คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
เทศกาลการท่องเที่ยวเมืองไทย ไม่ว่าจะช่วงเวลาใด ภาคอีสาน ทำไม? ไม่เป็นเป้าหมายของการเดินทางท่องเที่ยว ทั้งของคนไทยด้วยกันเอง และคนต่างชาติ เป็นคำถามที่น่าสนใจมากครับ มีผู้ตั้งกระทู้ถามใน pantip.com ไว้ แล้วมีผู้เข้าไปตอบกันมากมายทั้งที่แบบทีเล่นทีจริง ตอบเอาฮา หรือตอบไปแบบไม่รู้ ปนการเหยียดหยามนิดๆ แล้วแต่ภูมิหลังของแต่ละคน ผมในฐานะที่เป็นฅนอีสาน (ล้านเปอร์เซนต์ ในภาษาอีสานต้องบอกว่า 'อ้อยต้อย ร้อยเปอร์เซนต์') ขอร่วมแสดงความคิดเห็นด้วยในบทบรรณาธิการนี้ ไม่ไปตอบในกระทู้นั้นนะครับ เดี๋ยวจะมีวิวาทะทางความคิดเห็นต่อไปยาวไกลนอกประเด็นไปอีก
ก่อนอื่นเรามาวิเคราะห์กันดูซิว่า "ภาคอีสานของเรามีจุดเด่นในการท่องเที่ยวน้อยกว่าภาคอื่นหรือไม่?" ผมนี่กล้าตอบแบบฟันธงตรงไปตรงมาไปเลยว่า ภาคอีสานของเรานั้นมีไม่น้อยกว่าภาคอื่นๆ แน่นอนครับ และเรายังมีทั้งประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม อารยธรรมโบราณเก่าแก่นับพันปีอีกมากมายด้วย เช่น
หาดชมดาว อุบลราชธานี
แล้วเหตุใด เป้าหมายการท่องเที่ยวของคนไทยส่วนใหญ่ จึงไม่ค่อยมีเป้าหมายที่เป็นอีสานมากนัก (เว้นแต่ เขาใหญ่ วังน้ำเขียว ที่อยู่ใกล้กรุงเทพฯ) มันมีสาเหตุครับ ผมอยากจะเล่า อยากจะบอกให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งในส่วนภาครัฐ (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด อบจ. อบต. ทุกแห่ง) และเอกชน (หอการค้าจังหวัดฯ สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวในท้องถิ่น) ได้นำไปคิด และลองหาวิธีการที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวอีสานให้เป็นที่รู้จัก ชิคๆ คูลๆ มาเที่ยวได้ทั้งปีกันเลยทีเดียว ผมขอแนะนำดังนี้ครับ
1. สร้างเรื่องราวให้น่าสนใจ สถานที่ท่องเที่ยวของบ้านเราหลายแห่ง มักจะมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ หรือนิทานปรัมปราปรากฏอยู่เสมอ ทำไมเราไม่เอาเรื่องราวเหล่านั้นมาพัฒนาให้น่าสนใจขึ้น เช่น จัดทำสถานที่จำลองเรื่องราวในอดีต มีสวนสาธารณะสำหรับการพักผ่อน รวบรวมพืชพันธุ์ไม้ที่น่าสนใจเกี่ยวพันกับเรื่องราวนั้นมาปลูก ผมเคยไปเที่ยวต่างประเทศหลายครั้ง ยกตัวอย่างที่ออสเตรเลียก็แล้วกัน เขามีสวนสาธารณะและสวนพฤกษศาสตร์ โดยผูกเอาเรื่องราวกัปตันคุกว่าเคยมาอาศัยอยู่ที่นี่ มีการจำลองบ้านกัปตันคุก มีพันธุ์ไม้ที่กัปตันนำเข้ามาปลูกจากการเดินทางไปที่ต่างๆ ทำตัวเรือจำลอง มีพื้นเรือใบโบราณให้เด็กๆ ได้ทดลองห้อยโหน ผู้ใหญ่ได้ลอดเข้าไปดูในห้องกัปตัน ห้องเก็บสมบัติ (ซึ่งจริงๆ จะมีหรือไม่ก็ไม่มีใครทราบได้ แต่เขาก็ผูกเรื่องให้มันน่าสนใจดี)
พิพิธภัณฑ์พญาคันคาก ยโสธร
ผมไปเจอสถานที่ที่น่าจะผูกเรื่องราวได้ครับ ที่จังหวัดยโสธรมีการสร้างอาคาร พญาคันคาก ขึ้นเป็นเอกลักษณ์ที่น่าสนใจ แต่มันขาดเรื่องราวที่จะบอกนักท่องเที่ยวได้ว่า คางคกยักษ์ตัวนี้มันเกี่ยวข้องกับยโสธรอย่างไร มันขาดเรื่องราว (Story) ไปครับ ผมก็เลยแค่ไปดู ถ่ายรูปแล้วก็กลับ ลูกหลานถามผมก็ไม่สามารถตอบได้ชัดเจนนัก (เรื่องมันไม่สนุกชวนให้ติดตามด้วย) ที่อื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน สามารถผูกเรื่องราวให้เป็นที่น่าสนใจได้ สร้างจุดขายกันซิครับ ถ้ายังนึกไม่ออกให้อ่านนิทานเรื่อง พญาคันคาก เพิ่มเติมครับ
2. สร้างเครือข่ายคมนาคมที่สะดวก สถานที่ท่องเที่ยวภาคอีสานนั้นมักจะอยู่ห่างไกลกัน เสียเวลากับการเดินทาง มากกว่าการได้ใช้เวลาดื่มด่ำกับบรรยากาศและเรื่องราวของสถานที่ เราควรมีเป้าหมายการเดินทางท่องเที่ยวที่ชัดเจน ด้วยการจัดกลุ่มสถานที่ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน และจัดการคมนาคมที่สะดวกสำหรับนักท่องเที่ยว มีป้ายบอกทางที่ชัดเจน ส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นทำหน้าที่บริการ ทั้งการเดินทางด้วยพาหนะในท้องถิ่น ไกด์นำเที่ยวท่องถิ่น (ร่วมมือกับโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัยในท้องถิ่น) ที่สามารถให้ข้อมูลและเรื่องราวที่น่าสนใจของสถานที่เหล่านั้น เป็นเอกภาพจากเรื่องราวที่สร้างไว้ สื่อสารได้หลายภาษา (จำเป็น ถ้าจะขายการท่องเที่ยวจริงจัง) มีจุดแวะพักเพื่อรับประทานอาหาร มีสินค้าท้องถิ่นเด่นๆ เป็นของที่ระลึกได้
มัคคุเทศก์น้อย ที่ควรจะส่งเสริมอย่างจริงจ้ง
3. จัดแพ็กเกจท่องเที่ยวสนองความต้องการในหลายรูปแบบ มีความจำเป็นมากครับ เพราะผมเชื่อว่า แม้แต่คนในจังหวัดนั้นเองก็ยังไม่รู้จักแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจของจังหวัดตนเอง (เห็นทุกวันเลยเฉยๆ มั๊ง) ควรทำแพ็กเกจวันเดียวเที่ยวสุขใจ สำหรับคนที่ผ่านมาแต่มีเวลาน้อยได้ใช้บริการ หรือแพ็กเกจ 2-3 วันพักผ่อนอย่างเป็นสุข สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาเยือนในช่วงต่างๆ ที่ไม่ใช่ฤดูเทศกาลที่มีนักท่องเที่ยวมาเยอะๆ แต่ได้รับความสุข สนุก เช่นเดียวกับช่วงเทศกาลนั่นเอง เผยแพร่แพ็กเกจเหล่านี้ผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อให้ผู้ที่สนใจเดินทางมาท่องเที่ยว ทั้งแบบมียานพาหนะส่วนตัวมาเอง หรือมาใช้บริการนำเที่ยวจากคนในท้องถิ่น ได้เลือกสรรกันตามช่วงเวลาของแต่ละคน
5. ให้ความสำคัญต่อแหล่งท่องเที่ยวบ้านตนเองก่อน ข้อนี้ผมเสนอขึ้นมา เพราะน้อยใจที่คนในบ้านผมมองไม่เห็นค่าท้องถิ่นตนเอง แต่ไปให้ความสำคัญกับบ้านอื่น จัดโปรแกรมท่องเที่ยวข้ามหัวตัวเอง แล้วก็โทษว่า "บ้านเราเงียบเหงาจังไม่มีใครมาเที่ยว ไม่มีใครมาพัก ไม่มีใครมาซื้อของฝากบ้านเรา โรงแรม ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึกกำลังจะตาย" บลาๆ ว่ากันไป
ขอยกตัวย่างบ้านตัวเองนะครับ อุบลราชธานี นี่แหละ ผู้ให้บริการนำเที่ยวบ้านผมเอาผู้คนไปเทียวเพื่อนบ้าน (ลาวใต้) แบบข้ามหัวบ้านตัวเองไปจนไม่ได้ผลประโยชน์ใดๆ จากนักท่องเที่ยวที่บินมาลงที่สนามบินอุบลราชธานี หรือนอนมากับรถไฟอีสานวัฒนา หรือรถทัวร์ปลายทางที่อุบลราชธานี แล้วบรรดากิจการนำเที่ยวทั้งหลายก็เอารถบัส รถตู้ไปรับ ตรงดิ่งข้ามแดนไปต่างประเทศอย่างไม่ใยดีต่อของดีในบ้านตนเอง ตอนกลับข้ามแดนมาก็ส่งขึ้นเครื่องบิน/ขึนรถไฟ/ขึ้นรถทัวร์ โดยไม่ได้สัมผัสบรรยากาศที่พัก อาหารอร่อย ของฝาก ของที่ระลึกแม้แต่นิดเดียว ถ้าพวกคุณไม่นำเสนอบ้านตนเองแล้วใครจะรู้ว่า ที่นีมีดีกว่าเป้าหมายที่เขาจะไปเสียอีก (ที่โน่นค่าครองชีพก็แพงกว่า ก็ส่วนใหญ่นำเข้าจากบ้านเราทั้งนั้น การคมนาคม/สื่อสารก็แพงกว่า จ่ายปี้ทุกที่ที่เดินทางผ่าน) บอกเขาบ้างสิครับ
อาหารเช้าขึ้นชื่อเมืองอุบลราชธานี ที่ท่านไม่ควรพลาดในการลิ้มลอง
เมื่อลูกค้าต้องการไปต่างแดน เราก็สามารถทำแพ็กเกจทัวร์แบบบ้านเราได้ประโยชน์ได้ครับ เช่น บินมาเย็นวันศุกร์มาดื่มด่ำบรรยากาศอาหารอร่อยที่อุบลฯ พักค้างคืนชิลๆ ในที่พักชิคๆ รับประทานอาหารเช้าขึ้นชื่อ (ก๋วยจั๊บญวณ ต้มเลือดหมู ไข่กระทะ กาแฟอร่อย) ก่อนเดินทางข้ามแดนไปลาวใต้ นี่เราก็ได้ประโยชน์ หรือจะจัดแบบตรงไปทันที แต่ขากลับมาแวะพักค้างคืน ทานอาหารเย็น ซื้อของที่ระลึกก่อนกลับ หรือแพ็กเกจอื่นๆ ตามที่เหมาะสม
ซึ่งทางจังหวัด (โดยผู้ว่าราชการจังหวัด) ควรจะประสานงานกับหอการค้าจังหวัด ชมรม/สมาคมโรงแรม ร้านอาหาร และกิจการนำเที่ยว หันหน้ามาคุยกันอย่างเป็นทางการครับ เป็นวาระสำคัญของจังหวัดเพื่อเศรษฐกิจบ้านเราจะได้รุ่งเรืองตลอดทั้งปี ไม่ใช่มาโหมแต่ช่วงแห่เทียนพรรษา ช่วงนี้มันแทบจะรับกันไม่ไหว แต่พอพ้นเทศกาลแล้วเงียบเหงากันไปหมด คิดใหม่ทำใหม่ได้นะครับ...
ทิดหมู มักหม่วน
บันทึกเมื่อ : 08 มกราคม 2561
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)