คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
วันคืนที่วัดร้าง บ้านโคกยาวผ่านไปสิบเก้าวัน การบำเพ็ญเพียรทางจิตได้รับผลดียิ่ง คุ้มค่ากับการต่อสู้ที่เอาชีวิตเป็นเดิมพัน โดยมีความบากบั่นอดทนและปัญญาเป็นธรรมาวุธ รวมทั้งเป็น ดังเพื่อนร่วมทางในชีวิตพระธุดงค์...
หลวงพ่อเดินทางออกจากวัดร้างนั้น พร้อมกับความสงบแห่งจิต ยากยิ่งที่จะบรรยาย ความรู้สึกนี้แก่ใคร ระหว่างทางได้พบปะชาวบ้าน บางแห่งมีผู้มาไต่ถามปัญหาต่างๆ ก็สามารถตอบได้โดยแจ่มแจ้งและฉับพลัน ไม่มีความติดขัดทั้งในปัญหาของตนเองและคนอื่น
เดินธุดงค์พักตามป่าเขา เงื้อมผา คูหาถ้ำ ริมลำธาร ไปเรื่อยๆ จนถึงอำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม พักภาวนาอยู่ริมแม่น้ำโขง แล้วข้ามไปนมัสการพระพุทธบาทพลสันต์ที่ฝั่งลาว ต่อจากนั้นได้ย้อนกลับมาที่อำเภอศรีสงครามอีกครั้ง
ขณะที่พักอยู่ที่บ้านหนองกา อำเภอศรีสงคราม แม้จิตจะเคยผ่านภาวะที่สุดของสมาธิ จนจิตใจแปลกแตกต่างจาปกติจิตก็ตาม แต่หาใช่ว่ารากเหง้าของกิเลสจะถูกกำจัดสิ้นไปไม่ เพราะสมาธิมีอำนาจเหนือกิเลสบางอย่างเท่านั้น ไม่อาจระงับกิเลสที่สะสมนอนเนื่องในจิตใจได้ทั้งหมด
ในขณะนั้น บริขารของหลวงพ่อคร่ำคร่าแทบจะใช้ไม่ได้ จึงเกิดความอยากได้ของใหม่ จนใจกระวนกระวาย ท่านเล่าถึงประสบการณ์ในครั้งนั้นว่า...
"ตอนไปอยู่ศรีสงคราม บริขารเราเก่ามาก จะขอใครก็ไม่ได้ เพราะไม่มีญาติ ไม่มีใคร ปวารณา จิตมันดิ้นรนกระวนกระวาย...
ในเวลานั้น บาตรที่ใช้มีขนาดเล็กมากและยังรั่วอีกหลายรู พระที่วัดหนองกาท่านสังเกตเห็น จึงนำบาตรขนาดใหญ่แต่มีรูรั่วด้วยมาถวาย ฝาบาตรก็ไม่มี...
นึกขึ้นได้ สมัยเป็นเด็กไปเลี้ยงควายเห็นเพื่อนเอาเถาวัลย์มาถักเป็นหมวก เลยให้เขาเอาหวายมาให้ แล้วเหลาให้แบนอันหนึ่ง กลมอันหนึ่ง แล้วถักเป็นวง ๆ ได้ฝาบาตรใช้เหมือนกัน แต่ดูแล้วเหมือนกระติบใส่ข้าวเหนียว เวลาไปบิณฑบาตมองดูฝาบาตรตัวเองรู้สึกขวางหูขวางตา ใครเห็นเขาเรียกว่า พระบาตรใหญ่
จึงทำมาใหม่... ทำทั้งกลางวันกลางคืน ตอนนั้นคิดผิด เพราะอยากได้มาก กลางคืนจุดไต้ ทำอยู่ในป่าคนเดียว สานไปสานมา มือไปชนไต้ที่จุดไว้ ขี้ไต้ตกใส่มือ ไฟไหม้หนังหลุดหมด มีแผล เป็นอยู่กระทั่งเดี๋ยวนี้... จึงรู้สึกตัว
เอ... นี่เรากำลังทำอะไร... คิดผิดแล้วนี่ บวชมาเพื่อเอาบริขาร บาตร จีวร แค่นี้หรือ ถึงขนาดทำจนไม่ได้หลับได้นอน "
เลยมานั่งพิจารณาอยู่ แล้วก็เดินจงกรม เดินไปยังคิดถึง "ฝาบาตร" อีกนั่นแหละ เดินจนจวนสว่าง รู้สึกเหนื่อย จึงพักมานั่งสมาธิ นั่งก็คิดอีก พอเคลิ้มไปนิดหนึ่ง เห็นเป็นภาพพระพุทธเจ้า องค์ใหญ่ท่านบอกว่า... มานี่จะเทศน์ให้ฟัง... เข้าไปกราบท่าน ท่านก็เทศน์เรื่องบริขารให้ฟังว่า เครื่องบริขารทั้งปวงเป็นเพียงเครื่องประดับขันธ์ห้าเท่านั้น...
สะดุ้งตื่นตัวสั่นเทาเลย เสียงนั้นยังติดอยู่ในใจจนทุกวันนี้... เข็ดหลาบเลย... ความอยากได้จนไม่รู้จักตัวเองนี่ ที่นี้เลยเลิกทำแบบนั้นมาทำเป็นเวลา.. ทำแล้วพัก.. เดินจงกรม... นั่งสมาธิ ด้วย"
เมื่อกล่าวถึงอดีต หลวงพ่อมักพูดด้วยอารมณ์ขัน และไม่ปิดบังปัญหาส่วนตัวต่างๆ ที่ท่านผ่านพบ เพื่อให้เป็นคติแก่ศิษย์ว่า... แม้ครูบาอาจารย์เอง เมื่อเริ่มปฏิบัติใหม่ๆ ก็ผจญกับปัญหาแทบเอาตัวไม่รอดเหมือนกัน และท้ายสุดของเรื่องคิดผิดเพราะบริขารนี้ หลวงพ่อ เล่าต่อไปว่า
... งานอะไรก็ตาม ถ้าเราทำไม่เสร็จทิ้งเอาไว้ แล้วมาทำสมาธิ ใจมันก็ไปติดอยู่ที่งานนั่นแหละ สลัดทิ้งก็ไม่ได้ งัดยังไงก็ไม่หลุด... "
คิดว่าจะลองฝึกให้ได้ว่า เมื่อทำงานก็ให้ทำไป เมื่อเลิกทำก็ให้วาง ให้มันเป็นคนละอย่าง ไม่ต่อกัน ไม่ให้เป็นทุกข์ แต่ว่ามันหัดยากเหลือเกิน ตัวอุปทานมั่นหมายนี้ละยาก... วางยาก
หรือการคิดว่า ทำอะไรก็ทำให้เสร็จไปเลย มันจะได้รู้แล้วรู้รอด ไม่ต้องมาคอยเป็นห่วง คิดอย่างนั้นก็ถุกอยู่เหมือนกัน แต่ถ้าคิดให้ถึงธรรมะจริงๆ มันไม่ถูก เพราะไม่มีอะไรจะรู้จบได้เลย ถ้าใจเรายังไม่ยอมเลิก... ไม่ยอมหยุด...
ต่อมาจึงทดลองฝึกหัด ทำอะไรก็ไม่รีบเร่งให้เสร็จเร็วๆ ทำไปพอสมควร วางไว้ ไปเดินจงกรม พอจิตกลับไปพะวงกับงานก็ทักท้วงตัวเอง ฝึกตัวเองไม่ให้คิดอย่างนั้น...
ปฏิบัติอย่างนี้เรื่อยมา คือฝึกให้ได้ว่า ถึงเวลาวางก็ให้มันวาง ให้มันเป็นคนละอย่าง... ทำก็ได้ วางก็ได้ ให้มันขาดกันไปเลย ฝึกไปก็ค่อยเบาไป ง่ายขึ้น จึงได้รู้จักเหตุให้เกิดทุกข์ คือความอยากนั่นเอง
จากนั้นมา ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน ก็มีแต่ความสดชื่นเบิกบาน จนกระทั่งถักฝาบาตรเสร็จ แต่พอไปบิณฑบาต เขาก็ยังมองอยู่ว่า พระองค์นี้ทำไมใช้บาตรแปลกๆ และใหญ่อย่างนั้น"
พระป่า.... กับบาตรใหญ่
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)