foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

isan laeng 2562

จาก "อีสานเขียว" สู่ "อีสานแล้ง" เกิดอะไรขึ้นหนอ คำตอบนี้หลายคนคงตอบได้ไม่ยาก ด้วยการดูจากสภาพสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรานี่แหละ ทั้งป่าไม้ที่หายไป การขยายพื้นที่เพาะปลูกโดยไม่คำนึงถึงความสมดุลย์ทางธรรมชาติ เอาแต่เศรษฐกิจรายได้ของตัวเองเป็นหลักจนลืมสิ่งแวดล้อมรอบข้าง และหลายคนคิดว่า "เศรษฐกิจพอเพียงของพ่อหลวงรัชการที่ ๙" เป็นเรื่องในฝัน ในจินตนาการ เราจนขนาดนี้ถ้ามัวแต่พอเพียงคงได้อดตาย

“แล้ง” กับ “ภาคอีสาน” เป็นของคู่กันมานานนับศตวรรษ ดินแดนที่ขึ้นชื่อว่าแล้งมากที่สุดจนผู้คนจดจำคือ "ทุ่งกุลาร้องไห้" แล้งขนาดไหนก็ขนาด "คนกุลา" พ่อค้าเร่ขายของในอดีตร้องหลั่งน้ำตา เพราะเดินข้ามทุ่งนี้แล้วมันไม่มีต้นไม้ให้ร่มเงาเซาพักระหว่างทาง ไม่มีน้ำสำหรับดื่มนั่นเอง ด้วยความกว้างใหญ่ของทุ่งกว้างนี้จนได้รับการขนานนามไว้เป็นอนุสรณ์ แม้วิทยาการและเทคโนโลยีด้านจัดการทรัพยากรน้ำจะก้าวไกลไปถึงไหนแล้วก็ตาม... แต่คำว่า แล้งก็จะยังอยู่คู่ฟ้าแผ่นดินอีสานมิเปลี่ยนแปลง ทั้งที่เป็นภาคที่มีผืนดินทำการเกษตรกว้างใหญ่ที่สุดในประเทศไทย หรือประมาณ 42.7% ของพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมดของประเทศ แต่กลับมีพื้นที่ทำการเกษตรอยู่ในเขตชลประทานแค่เพียง 10% เท่านั้นเอง

ubonrat dam
เขื่อนอุบลรัตน์น้ำเหลือน้อยมากแล้ว

“ต้องยอมรับว่า สภาพภูมิศาสตร์ของอีสาน มีปัญหาในเรื่องการสร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อการชลประทานมาก เพราะเป็นพื้นที่ราบสูง หาบริเวณที่เหมาะสมที่มีภูเขาสองลูกตั้งขนาบอยู่ใกล้กัน เพื่อจะสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ได้ยากมาก เท่าที่มีอยู่ก็ได้สร้างไปหมดแล้ว คือ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนสิรินธร และเขื่อนลำปาว แต่ละแห่งกักเก็บน้ำได้แค่ระดับ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้นเอง ไม่เหมือนภาคเหนือและภาคตะวันตกที่สามารถสร้างเขื่อนเก็บกักได้ในระดับ 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตร

พื้นที่ที่มีอยู่ในภาคอีสานขณะนี้ ถ้าจะสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เก็บได้หลายร้อยล้านลูกบาศก์เมตรนั้นหาได้ยาก ถ้าจะทำก็ทำได้ แต่มีปัญหาค่าใช้จ่ายที่สูงมาก เพราะนอกจากจะต้องสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำที่ยาวมากแล้ว พื้นที่อ่างเก็บน้ำยังจะแผ่ขยายไปไกลกินพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง ซึ่งจะกระทบความเป็นอยู่ของชาวบ้านเป็นจำนวนมาก มันเลยไม่คุ้มค่าที่จะสร้างขึ้นมาอีก

จะสร้างได้แต่อ่างเก็บน้ำเล็กๆ ขนาดไม่กี่สิบล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น และการส่งน้ำให้เกษตรกรต้องใช้ระบบท่อที่มีค่าใช้จ่ายสูงเป็นหลัก เนื่องจากสภาพพื้นที่อีสานมีลักษณะเป็นเนินลูกระนาด สูงต่ำสลับกันไป จะส่งน้ำแบบภาคกลางที่ต้นทุนถูกกว่าไม่สามารถทำได้... ถึงจะทำได้ ก็ส่งน้ำไปได้ครอบคลุมพื้นที่อยู่ดี เพราะส่งได้ไม่ไกลเหมือนระบบท่อที่มีแรงดูดในท่อมากกว่าเป็นตัวช่วย

อีกเหตุผลหนึ่ง ภาคอีสานยังมีปัญหาในเรื่องฝนตามฤดูกาลมีปริมาณน้อย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับภาคกลางและภาคเหนือ (แถบโคราช ชัยภูมิ) ฝนมักจะมาไม่ถึง ฝนที่ตกส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่บริเวณใกล้แม่น้ำโขงเป็นหลัก ฉะนั้นการเก็บกักน้ำที่เหมาะสมจะทำได้ ต้องสร้างฝายปิดกั้นน้ำ เพื่อชะลอน้ำไม่ให้ไหลลงทะเลเร็วเกินไป แต่ก็มีปัญหาสภาพลำน้ำมีความชันสูง จะเก็บกักชะลอน้ำให้ได้ผล ต้องสร้างฝายถี่ซ้อนกันหลายตัว

นอกจากจะต้นทุนสูงแล้ว ยังเจอปัญหากลุ่ม NGO ไม่ยอมเข้าใจความเป็นจริงของภูมิศาสตร์ ได้ต่อต้านการก่อสร้างเข้าให้อีก... อีสานก็เลยต้องแล้งไม่เปลี่ยนแปลงเท่านั้นเอง เราจะทำอย่างไร?

dam in isan
แสดงภูมิศาสตร์พื้นที่และลุ่มน้ำในภาคอีสาน

อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในเขื่อนภาคอีสานทั้งหมด 12 แห่ง ขณะนี้มีปริมาตรน้ำใช้การได้เหลืออยู่เพียง 1,512 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 23 เท่านั้น โดยเขื่อนที่มีปริมาตรน้ำน้อยมาก ซึ่งคาดว่าจะกระทบกับน้ำกินน้ำใช้ของประชาชนในพื้นที่ในอีก 1 เดือนข้างหน้านี้ ได้แก่ เขื่อนห้วยหลวง เหลือปริมาตรน้ำใช้การได้ 33 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 26, เขื่อนจุฬาภรณ์ 43 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 34, เขื่อนลำพระเพลิง 48 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 31, เขื่อนมูลบน 48 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 36

และที่วิกฤตสุดๆ น่าจะได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ เหลือปริมาตรน้ำใช้การได้เพียง 59 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 3 กับ เขื่อนสิรินธร เหลือปริมาตรน้ำใช้การได้ 86 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 8 เท่านั้น พี่น้องเอย (ข้อมูลวันที่ 25 มีนาคม 2562)

สถานการณ์ภัยแล้งในขณะนี้ ดูจะทวีความรุนแรงมากยิ่งกว่าปีที่ผ่านๆ มา หลังจากมีรายงานจากกรมอุตุนิยมวิทยาเข้ามาว่า ฤดูร้อนปีนี้จะร้อนมากกว่าปี 2561 และร้อนมากกว่าปกติ 1-2 องศาเซลเซียส (ไม่จริงอ๊ะ! มันร้อนกว่านั้นอีก) โดยฤดูร้อนจะมาเร็วและนานมากกว่าทุกปี นั่นหมายความว่า ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับภัยแล้งอย่างหนักหน่วงตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา ตอนนี้หลายๆ พื้นที่เริ่มขาดแคลนน้ำสำหรับทำน้ำประปากันบ้างแล้ว การขุดเจาะน้ำบาดาลเข้ามาเป็นส่วนเสริมในการทำประปาก็ยังมีปัญหาอยู่ เพราะเจอความเค็มจากชั้นเกลือใต้ดินปะปนมากับน้ำ น้ำสำหรับเลี้ยงสัตว์ก็แห้งขอด ในลำน้ำสายหลักอย่างลำน้ำมูล น้ำชี น้ำเสียว ก็แห้งขอดเป็นช่วงๆ แล้ว

ไผว่าอีสานแล้ง สิจูงแขนเพิ่นไปเบิ่ง น้ำของไหลอยู่จ้นๆ มันสิแล้งบ่อนจั่งได๋ "

ใช้บ่ได้แล้วครับสำหรับมื้อนี้ จูงไปเบิ่งแม่น้ำโขงกะแห้งให้เห็นเต็มตาอีหลี สาเหตุที่แท้จริงคือ "การตัดไม้ทำลายป่าจากอดีตถึงปัจจุบัน" การตัดเกิดขึ้นมากมายกว่าคนปลูก ไม่ต้องดูอื่นไกลครับ หมู่บ้านอีสานของเราจะต้องมี "ดอนปู่ตา" ซึ่งเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตของหมู่บ้าน เป็นแหล่งอาหารทั้งเห็ด หน่อไม้ พืชผัก สัตว์เล็กสัตว์น้อยพวกนก หนู กะปอม ฯลฯ เดี๋ยวนี้ยังมีเหลือสักกี่หมู่บ้าน ที่สามารถเป็นแหล่งอาหาร ที่พึ่งของสรรพสัตว์ ความชุ่มชื้นของหมู่บ้านบ้าง

หันไปมองทางไร่นา เมื่อก่อนเราจะมีหนองน้ำ มีโพนดินจอมปลวก มีต้นไม้ใหญ่น้อยตามคันนา หรือหัวไร่ปลายนา ที่ให้ร่มเงาเซาพักในตอนทำไร่นา เป็นที่อาศัยของสัตว์ที่เป็นอาหารได้ เป็นที่ปลูกผักสวนครัวเลี้ยงชีพง่ายๆ ในยามหน้านา ก็ถูกตัดโค่น ไถออกเพื่อเพิ่มพื้นที่ในการทำนาทำไร่

"เมื่อก่อนไถนาด้วยคันไถใช้ควายลาก ทำนาดำกันเป็นหลัก ใช้แรงงานคนและสัตว์ทำให้ต้องมีที่พักพิงคือร่มเงาไม้ใหญ่ พอมาใช้ควายเหล็ก ทำนาหว่าน ที่รวดเร็ว ต้องการผลผลิตไปขายใช้หนี้ ก็เลยต้องตัดต้นไม้ใหญ่ที่ขวางทาง ทำลายโพนจอมปลวกไป แล้วไง? ก็ร้อนแล้งนี่แหละครับ"

rain map isan
ปริมาณฝนที่ตกในภาคอีสานของไทย

ศาตร์พระราชากับการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง

"ศาสตร์ของพระราชา" สามารถนำมาใช้ในการจัดการปัญหาน้ำแล้ง-น้ำท่วมได้ มีหลักการสำคัญว่า "พื้นที่ต้นน้ำต้องอนุรักษ์ฟื้นฟู พื้นที่กลางน้ำต้องจัดการกักเก็บน้ำ และพื้นที่ปลายน้ำต้องบำบัดป้องกัน โดยการดำเนินการมุ่งทำทั้งกระบวนที่เกี่ยวเนื่องทั้งดิน น้ำ ป่า คน ที่ต้องสอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน"

ศาสตร์ของพระราชาที่ใช้ในการจัดการน้ำ ประกอบด้วยหลายอย่างประกอบกัน ทั้ง "การทำฝนหลวง การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การปลูกป่าเปียก ฟื้นฟูดิน ห่มดิน ปลูกแฝก สร้างแก้มลิง ทำฝาย ทำหลุมขนมครก และการทำโคกหนองนาโมเดล"

โคกหนองนาโมเดล คือ การสร้างโคกบนพื้นที่ของตัวเอง จากการนำดินที่ได้จากการขุดหนองนำมาถมเป็นโคก เพื่อสร้างที่อยู่อาศัย ปลูกบ้าน ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ รวมทั้งปลูกต้นไม้ตามแนวทางของพระราชาคือ ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เพื่อใช้กินหนึ่ง ใช้ประโยชน์หนึ่ง และใช้ปลูกสร้างที่อยู่อาศัยหนึ่ง ส่วนผลพลอยได้อีกหนึ่งคือ สมดุลระบบนิเวศ

สำหรับหลุมขนมครก มีหน้าตาอย่างไร ก็ให้นึกภาพถาดขนมครก ที่มีลักษณะเป็นเบ้าหรือหลุมเล็กๆ กระจายไปทั่วทั้งถาดขนม ประกอบด้วย พื้นที่ในการเก็บกักน้ำหลายๆ รูปแบบ ได้แก่ หนอง คลองไส้ไก่ (คลองเล็กๆ ที่ขุดเชื่อมหนองในนา) ฝายชะลอน้ำ รากต้นไม้ช่วยดูดซับน้ำฝนเก็บไว้เป็นน้ำใต้ดิน และหัวคันนาที่ยกสูงจากปกติ หลุมขนมครกเหล่านี้กระจายไปในพื้นที่ลุ่มน้ำ ทำหน้าที่เก็บน้ำไว้ใช้ยามแล้ง และรองรับน้ำในหน้าน้ำหลาก

king theory

ทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1

ถ้ามีพื้นที่ 10 ไร่ ขุดหนองไว้เก็บน้ำตามสัดส่วนการแบ่งพื้นที่อัตราส่วน 30:30:30:10 คือ

  • 30% ใช้เก็บน้ำด้วยการขุดหนอง/สระน้ำในพื้นที่ อาจมีหลายสระควรมีระดับความลึกมากกว่า 4  เมตรเพื่อป้องกันแสงแดดที่ส่องถึงพื้นดินแล้วทำให้น้ำระเหยเร็ว
  • 30% ใช้ปลูกข้าวไว้ใช้กินในครัวเรือนไม่ต้องซื้อหา เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ปลูกในปีต่อไป
  • 30% ใช้ปลูกไม้ผลสำหรับเป็นอาหาร ไม้ยืนต้นสำหรับเป็นร่มเงาให้คนและสัตว์ รวมทั้งป้องกันแสงให้กับสระน้ำให้โดนแดดน้อยลงช่วยให้น้ำระเหยช้า
  • 10% ใช้เป็นที่อยู่อาศัย โรงเรือนเก็บสิ่งของ ข้าว และโรงเรือน/พื้นที่เลี้ยงสัตว์ต่างๆ

พื้นที่ 30% นี้ก็จะได้น้ำประมาณ 2 หมื่นลูกบาศก์เมตร เพียงพอต่อการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์และทำนาในแต่ละปี ถ้าน้ำท่วมก็ขึ้นไปอยู่บนโคก ถ้าน้ำแล้งก็ใช้น้ำจากหนองที่ขุดไว้ แต่ถ้าไม่ขุดไม่ทำอะไรเลย ฝนตกลงมาบนท้องนา ก็เอ่อทิ้งล้นไหลไปจนหมดสิ้น

สำหรับเกษตรกรแล้ว "น้ำ" คือ ต้นทางของชีวิต เมื่อบริหารจัดการน้ำได้ ชีวิตก็อยู่ได้ เราอยู่รอดด้วยตัวของเราเอง โครงการรวมพลังตามรอยพ่อฯ โดยเกษตรกรแต่ละรายช่วยกันทำที่เก็บกักน้ำในพื้นที่ตนเอง จะทำให้เกษตรกรกักเก็บน้ำและบริหารน้ำไว้ใช้เอง ไม่ต้องรอจากส่วนกลางคือรัฐบาล หรือกรมชลประทานเพียงอย่างเดียว พื้นที่บริเวณนั้นก็จะชุ่มชื้นเขียวชะอุ่มตลอดปี

ทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 2

เมื่อเกษตรกรเข้าใจในหลักการและได้ปฏิบัติในที่ดินของตนจนได้ผลแล้ว ก็ต้องเริ่มทำในขั้นที่สอง คือให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูปกลุ่ม หรือสหกรณ์ ร่วมแรงร่วมใจกันดำเนินการในด้าน

  • การผลิต (พันธุ์พืช เตรียมดิน ชลประทาน ฯลฯ) เกษตรกรจะต้องร่วมมือในการผลิต โดยเริ่ม ตั้งแต่ขั้นเตรียมดิน การหาพันธุ์พืช ปุ๋ย การจัดหาน้ำ และอื่นๆ เพื่อการเพาะปลูก
  • การตลาด (ลานตากข้าว ยุ้ง เครื่องสีข้าว การจำหน่ายผลผลิต) เมื่อมีผลผลิตแล้ว จะต้องเตรียมการต่างๆ เพื่อการขายผลผลิตให้ได้ประโยชน์สูงสุด เช่น การเตรียมลานตากข้าวร่วมกัน การจัดหายุ้งรวบรวมข้าว เตรียมหาเครื่องสีข้าว ตลอดจนการรวมกันขายผลผลิตให้ได้ราคาดีและลดค่าใช้จ่ายลงด้วย
  • การเป็นอยู่ (กะปิ น้ำปลา อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ) ในขณะเดียวกันเกษตรกรต้องมีความเป็นอยู่ที่ดีพอสมควร โดยมีปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่น อาหารการกินต่างๆ กะปิ น้ำปลา เสื้อผ้า ที่พอเพียง
  • สวัสดิการ (สาธารณสุข เงินกู้) แต่ละชุมชนควรมีสวัสดิภาพและบริการที่จำเป็น เช่น มีสถานีอนามัยเมื่อยามป่วยไข้ หรือมีกองทุนไว้กู้ยืมเพื่อประโยชน์ในกิจกรรมต่างๆ ของชุมชน
  • การศึกษา (โรงเรียน ทุนการศึกษา) ชุมชนควรมีบทบาทในการส่งเสริมการศึกษา เช่น มีกองทุนเพื่อการศึกษาเล่าเรียนให้แก่เยาวชนของชมชนเอง
  • สังคมและศาสนา ชุมชนควรเป็นที่รวมในการพัฒนาสังคมและจิตใจ โดยมีศาสนาเป็นที่ยึดเหนี่ยว

โดยกิจกรรมทั้งหมดดังกล่าวข้างต้นนี้ จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าส่วนราชการ องค์กรเอกชน ตลอดจนสมาชิกในชุมชนนั้นๆ เป็นสำคัญ

king theory 2

ทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 3

เมื่อดำเนินการผ่านพ้นขั้นที่สองแล้ว เกษตรกร หรือกลุ่มเกษตรกรก็ควรพัฒนาก้าวหน้าไปสู่ขั้นที่สามต่อไป คือติดต่อประสานงาน เพื่อจัดหาทุน หรือแหล่งเงิน เช่น ธนาคาร หรือบริษัท ห้างร้านเอกชน มาช่วยในการลงทุนและพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ ทั้งฝ่ายเกษตรกรและฝ่ายธนาคาร หรือบริษัทเอกชนจะได้รับประโยชน์ร่วมกัน กล่าวคือ

  • เกษตรกรขายข้าวได้ราคาสูง (ไม่ถูกกดราคา)
  • ธนาคารหรือบริษัทเอกชนสามารถซื้อข้าวบริโภคในราคาต่ำ (ซื้อข้าวเปลือกตรงจากเกษตรกรและมาสีเอง)
  • เกษตรกรซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคได้ในราคาต่ำ เพราะรวมกันซื้อเป็นจำนวนมาก (เป็นร้านสหกรณ์ราคาขายส่ง)
  • ธนาคารหรือบริษัทเอกชน จะสามารถกระจายบุคลากร เพื่อไปดำเนินการในกิจกรรมต่างๆ ให้เกิดผลดียิ่งขึ้น

หลักการและแนวทางสำคัญ

  • เป็นระบบการผลิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงที่เกษตรกรสามารถเลี้ยงตัวเองได้ในระดับ ที่ประหยัดก่อน ทั้งนี้ ชุมชนต้องมีความสามัคคี ร่วมมือร่วมใจในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำนองเดียวกับการ “ลงแขก” แบบดั้งเดิม เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการจ้างแรงงานด้วย
  • เนื่องจากข้าวเป็นปัจจัยหลักที่ทุกครัวเรือนจะต้องบริโภค ดังนั้น จึงประมาณว่าครอบครัวหนึ่งทำนาประมาณ 5 ไร่ จะทำให้มีข้าวพอกินตลอดปี โดยไม่ต้องซื้อหาในราคาแพง เพื่อยึดหลักพึ่งตนเองได้อย่างมีอิสรภาพ
  • ต้องมีน้ำเพื่อการเพาะปลูกสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้ง หรือระยะฝนทิ้งช่วงได้อย่างพอเพียง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องกันที่ดินส่วนหนึ่งไว้ขุดสระน้ำ โดยมีหลักว่าต้องมีน้ำเพียงพอที่จะเพาะปลูกได้ตลอดปี

ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญและลานีญา ทำให้สภาพอากาศแปรปรวน ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล และฝนส่วนใหญ่ก็ตกท้ายเขื่อน ซึ่งตั้งแต่ปี 2541 ฝนตกน้อยลงเพียงรัอยละ 6 แต่ในปีที่ผ่านมากลับตกติดลบถึงร้อยละ 15

การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ เป็นแนวคิดที่ทำได้ง่าย และชุมชนสามารถเริ่มต้นได้ทันที แต่ให้ผลลัพธ์ที่แก้ปัญหาในพื้นที่โดยตรงในระยะยาว จึงอยากให้ภาครัฐ เอกชนและชุมชนทั่วประเทศมีการแก้ปัญหาในพื้นที่ของตนก่อน ต่างคนต่างทำก็จะกลายเป็นโครงการขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ ก็จะสามารถบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งในระดับประเทศได้แน่นอน

พลิกแผ่นดินอีสานเป็นทอง "โครงการโขง เลย ชี มูล" ที่ถูกต้านจาก NGO ประชาชนจะตายก็ช่างหัวมัน ใช่ป่ะ?

พี่น้องชาวอีสานอ่านแล้วพิจารณาเอาเอง ผมไม่ตัดสินหรือฟันธงหรอกครับ แล้วไปแสดงความเห็นกันได้

 

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)