คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศการย่างเข้าสู่ฤดูหนาวแล้วนะครับ ทางอุบลฯ กระท่อมน้อยฮิมมูลของอาวทิดหมู มีลมหนาวพัดมาวอยๆ หัวลมอ่วยแล้วครับ แต่ก็ต้องเฝ้าระวังน้ำที่มาจากทางแม่น้ำชีและแม่น้ำมูลตอนบนระลอกแรกมาถึงแล้ว ต้นเดือนหน้าคงเป็นน้ำระลอกสองมาถึง คงท่วมแค่ริมฝั่งมูลที่ลุ่มต่ำเท่านั้น เพราะระดับแม่น้ำโขงยังต่ำอยู่ การระบายน้ำลงโขงเป็นไปด้วยดีครับ สำหรับพยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ประกอบกับมีลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ส่งผลให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง และมีฝนตกหนักบางแห่งในภาคใต้
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 30 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดเลย ชัยภูมิ ขอนแก่น และนครราชสีมา อุณหภูมิต่ำสุด 22-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจาก เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา
น้ำท่วมในภาคอีสานทางตอนต้นน้ำ แม่น้ำชี ต้นทางจากน้ำหลากจากจังหวัดชัยภูมิ และแม่น้ำมูล ต้นทางจากน้ำที่ท่วมในจังหวัดนครราชสีมา ขณะนี้กำลังไหลลงมาทางปลายน้ำที่จังหวัดอุบลราชธานี ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำโขง สถานการณ์ระดับน้ำที่อุบลราชธานีจะวัดที่ จุดตรวจวัดระดับน้ำ M7 เชิงสะพานรัตนโกสินทร์ 200 ปี (ฝั่งอำเภอวารินชำราบ) ระดับน้ำทะเลปานกลางอยู่ที่ 112.46 เมตร ซึ่งจะแสดงระดับน้ำในแต่ละวัน โดยทางกรมชลประทานจะปัก "ธงแดง" เพื่อให้ชาวบ้านที่อาศัยริมฝั่งแม่น้ำมูลทราบ เมื่อระดับน้ำวิกฤตที่ระดับ 8.00 เมตร น้ำจะเริ่มล้นตลิ่ง ให้ประชาชนเตรียมนย้ายสิ่งของอพยพขึ้นที่สูง ให้พ้นจากแนวน้ำท่วม (สถิติน้ำท่วมใหญ่ปี 2545 อยู่ที่ระดับ 10.78 เมตร, ปี 2554 อยู่ที่ระดับ 9.60 เมตร และล่าสุดในปี 2562 อยู่ที่ระดับ 10.95 เมตร)
กลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา พายุ 'เตี้ยนหมู่' ที่พัดผ่านเวียดนาม สปป.ลาว เข้ามาพาดผ่านภาคอีสานตอนเหนือของไทย ไปหมดฤทธิ์อีกทีเมื่อจะข้ามเข้าสู่ภาคเหนือ ก็ได้ทิ้งมวลน้ำมากมายหมหาศาลทำให้เกิดน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง ทั้งในเขตภาคเหนือ อีสานและที่ราบลุ่มภาคกลาง แม้อิทธิพลของพายุฝนได้เบาบางลงไปแล้วแต่... มวลน้ำอันมากมายมหาศาลยังจะไหลลงไปสู่ที่ต่ำตามธรรมชาติ จังหวัดที่อยู่ทางใต้ของปลายสายน้ต่างๆ ำต้องเตรียมตัวระมัดระวังกับภัยพิบัติในครั้งนี้
และพอมีภัยพิบัติแบบนี้ก็ย่อมสร้างความวิตกหวาดกลัวต่อประชาชนจำนวนมาก ในยุคสังคมข่าวสาร สื่อโซเชียลเจริญเติบโต ใครๆ ก็สามารถตั้งตนเป็น 'เจ้ากรมข่าวลือ' ได้ด้วยโทรศัพท์มือถืออันเดียว ถ่ายคลิป ตัดต่อเอาข่าวเก่าๆ มาพล่าม มาแชร์ ผ่าน Facebook, Line กันได้ง่ายๆ แล้วความวิตกที่ครอบงำอยู่ก็ออกฤทธิ์ ทำการแชร์ระบาดเป็นวงกว้างทันที่ บรรดาคนที่บอกว่า 'ตนอาบน้ำร้อน' มาก่อนก็มักจะงับและแชร์ว่อนก่อนใคร ขาดการพิจารณามากที่สุดเพราะอ่อนด้อยประสบการณ์ในสังคมเสมือน ไม่เหมือนเด็กๆ ที่เขาเล่นกันมานานโดนหลอกมาเยอะ เจ็บมาแยะ จึงไม่เชื่อใครง่ายๆ จึงขอฝากมายังบรรดา 'สว' ทั้งหลายโปรดมีสติสักหน่อย เปิดดูคำพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ตรวจสอบก่อนกดไลค์ กดแชร์หน่อยนะ
กรมป้องกันและและบรรเทาสาธารณภัย ได้แถลงข่าวอุทกภัยจากพายุเตี้ยนหมู่ว่า ในขณะนี้มีอีก 23 จังหวัดที่กำลังเผชิญกับปัญหาอุทกภัย แบ่งเป็นภาคเหนือ 6 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ลุ่มแม่น้ำชี 3 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ลุ่มแม่น้ำมูล 5 จังหวัด ภาคตะวันออก 2 จังหวัด และภาคกลาง 10 จังหวัด โดยจังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิดมี 4 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา, ลพบุรี, นครสวรรค์ และชัยภูมิ
ทั้งนี้ นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจดการน้ำอย่างบูรณาการ ได้กล่าวถึงการเคลื่อนที่ของมวลน้ำที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ ตามภาพใหญ่ว่าจะมีการเคลื่อนตัวไปอย่างไร ตามลุ่มน้ำต่างๆ ของประเทศตอนนี้
นายหาญณรงค์ชี้ว่า ขณะนี้น้ำที่ท่วมอยู่ในตัวเมืองชัยภูมิจะค่อยๆ ลดแล้วไหลงลงแม่น้ำชี ก่อนเดินทางไปต่อผ่านจังหวัดขอนแก่น, มหาสารคาม, ร้อยเอ็ด, ยโสรธร และไหลรวมกับแม่น้ำมูล ในเขตอำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ
ขณะที่ทางด้านน้ำที่ท่วมจากจังหวัดนครราชสีมา จะไหลลงแม่น้ำมูล ก่อนเดินทางไปต่อในจังหวัดบุรีรัมย์, สุรินทร์ และรวมกับแม่น้ำชีที่ อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษเช่นกัน
ในจังหวัดศรีสะเกษ จะเป็นพื้นที่ที่รับน้ำที่ไหลมาจากแม่น้ำทั้งสองสาย (แม่น้ำชี-แม่น้ำมูล) มารวมกันในแม่น้ำมูล ก่อนจะเดินทางต่อไปถึงเขตอำเภอวารินชำราบ ในจังหวัดอุบลราชธานี ก่อนไหลต่อสู่เขื่อนปากมูล และแม่น้ำโขงต่อไป (อย่าลืมว่า ยังมีแม่น้ำสายสำคัญอย่าง ลำน้ำยัง จังหวัดยโสธร และลำเซบก ลำเซบาย ที่มีมวลน้ำมาจากทางจังหวัดอำนาจเจริญ มาสมทบด้วย)
ทั้งนี้ สิ่งที่น่าห่วงในทางเดินน้ำสายนี้คือ เมื่อมวลน้ำเดินทางมารวมกันบริเวณ อำเภอวารินชำราบ (ใกล้ๆ กับกระท่อมน้อยฮิมมูลของอาวทิดหมูนั่นเอง อยากขอแฮงมาส่อยกันยกที่นอนหมอนมุ้งกับโอ่งมังกรแหน่เด้อครับ) อาจจะทำให้มวลน้ำมีปริมาณมหาศาลและเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ริมน้ำจังหวัดอุบลราชธานีได้
นายหาญณรงค์ชี้ว่า ทั้งสองจังหวัดมีแม้น้ำป่าสักไหลผ่าน และเมื่อเดินทางถึงจังหวัดลพบุรีจะมีเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งมีพื้นที่เก็บน้ำทั้งหมด 960 ล้านลบ.ม. (ขณะนี้ใช้ไปแล้วราว 70% ของความจุ) ตั้งอยู่ ซึ่งสามารถชะลอการไหลของน้ำได้ ก่อนที่จะไหลผ่านจังหวัดสระบุรี และลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณจังหวัดอยุธยา และเข้ากรุงเทพและปริมณฑลก่อนหาทางออกสู่อ่าวไทยต่อไป
ในจุดนี้ หาญณรงค์บอกว่าความกังวลหนึ่งคือ ฝนที่ตกอยู่ท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งอาจทำให้น้ำไม่สามารถกักน้ำไว้ที่เขื่อนก่อนไปรวมที่จังหวัดอยุธยาได้มากนัก
ในจังหวัดนครสวรรค์ซึ่งเป็นที่ตั้งของ 'ปากน้ำโพ' หรือจุดที่แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน จากภาคเหนือไหลมารวมกันเกิดเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา โดยน้ำที่ท่วมในจังหวัดนครสวรรค์ ตาก กำแพงเพชร และอุทัยธานี จะเดินทางเป็น 2 สาย
สายแรกจากตาก กำแพงเพชร และนครสวรรค์จะไหลลงสู่ ตำบลปากน้ำโพ ผ่านจังหวัดอุทัยธานี และเข้าเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ซึ่งสามารถควบคุมน้ำได้อีกต่อหนึ่ง ก่อนปล่อยน้ำให้เดินทางไปจังหวัดสิงห์บุรี และอ่างทอง ก่อนไปรวมกับน้ำจากแม่น้ำป่าสักที่จังหวัดอยุธยา ก่อนเข้ากรุงเทพฯ และปริมณฑลออกสู่อ่าวไทยต่อไป
อีกด้านหนึ่ง นายหาญณรงค์ชี้ว่า บางอำเภอในกำแพงเพชร นครสวรรค์ และอุทัยธานี จะมีแม่น้ำสะแกรกรังอีกสายหนึ่งไหลผ่าน โดยมันจะไหลออกทางจังหวัดอุทัยธานี ก่อนมารวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา และไหลต่อสู่เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ก่อนเดินทางต่อไปจนออกอ่าวไทยเช่นเดียวกัน
ในปีนี้ จังหวัดสุโขทัยเผชิญวิกฤตน้ำท่วมด้วยสาเหตุที่ต่างจากเดิม กล่าวคือ แม่น้ำยมไม่ได้ท่วมล้นตลิ่ง และกรมชลประทานสุโขทัยให้สาเหตุน้ำท่วมปีนี้ว่า “เกิดจากฝนตกหนักจนเกิดการท่วมขังในพื้นที่ และน้ำจากอำเภอใกล้เคียงทางฝั่งตะวันตก เช่น อำเภอทุ่งเสลี่ยม อำเภอบ้านด่านลานหอย ไหลหลากมาสมทบจำนวนมาก”
นายหาญณรงค์ชี้ว่า สาเหตุอีกประการที่ทำให้สุโขทัยน้ำท่วมในพื้นที่แปลกไปจากเดิมคือ การสร้างผนังกั้นน้ำสูง 3 เมตร ซึ่งในแง่หนึ่งก็ช่วยไม่ให้แม่น้ำยมล้นตลิ่งไหลท่วมเมือง แต่อีกด้านหนึ่งก็ทำให้น้ำต้องเปลี่ยนทิศทางการไหล
โดยหลังจากที่ไหลเข้าสู่แม่น้ำยมในอำเภอได้แล้ว มันจะเดินทางสู่จังหวัดพิษณุโลก และไปไหลหลวมกับแม่น้ำน่านที่นครสวรรค์ และบรรจบกับแม่น้ำปิงและวังที่ไหลมาจากตากและกำแพงเพชรในอีกด้านหนึ่ง ก่อนไหลรวมกลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านอุทัยธานี เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี, อ่างทอง และไปชนกับแม่น้ำป่าสักที่อยุธยา ก่อนไหลสู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล และหาทางออกสู่อ่าวไทยต่อไป
สถานการณ์น้ำท่วมในปี 2564 นี้ ทำให้หลายคนหวนนึกย้อนหลังไปเมื่อ 10 ปี่ที่แล้ว ที่เราเรียกกันว่า "มหาอุทกภัย 2554" ที่มีน้ำท่วมเป็นวงกว้างถึงกับการจราจร-ขนส่ง เป็นอัมพาตไปทั่วประเทศ แม้แต่สนามบิน "ดอนเมือง" ที่เป็นที่ดอนน้ำยังท่วมเลย เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจโดยรวมมากกว่าห้าแสนล้านบาท เราจะป้องกันน้ำท่วมได้ไหม? เป็นคำถามที่ก้องขึ้นมาทุกปี ถ้าจะตอบแบบกำปั้นทุบดินก็ต้องบอกว่าไม่ได้ดอก แต่เราอาจจะวางแผนป้องกันให้มีผลกระทบลดลงได้ด้วยข้อมูลที่มี จากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ก้าวหน้าไปมาก เราสามารถพยากรณ์พายุ ฟ้าฝนล่วงหน้าได้พอควรทีเดียว ประเทศไทยเรายังดีกว่าประเทศฟิลิปปินส์ที่มีพายุไต้ฝุ่นระดับรุนแรงปีละหลายสิบลูก พายุโซนร้อน ดีเปรสชั่นอีกปีละนับร้อยลูก และดีกว่าประเทศเวียดนามที่เป็นด่านหน้าเราที่โดนปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 15 ลูกเลยทีเดียว
แม้ว่าจะผ่านมา 10 ปีแล้วกับ 'มหาอุทกภัย 2564' เราต้องเตรียมความพร้อม และถอดบทเรียนจากปี 2554 ด้วยการสร้างจุดกักน้ำไม่ว่าจะเป็นฝาย เขื่อน หรืออะไรต่อมิอะไรแล้ว เราก็ยังจะต้องปรับตัวอยู่กับน้ำเช่นกัน ทั้งฝ่ายของประชาชนและหน่วยงานราชการ เราจะต้องปรับตัวให้อยู่กับน้ำให้ได้ เปลี่ยนวิธีคิดหรือ Mindset เสียใหม่ ต้องมีการจัดการในหลายมิติ เราจะอยู่กับน้ำท่วมได้อย่างไร ถ้ามีภัยแล้งเราจะเก็บกักน้ำให้พอใช้ได้อย่างไร การสร้างเขื่อน สร้างฝาย ไม่ได้สร้างไว้ป้องกันน้ำท่วม เพราะถ้าหน่วยงานราชการไปบอกแบบนี้ ชาวบ้านก็จะบอกว่า ต่อไปนี้ฉันจะสร้างบ้านชั้นเดียวก็พอแล้ว อยู่ได้แล้ว ซึ่งมันไม่ใช่อย่างนั้นนะพี่น้อง
โบราณนานมา "คนไทย" เราอยู่บ้านใต้ถุนสูง ด้านล่างได้ใช้ประโยชน์ต่างๆ บันไดมีชานพัก แต่สมัยนี้ด้วยความจำกัดของทรัพยากรที่มีจำกัด หายาก ราคาแพง การก่อสร้างจึงใช้วัสดุที่เป็นคอนกรีตที่หาง่ายราคาถูกกว่าไม้ จึงได้บ้านชั้นเดียวไม่มีใต้ถุน ถ้าอยากจะให้ปลอดภัยหนีน้ำได้ในฤดูน้ำหลาก เราสามารถประยุกต์ได้นะด้วยการใช้วัสดุสมัยใหม่เช่น ปูนซีเมนต์ เหล็กและไม้เทียม ดังภาพด้านขวามือนี่ไง ใช้ท่อซีเมนต์ใส่เหล็กเส้นผูกเป็นโครงด้านในเทคอนกรีตให้เต็มเป็นเสา ตง คานเป็นโครงเหล็ก ปูและทำผนังบุด้วยไม้เทียม งดงามตามสมัยราคาถูกทนทานด้วย
การจะทำอะไรก็ตามเราอย่ามองที่ภาพลวงตาว่า นั่นคือ ความเจริญ ความศิวิไลซ์ การสร้างถนนหนทางให้เดินทางสะดวกได้ก็อย่าไปขวางทางน้ำ ต้องมีช่องทางให้เขาได้ระบายไปตามธรรมชาติของเขา ให้ระบายได้เร็วและเพียงพอ การถมที่ทางสร้างตึกสูงใหญ่ มีศูนย์การค้าก็ต้องดูว่า นั่นมันเป็นแก้มลิงรับน้ำไหม ถ้าใช่อยากสร้างเราควรจะทำอย่างไร จะมีสระรับน้ำ มีพื้นที่สาธารณะใช้งานในยามแล้งแล้วเป็นที่รับน้ำในยามหน้าฝนดีไหม ต้องคิดในหลายมิติมากขึ้น
ผมก็ไม่ใช่พวกขวางโลกดอกนะครับ ก็อยากให้ประเทศชาติเจริญ มีความศิวิไลซ์ทัดเทียมกับประเทศอื่นๆ แต่ก็ไม่อยากให้ประชาชนตาดำๆ เดือดร้อนกันมากกว่านี้ ผู้มีอำนาจในการบริหารบ้านเมืองก็รับฟังประชาชนหน่อยก็แล้วกัน ยิ่ง "นักการเมือง" ที่ชอบอ้างทำเพื่อประชาชนนั้น พวกท่านได้ทำอะไรบ้างที่ประชาชนแซ่ซ้องสรรเสริญ เห็นแต่ลงไปแสวงหาผลประโยชน์บนคราบน้ำตาประชาชนกันเสียมาก แก้มลิง-ที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันท่านก็ไปฉ้อฉล ออกโฉนดทับขายให้นายทุน นำมาถมสร้างศูนย์การค้าจนน้ำท่วมกระจายไปเป็นวงกว้าง นี่เพื่อประชาชนหรือ?
น้ำท่วมปี พ.ศ. 2562 เลี่ยงเมืองอุบลราชธานี
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)