foto1
foto1
foto1
foto1
foto1
ช่วงนี้อากาศปรวนแปรไปทั่วโลก บ้างก็มีพายุรุนแรง แผ่นดินไหว หิมะตกหนัก อากาศหนาวสุดขั้ว บางแห่งถึงขั้นติดลบ 46 องศาเซลเซียส ประเทศไทยเฮากะบ่หยอกคือกัน ทางตอนเหนือลดลงถึงศูนย์องศา เกิดแม่คะนิ้ง (น้ำค้่างแข็งบนยอดหญ้ากันแล้ว) ในช่วงวันที่ 10-13 มกราคมนี้ อุณหภูมิจะลดลงอีกมาก 5-7 องศา ในภาคเหนือและภาคอีสานบ้านเฮา รักษาสุขภาพกันดีๆ เด้อ อย่าสิเจ็บสิไข้ ซำบายดีครับ ...😭🙏😁

: Our Sponsor ::

adv200x300 2

: Facebook Likebox ::

: Administrator ::

mail webmaster

: My Web Site ::

krumontree200x75
easyhome banner
ppor 200x75
isangate net200x75

e mil

No. of Page View

paya supasit

ju juคันเจ้าได้ขี่ซ้างกั้งฮ่มเป็นพระยา อย่าได้ลืมคนทุกข์ผู้ขี่ควายคอนกล้า

        ## ถ้าได้ดิบได้ดีหรือได้เป็นใหญ่แล้ว ก็อย่าได้ลืมผู้คนรอบข้าง @อย่าลืมบุญคุณคนที่เคยเอื้อเฟื้อเรา ##

mp3

benjamin 01

เบญจมินทร์ (นายตุ้มทอง โชคชนะ)

benjamin 03นายตุ้มทอง โชคชนะ หรือที่เรารู้จักกันในนาม เบญจมินทร์ เป็นนักร้อง/นักแต่งเพลงรุ่นเก่าชื่อดัง ที่ได้รับฉายาว่า "ราชาเพลงรำวง" ในยุคที่วงการเพลงลูกทุ่งเพิ่งจะเริ่มบุกเบิก นอกจากนั้นก็ยังเคยสร้างและกำกับภาพยนตร์ เขียนบทละคร และภาพยนตร์หลายเรื่อง รวมทั้งร่วมแสดงภาพยนตร์อีกด้วย

ในวงการเพลง เบญจมินทร์ เป็นที่รู้จักอย่างมากจากเพลงรำวงอย่าง เมขลาล่อแก้ว รำวงแจกหมวก แมมโบ้จัมโบ้ อึกทึก สาลิกาน้อย รำวงฮาวาย รำเต้ย และอื่นๆ อีกมากมาย ส่วนเพลงลูกทุ่งเขาโด่งดังจากเพลงแนวเกาหลีหลายเพลง เป็นต้นฉบับแนวเสียงของ "สุรพล สมบัติเจริญ" เจ้าของฉายา ราชาเพลงลูกทุ่ง และเป็นคนเปิดศักราชลูกทุ่งอีสาน และชาวอีสานในวงการเพลงลูกทุ่งของเมืองไทย ช่วงที่กำลังรุ่งโรจน์ ปี พ.ศ. 2490 - 2495 เพลงของเขาได้รับความนิยม และมักสอดแทรกด้วยอารมณ์ขัน อย่างเช่น เพลง "ไปเสียได้ก็ดี" ซึ่งบันทึกเสียงเมื่อปี พ.ศ. 2495

นายตุ้มทอง โชคชนะ (ในช่วงหลังเปลี่ยนมาเป็น คนชม) เป็นชื่อ-นามสกุลจริง เกิดเมื่อ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2464 ที่จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรของสิบเอกบุญชู โชคชนะ นับถือศาสนาพุทธ คุณพ่อเป็นชาวบ้านย่อ อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดอุบลราชธานี (ในสมัยนั้น) ปัจจุบันขึ้นอยู่กับ จังหวัดยโสธร และนางคูณ โชคชนะ เป็นชาวเวียงจันทน์ สปป.ลาว นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก และเป็นต้นเสียงขับร้องเพลงในโบสถ์ และด้วยบทบาทในศาสนกิจของแม่นี่เองที่ทำให้ เบญจมินทร์ ได้ซึมซับจดจำเป็นแม่แบบทางด้านศิลปะการขับร้อง ตั้งแต่อายุได้ 3 ขวบ

เรียนจบชั้นมัธยมบริบูรณ์จาก โรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช (โรงเรียนประจำจังหวัดชาย) ที่บ้านเกิด ซึ่งเขานำชื่อของโรงเรียนมาดัดแปลงเป็นชื่อสมญา "เบญจมินทร์" เมื่อทำงานในวงการบันเทิง สมัยเป็นนักเรียน เขาชื่นชอบวิชาภาษาไทยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่อง โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน จึงเริ่มศึกษาเรื่องการแต่งเพลง จากผลงานของครูเพลงอย่าง พรานบูรพ์, นารถ ถาวรบุตร, พุฒ นันทพล, จำรัส รวยนิรันทร์ และมานิต เสนะวีนิน ด้วยการนำเนื้อเพลงของท่า่นเหล่านี้มาอ่าน ท่องจำ จนเกิดความรู้เรื่องการสัมผัสคำ อักขระ พยัญชนะ วรรคตอน โดยไม่มีครูที่ไหนมาสอน

หลังจบการศึกษา เบญจมินทร์ สมัครเข้าเป็นตำรวจและได้รับยศเป็นพลตำรวจ ทำงานอยู่ได้แค่ปีเดียวก็ลาออก และเข้ากรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2480 ก่อนจะสมัครเป็นครูเทศบาล ได้สอนชั้นประถมปีที่ 3 ที่โรงเรียนแถบปทุมวัน 2 ปี ต่อมาอพยพไปอยู่ นครนายก แต่ก็ย้ายกลับเมืองหลวงอีกครั้ง และทำงานหลากหลายอาชีพ ทั้งครู นักหนังสือพิมพ์ พนักงานที่ดิน พนักงานเทศบาล

benjamin 06

ทำงานกับ หนังสือพิมพ์ไทยใหม่ รุ่นเดียวกับ อิศรา อมันตกุล ต่อมาย้ายมาอยู่ หนังสือพิมพ์เอกราช เมื่อมีการสังสรรค์หลังเลิกงาน เขามีโอกาสแสดงความสามารถทางด้านการร้องเพลง และแต่งเพลง (ในวงเหล้า) ทำให้ อิงอร หรือ ศักดิ์เกษม หุตาคม เห็นแวว จึงชักชวนมาร้องเพลงสลับฉากในละคร ดรรชนีไฉไล เป็นเรื่องแรก (บางแหล่งที่มา บอกว่าเขาร้องเพลงแรกในชีวิต ชือเพลง ชายฝั่งโขง ประพันธ์โดย จำรัส รวยนิรันดร์) เริ่มเป็นที่รู้จักและชื่นชอบจากเพลง ชายฝั่งโขง ขณะที่ร้องอยู่กับ วงดนตรีดุริยโยธิน แต่มาโด่งดังสุดขีดหลังจากหันมาร้องเพลงรำวงอย่างจริงจัง เขาจึงจับแนวเพลงประเภทนี้มาตลอด จนถึงยุคที่เพลงรำวงเสื่อมความนิยม และถูกเพลงลูกทุ่งเข้ามาแทนที่ นักร้องคนอื่นๆ หันไปร้องเพลงลูกทุ่งกันหมด แต่ เบญจมินทร์ ก็ยังคงร้องเพลงรำวงอยู่เช่นเดิม

เข้าสู่วงการเพลงเป็นนักร้อง ซึ่งเป็นนักร้องรุ่นเดียวกันกับ เสน่ห์ โกมารชุน ชะลอ ไตรตรองสอน เนียน วิชิตนันท์ กุงกาดิน หรือ นคร ถนอมทรัพย์ เสียงของ เบญจมินทร์ เป็นที่รู้จัก และประทับใจแก่แฟนเพลง ด้วยเพลง "ชายฝั่งโขง" ถือว่าเป็นผู้บุกเบิก โดยการนำเอาเพลง รำวงรำโทน มาบันทึกแผ่นเสียงออกจำหน่าย และได้หันมาแต่งเพลงรำวงอย่างเอาการเอางาน

อายจันทร์ ประพันธ์/ขับร้องโดย เบญจมินทร์

การประพันธ์เพลง

ก่อนเข้ากรุงเทพฯ เบญจมินทร์ หลงใหลเพลงรำวง - รำโทนอย่างมาก ทั้งยังเคยเข้าร่วมร้องเพลงในวงรำวง - รำโทนแถวบ้านด้วย ทำให้เขาเชี่ยวชาญเรื่องบทเพลงทำนองนี้อย่างมาก เมื่อได้รับการติดต่อจากบริษัทแผ่นเสียง จึงนำความเชี่ยวชาญนี้มาใช้อย่างจริงจัง

เขาเคยกล่าวว่า "การแต่งเพลงได้รับอิทธิพลมาจากครูศิลปินที่ชื่นชอบ "พรานบูรพ์" (จวงจันทร์ จันทร์คณา) เพลงแรกที่แต่งเอง "กล่อมขวัญใจ" ไม่ได้บันทึกเสียง แต่กลับนำไปร้องกล่อมเด็กข้างบ้าน"

หันมาแต่งเพลงอย่างจริงจังเมื่อราวปี พ.ศ. 2488 ซึ่งขณะนั้น รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม กำลังสนับสนุนเพลงรำวง - รำโทนอย่างมาก โดยชุดแรกมี 10 เพลง หนึ่งในจำนวนนั้นก็คือ "เมฆขลาล่อแก้ว" ในช่วงแรก แต่งให้กับ ห้างแผ่นเสียง บริษัท กมลสุโกศล ในราคาเพลงละ 500 บาท เพลงยังใกล้เคียงกับของเดิม คือเป็นเพลงสั้นๆ ประมาณ 2 ท่อน เป็นการหยิบเอามรดกดั้งเดิมของรำโทนอีสาน มาปรับปรุงตกแต่งให้น่าสนใจยิ่งขึ้น

ปี พ.ศ. 2491 เมื่อเริ่มมีการบันทึกแผ่นเสียงเพลงรำวง - รำโทน เบญจมินทร์ เร่งผลิตผลงานให้ ห้างแผ่นเสียงคาเธ่ย์ ราว 50 เพลง ได้ค่าจ้างแต่งเพลงๆ ละ 500 บาท ในช่วงนี้ เขาได้สร้างแบบฉบับของตัวเองขึ้นมาอย่างโดดเด่น จากเพลงรำวงแบบเดิม ที่มีอยู่ 2 ท่อน ก็เพิ่มเป็น 3 - 4 ท่อน รวมทั้งใส่พล็อตเรื่องและเพิ่มเครื่องดนตรีลงไป แทนที่จะมีแต่กลองโทนเป็นหลัก และก็ได้รับความนิยมอย่างสูง จน สาหัส บุญหลง (พฤหัส บุญหลง) เพื่อนร่วมคณะละคร ตั้งฉายาให้เขาว่า ราชาเพลงรำวง ระยะนี้เขามีผลงานทั้งประเภทแต่งเอง ร้องเอง ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างดี เพลงดังที่สุดในยุคนั้นชื่อ "รำเต้ย" ที่ขึ้นต้นว่า "สวยก็จริงนะสาว ขาวก็จริงนะน้อง..." นอกจากนี้ ยังมีเพลงที่แต่งให้คนอื่นร้อง และร้องเพลงของครูเพลงท่านอื่นด้วย

แม้กระทั่ง บริษัท อัศวินแผ่นเสียงและการละคร ของ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ก็ยังรับสั่งให้ช่วยแต่งเพลง ยังความปลาบปลื้มแก่ เบญจมินทร์ อย่างยิ่ง

รักแท้จากหนุ่มไทย ประพันธ์/ขับร้องโดย เบญจมินทร์

ที่มาของเพลงดังชุด "เกาหลี-อารีดัง"

ตอนที่ร้องเพลงสลับฉากละคร โชคชะตาทำให้ได้เจอกับ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อไปร่วมงานวันเกิดของท่าน และด้วยความเมา ประกอบกับน้ำเสียงในการร้องเพลง ทำให้จอมพลเสฤษดิ์เกิดถูกชะตารับเข้าเป็นทหาร ซึ่งเบญจมินทร์เคยเล่าไว่ว่า

“วันหนึ่งผมกําลังร้องเพลงสลับละครอยู่ที่โรงละครศรีอยุธยา ล้อต๊อกเขาก็เล่นละครอยู่ที่นั่น เขาก็มาพบผมที่หลังโรงละคร เขาบอก "เฮ้ย…ตุ้ม" (ชื่อของเบญจมินทร์) "จอมพล สฤษดิ์ อยากจะพบ" ผมถามว่า "พบเรื่องอะไร"

ล้อต็อกก็เล่าให้ฟังบอกว่า "จอมพล สฤษดิ์บอกว่า ไอ้เบญจมินทร์มันเป็นใครวะ มันร้องเพลงดีว่ะ อยากจะรู้จักมัน" ผมก็เลยถามล้อต๊อกว่า "แล้วจะไปพบท่านได้ยังไง ผมกลัวเพราะจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ชื่อเสียงเวลานั้นไม่มีใครกล้าเล่นด้วย" ล้อต๊อกบอก "ไปสิไปด้วยกัน วันที่ 16 มิถุนายน วันเกิดท่าน ไปที่ฝั่งธนฯ บ้านท่านอยู่ฝั่งธนฯ" ก็ไปพบท่านนั่งอยู่บ้านริมน้ำที่บางพูน นั่งกินเหล้าอยู่กับ พล.ต. ประภาส จารุเสถียร, พล.ท. ถนอม กิตติขจร และ พล.ต. ขาบ กุญชร ณ อยุธยา ได้ร้องเพลงให้ท่านฟัง ซึ่งท่านพึงพอใจมากปรบมือให้ และเรียกเข้าไปใกล้ๆ และถามชีวิตส่วนตัว พร้อมทั้งเอ่ยปากว่า

มึงอยากเป็นทหารไหม พรุ่งนี้ไปหาคุณประภาส ไปรายงานตัวเขา ”

เบญจมินทร์จึงได้ไปเป็นทหารประจําที่ กองดุริยางค์ทหารบก วันหนึ่งขณะไปทํางานที่กองดุริยางค์ ซึ่งอยู่ด้านหลังองค์การเภสัชกรรม มีนายทหารคนหนึ่งออกมาจากกองดุริยางค์ เห็น เบญจมินทร์ ลงจากรถสองล้อจึงเข้ามาสอบถาม “ไปเกาหลีไหม” “ไปสิครับ” เบญจมินทร์ตอบแบบไม่ลังเล เหมือนคราวที่ตัดสินใจเป็นทหารเมื่อถูกชวนจากจอมพลสฤษดิ์

จากนั้นอีกสองสามวันหนังสือตอบรับจากกรมผสมที่ 21 ถูกส่งไปถึงบ้าน บอกว่าพร้อมจะให้ เบญจมินทร์ เดินทางไปกล่อมขวัญทหารไทยที่สมรภูมิเกาหลี เมื่อรับหนังสือแล้ว เบญจมินทร์ก็นําหนังสือนั้นไปหา จอมพลสฤษดิ์ แจ้งให้ท่านทราบ

“อั๊วเอามึงเป็นทหาร ไม่ใช่ให้มึงไปเกาหลี กูให้มึงอยู่กับกู มึงจะไปเกาหลี มันหนาวนะ” จอมพลสฤษดิ์ พูดเสียงดัง

“ครับ ผมรู้ว่ามันหนาว แต่การไปเกาหลีก็เพื่อจะได้สิทธิพิเศษ เพื่อต้องการได้เหรียญกล้าหาญ ผมมีเมีย มีลูก ลูกผมจะได้เรียนหนังสือ” เป็นคําชี้แจงของเบญจมินทร์

เมื่อจอมพลสฤษดิ์ฟังแล้ว ก็อนุญาตให้ไปเกาหลีได้ และส่งเงินให้ 3,000 บาท เป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว เบญจมินทร์ กลับไปบอกภรรยาที่บ้าน ซึ่งก็มิได้รับการทัดทานใดๆ

ต่อมาจึงได้ไปร่วมรบใน สมรภูมิเกาหลี ตามคำชักชวนของนายทหาร กองดุริยางค์ทหาร ในปี พ.ศ. 2499 อยู่ที่เกาหลีนาน 6 เดือน เมื่อกลับมาได้แต่งเพลงเกี่ยวกับเกาหลีมากมายหลายเพลง ทั้ง อารีดัง, เสียงครวญจากเกาหลี, รักแท้จากหนุ่มไทย และ เกาหลีแห่งความหลัง ซึ่งได้รับความนิยมสูงสุด

เพลง เสียงครวญจากเกาหลี มีเกร็ดสำคัญที่เบญจมินทร์อยากจะเล่าให้ฟังคือ

“ทีแรกผมบอกกับ ผ่องศรี วรนุช ว่า "ผ่องร้องเพลงนี้ให้ลุงหน่อย" เขาบอก "ร้องไม่ได้ ไม่มีเวลา" (ขณะนั้น ผ่องศรี วรนุช เป็นนักร้องอยู่ในวงดนตรีของ สุรพล สมบัติเจริญ) ผมเลยหันไปหา สมศรี ม่วงศรเขียว บอก "สมศรีมาร้องเพลงนี้ให้ลุง" สมศรีเขาก็มาร้องเพลงนี้จนมีชื่อเสียง ตอนหลังผ่องศรีก็มาต่อว่าผมว่า ทำไมเอาไปให้คนอื่น ผมบอกว่า "ลุงบอกให้เธอร้องเพลงให้ลุง แล้วเธอไม่ร้อง ลุงก็เลยเอาไปให้คนอื่นร้อง เขามีชื่อเสียงแล้วมาเสียใจเรื่องอะไรกัน” หลังจากรับราชการทหารได้ 5 ปี ก็ลาออกจากกองทัพ

เสียงครวญจากเกาหลี ขับร้องโดย สมศรี ม่วงศรเขียว ประพันธ์โดย เบญจมินทร์

ต้นฉบับรำวงแบบเบญจมินทร์ ได้สร้างความประทับใจแก่แฟนเพลงในยุคนั้น ยากที่คนอื่นจะตามทัน จนมีผู้ให้สมญานามว่าเป็น "ราชาเพลงรำวงของเมืองไทย" เบญจมินทร์ยังมีผลงานเพลงที่ออกแนวหวานอมตะ เป็นผู้เจียระนัยและป้อนเพลงหวานๆ ให้กับ "ทูล ทองใจ" นักร้องผู้ผูกขาดแนวเพลงหวานซึ้งของวงการลูกทุ่งเมืองไทย ที่ได้บันทึกแผ่นเสียงเพลงแรกในชีวิตจากการแต่งของท่านในเพลง “พี่ทุยหน้าทื่อ” ในช่วงปี พ.ศ. 2499 - 2500 และเพลงที่ทำให้ คุณทูล  ทองใจ มีชื่อเสียงโด่งดังทั่วประเทศก็คือเพลง โปรดเถิดดวงใจ” นวลปรางนางหอม ในฝัน เหนือฝัน เป็นต้น

และได้สร้างศิษย์รักอีกคนหนึ่ง เพื่อสืบทอดแนวเพลงรำวง ก็คือ “คุณกุศล  กมลสิงห์” เป็นศิษย์คนเดียวที่ยังมีชีวิตอยู่ ได้ร้องเพลงที่ครูเบญจมินทร์แต่งเพลงไว้หลายเพลง เช่น รักริษยา รอยจูบ เสน่ห์ตา วาจาเศรษฐี เป็นต้น ตัวท่านเองก็ประพันธ์เอง ขับร้องเองจนได้รับความนิยม เช่น ไม่ใช่หัวตอ หนาวอารมณ์ ทูนหัวอย่าร้องไห้ ยอดรักพี่อยู่ไหน และสุดยอดเพลงรำวงที่โด่งดัง ได้รับความนิยมและนำมาร้องกันจนถึงในยุคปัจจุบัน คือ ผลงานเพลง "รำเต้ย" อันลือลั่น

รำเต้ย ประพันธ์/ขับร้องโดย เบญจมินทร์

และด้วยความทรนง อันเป็นนิสัยส่วนตัวอันสำคัญของเขา เมื่อความนิยมในผลงานเพลงของเขาสู้กับนักร้องรุ่นใหม่อย่าง สุรพล สมบัติเจริญ ไม่ได้ รวมทั้งเกิดกรณีการแต่งเพลงตอบโต้กัน โดย เบญจมินทร์ เขียนเพลง "อย่าเถียงกันเลย" ต่อว่า สุรพล สมบัติเจริญ กรณีที่ร้องเพลงตำหนิ ผ่องศรี วรนุช ที่ลาออกจากวงไป และ สุรพล ก็แต่งเพลงตอบโต้เขาชื่อ "สิบนิ้วขอขมา" ซึ่งเสียงตอบรับของแฟนเพลงก็หันไปทาง สุรพล มากกว่า ดังนั้น เบญจมินทร์ จึงได้ยกกิจการวงดนตรี "เบญจมินทร์และสหาย" ที่เพิ่งตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2507 ให้แก่ลูกศิษย์รักคนที่สอง กุศล กมลสิงห์ เจ้าของฉายา ขุนพลเพลงรำวง และหันหลังให้กับวงการเพลงทันทีอย่างไม่แยแส ในปี พ.ศ. 2508 ก่อนจะหันไปจับงานบันเทิงสาขาใหม่

เพลงตอบโต้กัน ของสองครูเพลง เบญจมินทร์ กับ สุรพล สมบัติเจริญ

การทำหนัง-ละคร และงานเขียน

สร้างภาพยนตร์เรื่อง "เสือเฒ่า", "ไม่มีสวรรค์สำหรับคุณ" และ "แสนงอน" เคยเป็นพระเอกใน "เพื่อนตาย" และพระรองใน "สุภาพบุรุษเสือไทย" ตลอดจนเป็นตัวประกอบใน "ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น" เขียนบทภาพยนตร์เรื่อง "ไอ้โต้ง", "แผลหัวใจ" เขียนบทละครโทรทัศน์เรื่อง "ขุนแผนผจญภัย" นอกจากนี้ก็ยังเคยเขียนบทความลงใน หนังสือพิมพ์บ้านเมือง รวมทั้งเรื่องสั้นอีกหลายเรื่อง

benjamin 04

ชีวิตและผลงานของ เบญจมินทร์ ได้ผ่านวงการบันเทิงไทยมาทุกรูปแบบ โดยเริ่มจากการสร้างภาพยนตร์ จนทำให้ "ภัทราวดี (ศรีไตรรัตน์) มีชูทน" นางเอกของเรื่อง ได้รับรางวัลตุ๊กตาทองจากเรื่อง "ไม่มีสวรรค์สำหรับคุณ" นอกจากนี้ยังได้แสดงภาพยนตร์ไทยหลายเรื่อง โดยได้รับบทเป็นพระเอกเช่นเรื่อง "เพื่อนตาย" ภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายในการแสดงคือ เรื่อง ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้น ของ ท่านมุ้ย มจ. ชาตรี ยุคล

จับ โดย ครูเบญจมินทร์ ในภาพยนตร์เรื่อง "มือเสือ" (2506)

ชีวิตครอบครัว

สมรสกับนางทองขาว มีบุตรธิดารวม 5 คน ได้แก่ เบญจมินทร์, มณเฑียร, ขวัญทิพย์, มณฑล และอาริยา ไม่เคยมีบ้านเป็นของตนเองแม้แต่หลังเดียว จนกระทั่งในช่วงบั้นปลายชีวิต เขาได้ขอเจียดที่ดินจากเจ้าของที่ดินย่านคลองประปา ซึ่งเป็นเจ้าของร้านข้าวแกงที่เขาติดอกติดใจ ปลูกบ้านหลังเล็กๆ บนพื้นที่ขนาด 3 คูณ 4 เมตร เพื่อใช้อาศัยอยู่ตามลำพัง แยกจากครอบครัว แม้ว่าตัวเองจะป่วยเป็นอัมพฤกษ์ก็ตามที

การสร้างสรรค์ผลงานเพลงลูกทุ่ง ทั้งการขับร้องและประพันธ์ไว้เป็นอมตะมากมาย และเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง เบญจมินทร์ เป็นผู้มีอุปนิสัยซื่อตรง ไม่เสแสร้ง อันเป็นอุปนิสัยของคนอีสานอย่างแท้จริง เป็นผู้มีความซื่อสัตย์ต่อตนเองสูง มีความทะนงในความเป็นศิลปินพอๆ กับความเฉยเมยต่อความช่วยเหลือ แม้ขณะที่มีความทุกข์ยากลำบาก จนแม้วาระสุดท้ายของชีวิต

benjamin 05

ปูชนียบุคคลชาวอีสาน ผู้เอกอุและอุดมหลากหลายในงานศิลป์ ท่านเป็นผู้บุกเบิกแผ้วถางทางให้ชาวอีสานรุ่นหลัง ได้มีที่ยืนในวงการเพลงบ้านเรา จากการทำงานหนักมาตลอดชีวิต และแล้วในวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2537 เวลาประมาณ 02.00 น. ท่านได้สิ้นใจบนรถแท็กซี่ ระหว่างการนำตัวส่งโรงพยาบาลรามาธิบดี แพทย์ระบุว่า ท่านเสียชีวิตจากหัวใจล้มเหลว ราชาเพลงรำวงผู้ยิ่งใหญ่ก็ได้ลาจากโลกนี้ไปด้วยอาการสงบ สิริรวมอายุ 73 ปี

ผลงานเกียรติยศของครูเบญจมินทร์

  • ผลงานการประพันธ์เพลง ประมาณ 500 เพลง
  • พ.ศ. 2525 ได้รับพระราชทานพระพุทธรูป จาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในฐานะที่เป็น นักร้องเก่าแก่ของเมืองไทย
  • พ.ศ. 2532 ได้รับรางวัลพระราชทาน "ประพันธ์เพลงดีเด่น" จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการจัดงาน กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ครั้งที่ 1 ในเพลง “โปรดเถิดดวงใจ” ขับร้องโดย ทูล  ทองใจ
  • พ.ศ. 2534 ได้รับรางวัลพระราชทาน 2 รางวัล คือ ประพันธ์เพลงดีเด่น และ ขับร้องเพลงดีเด่น จาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงาน กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ภาค 2 ในเพลง “รำเต้ย” ซึ่งแต่งเอง ขับร้องเอง

100 ปีชาตกาล ครูเบญจมินทร์

เนื่องในวาระครบ 100 ปีชาตกาล ครูเบญจมินทร์ (23 พฤษภาคม พ.ศ. 2464 - 23 พฤษภาคม 2564) รายการ "สารพันลั่นทุ่ง (บางเขน)" ทางสถานีโทรทัศน์ดิจิทัล ThaiPBS ช่องหมายเลข 3 จึงจัดรายการ เล่า 100 ปีชาตกาล 'ครูเบญจมินทร์' ขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 20 มีนาคม 2564 โดยนำผู้ได้มีส่วนเกี่ยวข้องมาเล่าเรื่องราวพร้อมเพลงอันเป็นผลงานของครูเบญจมินทร์ ชมคลิปย้อนหลัง

เล่า 100 ปีชาตกาล "ครูเบญจมินทร์" : สารพันลั่นทุ่ง (บางเขน)

redline

backled1

mp3

on uma sing siri 03

อรอุมา สิงหศิริ นักร้องลูกทุ่งอีสาน เจ้าของผลงานเพลง "สาวอิสานรอรัก"

อรอุมา สิงหศิริ

ชื่อในวงการ อรอุมา สิงหศิริ และชื่อ-นามสกุลจริงของเธอก็ อรอุมา สิงหศิริ ก็ชื่อเดียวกัน เกิดเมื่อวันที่  12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2504 ภูมิลำเนาบ้านเกิด ตำบลจุมพล อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย บิดาชื่อ นายผ่อน สิงห์ศิริ มารดา นางสายทอง สิงห์ศิริ มีพี่น้อง 1 คน จบการศึกษาจาก โรงเรียนชุมชนโพนพิสัย

แรงบันดาลใจและผู้ชักนำเข้าวงการ คือ คุณสยามพล รพีพรรณ โดยอรอุมามีผลงานเพลงดังเป็นที่รู้จักมากมาย เช่น สาวอีสานรอรัก, อรอุมาจะบานีบี, ออนซอนเสียงซอ, สาวหมอลำ, ช้ำรัก, แม่ค้าส้มตำ, บ่ลืมพีที่ยโสธร, รัสปูตินข้าวเหนียว, สัญญารักที่ศาลาลอย

รางวัลเกียรติยศ เคยได้ตุ๊กตาทองมหาชนจากหนังสือพิมพ์บ้านเมือง และเพลงสาวอีสานรอรักได้รับเลือกให้ไปร่วมมหกรรมเพลงนานาชาติมาแล้ว

เป็นนักร้องที่ผม (อาวทิดหมู มักม่วน) ได้พยายามค้นหาประวัติมาได้น้อยมากครับ มีเพียงเป็นเกล็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ได้จากบุคคลต่างๆ ที่รู้จักเธอบ้างเท่านั้น เลยเอามาฝากกันตามนี้ครับ

on uma sing siri 01

บันทึกจาก เทพบุตร สติรอดชมภู

ย้อนอดีตเมื่อวันวาน จากซ้าย นักร้องหนุ่มหุ่นทรมานใจสาว เทพพร เพชรอุบล ต่อมา ราชินีหมอลำคนแรกของประเทศไทย ฉวีวรรณ ดำเนิน ศิลปินแห่งชาติ คนต่อมาก็หมอลำสาวนางเอกหมอลำผู้สร้างประวัติศาสตร์ เพลงดังทะลุฟ้าที่สุดในประเทศไทย "สาวอีสานรอรัก" อรอุมา สิงห์ศิริ คนต่อมา สร้างประวัติศาสตร์ เพลงร้องคู่ เป็นเทปคาสเซ็ทขายดีที่สุดในประเทศไทยที่ร้องคู่กัน ชุด "หนุ่มนาข้าวสาวนาเกลือ" น้องนุช ดวงชีวัน และสรเพชร ภิญโญ เหลือเชื่อว่า มายืนประกบคนดังที่สร้างประวัติศาสตร์วงการเพลง วงการหมอลำของสยามประเทศ ที่ลือลั่นจารึกไว้ในตำนานเล่าขานจนถึงปัจจุบัน

เทพพร เพชอุบล ตอนอัดเสียง เพลงคิดฮอดอ้ายแหน่เด้อ และเสียงแคนแทนใจ เสียงแหบแห้งจนโดนพี่อมรฤทธิ์ ไล่ออกจากห้องอัด มากราบวิงวอน เทพบุตร ขอแก้ตัวเป็นครั้งสุดท้าย ผลที่สุดก็อัดติดและได้เป็นแผ่นเสียง จึงได้มีชื่อเสียงในวันนั้นและเป็นเพลงที่ดังที่สุด ของเทพพร เพชรอุบล เป็นเพลงที่มีอาถรรพณ์ เกือบจะไม่ได้อัดแล้ว จนนาทีสุดท้าย ก็อัดติดและอัดได้ ชนิดหวาดเสียวที่สุด จนเทพพร ร้องไห้สะอึกสะอื้น ด้วยความดีใจ ตื้นตันใจ

ส่วนฉวีวรรณ ดำเนิน ผมพาไปอัดเสียงที่ห้องอัด กมลสุโกศล กลอนลำยาว ผมตั้งชื่อกลอนว่า ลำยาวอำลาทุ่งรวงทอง และกลายเป็นกลอนที่ดังที่สุดของ ฉวีวรรณ ดำเนิน จนต่อมาได้เป็นศิลปินแห่งชาติ.

ส่วน อรอุมา สิงห์ศิริ เธอคือหมอลำสาว นางเอกคณะ เมืองพลรุ่งพัฒนา เป็นส่วนเกิน มาแล้วห้องอัดไม่ว่าง จึงไปเช่า ห้องอัด ป.วรานนท์ ชั้น 7 บริษัทเดินอากาศไทย ที่ถนนหลานหลวง ผมมอบหมายให้มือกลองคือ มืด ไข่มุก และ ตาไมด์ นิยมแสง ไปทำดนตรี และหานักดนตรีมาเล่นที่ห้องอัด ให้เงินทั้งชุด 5,000 บาท ในสมัยนั้นซื้อทองได้ 10 กว่าบาทนะในยุคนั้น ปะนัดแนะ คือ ไม่ได้เขียนโน๊ต แนะคนโน้น เล่นดนตรีช่วงนั้น กีต้าร์เล่นช่วงนี้ กลองตีช่วงนั้นๆ แอ๊คโกเดี้ยนเล่นท่อนแยก ปะนัดแนะกันเอา อัดกันตามมีตามเกิด ปรากฎว่า เพลงสาวอีสานรอรัก คนแต่งคือ สุมทุม ไผ่ริมบึง ก็ได้เกิดกับวงการนักแต่งเพลงด้วยเพลงนี้ ส่วนอรอุมา ดังแหวกวงการ ทะลุฟ้าเลย เฮียงู้ เสียงสยาม จัดจำหน่าย กลายเป็นเพลงประวัติศาสตร์ ที่สมเด็จฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ นำมาร้องอัดแผ่นใหม่ จนดังลั่นวงการเพลงเป็นที่กล่าวขวัญมากที่สุดเพลงหนึ่งของเมืองไทย

ส่วนเพลง หนุ่มนาข้าว สาวนาเกลือ นั้น สรเพชร ภิญโญ เอาไปขายให้ใครก็ไม่มีใครเอา จน เฮียปุ้ย แห่ง ลองเพลเร็คคอร์ต ซ้ื้อไม่กี่หมื่นบาท มาทำเทป ให้บริษัทอามีโก้ จัดจำหน่าย ชุดเดียวทำเงินให้หลายร้อยล้านบาทในสมัยนั้น เหลือเชื่ออย่างปาฏิหารย์จริงๆ ทุกอย่างที่กล่าวมาคือประวัติศาสตร์ ในวงการเพลงหมอลำ ที่ยังไม่เคยได้รับการเปิดเผยมาเลยในวงการนี้ร้อยเปอร์เซ็น ทุกอย่างผมทำมากับมือ มันจึงฝังอยู่ในสมองผมตลอดมา จึงเล่าสู่ฟังในวันนี้ครับ มันเป็นสิ่งที่เหลือเชื่อว่าได้เกิดขึ้นจนเป็นตำนานเล่าขานจริงๆ จากคนที่ชื่อ เทพบุตร สติรอดชมภู คนเดียวในประวัติศาสตร์

on uma sing siri 02

บันทึกจาก เจนภพ จบกระบวนวรรณ

jenpobถ้าใฅรไม่รู้จัก เพลง "สาวอีสานรอรัก" ก็ไม่รู้จะพูดคุยเสวนากันทำไมแล้ว เพราะแสดงว่ารสนิยมทางศิลปะดนตรีไปฅนละแนวแน่ๆ ด้วยเพลงนี้ไม่ใช่แค่เพลงลูกทุ่งธรรมดาๆ แต่เป็นเพลงระดับขึ้นหิ้ง เป็นลูกทุ่งอินเตอร์เนชั่นแนล ที่ได้รับคัดเลือกให้ได้ไปโชว์ ไปร่วมงานระดับนานาชาติมาแล้วด้วย

ทั้งๆ ที่นักร้องต้นฉบับ พูดกันตรงๆ ในนาทีนั้นยังแทบจะไม่มีใฅรรู้จักเธอเลย เธอเป็นใฅรมาจากไหนไม่มีคำตอบ แต่เป็น สาวอีสานมหัศจรรย์ อายุแค่ 15 - 16 ที่ความดังมาเยือนแบบชั่วข้ามคืนจริงๆ

ผมหมายถึง อรอุมา สิงห์ศิริ นะครับ ผมเคยเจอเคยได้พูดคุยกับเธอแต่ไม่ได้สนิทสนมกลมเกลียวมากนัก เพราะเธอก็ออกจะปิดตัวเองพอสมควร แต่อย่างน้อยๆ ห้วงเวลาที่ผมทำงาน "กึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย" ผมก็ได้ร่วมงานกับเธอเช่นกัน เธอยังเล่าให้ผมฟังเลยว่า ตอนเธอดังเปรี้ยง เธอยังทำอะไรไม่เป็นเลย ร้องเพลงก็ยังไม่เก่งเท่าไหร่ แต่โชคชะตาวาสนาฅนเราเอาอะไรแน่ อาจารย์สุมทุม ไผ่ริมบึง หรือ เจ้าของนาม กัวราช่า ที่เคยไปร้องเพลงสร้างชื่อที่เมืองลาวนู่น กลับมาอยู่เมืองไทยแล้วขี้เกียจร้องเพลงซะงั้น หันมาแต่งเพลง แล้วเพลง "สาวอีสานรอรัก" ก็เกิดขึ้นในจังหวะนั้นพอดี ทั้งฅนแต่ง ฅนร้องแจ้งเกิดพร้อมกันเลยทีเดียว

อรอุมา สิงห์ศิริ นอกจากเพลง สาวอีสานรอรัก แล้วยังมีเพลง แม่ค้าขายลาบ, อรอุมาลำเพลิน, อรอุมาอะบาดิบี, ออนซอนเสียงซอ และ เพลงอื่นๆ ของเธอในแผ่นเสียงหน้าตราเอื้ิอ อารีย์ (เจ้าเก่า) จำนวนหนึ่ง ล้วนแต่เป็นเพลงชั้นนำของเธอที่หาฟังต้นฉบับยากแล้ว วันนี้มีผู้รวมมาไว้ใน มิวสิคบ๊อกซ์ รุ่น "มนต์เพลงลูกทุ่ง" นับว่าน่าสนใจจริงๆ ใฅรยังคิดถึงเธอก็เสาะหาได้นะครับ

อรอุมา ผมได้ข่าวมานานแล้วว่าเธอไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ ไม่ค่อยได้กลับเมืองไทยเท่าไหร่ แต่ปัจจุบันไม่แน่ใจเพราะเธอก็ไม่ค่อยออกข่าวอะไรด้วย คงใช้ชีวิตสุขสบายไม่ต้องกังวลอะไรแล้วกระมัง

แต่ชื่อเสียงของ อรอุมา สิงห์ศิริ รวมทั้งผลงานเพลงของเธอ ฅนรักเพลงลูกทุ่งทุกท่านไม่ควรมองข้ามเลยนะครับ

on uma sing siri 04

ประวัติผู้แต่งเพลง "สาวอีสานรอรัก"

กัวราช่า หรือ สุมทุม ไผ่ริมบึง (ปัจจุบันเสียชีวิต) เป็นอาจารย์ใหญ่อีกท่านหนึ่งของวงการเพลงลูกทุ่ง และกลอนลำ เป็นคนขอนแก่น อำเภอพล ชื่อจริงนามสกุลจริงคือ แสนคม พลโยธา ท่านเข้ากรุงเทพฯ มาเรียนเทียบจนได้ระดับ ม.ศ.3 ที่โรงเรียนวัดพิชัยญาติ เป็นชาวนามาแต่กำเนิด เคยรับจ้างขับรถให้ฝรั่งในค่ายเคเอ็ม 6 ที่ประเทศลาวราวๆ ปี พ.ศ. 2516-17 ช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา และเป็นการเริ่มต้นชีวิตศิลปินที่ฝั่งลาว

Yenjit Porntewee 05

ครูสุมทุม ไผ่ริมบึง ได้ไปฉายแววศิลปินให้ พลโทแพงสี พนาเพชร นายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่ค่ายโพนเค็ง นครเวียงจันทน์ ได้เห็นเป็นที่ประจักษ์ ท่านก็เลยให้การสนับสนุน ที่สุดได้อัดเสียง ชื่อเพลง คณะผัวเผลอ กับ เพลง เสน่ห์สาวโต้รุ่ง ร้องเองแต่งเองกลายเป็นเพลงฮิตที่ประเทศ สปป.ลาว ตั้งแต่ช่วงเวลานั้น จากนั้นก็ได้สร้างงานเพลงต่อมาอีก จนเดินทางกลับมาอยู่เมืองไทยก็ก้าวเข้าสู่วงการเต็มตัวในฐานะคนเขียนเพลง มากกว่าบทบาทของคนร้องเพลง

สาวอีสานรอรัก ขับร้องโดย อรอุมา สิงห์ศิริ กลายเป็นเพลงสร้างชื่อสร้างประวัติศาสตร์ให้ทั้งตัวผู้แต่งและผู้ร้อง

เพลง 'คิดถึงทุ่งลุยลาย, ลูกชายลุงอิน, ตัวสามสไตล์' ที่ เย็นจิตร พรเทวี ขับร้อง ก็ดังระเบิด คอเพลงยอมรับกันเป็นอย่างดี และเพลงในเสียงร้องของ เย็นจิตร พรเทวี นั้นส่วนใหญ่ก็จะเป็นงานเพลงของ สุมทุม ไผ่ริมบึง ทั้งสิ้น

เพลงสาวจันทร์กั้งโกบ - เพลงแล้วแต่วาสนา เป็นเพลงที่สร้างชื่อเสียงจนวงการเพลงเปิดใจต้อนรับ 'ไอ้หนุ่มแขนซ้ายลายมังกร' พรศักดิ์ ส่องแสง จนกลายเป็นนักร้องยิ่งใหญ่มาจนถึงทุกวันนี้

เพลง สาวอีสานรอรัก และ สาวจันทร์กั้งโกบ เป็นเพลงระดับแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน และกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ตลอดชีวิตการเป็นคนเขียนเพลง สุมทุม ไผ่ริมบึง เขียนเพลงไม่ต่ำกว่า 2,000 เพลง (ข้อมูลประกอบจาก Siamdara.com)

สาวอีสานรอรัก - อรอุมา สิงห์ศิริ ขับร้อง - สุมทุม ไผ่ริมบึง ประพันธ์

redline

backled1

mp3

ปอง ปรีดา

pong preeda smปอง ปรีดา เป็นนักร้องลูกทุ่งเสียงดี มีความพิเศษตรงที่ร้องเพลงเสียงสูงได้ดี เนื่องจากมีปอดที่ใหญ่ เขาเคยประกาศประโยคเด็ดว่า “กูเกิดมาเพื่อร้องเพลง” นอกจากนั้นก็ยังนักแต่งเพลงฝีมือดีจากดินแดนที่ราบสูง เขาสร้างสรรค์ผลงานเพลงเอาไว้มากมาย และได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่รักดินแดนบ้านเกิดอย่างยิ่ง เมื่อเป็นผู้ที่ร้องเพลงที่บอกเรื่องราวถึง "แม่น้ำโขง" เอาไว้มากที่สุดในประเทศไทย ปอง ปรีดา มีชื่อเสียงโด่งดังจากเพลง “สาวฝั่งโขง"

ปอง ปรีดา มีชื่อจริงว่า คำปัน ผิวขำ เกิดเมื่อปี 2475 ที่ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น จบการศึกษาชั้น ม. 2 (ระบบเก่า) แผนกช่างไม้ โรงเรียนช่างไม้ขอนแก่น (ปัจจุบันคือ วิทยาลัยเทคนิคขอนแก่น) ซึ่งในระบบนี้ ระดับชั้นสูงสุดคือ ม. 3 ปอง ปรีดา ให้เหตุผลที่ไม่เรียนให้จบว่า ขี้เกียจเรียน ขณะที่ลึกๆ อาจจะเป็นเพราะการอยากเป็นนักร้อง

ปอง ปรีดา ชื่นชอบเพลงของ สมยศ ทัศนพันธุ์ อย่างมาก และจะคอยจำเนื้อเพลงจากรถขายยาที่เข้ามาในหมู่บ้าน หรือไม่ก็จากหอกระจายข่าวของหมู่บ้าน นอกจากนั้น เขาก็ยังตระเวนร้องเพลงประกวดตามเวทีต่างๆ และก็กวาดรางวัลมาได้เสียมากมาย ด้วยความช่วยเหลือของเพลง “บทเรียนชีวิต” และ “เสน่ห์แม่นาง" ของสมยศ ทัศนพันธุ์

เมื่อมีความมั่นใจมากขึ้น ปอง ปรีดา หนุ่มรูปร่างผอมดำ ก็ตัดสินใจเข้ามาในกรุงเทพฯ เพื่อตามหาฝันในการเป็นนักร้องของเขา ด้วยความช่วยเหลือของพนักงานไฟฟ้าที่มาที่หมู่บ้าน เพื่อสำรวจติดตั้งไฟฟ้า เมื่อมาถึงกรุงเทพ พนักงานไฟฟ้าคนนั้นก็พา ปอง ปรีดา มาฝากที่ วงดนตรีสมยศ ทัศนพันธุ์ และวงอื่นๆ อีกหลายวง แต่ก็ถูกปฏิเสธเสียทั้งหมด จนผู้อุปการะต้องยอมโบกธงเลิกรา (บางตำราบอกว่าเขาเคยมาสมัครเป็นนักร้องวงดุริยางค์ทหารอากาศด้วย) และปอง ปรีดา ต้องไปขายแรงงานเป็นกรรมกรโรงเลื่อย ที่ย่านเกียกกาย เพื่อหาเลี้ยงชีพ และต่อมาเมื่อ ครูสุดใจ เจริญรัตน์ ครูมวยแห่ง ค่ายมวยเกศสงคราม เห็นแวว จึงชวนมาหัดชกมวย เขาหารายได้เสริมด้วยการตระเวนชกมวยในเมืองหลวง และปริมณฑลในชื่อ “วิเชียร ศิษย์จำเนียร“ (บางแล่งข้อมูลก็บอกว่า สิงห์น้อย เกศสงคราม) และมีสถิติการชก 25 ครั้ง ไม่เคยแพ้ใคร โดยครั้งแรกชนะน็อคที่บ้านแพน

pong preeda 02

แต่ ปอง ปรีดา มีความใฝ่ฝันที่จะเป็นนักร้องมากกว่านักมวย ในชีวิตยืนยันกับตัวเองเรื่อยมาว่า "กูเกิดมาเพื่อร้องเพลง" จึงตัดสินใจเลิกชก และตระเวนประกวดร้องเพลงต่อ ก่อนจะมาขออาศัยอยู่กับพระที่วัดบางอ้อ ต่อมาได้ไปเป็นคนงานส่วนโยธา กรมช่างอากาศบำรุง แถวบางซื่อ แต่ก็มักจะหลบงานเพื่อออกไปประกวดร้องเพลงตามงานวัดแถวๆ นั้น และก็มักจะคว้ารางวัลมาเป็นประจำ หลังจากตระเวนประกวดอยู่ระยะหนึ่ง และกลับมามีความมั่นใจมากขึ้น ก็วานเพื่อนให้พาไปฝากกับ ครูนารถ ถาวรบุตร หัวหน้าวงดนตรีโรงงานยาสูบ ที่คลองเตย และก็มีโอกาสได้อยู่รับใช้ครู พร้อมกับติดตามไปกับวงดนตรี และได้ร้องเพลงเมื่อนักร้องขาด จนถึงขั้นได้ร้องเพลงออกอากาศที่กรมประชาสัมพันธ์ และก็ฝันที่จะได้เป็นนักร้องอัดแผ่น ระหว่างนั้น วิม อิทธิกุล และ สกล เรืองสุข ได้ร่วมกันแต่งเพลง "เขมรพวง" ให้ร้องด้วย

แต่ไม่ถึง 2 ปีต่อมา เมื่อมารู้ความจริงว่า โรงงานยาสูบ ไม่มีนโยบายส่งเสริมให้นักร้องบันทึกเสียง ประกอบกับความไม่ชัดเจนในรายได้ ปอง ปรีดา จึงออกมา และมาที่ โรงเรียนสหมิตรดนตรี ที่ครูดนตรีชื่อดังของเมืองไทยราว 50 คนได้ร่วมกันตั้งขึ้น โรงเรียนแห่งนี้เป็นแผนกหนึ่งของ บริษัท สหมิตรดนตรี จำกัด ที่ทำธุรกิจ ผลิตเพลง ทำแผ่นเสียง และขายเครื่องดนตรีเป็นหลัก แต่ ปอง ปรีดา ก็ถูกที่นี่ปฏิเสธ แต่ด้วยความเชื่อมั่นในบรรดาครูเพลงเหล่านี้ เขาก็ทนหน้าด้าน หอบข้าวของมาอาศัยอยู่ที่โรงเรียน โดยเสนอตัวทำงานรับใช้ทุกอย่าง ด้วยความขยันขันแข็งเพื่อหวังสร้างความประทับใจ ขณะที่บางครั้งตัวเองก็ต้องอดข้าวอดน้ำ ถ้าไม่มีใครเมตตามอบข้าวน้ำให้

pong preeda 03

หลังจากทนอยู่ระยะหนึ่ง ครูนคร ถนอมทรัพย์ หรือ กุงกาดิน เกิดความสงสาร และเมื่อทดลองให้เขาร้องเพลงที่ร้องยาก ซึ่งเขาก็ทำได้ดี ครูจึงตัดสินใจนำเขาไปแนะนำกับ ครูมงคล อมาตยกุล และเอาไปฝากกับ “วงประเทืองทิพย์“ ของ ครูประเทือง บุญญประพันธ์ ซึ่ง ปอง ปรีดา อยู่รับใช้ครูประเทือง 2 ปี ก็มีโอกาสได้ร้องเพลงออกอากาศทาง สถานีวิทยุ สทร. ท่าราชวรดิษฐ์ ซึ่งครูประเทืองมีหมายการแสดงอยู่สัปดาห์ละครั้ง ขณะเดียวกันตามแผนปลุกปั้น ปอง ปรีดา ยังต้องคอยรับใช้ครูมงคลด้วย ซึ่งระหว่างนั้นครูนครก็แนะนำเรื่องการร้องเพลง เป่าแคน และการเลียนเสียงนกกา การเป่าใบไม้ เพื่อให้เขานำไปแสดงความสามารถให้ครูมงคลได้ชมถ้ามีโอกาส

ต่อมา ปอง ปรีดา ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ส่งแผ่นเสียงที่ผลิต ไปวางขายตามห้างแผ่นเสียง และเก็บเงินค่าแผ่นเสียง ต่อมาได้มีโอกาสเป่าแคน และทำเสียงเป่าปากในการบันทึกเสียงให้กับนักร้องหลายคน ที่ครูมงคลพามาบันทึกแผ่น รวมทั้ง สุรพล สมบัติเจริญ และ ทูล ทองใจ ขณะเดียวกันครูนคร ก็แนะนำให้เขาลองแต่งเพลงด้วย ซึ่งเพลงแรกที่เขาแต่งได้สำเร็จคือเพลง “กลับอีสาน“ และเป็นเพลงแรกที่เขาได้บันทึกเสียง

แต่เคราะห์กรรมก็ยังไม่หมดสิ้น เพราะเพลงนี้นอกจากจะไม่ดังแล้ว ยังถูกทางการห้ามเปิด เพราะกระแสความตื่นกลัวเรื่องการแบ่งแยกดินแดนในภาคอีสาน งานนี้ทั้ง ครูนคร และปอง ปรีดา ต่างก็ถูกครูมงคลดุเอาทั้งคู่

pong preeda 04

ต่อมาครูนครได้แนะนำให้เขาแต่งเพลงเกี่ยวกับ "แม่น้ำโขง" โดยมีเนื้อหาชมความงามของผู้หญิง ตามแบบเพลง “เบิ่งโขง“ ของ เฉลิมชัย ศรีฤๅชา ซึ่ง ปอง ปรีดา ลองแต่งอีกครั้ง และได้ออกมาเป็นเพลง “สาวฝั่งโขง“ หลังได้รับการตรวจทานโดย ครูร้อยแก้ว รักไทย อยู่หลายครั้ง ครูมงคล ก็ตัดสินใจว่าจะลองดูกับลูกศิษย์คนนี้อีกสักครั้ง หลังจากที่ผิดหวังมาจากครั้งแรก แต่ในปี 2501 เพลงนี้ก็ได้พลิกชีวิตให้ ปอง ปรีดา ได้ขึ้นมาโลดแล่นในวงการจวบจนชีวิตเข้าสู่วัยชรา และเพลง "สาวฝั่งโขง" ก็ได้รับรางวัลพระราชทาน จากงาน "กึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทย ครั้งที่ 1" เมื่อปี พ.ศ. 2532

สาวฝั่งโขง - ปอง ปรีดา (ต้นฉบับ)

สำหรับชื่อ ปอง นั้น ครูมงคล เป็นคนตั้งให้ ส่วน ปรีดา นั้น สัมพันธ์ อูนากูล ตั้งให้

pong preeda 01

หลังจากเพลงดัง เขาก็ถูกบรรจุเข้าเป็นนักร้องรุ่นแรกๆ ของ วงดนตรีจุฬารัตน์ ที่ครูมงคลตั้งขึ้นในปี 2501 แทน วงลีลาศมงคล อมาตยกุล ขณะที่นักร้องคนอื่นๆ ก็มีครูนคร ที่ร้องเพลงสากล เบญจมินทร์ ชัย อนุชิต ทูล ทองใจ และ พร ภิรมย์ จากนั้น ปอง ปรีดา ที่ผลิตเพลงดังอย่าง เทพีเชียงใหม่ สาวอยู่บ้านใด๋ และสาวป่าซาง รวมทั้งเคยไปแสดงถึงต่างประเทศ สปป.ลาว มาแล้ว อยู่กับวงจนถึงปี 2506 ก็ลาออกเพราะขัดแย้งกับเพื่อนในวง จากนั้นก็ไปอยู่กับวง “รวมดาวกระจาย” ของ ครูสำเนียง ม่วงทอง จนถึงปี 2511 ก็ลาออกเพราะมีปัญหากับคนในวง

จากนั้นในปี 2512 เขาก็กลับอีสาน และร่วมกับเพื่อนตั้งวง “ปอง ปรีดา“ ตระเวนรับงานแถวจังหวัดอุดรธานี แต่ก็เกิดปัญหาบางประการจนต้องยุบวงในปีเดียวกันนั้น ต่อมา ปอง ปรีดา ได้หันมาทำไร่ และปักหลักอยู่ที่ลำนารายณ์ จังหวัดลพบุรี แต่ก็ยังรับงานร้องเพลงตามงานต่างๆ ในระยะนี้มีผู้มาซื้อเพลงที่เขาแต่งด้วยเงินก้อนโต

2521 ศรชัย เมฆวิเชียร มาซื้อเพลง สาวฝั่งโขง และ สาวอยู่บ้านใด๋ ของเขาไปบันทึกเสียงใหม่จนโด่งดัง ซึ่งในการบันทึกเสียง ปอง ปรีดา ก็ยังไปช่วยผิวปากให้ด้วย

pong preeda 05

ชีวิตครอบครัว สมรสกับนางประดิษฐ์ ผิวขำ มีบุตรชาย 1 คน คือ นายเอกชัย ผิวขำ หลังจากแต่งงานแล้วด้ย้ายครอบครัวจาก จังหวัดขอนแก่น มาสร้างครอบครัวที่ บ้านหนองเต่า ตำบลชัยนารายณ์ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ยึดอาชีพร้องเพลง แต่งเพลง และทำเกษตรกรรมมาอย่างต่อเนื่อง สุขภาพร่างกายแข็งแรงดี จนกระทั่งปี พ.ศ. 2553 เริ่มมีปัญหาเรื่องสุขภาพ และมาตรวจพบว่า ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ตับอักเสบ เลือดจาง ปอดติดเชื้อ จนเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2553 จึงได้ไปเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลชัยบาดาล

ช่วงปลายปี 2553 มีอาการป่วยหนักจึงไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลชัยบาดาล แล้วถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลจังหวัดลพบุรี เมื่ออาการทุเลาจึงส่งตัวกลับมาที่โรงพยาบาลชัยบาดาลอีกครั้ง ก่อนที่ ปอง ปรีดา เสียชีวิตเมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2554 เวลา 11.30 น ที่โรงพยาบาลชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี เนื่องจากป่วยมานานด้วยหลายโรคทั้งเบาหวาน ปอดติดเชื้อ ตับอักเสบ เลือดจาง ท่ามกลางบรรยากาศของความโศกเศร้าของคนในครอบครัว ที่เฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิดจนหมดลมหายใจ และมีพิธีฌาปนกิจ ณ เมรุวัดธารีรัฐการาม (วัดหนองเต่า) เมื่อวันที่ 11  มกราคม 2554

สาวอยู่บ้านใด๋ - ปอง ปรีดา (ต้นฉบับ)

redline

backled1

mp3

ศักดิ์ศรี ศรีอักษร

saksri sriakson 01

ศักดิ์ศรี ศรีอักษร เกิดที่ย่านวัดป่าน้อย หรือวัดมณีวนาราม อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2480 เป็นลูกคนที่ 2 ของนางผ่องจิต และนายทองคำ ศรีอักษร โดยมีพี่น้อง 3 คน เป็นหญิง 2 และชาย 1 โดย นวลพรรณ ศรีอักษร น้องสาวคนเล็ก ก็ดำเนินรอยตามพี่สาว โดยการเป็นนักร้อง และใช้ชื่อในการร้องเพลงว่า พริ้ว แพรชมพู เจ้าของบทเพลง รักน้องจริง อย่าทิ้งน้องนะ ซึ่งเป็นเพลงดังในสมัยนั้น

ศักดิ์ศรี ศรีอักษร จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวิไลวัฒนา พ่วงท้ายด้วยตำแหน่ง เทพีงานแห่ต้นเทียนพรรษา หลังจบการศึกษาชั้นต้น ศักดิ์ศรี ศรีอักษร เข้ากรุงเทพฯ ด้วยหวังที่จะศึกษาต่อที่โรงเรียนนาฏศิลป์ กรมศิลปากร แต่เมื่อได้ศึกษาหลักสูตรของโรงเรียน และเห็นว่าเธอต้องกลับมาเริ่มเรียนตั้งแต่ขั้นพื้นฐานใหม่ จึงเดินทางกลับบ้านโดยไม่ทันได้เขียนใบสมัคร

เมื่อจบการศึกษาชั้นต้นจากอุบลฯ "ศักดิ์ศรี" เข้ากรุงเทพฯ ศักดิ์ศรีมาเป็นครูอนุบาลอยู่พักหนึ่ง เมื่อได้ข่าวทราบว่า ครูไพบูลย์ บุตรขัน ลงประกาศแจ้งความต้องการรับสมัครนักร้อง เพื่อคัดเลือกให้บันทึกแผ่นเสียง เธอจึงไปสมัครและโชว์การร้องเพลง ร้องหมอลำ และการฟ้อนเพื่อเอาชนะใจครู

ในที่สุด ครูไพบูลย์ก็ให้เธอไปฝึกร้องเพลงอยู่กับ พิพัฒน์ บริบูรณ์ หรือ "อิง ชาวอีสาน" สักระยะหนึ่ง ซึ่ง "พิพัฒน์" นั้น เป็นหุ้นส่วนในการสร้างนักร้องกับครูไพบูลย์ และในระหว่างรอการบันทึกแผ่นเสียงนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างสาวอุบลฯ กับนักธุรกิจทำแผ่นเสียงก็สุกงอม จนถึงขั้นแต่งงานกันในที่สุด

ปี 2500 "ศักดิ์ศรี" บันทึกเสียงเพลงชุดแรก 3 เพลง คือ "กระถินบนถระถาง" "เหนือฟ้าฝั่งโขง" และ "สาวฝั่งโขง" ซึ่งเป็นผลงานของครูไพบูลย์ และหลังจากนั้นเธอก็เดินสายร้องเพลงไปกับ วงดนตรี พิพัฒน์ บริบูรณ์ ซึ่งในยุคนั่นมีนักร้องในวงหลายคน อาทิ ชัยชนะ บุญนะโชติ, เพชร พนมรุ้ง, ชาย ชาตรี, นํ้าผึ้ง บริบูรณ์ และดาว มรกต หรือ สรวง สันติ

ระหว่างเดินสายร้องเพลง สองสามีภรรยาได้เก็บประสบการณ์จากการแสดงลำกลอน ซึ่งมีนำเอาเรื่องราวของชายชาวอีสานชื่อ "ลี" มีตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านมาเล่นล้อเลียน ทำให้พิพัฒน์นำพล็อตนี้มาเขียนเป็นเพลง "ผู้ใหญ่ลี" ในภายหลัง

 saksri sriakson 03

จากปี พ.ศ. 2502 - 2504 ทุกครั้งที่วงพิพัฒน์ บริบูรณ์ เปิดวิกทำการแสดงที่ใด "ศักดิ์ศรี" ก็จะออกมาร้องเพลง "ผู้ใหญ่ลี" และได้รับการตอบรับจากแฟนกันล้นหลาม โดยเฉพาะข้าราชการสายปกครองที่ถูกพูดถึงในเนื้อหาของเพลงดังกล่าว

เมื่อหยั่งกระแสจนมั่นใจแล้ว พิพัฒน์จึงให้ภรรยาบันทึกแผ่นเสียงเพลง "ผู้ใหญ่ลี" และตัวเขาใช้นามปากกา "อิง ชาวอีสาน" ในการแต่งคำร้อง ตอนแรกเขาสั่งตัดแผ่นออกขาย 300 แผ่น ปรากฏว่าขายหมดเกลี้ยงภายในเวลาอันรวดเร็ว

เพลงนี้ก็ทำให้ ศักดิ์ศรี ศรีอักษร กลายเป็นตำนาน และปรากฏการณ์ของวงการเพลงลูกทุ่งไทยมาจวบจนถึงปัจจุบัน มันก็ทำให้เธอเป็นสาวอีสานคนแรกที่ก้าวขึ้นมาอยู่ในแถวหน้าของวงการลูกทุ่ง และก็กลายเป็นภาพพจน์ประจำตัวของเธอไปตลอดชีวิต เพราะเมื่อใครได้ฟังคำว่า “หมาน่อยธรรมดา“ คนที่รู้จักก็คงจะนึกถึงเธอ และยิ้มกันออกทุกครั้งไป ความดังของเพลง ก็ทำให้ต้องเปลี่ยนชื่อวงจาก วงดนตรีพิพัฒน์ บริบูรณ์ เป็น วงดนตรีศักดิ์ศรี ศรีอักษร

pipat boriboon 2

"เพลงผู้ใหญ่ลี" โด่งดังในช่วงประมาณปี 2504 ในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ สะท้อนให้เห็นถึง การสื่อสารระหว่างข้าราชการกับชาวบ้านอย่างมีอารมณ์ขัน ซึ่งดัดแปลงมาจาก "รำโทน" เนื้อหาเป็นเรื่องราวของชายชาวอีสานชื่อ "ลี" มีตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งทางวงเคยนำมาร้องล้อเลียนและได้รับความนิยมมากมาย

"ผู้ใหญ่ลี" คือ สัญลักษณ์ในชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ของ อิง ชาวอีสาน หรือ ครูพิพัฒน์ บรืบูรณ์ สามารถนำข้อเท็จจริงในสังคมยุคสมัยนั้น สะท้อนผ่าน "ดนตรี" ฉายให้เห็นภาพอดีตที่สังคมไทยมีการประกาศใช้ "แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับแรก 2503" มีการปรับปรุงแก้ไขปี 2504 ในสมัยนายกรัฐมนตรี จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ภายใต้พันธกิจ "ปรับปรุงประเทศให้ทันสมัย" โดยมุ่งนำความเจริญสู่พื้นที่ชนบท จนชาวบ้านพูดติดปากว่า "ยุคน้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก"

"ทักษ์ เฉลิมเตียรณ" เขียนบันทึกเรื่อง "การเมืองระบบพ่อขุนอุปถัมภ์แบบเผด็จการ" เนื้อหาช่วงหนึ่งได้ยกสุนทรพจน์ของจอมพลสฤษดิ์ สะท้อนการเมือง "ยุคผู้ใหญ่ลี" ว่า "ท่านคงจะได้เห็น หรืออาจจะรู้สึกรำคาญที่ข้าพเจ้าสนใจเรื่องพัฒนาการอยู่ทุกวันทุกเวลา ข้าพเจ้าทำในสิ่งที่เคยมีบางท่านทักท้วงว่าไม่ใช่หน้าที่ของนายกรัฐมนตรี เช่น ความสะอาด ถนนหนทาง ร้านตลาด แม่น้ำลำคลอง ความเป็นไปในหมู่บ้าน แม้แต่เรื่องส้วม"

pipat boriboon 3

ทว่าสาระสำคัญและความยิ่งใหญ่ของเพลง "ผู้ใหญ่ลี" ไม่ใช่ถ้อยคำเสียดสีแบบหยิกแกมหยอก หากเป็น "ภูมิปัญญาของครูพิพัฒน์" ที่มีความฉลาดล้ำลึก สามารถสะท้อนวิถีชีวิตของชาวอีสาน สะท้อนความรู้สึกนึกคิด อุปนิสัย สะท้อนการพัฒนาชนบทของรัฐและกลไกของรัฐ

ที่สำคัญ "สะท้อนความผิดพลาดในการสื่อสาร" อีกทั้งยัง "สะท้อนการศึกษาที่ล้าหลังของประชาชนในภาคอีสาน" ตลอดจนสะท้อนความเข้าใจที่ต่างระดับ ระหว่าง "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" กับ "ผู้นำชาวบ้าน" และ "ชาวบ้าน" ได้อย่างลึกซึ้งและงดงาม

อย่างที่ "แวง พลังวรรณ" เรียบเรียงไว้ใน "อีสานคดีชุด ลูกทุ่งอีสาน" อธิบาย "ปรากฏการณ์ผู้ใหญ่ลี" ว่า "ผู้แต่งจะเป็นใครก็ช่างเถิด แต่สิ่งที่ได้รังสรรค์จนเป็นคำร้องเพลงผู้ใหญ่ลีนั้น มันล้ำลึก ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่คนผู้มีทักษะในการแต่งเพลงลูกทุ่งธรรมดา เกินกว่าที่คนคลุกคลีสัมผัสชีวิตของชาวอีสานเพียงผิวเผิน เกินกว่าที่คนที่มีแนวคิดต่อการพัฒนาชนบทอย่างธรรมดาจะคิด และหยั่งไปถึง"

pipat boriboon 4

"สิ่งที่ควรยกย่องและสดุดีบุคคลทั้งสอง พิพัฒน์ บริบูรณ์ และศักดิ์ศรี ศรีอักษร (คนร้อง) เฉพาะหน้า ณ เวลานี้ และควรยกย่องได้อย่างสนิทใจ คือ ความกล้าหาญที่คนทั้งสองได้นำเอาเพลงผู้ใหญ่ลี ออกเผยแพร่จนเป็นที่ยอมรับแก่บุคคลทั่วไป นอกจากนี้ทั้งสองยังเป็นผู้ริเริ่มเอาเพลง และศิลปะการร้อง-ลำ ของชาวอีสานในรูปแบบต่างๆ ออกเผยแพร่และบันทึกไว้เป็นแผ่นเสียงให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาและซาบซึ้ง"

ความโด่งดังของเพลง "ผู้ใหญ่ลี" ทำให้ไนต์คลับชื่อดังของกรุงเทพฯ เปิดโอกาสให้ นักร้องลูกทุ่งอย่าง ศักดิ์ศรี ศรีอักษร ได้เข้าไปร้องขับกล่อมแขก ไม่ว่าจะเป็นที่ "มอนติคาร์โล", "แมนดาริน" หรือ "โลลิต้า" แต่เธอร้องอยู่ได้แค่ 3 เดือนก็ต้องเลิกราไปเพราะแพ้ควันบุหรี่

saksri sriakson 02

นอกจากนี้ นักร้องสาวชาวอุบลฯ ก็ได้รับบทเป็นนางเอกหนังไทยให้กับ "อุษาฟิล์ม" ในปี 2507 เรื่อง "ลูกสาวผู้ใหญ่ลี" โดยเธอแสดงเป็นลูกสาวผู้ใหญ่ลี และมี ดอกดิน กัญญามาลย์ รับบทเป็น "ผู้ใหญ่ลี"

หลายปีต่อมา กระแสผู้ใหญ่ลีซาความนิยมลง พิพัฒน์ก็ได้เปลี่ยนทำนองเพลงโดยใช้จังหวะวาทูซี่ ชื่อเพลง "ผู้ใหญ่ลีวาทูซี่" และศักดิ์ศรีเป็นผู้ขับร้องเช่นเคย และอีกไม่กี่ปีถัดมา ถึงจุดอิ่มตัวของชีวิตการร้องเพลง พิพัฒน์และศักดิ์ศรีจึงยุบวงดนตรี

ศักดิ์ศรี ศรีอักษร ในวัย 68 ปี เสียชีวิตด้วยโรคความดันโลหิตและโรคชรา เมื่อปี พ.ศ. 2548 โดยครอบครัวได้นำศพไปประกอบพิธีที่วัดสะพานใหม่ดินแดน ฌาปนกิจในวันเสาร์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2548 เวลา 16.00 น.

พิพัฒน์ บริบูรณ์ นามปากกา อิง ชาวอีสาน หรือ สมบัติ เพชรลานนา

pipat boriboon 1ส่วนครูเพลงคนดังในอดีตอย่าง “พิพัฒน์ บริบูรณ์” คู่ชีวิตของ ศักดิ์ศรี ศรีอักษร เป็นชาวกรุงเทพฯ เติบโตในย่านวรจักร ครอบครัวมีอาชีพทำทองรูปพรรณ จึงมีคนสงสัยว่า เขาเป็นคนแต่งเพลงผู้ใหญ่ลีจริงหรือ?​

ลูกจีนย่านวรจักรคนนี้ ไม่คิดจะเดินตามรอยบรรพบุรุษที่เป็นช่างทอง เพราะเขาอยากเป็นนักร้อง หลังจบ ม.6 พิพัฒน์มุ่งหน้าไปหา ครูไพบูลย์ บุตรขัน ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ ด้วยหวังที่จะเป็นนักร้อง แต่ตอนนั้น เขาแอบแต่งเพลง จึงนำเพลงที่ตัวเองแต่งไปร้องให้ครูไพบูลย์ฟัง​ พิพัฒน์จึงเลือกเป็นนักแต่งเพลง แต่กว่าจะได้รับการยอมรับจากห้างแผ่นเสียง ก็ใช้เวลานานเหมือนกัน เมื่อนายห้างแผ่นเสียงซื้อเพลงเขาไปให้นักร้องบันทึกแผ่นเสียง เขาก็เรียนรู้วิธีการทำแผ่นเสียงขาย ไม่นานนัก เขาร่วมกับครูไพบูลย์ทำแผ่นเสียงขายเอง

จุดเปลี่ยนของชีวิตคือ การที่พิพัฒน์ได้รู้จักกับ ศักดิ์ศรี ศรีอักษร สาวอุบลราชธานี ที่มีใจรักด้านการฟ้อนและการขับร้อง จึงได้มาเรียนการร้องเพลงกับพิพัฒน์ และกลายเป็นคู่ชีวิตของหัวหน้าวงดนตรีพิพัฒน์ บริบูรณ์ ทั้งคู่ช่วยพัฒนาวงดนตรี จนเป็นที่ยอมรับของแฟนเพลง และศักดิ์ศรีได้เป็นนักร้องเพลงบันทึกแผ่นเสียง ด้วยการสนับสนุน​ของเขา

พิพัฒน์ บริบูรณ์ ยังถือว่าเป็น นักผลิตมาสเตอร์เพลง (แผ่นเสียง) มากที่สุดคนหนึ่งโดยมีมาสเตอร์เพลงลูกทุ่งและลูกกรุงอยู่กว่า 300 มาสเตอร์ อาทิ ชรัม เทพชัย, จินตนา สุขสถิตย์, สมจิต ตัดจินดา, ชาญ เย็นแข, สุเทพ วงศ์คำแหง, สวลี ผกาพันธ์, ทูล ทองใจ, ชัยชนะ บุญนโชติ, วงจันทร์ ไพโรจน์, เพลิน พรหมแดน, รุ่งฤดี เพ่งผ่องใส, นริศ อารี, ยอดรัก สลักใจ, ดาวใจ ไพรจิตร, ดอน สอนระเบียบ, ผ่องศรี วรนุช, ศักดิ์ศรี ศรีอักษร ฯลฯ

ผลงานพิพัฒน์ บริบูรณ์

ผู้ใหญ่ลี, รอยรักในอารมณ์, ฉันจนใจ, ฝนหนาวสาวครวญ, เสือกับหญิง, แล้วจะรู้ว่าพี่รัก, เหนือดวงชีวา, รามสูร, แอ่วสาวกอด, สาวฝั่งโขง, รักสุดหัวใจ, สาวลุ่มน้ำเจ้าพระยา, สงกรานต์, รักเหนือหัวใจ, ชีวิตคนเศร้า, ตามองตา, เดือนดารา, ใกล้เข้าอีกนิด ชิดเข้ามาอีกหน่อย, หนุ่มสุพรรณฝันเฟื่อง, บางกอกน้อย, รักจนขาดใจ, กระท่อมปลายนา ฯลฯ

พิพัฒน์ บริบูรณ์ นามแฝงแต่งเพลง "อิง ชาวอีสาน" หรือ สมบัติ เพชรลานนา นั้นได้เสียชีวิตลงแล้วเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2556 ด้วยวัย 76 ปี ส่วนพิธีการฌาปนกิจศพนั้น มีการตั้งบำเพ็ญกุศลที่ วัดตะพาน สามเหลี่ยมดินแดง  กรุงเทพมหานคร

ตำนานเพลง "ผู้ใหญ่ลี"

ผู้ใหญ่ลี - ศักดิ์ศรี ศรีอักษร (ต้นฉบับ)

ในตำนานเพลงลูกทุ่ง ต้องยอมรับว่าเพลง "ผู้ใหญ่ลี" เป็นเพลงอมตะ และน่ารักอีกเพลงหนึ่งของวงการลูกทุ่งไทย และมีอานุภาพมากที่สุดเพลงหนึ่ง ตั้งแต่เมื่อ 40 ปีก่อนโน้น ทั้งยังเป็นเพลงที่แวดวงวิชาการพูดถึงบ่อยๆ “ผู้ใหญ่ลี” เป็นเพลงลูกทุ่งเสียดสีสังคม ที่โด่งดังในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่สะท้อนให้เห็นถึงการสื่อสาร ระหว่างข้าราชการกับชาวบ้านอย่างมีอารมณ์ขัน ประโยคที่ว่า สุกรนั้นไซร้คือหมาน้อยธรรมดา นั่นคือบุคลิกอมตะของผู้ใหญ่ลี ที่เซ่อๆ ไม่รู้แม้กระทั่งความหมายของคำว่า ''สุกร'' ที่ทางราชการสั่งมา ขณะเดียวกันก็เป็นการล้อเลียน คนอีสาน ซึ่งถือกันโดยทั่วไปว่า เป็นตัวแทนของคนบ้านนอกทั่วประเทศไทยด้วย

ผู้ใหญ่ลีเป็นเรื่องเล่า ที่ล้อเลียนการสื่อความหมายของข้าราชการกับชาวบ้าน ในยุคที่เริ่มประกาศใช้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2504 เป็นการเตือนข้าราชการว่า ไม่ควรใช้ศัพท์แสงที่ผู้ฟัง โดยเฉพาะชาวบ้านทั่วไปอาจจะฟังไม่เข้าใจ เพราะเมื่อฟังไม่เข้าใจเสียแล้วก็ย่อมเอาไปตีความหมายผิดๆ ทำให้การพัฒนาผิดเป้าหมายไปได้

จากเรื่องเล่าที่ล้อเลียนการตีความหมายผิด ที่กลายเป็นเพลง “รำโทน” และการละเล่นแบบชาวบ้านในแถบอีสานอื่นๆ แล้ว ในที่สุด มันก็กลายเป็นเพลงที่ดังไปทั่วประเทศ

เพลงผู้ใหญ่ลี ได้รับเลือกเป็นเพลงลูกทุ่งดีเด่นจากงานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย ครั้งที่ 2 ประจำปี พ.ศ. 2534

saksri sriakson 04

เพลงนี้ถูกนำมาดัดแปลง และบันทึกเสียงใหม่อีกหลายครั้งโดยนักร้องคนอื่นๆ และถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์โฆษณาของธนาคารกรุงไทย ชุดไม้จิ้มฟัน เมื่อ พ.ศ. 2547 โดย มีศักดิ์ นาครัตน์ เป็นผู้ร้องเพลงประกอบ แต่ก็ยังถูกประท้วงจากสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย เมื่อกำนันผู้ใหญ่บ้านถูกเสียดสีเรื่อง การเอาไม้ทั้งต้นมาทำเป็นไม้จิ้มฟัน จนต้องออกมาร้องเรียนว่ากำนันผู้ใหญ่บ้านสมัยนี้ไม่ได้โง่ๆ เซ่อๆ อย่างในหนังโฆษณา

กรุงไทยผู้ใหญ่ลี - โฆษณาล้อเลียนเพลงผู้ใหญ่ลี

บทความในนิตยสาร สกุลไทย ฉบับที่ 2599 ปีที่ 50 ประจำวันอังคาร ที่ 10 สิงหาคม 2547 ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า เพลงนี้น่าจะมีข้อผิดพลาดยู่หลายประการด้วยเช่น คำว่า “ตีกลอง” คำที่ถูกต้อง หากพิจารณาจากภาษาถิ่นที่น่าจะเป็นต้นกำเนิดของเพลง น่าจะเป็น “ตีกะลอ” หรือ "ขอลอ" ซึ่งมาจากคำว่า “ตีเกราะ" โดยในสมัยก่อนผู้ใหญ่บ้านหรือกำนันมักตีเกราะเรียกประชุมลูกบ้านเป็นประจำ ส่วนกลองนั้นเป็นเครื่องสัญญาณที่พระใช้ตีบอกเวลาเพล

แต่ที่ผู้แต่งไม่ใช้เกราะ หรือ ขอลอ หรือ กะลอ อาจจะมีเหตุผลอื่น เช่น แถวบ้านผู้แต่งอาจใช้กลองเรียกประชุม หรือมิฉะนั้นก็อาจจะหลีกเลี่ยงคนสัปคนจะแปลงเพลงจาก “กะลอ” เป็นคำอื่นที่หยาบคายก็เป็นได้

ส่วนคำว่า “ตาสีหัวคลอน” นั้น ภาษาเพลงดั้งเดิมเขาใช้ว่า “ตาสีหัวงอน” หมายถึงคนที่มีศีรษะงอน คือศีรษะเรียวยาวและช้อยหรือโง้งขึ้นบน ส่วนคำว่า “(หัวสั่น) หัวคลอน” น่าจะเป็นอากัปกิริยาของคนที่ต้องนั่งรถ หรือนั่งเกวียนไปบนถนนหนทางที่ไม่ราบเรียบ (เช่น วันนี้นายอำเภอนั่งรถจิ๊ปมาประชุมที่หมู่บ้าน ก็นั่งหัวควย (หัวโยก/สั่น/คลอน) อยู่ ขนาดนั่งเบาะหน้า) ไม่ใช่นั่งฟังผู้ใหญ่บ้านประชุม ทางผู้แต่งจึงอาจจะบิดเบือนแปลงภาษาไป เพราะอาจไม่รู้จักคน “หัวงอน” ก็อาจเป็นได้

ส่วนคำสำคัญอย่างคำว่า “หมาน้อย” นั้น แต่เดิมชาวบ้านเขาใช้ว่าคำว่า “ม้าน้อย” โดยคำว่า “ม้าน้อย” นั้น เป็นคำเรียก “หมา” อย่างล้อเลียน ซึ่งตรงกันข้ามกับ “ม้าใหญ่” ซึ่งคือม้าทั่วๆ ไป โดยเวลาใครที่อุตริกินเนื้อหมา ชาวบ้านก็จะพูดหลีกเลี่ยงไปว่ากิน “ม้าน้อย” เพื่อเลี่ยงคำว่าหมา เพราะชาวไทยทั่วๆไป ยังรับไม่ได้ที่คนจะกินเนื้อหมา คำว่า “หมาน้อย” ในเพลงนั้น ที่ถูกต้องจึงควรเป็น “ม้าน้อย” แม้ว่าความจริงจะหมายถึง “หมา” ก็ตาม ขณะที่การเรียก “หมา” ตรงๆ นั้นผิดกับเรียก “ม้าน้อย” ที่เป็นการ “เล่นคำ” อย่างใช้ภูมิปัญญา ไม่ใช่เรียกตรงๆ ทื่อๆ

อีกประการหนึ่ง เพราะว่าเดิมที เรื่องนี้มาจากถิ่นอีสานนั่นเอง คำว่า “ม้าน้อย” ในภาษากลาง หากจะออกเสียงอย่างชาวอีสานแท้ก็ต้องออกเสียงว่า “ม่าน้อย”

แต่หากมาคิดอีกที สำหรับคนภาคกลาง ผมว่า คำว่า “หมาน้อย“ ขำกว่า “ม้าน้อย“ อยู่มากทีเดียว

เพลงผู้ใหญ่ลี ดังไกลไปถึงอเมริกา ร้องโดย หลุยห์ เคนเนดี้

และจากอิทธิพลของเพลงผู้ใหญ่ลี ทำให้ นงไฉน ปริญญาธวัช หรือ กาญจนา นาคนันทน์ ประพันธ์ผลงานอันเป็นอมตะจนถึงทุกวันนี้ อย่าง “ผู้ใหญ่ลีกับนางมา“ ออกมา ซึ่งบทประพันธ์ดังกล่าว ก็ถูกหยิบยกมาทำเป็นละครโทรทัศน์ และภาพยนตร์แล้วหลายครั้ง และก็ได้รับความนิยมอย่างมากเช่นกัน

กาญจนา นาคนันทน์ กำหนดให้เนื้อเรื่องดำเนินไปในเขตภาคกลาง ซึ่งเป็นถิ่นที่บรรพบุรุษของท่านผู้เขียนได้มาตั้งรกราก แทนที่จะเป็นภาคอีสาน และให้ผู้ใหญ่ลี เป็นคนหนุ่มมีการศึกษา ไม่ใช่เป็นคนบ้านนอกและไม่มีความรู้ อย่างผู้ใหญ่ลีในบทเพลง

ผู้เขียนบอกว่า "ด้วยความประทับใจกับบรรยากาศแถบบ้านนอกของภาคกลาง ประกอบกับต่อมาเมื่อได้ฟังเพลง "ผู้ใหญ่ลี" เลยอยากเปลี่ยนบุคลิกผู้ใหญ่ลีเสียใหม่ จึงเริ่มแต่งนิยายเรื่องนี้ออกมาในปี 2506 และแต่งเสร็จในอีก 2 ปีต่อมา

 

ผู้ใหญ่ลีวาทูซี่ - ศักดิ์ศรี ศรีอักษร

ส่วนผู้ใหญ่ลีในชีวิตจริงของภาคนิยายนั้นเป็นครู โดยเป็นลูกของนางปุย และไม่ได้เป็นผู้ใหญ่บ้านหรือทำนาแต่อย่างใด โดยครั้งหนึ่งนางปุยได้มาปรึกษาผู้เขียนเรื่องลูกชายจะไปเรียนต่อ แต่ไม่รู้จะให้เรียนสาขาไหนดี ผู้เขียนจึงแนะนำให้ไปเรียนด้านการเกษตร เพราะจะได้นำความรู้ที่ได้มาใช้พัฒนาที่ดินที่ไร่ของที่บ้านได้ แต่ลูกชายนางปุยไม่ชอบ เพราะเห็นว่าอาชีพชาวนาลำบากจึงไปเรียนวิชาครูแทน ผู้เขียนรู้สึกว่าขัดใจ ก็เลยตั้งใจว่าจะจับลูกชายนางปุยให้มาเป็นชาวนาให้ได้ (ในจินตนาการ )"

 ความในใจของ Louise Kennedy กับการนำเสนอเพลงผู้ใหญ่ลี

redline

backled1

isan word tip

isangate net 345x250

ppor blog 345x250

adv 345x200 1

นโยบายความเป็นส่วนตัว Our Policy

ยินดีต้อนรับสู่ประตูอีสานบ้านเฮา เว็บไซต์ของเรา ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น อ่านนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Policy) และนโยบายคุกกี้ (Cookie Policy)