วัดสิทธิบังคม ท่านได้ท่องบ่นเจ็ดตำนานจนจบบริบูรณ์ ขณะเดียวกันพระอุปัชฌาย์ของท่านก็ได้สอนให้รู้จักวิธีเจริญกัมมัฏฐานตลอดพรรษาด้วย

ออกพรรษาปีนั้น ท่านได้กลับมาอยู่ที่วัดโพนทอง ซึ่งมี ท่านอาญาครูธรรม เป็นเจ้าอาวาส ท่านอาญาครูธรรมชอบฝึกกัมมัฏฐานให้พระลูกวัดเสมอ หลังออกพรรษาระหว่างเดือนอ้ายถึงเดือน 4 ท่านได้ชักชวนพระลูกวัดออกเที่ยวธุดงค์ ไปฝึกหัดภาวนาเจริญกัมมัฏฐานตามเขาลำเนาไพร ตามถ้ำตามป่าช้าต่างๆ ที่เป็นที่วิเวก ซึ่งพระอาจารย์ฝั้นก็ได้ติดตามไปด้วย

LP fun 02

ต่อจากนั้นใน ปี พ.ศ. 2463 เป็นระยะเวลาที่พระอาจารย์ฝั้นได้พบ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต จึงได้ถวายตัวเป็นศิษย์ของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และได้ขอญัตติเป็นธรรมยุติกนิกาย เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2468 ที่วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี โดยมีพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระรถ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระมุก เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ท่านได้ร่วมเดินทางออกธุดงค์กับ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ในหลายที่ทั้งในแถบนครพนม สกลคร อุดรธานี นครราชสีมา และอื่นๆ ในภาคอีสานเรื่อยไปจนถึงเชียงใหม่ทางภาคเหนือ บางครั้งก็แยกจากคณะเพื่อแสวงหาความวิเวกบำเพ็ญสมาธิในแถบภูเขาสูง ถ้ำผาต่างๆ

เมื่อพระอาจารย์ฝั้นเดินทางไปถึงบ้านผือ ท่านได้ไปพักอยู่ที่ศาลภูตา ศาลภูตาคือสถานที่ซึ่งชาวบ้านสร้างเป็นหอขึ้น สำหรับเป็นที่สิงสถิตของภูตผีปีศาจ ชาวบ้านไปสักการะบวงสรวงกันบ่อยๆ เพราะถือเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ ระหว่างที่ไปพักอยู่ศาลภูตา มีชาวบ้านสองคนมาตักน้ำ เมื่อพบท่านเข้าจึงเอาน้ำมาถวาย ท่านก็ขอให้ชาวบ้านทั้งสองไปบอกผู้ใหญ่บ้านให้รับทราบในการมาพักของท่านด้วย

หลังจากนั้นไม่นานนัก ผู้ใหญ่บ้านกับลูกบ้านอีก 4 คน ก็มาถึง ลูกบ้านได้แสดงความไม่พอใจในการที่ท่านมาพักที่ศาลภูตานี้ คนหนึ่งได้โวยวายขึ้นว่า พระอะไรไม่เคยเห็น มานอนกลางดินกินกลางทรายเช่นนี้ จะถือว่าเป็นพระอย่างไรได้ คนที่สองให้ความเห็นขึ้นมาดังๆ ว่า เอาปืนยิงหัวเสียก็สิ้นเรื่อง คนที่สามก็โพล่งขึ้นว่า เอาสากมองที่หัวไปก็พอ แต่คนสุดท้ายออกความเห็นไม่รุนแรงเหมือนสามคนแรก เพียงให้เอาก้อนหินขว้างขับไล่ให้ไป

ผู้ใหญ่บ้านดูจะเป็นคนที่มีใจเป็นธรรมกว่าเพื่อน ได้ทัดทานลูกบ้านทั้ง 4 คนนั้นไว้ว่า ควรสอบถามดูก่อนว่าเป็นพระจริงหรือพระปลอม พระดีหรือพระร้าย ยังผลให้ลูกบ้านทั้ง 4 ไม่พอใจแต่พากันถอยออกไปยืนดูอยู่ห่างๆ พระอาจารย์ฝั้นได้บอกกับผู้ใหญ่บ้านว่า "ท่านเที่ยวธุดงค์ปฏิบัติกัมมัฏฐานไปตามสถานที่อันวิเวกต่างๆ เมื่อมาถึงที่นี่ จึงขอพักอาศัยในศาลภูตานี้ เพราะศาลภูตาเป็นที่พึ่งของคนในหมู่บ้าน ท่านจึงขอพึ่งพาอาศัยบ้าง"

ท่านได้บอกผู้ใหญ่บ้านไปด้วยว่า "ท่านพึ่งศาลภูตาได้ดีกว่าชาวบ้านเสียอีก ชาวบ้านพึ่งศาลภูตากันอย่างไร ปล่อยให้สกปรกรกรุงรังอยู่ได้ ท่านเองพอเข้ามาพึ่งก็ปัดกวาดถากถางหนามและข่อยออกไปจนหมดสิ้นอย่างที่เห็น" ผู้ใหญ่บ้านประจักษ์ข้อเท็จจริงเพียงประการแรกถึงกับนิ่งงัน ครั้นแล้วก็สอบถามท่านถึงปัญหาธรรมต่างๆ เหมือนเป็นการลองภูมิ ท่านก็อธิบายให้ฟังอย่างลึกซึ้งหมดจดไปทุกข้อ ทำเอาผู้ใหญ่บ้านถึงกับออกปากว่า "น่าเลื่อมใสจริงๆ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จโปรดเทศนาสั่งสอนคนสมัยก่อน บัดนี้มาเจอเอาคนจริงเข้าแล้ว” เช่นเดียวกัน ลูกบ้านทั้ง 4 ซึ่งยืนสดับตรับฟังอยู่ใกล้ๆ เกิดความเลื่อมใสไปด้วย

ทั้งหมดได้กลับไปหมู่บ้าน จัดหาเสื่อที่นอนและหมอนมุ้งไปทำที่พักให้พระอาจารย์ฝั้น ทิฏฐิเดิมที่มีอยู่ปลาศนาการไปจนหมดสิ้น ถึงกับนิมนต์ให้ท่านจำพรรษาเสียที่นั่นเลยด้วยซ้ำ แต่ท่านปฏิเสธว่า ที่นั่นน้ำท่วม เพราะใกล้กับลำชี ไม่อาจจำพรรษาได้อย่างที่ชาวบ้านปรารถนา ชาวบ้านซึ่งมีความเลื่อมใสศรัทธาอยู่ก็แจ้งแก่ท่านว่า ไม่ห่างไปจากที่นี่นัก มีดอนป่าช้าอยู่แห่งหนึ่งน้ำไม่ท่วม เหมาะสำหรับเป็นสถานที่จำพรรษาอย่างยิ่ง ท่านไม่อาจปฏิเสธต่อไปอีกได้ จึงไปจำพรรษาอยู่ที่ดอนป่าช้าตามที่ชาวบ้านนิมนต์

LP fun 03

ถึงกลางพรรษา ชาวบ้านส่วนหนึ่งซึ่งยังนับถือภูตผีปีศาจอยู่ ได้รับความเดือดร้อนตามความเชื่อเรื่องผีเข้าเป็นอันมาก กล่าวคือ เชื่อกันว่า มีผีเข้าไปอาละวาดอยู่ในหมู่บ้าน เข้าคนโน้นออกคนนี้ ที่ตายไปก็มี ที่ยังไม่ตายก็มี นอกจากนี้ยังมีโยมอุปัฏฐาก 3 – 4 คน ไปปรึกษากับพระอาจารย์ฝั้นด้วย เล่าว่า สามีล่องเรือบรรทุกข้าวไปขายที่จังหวัดอุบลราชธานี ภรรยากับลูกๆ ซึ่งเป็นโยมอุปัฏฐากกลัวว่าถูกผีเข้าเหมือนคนอื่น ไม่ทราบจะพึ่งใครได้ จึงมากราบไหว้ขอให้ท่านเป็นที่พึ่ง พระอาจารย์ก็บอกว่าไม่เป็นไร ไม่ต้องกลัว ภาวนา พุทโธ พุทโธ ไว้เสมอ ผีเข้าไม่ได้หรอก ต่อให้เรียกผี หรือท้าผีมากิน มันก็ไม่กล้ามากิน หรือมารบกวน โยมอุปัฏฐากกลุ่มนั้นก็เชื่อฟังและปฏิบัติตาม

ย่างไรก็ดี ปรากฏว่ายังมีผีเข้าชาวบ้านอยู่เรื่อยๆ มีชาวบ้านได้ไปแจ้งแก่พระอาจารย์ฝั้นให้ทราบว่า ได้ถามผีดูแล้วว่า ทำไมไม่ไปเข้าพวกที่ปฏิบัติอุปัฏฐากบ้างล่ะ ผีในร่างคนก็ตอบว่า ไม่กล้าเข้าไป จะเข้าไปได้อย่างไร พอเข้าบ้านก็เห็นแต่พระพุทธรูปนั่งอยู่เป็นแถว

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านกลุ่มอื่นยังคงมีความหวาดหวั่นเรื่องผีเข้ากันอยู่ ได้มีการประชุมหารือกันเพื่อหาหมอผีมาไล่ผีออกไป เมื่อเสาะหาหมอผีมาได้แล้ว ชาวบ้านกลับเดือดร้อนหนักยิ่งขึ้นไปอีก เพราะหมอผีตั้งเงื่อนไขว่า จะไล่ผีออกไปจากหมู่บ้านนั้นไม่ยาก แต่ทุกครัวเรือนต้องนำเงินไปมอบให้เสียก่อน จึงจะทำพิธีขับไล่ให้ โยมอุปัฏฐากจึงได้นำความไปปรึกษาหารือกับพระอาจารย์ฝั้น ว่าจะทำอย่างไรดี

ท่านจึงแนะนำว่า หากหมอผีจะเก็บเงินเพื่อไปสร้างโน่นสร้างนี่ที่เป็นสาธารณสมบัติ หรือสร้างวัดวาอารามก็ควรให้ แต่ถ้าหมอผีเก็บเงินไปเพื่อประโยชน์ส่วนตนก็ไม่ควรให้ ทั้งยังได้แนะนำไม่ให้เชื่อเรื่องผีสางอีกต่อไป เพราะเป็นเรื่องเหลวไหล คนเราป่วยเจ็บกันได้ทุกคน จะปักใจเชื่อเอาเสียเลยว่าผีเข้า ย่อมเป็นเรื่องงมงายไร้เหตุผล โยมเหล่านั้นก็พากันเชื่อฟังท่าน และไม่ยอมจ่ายเงินให้ตามที่หมอผีเรียกร้องไว้ ในที่สุด หมดผีก็หมดความสำคัญไป ความเชื่อเรื่องผีสางของชาวบ้านก็ค่อยๆ ลดน้อยลง

ออกพรรษาปีนั้น พระอาจารย์ฝั้น ได้ลาญาติโยมออกจากป่าช้าจะไปอำเภอน้ำพอง เมื่อถึงวัดศรีจันทร์ ปรากฏว่าเดินทางต่อไปไม่ได้ เพราะชาวบ้านเหล่านั้นได้ติดตามมาขอร้องให้ท่านกลับไปช่วยเหลืออีกสักครั้ง โดยอ้างว่ามีผีร้ายขึ้นไปอยู่บนหลังคาบ้านทุกหลัง ท่านจึงต้องกลับไปที่หมู่บ้านนั้นอีกครั้งหนึ่ง การกลับไปครั้งนี้ ผู้ใหญ่บ้านได้ประชุมลูกบ้านแล้วมานมัสการท่าน ขอรับไตรสรณคมน์ ต่อจากนั้นความเชื่อเรื่องผีสางจึงหมดสิ้นลง

LP fun 06

ท่านได้ธุดงค์ไปในที่ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งในแถบชายแดนอีสานใต้ บุรีรัมย์ สุรินทร์ และได้มาจำพรรษาที่วัดบูรพา อำเภอเมืองอุบลราชธานีตามบัญชาของสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) สังฆนายก ด้วยเหตุเพราะในปีนั้น สมเด็จฯ อาพาธหนัก ถึงขนาดฉันอาหารไม่ได้ ต้องถวายอาหารทางเส้นโลหิต ท่านจึงเรียกพระเถระฝ่ายกัมมัฏฐานเข้าไปปรึกษาหารือเพื่อหาทางบำบัดโรค ในทางธรรมปฏิบัติ (เดิมที สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ท่านไม่ชอบพระป่า สายกรรมฐานนัก)

เมื่อพระอาจารย์ฝั้นอธิบายธรรมถวายสมเด็จพระมหาวีรวงศ์จบแล้ว สมเด็จฯ ได้พูดขึ้นว่า "เออ เข้าทีดี" แล้วถามพระอาจารย์ฝั้นว่า "ในพรรษานี้ ฉันจะอยู่ได้รอดตลอดพรรษาหรือไม่" พระอาจารย์ฝั้นก็เรียนตอบไปว่า "ถ้าพระเดชพระคุณทำจิตให้สงบได้ดังที่อธิบายถวายมาแล้ว ก็รับรองว่าอยู่ได้ตลอดพรรษาแน่นอน" สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ จึงมีบัญชาให้พระอาจารย์ฝั้นไปจำพรรษาอยู่กับท่านที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อจะได้ศึกษาธรรมให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ได้ออกปากยอมรับในความจริง และชมว่า "พระคณะกัมมัฏฐานนี้เป็นผู้ปฏิบัติดีจริง ทั้งยังทำได้ดังพูดจริงๆ อีกด้วย สมควรที่พระมหาเปรียญทั้งหลายจะถือเอาเป็นตัวอย่างปฏิบัติต่อไป" ท่านได้กล่าวต่อหน้าพระอาจารย์ฝั้นด้วยว่า "ฉันเป็นพระอุปัชฌาย์ บวชพระบวชเณรมาจนนับไม่ถ้วน แต่ไม่เคยนึกสนใจใน ตจปัญจกกัมมัฏฐานเหล่านี้เลย เพิ่งจะมารู้ซึ้งในพรรษานี้เอง" พูดแล้วท่านก็นับ เกสา โลมา นขา ทนฺตา ตโจ แล้วถามพระอาจารย์ฝั้นว่า "นี่เป็นธาตุดิน นี่เป็นธาตุน้ำ นี่เป็นธาตุลม นี่เป็นธาตุไฟใช่ไหม?" พระอาจารย์ฝั้นก็รับว่าใช่ จากนั้นท่านก็ปรารภขึ้นว่า "ตัวท่านเองเปรียบเหมือนผู้บวชใหม่ เพิ่งจะมาเรียนรู้ เกสา โลมา ฯลฯ ความรู้ในด้านมหาเปรียญ ที่เล่าเรียนมามากนั้น ไม่ยังประโยชน์และความหมายต่อชีวิตท่านเลย ยศฐาสมณศักดิ์ ก็แก้ทุกข์ท่านไม่ได้ ช่วยท่านไม่ได้ พระอาจารย์ฝั้นให้ธรรมปฏิบัติในพรรษานี้ได้ผลคุ้มค่า ทำให้ท่านรู้จักกัมมัฏฐานดีขึ้น"

มีข้อเท็จจริงที่ประจักษ์แจ้งอยู่ประการหนึ่งว่า การพัฒนาบ้านเมืองซึ่งทางราชการกำลังเร่งรัด เพื่อความเจริญของท้องถิ่น ตลอดจนสนับสนุนให้ประชาชนร่วมกันพัฒนาอยู่ในปัจจุบันนี้นั้น แม้ที่จริงพระอาจารย์ฝั้น ได้มีโครงการและลงมือปฏิบัติเอง และได้เป็นผู้นำในการพัฒนามาก่อนแล้ว กล่าวคือ ไม่ว่าท่านจะไปพำนักอยู่ที่ใด แม้จะชั่ว 3 วัน 7 วันก็ตาม ท่านจะแนะนำชาวบ้านให้ทำความสะอาดบ้านเรือน ตลอดจนถนนหนทางให้ดูสะอาดตาอยู่เสมอ แม้ขณะที่ท่านไปพำนักอยู่ในป่าช้าหรือหมู่บ้านบริเวณเชิงเขาภูพาน หนทางที่ท่านจะเดินไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน จะมีชาวบ้านร่วมกันถากถาง ปัดกวาด และทำความสะอาดอยู่เสมอ ที่โรงเรียนพลตำรวจเขต 4 ในสมัยนั้นก็เช่นเดียวกัน

ก่อนที่พระอาจารย์ฝั้นจะไปพักอยู่ที่วัดป่าธาตุนาเวง บริเวณนั้นรกรุงรังด้วยป่าหญ้า ไข้มาเลเรียก็ชุกชุม ตำรวจป่วยเป็นไข้มาเลเรียขึ้นสมอง ถึงขนาดโดดหน้าต่างกองร้อยตายไปก็มี ตำรวจและครอบครัวเชื่อกันว่า เป็นเพราะผีเจ้าพ่อหนองหญ้าไซพิโรธ หาใช่โรคมาเลเรียอะไรไม่ พระอาจารย์ฝั้น ได้พยายามอธิบายให้ตำรวจเหล่านั้นเข้าใจในเหตุผล เลิกเชื่อถือผีสาง แต่ตำรวจและครอบครัวเหล่านั้นก็ยังไม่ยอมเชื่อ

ต่อมาเมื่อคณะตำรวจนิมนต์ท่านไปเทศน์ที่กองร้อย ท่านจึงปรารภกับผู้กำกับการตำรวจว่า "ถ้าอยากให้เกิดความอยู่เย็นเป็นสุข ก็ควรจัดสถานที่ให้สะอาดขึ้น ตัดถนนหนทางเรียบร้อย ถางป่าและหญ้าในบริเวณเสียให้เตียน อากาศจะได้ปลอดโปร่งและถ่ายเทได้ดีขึ้น สำหรับหนองหญ้าไซนั้นเล่าก็ควรขุดลอกให้เป็นสระน้ำเสีย จะได้ดูสวยงามและได้ประโยชน์ในการใช้สระน้ำด้วย"

เมื่อผู้กำกับประชุมตำรวจแล้ว ที่ประชุมตกลงทำทุกอย่าง เว้นแต่การขุดลอกหนองหญ้าไซเท่านั้น เพราะกลัวผีเจ้าพ่อหนองหญ้าไซจะพิโรธ คร่าชีวิตตำรวจตลอดจนสมาชิกในครอบครัวมากขึ้น แล้วก็จัดการตัดถนน ทำสนามฟุตบอล สนามเด็กเล่น ถางป่า ถางหญ้าจนสะอาดตา ทำให้อากาศถ่ายเทโดยสะดวกขึ้นกว่าก่อน

ต่อมาถึงวาระประชุมอบรมฟังเทศน์ที่กองร้อยอีก คณะตำรวจและครอบครัวไปประชุมฟังเทศน์กันอย่างคับคั่ง พระอาจารย์ฝั้นจึงหยิบยกปัญหาการขุดลอกหนองหญ้าไซขึ้นมาปรารภอีกครั้งหนึ่ง ทุกคนก็บอกว่าไม่กล้า กลัวเจ้าพ่อหักคอเอา แต่หากท่านไปนั่งเป็นประธานดูพวกตนขุดแล้วจึงจะยอมทำ พระอาจารย์ฝั้นก็ตอบตกลง

การขุดลอกหนองหญ้าไซจึงได้เริ่มขึ้นในโอกาสต่อมา ต่อหน้าพระอาจารย์ฝั้น จนกลายเป็นสระน้ำขึ้นมา อากาศก็ดีขึ้น ไข้มาเลเรียที่เคยชุกชุมก็ค่อยๆ ทุเลาลงจนเหือดหายไปในที่สุด

พระอาจารย์ฝั้นได้ขึ้นไปพักอยู่บนถ้ำขาม พร้อมด้วยพระภิกษุสามเณรผู้เป็นศิษย์เมื่อประมาณเดือนมีนาคม พ.ศ. 2497 ท่านได้เป็นหัวหน้าคณะในการพัฒนาถ้ำขามให้เป็นที่พำนักปฏิบัติธรรมของพระภิกษุสงฆ์ และญาติโยม มีสิ่งอำนวยความสะดวกเช่น แหล่งน้ำใช้ได้ตลอดปี มีอาคารศาลาโรงธรรม กุฏิที่พักอย่างเพียงพอ

LP fun 05

ในปี 2507 พระอาจารย์เทสก์ เทสรังสี ผู้ซึ่งจากไปเทศนาอบรมสั่งสอนประชาชนทางภาคใต้ติดต่อกันมาถึง 15 ปี ได้เดินทางกลับมาทางภาคอีสาน และได้แวะเข้าไปเยี่ยมเยียนพระอาจารย์ฝั้น ที่พรรณานิคมด้วย วันหนึ่งท่านได้เดินขึ้นไปบนถ้ำขาม พอเห็นสภาพบนถ้ำขามเข้าแล้วท่านก็ชอบใจ จึงได้พักวิเวกและจำพรรษาอยู่บนนั้น ปรากฏว่าในระหว่างพรรษาท่านสามารถบำเพ็ญความเพียรอย่างเต็มที่ เพราะพระภิกษุสามเณรที่ร่วมพรรษาด้วย ล้วนเป็นสานุศิษย์ของพระอาจารย์ฝั้น แต่ละรูปได้รับการอบรมจากพระอาจารย์ฝั้นอย่างดีมาแล้วทั้งนั้น จึงไม่เป็นภาระที่ท่านจะต้องหนักใจหรือสืบต่อการอบรมแต่ประการใด

ความเหมาะสมในการวิเวกบำเพ็ญความเพียรบนถ้ำขามนั้น พระอาจารย์ขาว อนาลโย ก็พอใจเช่นเดียวกัน กล่าวคือในการพาคณะศิษย์ของท่านขึ้นไปพัก เพื่อเยี่ยมเยียนพระอาจารย์เทสก์ ในวันหนึ่ง ท่านถึงกับเอ่ยปากขอแลกสถานที่กับพระอาจารย์เทสก์ โดยขอให้พระอาจารย์เทสก์ไปอยู่ดูแลวัดถ้ำกลองเพลแทนท่าน ส่วนท่านเองจะขออยู่บนวัดถ้ำขามเอง แต่ไม่สำเร็จ

LP fun 11

ในปีต่อๆ มา พระอาจารย์ฝั้นยังคงไปๆ มาๆ ระหว่างวัดป่าอุดมสมพร วัดป่าภูธรพิทักษ์ และวัดป่าถ้ำขาม แต่ไม่ว่าท่านจะไปพำนักอยู่ที่ใด บรรดาผู้คนจะพากันไปกราบไหว้นมัสการท่านอย่างเนืองแน่น ทุกคนได้รับการต้อนรับจากท่านอย่างเสมอหน้า ไม่มีเด็กไม่มีผู้ใหญ่ ไม่มีคนมีคนจน ไม่มีเจ้านายหรือบ่าวไพร่ ทุกคนได้รับความเมตตาปรานีเสมอกันหมด ตลอดเวลาที่ผ่านไป ท่านไม่เคยกระตือรือร้นในอันที่จะต้อนรับใครผู้ใดเป็นพิเศษ ทั้งไม่เคยย่อท้อในการเอาธุระแนะนำสั่งสอนอบรมเทศนาแก่ผู้คนทุกหมู่ทุกเหล่า

ท่านเป็นนักสร้างคน คือสร้างคนให้เป็นคนที่สมบูรณ์ ท่านได้แก้ไขผู้ประพฤติเป็นพาลเกเรเบียดเบียนข่มเหงรังแก สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นโดยการใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ ตลอดจนผู้ติดอบายมุขต่างๆ ให้บังเกิดความสำนึกตนและละเว้นจากการประพฤติมิชอบเป็นผลสำเร็จมามากต่อมาก

LP fun 07

เมตตาบารมีธรรมของท่าน กว้างใหญ่ใหญ่ไพศาลขึ้นทุกที แต่ละปีที่ล่วงไป ผู้คนที่หลั่งไหลไปนมัสการท่านเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่มีวันจบสิ้น จนกระทั่งในระยะหลังๆ บรรดาสานุศิษย์และนายแพทย์ได้กราบวิงวอนท่านครั้งแล้วครั้งเล่า ให้บรรเทาการรับแขกลงเสียบ้าง ท่านจะได้มีเวลาพักผ่อนมากยิ่งขึ้น เพราะนับวันที่ผ่านไปสังขารของท่านได้ทรุดโทรมลงไปมาก ทั้งยังล้มป่วยลงบ่อยๆ อีกด้วย แต่ท่านไม่ยอมกระทำตาม ซึ่งทุกคนก็ตระหนักดีในเหตุผลว่าเป็นการขัดต่อเมตตาธรรมที่ท่านยึดถือปฏิบัติมาตลอด

ความตรากตรำในการแผ่บารมีธรรมของท่านนี้เอง เป็นมูลเหตุสำคัญให้ท่านเกิดอาพาธอย่างฉับพลัน เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2519 จึงได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสกลนคร แต่อาการของท่านไม่ดีขึ้น จึงได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในกรุงเทพมหานครอีกระยะหนึ่ง โดยอยู่ในพระบรมราชานุเคราะห์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

LP fun 04

รักษาตัวอยู่ได้ระยะหนึ่ง พระอาจารย์ฝั้นก็ขอกลับวัด กลับมาคราวนี้ คณะศิษย์ได้ร่วมกันสร้างกุฏิหลังใหม่ให้ท่านพักอาศัย โดยยกพื้นขึ้นมาบนสระหนองแวง ข้างโบสถ์น้ำและทำรั้วกั้นเพื่อมิให้ผู้คนเข้าไปรบกวนท่านด้วย

มรณภาพ

แต่อาการของท่านก็ยังไม่ดีขึ้น มีแต่ทรงกับทรุดอยู่ตลอดเวลา จนกระทั่งถึงวันที่ 4 มกราคม 2520 ได้เกิดอาการโรคแทรกซ้อนขึ้นอย่างรุนแรง และกะทันหัน ท่านจึงต้องทิ้งขันธ์ธาตุของท่านไปด้วยอาการสงบ เมื่อเวลา 19.50 น. ของวันเดียวกัน ณ วัดป่าอุดมสมพร ซึ่งถือเป็นอนุสรณ์สถานที่สำคัญของท่าน สิริรวมอายุได้ 78 ปี 58 พรรษา

LP fun 08

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จฯ ไปทรงสรงน้ำศพ พระราชทานหีบทองประกอบศพ จนถึงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2521 ได้เสด็จพระราชทานเพลิงศพเป็นการส่วนพระองค์ ในบริเวณที่พระราชทานเพลิงศพของพระอาจารย์ฝั้นได้มีการสร้างเจดีย์พิพิธภัณฑ์พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร สูง 27.9 เมตร ลักษณะเป็นเจดีย์ปลายแหลม ฐานกลม ขึ้นรูปด้วยกลีบบัวหุ้มฐานสามชั้น แต่ละกลีบบัวตกแต่งด้วยกระเบื้องเป็นรูปพระอาจารย์ต่างๆ ภายในเจดีย์มีรูปปั้นพระอาจารย์ฝั้นถือไม้เท้าขนาดเท่าองค์จริง มีตู้กระจกบรรจุเครื่องอัฐบริขารของท่าน

คำสอน

"ทุกคนจะต้องเข้ามหายุทธสงครามสักวันหนึ่ง คือการ ต่อสู้กับมัจจุราช เมื่อถึงเวลานั้นแต่ละคนจะต้องสู้เพื่อ ตนเอง และต้องสู้โดยลำพัง ผู้ที่สู้ได้ดีก็จะไปดี คือไปสู่ สุคติ ผู้ที่เพลี่ยงพล้ำก็จะไปร้าย คือไปสู่ทุคติ อาวุธที่ใช้ ต่อสู้มีเพียงสิ่งเดียว คือ "สติ" ซึ่งจะสร้างสมได้ด้วยการ เจริญภาวนาเท่านั้น"

LP fun 09

"บุญกุศลนั้นก็ไม่ใช่อื่นไกล ก็ได้แก่ทานบารมี ศีลบารมี ภาวนาบารมีนี้แหละทาน ก็รู้อยู่แล้ว คือการสละ หรือ การละการวางผู้ใดละมาก วางได้มาก ก็เป็นผลานิสงส์มากผู้ใดวางได้น้อย ละได้น้อย ก็มีผลานิสงส์น้อย ละได้น้อย ก็มีผลานิสงส์น้อยมัจฉริยะความตระหนี่เหนียวแน่น นี้หละ คือความโลภ ต้องสละเสีย ให้เป็นผู้บริจาค ก็บริจาคทรัพย์สมบัติ วัตถุทั้งหลายเหล่านั้นหละ ไม่ใช่อื่นไกลแปลว่า ทะนุบำรุงตน เหมือน พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ท่านจะสำเร็จมรรคผล ท่านก็ได้สร้างบารมีมา คือทานบารมีอันนี้ นี่ให้เข้าใจไว้ ทานเป็นเครื่องสะเบียงของเรา เมื่อเราได้ทำไว้พอแล้วเราจะเดินทางไกล เราก็ไม่ต้องกลัวอดกลัวอยาก กลัวทุกข์กลัวยากของเก่าเราได้ทำมาไว้ ถ้าอะไรเราไม่ได้ทำไว้ อยากได้ มันก็ไม่ได้ ถ้าได้ทำไว้แล้ว สร้างไว้แล้ว ไม่อยากได้ มันก็ได้ นี่แหละทานบารมี เหตุนี้ ให้พากันเข้าใจ"

"ศีลบารมีล่ะ คนเราเพียงแต่รับศีลไม่ได้รักษาศีล เข้าใจว่า ศีลนั้นเป็นของพระถ้าพระไม่ให้แล้ว ก็ว่าเราไม่ได้ ศีลอย่างนี้ เป็นสีลัพพตปรามาส เพียงแต่ลูบคลำศีลแท้ที่จริงนั้น ศีลของเรา เกิดมาพร้อมกับเรา ศีลห้าบริบูรณ์ตั้งแต่เกิดขาสอง แขนสอง ศีรษะหนึ่ง อันนี้คือตัวศีลห้า เราได้จากมารดาของเรา เกิดมาก็มีพร้อมแล้ว เมื่อเรามีศีลห้าบริสุทธิ์อย่างนี้ ก็ให้เรารักษาอันนี้หละ รักษากายของเรา รักษาวาจา รักษาใจให้เรียบร้อยอย่าไปกระทำโทษน้อยใหญ่ ทางกาย ทางวาจา ทางใจของเรา โทษห้าคืออะไร คือ ปาณาติปาตา ท่านให้งดเว้น อย่าไปทำ นั่นเป็นโทษ ไม่ใช่ศีลอทินนาทานา นั่นก็เป็นโทษ ไม่ใช่ศีลกาเมสุมิจฉาจารา นั่นก็ไม่ใช่ศีล เป็นแต่โทษมุสาวาทา ท่านให้งดเว้น มันเป็นโทษ ไม่ใช่ศีลสุราเมรยมชฺชฯ อันนี้ก็เป็นแต่โทษถ้าเราไม่ได้ทำความผิดห้าอย่างนี้ อยู่ที่ไหนเราก็มีศีล อยู่ในป่าในดง ก็มีศีล อยู่ในรถในรา เราก็มีศีลให้เข้าใจศีลตามนี้ ที่คอยจะรับจากพระ นั่นไม่ใช่ ท่านก็บอกว่า อย่าไปทำ ห้าอย่างนั้นให้ละเว้น เมื่อเราละเว้นแล้ว อยู่ที่ไหนก็มีศีล เราก็เป็นคนบริสุทธิ์ บริบูรณ์ ศีลห้า อย่างนั้น เราไม่อยากได้ ไม่ปรารถนาเหตุฉันใด จึงว่าไม่อยากได้ พิจารณาดูซี่ สมมติว่ามีคนมาฆ่า หรือ มาฆ่าพี่ฆ่าน้อง ญาติพงษ์ ของเรา เราดีใจไหมล่ะ เราไปฆ่าเขาล่ะ เขาดีใจไหม พิจารณาดูซี่ เราไม่ต้องการอย่างนั้นไม่ใช่เหรอถ้าเราไม่ทำอย่างนั้นแล้ว โทษของเรา ก็ไม่มี เกิดมาอายุก็ยืนนาน ไม่ตายแต่น้อย แต่หนุมก็เพราะเราไม่ได้ทำปาณาติบาตไว้ ในหลายภพหลายชาติแม้ในชาตินี้ก็เหมือนกัน เราฟังธรรม ก็ฟังในชาตินี้ แล้วก็ปฏิบัติในปัจจุบันนี้ เราไม่ต้องคำนึงถึงอดีตอนาคต เรากำหนดให้รู้เดี๋ยวนี้ เรานั่งอยู่นี่ ก็เป็นศีลอยู่ นี่ข้อสำคัญ"

LP fun 10

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)