คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ชนเผ่าภูไท หรือ ผู้ไท (Phutai) ถิ่นฐานดั้งเดิมของชาวภูไทเดิมอยู่ในแคว้นสิบสองจุไทย และแค้นสิบสองปันนา (ดินแดนส่วนเหนือของลาวและเวียดนาม ซึ่งติดต่อกับส่วนใต้ของประเทศจีน) ราชอาณาจักไทยได้สูญเสียดินแดนแค้วนสิบสองจุไทยให้ฝรั่งเศส เมื่อ ร.ศ. 107 (พ.ศ. 2431) ภูไท มีถิ่นฐานอยู่ในเขตจังหวัดนครพนม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร สกลนคร และบางส่วนกระจายอยู่ในเขตจังหวัดหนองคาย อำนาจเจริญ อุบลราชธานี อุดรธานี ร้อยเอ็ด และยโสธร เป็นอีกกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่รักษาวัฒนธรรมของตนไว้ได้อย่างดี
ผู้ชาย นิยมนุ่งกางเกงขาก๊วย สีดำหรือนุ่งโสร่งตาหมากรุก เสื้อใช้ผ้าสีครามหรือดำชนิดเดียวกับกางเกง สวมเสื้อคอกลมแคบชิดคอหรือคอจีน ตัวเสื้อผ่าอกตลอด ชายเสื้อผ่าข้าง จะเป็นแขนยาวหรือแขนสั้นก็ได้ มีผ้าคาดเอว และโพกศีรษะ ผู้ชายโบราณมักนิยมสักแขนขา ลายด้วย หมึกสีดำ แดง ถือเป็นเครื่องรางและแสดงออกถึงความเป็นชายชาตรี
ผู้หญิง นิยมนุ่งผ้าซิ่นที่ทำจากผ้า ซึ่งลักษณะเด่นของซิ่นภูไท คือ การทอและลวดลายเช่น ทอเป็นลายนาคเล็กๆ นอกจากนี้มีลายอื่นๆ เช่น หมี่ปลา หมี่กระจัง หมี่ข้อ หมี่ขอ ทำเป็นหมี่คั่นหรือหมี่ลวด ต่อด้วยหัวซิ่นและตีนซิ่นทั้งขิดและจก นอกจากนี้ยังพบผ้ามัดหมี่ฝ้ายสีขาวสลับดำย้อมใบครามหรือมะเกลือสีดำ เย็บต่อด้วยหัวซิ่นตีนซิ่น
สตรีชาวภูไทมักสวมเสื้อแขนกระบอก คอตั้งแบบเสื้อคอจีน ติดกระดุมกะลา กระดุมเงิน หรือเหรียญสตางค์ เช่น เหรียญสตางค์ห้า สตางค์สิบ มาติดเรียงเป็นแถว ตัวเสื้อนิยมใช้ผ้าย้อมครามเข้มหรือสีดำ บางท้องที่นิยมตกแต่งสาบเสื้อด้วยผ้าลวดลายต่างๆ ตกแต่งไว้อย่างสวยงาม นิยมสวมเครื่องประดับที่ทำด้วยเงินหรือทอง หญิงภูไททุกคนไม่ว่าสาวหรือแก่ไว้ผมยาวเกล้ามวยสูง มีปิ่นหรือลูกประคำประดับที่มวยผม สำหรับชาวภูไทในจังหวัดกาฬสินธุ์ อุดรธานี ร้อยเอ็ด และมุกดาหาร นิยมใช้ผ้ามนหรือแพรมน (แพรฟอย) ทำเป็นผ้าสี่เหลี่ยมเล็กๆ ม้วนผูกมวยผม
เครื่องประดับของชาวภูไท สวมสร้อยคอ สร้อยข้อมือ ข้อเท้า (ก้องแขน-ก้องขา) ด้วยโลหะเงิน ทองหรือนาก
เครื่องนุ่งห่ม ชาวภูไทเป็นเผ่าที่ทำเครื่องนุ่งห่ม โดยเฉพาะผ้าห่มจนเหลือใช้ (แม้กระทั่งในปัจจุบัน ชาวภูไทก็ยังทำผ้าห่มไว้มาก แขกมาเยี่ยมมาพักมีให้ห่มอย่างพอเพียง) ส่วนเสื้อผ้าก็พอมีใช้ไม่ฟุ่มเฟือย แต่ไม่ขัดสน ด้วยฝีมือความสามารถของตนเอง ซึ่งบางอย่างสวยงามมีศิลปะ ในอดีตนั้นวัสดุในการผลิตผ้าหามาเองโดยการปลูกบ้าง เอาจากที่มีอยู่ตามธรรมชาติบ้าง โดยผ่านกระบวน การต่างๆ จนเป็นเครื่องนุ่งห่มล้วนหามาเอง ทำขึ้นเองทั้งสิ้น เช่น ฝ้าย เริ่มตั้งแต่การปลูก จนถึงขั้นทอเป็นผ้า ล้วนแต่ทำเอง ในปัจจุบันนี้มีโรงงานที่ทันสมัยที่ผลิตวัสดุที่จะทำเครื่องนุ่งห่มแล้ว ราคาไม่แพง สี ลวดลาย แบบ มีให้เลือกมากมาย
ผ้าห่ม (จ่อง) ผ้าห่มผืนเล็กๆ เป็นวัฒนธรรมของกลุ่มพื้นเมืองอีสาน ใช้สำหรับห่มแทนเสื้อกันหนาว ใช้คลุมไหล่ เช่นเดียวกับกลุ่มไท–ลาว ที่นิยมใช้ผ้าขาวม้าพาดไหล่ ผ้าห่มของกลุ่มชนต่างๆ ในเวลาต่อมาทำให้มีขนาดเล็กลง ทำเป็นผ้าสไบ และเป็นส่วนประดับแทนประโยชน์ใช้สอย เดิมคือห่มกันหนาว หรือปกติปิดร่างกายส่วนบนโดยการห่มทับเสื้อ นอกจากนี้ยังมีผ้าแพรวา ซึ่งมีแหล่งใหญ่ที่บ้านโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ นับเป็นผ้าจ่องที่สวยงามหาชมได้ยากในปัจจุบันนอกจากผ้าจ่องแล้ว ชาวภูไทยังมีลายผ้า ซึ่งใช้เป็นผ้ากั้นห้อง หรือใช้ห่มแทนเสื้อกันหนาว หรือต่อกลางสองผื่นเป็นผ้าห่มขนาดใหญ่พอสมควร
วัสดุที่ใช้ในการทำเครื่องนุ่งห่ม วัสดุที่ใช้ทอผ้าก็มีฝ้ายเป็นหลัก และไหม สีย้อมผ้าก็เป็นสีที่ได้จากธรรมชาติ และสีที่ชาวภูไทชอบใช้มากที่สุด คือ สีดำที่ได้จากต้นคราม การใช้ผ้าของชาวภูไทในอดีตนั้นผ้าบางชนิดก็มีกาลเทศะในการใช้ เช่น "ผ้าจ่อง" เป็นผ้าที่ทออย่างดี สีย้อมด้วยครั่ง จะใช้คลุมหีบศพ (ผู้มั่งมี) ผ้าสี่เหาก็ใช้คลุมหีบศพได้เช่นกัน เสื้อผ้าที่ตัดเย็บใหม่ๆ เรียกว่า "ส้งเอาบุญ" หรือ "ชุดเอาบุญ" จะไม่ใส่เล่นจะเก็บไว้ในหีบอย่างดีพอมีงานบุญจะเอาออกมาใช้ โสร่งไหมเป็นผ้าชั้นดีหายาก จะมีเฉพาะผู้ที่มีภรรยาหรือแม่ที่เลี้ยงไหม หรือผู้ที่มีฐานะดีสามารถนุ่งไปจีบสาวได้ เวลานั่งใกล้สาวจะถลกโสร่งขึ้นเลยเข่าอวดขาลาย หากเมื่อสมัย 60 ปีก่อน บ่าวใดมีขาลายผู้สาวจะรักมาก ส่วนผ้าขาวม้าเป็นผ้าอเนกประสงค์
ความเชื่อเกี่ยวกับเครื่องนุ่งห่ม จะเห็นแต่ผ้าคลุมหีบศพ เมื่อหามศพลงเรือนผ้าคลุมหีบจะปลดออกไว้ใช้ต่อไป ก่อนจะนำมาใช้จะมีพิธีโยนผ้าก่อน ในปัจจุบันการโยนผ้าก็ยังปฏิบัติกันอยู่ และนอกจากนี้ประเพณีของชาวภูไทเกี่ยวกับเครื่องนุ่งห่ม 4 อย่างนี้ คือ ผ้าห่ม ที่นอน หมอน ผ้าขาวม้า หญิงสาวชาวผู้ไทยต้องจัดสร้างขึ้นมาไว้มากๆ เมื่อหนุ่มมาขอแล้วฝ่ายสาวต้องเร่ง ส้างเคิ้ง คือ สร้างเครื่องนุ่งห่มนั่นเอง ในปัจจุบันนี้ก็ยังยึดถือประเพณีนี้อยู่ เพียงแต่ว่าหญิงสาวทุกวันนี้ต้องเรียนหนังสือ หรือไปทำงานต่างถิ่นไม่มีเวลาทำ เมื่อใกล้จะแต่งงาน อาจจะให้ญาติๆ ช่วยทำ หรือซื้อสำเร็จรูป
ชาวภูไทเป็นกลุ่มชนที่มีความขยัน อดออม และมีวัฒนธรรมในเรื่องการถัก–ทอ เด่นชัด จึงปรากฏเสื้อผ้าชนิดต่างๆ ทั้งผ้าฝ้าย ไหม ในกลุ่มชาวภูไท เช่น ผ้าแพรวา ในปัจจุบัน เป็นผ้าที่ผลิตยากใช้เวลานาน มีความสวยงาม จึงนับว่าชนกลุ่มนี้มีวัฒนธรรมเรื่องเสื้อผ้าเด่นชัดมาก โดยเฉพาะการทอผ้าซิ่นหมี่ ตีนต่อ เป็นตีนต่อขนาดกว้าง 4-5 นิ้ว (มือ) เรียกว่า "ตีนเต๊าะ" เป็นที่นิยมในกลุ่มภูไททอเป็นหมี่สาด หมี่หม้อย้อมคราม จนเป็นสีครามแก่เกือบเป็นสีดำ ชาวบ้านมักเรียก "ผ้าดำ" หรือ "ซิ่นดำ"
ความสัมพันธ์ของบุคคลในครอบครัวภูไท ก็เหมือนกับครอบครัวไทยทั่วๆ ไป คือ ในครอบครัวก็จะมีพ่อเป็นใหญ่ที่สุด รองลงมาคือ แม่ พี่คนโต และรองลงไปตามลำดับ ในอดีตเมื่อ 40 ปีก่อน สังคมภูไทได้ให้ความสำคัญต่อผู้เป็นสามีมาก ในปัจจุบันก็ยังให้ความนับถืออยู่ เพียงแต่ลดพฤติกรรมบางอย่างลงไป เช่น การสมมาสามีในวันพระ บางคนไม่ได้ทำเลยโดยเฉพาะภรรยารุ่นใหม่ แต่จะสมมาสามีตอน "ออกคำ" (ออกจากการอยู่ไฟใหม่ๆ) เหมือนในอดีตเพราะสามีเป็นผู้ลำบากทุกข์ยาก อดตาหลับขับตานอน ตักน้ำหาฟืนดูแลภรรยาที่อยู่คำ (การอยู่คำภาษาลาวจึงเรียกว่า "อยู่กรรม")
การกินข้าว แต่ก่อนต้องพร้อมกัน เมื่อทุกคนนั่งวงล้อมนาข้าวแล้ว ให้สามีเริ่มก่อนเดี๋ยวนี้ลดลง เพราะต่างมีธุระลูกก็รีบไปโรงเรียน สามีก็ติดธุระก็อนุญาตลูกเมียกินก่อน นานๆ เข้าก็เลยถือเป็นเรื่องธรรมดาไป แต่ก็มีแบบเดิมให้เห็นอยู่ไม่มากการเปลี่ยนแปลงนี้เริ่มมีมาประมาณ 30 ปีมาแล้ว
ชาวภูไทส่วนใหญ่ผู้ชายจะเป็นหลักในการสืบสายตระกูล ในการสืบมรดกนั้นในอดีตมักจะให้ผู้ชาย เพราะถือว่าลูกผู้หญิงต้องไปสร้างกับสามี ลูกชายคนที่จะได้มรดกมาก แบ่งดังนี้
ขนาดครอบครัว ในอดีตยังไม่มีการวางแผนครอบครัว ทำให้ครอบครัวมีขนาดใหญ่ บางครอบครัวมีลูกตั้ง 10-12 คน ใครมีลูกมากยิ่งดีจะได้ "กินแฮง (กินแรง) ลูก" คือ จะมีผู้มาเลี้ยงดู เวลามีการแต่งงานจะมีการให้พรคู่บ่าวสาวว่า "...เฮ่อได้ลุเต๋มบ้านเฮ๋อได้หลานเต๋มเมิง..." (ให้ได้ลูกเต็มบ้าน ให้ได้หลานเต็มเมือง) แต่ในปัจจุบันเมื่อมีการรณรงค์การคุมกำเนิด บางครอบครัวก็มีลูก 2 คน หรือ มีแค่คนเดียว
ครอบครัวเดี่ยว ครอบครัวขยาย ในสมัยก่อน 30 ปีมาแล้ว ผู้ที่แต่งงานแล้วจะอยู่กับพ่อแม่ หรือพ่อตาแม่ยายเสียก่อน ชั่วระยะ 2-3 ปี แล้วจึงค่อยแยกครอบครัวออก แต่ปัจจุบันเปลี่ยนแปลง คือ พอแต่งงานอยู่กับพ่อแม่ชั่วระยะเดี๋ยวเดียวก็ออกไปนั้น จะแยกกล่าวดังนี้
ลูกชาย ในสมัยก่อนเมื่อลูกชายแต่งงานแล้วต้องอาศัยอยู่กับพ่อก่อน เพราะต้องพึ่งพ่อแทบทุกอย่างเงินทองก็ต้องอาศัยพ่อแม่ เวลาที่จะออกเรือนแยกไปไม่แน่นอน หากน้องชายแต่งงานเร็วพี่ชายก็จะแยกเรือนออกไปเร็ว เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไปลูกชายก็เลยหาเงินเอาเอง สร้างฐานะได้ไว จึงแยกครอบครัวได้ไว
ลูกเขย ไม่มีใครอยากจะ "ชูพ่อเฒ่า" เลย เพราะทุกข์ยากทั้งกายและใจ สำรวมทุกอิริยาบถ ต้อง "คะลำ" หลายอย่าง ทำงานสารพัด จนมีคำพูดว่า "เล็กอยู่เฮินว้าเขย" (เหล็กอยู่เรือนเรียกว่า พร้า ข้าอยู่เรือนเรียกว่า เขย) เสมือนว่า เขย คือขี้ข้าคนหนึ่งในเรือน ความทุกข์ยากของเขยชู พรรณนาไว้เป็นผญาอีสาน (ผู้ไท) ดังนี้
"...เป็นเขยนี้ทุกข์ยากหัวใจ เฮ็ดแนวใดย่านแต่เพิ่นว่า (ทำอะไรกลัวแต่ท่านว่า)
สานกะต่ากะด้งกะเบียน อยู่ในเฮือนมุมุบมุม้าย (อยู่ในเรือนแบบเจียมตัว ก้มหน้าอยู่)
บ่ว่าฮ้ายมันแม่นอีหลี (ไม่ได้ใส่ความ เพราะมันเป็นความจริง)
แต่หัวทีเกินอุกเกินอั่ง (ในหัวคิดมีแต่ความกลัดกลุ้ม)
นั่งบ่อนใดย่านแต่ผิดแม่เฒ่า (นั่งตรงไหนกลัวแต่ผิดใจแม่ยาย)
ชาวมือกะบ่ติง (20 วันก็ไม่ไหวติง (อยู่อย่างเจียมตัว))
เถิงบาดยามกินข้าวสองสามคำกะพัดอิ่ม (ยามกินข้าว 2-3 คำก็อิ่ม)
ชิมอันนั้นอันนี้หนี้จ้อยบ่อยู่คน (ชิมถ้วยนั้นถ้วยนี้หนีไปไม่อยู่นาน)
ฝูงหมู่คนกินข้าวนำกันก็เหลียวเบิ่ง (ฝูงหมู่คนกินข้าวด้วยกันก็เหลียวดู)
ส่งบาดยุ้มบาดแย้มแนมเจ้าว่าจังใด (ส่งยิ้มเป็นนัยๆว่าเจ้าเขยเป็นอย่างไร ละอายหรือเปล่า) "
ในปัจจุบันนี้ "เขยชู" ประเภทที่ออกเรือนได้ จะออกเรือนเร็วกว่าอดีต เพราะหาเงินหาทองเพื่อสร้างฐานะได้เร็วกว่าอดีต ถึงแม้จะมีการชูพ่อเฒ่า พ่อเฒ่าก็หัวสมัยใหม่ พยายามทำให้ลูกเขยอยู่อย่างสบายใจเป็นกันเอง สำหรับฮีตสำคัญก็ยังปฏิบัติอยู่ เช่น ห้ามกระทำบางอย่างบนบ้านพ่อตา เช่น ลับพร้า ขัดฟักพร้า ดีด สี ตี เป่า ร้อง รำ ทำเพลง จับมือถือแขนน้องสาวภรรยายังห้ามทุกกาลเทศะ
บทบาทของสมาชิกครอบครัว บทบาทของสมาชิกในครอบครัวนั้นจะแตกต่างกันไปดังนี้
ผู้ที่เป็นสามี บทบาทต่อครอบครัว มีบทบาทในการเป็นผู้นำครอบครัว ต้องเป็นคนขยันทำมาหากิน "เฮ่อตืนติ๊กลุกเช้า" (ให้ตื่นดึก ลุกเช้า) "ตึนมื้อเช้าเฮ้อได้ 9 ทางหยาม" (ตื่นเช้าให้ได้ 9 ทางไปหาอยู่หากิน หาเงินหาทอง) ไม่เป็นคนละเลย ไม่นิ่งดูดาย "มีเฮ่อก้มหน้าอยู่ด๋ายหงายตาอยู่เบา" (ไม่ให้ก้มหน้าอยู่ดาย หงายตาอยู่เปล่า) ไปนั่นมานี่ให้รู้จักมองหาสิ่งที่จะเป็นประโยชน์แล้วนำมาใช้ คือ "ไป๋ด๋งอย่าได้มาเปา ไปเลาอย่าได้มาด๋าย เฮ่อฮักไม้ต๋ายมาแก้งก้นหม้อ" (ไปดงอย่ามาเปล่า ไปเหล่าอย่ามาดาย ให้หักไม้ตายมาชำระก้นหม้อ คือ เอามาเป็นฟืน)
ให้เป็นคนมีความเพียร ประกอบสิ่งใดก็ทำให้สำเร็จ คือ "ค๋ำน้ำมิเฮ่อเอ็ดก้นฟู จกฮูมิเฮ่อเอ็ดมือสั้น" (ดำน้ำอย่าให้ก้นฟู ล้วงรูอย่าทำมือสั้น) เหล่านี้ล้วนเป็นคำสั่งสอนของผู้เฒ่าผู้แก่ตั้งแต่โบราณนานมา ทุกวันนี้ก็ยังใช้อยู่ โดยเฉพาะจะสอนเน้นในตอนผู้จะเป็นเจ้าบ่าวตอนเข้าพิธีแต่งงาน นอกจากนี้ยังต้องดูแลให้ความคุ้มครองแก่ภรรยาและบุตร คือ ปฏิบัติตนเป็นสามีที่ดีภรรยา เป็นพ่อที่ดีแก่บุตร ตามหลักธรรมคำสอนของพระพุทธศาสนา ให้สมกับเป็นช้างเท้าหลัง
บทบาทต่อบุพการี ต้องให้ความเคารพ ให้การดูแลเอาใจใส่ให้การเลี้ยงดูพ่อแม่ของตนเองสมเองกับเป็นลูกที่ดี พ่อแม่ของภรรยา คือ พ่อตาและแม่ยาย ยิ่งให้ความยำเกรงเป็นพิเศษในอดีตถึงขั้นเอาผีเรือนมาว่าเลย ถ้าเขยทำไม่ดีไม่งามจะผิดผีเรือน ต้อง "เม๋อ" (ปรับไหม) สิ่งที่เขยทำแล้วผิดนั้นเป็นการกระทำที่บ้านพ่อตา เช่น ห้ามลับพร้า ใส่หมวก ขัดมีดขัดฝักพร้า ร้องรำทำพลง ดีดสีตีเป่า เดินเตะเตี่ยวลอยชาย (นุ่งผ้าขาวม้าไม่เหน็บชาย) ใส่รองเท้าย่ำบนบ้าน จับมือถือแขนน้องสาวภรรยา ละลาบละล้วงกระด้างกระเดื่องต่อฝ่ายพ่อตา มีคำสอนอยู่ว่า "เซ้อพ้อแม้ลุงต๋า โต๋ท้อก้อย น้อยท้อทู เฮ่อเคารพย๋ำแหยง" (เชื้อสายทางพ่อตาตัวเท่านิ้วก้อย น้อยเท่าไม้ตะเกียบ ให้เคารพยำเกรง) ในปัจจุบันนี้ที่กล่าวมาทั้งหมดก็ยังถืออยู่ เพียงแต่ไม่ค่อยจะอ้างผี (ข้อห้ามเหล่านี้ที่จริงก็เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมทั้งนั้น)
บทบาทของภรรยาต่อครอบครัว ถึงแม้ภรรยาจะเป็นผู้ "อยู่กับเหย้า เฝ้ากับเฮิน" (อยู่กับเหย้า เฝ้ากับเรือน) แต่รับภาระหนัก เช่น เลี้ยงลูก หุงหาอาหาร ตักน้ำตำข้าว "น้ำมิเฮ่อฮาดแอง แกงมิเฮ่อฮาดหม้อ" (น้ำไม่ให้ขาดแอ่ง แกงมิให้ขาดหม้อ) ซักเสื้อผ้าเก็บกวาดเหย้าเรือน จัดหาเครื่องนุ่งห่มตั้งแต่ อิ้วฝ้าย ปั่นฝ้าย ทอผ้า ตัดเย็บ (ด้วยมือ) จนสำเร็จเป็นเครื่องนุ่งห่มได้ ยังไปช่วยงานสามีนอกบ้านด้วย เช่น งานไร่งานสวน ทั้งยังต้องปรนนิบัติพ่อปู่แม่ย่าอีก ในปัจจุบันนี้ก็ยังเหมือนเดิม แต่มีเปลี่ยนแปลงไปบ้าง คือ ภรรยาบางคนก็ออกไปทำงานนอกบ้านเทียบเท่าสามี โดยฝากการเลี้ยงดูลูกให้กับปู่ ย่า ตา ยาย สาเหตุการเปลี่ยนแปลงก็เนื่องมาจากสภาวะเศรษฐกิจรัดตัว ถ้าปล่อยแต่สามีหาเลี้ยงครอบครัวก็คงจะลำบาก
บทบาทต่อชุมชน ในอดีตภรรยาไม่ค่อยจะมีบทบาทต่อชุมชน เพราะได้รับการอบรมสั่งสอนให้รู้หน้าที่แม่บ้าน ให้อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน แต่ในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปตามภาวะเศรษฐกิจและสังคม ถ้าขลุกแต่ในบ้านก็จะไม่ทันสมัย หูไม่กว้าง ตาไม่ไกล บางครั้งก็เสียผลประโยชน์ต่อครอบครัวด้วย เช่น การเป็นกลุ่มสมาชิกกลุ่มแม่บ้านต่างๆ การเข้าร่วมพัฒนาหมู่บ้าน การเข้ารับการอบรมความรู้ด้านต่างๆ เป็นต้น
บทบาทต่อบุพการี ให้ความอุปการะญาติพี่น้องทั้งฝ่ายตน และฝ่ายสามีเหมือนครอบครัวทั่วไป
บทบาทต่อบุตร ภรรยาจะเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับลูกมากกว่าสามี เพราะเป็นผู้เลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด ดังนั้นการอบรมสั่งสอนลูก จะเป็นหน้าที่ของภรรยามากกว่า การอบรมเลี้ยงดู ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันก็มีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก ผู้ที่รับภาระหนักที่สุดก็คือ แม่ การหาพี่เลี้ยงยังไม่มี ถ้าจำเป็นทั้งพ่อทั้งแม่มีภาระหนัก เช่น ต้องออกดำนาก็ให้ปู่ย่าตายาย หรือน้องสาว หรือลูกหลานที่โตพอที่จะดูแลเด็กได้แล้วเป็นผู้เลี้ยงดูชั่วคราว อาหารการกินสำหรับลูกนั้น แยกเป็นระยะดังนี้ (ไม่กล่าวถึงนมแม่ ซึ่งเป็นอาหารหลักออยู่แล้ว)
ในอดีตบทบาทในการอบรมลูกหลานนี้ ไม่มีรูปแบบที่แน่นอน คือ จะอบรมสั่งสอนตามสถานการณ์ บางครั้งก็เอาสิ่งที่เกิดขึ้นจริงมาสั่งมาสอน ยกเอาบุคคลอื่นมาอ้าง หรือ เอานิทาน หรือคำสุภาษิตโบราณขึ้นมาสั่งสอน ที่อบรมสั่งสอนที่ใช้บ่อยที่สุดคือ ที่ พาข้าว เพราะตอนนั้นลูกๆ จะพร้อมกัน
ไม่ว่าลูกหญิงลูกชายจะได้รับการอบรมเหมือนกัน คือ ให้มีสัมมาคารวะทุกอริยาบทให้สำรวม เช่น การยืน ต้องดูกาลเทศะ ใกล้ผู้ใหญ่ห้ามยืนใกล้ (มิเห้อยืนโท่มเก้า โท้มโห) ไม่ให้ยืนท่วมเกล้าท่วมหัว พูดกับผู้ใหญ่ถ้าผู้ใหญ่นั่ง ต้องนั่งพูดด้วย สำหรับหญิงจะเน้นพิเศษอีก คือ "อย่ายื๋นเค่อปอง" อย่ายืนใกล้ช่องกระดาน (พื้นเรือน) คงจะกลัวผู้ชายแอบเข้าไปส่องที่ใต้ถุน ไม่ให้ยืนกลางแดด (เช้า หรือ บ่าย) มีคำสอนว่า "ขี้ค้านอย่าเอ็ดนาฮิมทาง นุ้งซีนบ๋างอย่ายื๋นก๋างแดด" (ขี้คร้านอย่าทำนาริมทางนุ่งซิ่นบางอย่ายืนกลางแดด) เพราะถ้าแสงแดดเข้าทางหน้าหรือทางหลัง คนผู้ทางตรงข้ามจะมองเห็นเงาขาในผ้าถุง
การเดิน ไม่ให้เดินท้าวหนัก "อย่าย้างสะลื๋งตึ๋งตั๋ง" (อย่าเดินแบบม้าดีดกะโหลก) เดินผ่านหน้าผู้ใหญ่ต้องก้มตัวลง ถ้าอยู่ใกล้ให้เดินเข่าหรือคลาน "ย้างก๋ายหน้าก๋ายต๋าผู้ใหญ่ พอก้มเห้อก้ม พอคา" การนั่ง ชายให้นั่งขัดสมาธิ หญิงให้ "นั่งตะมอ" (นั่งพับเพียบ ) ถ้านั่งกินข้าว (กับพื้น) เป็นเด็กไม่ว่าหญิงหรือชายให้นั่งพับเพียบหมด
นอน หญิงห้ามนอนในที่เปิดเผย ถ้านอนที่เปิดเผยให้ระมัดระวังให้นอนตะแคง ผ้าถุงเหน็บหว่างขา ห้ามนอนหงาย ห้ามนอนใกล้ "ป่อง" (ช่องกระดานพื้นเรือนหรือช่องข้างฝา) กลัวจะถูกชาย "จก" (ล้วง) ผู้ชายไม่ค่อยมีการห้ามเรื่องการนอน แต่ไม่ว่าหญิงหรือชายจะมีสถานที่ห้ามนอน คือ ใต้ขื่อบ้าน เพราะขื่อบ้านเป็นสิ่งที่วางศพ แม้แต่พาข้าวก็ห้ามวางใต้ขื่อ และอีกอย่าง ห้ามนอนเอามือทับหน้าอก เพราะผีจะอำ (ผีทับ)
การพูด ชาวภูไทเมื่อ 40 ปี ก่อนมักใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่งว่า กู บุรุษที่สองใช้คำว่า มึง ลูกพูดกับพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ก็ใช้คำนี้ ส่วนคำว่า ข้อย และ เจ้า เป็นคำพูดที่สุภาพมาก จะใช้อยู่ระหว่างบ่าวสาว คู่ผัวเมีย ลูกเขยกับพ่อตาแม่ยาย ลูกสะใภ้กับพ่อปู่แม่ย่า ปัจจุบันเปลี่ยนไปเพราะการศึกษาเจริญขึ้น คำว่า กู มึง ที่เด็กใช้กับพ่อแม่ไม่ได้ยินอีกแล้ว
วัฒนธรรมการกิน แหล่งที่มาของอาหารการกิน ชาวภูไทเป็นคนที่พิถีพิถันในเรื่องการเลือกทำเลที่จะตั้งหมู่บ้าน จะต้องเป็นที่ราบใกล้ภูเขาหรือแหล่งน้ำ ในอดีตแหล่งอาหารก็ใกล้บ้านนั่นเอง พวกสัตว์บกสัตว์น้ำ เก้ง หมูป่า กระรอก กระแต มีให้เห็นอยู่ทุกวัน หาได้ง่าย และมีกินบ่อย พืชผักต่างๆ ก็มีมาก ทั้งพืชบ้าน พืชสวน พืชป่า ดังมีผญาคำสอนบทหนึ่งว่า "อย่าไป๋เก็บดอกหว่านบ้านเพิ๋นมาบ๋าน เฮ่อเจ้ายื๋นงอยชานเก็บดอกกะเจ๋วฮิมโฮ้" (อย่าไปเก็บดอกหว่านบ้านอื่นมาบ้าน ให้เจ้ายืนที่ชานเก็บดอกกระเจียวริมรั้ว) ชี้ให้เห็นว่าสมัยก่อนดอกกระเจียวก็เก็บเอาที่ริมรั้วติดกับชานบ้าน แสดงว่าอุดมสมบูรณ์มากจริงๆ
อาหารจำพวกเนื้อ สมัยอดีตไม่ค่อยได้กิน หมู เป็ด ไก่ วัว ควาย มีมากมาย แต่ไม่มีใครฆ่ากิน อาจจะเป็นเพราะเคร่งศีลธรรมก็ได้นานๆ ที เช่น มีงานบุญ บุญกฐิน บุญพระเวส ฆ่าทีหนึ่ง ผู้ที่ฆ่าขายก็หายากเต็มที ฆ่าแล้วก็ไม่ค่อยมีผู้ซื้อ สมัย 40 ปีมาแล้วเนื้อวัวควายราคาถูกมาก ซื้อ 10 บาทได้เนื้อ 1 หาบ หมูโตเต็มที่ตัวละ 200 บาท ไก่ตัวใหญ่ตัวละ 5 บาท ในสมัยปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปมาก ผู้คนมากขึ้นของกินก็หายากระบบการซื้อขายเข้ามา ผู้คนจึงหาซื้อกันที่ตลาดเป็นส่วนมาก [ อ่านเพิ่มเติม : วัฒนธรรมเกี่ยวกับการบริโภคชาวอีสาน ]
อุปนิสัยในการกิน ชาวภูไทมีอุปนิสัยในการกินแบบเรียบง่าย และในการกินอาหารก็เหมือนอีสานทั่วๆ ไป คือ กินข้าวเหนียว นั่งกินกับพื้น ไม่มีช้อนกลาง ช้อน 2-3 คัน เปลี่ยนกันซด บางครอบครัวก็กินในห้องครัว บางครอบครัวก็กินที่ระเบียงหน้าบ้าน ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง บางครอบครัวที่มีฐานะดีหน่อยก็มีโต๊ะอาหาร (บางทีกินข้าวเจ้า) คือ พยายามปรับตัวเหมือนกับคนภาคกลาง
ความเชื่อเกี่ยวกับอาหาร ชาวภูไทมีความเชื่อเกี่ยวกับอาหารที่จะต้อง "คะลำ" เพราะมีความเชื่อว่าอาหารบางชนิดกินเข้าไปแล้วจะทำให้ผิดต่อโรค โดยเฉพาะ "แม่อยู่คำ" (ผู้หญิงที่กำลังอยู่ไฟ) จะกินแต่ข้าวจี่ หน่อข่า ผักต่างๆ ปูจี่ กบ เขียด ยังพอกินได้ แต่ในปัจจุบันนี้ได้รับการอบรมด้านโภชนาการ ความเชื่อก็เปลี่ยนไปบ้างแล้ว แต่กระต่ายและเก้ง ในปัจจุบันก็ยังกินไม่ได้ ซึ่งถ้ากินเข้าไปแล้วจะ"ผิดกรรม"
ที่อยู่อาศัย สภาพบ้านเรือนของชาวผู้ไทยในอดีตสมัย 40 ปี มาแล้วเป็นเรือนทรงมนิลา คือ มีหลังคาทรงเหลี่ยมยอดแหลมดั้งสูง ใต้ชานสูงประมาณ 2 เมตร มีฝาล้อมรอบ มีประตูหน้าบ้านเข้า 2 ประตู มีหน้าต่างแห่งเดียวเล็กๆ พอเอาศีรษะลอดเข้าออกได้ ภาษาผู้ไทยเรียกว่า "ประตูบอง" ถ้าเป็นบ้านของผู้มีฐานะหน่อยหน้าต่างจะสูงเท่าประตู ตรงหน้าต่างจะมี "เสาปากช้าง" หรือ "เสาคาช้าง" ค้ำทอดบ้านตรงหน้าต่าง ภาษาภูไทเรียก "หอนทอด" จะตีติดเคร่า เสาคางช้าง หรือ ปากช้างจะปาดเป็นบ่าค้ำทอดไว้ จะเป็นเสาใหญ่กว่าเสาบ้านทุกต้น เป็นเสาโชว์พิเศษสลักเสาลวดลาย ปลายเสาจะปาดเป็นรูปกลีบบัว หรือ กาบพรหมศร
ชาวภูไทในอดีตอาจจะเห็นเป็นรูปคล้ายปากช้าง หรือคางช้าง ก็เลยเรียกเสาคางช้าง หรือเสาปากช้าง มีระเบียงยื่นออกมาด้านหน้า ภาษาภูไทเรียกว่า "เก๋ย" หลังคาระเบียงถ้าต่อจากหลังคาเรือนใหญ่ลาดลงมาเรียกว่า "หลังคากะเทิบ" ถ้าหลังยกเป็นหน้าจั่วยอดแหลมเหมือนเรือนใหญ่จะเรียก "หลังคาโหลอย" (หลังคาหัวลอย) เรียกทั้งตัวบ้านว่า "เฮินโหลอย" (เรือนหัวลอย) ระหว่างหลังคาเรือนใหญ่และหลังคาหัวลอยจะมีรางน้ำ ซึ่งเจาะต้นไม้ทั้งลำแบบหลัง คากะเทิบจะเป็นบ้านของผู้ที่มีฐานะไม่คอยดี บ้านหลังคาหัวลอย หรือเรือนหัวลอยจะเป็นบ้านของผู้ที่มีฐานะดี นอกจากนั้นก็ดูที่ฝาและหลังคา ถ้าฝาและหลังคาเป็นกระดานแสดงว่ามีฐานะดี ถ้าหลังคามุงด้วยหญ้า ฝาเป็นฝาขัดแตะแสดงว่าฐานะไม่ดี
"เฮินซู" (เรือนสู่) เป็นบ้านอีกรูปทรงหนึ่งซึ่งสร้างแบบง่ายๆ "เสาไม้เมาะ แตะไม้ลื่ม" (เสาไม้มอก ตอกไม้ลิ่ม-มอก คือ กระพี้, ไม้ลื่ม คือ ไม้ไผ่ที่ยังไม่แก่) เสาทำด้วยต้นไม้เนื้อแข็งที่ต้นยังเล็กอยู่ ขนาดพอดีเป็นเสา โดยไม่ต้องถากเพียงแต่ปอกเปลือก (เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10 ซม.) ตัดหัวท้ายยาวตามขนาดที่ต้องการ การเข้าไม้ประกอบเป็นตัวบ้านไม่ใช้ตะปู (เพราะในอดีตไม่มีตะปู) จะใช้ "เคออู้ย" (เครืออู้ย–เถาวัลย์ชนิดหนึ่งเหนียวมาก) และ "เตาะไม้ลื่ม" คือเอาไม้ไผ่ที่ยังไม่แก่อายุประมาณ 10-12 เดือน มาจักเป็นตอกมัด ตอกไม้ลื่มจะเหนียวไม่เปราะเหมือนตอกไม้แก่ (ไม้แก่ ภูไทว่า ไม้กล้า)
ตัวไม้ทำโครงบ้านก็เหมือนบ้านโบราณดั้งเดิมทั่วไป คือ หลังคามุงหญ้าคา ฝาเป็น "ฝาพะล่าน" ไม่มีเกย ไม่มีชาย ไม่มีเรือนครัว เฮินซู เป็นบ้านที่เขยมาสร้างไว้ก่อนแต่งงาน สร้างให้เฉพาะลูกเขยที่จะมา "ซูพ่อเฒ่า" (สู่พ่อตา) คือ ลูกเขยที่แต่งงานแล้วขออาศัยอยู่กับพ่อตาชั่วคราว เมื่อพอเลี้ยงตัวได้แล้ว หรือบางทีอยู่ 2-3 ปีก็ขยับขยายไปสร้างบ้านใหม่ในที่อื่น บางทีพ่อตากลัวลูกสาวลำบาก ลูกเขยสร้างบ้านใหม่ก็ให้สร้างบริเวณที่ดินพ่อตาเลย กล่าวถึงการสร้างเฮินซูนั้น เมื่อหาวัสดุพร้อมแล้ว ก็จะวานเพื่อนบ้านมาช่วยกันคนละไม้คนละมือ ให้เสร็จภายในวันเดียว ปัจจุบันไม่มีการตั้งเฮินซูแล้ว ประการแรกเพราะเขยก็จะอยู่ร่วมบ้านเดียวกับพ่อตา โดยยกห้องใดห้องหนึ่งให้ ประการที่สองไม่ค่อยมีการซูพ่อเฒ่า ในปัจจุบันนี้บ้านรูปทรงดังกล่าวนี้หายากแล้ว เพราะผู้ที่สร้างบ้านใหม่ก็จะสร้างตามสมัยนิยมกันหมด
ประโยชน์ใช้สอยบ้าน บ้านชาวภูไทเมื่อสมัย 40 ปีมาแล้วแบ่งประโยชน์ใช้สอย ดังนี้
ห้องใน เรียกว่า "โก๋ง" ภายใน "โก๋ง" จะกั้นเป็นห้องนอนอีก มี 1 ประตู ภูไทเรียกว่า "โก๋ง โส้ม" สำหรับเป็นที่นอนของลูกสาว บางบ้านภายใน "โก๋งโส้ม" อาจจะกั้นห้องหรือเอาตู้ กั้นให้เป็นที่นอนของพ่อแม่ด้วย ข้างโก๋งโส้มอาจจะทางซ้ายหรือขวาเรียกว่า "ฮอง" เป็นที่นอนของพ่อแม่หรือลูกชาย
ห้องนอกหรือเกย ภาษาผู้ไทยว่า "เก๋ย" ไม่มีฝา มีแต่หลังคาเป็นที่นั่งเล่น เป็นที่รับแขก เป็นที่รับประทานอาหาร หรือกั้นเป็นห้องให้ลูกเขยอยู่
"เฮินไฟ" (เรือนครัว) จะตั้งต่อจากเกยออกไป บางหลังคาเรือนอาจจะตั้งแยกออกไป มีเพียงกระดาน 1-2 แผ่นพาดเชื่อมกับเกย เนื้อที่ภายใน "เฮินไฟ" นั้นมีเตาไฟ มีลักษณะเป็นกระบะยกพื้นสูง สูงขึ้นจากพื้นเรือนครัวประมาณ 5-10 ซม. กว้าง 1x1 เมตร ขอบกระบะสูงประมาณ 1 คืบ ใส่ดินให้เต็มเพื่อป้องกันไฟไหม้พื้น ที่ก่อไฟนั้นอยู่กลางล้อมด้วยก้อนเส้า 3 ก้อน เป็นที่วางหม้อหรือบางทีใช้ "เคง" (เคียง) คือ ที่วางหม้อเวลาต้มแกง เป็นที่วางที่เป็นเหล็กมี 3 ขา ด้านบนขาจะเชื่อมติดกับแผ่นเหล็กบาง งอเป็นรูปวงกลมเป็นที่สำหรับรับก้นหม้อ รอบตามฝาเรือนครัวจะวางสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ เช่น กระติบข้าว ตะกร้า ไหปลาร้า ไหเกลือ เป็นต้น เหนือเตาไฟจะมีห้างสูงระดับหน้าผาก มีไว้สำหรับห้อยเนื้อที่จะทำเนื้อแห้ง ห้อยข้อง ตะกร้าที่เพิ่งสานใหม่ๆ เพื่อป้องกันแมลงกินไม้ เช่น มอด มิให้มากินข้อง ตะกร้า ฯลฯ เหล่านี้
ที่ด้านใต้ของครัวหรือเฮือนไฟ มักนิยมที่จะใช้เลี้ยงสัตว์ มากมากว่าใต้ถุนของเฮือนใหญ่ ในว่าอาหารเหลือก็โยนลงไปไม่เสียของ
ชาน (ซาน) เป็นพื้นที่ต่อกับเกยหรือเรือนครัว สำหรับวางตุ่มน้ำดื่ม น้ำอาบ น้ำใช้ ริมชานมัก จะวางรางผัก ไม่มีหลังคาไม่มีฝา พื้นชานจะต่ำกว่าเกยหรือเรือนครัว มีบันไดเรียกว่า "ขั้นบันได๋ซาน"
การใช้บริเวณบ้าน อดีตเมื่อ 40 ปีมาแล้วการใช้บริเวณบ้านของชาวภูไท พอกล่าวได้ดังนี้
ความเชื่อเกี่ยวกับบ้าน ในอดีตชาวผู้ไทยยังคงมีความเชื่อเกี่ยวกับบ้าน ดังนี้
ยารักษาโรค ในอดีตการแพทย์ยังไม่เจริญ ชาวภูไทเมื่อเจ็บป่วยก็ทำการรักษาเยียวยาตามความเชื่อ หรือ ทางด้านสมุนไพร การรักษาด้วยสมุนไพรนี้ อาศัยความรู้ และประสบการณ์ของบรรพบุรุษสืบทอดต่อๆ กันมา บางคนมีความรู้มากในด้านสมุนไพรรักษาโรค จนรักษาโรคด้วยสมุนไพรได้ เรียกว่า "หมอฮะไม้" (หมอรากไม้) และยังมีหมอเฉพาะโรค เช่น หมอกระดู หมอหมากไม้ (รักษาอาการไข้ชนิดหนึ่ง เรียกไข้หมากไม้)
วัสดุและแหล่งที่มา วัสดุก็เป็นพืชต่างๆ และบางอย่างก็ได้จากสัตว์ ซึ่งหาได้จากป่า และภูเขาใกล้บ้าน การใช้ตัวยาสมุนไพรที่ได้จากพืชมีการใช้ไม่เหมือนกัน บางชนิดใช้รากบางชนิดใช้ลำต้น บางชนิดใช้ทั้งราก ลำต้น ใบ ดอก ผล และวิธีใช้ก็มีทั้งต้ม แช่น้ำ ฝน อาบ ดื่ม ทา แล้วแต่โรค และแล้วแต่สมุนไพร
ความเชื่อเรื่องยารักษาโรค หมอรักษาโรคในอดีตนั้น ยังมีความเชื่อในเรื่องของการรักษาหรือฮีต คลองอยู่ ถ้าผิดฮีตแล้วจะรักษาไม่หาย แต่หมอจะพูดว่า "ผิดครู ผิดคาย" คำว่า "คาย หรือ ค่ายกครู" ซึ่งจะขอแยกกล่าวกระบวนการดังนี้
หมอเป่า หมอทรง หมอธรรม ในกลุ่มชาวภูไทตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ยังไม่ปรากฏมีผู้มีอาชีพแพทย์แผนโบราณโดยเฉพาะ มีเพียงผู้มีความรู้เรื่องสมุนไพร รากไม้ รากยา พอช่วยเยียวยาผู้เจ็บไข้ได้ป่วยแล้วได้ค่าตอบแทนเล็กๆ น้อยๆ พอเป็นสินน้ำใจ ถ้าทางฝ่ายคนไข้ไม่มีเงินก็รักษาฟรีเอาพี่เอาน้องไว้
หมอเป่า ในอดีตยังมีหมออีกประเภทหนึ่งที่รักษาคนไข้ด้วยการใช้คาถาเป่า (เรียกว่า หมอเป่า) คนป่วยเป็นไข้ ตกต้นไม้ ควายชน แข้งหักขาบวมช้ำ หมอก็ใช้คาถาเป่าได้ ชาวบ้านในอดีตมักจะไปหามหมอมาเป่า ในเรื่องเจ็บไข้ได้ป่วยในสมัยอดีตมักจะโยนให้ผี ที่ถูกใส่ความบ่อยที่สุด คือ ผีปอบ และผีป่า
ผีปอบ คือ คนที่เรียนคาถาประเภทเดรัจฉานวิชา และ "คะลำ" ถือปฏิบัติตามที่ครูบอกไม่ได้ เมื่อเป็นปอบแล้ว จะมีวิญญาณลึกลับอยู่ในตัวคนนั้น และเป็นวิญญาณร้ายที่ออกหากินคน ผู้ที่ถูกกินจะป่วยลงเมื่อหาหมอเป่าคนป่วยก็จะเพ้อออกมาว่าเป็นผู้นั้นมาเข้า การที่คนป่วยเพ้อออกมา ภูไทเรียกว่า "เอาะป้ะ" (ออกปาก) หมอเป่าก็จะใช้คาถาเป่า คุมจนปอบยอมออกจากร่าง เมื่อปอบออกจากร่าง แล้วคนไข้ลุกขึ้นนั่งเดินได้ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นป่วยนอนซมอยู่ไปไหนมาไหนไม่ได้
ผีป่า เป็นผีที่สิงสถิตอยู่ในป่า ต้นไม้ใหญ่ ถ้าคนไปทำผิด เช่น ไปตัดไม้ หรือไปกวนบ่อน้ำในแหล่งน้ำซับกลางป่า หรือของป่าบางอย่าง ผีป่าก็จะเข้าทับร่างทำให้เป็นไข้ได้ป่วย หรือบางทีเห็นหญิงสาวสวยผีป่ารัก ก็เข้ามาทับร่างได้เหมือนกัน อาการป่วยก็เหมือนผีปอบ แต่พอเป่าคนไข้เพ้อไปทางป่าว่าอยู่ที่นั่นต้นไม้นั่น หนองน้ำนี่ "พวกสูไปรื้อบ้านกู" (ตัดต้นไม้) เป็นต้น หมอก็จะคุมจนออกเช่นกัน
หมอทรง เป็นหมอที่ทำพิธีอัญเชิญวิญญาณต่างๆ ตามที่ผู้มาหาบอก เพื่อให้เข้าร่างหมอทรงแล้วจะได้บอกกล่าวเรื่องราวระหว่างวิญญาณกับผู้มาหาหมอ
หมอธรรม เป็นหมอที่นั่งทรงทางในเพื่อดูดวงชะตา หรือสิ่งที่มากระทำต่อคนใดคนหนึ่งที่มาหาหมอ หรือไล่เลขไล่ยาม ผู้ไทยเรียกว่า "นั่งธรรม" หมอธรรมจะเป็นสื่อระหว่างวิญญาณกับคน คล้ายหมอทรง แต่ไม่มีพิธีสลับซับซ้อนเท่าหมอทรง
การเหยา เป็นพิธีกรรมในการรักษาคนป่วยของคนภูไท เพราะเชื่อว่าคนที่เจ็บไข้ได้ป่วยก็เนื่องมาจากถูกผีกระทำ อาจจะเป็น ผีดง ผีป่า ผีแถน ผีปอบ ผีเป้า ผีบรรพบุรุษหรือถูกคุณไสย ผู้ที่เก่งกล้าในการขจัดปัดเป่าความเจ็บความไข้ออกไปได้ คือ หมอเหยา และหมอเป่า โดยหมอเป่าจะใช้คาถาเป่าขับไล่ผี แต่หมอเหยาใช้ไม้นวม คือ พูดจาหว่านล้อมด้วยถ้อยคำอ่อนหวานและเป็นทำนองเหยา (คล้ายลำ)
ภาษา ภาษาที่ใช้เป็นภาษาภูไท และยังคงรักษาไว้ได้ด้วยดีตลอดมา ภาษาภูไทเป็นภาษาที่พูดแปร่งไปจากภาษาลาวและภาษาไทยภาคกลาง ซึ่งไม่สามารถอธิบายเป็นภาษาเขียนได้ เพราะหลายคำเสียงไม่ตรงกับวรรณยุกต์ใด จะยกตัวอย่างคำบางคำที่พอจะอธิบายเป็นภาษาเขียนได้พอใกล้เคียง ดังนี้
ผักผลไม้บางชนิดที่เรียกต่างกันมาก เป็นไปได้ว่าช่วงที่คนไทยรวมอยู่ด้วยกัน ไม่มี มะละกอ ฟักทอง ส้มโอ ต้นไม้ 3 ชนิดนี้ คนไทยอาจรับเข้ามาภายหลังที่แยกตัวออกไปตามที่ต่างๆ แล้วส่วนคู่เปรียบ เทียบคำในภาษาภูไทกับภาษาไทยอีสานก็พบว่าเหมือนกันร้อยละ 37.67 คล้ายกันร้อยละ 52.14 หากรวมเข้าด้วยกันเท่ากับร้อยละ 89.81 ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ภาษาภูไท กับภาษาไทยอีสานก็เป็นภาษาตระกูลเดียวกัน และเป็นกลุ่มที่ใกล้กันมาก มีแตกต่างกันเพียงร้อยละ 12.86 จึงเป็นไปได้มากกว่าคน 2 กลุ่มนี้อยู่บริเวณเดียวกันมาก่อน ดังที่กล่าวไว้ในพงศาวดารเมืองแถง มาแยกกันเมื่อคนลาวอพยพ มาตั้งรกรากในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง จากหลวงพระบางลงมาทางเวียงจันทน์และแอ่งสกลนคร ส่วนกลุ่มภูไทก็ยังอยู่บริเวณสิบสองจุไท และยังขึ้นกับลาวตลอดมาด้วยภาษาจึงใกล้เคียงกันมาก
มีคำเปรียบเทียบกันน้อยจากทั้งหมด 89 คำ พบว่าเหมือนกันร้อยละ 34.83 คล้ายกันร้อยละ 44.94 รวมร้อยละ 79.77 ต่างกันร้อยละ 20.23 จึงอาจสรุปได้ว่าภาษาของคน 2 กลุ่มนี้ตระกูลเดียวกัน และคงอยู่บริเวณเดียวกันมาก่อนด้วย แต่ได้แยกกันมา 200 ปีขึ้นไป โดยกลุ่มภูไทบ้านหนองโอใหญ่นี้ แยกจากเมืองแถงไปอยู่เมืองวัง เมืองคำอ้อ แล้วจึงอพยพมาอยู่ที่ อ.หนองสูง จ.มุกดาหาร ส่วนผู้ไทยดำกลุ่มที่ให้ข้อมูล แยกจากเมืองแถงไปอยู่เชียงขวาง จากเชียงขวางไปอยู่บ้านอีไล ในแขวงเวียงจันทน์ และในที่สุดก็อพยพมาอยู่ที่ศูนย์ผู้อพยพ จ.หนองคาย ในปี พ.ศ. 2518 ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 ศตวรรษ ที่ 2 กลุ่มนี้ไม่ได้ติดต่อกัน และต่างฝ่ายก็รักษาภาษาของกลุ่มที่อยู่ใกล้เคียง เช่น รองเท้า ภูไทเรียก เกิ้บ แต่ไทดำเรียก ฮาย ซึ่งน่าจะเป็นภาษาญวน ญวนเรียกรองเท้าว่า ไย่ บางคำอาจจะคิดขึ้นภายหลังจากแยกย้ายออกไปจากเมืองแถงแล้ว เช่น กระดุม ภาษาภูไทเรียกว่า มะติง แต่ภาษาไทดำเรียก มะห่อ แต่อย่างไรก็ตามคำหลักๆ ของสองภาษานี้คล้ายกันมาก
การทำมาหากิน ชาวภูไท ขยันทำงานหลายอาชีพ เช่น ทำไร่ ทำนา ทำสวน ค้าวัว-ควายนำกองเกวียนไปขายต่างถิ่นที่เรียกว่า นายฮ้อย ชาวภูไทวาริชภูมิมีความรู้ในการปลูกหวายไว้รับประทาน
วิถีถิ่นผู้ไท กาฬสินธุ์
ด้านวัฒนธรรมและวิถีชีวิต นอกจากเอกลักษณ์ทางด้านการแต่งกายแล้ว ชาวภูไทมีการสร้างทำนองตนตรี ที่เรียกกันว่า ลาย มีแบบบ้านภูไท แต่ปัจจุบันมักปลูกบ้านอาศัยแบบไทย และในการแสดงฟ้อนภูไท ผู้ฟ้อนจะสวมเล็บยาว ปลายมีพู่สีแดง ฟ้อนเพื่อถวายองค์พระธาตุ และฟ้อนในพิธีต้อนรับแขกบ้านเมือง งานประเพณีของชาวผู้ไทยส่วนใหญ่แล้วจะคล้ายๆ กัน ในส่วนของชาวผู้ไทวาริชภูมิ คือ พิธีบวงสรวงเจ้าปู่มเหสักข์ ในวันที่ 6 เมษายน ทุกปี
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)