คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ภาพจำในอดีตของ "ภาคอีสาน" คือ ความแห้งแล้งกันดาร ดังท่วงทำนองเพลงที่ขับขานว่า "บนฟ้าบ่มีน้ำ ในดินซ้ำมีแต่ทราย..." แต่ในปัจจุบันความเปลี่ยนแปลงได้เกิดขึ้นมากมาย ทุงกุลาที่เคยร้องไห้ กลายเป็นทุ่งรวงทองของข้าวหอมมะลิที่รู้จักกันไปทั่วโลก มีแหล่งน้ำชลประทานตามโครงการในพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทำให้พื้นแผ่นดินอีสานหลุดพ้นจากความแห้งแล้ง เป็นแหล่งผลิตอาหารทั้งข้าว ปลา พืชผัก ผลไม้รสอร่อยมากมาย ซึ่งนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบทอีสานในกาลถัดมา
วิถีชีวิตคนอีสานแบบนี้ยากที่จะได้พบเห็นอีกแล้วในปัจจุบัน
วิถีชีวิตของชาวไทยอีสาน มีรากฐานมาจากความเชื่อของศาสนาพุทธ ที่ถูกปรับให้เข้ากับจารีตประเพณีพื้นบ้าน และยังให้ความนับถือกับผีที่เป็นความเชื่อดั้งเดิมของคนในบริเวณนี้ ชาวอีสานผู้ยึดมั่นอยู่ในจารีตประเพณีที่เรียกว่า “ฮีตบ้านคองเมือง” หรือ “ฮีตสิบสองคองสิบสี่” ที่มุ่งให้ผู้คนช่วยเหลือเกื้อกูล เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ดำรงชีวิตด้วยความพอเพียง ร่วมกันทำกิจกรรมให้กับสังคมและหมู่บ้านของตน ฮีตสิบสองคองสิบสี่ เป็นประเพณีที่สำคัญในรอบ 12 เดือน มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับอาชีพเกษตรกรรม การทำนา และเรื่องปากท้องของชุมชนเป็นส่วนใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น ประเพณีไทยเดือนยี่ทำบุณคูนลาน หรือบางครั้งเรียกว่า ทำบุญกองข้าว หรือบุญกุ้มเข้าใหญ่ การทำบุญคูนลาน เป็นช่วงเวลาหลังจากที่ชาวบ้านเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้ว ชาวนาจะนำเฉพาะข้าวเปลือกล้วนๆ ไปสู่ลาน ทำเป็นกองเหมือนจอมปลวก ทำพิธีบวงสรวงแม่โพสพ เลี้ยงพระภูมิเจ้าที่ สู่ขวัญข้าว และนิมนต์พระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์และถวายอาหารเป็นอันเสร็จพิธี
การที่สังคมเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ วิถีชีวิตที่เปลี่ยนส่งผลให้ประเพณี พิธีกรรม การดำรงชีวิตไนแต่ละภูมิภาคได้เปลี่ยนไปด้วย ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดเดิมที่ว่า สิ่งแวดล้อมเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยน พฤติกรรมของมนุษย์จึงเปลี่ยนตามไปด้วย โดยมีปัจจัยทั้งจากภายในและภายนอกที่ทำให้พฤติกรรมของมนุษย์นั้นเปลี่ยน อย่าง บุญคูนลาน หรือบุญกุ้มเข้าใหญ่ ในปัจจุบันนี้หาดูยากแล้ว เพราะขั้นตอนในการเก็บเกี่ยวเปลี่ยนไปจากแรงงานคน มาใช้เครื่องจักรซึ่งลดขั้นตอนการเกี่ยวข้าว นวดข้าว ให้เหลือเพียงขั้นตอนเดียวคือ เกี่ยวรวงแล้วสีเป็นเมล็ดข้าวเปลือก บรรจุกระสอบนำไปขายเลยรวดเดียว ไม่ต้องมีลานนวดข้าวอีกแล้ว
บุญกุ้มเข้าใหญ่ หรือ บุญคูนลาน นับวันจะหมดไปจากวิถีชีวิตคนอีสานปัจจุบัน
การขยายตัวของการคมนาคมโดยทางรถไฟ เชื่อมต่อระหว่างกรุงเทพฯ กับโคราช (นครราชสีมา) ในปี พ.ศ. 2443 ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตของชาวนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก "การปลูกข้าวเพื่อบริโภค" ในอดีตมาเป็น "ปลูกเพื่อขาย" เมื่อการขนส่งคมนาคมสะดวกขึ้น ได้ทำให้การขนส่งข้าวไปยังกรุงเทพฯ สะดวกขึ้น ได้กระตุ้นให้ชาวนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือบุกเบิกหาที่ดินใหม่ๆ และจัดสรรที่ดินบางส่วน เพื่อปลูกข้าวเจ้าเพื่อส่งไปขาย นอกเหนือจากการปลูกข้าวเหนียวเพื่อบริโภคในครัวเรือน นอกจากนั้น การขยายตัวของทางรถไฟนี้ได้ทำให้ชาวอีสานมีความใกล้ชิดกับกรุงเทพฯ มากขึ้น พ่อค้าจีนได้เข้ามามีบทบาทในภูมิภาคนี้ ได้แนะนำสินค้าใหม่ๆ มาให้แก่ชาวนา เช่น เครื่องทุ่นแรง ปุ๋ยเคมี เสื้อผ้าอาภรณ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า นอกจากนั้น ประชาชนต้องใช้เงินเพื่อการชำระภาษีที่ดิน สิ่งเหล่านี้คือเงื่อนไขที่จูงใจให้ชาวนาผลิตข้าวเพื่อขายมากขึ้น
เมื่อมี "เครื่องทุ่นแรง" มาช่วยมากขึ้น "สัตว์เลี้ยง" ที่เคยใช้เป็นแรงงานทำการเกษตร ก็ถูกกวาดต้อนนำไปขายในภาคกลาง เกิดเป็นนายฮ้อยยุคใหม่ไล่ต้อนวัวควายขึ้นรถไฟไปขายภาคกลาง หนุ่ม-สาวที่ว่างงานเพราะถูกแทนที่ด้วยเครื่องจักร ก็เดินทางไปขายแรงงานในเมืองกรุงหรือปริมณฑล มีหลายคนที่ประสบผลสำเร็จเป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งส่งผลให้ฐานะทางเศรษฐกิจของคนอีสาน ที่อาศัยอยู่ในดินแดนยากจนที่สุดของประเทศเปลี่ยนแปลงไป
นายฮ้อย วิถีชีวิตพ่อค้าวัว-ควายอีสาน ที่ไม่ได้เป็นแค่ในวรรณกรรมหรือละครเท่านั้น
ดังนั้น เพื่อการปรับตัวให้เข้ากับสภาพทางเศรษฐกิจ ชาวนาจึงจำเป็นต้องปลูกข้าวเจ้าเพื่อขาย แต่ก็ยังรักษาการปลูกข้าวเหนียวไว้เพื่อบริโภค เนื่องจากรายได้ที่ไม่มั่นคง แต่เมื่อยังมีข้าวไว้ในยุ้งเพื่อไว้กินชาวนายังอุ่นใจเนื่องจากข้าวมีค่าเท่ากับเงิน และสามารถนำไปแลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่นๆ ในหมู่บ้านได้ เมื่อความเจริญทางวัตถุแพร่ขยายในชนบทอีสาน ทัศนคติด้านวัตถุนิยมก็เติบโตขึ้น ชาวอีสานแต่เดิม ที่ดำรงชีวิตด้วยความพอเพียงตามอัตภาพ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ก็ค่อยเปลี่ยนไปตามสมัยนิยม ในเรื่องนี้เราจะได้หาคำตอบว่า อะไรบ้าง? ที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ความพอเพียงที่เป็นอัตลักษ์ดังเดิมของชนบทอีสานเปลี่ยนแปลงไป และเปลี่ยนไปในด้านใดบ้าง
โลกยุคนี้คือ โลกยุคโลกาภิวัฒน์ (Globalization) หรือโลกไร้พรมแดน ทำให้กระแสวัฒนธรรมเมืองไหลบ่าเข้ามาอย่างท่วมท้น เสมือนว่า น้ำป่าที่ล้นเอ่อยามที่ฝนตกชุกจนฉ่ำผืนดิน ยากที่จะต้านกระแสนั้นเอาไว้ได้ เพราะเป็นภัยที่เกิดจากธรรมชาติ หากมองมาทางด้านวัฒนธรรมอันดีงามของไทยที่มีมาแต่โบราณนั้น ผลกระทบของกระแสวัฒนธรรมเมือง มีผลต่อการพฤติกรรมของคนอีสานในปัจจุบันเป็นอันมาก วัฒนธรรมมีลักษะของการไหลบ่าเช่นเดียวกับน้ำที่พยายามปรับความสมดุลให้อยู่ในระนาบเดียวกัน
โดยพื้นฐานของมนุษย์ที่รักความสะดวกสบาย เช่น การเดินทางที่รวดเร็ว การติดต่อสื่อสารที่รวดเร็ว แต่สิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้น เปรียบเสมือนมีดที่มี 2 คม มีคุณอนันต์ ก็มีโทษมหันต์ อยู่ที่ผู้ใช้ว่าจะใช้มันอย่างไร และเข้าใจถึงคุณค่าที่แท้จริงของสิ่งต่างๆ ว่ามีไว้เพื่ออะไร เป็นประโยชน์อย่างไร วัฒนธรรม มี 2 ลักษณะ คือ วัฒนธรรมที่เป็นวัตถุ และวัฒนธรรมที่มิใช่วัตถุ
ประเพณีลงแขก หรือลงแรงช่วยเหลือกันเริ่มห่างหาย เพราะเครื่องจักรและเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่
สิ่งที่มีอิทธิพลเป็นอย่างมาก ต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนอีสาน คือในส่วนของ วัฒนธรรมทางด้านวัตถุ หรือ เทคโนโลยี ซึ่งก็จะแอบแฝงความไม่ดีเข้ามา สังคมอีสานเป็นสังคมพุทธ มีรากเหง้าของวัฒนธรรมมาจากศาสนาพุทธ เป็นสังคมที่มีเอกลักษณ์พิเศษที่โดดเด่น และแสดงออกถึงความเจริญทางด้านจิตใจ เช่น มีเมตตา กรุณา ให้อภัย เอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ ช่วยเหลือ การเคารพผู้ที่อาวุโสกว่า โดยการนับญาติเป็น ลุง ป้า น้า อา ปู่ ย่า ตา ยาย เป็นต้น ทำให้ดำรงอยู่กันอย่างพี่น้อง มีอะไรก็ช่วยเหลือกัน เช่น ประเพณีลงแขก ที่ชาวบ้านเอาแรงงานกัน คือต่างคนต่างช่วยกัน บ้านนี้ดำนา เกี่ยวข้าว ปลูกบ้านใหม่ก็ไปช่วยกัน พอถึงทีบ้านเรามีกิจกรรมคนบ้านอื่นก็มาช่วยกันตอบแทน
โลกยุคนี้เป็นยุคของ "การสื่อสาร" การสื่อสารนั้นโดยนัยสำคัญแล้วหมายถึง การสื่อสิ่งที่เป็นสาระ แต่เราไม่อาจกลั่นกรองเอาเฉพาะสาระตามความหมายนั้นได้ เพราะสิ่งที่แอบแฝงเข้ามาพร้อมกับสาระนั้นคือ "การโฆษณามอมเมาในเชิงธุรกิจ พยายามสร้างกระแสความนิยมในสินค้าด้วยการโฆษนาชวนเชื่อ จนกลายเป็นความนิยม" เช่น ธุรกิจการโฆษณาขายอาหารเสริม ธาตุอาหารที่สกัดจากพืชสมุนไพรต่างๆ นานา ที่ทานหรือดื่มแล้วทำให้ร่างกายปลอดจากสารพิษต่างๆ ครีมที่ทำให้หน้าขาว หน้าใส ดีดเด้ง น้ำหอมดังๆ แฟชั่นเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายหรูหราต่างๆ ทำให้คนในสังคมมีค่านิยมรักสวยรักงาม มากกว่าที่จะดูกันที่คุณสมบัติภายใน ความดี กิริยามารยาท ความพอเพียงในการดำรงชีวิต หน้าที่ความรับผิดชอบต่างๆ
ด้วยกระแสบริโภคนิยม และการวัดค่าของคนจากวัตถุของสังคมไทยในยุคปัจจุบันนี้ คงไม่แปลกที่สินค้ามียี่ห้อ ราคาแพง และได้รับความนิยมจากคนส่วนใหญ่ ที่รู้จักกันในนามสินค้า “แบรนด์เนม” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า หรืออุปกรณ์เพื่ออำนวยความสะดวกอย่าง โทรศัพท์มือถือ นั้น จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตของใครหลายๆ คน มากกว่าการเป็นสิ่งของเครื่องใช้ เรียกว่า "เป็นสิ่งของที่มันต้องมี" หากยังเป็นเครื่องวัดความมั่งมี วัดความดีงาม ความน่าเคารพ สรรเสริญของคนในสังคม สิ่งนี้ถือเป็นวิกฤติทางจิตใจ ที่ต้องเร่งระงับและให้การแก้ไขโดยด่วน ใครที่ไม่มีเมื่อเห็นคนอื่นมี แล้วหลงคิดไปว่าการมีบ้างถือเป็นสิ่งที่ดี ก็จะเป็นทุกข์ เป็นร้อน และเข้าสู่วังวนแห่งการกระทำความผิดเพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งของเหล่านี้ ลูกหลานที่พ่อ-แม่ส่งไปเรียนในเมืองใหญ่ด้วยหวังให้มีความก้าวหน้าในชีวิต ไม่ลำบากดังพ่อ-แม่ที่อยู่บ้านนอก ก็กลายเป็นเหยื่อของความเจริญ ถวิลหาสิ่งประดับกายเพิ่มบารมี ราศีคนเมือง งานการที่เคยช่วยเหลือพ่อ-แม่เริ่มทำไม่เป็น อยากได้มือถือยี่ห้อดัง กระเป๋าแบรนด์เนม และมอเตอร์ไซค์แว๊น ความเร็วแรงของรถมอเตอร์ไซค์ทำให้เบรคไม่อยู่ที่โรงเรียน ไถลไปจนถึงร้านเกม แล้ว... ชีวิตดีที่พ่อ-แม่หวังก็พังทลายเพราะความรักและปราถนาดีต่อลูกแท้ๆ
วิทยุทรานซิสเตอร์ความบันเทิงกลางทุ่งนาที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว
ในอดีตชาวนาฟังเพลงผ่านวิทยุทรานซิสเตอร์วางข้างคันนา จะขอเพลงจากดีเจต้องเขียนจดหมายน้อย หรือต้องส่งไปรษณียบัตรไปขอ รอฟังหลายวันกว่าดีเจจะตอบจดหมายผ่านรายการ ขอเพลงให้สาวคุ้มนั้นคุ้มนี้ หรือมอบให้หนุ่มคนรู้ใจด้วยเสียงเพลงซึ้งๆ แต่เดี๋ยวนี้ใช้โทรศัพท์มือถือ ใช้ไลน์ เฟซบุ๊คขอเพลงกันแล้ว ฟังเพลงจากโทรศัพท์มือถือที่ให้เสียงดีกว่ามากมาย (แต่ก็แฝงไว้ด้วยค่าใช้จ่ายที่ยินดีจ่ายเพราะ "มันเป็นของต้องมี" เดี๋ยวจะเชยกว่าเพื่อนหนุ่ม-สาวนั่นเอง)
“แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” เกิดขึ้นตามวิกฤตการณ์จากการพัฒนาที่ตั้งบนรากฐานของความไม่พอเพียง ซึ่งเป็นเสมือนการกระตุ้นเตือนสังคมไทยให้หันกลับมาสู่แนวทางที่เหมาะสม ความพอเพียงด้านการดำรงชีพมิได้หมายถึง การที่ทุกครัวเรือนต้องปลูกข้าวกินเอง หรือสามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างเดียว หากแต่หมายถึง การที่ผู้คนสามารถสนองตอบความต้องการทางด้านปัจจัยพื้นฐาน ของการดำรงชีวิตอย่างพอเพียง ไม่น้อยจนรู้สึกขัดสน แต่ก็ไม่มากจนเป็นความฟุ่มเฟื่อย และเบียดเบียนสิ่งแวดล้อม
ด้วยสังคมในชนบทอีสานเมื่อครั้งอดีตต่างจากสังคมในปัจจุบัน จากความเป็นอยู่ตามอัตภาพ มักน้อยสันโดษ ทั้งเรื่องอาหารการกิน เครื่องอุปโภคปริโภค เครื่องใช้สอยในชีวิตประจำวัน สู่ความเป็นสังคมชนบทที่ขาดความพอเพียง สืบเนื่องจากวัตถุนิยมที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน ชาวชนบทต่างดิ้นรนทำมาหากินเพื่อจะได้มาซึ่งเงินทอง แล้วนำไปใช้หนี้ทั้งในและนอกระบบ จากการกู้เงินเพื่อจับจ่ายซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมทั้งอาหารการกิน ที่เป็นไปตามค่านิยมของสังคม จนเป็นเหตุให้คนชนบทที่เคยมีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีนิสัยสันโดษ ใช้ชีวิตอย่างพอดี พออยู่ พอเพียงอย่างมีความสุข กลับมีชีวิตที่ตรงกันข้าม เห็นแก่ตัว ฟุ้มเฟือย ดิ้นรน ขาดความสุขในชีวิตประจำวัน
จึงได้ก่อเกิด "ทฤษฏีปรัชญาเศรษฐกินพอเพียง" ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ได้พระราชทานไว้ เพื่อแก้ปัญหาความยากจนให้กับปวงพสกนิกรชาวชนบททั่วไป เพื่อสร้างความมั่นคงในการดำเนินชีวิต ทั้งร่างกายและจิตใจ ดำรงชีวิตด้วยความพอเพียง ในหลายด้าน ได้แก่ ที่อยู่อาศัย, ระบบบริการพื้นฐาน, สุขอนามัย, แหล่งประกอบอาชีพ เป็นต้น
ภาพจำในอดีตของการทำนาที่ผู้เขียนยังรำลึกถึงเสมอ
ทั้งนี้ ผู้เขียนเอง มองความเปลี่ยนแปลงทางสังคมชนบทอีสานในปัจจุบัน เป็นไปในทางที่ดีขึ้น เกิดจากคนรุ่นใหม่มองเห็นความสำคัญของการใช้ชีวิตอย่างพอเพียง และจากการเบื่อหน่ายเห็นความไม่แน่นอนของอาชีพประจำ ความเหนื่อยล้ากับการทำงานในเมืองกรุงที่แม้จะได้เงินมาก แต่ค่าใช้จ่ายประจำวันก็สูงจนไม่เหลือเก็บดังแต่ก่อน บางส่วนจึงได้ลาออกจากงานประจำ หันมาทำอาชีพเกษตรพอเพียงในบ้านเกิด และเชื่อว่า ในความผันแปรไม่แน่นอนของค่านิยมทางวัตถุ จนทำให้เกิดความเดือนร้อนด้านความเป็นอยู่ในการดำรงชีวิต จะทำให้สังคมชนบทอีสาน หันกลับมาพึ่งพาหลักความพอเพียงในชีวิตประจำวัน ดังที่เคยเป็นอัตลักษณ์ที่สำคัญของชาวอีสานเมื่อครั้งอดีตด้วยตนเอง มากกว่าจะรอความหวังจากสวัสดิการแห่งรัฐที่ไม่แน่นอนตามวิถีของการเมืองเช่นวันนี้
รายการ อยูดีมีแฮง ทางช่อง ThaiPBS ตอน "ฮักสกล คนคืนถิ่น"
ที่พักที่เที่ยว สวนเกษตร "บ้านนอกคอกนา เขาใหญ่"
นี่คือตัวอตัวอย่างอันดีในการปรับเปลี่ยนชีวิตจากสังคมเมืองกรุง ไปสู่วิถีชีวิตอีสานชนบทของ คุณตุ้ย สาริศา เกตุทอง เซลล์สาวพนักงานเงินเดือนที่ทิ้งอาชีพในเมืองกรุง มุ่งบุกเบิกที่นาพื้นที่ 10 ไร่เป็นสวนเกษตร พัฒนาเป็นบ้านพักชื่อ “บ้านนอกคอกนา” นับเป็นตัวอย่างของคนอีสานคืนถิ่นฐานบ้านเกิดที่น่าสนใจอีกคนครับ
ขวัญกมล บุติมนตรี สาวอีสาน ชาวจังหวัดมหาสารคาม เบื่อชีวิตเมืองกรุง คืนถิ่นมหาสารคามบ้านเกิด พลิกผืนนาทำไร่ดอกขจรและขายกิ่งพันธุ์ออนไลน์ สร้างรายได้เลี้ยงครอบครัวต่อเดือนเฉียดแสน เธอเป็นหนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่ครั้งหนึ่งเคยทำงานในเมืองกรุง แล้วประสบปัญหาเงินเดือนไม่เพียงพอต่อค่าครองชีพ พยายามดิ้นรนอยู่นาน จนค้นพบว่า การกลับบ้านเกิดเพื่อมาพัฒนาที่ดินทำกินที่พ่อแม่มีอยู่แต่ดั้งเดิม คือทางออก และช่วยพลิกพื้นความเป็นอยู่ให้มีกินมีใช้ และมีความสุขได้เป็นอย่างดี
รายการ ทีวีจออีสาน ทางช่อง ThaiPBS ตอน "ลูกอีสานคืนถิ่น"
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)