คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ในเดือนมีนาคมของทุกๆ ปี จะมีงานบุญประเพณีภาคอีสานบ้านเฮาใหญ่ๆ หลายงาน ตามฮีต-คองอีสานบ้านเฮา และปีนี้สถานการณ์ทางการระบาดของโรคร้ายได้ลดลงไปแล้ว ทำให้การจัดให้มีงานบุญประเพณีในทุกๆ ท้องถิ่นเริ่มกลับมาคึกคักกันแล้ว มื้อนี้ อาวทิดหมู มักหม่วน ขอนำเอาข่าวสารที่ทางพ่อแม่พี่น้องบ้านเฮาส่งกันเข้ามา หมู่บ้านใด๋จัดงานประเพณีขึ้นมาอยากเผยแพร่ข่าวกะบอกข่าวกันมาได้เด้อ บริการฟรีๆ ครับ ส่งผ่านมาทาง Facebook Fanpage IsanGate โลดครับ จะลงข่าวให้โดยพลัน เดือนนี้มีบุญที่ขอแนะนำให้ไปเยี่ยมเยือนคือ
จังหวัดบุรีรัมย์ ขอเชิญเที่ยวงาน "ประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง ประจำปี 2566" ระหว่างวันที่ 31 มีนาคม - 2 เมษายน 2566 ณ อุทยานประวัติศาตร์พนมรุ้ง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อร่วมชมปรากฎการณ์แสงอาทิตย์สาดส่อง 15 ช่องประตูปราสาท ร่วมพิธีบวงสรวงพระศิวะมหาเทพ ชมขบวนแห่สัตว์พาหนะเทพผู้พิทักษ์ประจำทิศทั้ง 10 และขบวนเสด็จพระนางภูปตินทรลักษมีเทวี รับบทโดย “บิ๊นท์ สิรีธร ลีห์อร่ามวัฒน์” มิสอินเตอร์ เนชั่นแนล 2019-2021 นางเอกสาวจากช่อง One ชมขบวนแห่สักการะ "น้อมจิตบังคม พนมรุ้งนาฏการ" พร้อมนางรำจากทุกอำเภอ การแสดงศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้าน ร่วมอุดหนุนสินค้าพื้นบ้าน อาหารพื้นถิ่น ณ ตลาดอารยธรรมวนัมรุง
✅ วันที่ 31 มีนาคม 2566
👉เวลา 18.00 น. เที่ยวชมตลาดอารยธรรมวนัมรุง และชมการแสดงดนตรีและนาฏศิลป์พื้นบ้าน
👉เวลา 18.15 น. ชมการแสดงแสงแห่งศรัทธาปราสาทพนมรุ้ง
👉เวลา 19.00 น. ชมการซ้อมขบวนแห่สักการะ "น้อมจิตบังคม พนมรุ้งนาฎการ" (รอบซ้อมใหญ่/รอบสื่อมวลชน)
-เสร็จสิ้นการแสดง เวลา 20.00 น.
✅ วันที่ 1 เมษายน 2566 (พิธีบวงสรวง)
👉เวลา 06.30 น. ตั้งเครื่องบวงสรวง/ผู้ร่วมพิธีพร้อมกัน ณ บริเวณประกอบพิธี (แต่งกายชุดเสื้อขาว กางเกงขาว)
👉เวลา 09.30 น. พิธีเปิด "ตลาดอารยธรรมวนัมรุง"
-เที่ยวชมตลาดอารยธรรมวนัมรุง ชมการแสดงดนตรีและนาฏศิลป์พื้นบ้าน
👉เวลา 15.10 น. พิธีเปิดงานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง ประจำปี 2566
-การรำถวายสักการะใต้ร่มพนมรุ้ง
-ประธานให้สัญญาณเคลื่อนขบวนแห่ (สั่นฆ้องชัย)
-ขบวนอัญเชิญพระศิวะมหาเทพ, ขบวนสัตว์พาหนะเทพผู้พิทักษ์ประจำทิศทั้ง 10 และขบวนเสด็จพระนางภูปตินทรลักษมีเทวี เริ่มเคลื่อนขบวนขึ้นสู่ปราสาทพนมรุ้ง
-การแสดงชุด "ระบำอัปสราบุรีรัมย์"
👉เวลา 18.15 น. ชมการแสดงแสงแห่งศรัทธาปราสาทพนมรุ้ง
👉เวลา 19.00 น. ชมขบวนแห่สักการะ "น้อมจิตบังคม พนมรุ้งนาฏการ"
👉เวลา 20.00 น. เสร็จสิ้นการแสดง
✅ วันที่ 2 เมษายน 2566
👉เวลา 08.00 น. เที่ยวชมตลาดอารยธรรมวนัมรุง และชมการแสดงดนตรีและนาฏศิลป์พื้นบ้าน
👉เวลา 15.10 น. การรำถวายสักการะใต้ร่มพนมรุ้ง
-ขบวนอัญเชิญพระศิวมหาเทพ,ขบวนสัตว์พาหนะเทพผู้พิทักษ์ประจำทิศทั้ง 10 และขบวนเสด็จพระนางภูปตินทรลักษมีเทวี
-การแสดงชุด "ระบำอัปสราบุรีรัมย์"
👉เวลา 18.00 น. ชมการแสดงแสงแห่งศรัทธาปราสาทพนมรุ้ง
ประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง : YUM Comment
กำหนดการจัดงาน : 31 มีนาคม - 2 เมษายน 2566
สถานที่จัดงาน : ณ อุทยานประวัติศาตร์พนมรุ้ง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์
จังหวัดศรีสะเกษ ได้ชื่อว่า "เมืองดอกลำดวน" เป็นเอกลักษณ์ของดอกไม้นี้ที่จะบานและส่งกลิ่นหอมในช่วงต้นเดือนมีนาคม จนมีงานเทศกาลดอกลำดวนบานทุกปี และที่จังหวัดนี้ยังมีชนเผ่าไทพื้นเมือง 4 เผ่า คือ ลาว เขมร ส่วย และเยอ อาศัยอยู่แต่ดั้งเดิม จึงทำให้เกิดงานสำคัญขึ้นในทุกปีคืองาน "เทศกาลดอกลำดวนบาน สืบสานประเพณีสี่เผ่า ไทศรีสะเกษ" ไฮไลต์เด่นคือ การเปิดตัวผ้าทอเบญจศรี กลิ่นดอกลำดวน ผ้าทอพื้นเมืองของจังหวัดศรีสะเกษผนวกกับนาโนเทคโนโลยี ทำให้ได้ผ้าที่นุ่มและทนทาน และพิเศษเพิ่มกลิ่นหอมของดอกลำดวน ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดของจังหวัดศรีสะเกษ สร้างอัตลักษณ์ให้กับผ้าทอพื้นเมือง และเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ตลาดสากล และการแสดงแสง-สี-เสียงที่งดงามตระการตา “อารยธรรมแห่งศรัทธา มนตรา ศรีพฤทเธศวร สืบราชมรรคา ศรีชยราชา ชัยวรมันที่ 7” ซึ่งเป็นการแสดงละครอิงประวัติศาสตร์ โชว์ความงามของอาณาจักรขอมและเมืองดอกลำดวน ที่ยิ่งใหญ่ งดงาม ชมวัฒนธรรมสี่เผ่า ดอกลำดวนบานเต็มสวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ ณ บริเวณสวนสมเด็จศรีนครินทร์ศรีสะเกษ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ
สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ จังหวัดศรีสะเกษ มีต้นลำดวน ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดศรีสะเกษ กว่า 50,000 ต้น ผลิดอกเบ่งบานสะพรั่ง ส่งกลิ่นหอมไปทั่วสวนฯ จึงขอเชิญชวนพี่น้องนักท่องเที่ยวไปชมความสวยงามของดอกลำดวน สีเหลืองอร่าม พร้อมฃมการแสดงของ 4 ชนเผ่า คือ ลาว เขมร ส่วย และเยอ แล้วท่านจะหลงรักดอกลำดวน…ดอกเล็กๆ สีเหลือง ที่ซ่อนความหอม ความน่ารัก ของเรื่องราวศรีสะเกษไว้อย่างสวยงาม
ร่วมรับประทานอาหาร "พาแลงไก่ย่างไม้มะดัน" ของเด่นของดีศรีสะเกษ เกรดพรีเมี่ยม ที่มาจากอำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษแท้ๆ รับประกันความอร่อย ด้วยเอกลักษณ์การใช้ไม้มะดันสด ที่มีความเปรี้ยว หนีบไก่ เวลาย่าง ความเปรี้ยวของเนื้อไม้มะดันจะค่อยๆ ซึมเข้าไปผสมเนื้อไก่ แล้วทำให้เนื้อไก่ย่างมีรสเปรี้ยวกลมกล่อม ผิวนอกตัวไก่ย่างจะสีเหลืองสวยงาม ช่วยดับกลิ่นคาว และเพิ่มความหอมให้ได้รสชาติที่อร่อยมากขึ้น ใน “เทศกาลดอกลำดวนบาน สืบสานประเพณีสี่เผ่าไทยศรีสะเกษ 2566” ระหว่างวันที่ 8-12 มีนาคม 2566
เฉพาะการแสดงแสง-สี-เสียงที่งดงามตระการตา “อารยธรรมแห่งศรัทธา มนตรา ศรีพฤทเธศวร สืบราชมรรคา ศรีชยราชา ชัยวรมันที่ 7” ซึ่งเป็นการแสดงละครอิงประวัติศาสตร์ นั้นจัดแสดง 3 วันคือ 10-12 มีนาคม 2566 เท่านั้น
กำหนดการจัดงาน : 8-12 มีนาคม 2566
สถานที่จัดงาน : ณ สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ
จังหวัดร้อยเอ็ด เมืองเกินร้อย มีความโดดเด่นในการปฏิบัติตาม ฮีต 12 คอง 14 ที่ยึดถือปฏิบัติสืบทอดกันมานานจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่แสดงถึงความเป็นเมืองเก่าแก่ และมีความเจริญรุ่งเรืองมานาน มีความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะถิ่นที่โดดเด่น จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นจุดหมายปลายทางของนักบุญ และนักท่องเที่ยวเชิงธรรมะ เป็นเมืองอารยธรรมที่ต้องเดินทางมาเยือนเพื่อปฏิบัติธรรม ไหว้พระ สักการะขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จังหวัดร้อยเอ็ดมีพุทธสถานเก่าแก่จากอดีตสู่ปัจจุบัน
ชาวจังหวัดร้อยเอ็ด จึงอยากให้พุทธศาสนิกชนทั่วทุกสารทิศ ได้มีโอกาสมาเยือนเมืองร้อยเอ็ด โดยเฉพาะงานประเพณี ฮีตเดือนสี่ ที่จะเกิดขึ้นช่วงต้นเดือนมีนาคมของทุกปี เป็นงานบุญใหญ่ ที่ชาวร้อยเอ็ดสืบทอดกันมาทุกปีกับงาน “มหาทานบารมี ประเพณีบุญผะเหวด” หรือ “บุญมหาชาติ” มาร่วมสร้างศรัทธาบารมีทาน รับอานิสงส์อันยิ่งใหญ่ กับการฟังเทศน์มหาชาติให้ครบทั้ง 13 กัณฑ์ สืบสานตำนาน “มหาเวสสันดร” มหาชาดก ชาติที่ 10 ก่อนกำเนิดพระพุทธเจ้า
การจัดงาน “มหาทานบารมี ประเพณีบุญผะเหวดจังหวัดร้อยเอ็ด ประจำปี 2566" กำหนดการจัดงานขึ้น ระหว่างวันที่ 3-5 มีนาคม 2566 อย่างยิ่งใหญ่ ชมขบวนแห่ งานมหาทานบารมี 13 กัณฑ์ ณ บริเวณลานสาเกตนคร สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ บึงพลาญชัย อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งทางจังหวัดได้ให้ส่วนราชการทุกหน่วยงาน ด้ร่วมใจกันจัดขึ้น ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2534 เป็นต้นมา ร่วมรณรงค์แต่งกายชุดไทยผ้าลายสาเกต เที่ยวงานบุญผะเหวดประเพณี ประดับธงผะเหวดตามสถานที่ราชการ อาคารบ้านเรือนตามความเหมาะสม มา “กินข้าวปุ้น เอาบุญผะเหวด ฟังเทศน์มหาชาติ” ร่วมขบวนแห่กัณฑ์จอบกัณฑ์หลอน และสัมผัสวิถีชีวิตของชาวจังหวัดร้อยเอ็ด จะได้พบกับการประดับธงผะเหวด พวงดอกสะแบง มาลัยข้าวสาร มาลัยข้าวตอก ธงใยแมงมุม ดอกโน ซึ่งเป็นเครื่องพันสัญลักษณ์ของงานบุญผะเหวดประดับอย่างสวยงามทั่วทั้งเมือง ได้รับประทาน “ข้าวปุ้น” อาหารงานบุญอีสานฟรีตลอดทั้งงาน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่
กำหนดการจัดงาน : 3-5 มีนาคม 2566
สถานที่จัดงาน : ณ บริเวณลานสาเกตนคร สวนสมเด็จพระศรีนครินทร์ บึงพลาญชัย อำเภอเมือง จังหวัดร้อยเอ็ด
ในช่วงวันมาฆบูชาของทุกปี จังหวัดยโสธรได้จัดงาน ประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก ที่ บ้านฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร ชาวพุทธมีความเชื่อว่าในวันนี้ พระพุทธเจ้าเสด็จกลับมาจากสวรรค์ หลังจากได้แสดงพระธรรมเทศนาให้แก่พระมารดาแล้ว โดยเหล่าเทพดานางฟ้าได้ทำการต้อนรับพระองค์ด้วยดอกไม้ และข้าว ความเชื่อนี้ได้รับการสืบทอดติดต่อกันมา และกลายมาเป็นประเพณีที่ยึดถือกันในปัจจุบัน ชาวบ้านจะทำพวงมาลัยจากข้าวอบ ซึ่งจะถูกนำไปใช้เพื่อการตกแต่งศาลาวัด และแสดงโชว์ในขบวนพาเหรด ณ วันงานด้วย
มหาชนะชัย พระเรืองไชยลือเลื่อง เมืองแห่งดอกจาน นมัสการพระพุทธบาท ธรรมชาติลำน้ำชี ประเพณีแห่มาลัย ”
เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระปัญญาธิคุณ พระกรุณาธิคุณ และพระบริสุทธิคุณ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้พากันนำเอาข้าวตอกมาสักการบูชา เพราะถือว่า "ข้าว" เป็นสิ่งที่มีคุณค่าและเป็นของสูงที่มนุษย์จะขาดไม่ได้และต่อมามีการนำมา ประดิษฐ์ตกแต่งเป็นมาลัยที่สวยงาม เป็นที่มาของ “มาลัยข้าวตอก” ประเพณีหนึ่งเดียวในโลก ที่อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร [ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม ]
งานประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก ประจำปี 2566 ประเพณีหนึ่งเดียวในโลก ระหว่างวันที่ 1-5 มีนาคม 2566 ณ บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย
พร้อมทั้งชม ชิม ช้อป สินค้าโอทอป ของกิน ของฝาก และถนนคนเดินตลอดงาน ณ บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร
ช่วงเวลาจัดงาน : 1-5 มีนาคม 2566
สถานที่จัดงาน : ณ บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร
จังหวัดบุรีรัมย์ จัดงาน "ประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง" เป็นประจำทุกปีในช่วงต้นเดือนเมษายน ณ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น ตลอดจนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด โดยไฮไลท์สำคัญของงานคือ การชมพระอาทิตย์ส่องแสงลอดประตูทั้ง 15 บานของปราสาทพนมรุ้ง ยามพระอาทิตย์ขึ้น ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปรากฎการณ์ทางธรรมชาติที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง โดยจะเกิดขึ้นแค่ 4 ครั้ง ในหนึ่งปีเท่านั้น
นับเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์และงานประจำปีของปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์ ที่หลายคนต่างเฝ้ารอคอย บ้างก็ได้ยินมานาน และบ้างก็อยากเดินทางมาเห็นด้วยตาตัวเองสักครั้ง กับพระอาทิตย์ขึ้น-ตก ส่องลอดช่องประตูทั้ง 15 บานของปราสาทพนมรุ้ง ตลอดจนงานประจำปีที่จัดขึ้น สำหรับในปี 2566 รายละเอียดจะเป็นอย่างไร มาอัปเดตไปพร้อมกันเลย
การเที่ยวชมงานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง ปี 2566 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 มีนาคม - 2 เมษายน 2566 ซึ่งได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นประจำทุกปี ด้วยเพราะมีกิจกรรมให้เข้าร่วม ตลอดจนได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์และชมความงดงามของสถานที่แห่งนี้ไปพร้อมๆ กัน และยังมีพิธีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งเป็นศาสนสถานที่สร้างขึ้นเพื่อถวายแด่องค์พระศิวะ เทพเจ้าสูงสุดในศาสนาฮินดูลัทธิไศวนิกาย ชมริ้วขบวนหลวงของพระนางภูปตินทรลักษมีเทวี และนางจริยา ตลอดจนการแสดงแสงสีและเสียง การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน การรับประทานอาหารแบบโฮปบายดินเดอร์ การแสดงตลาดนัดโบราณ และสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน OTOP ของจังหวัดบุรีรัมย์ รวมทั้งกิจกรรมที่น่าสนใจอีกมากมาย
ช่วงเวลาจัดงาน : ตามภาพกราฟิกข้างต้น
สถานที่จัดงาน : ณ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์
หากแฟนานุแฟนของเว็บไซต์อีสานบ้านเฮา มีข่าวสารการจัดงานบุญประเพณีในท้องถิ่นของท่าน อยากจะเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ก็แจ้งมายังทีมงานได้ครับ ผ่านทางอีเมล์ webmaster @ isangate.com หรือผ่านทาง Inbox ใน Fanpage Facebook : IsanGate ก็ได้เช่นเดียวกันครับ ขอรายละเอียด วันเวลา สถานที่จัดงาน กิจกรรมต่างๆ ที่น่าสนใจ ถ้ามีภาพประกอบด้วยก็จะดีเยี่ยมครับ (ภาพของงานปีก่อนๆ หรือการประชุมเตรียมงาน) บริการท่านฟรีๆ ครับ ไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)