คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
เมื่อตอบปัญหา คนดีอยู่ไหนแก่ตนเองแล้ว หลวงพ่อเกิดความปลื้มปิติ เยือกเย็นใจมาก และได้ถือเอาความรู้นั้น เป็นคติสอนใจตลอดมา
หลวงพ่อได้ออกจาริกต่อตามวิถีทางของพระกรรมฐาน ผู้ไม่ยึดติดและไม่ยอมให้สิ่งใดผูกมัดตน แม้จะต้องผ่านพบกับสิ่งต่างๆ ทั้งดีและเลว ทั้งสุขและทุกข์ ก็เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย การเห็นโทษ และมีปัญหาในการสลัดออก
วันหนึ่งหลวงพ่อ เดินผ่านดงใหญ่ถึงวัดร้างใกล้หมู่บ้านโคกยาว จังหวัดนครพนม พบว่า สถานที่วิเวกดี จึงหยุดพักอยู่ที่นั่น ได้รับความสงบระงับดีมาก ท่านเล่าถึงประสบการณ์เกี่ยวกับ การภาวนาที่วัดร้างนั้นให้ฟังว่า...
"คืนนั้นประมาณห้าทุ่มกว่าๆ ขณะเดินจงกรมอยู่ รู้สึกแปลกๆ มันแปลกมาตั้งแต่ กลางวันแล้ว รู้สึกว่าไม่คิดอะไรมาก มีอาการสบายๆ
เมื่อเดินจงกรมเมื่อยแล้ว จึงขึ้นไปนั่งกระท่อมเล็กๆ ขณะจะนั่งคู้ขาเข้าแทบไม่ทัน จิตมันอยากสงบ มันเป็นของมันเอง... พอนั่งลงแล้ว จิตมันก็สงบจริงๆ รู้สึกตัวหนักแน่น...
คืนนั้นในหมู่บ้านมีงาน เขาร้องรำทำเพลงกันได้ยินอยู่ แต่จะทำให้ไม่ได้ยินก็ได้ เมื่อไม่เอาใจใส่ก็เงียบไม่ได้ยิน จะให้ได้ยินก็ได้ยิน ไม่รู้สึกรำคาญ...
ดูจิตกับอารมณ์ก็เห็นตั้งอยู่คนละส่วน เหมือนวัตถุสองอย่างตั้งอยู่โดยไม่ติดกัน ก็เลย เข้าใจว่า เมื่อจิตเป็นสมาธิแล้ว ถ้าน้อมไปก็ได้ยินเสียง ถ้าว่างก็เงียบ ถ้ามีเสียงขึ้น ก็เห็นจิต กับเสียงเป็นคนละส่วน...
จิตใจขณะนั้นไม่เอาใจใส่ในสิ่งอื่นเลย ไม่มีความเกียจคร้าน ไม่มีความเหนื่อย ไม่มี ความรำคาญ ของเหล่านี้ไม่มีในจิต มีแต่ความพอดีหมดทุกอย่างในนั้น..."
ต่อมาจึงหยุดพัก หยุดแต่การนั่งเท่านั้น ใจเหมือนเก่า ยังไม่หยุด ดึงเอาหมอนมาวางไว้ ตั้งใจจะพักผ่อน เพื่อเอนกายลงจิตยังสงบอยู่อย่างเดิม พอศรีษะถึงหมอนมีอาการน้อมเข้าไปในใจ คล้ายกับมีสายไฟอันหนึ่งไปถูกสวิตช์ไฟฟ้าเข้า มีความรู้สึกว่ากายระเบิดเสียงดังมาก ความรู้ที่มีอยู่นั้นละเอียดที่สุด พอมันผ่านตรงจุดนั้น ก็หลุดเข้าไปในโน้น แม้อะไรๆ ทั้งปวงก็ส่ง เข้าไปไม่ได้ ไม่มีอะไรเข้าไปถึง หยุดอยู่ข้างในสักพักหนึ่ง ก็ถอยออกมา จนถึงปกติธรรมดา ที่ว่า ถอยออกมานี้ ไม่ใช่ว่าเรา จะให้ถอย มันเป็นเอง เราเป็นเพียงผู้ดู ผู้รู้เท่านั้น...
เมื่อจิตเป็นปกติดังเดิมแล้ว คำถามก็มีขึ้นว่า นี่มันอะไร ? คำตอบเกิดขึ้นว่า สิ่งเหล่านี้ ของมันเป็นเอง ไม่ต้องสงสัยมัน คิดเท่านี้จิตก็ยอม
เมื่อหยุดอยู่สักพักหนึ่ง ก็น้อมเข้าไปอีก เราไม่ได้น้อมมันน้อมเอง พอน้อมเข้าไปๆ ก็ไป ถูกสวิตช์ไฟดังเก่า ครั้งที่สองนี้ร่างกายแตกละเอียดหมด แล้วหลุดเข้าไปข้างในอีก... เงียบ!... ยิ่งกว่าเก่า ไม่มีอะไรส่งเข้าไปถึง... พอสมควรแล้ว ก็ถอยออกมาตามสภาวะของมัน... ในเวลานั้น มันเป็นอัตโนมัติ มิได้แต่งว่าจงเป็นอย่างนั้น จงเป็นอย่างนี้ จงออกอย่างนั้น จงออกอย่างนี้... ไม่มี เราเป็นเพียงผู้ทำ ความรู้ดูเฉยๆ
เมื่อนั่งพิจารณาก็น้อมเข้าไปอีก ครั้งที่สามนี้ โลกแตกละเอียดหมด ทั้งพื้นปฐพีแผ่นดิน แผ่นหญ้าภูเขาเลากาเป็นอากาศธาตุหมด ไม่มีคนหมดไปเลย ตอนสุดท้ายนี้ไม่มีอะไร
ดูยาก พูดยาก ของสิ่งนี้ ไม่มีอะไรมาเปรียบปานได้เลย สามขณะนี้ใครจะเรียกว่าอะไร ใครรู้ เราจะเรียกว่าอะไรเล่า
หลวงพ่อกล่าวต่อไปอีกว่า... "ที่เล่ามานี้เป็นเรื่องจิตตามธรรมชาติทั้งนั้น เราไม่ต้องการอะไร มีศรัทธาก็ทำเข้าไปจริงๆ เอาชีวิตเป็นเดิมพัน
เมื่อถึงวาระที่เป็นอย่างนี้ออกมาแล้ว โลกนี้ แผ่นดินนี้ มันพลิกหมด ความรู้ความเห็น มันแปลกไปหมดทุกสิ่งทุกอย่าง
ในระยะนั้น ถ้าคนอื่นเห็น อาจจะว่าเราเป็นบ้าจริงๆ ถ้าผู้ควบคุมสติไม่ดีอาจเป็นบ้าได้ เพราะมันไม่เหมือนเก่าสักอย่างเลย เห็นคนในโลกไม่เหมือนเก่า แต่มันเป็นเฉพาะเราผู้เดียว เท่านั้น แปลกไปหมดทุกอย่าง ความนึกคิดทั้งหลายทั้งปวงก็เช่นกัน เขาคิดไปทางโน้น แต่เราคิดไปทางนี้ เขาพูดมาทางนี้ เราพูดไปทางโน้น มันต่างกับมนุษย์ไปหมด นี่เป็นเรื่องกำลังของสมาธิ ถ้าเป็นสมาธิถึงขั้นนี้ ถึงที่สุดของมันแล้ว
เราเอาความสงบขั้นนี้มาพิจารณา รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ที่มากระทบ ใจ... อารมณ์ทั้งหลายเกิดขึ้นมา เราเอาความสงบมาพิจารณารู้เท่าทันหมด รู้ว่าสิ่งไหนดี สิ่งไหนไม่ดี อาการที่พิจารณาออกมาจากความสงบเหล่านี้แหละ เรียกว่า ปัญญา เป็นวิปัสสนา"
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)