คันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ## |
ในช่วงกลางเดือนสิงหาคมเรื่อยไป จนกระทั่งเดือนกันยายนของทุกปี ที่ ลานพันรู ในน้ำตกแก่งลำดวน สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมอีกแห่งของอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี (ตั้งอยู่ในพื้นที่ของ สถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่า อุบลราชธานี) มี ขบวนพาเหรดกุ้ง เดินฝ่าสายน้ำอันเชี่ยวกรากมุ่งสู่ต้นน้ำของลำโดมใหญ่ ในเทือกเขาพนมดงรัก มหัศจรรย์ทางธรรมชาติที่น่าชม นี่ถ้าเกิดขึ้นทุกวัน ในทุกเดือน ของทุกปี คงเป็นคู่แข่งตัวฉกาจของ พาเหรดนกเพนกวิน ที่ผมถูกฝรั่งหลอก ให้นั่งหนาวรอชมในออสเตรเลียมาแล้วแน่ๆ เลย
กุ้งเดินขบวนอยู่บริเวณลานพันรู น้ำตกแก่งลำดวน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ดูแลรับผิดชอบของ สถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่า อุบลราชธานี ตั้งอยู่ที่ หมู่ 5 บ้านหนองขอน ตำบลโดมประดิษฐ์ อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี
เนื่องจากกุ้งเป็นสัตว์น้ำ รับยีนส์ (Genes) และแรงผลักดันจากพ่อ/แม่ ให้เดินทางกลับสู่ต้นน้ำอันเป็นบ้านเกิด เพื่อมาสืบพันธุ์และวางไข่ การที่กุ้งเหล่านี้มาเดินบนพลาญหิน ลานพันรู มีสาเหตุมาจากการที่จะเดินทางมายังแหล่งต้นน้ำที่เป็นบ้านเกิด บนยอดเขาพนมดงรัก มันต้องฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ มากมาย นี่ก็เป็นบนพิสูจน์อีกอย่างหนึ่งคือ การเดินทางผ่านน้ำตกแก่งลำดวน ซึ่งมีกระแสน้ำไหลเชี่ยว จำเป็นต้องหลบความรุนแรงของกระแสน้ำ โดยการขึ้นมาเดินบนโขดหิน จนกลายเป็นเหตุการณ์ที่เห็นแล้วต้องบอกว่า ทึ่ง (Unseen Thailand) ดังกล่าว
ช่วงฤดูน้ำหลากคือกลางเดือนสิงหาคมจนถึงสิ้นเดือนกันยายน ขึ้นอยู่กับระดับน้ำและความเชี่ยวของกระแสน้ำ บริเวณน้ำตกแก่งลำดวน โดยจะขึ้นมาเดินบนพลาญหิน ลานพันรู อย่างน่ามหัศจรรย์ ในเวลากลางคืน ช่วงเวลาประมาณ 19.00 - 05.00 น. ของอีกวันหนึ่ง แต่คืนไหนจะเดินขึ้นมามากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยทางธรรมชาติตามฤดูกาล ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาบนพื้นที่รับน้ำหรือลุ่มน้ำลำโดมใหญ่ ซึ่งมีต้นน้ำอยู่บนเทือกเขาพนมดงรัก ถ้าฝนตกหนักติดต่อกันหลายๆ วัน ป่าไม้ต้นน้ำก็จะปล่อยน้ำลงมามากส่งผลให้ระดับน้ำสูงกระแสน้ำเชี่ยว กุ้งก็จะพากันมาเดินขบวนเป็นแถวยาว
กุ้งชนิดที่มาเดินขบวนที่น้ำตกแห่งนี้คือ กุ้งฝอย จัดว่าเป็นกุ้งน้ำจืดขนาดเล็ก มักอยู่รวมกันเป็นฝูง อาศัยตามผิวน้ำริมตลิ่ง แหล่งน้ำต่างๆ ชอบกินจุลินทรีย์และสัตว์น้ำขนาดเล็ก มีความยาวประมาณ 2-7 ซม. มีเปลือกห่อหุ้มตัวโดยเปลือกหุ้มแยกออกเป็นสองตอน ตอนหน้าจะห่อหุ้มหัวและอก ส่วนตอนหลังจะเป็นลำตัวกุ้ง ส่วนหนวดกุ้งจะทำหน้าที่รับความรู้สึก กุ้งจะมีขาสำหรับเดินและจับอาหาร 5 คู่ และรยางค์สำหรับว่ายน้ำอีก 5 คู่ ซึ่งรยางค์เหล่านี้ นอกจากจะใช้ว่ายน้ำแล้วตัวเมีย ยังทำหน้าที่เป็นที่เก็บไข่ผสมน้ำเชื้อและฟักไข่อีกด้วย สำหรับการหายใจนั้นกุ้งจะหายใจด้วยเหงือกและเลือดกุ้งจะไม่มีสี ที่นิยมเอามาทำกุ้งเต้นรสแซบนั่นแหละ
แก่งลำดวน อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่ายอดโดม อุทยานแห่งชาติภูจองนายอย (ถูกจัดตั้งเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2530) เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 53 ป่าภูจองนายอยเป็นอุทยานที่กว้างใหญ่ ติดต่อกับ 3 อำเภอได้แก่ อำเภอบุญฑริก นาจะหลวย และน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี และที่สำคัญที่ยังทำให้ป่าภูจองนายอยยังคงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ทั้งยังถูกซ่อนเร้นจากนักท่องเที่ยว ยังรักษาความบริสุทธิ์ของสภาพได้ ก็เพราะว่ามีอาณาเขตติดต่อกับประเทศกัมพูชา และประเทศลาวนั่นเอง พื้นที่ดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาพนมดงรัก มีสภาพป่าที่สมบูรณ์ สภาพธรรมชาติที่สวยงาม สัตว์ป่าที่ชุกชุม เนื้อที่ประมาณ 428,750 ไร่
น้ำตกแก่งลำดวน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีผู้นิยมมาเที่ยวมากอีกแห่งหนึ่ง มีความสวยงามของแก่งหิน และรูหิน มีความใสสะอาดของลำน้ำลำโดมใหญ่ สามารถเล่นน้ำตกได้เกือบทั้งปี ยกเว้นช่วงกุ้งเดินขบวน เนื่องจากน้ำมากและกระแสน้ำเชี่ยว จัดได้ว่าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี เนื่องจากน้ำตกแก่งลำดวน เป็นแก่งหินที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติมีความอุดมสมบูรณ์ทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ มีเกาะแก่งที่สวยงามกลางลำโดมใหญ่ ถึง 3 เกาะ
การเดินทางไปแสนสะดวก จากจังหวัดอุบลราชธานี เดินทางตามทางหลวงแผ่นดินที่ 24 ไปถึงอำเภอเดชอุดม แล้วเดินทางต่อไปทางเส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2192 ไปทางอำเภอน้ำยืน ถึงทางแยกทางหลวงแผ่นดิน 2171 เลี้ยวซ้ายไปเส้นทางไปอำเภอน้ำยืน ก่อนจะถึงตัวอำเภอน้ำยืนจะพบทางแยกทางหลวงหมายเลข 2248 ให้เลี้ยวซ้ายอีกที มุ่งไปตามเส้นทางเข้าสู่อำเภอนาจะหลวย ประมาณ 16 กม. จะถึงหมู่บ้านหนองขอน ให้ตรงเข้าไปยังสถานีพัฒนาและอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าอุบลราชธานี และตรงไปยังน้ำตกแก่งลำดวน ระยะทางประมาณ 2.5 กม. การคมนาคมสะดวกรถยนต์ส่วนบุคลเข้าถึงสถานที่ได้โดยสะดวก
ติดต่อสอบถามเรื่องท่องเที่ยวในบริเวณนั้น/ที่พักได้ที่ สถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าอุบลราชธานี ตู้ ปณ 10 บ้านหนองขอน อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี โทร 0-1977-9902
ขอบคุณภาพสวยๆ จาก Choochat Banlue
ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)