คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
สภาพอากาศในเขตตัวเมืองอุบลราชธานี ค่าฝุ่นโดยรวมวันนี้อยู่ที่ 172 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มีผลกระทบต่อสุขภาพ) ส่วนค่าฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 อยู่ที่ 79 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มีผลกระทบต่อสุขภาพ) ตอนนี้อันตรายอยู่ที่ทางภาคเหนือ เชียงราย (310) แม่ฮ่องสอน (305) แต่อุบลราชธานีก็ยังครองอันดับ 1 ในภาคอีสาน ลดจากสีแดงมาอยู่ในเกณฑ์สีส้มอยู่จังหวัดเดียว คงต้องช่วยกันงดเว้นการเผาป่า ซังตอข้าว วัชพืช เพื่อฟื้นสภาพอากาศดีๆ กลับคืนมา และยืนยันว่าที่พากันฉีดน้ำแบบข้างล่างนี่ไม่ช่วยอะไร
ใครที่สั่งให้ลูกน้องทำอย่างนี้ กลับไปอ่านหาความรู้ให้มากกว่านี้นะ ว่ามันมีประโยชน์อะไรหรือเปล่า?
พอน้องหนาวกลับไป อุบลราชธานีบ้านผมก็ขึ้นแท่นอันดับ ๑ ในเรื่องสภาพอากาศเลวร้ายทันทีในวันนี้ (23 กุมภาพันธ์ 2564) อันเป็นผลจากการเผาตอซังข้าวในนากันเป็นจำนวนมากในช่วงเวลานี้ เมื่อเช้าตื่นขึ้นมานึกว่ามีหมอกลง เพราะอากาศเย็น ที่ไหนได้มันเป็นฝุ่นควันชัดๆ เลย ยิ่งสายก็ยิ่งมีผลสูงขึ้นผสมโรงด้วยฝุ่นจากการก่อสร้างขุดอุโมงค์ข้ามแยก 2 แยกใหญ่ในตัวเมือง ปริมาณฝุ่นควันวัดก่อนเขียนบทความนี้เวลา 18.30 น. ค่าฝุ่นโดยรวมอยู่ที่ 236 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (เป็นอันตรายต่อสุขภาพ) ส่วนค่าฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 อยู่ที่ 126 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มีผลกระทบต่อสุขภาพ)
ท่านที่ต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งต่างๆ ทั้งการออกกำลังกาย การทำงานในที่โล่ง ก็ระมัดระวังตัวกันนะครับ สวมหน้ากากผ้าไม่ใช่กันแต่โควิด-19 นะ กันฝุ่นตัวร้ายนี้ด้วย แนะนำติดตั้งแอป Air4Thai ในมือถือตรวจสอบสภาพอากาศกันก็ดีครับ
ภาพถ่ายอากาศ เวลา 07.49 น. เช้าวันนี้ (18 กุมภาพันธ์ 2564) เขตอากาศหนาวที่เส้น 1020 แผ่ลงมาถึงจังหวัดบึงกาฬ แล้วแผ่ซึมๆ ลงมาจนถึงภาคใต้ตอนบนๆ มีลมแรงขึ้น มีอากาศเย็นสบายๆ ไปจนถึงวันที่ 21 กุมภาพันธ์ น้องหนาวก็จะขยับเดินทางกลับประเทศจีน แล้วเราก็จะสัมผัสฤดูร้อนเป็นทางการในเร็วๆ นี้ แต่... ร้อนปีนี้จะมีฝนตกเป็นพักๆ ระวังพายุฤดูร้อนกันด้วยนะครับ ในปีนี้คงไม่ต้องเตือนกันซ้ำสอง ซ้ำสามดอกนะครับ แล้งมาเยือนแน่ๆ และอาจยาวนานจนขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภคกันแน่ๆ ดังนั้น การทำการเกษตรในช่วงหน้าแล้งนี้ต้องปลูกพืชใช้น้ำน้อย เพื่อให้เหลือน้ำไว้ใช้อาบ ใช้กิน ของทั้งของคนและสัตว์เลี้ยงอีกด้วย
เรื่องการทำการเกษตรในดินแดนอีสานบ้านเฮานั้น หลังจากถูกละเลยทอดทิ้งไป ก็กลับมาบูมอีกครั้งกับรูปแบบของ "เศรษฐกิจพอเพียง" หรือ "เกษตรแบบผสมผสาน" หรือจะเรียกหรูๆ ก็ต้อง "โคก หนอง นา โมเดล" หลังจากที่ฅนอีสานบ้านเราได้ถูกหลอกล่อด้วยแผนพัฒนาประเทศ ตั้งแต่ฉบับที่ 1 ถึงฉบับที่ 7 ที่เอาเงินเป็นตัวตั้ง (ด้วยเชื่อว่า เงิน จะเสกความสุขทุกอย่างมาให้) และแผนนี้ก็ประสบความสำเร็จในการหลอกล่อให้คนอยากได้เงินเร็วๆ มากๆ และง่ายๆ พ่อแม่สมัยก่อนนู้น! จะสอนให้ลูกหาอยู่หากิน เช้าขึ้นมาต้องไปไร่ไปนาหาผักหาปลา แต่ทุกวันนี้สอนให้ไปหาเงินทำอะไรก็ได้ที่จะกอบโกยเงินได้เยอะๆ เพื่อที่ตื่นเช้าขึ้นมาจะได้มีเงินซื้อของที่เอามาขายในหมู่บ้าน ซื้อแม้กระทั่งตะไคร้ ใบมะกรูด ที่เราสามารถปลูกเองได้นี่แหละ
และมีแต่ความคิดอยากแต่จะไปแสวงโชคในกรุงเทพฯ แล้วทิ้งลูกไว้ให้อยู่กับปู่ย่า-ตายาย คนที่อยู่ทางบ้านก็ไม่ได้ตั้งใจอบรมสั่งสอนลูกหลาน ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของครูที่โรงเรียน ฝากความหวังไว้ที่ครู (ได้ยังไง ลูกครูก็มี แล้วยังต้องมารับผิดชอบลูกคนอื่นอีกนับสิบ จะได้ผลหรือ?) พอลูกโตก็ให้ลูกไปเป็นกรรมกรในเมือง วนเวียนกันอยู่แบบนี้ วิถีชีวิตแบบนี้อทำให้ครอบครัวแตกกระจาย ชุมชนล่มสลาย ลืมรากเหง้าทางวัฒนธรรมของตนเอง ละเมิดศีลธรรม และทะเลาะวิวาทกันเป็นประจำ จากการที่จน เครียด กินเหล้า!
พอเจ้า "โควิด-19" ระบาดมาในช่วงปีสองปีมานี้ หลายคนตกงานจากเมืองใหญ่ที่เศรษฐกิจอาศัยการท่องเที่ยวเป็นหลัก หวนคืนสู่บ้านเกิดแล้วได้พบความจริงว่า "ท้องนาที่บอกกันนักหนาว่าแห้งแล้ง กลับมีอาหารเลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้ แม้ไม่มีเงินในกระเป๋าสักบาทเดียว" ทุกคนก็ได้ถึง บางอ้อ! บางที่พ่อแม่เราเคยสอนให้ลูกปลูกทุกอย่างที่อยากกิน ไม่ต้องซื้อหา มีปลาในน้ำในหนองในนา มีไก่ เป็ดที่เลี้ยงไว้ในเล้าข้างบ้าน ประทังชีวิตที่หิวโหยอดอยากมากคุณค่าทางอาหาร ที่ไม่ใช่ปลากระป๋อง หรือเศษขนมปังแห้งๆ ในร้านสะดวกซื้อ
ในช่วงนี้ ทีมงานเว็บไซต์อีสานบ้านของเฮาจึงเน้นลงไปที่การนำเสนอเรื่องราวของ "ปราชญ์ชาวบ้านแดนอีสาน" ภูมิปัญญาจากคนบ้านๆ ที่ค้นพบความจริง ความสุข หลังจากที่หลงทิศหลงทางไปกับเหล่าอบาย และการโฆษณาชวนเชื่อจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจตกสะเก็ด ตั้งแต่สมัยเพลงผู้ใหญ่ลีโด่งดังไปทั่วบ้านทั่วเมือง ที่พวกเราฟังแล้วขำมีความสุข แต่เพิ่งจะมาเข้าใจความหมายกันจริงๆ จังๆ ก็ล่วงมา พ.ศ. 2564 แล้ว นานไปไหม?
"หลุมขนมครก" ศาสตร์พระราชา "สู้ภัยธรรมชาติ"
60 ปีที่ผ่านมา ถ้าจะบอกว่านานมันก็นานแหละ ทั้งๆ ที่มีพ่อคนหนึ่งท่านพูดเรื่องนี้ใส่หูลูกๆ ของท่านในทุกๆ วันที่ 4 ธันวาคมของทุกปี ว่า "ให้พอเพียง ประมาณตน ปลูกทุกอย่างที่อยากกิน เลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจที่ให้คุณแก่ครัวเรือน ขุดสระกักเก็บน้ำ อย่าหวังพึ่งแต่ฟ้าฝน เราจะมีอยู่มีกินไม่อดตาย" แล้วความจริงก็พิสูจน์ให้เห็นกันแล้วในทุกวันนี้
ก็ได้แต่หวังว่า "คนอีสานบ้านเฮาจะกลับมา กลับบ้านเกิดเพื่อพัฒนามรดกของปู่ย่า ตายายของเรา ให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ ด้วยการสร้างพื้นที่ทำกิน ปลูกป่า ปลูกข้าว ปลูกผัก ผลไม้ เลี้ยงสัตว์อาหารทั้ง หมู เป็ด ไก่ ปลา กบ เขียด หอย สร้างแหล่งเก็บน้ำ คืนความชุ่มชื้น เขียวขจีให้กับอีสานบ้านเกิดของเรา ยังไม่สายที่เราจะเริ่มต้นในวันนี้" ศึกษาหาองค์ความรู้เพื่อจัดทำให้ประสบผลสำเร็จ ลองดู 2 คลิปนี้เป็นแนวทางนะครับ
อาชีพใหม่ "นักจัดการน้ำแล้ง"
มารู้จักกับ “เป็นนักปลูกตัวยง”
อ่านใน Facebook ของเพื่อนๆ บางท่านบอกว่า "เดี๋ยวเกษียณแล้วจะไปทำไร่นา พร้อมโชว์รูปไร่นาสวนผสมตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง" บางเพจก็ตอบสนองทันที โดยการลงรูปประกอบเป็น กระท่อมปลายนา มีสระน้ำ บ่อเลี้ยงปลา แปลงผัก และต้นไม้เขียวขจี เพื่อขายให้คนมีกะตังค์ผู้สนใจหลังเกษียณ ซึ่งพ่อผมเป็นครู และทำนา ทำสวนมาตลอดชีวิต สอนผมไว้ว่า
อย่าคิดทำอะไรหลังเกษียณ เพราะเมื่อถึงเวลานั้น จะไปโรงพยาบาล ก็ต้องให้ลูกพาไป ไปเองยังไม่ได้เลย ดังนั้น ถ้าอยากทำ ให้ทำตอนมีเรี่ยวแรง "
เพราะ ชีวิตหลังเกษียณต้องดูแลสุขภาพตัวเอง หรือบางทีต้องหาคนมาดูแลด้วยซ้ำ และที่เน้นมาตลอดก็คือ "ที่อยู่ตอนแก่ไม่ใช่กระท่อมปลายนา แต่ต้องเป็นบ้านที่รถกู้ภัยเข้าถึงได้ และมีสัญญานโทรศัพท์ กรณีฉุกเฉิน 1669 อย่าฝันหวาน ตามโลกโซเชียล นะครับ"
Cr. Namom Thoongpoh
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)