foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว ฝนตก น้ำท่วม ดินพังทลาย จนไร้ที่อยู่ บ้านเฮากะต่างภาคต่างกะพ้อไปคนละแนว บ้างก็ฝนตกจนน้ำท่วม บ้างก็แล้งจนพืชผลแห้งตาย กระจายเป็นหย่อมๆ แบบบ้านเพิ่นท่วมแป๋ตาย นาใกล้ๆ กันนี้ผัดบ่มีน้ำจนดินแห้ง อีหยังว่ะ! นี่ละเขาว่าโลกวิปริตย้อนพวกเฮามนุษย์เป็นผู้ทำลายของแทร่ ตอนนี้ทางภาคเหนือกำลังท่วมหนัก ข่าวว่าภาคอีสานบ้านเฮาก็เตรียมตัวไว้เลย พายุกำลังมาแล้ว ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

isan fest september

เทศกาลงานบุญประเพณีอีสานบ้านเฮา ประจำเดือนกันยายน ๒๕๖๓ หลังสถานการณ์โควิด-19 ระบาดคลี่คลาย ก็ต้องร่วมมือกันฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศบ้านเฮานี่แหละ ไทยเที่ยวไทยเงินทองไม่ไหลออกไปนอกประเทศ ช่วยกันนะครับ สำหรับงานบุญประเพณ๊ที่น่าสนใจประจำเดือนนี้ในภาคอีสานมีดังนี้

ประเพณีจุดไฟตูมกา ออกพรรษา ยโสธร

ประเพณีจุดไฟตูมกา ออกพรรษา ยโสธร เป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชนบ้านทุ่งแต้ โดยการนำผลตูมกา ซึ่งเป็นผลไม้ป่า มีรูปทรงกลมคล้ายผลส้ม ขนาดเท่ากำปั้นหรือโตกว่า ขูดผิวสีเขียวออก แล้วคว้านเอาเนื้อและเมล็ดข้างในออกให้หมด แล้วใช้มีดแกะเป็นลวดลายตามความต้องการ เจาะรูสำหรับใส่เทียน เมื่อจุดเทียนแสงสว่างจากเปลวเทียนก็จะลอดตามเป็นลวดลายตามรูที่เจาะไว้ ใช้เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาในวันออกพรรษา

toomka yasothon 2020

ประเพณีจุดไฟตูมกา ออกพรรษา ยโสธร 2563 จะมี 2 ช่วงงานดังนี้

  • ช่วงที่ 1 วันที่ 28 กันยายน – 2 ตุลาคม 2563 ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร
  • ช่วงที่ 2 ในวันที่ 2-3 ตุลาคม 2563 ณ วัดบูรพาทุ่งแต้ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร

 

มหัศจรรย์ธรรมชาติกุ้งเดินขบวน หรือ "พาเหรดกุ้ง"

มหัศจรรย์แห่งธรรมชาติ (Unseen Thailand) นี้หนึ่งปีมีครั้งเดียว ในช่วงกลางเดือนสิงหาคมเรื่อยไป จนกระทั่งเดือนกันยายนของทุกปี ที่ ลานพันรู ในน้ำตกแก่งลำดวน สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมอีกแห่งของ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี (ตั้งอยู่ในพื้นที่ของ สถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่า อุบลราชธานี) มี ขบวนพาเหรดกุ้ง เดินฝ่าสายน้ำอันเชี่ยวกรากมุ่งสู่ต้นน้ำของลำโดมใหญ่ ในเทือกเขาพนมดงรัก ระยะทางไกลกว่า 16 กิโลเมตร เป็นมหัศจรรย์ทางธรรมชาติที่น่าชม

parade kung 01

มีคำถามว่า "กุ้งชนิดใดมาเดินขบวนที่นี่" หลายคนอยากรู้ ตัวใหญ่ไหม มีเยอะไหม คำตอบคือ กุ้งชนิดที่มาเดินขบวนที่น้ำตกแห่งนี้คือ กุ้งฝอย ชื่อสามัญว่า Lanchester’s freshwater Prawn  ส่วนชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ MacrobachiamLanchesteri จัดว่าเป็นกุ้งน้ำจืดขนาดเล็ก มักอยู่รวมกันเป็นฝูง อาศัยตามผิวน้ำริมตลิ่ง แหล่งน้ำต่างๆ ชอบกินจุลินทรีย์และสัตว์น้ำขนาดเล็ก มีความยาวประมาณ 2 - 7 ซม. มีเปลือกห่อหุ้มตัว โดยเปลือกหุ้มแยกออกเป็นสองตอน ตอนหน้าจะห่อหุ้มหัวและอก ส่วนตอนหลังจะเป็นลำตัวกุ้ง ส่วนหนวดกุ้งจะทำหน้าที่รับความรู้สึก กุ้งจะมีขาสำหรับเดินและจับอาหาร 5 คู่ และรยางค์สำหรับว่ายน้ำอีก 5 คู่ ซึ่งรยางค์เหล่านี้ นอกจากจะใช้ว่ายน้ำแล้วตัวเมีย ยังทำหน้าที่เป็นที่เก็บไข่ผสมน้ำเชื้อและฟักไข่อีกด้วย สำหรับการหายใจนั้นกุ้งจะหายใจด้วยเหงือกและเลือดกุ้งจะไม่มีสี สรุปกันง่ายๆ ก็คือ กุ้ง ที่นิยมเอามาทำ "กุ้งเต้น"รสแซบนั่นแหละ

kung parade 2

เนื่องจากกุ้งเป็นสัตว์น้ำที่รับยีนส์ (Genes) และแรงผลักดันจากพ่อ/แม่ ให้เดินทางกลับสู่ต้นน้ำอันเป็นบ้านเกิด เพื่อมาสืบพันธุ์และวางไข่ การที่กุ้งเหล่านี้มาเดินบนพลาญหิน ลานพันรู มีสาเหตุมาจากการที่จะเดินทางมายังแหล่งต้นน้ำ ที่เป็นบ้านเกิด บนยอดเขาพนมดงรัก มันต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ มากมาย

กุ้งจะเดินขบวนช่วงไหน? ช่วงฤดูน้ำหลาก คือ กลางเดือนสิงหาคมจนถึงสิ้นเดือนกันยายน ขึ้นอยู่กับระดับน้ำและความเชี่ยวของกระแสน้ำบริเวณน้ำตกแก่งลำดวน โดยจะขึ้นมาเดินบนพลาญหิน ลานพันรู อย่างน่ามหัศจรรย์ ในเวลากลางคืน เวลาประมาณ 19.00 - 05.00 น. ของอีกวันหนึ่ง แต่คืนไหนจะเดินขึ้นมามากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยทางธรรมชาติตามฤดูกาล ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาบนพื้นที่รับน้ำหรือลุ่มน้ำลำโดมใหญ่ ซึ่งมีต้นน้ำอยู่บนเทือกเขาพนมดงรัก ถ้าฝนตกหนักติดต่อกันหลายๆ วัน ป่าไม้ต้นน้ำก็จะปล่อยน้ำลงมามากส่งผลให้ระดับน้ำสูงกระแสน้ำเชี่ยว กุ้งก็จะพากันมาเดินขบวนเป็นแถวยาว

kung parade 3

ก่อนไปชมกุ้งเดินขบวนตอนค่ำก็แวะเที่ยวน้ำตกห้วยหลวงกันก่อนในตอนกลางวัน

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่นี่ก่อน

 

บุญข้าวสาก (ฮีตบุญเดือน ๑๐)

บุญเดือนสิบ "บุญข้าวสาก" คำว่า "สาก" ในที่นี้มาจากคำว่า "ฉลาก" ในภาษาไทยกลาง ข้าวสากหรือฉลากภัตร บุญข้าวสาก คือ การทำบุญที่ให้พระเณรทั้งวัด จับสลากเพื่อจะรับปัจจัยไทยทาน ตลอดจนสำรับกับข้าว ที่ญาติโยมนำมาถวาย บุญข้าวสากหรือฉลากภัตรนี้แต่ละท้องถิ่นทำไม่เหมือนกัน เช่น ในบางท้องถิ่นอาจจะจัดของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ ยาสีฟัน ยาตำราหลวง มาทำเป็นห่อๆ นำไปถวายพระ จะกระทำกันในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 2 กันยายน 2563

boon kao sag 02

ก่อนจะทำพิธีถวายก็จะมีการจับฉลากก่อน ทีนี้พอตนเองจับฉลากได้เป็นชื่อของพระ หรือ เณรรูปใด ก็นำไปถวายตามนั้น ลักษณะเช่นนี้ถือว่าเป็นการเสี่ยงสมภาร (บารมี) ว่า ในปีนี้ดวงชะตาหรือชีวิตของตนจะเป็นเช่นไร มีการทำนายไปตามลักษณะของพระหรือเณร ที่ตนเองจับฉลากได้ เช่น บางคนอาจจะจับได้พระที่เป็นผู้ที่อายุพรรษามากถือว่า เป็นผู้มีชีวิตมั่นคง หรือจับฉลากถูกพระเปรียญหรือเณรมหาก็ถือว่า เป็นผู้ที่สติปัญญามาก เป็นต้น

san donta5

สำหรับพี่น้องอีสานที่มีเชื้อสายเขมร ส่วย เยอ จะมีการจัด วันสารท (ศารท) หมายถึง การทำบุญเดือนสิบ เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว เนื่องจากมีความเชื่อว่าระยะนี้เป็นระยะที่ยมบาลปล่อยเปรตให้มาเยี่ยมบ้านเดิมของตน เพื่อรับส่วนบุญที่ญาติจะอุทิศให้ ลูกหลานญาติพี่น้องมีความเชื่อว่า ญาติของตนที่ตายแล้ว อาจจะไปเกิดในอบายภูมิ ซึ่งเป็นภูมิที่อดอยาก จึงทำบุญอุทิศให้โดยหวังว่าเมื่อวิญญาณได้รับอนุโมทนาส่วนบุญแล้ว จะได้พ้นจากภูมิอันทุกข์ทรมานนั้นไปเกิดในภูมิใหม่ที่ดีกว่านั้น

วันที่จัดงาน : 17 กันยายน 2563

สถานที่จัดงาน : ในวัดทุกวัดของภาคอีสาน

รายละเอียดเพิ่มเติม : ฮีตเดือนสิบ บุญข้าวสาก

 

แซนโฏนตา บูชาบรรพบุรุษ (วันสารทเขมร)

ประเพณีแซนโฎนตา เป็นประเพณีหนึ่งที่มีความสำคัญ และปฏิบัติสืบทอดติดต่อกันมายาวนาน นับเป็นพันๆ ปีของพี่น้องชาวไทยที่มีเชื้อสายเขมร รวมทั้งชาวกูย หรือส่วย ที่แสดงออกถึงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ สะท้อนให้เห็นความรัก ความผูกพัน ความกตัญญูรู้คุณของสมาชิกในครอบครัวเครือญาติ และชุมชน โดยจะประกอบพิธีกรรมตรงกับวันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี

sandonta 01

ซึ่งก่อนถึงวันงานจะมีการเตรียมสำรับอาหารคาว หวาน ขนม ข้าวต้มมัด กระยาสารท ฯลฯ เมื่อถึงวันงานลูก หลาน ญาติ พี่น้องที่ไปประกอบอาชีพ หรือตั้งถิ่นฐานอยู่ที่อื่น ไม่ว่าจะใกล้ หรือไกลจะต้องเดินทางกลับมารวมญาติ เพื่อทำพิธีแซนโฎนตา คือ การเซ่นไหว้บรรพบุรุษ อย่างพร้อมหน้าพร้อมตากัน เป็นประจำทุกปี

  • แซน หมายถึง การเซ่น การเซ่นไหว้ การบวงสรวง
  • โฎนตา หมายถึง การทำบุญให้ปู่ย่า ตายาย หรือ บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว

ประเพณีแซนโฎนตา จึงหมายถึง ประเพณีการเซ่นไหว้ผีบรรพบุรุษ ที่นับได้ว่าเป็นประเพณีสำคัญที่คนไทยเชื้อสายเขมร มีการสืบทอดกันมาเป็นระยะเวลานาน

ขั้นตอนการประกอบพิธีกรรมแซนโฎนตา มีดังนี้

  1. การเตรียมอุปกรณ์เครื่องเซ่นไหว้
  2. การเซ่นไหว้ศาลปู่ตาประจำหมู่บ้าน
  3. การเซ่นไหว้ศาลพระภูมิประจำบ้าน
  4. การประกอบพิธีกรรมแซนโฏนตาที่บ้าน
  5. การประกอบพิธีกรรมบายเบ็น
  6. การประกอบพิธีกรรมที่วัด

(ขั้นตอนประกอบพิธีการแซนโฏนตา บางท้องถิ่นอาจมีความแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย)

คำศัพท์ที่เกี่ยวข้องในประเพณีนี้ เบ็นตุ้ย หมายถึง สารทเล็ก, เบ็นทม หมายถึง สารทใหญ่,  บายเบ็น หมายถึง ข้าวสารท, กระยาสารท

โมเว้ยโฎนตา (แซนโฎนตา) ประเพณีของชาติพันธุ์เขมร

นอกจากประเพณีแซนโฏนตาจะเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผีบรรพบุรุษ ปู่ย่า ตายาย พ่อแม่ จุดมุ่งหมายรองของการออกกุศโลบายพิธีกรรมนี้ คือ การแสดงถึงความกตัญญูกตเวทีของลูกหลาน ที่แสดงต่อผู้มีพระคุณที่ล่วงลับไปแล้ว และเพื่อให้ลูกหลาน ญาติ มิตร จะได้มารู้จักกันสร้างความสามัคคี สร้างสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เป็นที่พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน.

ระยะเวลาการจัดงาน : 16-17 กันยายน 2563
สถานที่จัดงาน : บริเวณลานหน้าอนุสาวรีย์พระยาสุรินทรภักดีศรีณรงค์จางวาง (ปุม) จังหวัดสุรินทร์ และที่อื่นๆ ในจังหวัดบุรีรัมย์ ศรีสะเกษ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม : ททท. สำนักงานสุรินทร์ โทรศัพท์ : 0 4451 4447-8

 

มหัศจรรย์พนมรุ้ง 2563

แสงอรุณแรกยามตะวันรุ่ง พุ่งผ่าน 15 ช่องประตู ปราสาทพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์​ ​มีปรากฏการณ์นี้ครั้งแรกของปีผ่านไปแล้ว เมื่อช่วงวันที่ 5 - 6 - 7 มีนาคม และ 2 - 3 - 4​ เมษายน 2563 ที่ผ่านมา นับเป็นความอัศจรรย์แห่ง​มหาเทวาลัย ซึ่งตั้งตระหง่านบนภูเขาไฟเก่าพนมรุ้ง​ ที่นักท่องเที่ยวต่างชื่นชม ถ้าคุณพลาดโอกาสในครั้งแรกไป เดือนกันยายนและตุลาคมนี้ จะทำให้คุณได้สมหวังกับมหัศจรรย์ธรรมชาตินี้อีกครั้ง

phanom roong 01

ซึ่งปรากฏการณ์ที่ พระอาทิตย์จะส่องแสงลอดทะลุช่องประตูทั้ง 15 บานของปราสาทพนมรุ้ง ในรอบ 1 ปี จะมีโอกาสได้เห็นปรากฏการณ์นี้เพียง 4 ครั้ง/ปี คือ เห็นพระอาทิตย์ขึ้น 2 ครั้ง ในเดือนเมษายน และกันยายน และเห็นพระอาทิตย์ตกอีก 2 ครั้ง ในเดือนมีนาคม และตุลาคม ซึ่งในปี 2562-2564 ช่วงเวลาที่คาดการณ์ว่าจะเกิดปรากฏการณ์มหัศจรรย์ดังกล่าว มีดังนี้

  • พระอาทิตย์ขึ้น วันที่ 3-4-5 เมษายน และ วันที่ 8-9-10 กันยายน
  • พระอาทิตย์ตก วันที่ 5-6-7 มีนาคม และ วันที่ 5-6-7 ตุลาคม

phanom roong 04

ความมหัศจรรย์ของปราสาทพนมรุ้ง รังสรรค์มาจากภูมิปัญญาอันแยบยลของคนโบราณ ที่ถ่ายทอดความศรัทธาในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวะนิกาย ผ่านก้อนหินนับร้อย นับพันก้อน ก่อร่างสร้างเป็นความยิ่งใหญ่แห่งเทวสถาน บนยอดภูเขาไฟหนึ่งในหกลูกของเมืองบุรีรัมย์

ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ว่าด้วยเรื่องการคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติของโลก สมัยประชุมที่ 43 ณ เมืองบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจัน ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 มิถุนายน ถึง 10 กรกฎาคม 2562 ได้ขึ้นทะเบียนกลุ่มเทวสถานปราสาทพนมรุ้ง ปราสาทเมืองต่ำและปราสาทปลายบัด จังหวัดบุรีรัมย์ ขึ้นทะเบียนในบัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) โดยประเทศไทยจะต้องเตรียมจัดทำเอกสาร เพื่อนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมดังกล่าว เข้าสู่บัญชีมรดกโลกต่อไป

นอกจากจะได้ชมปรากฏการณ์อันมหัศจรรย์แล้ว ท่านยังสามารถแวะชิมอาหารพื้นเมืองโบราณตามแบบท่องเที่ยววิถีไทย ณ “ตลาดย้อนยุคเมืองแปะ” ชมและเลือกซื้อสินค้าที่ระลึก ณ บริเวณลานโพธิ์ก่อนขึ้นปราสาท สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานบุรีรัมย์ โทร. 0 4463 4722-3 หรือ 1672 เบอร์เดียวเที่ยวทั่วไทย

phanom roong 02

วันที่จัดงาน : 🌞พระอาทิตย์ขึ้น🌞 9-10-11 กันยายน 2563 และ 🌄พระอาทิตย์ตก🌄 5-6-7 ตุลาคม 2563 (ครั้งที่2)

สถานที่จัดงาน : ณ อุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์

Free! ลงข่าวที่นี่ ฟรี นะครับ

หน่วยราชการ องค์กรเอกชน หรือชุมชน หมู่บ้าน ตำบลใด ที่ได้จัดงานบุญประเพณีอันดีงามของชาวอีสาน ต้องการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ กิจกรรมเหล่านี้สามารถติดต่อกับทีมงาน เว็บไซต์ประตูสู่อีสาน ของเราได้ ทาง Facebook Fanpage หรืออีเมล์ webmaster at isangate.com เรายินดีสนับสนุนประชาสัมพันธ์งานให้ท่านฟรีๆ นะครับ

 

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)