คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ภาคอีสาน หรือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของประเทศไทย เป็นดินแดนที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ที่สุดในประเทศ และเป็นพื้นที่อุดมไปด้วยศิลปวัฒนธรรม จากยุคก่อนประวัติศาสตร์พัฒนาเรื่อยมา มีความเจริญงอกงามของอาณาจักรต่างๆ ได้แก่ ทวารวดี ขอม ล้านช้าง และประเทศไทย ในปัจจุบัน ความเจริญของอาณาจักรต่างๆ นั้นเกิดขึ้นบนพื้นฐานสังคมการเกษตรทั้งการปลูกพืชและการเลี้ยงสัตว์ จนกลายเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศในปัจจุบัน
“ข้าว” เป็นธัญพืชที่เปรียบเสมือนของขวัญจากธรรมชาติ คนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและพื้นที่อื่นทั่วไปให้ความสำคัญข้าวเป็นอย่างยิ่ง จนอาจถือได้ว่าเป็นอาหารของโลก ด้วยความสำคัญของข้าวที่มีต่อมนุษย์เช่นนี้จึงทำให้เกิด “วัฒนธรรมข้าว” ที่สะท้อนในมิติความเชื่อ เช่น ขวัญข้าว เทพเจ้าแห่งข้าว เป็นต้น ความเชื่อเหล่านี้ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นกิจกรรมทางวัฒนธรรม อาทิ การสู่ขวัญข้าว การบูชาข้าว การบูชาเทพเจ้าแห่งข้าว (โพสพ) เป็นต้น ลักษณะความสำคัญเหล่านี้เองชี้ให้รู้และเข้าใจถึงความเคารพ และการให้ความสำคัญต่อข้าว จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ต้องปฏิบัติ จนกลายเป็นบรรทัดฐานทางสังคมของผู้คนที่อาศัยในดินแดนแถบนี้
ในมิติสังคมเกษตรกรรม “ข้าว” เป็นธัญพืชที่ต้องเพาะปลูกเพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยว เพื่อกักตุนไว้บริโภค หรือใช้ในกิจกรรมตามความเชื่อต่างๆ ของชาวอีสาน การเพาะปลูกข้าวจึงเป็น "ร่องรอยแห่งภูมิปัญญา (Wisdom) ในสมัยอดีต" ที่บ่งบอกถึงความรู้ความสามารถในการเพาะพันธุ์ และขยายจำนวนข้าวให้เพิ่มมากขึ้นจนเพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคในชุมชน ภูมิปัญญาที่ประกอบสร้างขึ้น มีหลากหลายมิติที่จะพยายามให้เกิดการ “ทำนา” ภายใต้องค์ความรู้ต่างๆ ที่เกิดจากการเรียนรู้ คิดค้น พัฒนา มาจนถึงปัจจุบัน
ในสมัยอดีต ไม่มีการบันทึกพันธุ์ข้าวโบราณว่า ได้มาจากแหล่งใดและด้วยเหตุผลใด แต่ร่องรอยของข้าวที่เด่นชัดที่เป็นหลักฐานได้จากรอยแกลบที่ปรากฏในอิฐเผาสมัยทวารวดี ที่ปรากฏในโบราณสถานต่างๆ ในภาคอีสานจะชี้ให้เห็นว่า สังคมทวารวดีก็มีพื้นฐานมาจากสังคมเกษตร เพียงแต่มีข้อสังเกตว่ารอยเมล็ดข้าวที่ปรากฏในอิฐตามโบราณสถานต่างๆ ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ล้วนแต่มีลักษณะเล็กยาวเรียวดุจข้าวจ้าวในปัจจุบัน ส่วนรอยเมล็ดข้าวที่ปรากฏในอิฐตามโบราณสถานต่างๆ ในเขตภาคกลางกลับมีเมล็ดแบนใหญ่ และมีสัณฐานป้อมมนคล้ายเมล็ดข้าวเหนียวในปัจจุบัน สุจิตต์ วงษ์เทศ (2549 : 44-45) กล่าวว่า คนที่อาศัยอยู่ในเขตภาคอีสานมีชีวิตอยู่อย่างเร่ร่อนมานานมากกว่า 5,000 ปี ต่อมาจึงรู้จักการปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ โดยกล่าวว่าเพิ่มเติมอีกว่า กลุ่มพวกที่อาศัยในที่สูงของภาคอีสานมีการปลูกข้าวโดยใช้พันธุ์ป่าพื้นถิ่นดั้งเดิม ที่ไม่ต้องอาศัยน้ำเพื่อหล่อเลี้ยงมากนัก ในขณะที่พวกที่ราบลุ่มมักรู้จากการใช้น้ำและปุ๋ย เพื่อการเพาะปลูกมากกว่า จึงทำให้คนกลุ่มนี้ไม่นิยมย้ายถิ่นบ่อยและได้ตั้งเป็นหมู่บ้าน เมือง และอาณาจักรได้ในที่สุด
เมื่อ "ข้าว" มีความสำคัญเช่นนี้แล้ว จึงมีความเชื่อและประเพณีที่จัดขึ้นที่เกี่ยวข้องกับข้าว เพื่อหวังผลให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ จึงทำให้เกิดการกำหนดเป็นจารีต (ฮีต) ที่ต้องปฏิบัติปรากฏในรอบปี คือ ฮีตเดือน 2 (บุญคูณลาน) เดือน 3 (บุญข้าวจี่) เดือน 9 (บุญข้าวประดับดิน) และเดือน 10 (บุญข้าวสาก) ซึ่งนอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมย่อยตามกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในลักษณะของ “พิธีกรรม” ซึ่งชี้ให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อข้าว ทั้งในบทบาทของอาหารเพื่อการบริโภค และในลักษณะของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องให้ความเคารพบูชา โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุหรือสิ่งที่ต้องใช้เกี่ยวเนื่องในวัฒนธรรมข้าว ที่สำคัญในอดีตคือ “เต่า”
“เต่า” เป็นสัตว์ที่เชื่อกันว่า เป็นผู้อยู่ศูนย์กลางของโลก มีวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับการกำเนิดโลกและมหาสมุทร ที่กล่าวถึงเต่าอย่างหลากหลาย และเต่ายังถูกใช้เป็นสัญญะที่สำคัญมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ มักถูกใช้ในประเพณีพิธีกรรมตลอดจนถือว่าเป็น สัตว์ศักดิ์สิทธิ์ (Trilok Chandra Majupuria 2000 : 192- 193) หลายลัทธิศาสนาใหความสำคัญต่อ "เต่า" ในฐานะสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมีทั้งตำนานและความเชื่อต่างๆ ประกอบกัน อาทิ ศาสนาพราหมณ์เชื่อว่า พระนารายณ์ปางกูรมาวตาร ทรงอวตารเป็น "เต่า" เพื่อรองรับ ภูเขามันทระ ที่เป็นแกนหมุนในพิธีกวนเกษียรสมุทร เพื่อไม่ให้ภูเขามันทระที่หมุนกวนเจาะทะลุโลก ศาสนิกชนในศาสนาพราหมณ์จึงเชื่อว่า เต่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยโลกให้พ้นจากการถูกเจาะในครั้งนี้ ในขณะที่ตำนานท้องถิ่นเรื่อง พญากาเผือก ได้อธิบายต้นกำเนิดศาสนาพุทธกล่าวว่า ในภัทรกัปพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งพระนามว่า พระมหากัสสปะ ซึ่งเชื่อว่าเดิมทีพระองค์มีชาติกำเนิดเป็นเต่า จึงทำให้ชาวพุทธนับถือ "เต่า" ว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์เช่นกัน ส่วนในประเทศจีนเชื่อถือว่า เต่า เป็นตัวแทนของความอายุยืนยาวและเป็นเทพเจ้า เป็นต้น
ในประเทศไทย เต่า เป็นสัตว์ที่มีความพิเศษในฐานะสัตว์ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อและศาสนา จากการศึกษาค้นคว้าพบว่า เต่าในประเทศไทยมี 6 กลุ่ม คือ 1) Family Testudinidae 2) Family Platysternidae 3) Family Bataguridae 4) Family Trionychidae 5) Family Cheloniidae และ 6) Family Dermochelyidae (พิพิธภัณฑ์เต่า : ออนไลน์) ซึ่งเชื่อกันว่าเต่าน่าจะมีมาตั้งแต่โลกยุคดึกดำบรรพ์และสืบสายพันธุ์กันเรื่อยมา เต่าไม่เคยปรากฏว่าเป็นสัตว์เลี้ยงมาก่อน จึงมีการเลี้ยงเพื่อดูเล่นตามแนวคิดที่ได้มาจากวัฒนธรรมอื่น ซึ่งก็ไม่ใช่การเลี้ยงเต่าพื้นเมืองไทย และเลี้ยงเพื่อเป็นของเซ่นไหว้ตามความเชื่อท้องถิ่น และยังไม่มีการเลี้ยงเพื่อการค้าและการบริโภคด้วย
อนึ่ง เต่า เป็นสัตว์ท้องถิ่นที่ไม่ใช่อาหารของมนุษย์ที่บริโภคกันเป็นประจำ หรือบางกลุ่มก็ไม่บริโภคเต่าเป็นอาหารเลยก็มี แต่ในภาคอีสานของประเทศไทย ยังมีคนบางกลุ่มบริโภคเต่าเป็นอาหารในช่วงพิเศษเท่านั้น กล่าวคือ การกินเต่าถือเป็นเรื่องพิเศษ สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่ม ในภาคอีสานบางพื้นที่จะบริโภคเต่าเฉพาะครัวเรือนในช่วง เทศกาลบุญผะเหวด ซึ่งหากมีการเชิญแขกมาร่วมรับประทานด้วย จะถือเป็นการให้เกียรติอย่างสูงมาก ซึ่งนอกจากช่วงเวลานี้ก็จะไม่บริโภคเนื้อเต่าเลย (อธิราชย์ นันขันตี 2561 : สัมภาษณ์) อนึ่งในประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ ของอีสานที่เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ เช่น บุญผะเหวด บุญคูณลาน ทำขวัญข้าว เลี้ยงปู่ตา เป็นต้น ก็มักจะต้องมีเต่าเป็นสัตว์วัตถุที่ใช้ในกิจกรรมเหล่านั้นเสมอ เต่าจึงมีหน้าที่มากกว่าความเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำธรรมดา แต่กลายเป็นภาพแทนทางวัฒนธรรมบางประการ ในลักษณะที่เป็น “สัญลักษณ์” ทำหน้าที่เป็นตัวแทนชุดข้อมูลบางข้อมูลตามความเชื่อในแต่ละท้องถิ่นซึ่งสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
การใช้เต่าเป็นสัตว์วัตถุในประเพณี และพิธีกรรมของผู้คนที่อาศัยอยู่ในกลุ่มวัฒนธรรมข้าว โดยเฉพาะในเขตภาคอีสานของประเทศไทยและพื้นที่ใกล้เคียงจะเห็นได้ว่า มีการใช้เต่าหลายกิจกรรม ซึ่งมีทั้ง ชิ้นส่วนอวัยวะจากเต่า อาหารจากเต่า และเต่าที่มีชีวิตจริง แนวคิดเหล่านี้อาจเป็นแนวคิดดั้งเดิมก่อนรับอิทธิพลทางศาสนาพุทธ จนพัฒนามาเป็นวัฒนธรรมร่วมกับศาสนาพุทธในภายหลัง ซึ่งในบทความนี้จะนำเสนอ 2 ประเด็น คือ การใช้เต่าในพิธีเซ่นไหว้ผีปู่ตา และการใช้กระดองเต่าที่เกี่ยวกับข้าว เพื่อเป็นแนวทางอธิบายถึงความสำคัญของ “เต่า” ที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมในวัฒนธรรมข้าวในบทความนี้
เต่า เป็นการใช้เชิงสัญลักษณ์ เพื่อเป็นเครื่องแทนความอุดมสมบูรณ์ของท้องถิ่นอีสาน จากข้อมูลภาคสนามพบว่า การไหว้ผีปู่ตามีข้อกำหนดในการใช้เต่า เป็นสัตว์วัตถุเพื่อไหว้ผีปู่ตาแทน “ควาย” เรียกกันว่า “ควายทาม” ลักษณะการใช้เต่าเพื่อเป็นภาพแทนของควายทามนั้น ไม่มีข้ออธิบายที่แน่ชัด หากปีใดหาเต่าไม่ได้ก็จะไม่จัดงานไหว้ผีปู่ตา และกำหนดว่าต้องเป็นเต่าเพ็ก (เต่าบกเท่านั้น)
บางพื้นที่ใช้ “แมลงตับเต่า” เพราะหมายเอาคำที่พ้องกับคำว่า “เต่า” มาเป็นเครื่องเซ่นสรวงแทนบ้าง ในบางปีที่หาเต่าไม่ได้ (พจนวราภรณ์ เขจรเนตร 2562 : สัมภาษณ์) เนื่องจากจากการเลี้ยงผีปู่ตาจะมีการกำหนดวันในการเลี้ยง 2 วาระ คือ การเลี้ยงลง (เพื่อลงทำนา) และเลี้ยงขึ้น (ขึ้นจากการทำนา) การเลี้ยงขึ้นจะทำในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ผีปู่ตามีฐานะผู้ควบคุมเขตพื้นที่ทางความเชื่อและพื้นที่ทางจิตวิญญาณของคนอีสาน จึงต้องได้รับรู้ในกิจที่ลูกบ้านจะทำต่างๆ และยังถือเป็นงานเลี้ยงฉลองประจำปีที่สำคัญมาก การใช้ "เต่า" เพื่อไหว้ปู่ตาจึงเชื่อมโยงไปสู่การสร้างคตินิยม เพื่อแสดงออกถึงความต้องการพืชพันธุ์ที่อุดมสมบูรณ์ กรณีการเลี้ยงผีปู่ตาบางชุมชนจะกำหนดให้มีสัตว์วัตถุเพิ่มเติมเพื่อเป็น “สัญลักษณ์” สื่อถึงความปรารถนาเชิงอุดมการณ์ที่สังคมท้องถิ่นต้องการ เช่น ไก่แป้น (ไก่ตัวผู้ขนาดใหญ่หรืออาจใช้แผ่นไม้แทน) และแลนโมน (นัยใช้ "กิ้งก่าตัวใหญ่" แทนตัว แลน/ตะกวด) เป็นต้น (แก้วตา จันทรานุสรณ์ 2561 : สัมภาษณ์) กล่าวว่า เหตุที่ใช้ ควายทาม (เต่า) ในการบูชาปู่ตา เพราะแต่เดิม เขตปู่ตาเป็นแหล่งอาหารและยาอันอุดมสำหรับชุมชน โดยเฉพาะในพื้นที่ทามซึ่งเชื่อมกับดอนปู่ตา มักมี "เต่า" ที่เชื่อมระหว่างดอนกับทาม เต่า มีคุณลักษณะพิเศษที่เชื่อมพื้นที่ทางกายภาพ พื้นที่ทางจิตวิญญาณ และนัยทางสังคม คุณลักษณะดังกล่าวจึงทำให้ผู้มีภูมิรู้หรือปราชญ์ท้องถิ่น อาศัยใช้เชื่อมกับอำนาจสูงสุดของพื้นที่หล่อเลี้ยงชีวิตในฐานะเครื่องมือ (พาหนะ) ช่วยผลิตสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิตลูกหลาน และเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่กายภาพด้วย อนึ่ง การใช้เต่าเพื่อไหว้ผีปู่ตา เพราะความจำเป็นบางประการก็เป็นได้ (อธิราชย์ นันขันตี 2561 : สัมภาษณ์) ได้กล่าวถึงชุมชนผู้ไทพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ว่า มีความประสงค์ว่าไม่ต้องการฆ่าควายเพื่อไหว้ผีปู่ตา จึงได้ใช้เต่าเพื่อเป็นสัตว์วัตถุบูชาแทน หรืออาจมีเงินจำกัดในการฆ่าควายก็เป็นได้ นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตว่า การใช้เต่าในการไหว้ผีปู่ตาเป็นแนวคิดดั้งเดิม
ความเกี่ยวพันของเต่าในฐานะควายทาม สันนิษฐานได้ว่า “เต่า” เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งในวัฒนธรรมข้าวของชาวอีสาน ที่เชื่อมโยงระหว่าง คน กับ ผี โดยใช้อำนาจของผีที่จะช่วยเกื้อกูลให้การทำไร่ทำนา โดยเฉพาะผลผลิตจากการปลูกข้าวมีความอุดมสมบูรณ์ “เต่า” จึงกลายเป็นสัญญะที่รักษาความเชื่อและความคาดหวังของสังคมอีสาน ที่จะช่วยทำให้ตนสมหวังในการเพาะปลูก และสามารถเลี้ยงชีพได้อย่างปกติสุข การใช้เต่าจึงเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของวัฒนธรรมข้าวของชาวอีสาน ที่ทำให้เกิดแรงจูงใจกระตุ้นให้เกิดความโน้มเอียง (dispositions) ซึ่ง อคิน รพีพัฒน์ (2551 : 84-85) ได้กล่าวถึงความโน้มเอียงที่เกิดจากสัญลักษณ์ทางความเชื่ออยู่สองประการคือ แรงจูงใจ และความรู้สึก ซึ่งแรงจูงใจนี้อาจมองเห็นถึงความต้องการระบุให้เต่าเป็นสัตว์พิเศษและเป็นอาหารพิเศษ จึงต้องนำมาใช้เป็นเครื่องบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้นจึงเกิดการฆ่าเต่าและรับประทานเนื้อเต่าในวาระพิเศษ สอดคล้องกับ (ปัญญา นาแพงหมื่น 2561 : สัมภาษณ์) ตำราแพทย์แผนไทยเล่ม 2 คัมภีร์ฉันทศาสตร์ ซึ่งแต่งโดยเจ้าเมืองจันทบูรณ์กล่าวว่า สมุนไพรที่ใช้ในการบำรุงตับ คือ พืชสมุนไพรที่ชื่อหัวเต่าต่างๆ อาทิ หัวเต่ารั้ง หัวเต่าเกียด รวมถึงหัวเต่าจริงๆ ที่เป็นสัตว์วัตถุ โดยนำมาสุมจนเป็นถ่านแล้วแช่น้ำดื่ม และ (อธิราชย์ นันขันตี 2561 : สัมภาษณ์) กล่าวว่า การบริโภคเนื้อเต่าสำหรับบางชุมชนในภาคอีสานแล้ว มักจะรับประทานในวาระพิเศษทางสังคมเท่านั้น เช่น ชุมชนในเขต อำเภอร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์ จะบริโภคเนื้อเต่าช่วงเทศกาลงานบุญผะเหวด เป็นต้น
วิธีการใช้เต่าเพื่อเป็นเครื่องบูชาผีปู่ตานั้น ส่วนมากจะนิยมใช้เต่าบกที่เป็นพันธุ์พื้นเมืองที่เรียกว่า “เต่าเพ็ก” ซึ่งเชื่อว่าเป็นที่ต้องการของผีปู่ตา ในแต่ละชุมชนของชาวอีสานที่มีการเคารพนับถือผีปู่ตา จะมีการใช้เต่าเพื่อเป็นเครื่องบูชาที่มีลักษณะแตกต่างกัน สามารถจำแนกได้ดังนี้
การใช้เต่าเป็นเครื่องบูชาผีปู่ตา มีทั้งการใช้เต่าที่มีชีวิตและเอาเต่ามาประกอบอาหาร วิธีการนี้เป็นแนวคิดที่สืบทอดกันเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน การใช้เต่านี้พิธีกรรมนี้เป็นที่รับรู้ในกลุ่มคนในสังคมท้องถิ่น และเป็นหน้าที่ของ “เฒ่าจ้ำ” หรือผู้นำชุมชน จะต้องจัดหามาเพื่อเป็นเครื่องประกอบพิธีกรรม ให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ การใช้เต่านี้ในปัจจุบันยังมีบางชุมชนก็มีสืบทอดแนวคิดอย่างเข้มแข็ง กำหนดว่า หากไม่สามารถหาเต่าเพ็กมาเพื่อใช้เป็นเครื่องบูชาผีปู่ตาได้ ก็จะไม่จัดพิธีไหว้ผีปู่ตา ในขณะที่บางท้องถิ่นสามารถใช้ “แมงตับเต่า” หรืออาจ “แมงมุม” เป็นตัวแทนเต่าในการไหว้ผีปู่ตา (ปัญญา นาแพงหมื่น 2561 : สัมภาษณ์) ก็ได้ซึ่งชี้ให้เห็นว่า มีการเลื่อนไหลทางความเชื่อจากตัววัตถุมาเป็นเพียงชื่อวัตถุเท่านั้น
จากที่กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นว่า "เต่า" เป็นสัตว์สัญลักษณ์ที่ใช้กันสืบเนื่องเรื่อยมา โดยใช้เป็นเครื่องอธิบายถึงความอุดมสมบูรณ์ เป็นสัตว์วัตถุที่ถูกกำหนดบทบาทหน้าที่อย่างชัดเจนในการเป็นเครื่องเซ่นสรวงผีปู่ตา ในขณะเดียวกันก็เป็นเครื่องรับประกันของชาวนาว่า จะได้ต้นข้าวที่ดี การใช้เต่าบูชาจึงกลายเป็นของ “ต่อรอง” ระหว่างมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติ เพื่อให้ผลผลิตข้าวที่ดีตามที่ตนต้องการ อนึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า การขีดเขียนหรือวาดภาพของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ตามเพิงผา หรือในถ้ำต่างๆ นั้น สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้เคยตั้งข้อสังเกตว่า น่าจะเป็นเขียนภาพคนอีกโลกหนึ่งแล้วเรียกกลุ่มคนในภาพว่า “ผีขวัญ” ซึ่งจะเขียนกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งการทำไร่ทำนาไว้ เพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีไหว้ผีขวัญตามความเชื่อ ซึ่งภาพเหล่านั้นก็มักมีภาพเต่าประกอบอยู่ด้วย (สุจิตต์ วงษ์เทศ 2562 : สัมภาษณ์) จึงอาจอธิบายได้ว่า การใช้เต่าเป็นเครื่องแทนหรือเป็นสัญลักษณ์แทนความอุดมสมบูรณ์ ในวัฒนธรรมการปลูกข้าวที่มีมาแต่โบราณก็เป็นได้ แนวคิดการใช้เต่าเพื่อบูชาต่อสิ่งเหนือธรรมชาติจึงเชื่อได้ว่า เป็นแนวคิดร่วมที่ทำกันในหลายพื้นที่ในเอเชีย หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นแนวคิดสากลที่มีใช้มาแต่ดึกดำบรรพ์ เพียงแต่เมื่อวัฒนธรรมการปลูกข้าวเปลี่ยนแปลงไป จึงลดละหรือเลิกการใช้เต่าบูชาในหลายพื้นที่ แต่ในภาคอีสานยังคงยึดถือเป็นธรรมเนียมสำคัญสืบต่อก่อนเรื่อยมา
ภาพลายเส้นคัดลอกของกรมศิลปากร จากภาพเขียนสีที่ผาแต้ม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
ธรรมดาเมื่อชาวอีสานได้ข้าวใส่ในยุ้งฉาง เพื่อเก็บไว้บริโภคนั้น เมื่อตักข้าวจะใช้ กระดองเต่า หรือกระอองเต่า ตักข้าวเพื่อใช้บริโภค ซึ่งไม่ใช้ภาชนะอื่นแทนซึ่งเป็นการกำหนดใช้เป็นการจำเพาะ จึงมีความน่าสนใจว่า เพราะเหตุใดจึงใช้กระดองเต่าเป็นภาชนะตักข้าว ในประเด็นว่ามีความเชื่อหรือคติแนวคิดอย่างไร และเต่ามีความเกี่ยวข้องกับข้าวอย่างไร ซึ่งจะทำให้เข้าใจและเข้าถึงวิธีคิดของชาวอีสานที่มีต่ออาหารที่ใช้บริโภคเลี้ยงชีพตนเอง
เมื่อ “เต่า” เกี่ยวข้องในฐานะของเซ่นไหว้ผีปู่ตาก่อนการทำนาแล้วนั้น ยังนำเอากระดองเต่ามาใช้ในกิจกรรมเกี่ยวกับข้าว จากศึกษาภาคสนามทั้งในเขตภาคอีสานพบว่า กระดองเต่า หรือ กระอองเต่า ใช้เป็นภาชนะในการตวงวัดและตักข้าวเพื่อนำมาบริโภค ซึ่งมีทั้งที่ใช้ตักข้าวสารและตักข้าวเปลือก เป็นที่น่าสังเกตว่า การใช้กระดองเต่าตักข้าวนั้น พบทั้งในกลุ่มชาติพันธุ์ไทลาว ผู้ไท ไทญ้อ ไทโย้ย ไทโส้ ไทข่า (บรู) ไทโซ่ (ทะวืง) ในเขตภาคอีสานและภาคเหนือของประเทศไทย
อนึ่งจากการศึกษาข้อมูลพื้นฐานข้างต้นพบว่า มีการใช้กระดองในภาคเหนือโดยเก็บเอากระดองเต่าไว้ในยุ้งฉางข้าว ดังข้ออธิบายของ รัมภาภัค ศิริทับ (2544 : 80) กล่าวว่า ชาวล้านนาไทยมีความเชื่อว่า หากเอากระดองเต่าไปไว้ในยุ้งข้าว พร้อมวิงวอนร้องขอให้เต่าช่วยอุ้มชูดูแลเมล็ดข้าวให้อยู่ในยุ้งฉางนานๆ ไม่หนีหายไปไหน เชื่อว่าจะทำให้มีข้าวรับประทานได้ตลอดทั้งปี โดยการเอากระดองเต่าวางไว้พื้นยุ้งข้าว จากนั้นจึงเอาข้าวเปลือกเททับกระดองเต่า แล้วจึงเริ่มพิธีทำขวัญข้าวต่อไป แนวคิดนี้คล้ายกับแนวคิดของชาวไทยเชื้อสายเขมรในจังหวัดสุรินทร์ ที่กล่าวถึง การใช้กระดองเต่าในพิธีเรียกขวัญข้าว ดังข้ออธิบายของ สารภี ภูมิประเทศ (ม.ป.ฐ.) กล่าวว่า ใน พิธีเรียกขวัญข้าว (เฮาปลึง สเริว) ของชาวไทยเชื้อสายเขมรในจังหวัดสุรินทร์ ได้อธิบายถึงองค์ประกอบของเครื่องเซ่นไหว้ ในพิธีกรรม โดยกล่าวถึงพิธีการทำขวัญให้แก่แม่โพสพ (ข้าว) และอธิบายว่า หากเอากระดองเต่าเก็บไว้ในยุ้งข้าวเชื่อว่าจะทำให้เกิดความร่มเย็น ทำให้ข้าวอยู่ในยุ้งข้าวนั้นนานๆ และเพิ่มผลผลิตให้แก่การปลูกข้าวอีกด้วย
อนึ่งมีข้อสังเกตว่า ในประเทศกัมพูชามีการใช้กระดองเต่าเพื่อตักข้าวเพื่อนำไปบริโภค ดังข้ออธิบายของ ยี ศิลา (2561 : สัมภาษณ์) กล่าวว่า ในอดีตที่บ้านตนเองใช้กระดองเต่าเพื่อตักข้าว และตักน้ำเพื่อใช้บริโภค แต่ปัจจุบันไม่ค่อยพบเห็นแล้ว และส่วนมากที่ยังใช้อยู่ก็เป็นกระดองเต่าของเก่าที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษแล้ว และคำบอกเล่าของ แหม ฮิม (2561 : สัมภาษณ์) กล่าวว่า ในอดีตใช้กระดองเต่าเพื่อตักข้าวสาร และตักน้ำเพื่อใช้บริโภค เพราะมีความเชื่อว่า จะทำให้ขวัญข้าวไม่หนีหาย และตักกินเท่าไหร่ข้าวก็จะไม่ลดลง เคยจะเอาถ้วยตักข้าวสารแต่ถูกผู้ใหญ่ห้ามเอาไว้เพราะหากทำเช่นนั้นข้าวจะไม่อร่อย และเก็บไว้ไม่ได้นานเพราะอาจมีแมลงกัดกินเม็ดข้าวจนหมด ปัจจุบันไม่ใช้แล้ว แต่ยังมีการจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์บ้านโบราณ ที่เมืองพระตะบอง ประเทศกัมพูชา
เหตุสำคัญที่ต้องใช้ 'กระดองเต่าตักข้าว' นั้น เป็นสัตว์วัตถุที่เป็นสัญลักษณ์ที่มีใช้แพร่กระจายทั้งภายในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านหลายกลุ่ม ปัญญา นาแพงหมื่น (2561 : สัมภาษณ์) ได้อธิบายถึงมูลเหตุที่ใช้กระดองเต่าเพื่อตักข้าวนั้น อาจเกิดจากความเชื่อในเต่าที่เป็นสัตว์วัตถุในการรักษาโรคนั้น จึงเชื่อได้ว่านี่เป็นฐานความเชื่อ ผ่านการใช้ชิ้นส่วนของสัตว์วัตถุดังกล่าวตักข้าว จะช่วยบำรุงอวัยวะภายในให้ดีขึ้น อนึ่งคนพื้นถิ่นภาคอีสานมีความเชื่อว่า การทำไร่ทำนาที่ได้ผลผลิตเต็มเม็ดเต็มหน่วย ใช้วิธีตวงด้วยคำว่า “คูนฮวง” “สวดจุ้มกุ้ม” หรือ “สวดโจ้โก้” ซึ่งคำว่า "สวด" มี 2 อย่างคือ สวดหลังเต่า (กองข้าว) และสวดขวยปู (ส่วนมากจะหมายถึงลักษณะอวัยวะเพศ) ดังนั้นจึงอาจเชื่อได้ว่า ถ้าใช้กระดองเต่าตักข้าวเท่าไหร่ข้าวก็ไม่หมด และยังมีพอกพูนสวดเหมือนหลังเต่า (กระดองเต่า) เท่าเดิม
กระดองเต่าข้าวสาร เป็นภาชนะที่ชาวไทญ้อ บ้านโพน อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ใช้ในการตักข้าวเปลือกไปตำ โดยคนโบราณท่านว่า ไม่จำเป็นไม่ควรใช้กระบุงหรือภาชนะอย่างอื่นตักข้าว จะทำให้ขวัญข้าวหนี แต่จะใช้ “อองเต่า” (คือ กระดองเต่า ที่ตัวตายไปแล้ว) เป็นภาชนะตักข้าวเปลือกจากยุ้ง ใส่กระบุง เมื่อจะนำข้าวออกไปตำไปสี
โดยคนโบราณจะมี "วันจกข้าว" คือ วันที่ขึ้นไปตักข้าวเปลือกออกจากยุ้งฉาง เพื่อนำไปตำให้เป็นข้าวสารโดยใช้อองเต่า โดยทั่วไปจะห้ามตำข้าวในวันพระ นอกจากนั้นคนโบราณยังมีตำราดูฤกษ์ดูวัน เรียกว่า “ต๋ารางวันจกข้าว” และ “วันผีช่วยกิน” ถ้าจกไม่ดูตำราก่อน เมื่อไปถูกหรือตรงกับวันที่ห้ามจกข้าวแล้ว เชื่อว่าจะทำให้ข้าวในยุ้งนั้นหมดเร็วกว่าปกติ
กระดองเต่าข้าวสาร หรือ อองเต่า ยังเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านแบบดั้งเดิม โดยกระดองเต่านั้น สามารถป้องกันมอดที่จะมากัดกินข้าวสารได้ กระดองเต่าข้าวสาร หรือ อองเต่า ใช้ในการชั่งตวงวัดปริมาณในการตักข้าวเปลือกก่อนนำมาหุงข้าว โดยสมัยก่อนจะถามว่า ต้องหุงข้าวกี่เต่า
กระดองเต่าตักข้าวสาร นอกจากจะเป็นภาชนะที่ใช้ในการตักข้าวแล้ว เต่าถือเป็นสัตว์มงคล ในอีกนัยหนึ่งกระดองเต่ายังหมายถึงความอุดมสมบูรณ์ เป็นสัตว์ที่ใช้ชีวิตด้วยความเนิบช้า เปรียบเสมือนคติในการใช้ชีวิตของคนในชุมชนบ้านโพนที่ใช้ชีวิตพึ่งพากับธรรมชาติด้วยความสงบ
เป็นที่น่าสังเกตว่า ชาวไทยทรงดำมีวรรณกรรมท้องถิ่นที่สำคัญเรื่อง โต๋เต่า กล่าวถึงเต่าเดินทางไปเฝ้าแถน แล้วมีขอนไม้ขวางทางเดิน ไม่สามารถเดินข้ามไปได้จนเกือบหมดแรง มีมนุษย์มาพบเข้าแล้วยกเต่าข้ามขอนไม้ จากนั้นทั้งเต่าและมนุษย์ก็ไปเฝ้าแถนด้วยกัน เมื่อพบแถนแล้วเต่าก็ขับบทกลอนสรรเสริญมนุษย์ให้แถนฟังจนแถนพอใจ แล้วอวยพรให้มนุษย์ฉลาดกว่าสัตว์ทั้งปวง ด้วยเหตุที่ได้พรเช่นนี้มนุษย์จึงระลึกถึงบุญคุณของเต่าที่มีต่อตน และเพื่อเป็นการแสดงออกในความระลึกถึงนั้น เมื่อสร้างบ้านเรือนจึงเอากระดองเต่ามาประดับไว้ที่เสาเอกของเรือน (ถนอม คงยิ้มละมัย 2556 : 74) ซึ่งเสาเอก หรือเสาแฮก ของคนไทยทรงดำ หรือไทดำนั้นถือกันว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเชื่อว่าเสานี้จะนำพาความมั่นคงและความอุดมสมบูรณ์มาสู่บ้านเรือน ดังนั้นจึงนิยมแขวนวัตถุสัญญะที่เกี่ยวข้องกับความอุดมบูรณ์ คือ กระดองเต่านั่นเอง (บุญยงค์ เกศเทศ 2554 : 180-182) นอกจากนี้ ระวิวรรณ โอฬารรัตน์มณี (2558 : 105-112) ยังได้อธิบายว่า รูปแบบบ้านเรือนของกลุ่มชาติพันธุ์ไทในสิบสองจุไท อันได้แก่ ไทดำ ไทขาว ไทจ้วง ไทนุง และไทโท้ จะสร้างบ้านเรือนที่มีหลังคารูปทรงคล้ายกระดองเต่า เพราะมีความเชื่อเกี่ยวพันกับแถน โดยเฉพาะมิติของความมั่นคงของบ้านเรือนตามสภาพดินฟ้าอากาศ และความอุดมสมบูรณ์ของการอยู่อาศัย
จากข้อศึกษาทั้งงานเอกสารประกอบจากพื้นที่ต่างๆ และข้อมูลภาคสนามกล่าวได้ว่า "เต่า" มีความเกี่ยวพันกับ "ข้าว" ในมิติการใช้กระดองตักข้าว ซึ่งพบแพร่กระจายไปหลายพื้นที่ ทั้งยังเป็นภาพแทนแห่งความอุดมสมบูรณ์ แต่ก็ไม่ปรากฏความเชื่อของเต่ากับข้าวในข้อมูลเชิงเอกสารหรือตำนานอื่นๆ แต่อย่างใด ส่วนวรรณกรรมท้องถิ่นอีสานเรื่อง ท้าวเต่าน้อย ซึ่งปริวรรตโดย ภูวนาท มาตรบุรม (2559) ได้กล่าวถึงพระโพธิสัตว์ที่ถือกำเนิดเป็นเต่าชื่อ “ท้าวเต่าน้อย” จากนั้นก็ได้ขอให้แม่ซื้อหาจอบและเสียมมา เพื่อให้ตนได้ใช้เป็นเครื่องมือทำไร่ทำนาปลูกข้าว ท้าวเต่าน้อยปลูกข้าวได้ผลผลิตเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก เมื่อข้าวแก่จัดก็กลายเป็นสีเหลืองทองและมีกลิ่นหอมไปจนถึงพระราชวัง จนพระมหากษัตริย์เสด็จมาทอดพระเนตรด้วยพระองค์ และตรัสขอแลกเปลี่ยนทรัพย์สมบัติกว่าครึ่งหนึ่งของพระองค์เองกับข้าวครึ่งหนึ่งเช่นกัน และมอบพระธิดาเพื่อให้อภิเษกสมรสกับท้าวเต่าน้อย ครั้นเมื่อจะเข้าพิธีอภิเษกสมรส พระอินทร์ก็เมตตาถอดคราบเต่าออกให้กลายเป็นเจ้าชายรูปงาม และครองรักกับเจ้าหญิงอย่างมีความสุข วรรณกรรมเรื่องนี้แม้ไม่ได้บอกว่า มีส่วนเชื่อมโยงกับการใช้กระดองเต่าตักข้าวแต่ก็เป็นวรรณกรรมเพียงเล่มเดียว ที่มีร่องรอยอธิบายว่า “เต่า” ทำนาได้ข้าวมากกว่าคนปกติ จนพระราชาต้องมาขอแลกกับราชสมบัติและพระธิดาและได้เจริญลาภยศจนได้เป็นพระราชาสืบต่อไป
ข้อความที่นำเสนอมาข้างต้นทั้งหมด จะเห็นถึงความหลากหลายในพื้นที่ ที่ใช้กระดองเต่าตักข้าวเพื่อใช้บริโภค ซึ่งอาจกล่าวว่า เป็นคตินิยมพื้นฐานที่ใช้ร่วมกัน แม้จะขาดเอกสารบันทึกมูลเหตุ หรือวรรณกรรมท้องถิ่นอธิบายมูลเหตุการณ์ของใช้กระดองเต่า แต่ประจักษ์รายบุคคลนั้น ได้สะท้อนถึงความนิยมในสมัยอดีตที่สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
“กระดอง” กลายเป็นวัตถุสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม ที่เป็นข้อแสดงถึงความเกี่ยวพันกันทางวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในภาคอีสาน ตลอดจนกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ในอุษาอาคเนย์ กระดองเต่า จึงถูกใช้ในความหมายแทน “ความอุดมสมบูรณ์” และแทนความระลึกรู้บุญคุณของสัตว์ที่มีคุณประโยชน์ต่อมนุษย์ กระดองเต่าจึงถูกใช้เป็นภาชนะตวงตักข้าว เพื่อความเป็นสวัสดิมงคลดังที่กล่าวมาข้างต้น เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน แม้จะลาเลือนไปแล้วในหลายท้องถิ่นแต่ก็ยังอยู่ในความทรงจำของคนอีสานตลอดไป
เต่า เป็นสัตว์ที่มีความเชื่อถือว่า มีความเป็นมงคลในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ เต่าจึงกลายเป็นสัตว์วัตถุเชิงสัญลักษณ์ที่สื่อออกมาในความหมายของภาพแทนความอุดมสมบูรณ์ และความสุขของการดำเนินชีวิต เต่าจึงนิยมถูกใช้เป็นเครื่องเซ่นไหว้ในพิธีกรรมการไหว้ผีปู่ตา เพื่อให้เกิดความพูลสุขในการทำไร่ทำนา ตลอดจนใช้เป็นภาชนะมงคลเพื่อตวงตักข้าวบริโภค ความเชื่อเหล่านี้ไม่ใช่เกิดขึ้นอย่างเลื่อนลอย แต่หากเป็นกติกาของสังคมที่ใช้ร่วมกันและสืบทอดกันเรื่อยมา เต่า จึงเป็นสัตว์ที่มีความเกี่ยวพันใกล้ชิดกับวัฒนธรรมข้าวของชาวอีสานมานับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เต่าจึงเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวอีสานให้ความเคารพและสงวนอนุรักษ์สืบทอดกันเรื่อยมา
โดย ดร. สถิตย์ ภาคมฤค
อาจารย์ประจำหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาภาษาไทย
มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร
ที่มา : วารสารวิชาการศิลปวัฒนธรรมอีสาน (Journal of Isan Arts and Culture)
ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2563 หน้า 39
อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง : เล้าข้าว | ดอนปู่ตาและผีตาแฮก | ป่าบุ่งป่าทาม
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)