คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
อยู่ในปัจจุบันแม้นจะโหยหาอดีตเพียงใดก็ควรครุ่นคิดว่า "อีสานวานนี้-วันนี้ ที่ไม่เหมือนเดิม" อีกแล้ว ไม่ต้องไปกู่ก้องเรียกร้องอะไรกับใคร เพราะสิ่งที่เราเห็นมันคือปัจจุบันที่ทำลายอดีตไปแล้ว ด้วยน้ำมือของพวกเราเองนี่แหละ จะไปโทษใครได้เล่า ที่หยิบเรื่องนี้มาเขียนมาพูดก็เพราะด้วยความรู้สึกจากการที่ได้พบเห็นในข่าว ทั้งจากสื่อวิทยุโทรทัศน์ สื่อสังคมออนไลน์ และจากปากพวก "ขี้กลากกินเมือง" (เรียกตัวเองโก้ๆ ว่า "นักการเมือง") ทั้งหลายนั่นแหละ ที่คอยหยิบเอาประโยชน์ส่วนตนทำเป็นโปรยข้าวเปลือกไปทั่วสภา เรียกร้องรัฐให้เหลียวแล ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ไม่มีทางออกช่วยชาวบ้านได้ ไอ้กระจอก!
รู้ล่ะว่า "ทุกคนเดือดร้อน" ไม่สินะ แค่บางคนเท่านั้นเอง เราต้องแยกผู้คนในสังคมออกเป็นสามฝ่าย "ผู้ผลิต, ผู้บริโภค และพ่อค้าคนกลาง" ถ้ามองแบบนี้เมื่อสินค้าเกษตรราคาถูกหรือราคาตกต่ำ คนที่เดือดร้อนคือ ผู้ผลิต นั่นคือ เกษตรกร หรือชาวนา ชาวไร่ ชาวสวนนั่นแหละ แต่ผู้บริโภคทั้งหลายดีใจเพราะได้กินอิ่มในราคาที่ถูกลง จริงหรือ? ก็ไม่จริงแหละ เพราะผู้บริโภคซื้อมาในราคาที่สูงกว่าเกษตรกรขายมาก ผู้ที่ลอยตัวเหนือปัญหานี้คือ พ่อค้าคนกลาง ซึ่งได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง ไม่ว่าราคาสินค้าการเกษตรจะตกต่ำหรือมีราคาเพียงใด พวกเขาก็ได้ส่วนต่างเหล่านั้นอย่างคงเส้นคงวาเสมอ และมีอำนาจต่อรองเหนือกว่าคน 2 กลุ่มแรกด้วย เพราะเขามีทุนที่ครอบงำทุกสิ่งอย่างอยู่นั่นเอง ตั้งแต่ปัจจัยการผลิตที่ผู้ผลิตต้องมาหยิบยืมจากเขา ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ อาหารสัตว์ เผลอๆ ยังมาเช่าที่ดินจากเขาอีก เมื่อลงแรงเหนื่อยยากน้ำตาแทบกระเด็น มีผลผลิตออกมาเท่าไหร่ก็จำใจให้เขายึดเอาไปใช้หนี้ตามที่เขากำหนดราคา เถียงไม่ได้สักแอะเลยใช่ไหม?
มีเสียงแว่วๆ มาจากครูวีระ สุดสังข์ เมื่อวานนี้ (04-11-2564) คำถามสำหรับชาวนา
เพราะคำว่า "ชาวนา" อย่างนั้นหรือ? มีนาจึงทำแต่นา,
มีนาจึงปลูกแต่ข้าว ที่นานั่นแบ่งทำอย่างอื่นบ้างไม่ได้เลยหรือ?
- นาลุ่มแบ่งออกมาปลูกผักบุ้ง, ผักขะแญง, ผักกระเฉด ฯลฯ
- นาโคกแบ่งออกมาปลูกหญ้า, ปลูกกล้วย, พริก, พืชผักสวนครัว ฯลฯ
พากันปลูกแต่ข้าวจนข้าวล้นประเทศแล้วก็บ่นกัน
คำถามนี้แหละที่ทำให้ผมต้องหยิบยกมาเขียน มาบ่นกันในวันนี้ ไม่ได้มาซ้ำเติมใครนะครับเพราะผมก็ลูกชาวนา แม้ทุกวันนี้จะไม่ได้ทำนาแต่น้องชายและญาติคนอื่นๆ ก็ยังทำกันอยู่ เพียงแต่จะมาบอกว่า พวกเราเปลี่ยนความคิดชาวนาเมื่อครั้งปู่ย่าตายายในอดีตมาไกลมาก ไกลแค่ไหน? ถ้าย้อนกับไปก็คงตั้งแต่สมัยเพลง "ผู้ใหญ่ลี" โน่นแหละครับ [ อ่านบทความย้อนหลังได้ อาชีพ-เครื่องมือทำมาหากิน | อีสานกับความเปลี่ยนแปลง ] เราเชื่อในแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ต้องการเปลี่ยนให้คนไทยเลิกทำอาชีพเพื่อการพอมีพอกิน มาทำเพื่อขายให้มีรายได้มากขึ้น รวย รวย รวย แล้วสำเร็จไหมครับ?
จากคำถามข้างต้นนั้นก็มีผู้มาให้ความเห็นหลายคนรวมทั้งผมด้วย ทุกคนต่างก็มีเหตุผลในบริบทของความรู้ความเข้าใจที่ตนมี ไม่มีใครผิดเพียงแต่เราอาจจะมองกันคนละมุมเท่านั้น ถ้าเป็นมุมมองของ 'ความเกลียดชังทางการเมือง' ไม่ขอกล่าวถึงนะ เพราะตั้งแต่ผมรู้จักเติบโตมาจนเลยวัยเกษียณนี่ ยังไม่มีนักการเมืองที่ยื่นความรักจริงใจให้ราษฎรที่เลือกเขามาจริงจังเสียที "ไม่มีรัฐบาลชุดใดช่วยทำให้ราคาข้าวสูงขึ้นได้" ยกเว้น เอาภาษีของประชาชน (รวมชาวนา) ประกันราคาข้าวของชาวนา ให้ราษฎรเป็นหนี้เป็นสินบานตะเกียง มีคนติดคุกติดตะรางกันให้เห็นๆ อยู่
ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ด้านเกษตรกรรมแต่อย่างใด เพียงแต่เป็นคนชอบอ่านชอบศึกษาเรื่องราวต่างๆ ในสังคมไทยของเรา จึงรวบรวมวิธีการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ มานำเสนอเป็นแนวทาง โดยมีตัวอย่างของผู้ประสบผลสำเร็จในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ที่ปรับเปลี่ยน "วิถีเกษตรกรรมจากบรรพบุรุษ" มาสู่ "ยุคนวัตกรรม 4.0" ในทศวรรษนี้
ชาวนาสุรินทร์รวมกลุ่มสีข้าวหอมมะลิเอง
พ่อเลี่ยม บุตรจันทา : ปราชญ์ชาวบ้านผู้หักดิบหนี้
ตัวอย่างที่ดีมีค่ามากกว่าคำสอนนะครับ "ปราชญ์ชาวบ้าน" ผู้สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้เกษตรกรประเทศไทยได้ ผมได้รวบรวมมาไว้เป็นบทความประวัติน่ารู้ให้ท่านอ่านแล้ว คลิกไปอ่านที่เมนูด้านข้างซ้ายมือ "ปราชญ์ชาวบ้านการเกษตร" ลองศึกษาดูครับ
ในปัจจุบันมี 'ชาวนา' ตัวจริงมากเท่าไหร่ เพราะ... ที่เห็นนั้นเป็นเพียงมีที่ดินสักหน่อย
- ฝนตกมาก็โทรศัพท์เรียกรถไถให้มาทำงานไถพรวนดิน
- ไถนาเสร็จแล้วก็ยกโทรศัพท์เรียกคนมาหว่านข้าวลงในนา
- ทิ้งช่วงไปสักเดือนเศษๆ โทรเรียกคนหรือให้คนใช้ 'โดรน' บินมาพ่นยา ใส่ปุ๋ย
- ครบเวลารวงข้าวเหลืองเรียกรถเกี่ยวมาจัดการ ปั่นข้าวเปลือกใส่กระสอบทั้งเปียกๆ ไปส่งโรงสี
- โรงสีบอกข้าวมีความชื้นเกินไป 'ราคาตก' แหกปาก 'ชาวนาเดือดร้อน'
ผมยังมองไม่เห็นว่า "ใคร" คือ "ชาวนา" ในห่วงโซ่นี้เลยจริงๆ เมื่อไม่ใส่ใจในผลผลิตที่ตัวเองลงมือปลูก คุณภาพที่ได้ก็สะท้อนถึงราคาที่จำหน่ายนั่นแหละ เรามาทำนาเพื่อยังชีพด้วยการทำนาอย่างประณีตเถอะครับ ไม่ต้องใช้ที่นาผืนใหญ่มหาศาล จัดสรรที่ดินที่มีให้เกิดประโยชน์ปลูกพืชได้หลากหลายหมุนเวียนตามฤดูกาล แนะ! เห็นผักชีกิโลละ 400 บาท จะทิ้งที่นาแห่ไปปลูกผักชี เดี๋ยวก็ล่มจมอีกหรอก #ลุง นั่นก็เหมือนกัน ชาวสวนเขาเพิ่งจะขายได้แพงกิโลละ 400 จะมาสั่งให้ทหารปลูกเพื่อแทรกแซงราคา มันไม่ถูกนะ เข้าใจไหม? กลไกตลาด
คำถามจากหัวข้อข้างต้นนี้มีกระหึ่มทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคอีสานเลยทีเดียว จากสถานการณ์น้ำท่วมในช่วงฝนชุกๆ ที่ผ่านมา เราจะโทษใครได้ล่ะ! นอกจากตัวเราเองนี่แหละ "มนุษย์" ที่เป็นผู้กระทำทุกสิ่งให้เกิดขึ้นและยิ่งรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ พวกเราต่างมีข้ออ้างในเรื่องความเจริญ ความศิวิไลซ์กันมากเกินขอบเขต มันจึงสร้างปัญหาไม่สิ้นสุด มาดูกันเป็นข้อๆ เลยว่ามีอะไรบ้าง
นี่ผมพูดจริงๆ นะ เราลืมกำพีดในที่นี้คือถิ่นที่อยู่อาศัยของนั่นเอง โบราณนานมาเราจะสร้างบ้านใต้ถุนสูงอยู่อาศัยกันด้วยเหตุผลที่ว่า น้ำจะไม่ท่วมในหน้าฝน ในหน้าแล้งจะใช้เป็นที่ทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น การทอผ้า การทำเครื่องจักสาน เป็นที่เก็บอุปกรณ์ในการทำไร่นา บ้างก็เป็นคอกสัตว์ แต่สมัยผมเป็นเด็กบ้านนอกคอกวัว คอกคายเราจะสร้างไว้บนเนินสูงมีหลังคาคลุมอยู่นะ
แต่ในปัจจุบันนี้ไปเห็นชาวเมืองใหญ่เขามีบ้านทรงโมเดิร์นมันสวยดี เลยเอาบ้างตามเขาด้วยวัสดุหาง่าย (เหล็ก, คอนกรีต, ไม้เทียม, หลังคาเมทัลชีท) ราคาถูกกว่าในปัจจุบัน โดยลืมไปว่า บ้านเรานั้นมันที่ราบลุ่มต่ำ มีน้ำท่วมในหน้าฝนน้ำหลาก เมื่อน้ำมาจึงไม่รอด และอีกสาเหตุหนึ่งคือ การประชาสัมพันธ์เรื่องการสร้างฝาย สร้างเขื่อน ที่คุยขโมงว่า "มีเขื่อน มีฝายแล้ว เก็บกักน้ำได้ไว้ใช้ประโยชน์ในหน้าแล้ง ช่วยแก้น้ำท่วมในหน้าฝน" แต่ลืมคิดไปว่า ถ้าฝนมามากๆ น้ำล้นเขื่อน ล้นฝาย ควบคุมไม่ได้จะเป็นอย่างไร
ก็เป็นดังภาพบนนี่แหละครับ "ธรรมชาติ" ก็เป็นของมันเช่นนั้น น้ำย่อมไหลลงสู่ที่ต่ำ พลังของมันนั้นยากจะต้านทาน ถ้าเราไม่ปรับตัวให้ดำรงชีวิตอยู่กับมันให้ได้มันก็ลำบาก ฝนฟ้าอากาศ "ฤดูกาล" ก็เปลี่ยนแปลงไม่เหมือนเดิมแล้วจากสภาวะโลกร้อนที่เป็นไปทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทยแห่งเดียวดอกนะ ถ้าชอบความง่ายวัสดุราคาถูก การทำบ้านใต้ถุนสูงยุคใหม่ก็ไม่ได้แพงอย่างที่คิดนะ ลองปรับเปลี่ยนดูครับ
ไม่แค่การสร้างเขื่อน สร้างฝายที่สร้างปัญหา การถมที่ทำสิ่งปลูกสร้าง บ้านเรือนสมัยใหม่ ก็เป็นปัญหาเช่นเดียวกัน ต่างคนต่างถมให้สูงขึ้นกว่าเดิมจนคนที่สร้างและอยู่อาศัยมาก่อนต้องอยู่ในแอ่งกระทะ ลองหันไปดูรอบๆ หมู่บ้านที่ท่านอาศัยในทุกวันนี้นั้นต่างจากเมื่อสามปีก่อนอย่างไร?
เพื่อเพิ่มความสะดวกสบาย เพิ่มความรวดเร็วในการเดินทาง จึงมีการก่อสร้างเส้นทางคมนาคมทั้งถนนรถยนต์ ทางรถไฟ ซึ่งต่างก็พยายามถมให้สูงกว่าเดิมเพื่อป้องกันน้ำท่วม โดยขาดการพิจารณาว่า บริเวณนั้นเป็นแก้มลิง เป็นทุ่งรับน้ำในอดีตหรือไม่ ในช่วงสิบปีให้หลังมานี้มีการก่อสร้างถนนวงแหวนรอบตัวเมืองต่างๆ กันแทบทุกจังหวัด จนเกิดปรากฏการณ์น้ำท่วมกันแทบทุกจังหวัด สาเหตุจากการสร้างถนนขวางการไหลของน้ำนั่นเอง ซึ่งผู้ออกแบบถนนก็ไม่เคยอยู่ในพื้นที่นั้นๆ จึงทำเพียงท่อลอดให้น้ำไหลผ่านท่อเล็กๆ และห่างกันมาก แต่ในความจริงบริเวณนั้นในฤดูน้ำหลากน้ำจะไหลท่วมทุ่งมาเร็วและรุนแรง จึงเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมเมืองติดต่อกันในแทบทุกจังหวัด
คงพอจะตอบคำถามได้นะครับว่า ด้วยเหตุใดฝนตกนิดตกหน่อยน้ำจึงท่วมกันกระจายในหลายพื้นที่ ทางแก้ล่ะ! ก็ย้อนรอยทางวิศวกรรมนั่นแหละครับทำอะไรไปขวางก็ต้องไปแก้ไขให้มันระบายได้อย่างรวดเร็ว ถนนอาจจะออกแบบให้เป็นถนนระบายรถกันในหน้าแล้ง เปลี่ยนเป็นระบายน้ำในหน้าฝนที่น้ำมามากก็ได้นี่ มีภาพความคิดหรือไอเดียอันล้ำลึกจากเนเธอร์แลนด์มาฝากให้คิดกันต่อว่า สยามประเทศของเราจะใช้วิธีการอย่างไร?
Velueemeer Aqueduct คือ การออกแบบถนนและทางน้ำจากเนเธอร์แลนด์
ช่วยให้การสัญจรทางน้ำและทางบกสามารถเดินทางได้สะดวก
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)