foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

may festival header

ชวนชิมทุเรียนลาวา บุเปือย น้ำยืน

สำหรับท่านที่ชื่นชอบราชาผลไม้อย่าง ทุเรียน มีข่าวมาฝากครับ กลุ่มเกษตรกรชาวสวนผลไม้ตำบลบุเปือย อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี จะจัดให้มีงาน "วันผลไม้ดีศรีบุเปือย" ขึ้น เพื่อแสดงผลผลิตและจัดจำหน่ายผลไม้คัดราคาถูกพิเศษ เช่น ทุเรียนลาวา (ดินภูเขาไฟ) เงาะ มังคุด ลองกอง มะยงชิด สะตอ ฯลฯ ที่ปลูกกันแบบอินทรีย์ใช้เพียงปุ๋ยคอก ปราศจากสารเคมี จากชาวสวนในตำบลบุเปือย

durian namyeun 1

มีกิจกรรมการประกวดผลผลิต การแสดงของนักเรียน และศิลปินมากหน้าหลายตา เลือกซื้อสินค้าผลิตภัณฑ์ OTOP มากมาย พร้อมทั้งผลไม้สดๆ คัดคุณภาพเน้นๆ มาจำหน่ายจากเกษตรกรในพื้นที่ อย่าพลาดครับ

วันที่จัดงานระหว่าง : 23-24 พฤษภาคม 2562

สถานที่จัดงาน : ณ ลานมัน จุดชมวิวตำบลบุเปือย ตำบลบุเปือย อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี

นอกจากนี้ท่านสามารถไปชมชิมผลไม้ในสวนต่างๆ ได้ อ่านข่าวนี้เพิ่มเติมครับ

 

วันวิสาขบูชา

wisaka bucha 1วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ คือเกิด ได้ตรัสรู้ คือสำเร็จ ได้ปรินิพพาน คือ ดับ เกิดขึ้นตรงกันทั้ง 3 คราว กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติใน วันวิสาขบูชา ได้แก่

  1. ทำบุญใส่บาตร กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ญาติที่ล่วงลับ และเจ้ากรรมนายเวรจัด
  2. สำรับคาวหวานไปทำบุญถวายภัตตาหารที่วัด
  3. และปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนาปล่อยนกปล่อยปลา เพื่อสร้างบุญสร้างกุศล
  4. ร่วมเวียนเทียนรอบอุโบสถที่วัดในตอนค่ำ เพื่อรำลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
  5. ร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับวันสำคัญทางพุทธศาสนา
  6. จัดแสดงนิทรรศการ ประวัติ หรือเรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวกับวันวิสาขบูชาตามโรงเรียน หรือสถานที่ราชการต่างๆ เพื่อให้ความรู้ และเป็นการร่วมรำลึกถึงความสำคัญของวันวิสาขบูชา
  7. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน วัดและสถานที่ราชการ
  8. บำเพ็ญสาธารณประโยชน์

วันที่จัดงาน : 18 พฤษภาคม 2562

สถานที่จัดงาน : ในทุกจังหวัดทั่วอีสานและประเทศไทย

 wisaka bucha 2

สำหรับพี่น้องชาวจังหวัดเลย จะมีงาน "นมัสการพระธาตุศรีสองรัก" จัดขึ้นในวันเพ็ญเดือนหกของทุกปี มีวัตถุประสงค์เพื่อความเป็นสิริมงคล ให้ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข แคล้วคลาดจากภัยอันตรายทั้งปวง และทำให้ฝนฟ้าตกต้องตามฤดูกาล โดยพิธีกรรมเริ่มจาก พิธีทำบุญตักบาตร พิธีล้างธาตุ พิธีคาราวะธาตุ พิธีทำขวัญนาค พิธีบูชาธาตุ พิธีถวายต้นผึ้ง พิธีสรงน้ำ พิธีสู่ขวัญ พิธีเวียนเทียน จุดบั้งไฟ

pratad sisongrak 03

งานบูชาธาตุ (พระธาตุศรีสองรัก) เป็นงานประจำปีจัดขึ้นในวันเพ็ญเดือน 6 ของทุกปี เพื่อสมโภชองค์พระธาตุศรีสองรักอันเป็นปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมือง ภายในงานมีพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ เช่น การบูชาองค์พระธาตุด้วยต้นผึ้งใหญ่ ต้นผึ้งน้อย การล้างองค์พระธาตุ

งานนมัสการพระธาตุศรีสองรัก จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 15 - 18 พฤษภาคม 2562 ณ พระธาตุศรีสองรัก อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย

เกร็ดความรู้เพิ่มเติม

พระธาตุศรีสองรัก มีรูปทรงลักษณะศิลปกรรมแบบล้านช้าง องค์พระธาตุสูง 19.19 เมตร ฐานกว้างด้านละ 10.89 เมตร ฐานเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ย่อมุมไม้สิบสอง องค์ระฆังทรง บัวเหลี่ยม คล้ายพระธาตุพนม พระธาตุหลวง (เวียงจันทน์) พระธาตุศรีโคตรบอง (แขวงคำม่วน) และอีกมากมายแถบลุ่มน้ำโขง พระธาตุศรีสองรักสร้างขึ้นถวายเป็นอุเทสิกเจดีย์ (หมายถึงเจดีย์สร้างขึ้นโดยเจตนาอุทิศ ให้พระศาสนาโดยไม่กำหนดว่าต้องเก็บรักษาสิ่งใด) สร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2103 เสร็จในปี พ.ศ.2106

พระธาตุศรีสองรัก สร้างขึ้นเพื่อเป็นสักขีพยานในการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ระหว่างกรุงศรีอยุธยา (สมัยพระมหาจักรพรรดิ) และกรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) สมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช นอกจากนี้ภายในวัดยังมีพระพุทธรูปปางนาคปรกศิลปะธิเบตด้วย ทุกวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 ชาวด่านซ้ายหรือ ลูกผึ้งลูกเทียน จะร่วมกันจัดงานสมโภชพระธาตุศรีสองรักขึ้น โดยจะนำต้นผึ้ง (ประดิษฐ์จากโครงไม้ไผ่เป็นทรงหอปราสาทขนาดกว้างราว 2 ฟุต สูง 2 ฟุตเศษ) กรุรอบด้วยลวดลายงานแทงหยวก จากนั้นประดับด้วยดอกผึ้ง ซึ่งทำจากแผ่นเทียนกลมๆ บางๆ ตากแดดแล้วจับเป็นกลีบ ตรงกลางติดดอกบานไม่รู้โรย หรือขมิ้นหั่นเล็กๆ ต่างเกสรดอกไม้สีสดใส เทียนเวียนหัว (เทียนแท่งที่ฟั่นยาวพอคาดได้รอบศีรษะ) มาถวายองค์พระธาตุถือเป็นประเพณีอันศักดิ์สิทธิ์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี

sri2rug

ข้อปฏิบัติเกี่ยวกับองค์พระธาตุศรีสองรัก ที่สำคัญคือ

  • ไม่ควรนำสิ่งของหรือดอกไม้สีแดงขึ้นบูชา
  • ไม่ควรแต่งกายด้วยชุดสีแดงขึ้นไปนมัสการ

เพราะองค์พระธาตุสร้างขึ้นเพื่อสัจจะและไมตรี สีแดงเป็นสัญญลักษณ์ ของเลือดและความรุนแรง ไม่ควรกางร่ม สวมหมวก และสวมรองเท้า ขึ้นไปบนพระธาตุ ไม่ควรนำเด็กต่ำกว่า 3 ปีขึ้นไปนมัสการ

หมายเหตุ : ก่อนท่านจะทำหรือ ประกอบพิธีใดๆ ที่เกี่ยวกับองค์พระธาตุ ขอให้ปรึกษาเจ้าหน้าที่ที่เฝ้าองค์พระธาตุก่อน

 

บุญบั้งไฟตะไลล้าน บ้านกุดหว้า กาฬสินธุ์

ประเพณีบุญบั้งไฟตะไลล้าน เป็นประเพณีที่สะท้อนวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวอีสาน เป็นบุญประเพณีการขอฟ้าขอฝน เพื่อทำการเกษตรกรรม ในการเพาะปลูกข้าวประจำปี การจุดบั้งไฟตะไลล้านบูชาพญาแถน เป็นการสืบสานงานวัฒนธรรมผู้ไท เสริมสร้างความสมานสามัคคี ความเข้มแข็งของชุมชน และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรม มีลักษณะเฉพาะตัวของบั้งไฟเป็นเอกลักษณ์แห่งเดียวของภาคอีสาน คือ ตัวกระบอกของบั้งไฟ ทำด้วยเหล็กบรรจุดินประสิว ยาวตั้งแต่ 3-6 เมตร และชิ้นประกอบอีกส่วนก็คือ ไม้ไผ่สานซึ่งล้อมรอบตัวกระบอกบั้งไฟ อันเป็นเอกลักษณ์ของบั้งไฟตะไลล้าน บั้งไฟตะไลจะมีการจุดจากกลางลำตัว โดยจะเจาะรูเชื้อเพลิงให้ออกด้านข้างลำตัวของบั้งไฟ ทำให้บั้งไฟหมุนขึ้นท้องฟ้าอย่างรวดเร็ว

talai laan 01

บ้านกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นหมู่บ้านที่มีการผลิตตะไล หมู่บ้านเดียวในประเทศไทย แต่ละปีก็ได้จัดงานประเพณีนี้ขึ้นมา ด้วยทีมช่างทำตะไลยักษ์ที่มีความชำนาญและมีชื่อเสียง เริ่มจากการทำ บั้งไฟตะไลหมื่น เป็น บั้งไฟตะไลแสน และในที่สุดจึงได้มีการสร้างบั้งไฟตะไลขนาดใหญ่หรือ บั้งไฟตะไลล้าน แล้วเพิ่มหน่วยความจุดินประสิวมากขึ้นกลายเป็นตะไลสิบล้าน (หน่วยนับ หมื่น แสน ล้าน มาจากน้ำหนักดินประสิว คือ 12 กิโลกรัมเป็นหนึ่งหมื่น 10 หมื่นเป็นแสน และ 10 แสนเป็นล้าน)

 talai laan 02

การแข่งขันตะไลในแต่ละรุ่น จะมีทีมงานเข้าไปติดตั้งที่ฐานจุด ในสนามการแข่งขันที่อยู่กลางทุ่งนา โดยมีกติกาเพื่อความปลอดภัยว่า เมื่อจุดแล้วทุกคนต้องวิ่งเข้ากำแพงดินที่เป็นแนวกำบังเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ หากใครไม่เข้ามาในเขตที่กำหนดไว้ จะถูกปรับให้แพ้ทันที ในส่วนกติกาการตัดสิน ว่าของใครขึ้นสูงที่สุด อยู่บนอากาศได้นานที่สุด เมื่อสุดแรงขับดินประสิวแล้ว ร่มชูชีพจะกางลงมาพร้อมกับตะไล คือ ผู้ชนะ ถ้าหากร่มไม่กาง ปรับแพ้ทันที การทำตะไลได้รับการสนับสนุนจากเทศบาล ชาวบ้านยังได้ร่วมกันบริจาคเงินงบสมทบในการสร้างบั้งไฟตะไลด้วย หากเทียบกับเงินรางวัลจากการแข่งขันก็ไม่มากมาย เน้นความร่วมมือความปลอดสามัคคี ตลอดจนเป็นงานประเพณีที่ปลอดเหล้าด้วย

วันที่จัดงาน : 18 พฤษภาคม 2562 - 19 พฤษภาคม 2562

สถานที่จัดงาน : เทศบาลตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์

 

ประเพณีบุญบั้งไฟยโสธร 2562

yasothon rocket 2562งานประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นงานประเพณีท้องถิ่นของชาวอีสาน ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต และความเชื่อทางศาสนาของชาวอีสานมาช้านาน โดยเชื่อว่าเมื่อเข้าสู่ฤดูกาลปักดำทำนา จะต้องจุดบั้งไฟขึ้นไปบูชาพญาแถนบนฟากฟ้า เพื่อขอให้พญาแถนซึ่งได้ชื่อว่าเป็น "เทพแห่งฝน" ได้ดลบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล เพื่อให้สรรพสิ่งบนผืนโลกได้ดำเนินวีถีชีวิตไปตามครรลองที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะผู้คนบนผืนดินอีสาน ที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับการทำใร่ทำนามาช้านาน ต้องอาศัยข้าวและพืชผลทางการเกษตร ในการหล่อเลี้ยง ดำรงชีวิตมาโดยตลอด น้ำฝนจากฟ้าจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ คืองานประเพณีแห่ และจุดบั้งไฟจึงถูก สร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อเป็นความหวัง และกำลังใจ ของชาวอีสานมาโดยตลอด งานประเพณีบุญบั้งไฟจะจัดขึ้นเป็นประจำปีทุกปี ชมขบวนแห่บั้งไฟ และการจุดบั้งไฟแสน และบั้งไฟหมื่น ชมวิถีของคนทำบั้งไฟ และบรรยากาศการทำบั้งไฟ เพื่อเป็นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีของจังหวัดให้คงอยู่สืบไป

เมื่อพูดถึง "งานบุญบั้งไฟ" ย่อมจะต้องนึกถึง เมืองบั้งไฟโก้ ยโสธร กันแน่นอนเลยทีเดียว ปีนี้จัดยิ่งใหญ่เหมือนเคย ในระหว่างวันที่ 8-12 พฤษภาคม 2562 ห้ามพลาดกันทีเดียวนะครับ...

bung fai 02

ประเพณีบุญบั้งไฟตามตำนานเล่าว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าถือชาติกำเนิดเป็นพญาคางคก ได้อาศัยอยู่ใต้ร่มโพธิ์ใหญ่ในเมืองพันทุมวดี ด้วยเหตุใดไม่แจ้ง พญาแถนเทพเจ้าแห่งฝนโกรธเคืองโลกมนุษย์มาก จึงแกล้งไม่ให้ฝนตกนานถึง 7 เดือน ทำให้เกิดความลำบากยากแค้นอย่างแสนสาหัสแก่มวลมนุษย์ สัตว์และพืช จนกระทั่งพากันล้มตายเป็นจำนวนมาก พวกที่แข็งแรงก็รอดตายและได้พากันมารวมกลุ่มใต้ต้นโพธิ์ใหญ่กับพญาคางคก สรรพสัตว์ทั้งหลายจึงได้หารือกันเพื่อจะหาวิธีการปราบพญาแถน ที่ประชุมได้ตกลงกันให้พญานาคียกทัพไปรบกับพญาแถน แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ จากนั้นจึงให้พญาต่อแตนยกทัพไปปราบแต่ก็ต้องพ่ายแพ้อีกเช่นกัน ทำให้พวกสรรพสัตว์ทั้งหลายเกิดความท้อถอย หมดกำลังใจและสิ้นหวัง ได้แต่รอวันตาย

ในที่สุด พญาคางคกจึงขออาสาที่จะไปรบกับพญาแถน จึงได้วางแผนในการรบโดยปลวกทั้งหลายก่อจอมปลวกขึ้นไปจนถึงเมืองพญาแถน เพื่อเป็นเส้นทางให้บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายได้เดินทางไปสู่เมืองพญาแถน ซึ่งมีมอด แมลงป่อง ตะขาบ สำหรับมอดได้รับหน้าที่ให้ทำการกัดเจาะด้ามอาวุธที่ทำด้วยไม้ทุกชนิด ส่วนแมลงป่องและตะขาบให้ซ่อนตัวอยู่ตามกองฟืนที่ใช้หุงต้มอาหาร และอยู่ตามเสื้อผ้าของไพร่พลพญาแถนทำหน้าที่กัดต่อย

หลังจากวางแผนเรียบร้อย กองทัพพญาคางคกก็เดินทางเพื่อปฏิบัติหน้าที่การรบ มอดทำหน้าที่กัดเจาะด้ามอาวุธ แมลงป่องและตะขาบกัดต่อยไพร่พลของพญาแถนจนเจ็บปวด ร้องระงมจนกองทัพระส่ำระสาย ในที่สุดพญาแถนจึงได้ยอมแพ้และตกลงทำสัญญาสงบศึกกับพญาคางคก ดังนี้

  1. ถ้ามวลมนุษย์จุดบั้งไฟขึ้นสู่ท้องฟ้าเมื่อใด ให้พญาแถนสั่งให้ฝนตกในโลกมนุษย์
  2. ถ้าได้ยินเสียงกบ เขียดร้อง ให้รับรู้ว่าฝนได้ตกลงมาแล้ว
  3. ถ้าได้ยินเสียงสะนู (เสียงธนูหวายของว่าว) หรือเสียงโหวด ให้ฝนหยุดตกเพราะจะเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวข้าว

หลังจากที่ได้สัญญากันแล้ว พญาแถนจึงได้ถูกปล่อยตัวไปและได้ปฏิบัติตามสัญญามาจนบัดนี้ นั่นเอง

bung fai 03

ภายในงานนักท่องเที่ยวจะได้พบกิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ ขบวนแห่บั้งไฟสวยงาม (บั้งไฟเอ้) การประกวดแห่กาพย์เซิ้งบั้งไฟ การสาธิตและร่วมการแกะลายบั้งไฟ การแสดงรถบั้งไฟโบราณ การประกวดเวทีกองเชียร์บั้งไฟ การประกวดธิดาบั้งไฟโก้ การแสดงแสงสีสื่อผสม ตำนานพญาคันคาก (ตำนานบุญบั้งไฟยโสธร) ชมการเตรียมและฝึกซ้อมการรำของขบวนบั้งไฟของคุ้มวัดต่างๆ การจุดบั้งไฟปฐมฤกษ์และบั้งไฟเสี่ยงทาย การจุดโชว์บั้งไฟแฟนซี (บั้งไฟติดร่มมีควันสี) การแข่งขันบั้งไฟติดร่มแฟนซี และบั้งไฟขึ้นสูง และการจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ "OTOP ของดียโสธร"

วันที่จัดงาน : 8 - 12 พฤษภาคม 2562

สถานที่จัดงาน : หน้าที่ว่าการอำเภอเมืองยโสธร, ลานวิมานพญาแถน (อาคารพญาคันคาก) และบริเวณสวนสาธารณะพญาแถน จังหวัดยโสธร

งานบุญเดือนหก สักการะเจ้าพ่อพญาแล ประจำปี 2562

จังหวัดชัยภูมิ ร่วมกับ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน จังหวัดชัยภูมิ ขอเชิญทุกท่านร่วม “งานบุญเดือนหก (สักการะเจ้าพ่อพญาแล) ประจำปี 2562" ในระหว่างวันที่ 5 – 13 พฤษภาคม 2562 ณ บริเวณสวนสาธารณะหนองปลาเฒ่า ศาลเจ้าพ่อพญาแล และอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแล อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ

praya lae 1

งานบุญเดือนหกของชัยภูมิที่ถือเป็นงานสักการะเจ้าพ่อพญาแล ถือเป็นงานเทศกาลฉลองความยิ่งใหญ่ของชาวชัยภูมิ เรียกว่า “งานเทศกาลบุญเดือนหก” อันเป็นการรำลึกถึง ความดีของท่านเจ้าพ่อพญาแลโดยในการจัดงานนี้ประกอบด้วย พิธีเปิดงานสุดยิ่งใหญ่ พิธีบายศรีบวงสรวงดวงวิญญาณของเจ้าพ่อพญาแล

และที่พลาดไม่ได้กับขบวนแห่พานบายศรีถวายเจ้าพ่อพญาแลและขบวนแห่ของอำเภอต่างๆ เริ่มจากหน้าที่ทำการเทศบาลเมืองชัยภูมิ แห่ไปรอบตัวเมืองชัยภูมิไปจนถึงศาลเจ้าพ่อพญาแล หนองปลาเฒ่า ระยะทางกว่า 5 กิโลเมตร เพื่อร่วมกันประกอบพิธีถวายบายศรี แด่ดวงวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ของพระยาภักดีชุมพล (แล) หรือเจ้าพ่อพญาแล เจ้าเมืองชัยภูมิคนแรก

praya lae 2

อีกทั้งกิจกรรมภายในงานที่น่าสนใจอาทิ การแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น การประกวดหลานปู่แล ประกวดร้องเพลงลูกทุ่งและพื้นบ้าน การจัดนิทรรศการของ ทุกภาคส่วน การแสดงดนตรีพื้นบ้านและศิลปินที่มีชื่อเสียง การแสดงดนตรีจากศิลปินที่มีชื่อเสียง การแสดงและจำหน่ายสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่น OTOP ยิ่งใหญ่ตลอดการจัดงาน ทั้ง 9 วัน 9 คืน

วันที่จัดงาน : 5 – 13 พฤษภาคม 2562

สถานที่จัดงาน : ณ บริเวณสวนสาธารณะหนองปลาเฒ่า ศาลเจ้าพ่อพญาแล และอนุสาวรีย์เจ้าพ่อพญาแล อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ

 

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)